จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประวัติศาสตร์ไทยยุคต้นถึงสมัยธนบุรี

พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
เรียบเรียง


หลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ที่ใช้ในการศึกษาวิชาไทยศึกษาปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ตำนาน พระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุ กฎหมาย ใบบอก วรรณคดี โบราณวัตถุและโบราณสถาน นอกเหนือจากนี้แล้วยังปรากฏในงานด้านศิลปวัฒนธรรมและหลักฐานชั้นที่สอง อาทิ งานเขียนของ W.A.R. Wood เรื่อง “A History of Siam” (๒๔๖๗) งานค้นคว้าของ David K. Wyatt เรื่อง “Thailand a Short History” งานวิจัยของ Charles F. Keyes เรื่อง “Thailand Buddhist Kingdom as Modern Nation-State” (๑๙๘๗) และงานค้นคว้าของ Charles Higham and Ratchanie Thosarat เรื่อง “Prehistoric Thailand: From Early Settlement to Sukhothai ” (๒๕๔๑) เป็นต้น

สำหรับนักวิชาการชาวไทยนั้น นอกเหนือจากตำราวิชาไทยศึกษาและวิชาประวัติศาสตร์ไทยและอื่นๆของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งรวบรวมจากผลงานการค้นคว้าของนักวิชาการชั้นนำแล้ว ยังมีงานเขียนของนักวิชาการอื่นๆอีกมากมาย อาทิ ผลงานของถนอม อานามวัฒน์และคณะแห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร เรื่อง“ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยเริ่มแรกจนถึงสิ้นอยุธยา”(๒๕๒๘) งานเขียนของผู้ช่วยศาสตราจารย์ บังอร ปิยะพันธ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครปฐม เรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทยการปกครองสังคม เศรษฐกิจและความสัมพันธ์กับต่างประเทศก่อนสมัยสุโขทัยจนถึงพ.ศ.๒๔๗๕“ (๒๕๓๘) และเอกสารคำสอนวิชาไทยศึกษาของโครงการบริหารวิชาบูรณาการ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

ดินแดนในประเทศไทยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่และยุคโลหะ หรือตั้งแต่ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ปี -๑,๙๐๐ ปีมาแล้ว แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเรื่องราวตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ยุคต้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๔ จนถึงสมัยธนบุรี(พ.ศ.๒๓๑๐–๒๓๒๕)เท่านั้น

๑.๑ สมัยอารยธรรมยุคเริ่มแรกในดินแดนประเทศไทย
การก่อตัวของอารยธรรมยุคเริ่มแรกของดินแดนในประเทศไทย เริ่มต้นจากระบบโครงสร้างทางสังคม อันประกอบด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลระดับครอบครัว หมู่บ้าน จนถึงชุมชนเมือง พัฒนาการของรัฐหรือแว่นแคว้นระยะเริ่มแรกนั้น สมาชิกของชุมชนต่างมีความผูกพันต่อระบบสายใยเครือญาติอย่างลึกซึ้ง ทั้งในระดับชุมชนของตนและชุมชนใกล้เคียง ชุมชนที่ขยายตัวออกมาจากหมู่บ้านเดิมของบรรพบุรุษ ต่างก็ตระหนักถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติของตนกับหมู่บ้านบรรพบุรุษเช่นกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวรวมไปถึงความผูกพันต่างๆทางสังคมระหว่างวงศ์ตระกูลด้วย

หน้าที่และความสัมพันธ์ทางเครือญาติจึงเป็นกลไกของพันธะสำคัญที่มีต่อสถานะผู้นำ(chiefdom) เพราะแม้แต่สมาชิกฐานะต่ำต้อยก็ยังสามารถลำดับความสัมพันธ์กับผู้นำได้ โดยผ่านการลำดับความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่มีมาแต่บรรพบุรุษ เมื่อชุมชนขยายตัวเป็นสังคมระดับรัฐเต็มตัวแล้ว ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่เข้าผสมผสานกับความสัมพันธ์ระบบเครือญาติจึงก่อตัวตามมา กลายเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับระบบการแบ่งชนชั้นในสังคม [1]

การแบ่งชนชั้นในสังคม เป็นที่มาของระบบการปกครองตามลำดับชั้น(hierarchy) หากเปรียบโครงสร้างทางสังคมกับสามเหลี่ยมรูปปิรามิดแล้ว ชนชั้นสูงหรือชนชั้นผู้นำหรือชนชั้นผู้ดี(elite)มีฐานะอยู่บนยอดปิรามิด ส่วนชนชั้นอื่นๆจะมีฐานะลดหลั่นลงมา เมื่อแนวคิดทางการปกครองแบบมีผู้นำสูงสุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการครอบครองพื้นที่และจำนวนประชากรที่มากขึ้น แพร่หลายเข้ามาแทนที่ระบบการปกครองแบบผู้นำชุมชน จึงต้องอาศัยผู้ชำนาญการด้านต่างๆเข้ามาเสริมโครงสร้างทางการเมือง เงื่อนไขสำคัญของระบบการปกครองดังกล่าว คือ การรับคำสั่งจากส่วนกลางแล้วนำไปบังคับใช้ในภูมิภาครอบๆศูนย์กลางของรัฐ การปกครองระบบนี้ แม้ชนชั้นปกครองและผู้ชำนาญการจะไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างผลผลิตเบื้องต้นโดยตรง แต่พวกเขาก็สามารถดำรงชีพอยู่ได้ จากการหล่อเลี้ยงของระบบภาษีและผลผลิตส่วนเกิน ซึ่งถูกเรียกเก็บเข้าสู่ส่วนกลาง ขณะที่การรับใช้ชนชั้นปกครอง อาทิ การสร้างที่อยู่หรือเรือนของชนชั้นปกครอง ใช้วิธีการเกณฑ์แรงงานโดยปราศจากสิ่งตอบแทน

การรุกรานด้วยกำลังเพื่อขยายอาณาเขตและพื้นที่ทางสังคม และการใช้ความเชื่อทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจ ก็ถือเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่ชนชั้นปกครองรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

๑.๒ พัฒนาการทางสังคม
ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ ไฮแอม(Charles Higham) และรัชนี ทศรัตน์ เสนอว่า รากฐานอารยธรรมในดินแดนประเทศไทยก่อตัวมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ การติดต่อกับสังคมต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อารยธรรมดังกล่าวมีความก้าวหน้า แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่สมัยเหล็กในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า สมาชิกของชุมชนมีฐานะมั่งคั่งจากหลักฐานสิ่งของที่ถูกฝังอยู่กับโครงกระดูกในหลุมศพ คนพื้นเมืองเหล่านี้เป็นคู่ค้าของพ่อค้าจากอินเดีย ซึ่งนำสินค้านานาชนิดเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวอินเดียรู้จักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะที่เป็น “แดนทอง(The Land of Gold)” สินค้าที่พ่อค้าอินเดียนำเข้ามาคือ เครื่องประดับจากหินอะเกต เครื่องประดับจากหินคาร์เนเลียนและเครื่องประดับจากแก้ว ส่วนสินค้าที่พ่อค้าอินเดียต้องการนำกลับไป คือ เครื่องเทศ เครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะสำริดและทองคำ พ่อค้าอินเดียยังให้โอกาสผู้นำท้องถิ่นในการกว้านซื้อสินค้ามีค่าใหม่ๆ และทำให้ผลผลิตของสินค้าพื้นเมืองมีช่องทางในการระบายออกไปด้วย[2]

ประมาณพุทธศตวรรษที่๔ (๑๐๐ B.C.) การขยายอิทธิพลลงใต้ของราชวงศ์ฮั่น ทำให้จีนเพิ่มความสนใจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนไม่เพียงแต่จะต้องการรวบรวมสินค้าแปลกๆ อาทิ นอแรดและขนนกเท่านั้น หากแต่ยังต้องการขยายจักรวรรดิและอำนาจทางการเมืองของตนด้วย ขณะนั้นอิทธิพลทางการเมืองของจีนแผ่ลงมาถึงภาคเหนือของลาวและเทือกเขาตรวงซอนทางเหนือของแม่น้ำโขง และแม้ว่าอิทธิพลของจีนจะลดน้อยลงในพื้นที่ถัดจากเทือกเขา ซึ่งจีนเรียกว่า “ปราการแห่งอัมพร (Fortress of the Sky)” แต่ความรู้สึกนึกคิดแบบจีนและการค้าขายแลกเปลี่ยนกับจีนก็ยังแทรกซึมผ่านข้ามช่องเขาเข้าไปได้ นักประวัติศาสตร์จีนชื่อปัน จู(Pan Gu) บันทึกเมื่อพุทธศตวรรษที่๔ (๑๐๐ B.C.)ว่า “ขุนนางและพลอาสาถูกส่งออกไปยังทะเล เพื่อนำทองคำและผ้าไหมนานาพรรณไปแลกกับไข่มุกเม็ดงาม ลูกปัดแก้ว และอัญมณี (rare stone)”

ข้อเสนอที่ระบุว่า การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้าต่างชาติเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การมีอารยธรรมโดยอัตโนมัติยังไม่ใช่ข้อยุติ ก่อนหน้านี้ดินแดนประเทศไทยอาจมีโครงสร้างทางสังคมในระดับที่ละเอียดอ่อน และมีกรอบทางสังคมที่เหมาะสมสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว นอกจากนี้การที่ผู้นำพื้นเมืองสนใจจะยกสถานะของตนให้สูงขึ้น ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดอารยธรรมเช่นกัน เห็นได้จากการที่ชาวอินเดียนำความเชื่อทางศาสนาพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อเรื่องฐานะความเป็นเทพเจ้าของปัจเจกบุคคลเข้ามา ความศรัทธาที่มีต่อพระศิวะจึงอาจส่งผลให้ “เจ้าเหนือหัว” มีฐานะประดุจเทพเจ้า ภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีจึงถูกใช้สื่อความหมายสูงส่งที่ยากจะเข้าใจ เพื่อครอบงำความนับถือและความเกรงขามท่ามกลางผู้ไม่รู้หนังสือ และศาสนาสถานที่ก่อสร้างด้วยหินและอิฐซึ่งเริ่มแพร่กระจายทั่วไป เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงรูปแบบใหม่แห่งลัทธิการบวงสรวงบูชา ในศาสนาพราหมณ์รูปแบบใหม่ดังกล่าวนี้นำมาสู่การอภิเษกศิวลึงค์ศิลาขนาดใหญ่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจรัฐและผู้ปกครองรัฐ และเป็นศูนย์รวมของการประกอบพิธีกรรมที่เข้ามาใหม่และทรงอำนาจ ศิลาจารึกที่สรรเสริญคุณงามความดีของเจ้าเหนือหัวซึ่งมีนามเป็นภาษาสันสกฤต เสียงสวดมนต์ของบรรดานักบวชในวิหารเทพเจ้าเป็นเสมือนเครื่องป้องกันรัฐและผู้นำ โดยมีชาวนาจากฐานล่างสุดของโครงสร้างสังคมรูปปิรามิดเป็นกลไกในการผลิตอาหารและปรนนิบัติเทวาลัยรองรับความเชื่อใหม่ที่เข้ามา[3]

๑.๓ ร่องรอยของรัฐระหว่างพุทธศตวรรษที่๖–๑๘
การศึกษาร่องรอยอารยธรรมสมัยเริ่มแรกในดินแดนประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากหลักฐานจดหมายเหตุจีนซึ่งบันทึกเรื่องราวของรัฐโบราณต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของดินแดนในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๖เป็นต้นมา[4]

๑.๓.๑ หลักฐานเอกสารโบราณของจีน
จดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่นระบุว่าระหว่าง พ.ศ.๕๔๓–๕๔๘ คณะทูตจีนได้เดินทางจากกวางตุ้ง ผ่านเวียดนามและคาบสมุทรมลายู มุ่งสู่อ่าวไทยแล้วขึ้นบกที่คอคอดกระก่อนเดินทางบกต่อไปยังพม่า ผ่านเมืองต่างๆ อาทิ แคว้นตูหยวน แคว้นหลูม่อและแคว้นเฉินหลี นักวิชาการเชื่อว่าแคว้นเหล่านี้อาจอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย[5]

ในพุทธศตวรรษที่๘ คัง-ไถหรือคัง-ไท่(K’ang-Tai)และจู-ยิงหรือจู-อิ้ง(Chu-Ying)ระบุว่า อาณาจักรฟูนัน(Fou-nan)[6]หรือพนมเป็นอาณาจักรสำคัญซึ่งรุ่งเรืองและมีอำนาจมาก อีกทั้งยังมีเมืองขึ้นจำนวนไม่น้อยในแถบชายทะเลริมฝั่งอ่าวไทยโดยรอบตั้งแต่จันทบุรีในภาคตะวันออก ตลอดถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและคาบสมุทรมลายู เมืองขึ้นเหล่านี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า แคว้นเตียน-ซุนหรือตุน-ซุน แคว้นชู-ตู-กุนหรือตู-กุน แคว้นเฉียว-ชิหรือชู-ลี แคว้นปิ-ซุง แคว้นพัน-พัน แคว้นทัน-ทัน แคว้นลัง-ยะ-สิว แคว้นชิ-ถูหรือเซียะ-โท้

นักวิชาการเชื่อว่าแคว้นเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ประเทศไทย การกำหนดตำแหน่งของบางแคว้นยังไม่สามารถทำได้ชัดเจน[7] แต่แคว้นโบราณบางแคว้นก็สามารถระบุที่ตั้งของแคว้น อาทิ แคว้นพัน-พัน แคว้นลัง-ยะ-สิวและแคว้นชิ-ถู ซึ่งนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์พยายามเสนอแนวคิดในการที่จะระบุที่ตั้งทางภูมิศาสตร์จากการสำรวจศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดีประเภทจารึก โบราณวัตถุและโบราณสถานที่เหลือในปัจจุบัน

พระพุทธทาสภิกขุ(พระครูอินทปัญญาจารย์)ในงานเขียนชื่อ “แนวสังเขปโบราณคดีอ่าวบ้านดอน” เชื่อว่า แคว้นพัน-พันตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำตาปี มีศูนย์กลางอยู่ที่อ่าวบ้านดอน ปัจจุบันคือ ตำบลเวียงสระ อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี[8] แต่พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ เชื่อว่า แคว้นพัน-พันตั้งอยู่ที่เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ[9]จังหวัดปราจีนบุรี

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่า “ลัง-ยะ-สิว” อาจตรงกับภาษาพื้นเมืองว่า “นครชัยศรี” และสันนิษฐานว่าเมืองนี้ตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเมืองโบราณอู่ทอง อ.อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นศูนย์กลางสำคัญในระยะพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๔ ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่๑๕–๑๖ ศูนย์กลางของลัง-ยะ-สิวได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองนครชัยศรี ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต อ.เมือง จังหวัดนครปฐม ส่วนแคว้นชิ-ถูนั้นน่าะอยู่ในเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุง จากการพบหลักฐานเงินตราโรมันอายุร่วมสมัยกับเอกสารของจีนที่กล่าวถึงพื้นที่บริเวณนี้[10]

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มยุรี วีระประเสริฐ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และเสนอว่าที่ตั้งของลัง-ยะ-สิวน่าจะอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดปัตตานี โดยระยะหลังแคว้นลัง-ยะ-สิวถูกเรียกว่า “ลัง-เจียง-ซู” หรือ“ลังกาสุกะ”[11] สอดคล้องกับความเห็นของต้วน ลี เซิง ที่เสนอว่าชื่อเมืองต่างๆ อาทิ เมืองจิ้น-หลิน หรือเมืองฉิน-เฉินในเอกสารของคัง-ไท่และจู-อิ้ง[12] ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ส่วนเมืองเตียน-ซุนหรือตุน-ซุน เป็นเมืองท่าสำคัญตั้งในลุ่มแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี และสนับสนุนแนวคิดที่ว่าเมืองชิ-ถู หรือเซียะ-โท้-ก๊กในจดหมายเหตุราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถังระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๑–๑๔ นั้น ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสงขลา[13]

๑.๓.๒ แคว้นสำคัญในดินแดนประเทศไทยก่อนสมัยอยุธยา
ในพุทธศตวรรษที่๑๒ การติดต่อค้าขายระหว่างโรมันกับอินเดียสิ้นสุดลงเพราะการหมดอำนาจของอาณาจักรโรมัน นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาการแย่งชิงอำนาจกันเองในอินเดีย รวมถึงการล่มสลายของอาณาจักรฟูนันในพุทธศตวรรษที่๑๓ จากการรุกรานของอาณาจักรเจนละ ซึ่งเคยเป็นประเทศราชของอาณาจักรฟูนัน ทำให้แคว้นเล็กแคว้นน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอิสระจากการปกครองของฟูนันและสร้างสรรค์บ้านเมืองพัฒนาขึ้นมาแทนที่ [14] ได้แก่ แคว้นทวารวดี แคว้นศรีจนาศะ แคว้นศรีวิชัย แคว้นตามพรลิงค์ แคว้นหริภุญชัย แคว้นละโว้ แคว้นสุโขทัย แคว้นล้านนา แคว้นสุพรรณภูมิ และแคว้นอโยธยา

๑) แคว้นทวารวดี
หลวงจีนเหี้ยน-จาง หรือเหยียน-จางหรืองซวน-ท้ง หรือพระถังซำจั๋ง เดินทางไปแสวงบุญยังอินเดียทางบกในพุทธศตวรรษที่๑๒ และหลวงจีนอี้จิงซึ่งเดินทางไปอินเดียทางทะเลในพุทธศตวรรษที่๑๓ตรงกับสมัยราชวงศ์ถัง[15] นักบวชทั้งสองรูปกล่าวถึงบ้านเมืองต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนี้

“แคว้นลัง-ยะ-สิว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นชิ-หลี-ตา-ซา-ล้อ ทางทิศตะวันออกของแคว้นลัง-ยะ-สิว คือแคว้นโต-โล-โป-ตี(To-lo-po-ti) หรือชิ-โห-โป-ตี[16] หรือโฉ-โห-โป-ตี [17] ทางทิศตะวันออกของแคว้นโต-โล-โป-ตี คือแคว้นอี-ซี-นา-โป-โล และแคว้นมอ-โห-เจียม-โปหรือหลิน-ยี่”[18]

แคว้นชิ-หลี-ตา-ซา-ล้อ คือ แคว้นศรีเกษตร ตั้งอยู่ในประเทศพม่า แคว้นอี-ซี-นา-โป-โล คือ แคว้นอีสานปุระ แคว้นมอ-โห-เจียม-โป คือ แคว้นจามปาในประเทศเวียดนาม ส่วนแคว้นโต-โล-โป-ตี หรือชิ-โห-โป-ตี หรือโฉ-โห-โป-ตี มีหลักฐานชัดเจนว่า คือ แคว้นทวารวดี ตั้งอยู่ในดินแดนภาคกลางของประเทศไทย

นักวิชาการมีข้อคิดเห็นแตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับที่ตั้งของแคว้นทวารวดี วินัย พงศ์ศรีเพียร เห็นว่าแคว้นทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่ที่ภูมิภาคตะวันตกของดินแดนประเทศไทย น่าจะหมายถึงเมืองนครชัยศรีหรือเมืองนครปฐมโบราณ ส่วนเมืองลวปุระในจารึกสมัยทวารวดี น่าจะเป็นเมืองลโวทยปุระซึ่งถูกอิทธิพลทางการเมืองของกัมพูชาแผ่เข้ามาครอบครองในพุทธศตวรรษที่๑๖

หลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นร่องรอยของวัฒนธรรมสมัยทวารวดีซึ่งแพร่กระจายทั่วไปในดินแดนประเทศไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๖ ทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมสมัยทวารวดีคือ มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานชุมชนแบบคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบวงกลมหรือวงรีหรือแบบสี่เหลี่ยมมุมมนล้อมรอบ เมืองโบราณสมัยทวารวดี ได้แก่ เมืองนครชัยศรี เมืองอู่ทอง เมืองคูบัว(ราชบุรี) เมืองคูเมือง(สิงห์บุรี) เมืองฟ้าแดดสงยาง(กาฬสินธุ์) ฯลฯ

ความเชื่อทางศาสนาที่แพร่หลายในแคว้นทวารวดีคือพุทธศาสนานิการเถรวาท “หลักฐานสำคัญที่พบ คือ จารึกคาถา “เยธัมมา เหตุปัปภวา” อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาซึ่งปรากฏเฉพาะในคัมภีร์ของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเท่านั้น คาถาเยธัมมนาถูกจารึกในที่ต่างๆ อาทิ บนธรรมจักรศิลาและแผ่นอิฐ[19] เป็นต้น

๒) แคว้นศรีวิชัย
บันทึกของหลวงจีนอี้จิงซึ่งเดินทางไปอินเดียระหว่างพ.ศ.๑๒๑๓–๑๒๑๖ ระบุว่า แคว้นชิ-ลิ-โฟ-ชิ หรือเช-ลิ-โฟ-ชิหรือสัน-โฟ-ชิหรือโฟ-ชิ เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการนับถือศาสนาพุทธนิกายหินยานและศูนย์กลางการศึกษาภาษาสันสกฤตเบื้องต้น เมื่อหลวงจีนอี้จิงเดินทางกลับจากอินเดียในปีพ.ศ.๑๒๓๑ จึงได้แวะพำนักเป็นเวลา ๗ ปี และเดินทางกลับไปยังประเทศจีนในปีพ.ศ.๑๒๓๘ [20]

ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ระบุว่า เช-ลิ-โฟ-ชิ หมายถึง อาณาจักรศรีวิชัย แต่นักวิชาการก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยตั้งอยู่ในคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยในพื้นที่อำเภอไชยา (สุราษฎร์ธานี)หรืออยู่เมืองปาเล็มบัง ในเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย

ประมาณพุทธศตวรรษที่๑๓–๑๖ ปรากฏหลักฐานการเผยแผ่อิทธิพลศาสนาของพุทธศาสนานิกายมหายานจากนาลันทาแพร่เข้ามายังอาณาจักรศรีวิชัย นอกจากนี้แคว้นศรีวิชัยในคาบสมุทรมลายูยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันกับอาณาจักรในเกาะชวาภาคกลางของอินโดนีเซียด้วย บันทึกของเจาจูกัวกล่าวว่าศรีวิชัยกลับมามีความรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่งในปีพ.ศ. ๑๔๔๘ และจีนเรียกศรีวิชัยว่า “ซาน-โฟ-ชิ” หรือสามวิชัย เมืองขึ้นสำคัญของศรีวิชัยสามเมืองคือ ตัน-หม่า-หลิง หลั่ง-ยะ-สิเจียและโฟ-ลู-อัน แคว้นศรีวิชัยหมดอำนาจลงประมาณพุทธศตวรรษที่๑๖ เมื่อถูกโจมตีจากพวกโจฬะหรือทมิฬจากอินเดียตอนใต้

พิเศษ เจียจันทร์พงศ์เชื่อว่าอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ในหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซียปัจจุบันนักวิชาการจึงเพียงแต่เสนอสมมติฐานว่า อาณาจักรศรีวิชัยมีศูนย์กลางของราชธานีที่สามารถเคลื่อนย้ายไปตามเมืองท่าสำคัญๆระหว่างคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยและเกาะสุมาตรา

๓) แคว้นนครศรีธรรมราช
จดหมายเหตุจีนในพุทธศตวรรษที่๑๓เรียกแคว้นนครศรีธรรมราชว่า “ตัน-หม่า-หลิง” หรือ“ตัน-เหมย-หลิว” เอกสารของจีนระบุว่าแคว้นตัน-หม่า-หลิงแยกตัวมาจากแคว้นลัง-ยะ-สิว(ลังกาสุกะหรือหลั่ง-เจีย-ซู)ทางทิศเหนือ จากการศึกษาของนักวิชาการพบว่าชื่อตัน-หม่า-หลิงในเอกสารจีนตรงกับชื่อแคว้นตามพรลิงค์ในเอกสารของอินเดีย ลังกาและศิลาจารึกที่พบในท้องถิ่นคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย[21]

แคว้นนครศรีธรรมราช อาจมีพัฒนาการมาก่อนพุทธศตวรรษที่๑๙ เนื่องจากเมื่อพวกโจฬะเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนคาบสมุทรมลายูแทนแคว้นศรีวิชัยในพุทธศตวรรษที่๑๖แล้ว พวกโจฬะได้ย้ายศูนย์กลางทางการเมือง การปกครองและการค้าจากฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายูมายังเมืองนครศรีธรรมราช ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชกลายเป็นศูนย์อำนาจเข้มแข็งที่สุดในคาบสมุทรมลายู

ในพุทธศตวรรษที่๑๘ แคว้นนครศรีธรรมราชถูกปกครองโดยราชวงศ์ปัทมวงศ์ หลักฐานศิลาจารึกและตำนานพงศาวดารของภาคใต้ระบุว่าพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์ปัทมวงศ์ทรงพระเกียรติยศดุจดังพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์แห่งแคว้นนครศรีธรรมราชจึงมักทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ซึ่งมาจากรากศัพท์ว่า “ศรี + ธรรมะ + อโศกะ + ราชะ”

แคว้นนครศรีธรรมราชมีอำนาจครอบคลุมเกือบตลอดทั้งแหลมมลายู ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่าเขตแดนของแคว้นนครศรีธรราชประกอบด้วยเมืองต่างๆ ๑๒ เมือง เรียกว่าเมือง ๑๒ นักษัตริย์ ได้แก่ ปัตตานี กลันตัน ปะหัง ไทรบุรี พัทลุง ชุมพร บันทายสมอ สะอุเลา ตะกั่วป่าและเมืองกระ แคว้นนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์ทางความเชื่อเนื่องในศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธนิกายมหายานและหินยาน ศิลาจารึกหลักที่๑ของสุโขทัยกล่าวว่า นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พุทธศาสนาไปยังแคว้นสุโขทัย[22]

๔) แคว้นหริภุญชัย
หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์และตำนานจามเทวีวงศ์เป็นเอกสารสำคัญที่สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของการ“สร้างบ้านแปงเมือง”ในดินแดนภาคเหนือของประเทศไทยบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนเรื่อยลงมาถึงลุ่มแม่น้ำวังในเขตจังหวัดลำปางเมื่อพุทธศตวรรษที่๑๓ โดยระบุถึงการที่ฤาษีวาสุทพได้อัญเชิญพระนางจามเทวีแห่งกรุงละโว้เสด็จฯขึ้นไปครองแคว้นหริภุญชัยพร้อมกับนำความเชื่อทางศาสนาพุทธ วัฒนธรรมและความเจริญทางศิลปวิทยาการขึ้นไปเผยแพร่ด้วย แคว้นหริภุญชัยมีกษัตริย์ปกครองสืบทอดมาจนถึงพุทธศตวรรษที่๑๙ ก็หมดอำนาจลงเนื่องจากถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นล้านนา[23]

อาณาเขตของแคว้นหริภุญชัยมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านภูมิประเทศที่แวดล้อมด้วยเทือกเขาสูง สภาพแวดล้อมดังกล่าวยังส่งผลทำให้บ้านเมืองซึ่งอยู่ใกล้เคียงมีขนาดเล็กและไม่มีกำลังพลเพียงพอต่อการคุกคามฐานะความเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่อารยธรรมและศิลปวิทยาการของหริภุญชัยไปยังที่ต่างๆอีกด้วย อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากราชวงศ์จามเมวีที่ปกครองแคว้นหริภุญชัยตั้งแต่ยุคแรกแล้ว หริภุญชัยยังมีกษัตริย์จากราชวงศ์อื่นเข้ามาปกครองด้วย เช่น ราชวงศ์ของพระเจ้าอาทิตย์ราชและราชวงศ์ไทยอำมาตย์ เป็นต้น

พระมหากษัตริย์พระองค์สำคัญของแคว้นหริภุญชัย ได้แก่ พระเจ้าอาทิตย์ราชเป็นผู้สร้างพระธาตุหริภุญชัย และพระเจ้าสัพพาสิทธิ์ผู้ทรงมีบทบาททำให้แคว้นหริภุญชัยมีความสำคัญในฐานะศูนย์ทางศาสนาพุทธในดินแดนภาคเหนือตอนบน กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของแคว้นหริภุญชัยคือพระยายีบาแห่งราชวงศ์ไทยอำมาตย์ซึ่งครองราชย์ในช่วงที่แคว้นหริภุญชัยถูกพระยามังรายยึดครองในตอนกลางพุทธศตวรรษที่๑๙

๕) แคว้นล้านนา
นักวิชาการเสนอความเห็นว่า ความขัดแย้งของแว่นแคว้นต่างๆในดินแดนประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๑๖–๑๘ ทำให้ศูนย์อำนาจเดิมที่คยยิ่งใหญ่ครอบคลุมภูมิภาคแห่งนี้มีสภาพเสื่อมถอย จึงเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดแคว้นอิสระภายใต้การนำของชนกลุ่มใหม่ขึ้นมามีอำนาจแทนที่ หลักฐานประวัติศาสตร์ระบุว่าแคว้นสำคัญที่มีพัฒนาการขึ้นในระยะใกล้เคียงกันคือ แคว้นล้านนาและแคว้นสุโขทัย[24]

เมื่อพระเจ้ามังรายทรงผนวกดินแดนของแคว้นหริภุญชัยเข้ามาอยู่ในอำนาจทางการเมืองของพระองค์สำเร็จ ภายใต้การสนับสนุนของพ่อขุนงำเมืองแห่งแคว้นพะเยาและพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย พระองค์ได้สถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปีพ.ศ.๑๘๓๙ เพื่อเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครองของอาณาจักรล้านนา แคว้นหริภุญชัยจึงมีฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาพุทธนิกานหินยานแทน

ตำนานพื้นเมืองล้านนาระบุว่า ถิ่นฐานเดิมของพระเจ้ามังรายอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำกกในเขตจังหวัดเชียงราย กลุ่มชนเจ้าของวัฒนธรรมล้านนาประกอบด้วยชาวไทยลื้อหรือไทยเมืองซึ่งในระยะแรกได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดเชียงรายบริเวณอำเภอเชียงแสน แล้วขยายตัวออกไปในเขตอำเภอเวียงชัย พวกไทยลื้อได้เข้าไปผสมผสานกับกลุ่มชนในที่สูงตระกูลลาวจกในเขตอำเภอแม่จันและอำเภอแม่สาย จากนั้นจึงขยายตัวเข้าไปในเขตเมืองพะเยาและเมืองน่าน โดยยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางเครือญาติและมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับภูมิปัญญาด้านระบบการชลประทานแบบเหมืองฝาย[25]

แคว้นล้านนาเป็นแคว้นสำคัญทางดินแดนภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งมีพัฒนาการร่วมสมัยกับแคว้นสุโขทัยและอยุธยา บางสมัยดินแดนของแคว้นแห่งนี้ขยายออกไปถึงแคว้นสิบสองปันนา(ยูนนาน)และพื้นที่บางส่วนของรัฐไทยใหญ่(รัฐฉานในประเทศพม่า) ส่วนทางทิศใต้นั้นอาณาเขตของแคว้นล้านนาครอบคลุมมาจนถึงเมืองแพร่ เมืองน่านและเมืองตาก ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่๒๔ ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นช่วงเวลาสั้น ต่อมาก็ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่๕ เมื่อรัฐบาลสยามดำเนินการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินด้วยการยุบหัวเมืองประเทศราช ล้านนาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประชาติสยามสืบมา

๖) แคว้นสุโขทัย
ตำราประวัติศาสตร์ก่อนระยะ ๑๐ ปีเศษที่ผ่านมามักระบุว่า อาณาจักรอ้ายลาวและอาณาจักรน่านเจ้าทางตอนใต้ของประเทศจีนเป็นรัฐที่ปกครองโดยคนไทยเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๘-๑๕ ข้อเสนอเกี่ยวกับทฤษฎีการอพยพของชนชาติไทยจึงเรื่องราวของอาณาจักรอ้ายลาวและน่านเจ้าปรากฏอยู่ด้วยเสมอ อาทิ งานค้นคว้าของ W.A.R.Wood เรื่อง “A History of Siam” [26] งานค้นคว้าของ M. Carthew เรื่อง “The History of the Thai in Yunan” ตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคมฉบับพิเศษ

งานค้นคว้าของเดวิด เค. วายแอตต์ ก็กล่าวถึงเรื่องราวอาณาจักรน่านเจ้าเช่นกัน แต่เขาก็ได้ระบุว่า พระนามของผู้ปกครองแห่งอาณาจักรน่านเจ้า อาทิ พระเจ้าพี-ล่อ-โก๊ะ พระเจ้าโก๊ะ-ล่อ-ฝง พระเจ้าฝง-เจีย-อี้ พระเจ้าอี้-มู-ฉุน คล้ายคลึงกับธรรมเนียมการตั้งชื่อของชนเผ่าโล-โล หรือธิเบต-พม่า ไม่ใช่ธรรมเนียมของคนไทย[27]

การดำเนินงานทางโบราณคดีทำให้มีการค้นพบหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดีในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจำนวนมาก แต่ศิลาจารึกหลักที่๑(ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง)ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้สามารถอธิบายเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยได้ชัดเจน

ก.การก่อตัวของแคว้นสุโขทัย
แคว้นสุโขทัยตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำยม-ปิง-น่านและป่าสัก ครอบคลุมพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ศูนย์กลางของแคว้นสุโขทัยอยู่ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำยม หลักฐานศิลปะโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมายบ่งชี้ให้เห็นความเป็นมาและความรุ่งเรืองของแคว้นแห่งนี้ แม้แต่เอกสารบางชิ้น อาทิ ตำนานพระพุทธสิหิงค์และศิลาจารึกจำนวนมากก็กล่าวถึงเรื่องราวของแคว้นสุโขทัย แต่ก็ไม่มีหลักฐานชิ้นใดให้รายละเอียดได้ครอบคลุมทุกด้าน

แคว้นสุโขทัย เป็นรัฐสำคัญที่มีหลักฐานชัดเจนว่า ชนชั้นผู้ปกครองเป็นคนเชื้อสายไท/ ไต(Tai/ Dai) ในระยะแรกแคว้นสุโขทัยอาจก่อตัวขึ้นร่วมสมัยกับรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่๗แห่งอาณาจักรกัมพูชา(พ.ศ.๑๗๔๒–๑๗๖๓)เป็นอย่างน้อยภายใต้การนำของราชวงศ์ศรีนาวนำถม[28] ศิลาจารึกหลักที่๒ ระบุว่าพ่อขุนศรีนาวนำถม “ปู่”ของพระศรีศรัทธราราชจุฬามณีผู้สร้างจารึกนี้ ทรงมีอำนาจเหนือเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย กล่าวคือ “ ปู่ชื่อพระยาศรีนาวนำถุม…เป็นพ่อ…เสวยราชในนครสองอัน อันหนึ่งชื่อนครสุโขทัย อันหนึ่งชื่อนครศรีสัชนาลัย…”[29]

หลักฐานจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่๗[30] กล่าวถึงการสร้างพระราชไมตรีระหว่างกัมพูชากับแคว้นสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถมขณะที่ทรงทำศึกกับอาณาจักรจามปาทางทิศตะวันออกว่า “…สำหรับผู้ที่พระองค์พระราชทานความมั่งคั่งบริบูรณ์แล้ว ก็ได้พระราชทานพระธิดาด้วย…” พ่อขุนผาเมืองโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถมคือผู้ที่ได้รับพระราชทานพระธิดา พร้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรีและพระนาม “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” [31]

เฉลิม ยงบุญเกิด ผู้แปลบันทึกการเดินทางของโจวต้ากวนว่าด้วยขนบธรรมเนียมและประเพณีของเจินละ(กัมพูชา)ในพุทธศตวรรษที่๑๘อธิบายว่า แคว้นสุโขทัยมีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า “เสียม” หรือ “เสียน”[32] ตรงกับข้อเสนอของศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ซึ่งอ้างหลักฐานจากจดหมายเหตุจีนชื่อ หยวนสื่อ(หนังสือประวัติศาสตร์ราชวงศ์หยวน ฉบับหอหลวงบรรพว่าด้วยประเทศเซียน) และหมิงสือลู่(หนังสือประวัติศาสตร์รายรัชกาลแห่งราชวงศ์หมิง) รวมถึงสารานุกรมท้องถิ่นและจดหมายเหตุเอกชนด้วย เช่น หนังสือหนานไห่จื้อ เป็นต้น[33]

เดวิด เค. วายแอตต์ ( David K. Wyatt) ชี้ว่า แคว้นสุโขทัยเป็นอีกแคว้นหนึ่งในหลายแคว้นของชาวสยาม มีชื่อเรียกในหลักฐานเอกสารของจีนว่า “เสียม(Siem)”[34] ขณะที่อาคม พัฒิยะและนิธิ เอียวศรีวงศ์เชื่อว่า “เสียน” ในหลักฐานบันทึกของวังต้ายวนหมายถึงแคว้นสุพรรณภูมิ วังต้ายวนบันทึกว่าในปี พ.ศ.๑๘๙๒ “เสียนยอมอ่อนน้อมต่อหลอฮู่(ละโว้) ”[35]

หลังจากแคว้นสุโขทัยตกอยู่ภายใต้การยึดครองของขอมสบาดโขลญลำพงระยะหนึ่ง พ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดผู้ทรงสืบเชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์ศรีนาวนำถม[36] ก็วางแผนขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงออกไป แผนดังกล่าวเริ่มขึ้นโดยพ่อขุนบางกลางหาวทรงนำทัพไปตั้งที่เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนผาเมืองได้ยกทัพไปตั้งที่บางขลง(หรือบางขลัง)ไม่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยเท่าใดนัก เพื่อให้ดูประหนึ่งว่ากำลังมุ่งหน้าจะเข้าโจมตีสุโขทัย แล้วจึงอพยพชาวเมืองบางขลงไปไว้ที่เมืองราดและเมืองสากอได จากนั้นพ่อขุนผาเมืองได้นำทัพถอยมารวมกับทัพของพ่อขุนบางกลางหาวที่เมืองศรีสัชนาลัย ก่อนจะยกทัพกลับไปยังเมืองราด[37] การกระทำดังกล่าวทำให้ขอมสบาดโขลญลำพงรีบยกทัพเข้าตีเมืองศรีสัชนาลัย พ่อขุนผาเมืองจึงได้โอกาสยกทัพบุกเข้าเมืองสุโขทัยสำเร็จ[38] ต่อมาพ่อขุนผาเมืองทรงยกแคว้นสุโขทัยพร้อมทั้งถวายพระนาม“ศรีอินทรบดินทราทิตย์”แด่พ่อขุนบางกลางหาวผู้ทรงเป็นต้นราชวงศ์พระร่วง

ข. พัฒนาการทางการเมืองของแคว้นสุโขทัย
กรุงสุโขทัยมีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น ๙ พระองค์ ปรากฏพระนามในจารึกหลักที่๑(จารึกพ่อขุนรามคำแหง)และจารึกหลักที่๔๕(จารึกปู่สบถหลาน) แต่จะกล่าวถึงเพียงรัชสมัยที่มีเหตุการณ์สำคัญ ดังนี้
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ประมาณ พ.ศ.๑๗๙๓- ไม่ปรากฏปีสวรรคต)
พ่อขุนบางกลางหาวเสวยราชย์เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ในรัชสมัยนี้เกิดเหตุการณ์ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดยกเข้ามาตีเมืองตาก พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ส่งกองทัพไปปราบปราม ครั้งนั้นขุนรามราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทำยุทธหัตถีชนะขุนสามชน จึงได้รับพระราชทานนามว่า “พระรามคำแหง”[39]

พ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ.๑๘๒๒-๑๘๔๒) [40]
ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงระหว่างปีพ.ศ.๑๘๒๕–๑๘๓๐ พระเจ้าหยวนสีโจว(กุบไลข่าน)กษัตริย์จีนแห่งราชวงศ์หยวน(มองโกล)ได้ส่งทัพโจมตีดินแดนต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายครั้ง อาทิ รุกรานกัมพูชาในปีพ.ศ.๑๘๒๕ โจมตีพุกามในปีพ.ศ.๑๘๒๖และพ.ศ.๑๘๓๐ ทำสงครามกับตังเกี๋ยและจามปาระหว่างปีพ.ศ.๑๘๒๖–๑๘๒๘ ส่งผลให้รัฐหลายแห่งโดยเฉพาะพุกามและกัมพูชาต้องยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเมืองและการค้าของจีน พงศาวดารโยนกสะท้อนให้เห็นว่า ผลจากการเสื่อมคลายอำนาจทางการเมืองของพุกามและกัมพูชา ทำให้พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนมังรายและพ่อขุนงำเมือง “ตั้งพิธีกระทำสัตย์ต่อกันและกัน ณ ริมฝั่งน้ำขุนภู” นอกเหนือจากจะมีเหตุผลเพื่อการเป็นพันธมิตรซึ่งกันและกันแล้ว ยังเป็นการแบ่งเขตอิทธิพลทางการเมืองอย่างเด่นชัดอีกด้วย [41]

ในปีพ.ศ.๑๘๒๕ จีนพยายามส่งราชทูตชื่อ เหอจื่อจื้อเข้ามาทวงเครื่องราชบรรณาการจากสุโขทัย แต่เรือกลับถูกพายุพัดเข้าไปยังอาณาจักรกัมพูชา ทำให้คณะทูตถูกจับฆ่าทั้งหมด แต่ในปีพ.ศ.๑๘๓๕ สุโขทัยได้ส่งคณะทูตชุดแรกไปติดต่อกับจีน ทำให้จีนส่งทูตเข้ามายังแคว้นสุโขทัยเป็นครั้งที่๒ในปีพ.ศ. ๑๘๓๖
หลักฐานศิลาจารึกหลักที่๑(จารึกพ่อขุนรามคำแหง)ระบุว่า ในปีพ.ศ.๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น จารึกหลักนี้ระบุว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงเป็น “นักปราชญ์รู้ธรรม”ตรงกับข้อความในศิลาจารึกหลักที่๒ คือ “ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่ง ชื่อพ่อขุนรามราชปราชญ์รู้ธรรม” นอกจากนี้พ่อขุนรามคำแหงยังทรงสงเคราะห์ประชาชนด้วยการไม่เก็บภาษีจกอบ ไม่ประหารเชลยศึก ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินของพลเมือง กำหนดสิทธิการสืบทอดมรดก และทรงผดุงความยุติธรรมในการตัดสินอรรถคดีความดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่๑ว่า “ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุนผิแลผิดแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แลจึ่งแล่งความแก่ขาด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน” เป็นต้น บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของพ่อขุนรามคำแหงคือ การทรงศีลในวันสำคัญทางศาสนา การสร้างขดารหินเพื่อให้พระเถระแสดงธรรมในวันพระ อีกทั้งยังทรงว่าราชการบนขดารหินนั้นด้วย อันชี้ให้เห็นถึงการปกครองแบบทศพิธราชธรรมในรัชสมัยของพระองค์[42]
สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่๑ (พระเจ้าลิไทย)
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร กล่าวในบทความชื่อ “ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก” ตอนหนึ่งว่า เมื่อพ่อขุนรามคำแหงสวรรคตแล้ว อาณาจักรสุโขทัยแตกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อยและแยกตัวเป็นอิสระ อาทิ เมือง เชียงทอง(ตาก) และเมืองพระบาง(นครสวรรค์) สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่๑ จึงทรงรวบรวมอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเป็นปึกแผ่นครอบคลุมระหว่างแม่น้ำปิง แม่น้ำน่านและแม่น้ำป่าสัก เมืองต่างๆที่อยู่ในอาณาเขตของแคว้นสุโขทัย ได้แก่ เชียงทอง กำแพงเพชร พระบาง ปากยม(พิจิตร) สองแคว สระหลวง(พิษณุโลก) เมืองราด สะค้า ลุมบาจายและน่าน[43]

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ระบุว่าในปีพ.ศ.๑๙๒๑ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่๒ แคว้นสุโขทัยตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่๓(ไสยลือไทย)ทรงประกาศเอกราชในปี พ.ศ. ๑๙๔๓ แต่ในปีพ.ศ.๑๙๕๓ ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาถึงพ.ศ.๑๙๘๑ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๐๐๖ สุโขทัยจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา[44]

๗) แคว้นสุพรรณภูมิ
อาคม พัฒิยะและนิธิ เอียวศรีวงศ์เชื่อว่า “เสียน” ในหลักฐานของวังต้ายวนเรื่อง “บันทึกย่อเผ่าชาวเกาะ” หมายถึง “แคว้นสุพรรณภูมิ “ บันทึกของวังต้ายวนระบุว่า “ครั้นเมื่อเดือนที่๕ ของฤดูร้อนแห่งรัชกาลจื้อเจิ้ง ปีฉลู(พ.ศ.๑๘๙๒) เสียนยอมจำนนต่อหลอหู(ละโว้)” ข้อความนี้สอดคล้องกับหลักฐานประวัติศาสตร์ของราชวงศ์หมิงที่ระบุว่า “เนื่องจากหลอหูมีแสนยานุภาพสูง จึงได้ผนวกเอาดินแดนของเสียน และเรียกชื่อว่า เสียนหลอหู”

เมื่อ Paul Pelliot แปลบันทึกของโจวต้ากวนซึ่งเดินทางร่วมกับคณะราชทูตจีนไปยังกัมพูชาในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่๘ เขาระบุว่า ครั้นหลอหูยึดครอง “เสียน” ในปีเดียวกัน จีนจึงเรียกรัฐใหม่นี้ว่า“เสียนหลอ” ในเวลาต่อมา [45]

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์อธิบายว่า แคว้นสุพรรณภูมิตั้งอยู่ในเขตตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และมีอาณาเขตกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำน้อยซึ่งเดิมเคยเป็นดินแดนของแคว้นนครชัยศรี โดยได้ย้ายศูนย์กลางเดิมจากเมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณไปตั้งอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรีในปัจจุบัน[46] เนื่องจากลำน้ำบางแก้วซึ่งไหลผ่านเมืองนครชัยศรีเปลี่ยนเส้นทางเดิน ทำให้เรือใหญ่ไม่สามาถเข้าถึงได้โดยสะดวก ขณะที่เมืองสุพรรณภูมินั้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำใหญ่คือ แม่น้ำสุพรรณบุรี สามารถติดต่อค้าขายทางทะเลและเมืองต่างๆในภูมิเดียวกันได้สะดวก ชื่อเมืองสุพรรณภูมิปรากฏอยู่ในหลักฐานต่างๆ อาทิ ศิลาจารึกหลักที่๑ ของสุโขทัย(กลางพุทธศตวรรษที่๑๙)และจารึกซึ่งพบที่เมืองชัยนาท(พุทธศตวรรษที่๒๑) แสดงให้เห็นถึงความสืบเนื่องทางวัฒนธรรม

ในสมัยอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยายืนยันให้เห็นถึงความสำคัญว่า แคว้นสุพรรณภูมิมีพระมหากษัตริย์ปกครองควบคู่กันมากับกรุงศรีอยุธยา เมืองสำคัญของแคว้นสุพรรณภูมิ ได้แก่ เมืองแพรกศรีราชาริมแม่น้ำน้อย(ในเขตจังหวัดชัยนาท) เมืองราชบุรี เมืองสิงห์บุรี และมีเมืองเพชรบุรีเป็นเมืองท่าคุมเส้นทางการค้าทางใต้ จดหมายเหตุจีนระบุว่าในปี พ.ศ.๑๗๗๗ มีทูตเสียนเดินทางจากเพชรบุรีไปยังจีน หลักฐานที่ยืนยันการติดต่อระหว่างจีนกับเพชรบุรีคือ การค้นพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ้องจำนวนมากในสถูปเจดีย์ที่เมืองเพชรบุรี[47]

แคว้นสุพรรณภูมิอาจมีความสัมพันธ์กับ แคว้นสุโขทัยและนครศรีธรรมราชในฐานะที่เป็น “สมาพันธรัฐ” ซึ่งถูกเรียกรวมกันในจดหมายเหตุจีนประมาณพุทธศตวรรษที่๑๙ ว่า “เสียน” เครือข่ายของบ้านเมืองในเขตแคว้นอโยธยาครอบคลุมขึ้นไปทางเหนือของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเลย ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์[48]

การปกครองของแคว้นสุพรรณภูมิน่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับแคว้นอโยธยา คือประกอบด้วยเมืองหลวง เมืองลูกหลวงและเมืองที่มีความสำคัญรองลงไป พระนามเฉพาะของพระมหากษัตริย์แห่งแคว้นสุพรรณภูมิ คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราช ส่วนผู้ปกครองเมืองลูกหลวงก็จะทรงมีพระนามว่า “พระอินทราชา”

๘) แคว้นละโว้-อโยธยา
นักวิชาการเชื่อว่า แคว้นละโว้-อโยธยาพัฒนามาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองของแคว้นทวารวดี ซึ่งเคยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้ และมีเมืองสำคัญรองลงมาคือเมืองราม หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่า เมื่อพระนางจามเทวีธิดากษัตริย์แห่งกรุงละโว้ทรงได้รับการอัญเชิญเสด็จฯไปครองเมืองหริภุญชัยนั้น พระสวามีของพระนางจามเทวีทรงครองเมืองราม หนังสือตำนานเมืองลำพูนกล่าวว่า พระนางจามเทวีทรงเป็นพระธิดาเลี้ยงและสะใภ้หลวงของพระเจ้าจักรพรรดิกษัตริย์แห่งลวรัฐ(กรุงละโว้) ส่วนพระสวามีของพระนางทรงเป็นอุปราชและปกครองเมือง“รามั(ญ)นคร” ตำนานเมืองลำพูนระบุว่า กษัตริย์แห่งเมืองลวรัฐทรงเป็น “พระมหากษัตริย์อโยทธยา”[49]

หลักฐานจากพงศาวดารเหนือสนับสนุนข้อเสนอที่ระบุว่า ศูนย์กลางทางการปกครองของแคว้นละโว้ย้ายมายังเมืองอโยธยาบริเวณปากน้ำแม่เบี้ยทางฟากตะวันออกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ทำให้เมืองละโว้เปลี่ยนฐานะกลายเป็นเมืองลูกหลวงจนถึงสมัยอยุธยา แต่ถึงกระนั้นจดหมายเหตุจีนก็ยังคงเรียกแคว้นแห่งนี้ว่าแคว้นหลอหูดังเดิม หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์เรียกแคว้นอโยธยาว่า แคว้นกัมโพช เพื่อเน้นให้เห็นการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างแคว้นละโว้กับอาณาจักรกัมพูชาซึ่งมีมาแต่เดิม[50]

การย้ายศูนย์จากเมืองละโว้มายังเมืองอโยธยาประมาณพุทธศตวรรษที่๑๘ อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยผลักดันทางเศรษฐกิจ เมื่อการค้าขายทางทะเลกับจีนและดินแดนใกล้เคียงขยายตัว ทำให้เมืองอโยธยาซึ่งตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำน้อย กลายเป็นชุมทางสำคัญของการค้ากับแคว้นต่างๆทั้งภายในและภายนอก อีกทั้งยังเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของพ่อค้าจากแหล่งวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งชาวจีน อินเดีย อาหรับและเปอร์เซีย

หลักฐานในพงศาวดารเหนือและคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวถึงการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมามีอำนาจเหนือแคว้นอโยธยาของผู้ปกครองเชื้อสายต่างๆ อาทิ พระนารายณ์จากราชวงศ์ละโว้ พระยาโคตรบองจากแคว้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระยาสินธพอมรินทร์และพระเจ้าสายน้ำผึ้งจากเชื้อสายสามัญชน เชื้อสายของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จากกัมพูชา หรือแม้แต่ในหลักฐานของวันวลิตก็ระบุว่า พระเจ้าอู่ทองทรงสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้ากรุงจีน เป็นต้น เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมของแคว้นอโยธยาได้เป็นอย่างดี

ทางด้านความเชื่อทางศาสนานั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่า แคว้นอโยธยาสืบทอดการนับถือศาสนาพุทธนิกายหินยานผสมผสานกับนิกายมหายานมาจากเมืองละโว้(ทวารวดี) ต่อมาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์ ดังปรากฏหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดมเหยงคณ์ ซึ่งสร้างก่อนเมืองพระนครศรีอยุธยาและมีชื่อตรงกับวัดมหิยังคณ์ในลังกา

แคว้นอโยธยายังคงรักษาจารีตดั้งเดิมที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยแคว้นละโว้ กล่าวคือ พระนามของพระมหากษัตริย์และเจ้านายมักจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และวรรณกรรมเรื่องรามายณะ ได้แก่ สมเด็จพระรามาธิบดี หรือสมเด็จพระราเมศวร เป็นต้น หลักฐานกฎหมายเก่า รวมถึงวรรณคดีลิลิตโองการแช่งน้ำและโบราณสถานขนาดใหญ่จำนวนมากก็สะท้อนให้เห็นความเจริญทางวัฒนธรรมของแคว้นอโยธยา โดยเฉพาะซากเจดีย์โบราณซึ่งถูกครอบไว้ด้วยเจดีย์ใหญ่ชัยมงคล หรือการสร้างพระพุทธไตรรัตนนายกก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปีตามหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์[51]

ในปีพ.ศ. ๒๔๕๐พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าเสนอว่า ทางฟากตะวันออกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณก่อน “สมัยกรุงเทพทวาราวดี(กรุงศรีอยุธยา)” [52] ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า พระเจ้าอู่ทองเสด็จฯมาสร้างเมืองอโยธยาเป็นราชธานี โดยทรงอ้างหลักฐานการสร้างพระพุทธรูป “พระเจ้าพะแนงเชิง” ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์[53]การที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงเมืองอโยธยา เป็นการอธิบายให้เห็นว่ารากฐานการเติบโตของอาณาจักรอยุธยาหรือ “กรุงเทพทวาราวดี” มีพัฒนาการสืบเนื่องมาจากเมืองอโยธยา [54]

นักวิชาการจำนวนหนึ่งยังคงเชื่อว่า การศึกษาเรื่องราวยุคหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างการเสื่อมอำนาจทางการเมืองของอาณาจักรกัมพูชาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่๑๘ ถึงพุทธศักราช ๑๘๙๓ เป็นช่วงของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยอโยธยา(ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙) แต่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งก็มีความเห็นว่า คำว่า “อโยธยา” กับ “อยุธยา” เป็นคำเรียกศูนย์กลางทางการเมืองรัฐเดียวกันแต่ต่างกันเพียงช่วงเวลาเท่านั้น โดยศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เสนอความเห็นว่า คำว่า “อโยธยา” เป็นคำเรียกเมืองพระนครศรีอยุธยาก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่๑ในปีพ.ศ.๒๑๑๒ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นแล้ว “อโยธยา” จึงถูกเรียกว่า “กรุงศรีอยุธยา” นับแต่บัดนั้น

เมื่อระบุถึงเหตุการณ์ช่วงเสียกรุงในพ.ศ.๒๑๑๒ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาก็มิได้ระบุนามเมืองพระนครศรีอยุธยาว่า “อโยธยา”แต่อย่างใด ราชธานีแห่งนี้ยังคงถูกระบุนามว่า“กรุงศรีอยุธยา”สืบเนื่องมาโดยตลอด จึงชี้ให้เห็นว่ายังไม่ควรยึดถือข้อคิดเห็นข้างต้นเป็นข้อสรุป กล่าวคือ

“…ครั้นเถิงศักราช ๙๓๑ มะเส็งศก(พ.ศ.๒๑๑๒) ณ วันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน๙ เพลารุ่งแล้วประมาณ ๓ นาฬิกา ก็เสียกรุงพระนครศรีอยุธยาแก่พระเจ้าหงสา…”

นอกเหนือจากแคว้นต่างๆดังกล่าวข้างต้นแล้ว ดินแดนประเทศไทยในอดีตยังมีร่องรอยของแว่นแคว้นหรือรัฐโบราณซึ่งยังไม่สามารถหาหลักฐานมามาอธิบายได้อย่างเพียงพอ แม้ว่าบางรัฐจะปรากฏเรื่องราวอยู่ในตำนาน พงศาวดารหรือศิลาจารึก อาทิ แคว้นศรีจนาศะ แคว้นศรีโคตรบูรณ์ แคว้นอวัธยปุระและแคว้นศามพูกปัฏฏนะ เป็นต้น แต่ก็จำเป็นจะต้องอาศัยระยะเวลาในการศึกษาค้นคว้ากันต่อไป

๑.๔ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาและธนบุรี
เมื่อ “เสียน” หรือ“แคว้นสุพรรณภูมิ “ ยอมจำนนต่อหลอ-หู(ละโว้)” หรือตามที่ระบุในหลักฐานประวัติศาสตร์ของราชวงศ์หมิงว่า “เนื่องจากหลอ-หูมีแสนยานุภาพสูง จึงได้ผนวกเอาดินแดนของเสียนและเรียกชื่อว่า เสียน-หลอหู” ซึ่งตรงกับเรื่องราวที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายเล่ม อาทิพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า

“ศุภมัสดุ ศักราช๗๑๒ ปีขาล โทศก (พ.ศ.๑๘๙๓) วันศุกร์ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๕ เพลา ๓ นาฬิกา ๙ บาท สถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา ชีพ่อพราหมณ์ให้ฤกษ์ตั้งพิธีกลบบาตร ได้สังข์ทักษิณาวัฏใต้ต้นหมันใบหนึ่ง แล้วสร้างพระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาทองค์หนึ่ง สร้างพระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาทองค์หนึ่ง สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาทองค์หนึ่ง แล้วพระเจ้าอู่ทองเสด็จเข้ามาเสวยราชสมบัติ พระชนม์ได้ ๓๗ พรรษา ชีพ่อพราหมณ์ถวานพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ….”[55]

กรุงศรีอยุธยา มีฐานะเป็นศูนย์กลางทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและวิทยาการนานถึง ๔๑๗ ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น ๓๓ พระองค์ ในปีพ.ศ.๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาได้ถูกกองทัพพม่าปิดล้อมโจมตีและเผาทำลายลงไป พระยากำแพงเพชรหรือพระยาตาก ซึ่งได้รวบรวมกำลังไพร่พลไทยจีนฝรั่งและมุสลิม ประกาศตนเป็นเจ้าและต่อสู้ขับไล่พม่า เสวยราชสมบัติที่เมืองธนบุรีเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี(สมเด็จพระบรมราชาที่๔ พระเจ้าตากสิน) รวมทั้งปราบปรามชุมนุมต่างๆจนราบคาบ [56]

๑.๔.๑ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา
๑) ที่ตั้งและสภาพทั่วไป
กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรสำคัญซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีแม่น้ำไหลผ่าน ๓ สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก นอกจากน้ำยังมีลำคลองสาขาอีกหลายสายไหลเชื่อมกันทั้งในกำแพงเมืองและนอกกำแแพงเมือง สภาพภูมิประเทศเช่นนี้จึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการอุปโภค บริโภค การคมนาคมทางน้ำ การค้าขายและการเกษตรกรรม อีกทั้งยังใช้เป็นแนวป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรูได้เป็นอย่างดีด้วย ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(พ.ศ.๒๐๙๑–๒๑๑๑) มีการขยายกำแพงเมืองและขุดทางน้ำเชื่อมกันระหว่างแม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำป่าสักเพื่อดัดแปลงให้เป็นคูเมือง กรุงศรีอยุธยาจึงมีสภาพเป็นเกาะลักษณะคล้ายสัณฐาน(แผนผัง)ของเรือสำเภาที่มีแม่น้ำล้อมรอบทุกด้าน

กำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยามีความยาววัดรวมกันทั้งสิ้น ๑๒ กิโลเมตร ประกอบด้วยป้อมปราการ ๑๖ ป้อม ประตูเมือง ๙๙ ประตู แบ่งเป็นประตูน้ำ ๒๐ ประตู ประตูบก ๑๘ ประตู และประตูช่องกุด ๖๑ ประตู ภายในกำแพงเมืองนอกจากจะอาศัยลำคลองเป็นทางคมนาคมแล้วยังมีถนนปูอิฐขนานไปกับลำคลองทุกสาย เมื่อถนนตัดผ่านลำคลองก็จะมีสะพานอิฐ สะพานศิลาหรือสะพานไม้ทอดเชื่อม[57] ลักษณะเช่นนี้ทำให้กรุงศรีอยุธยาได้รับการขนานนามจากพ่อค้าและนักเดินทางชาวตะวันตกว่า สวยงามราวกับเป็นเมืองเวนิสแห่งตะวันออก

ภายในตัวเมืองมีการแบ่งเขตที่อยู่อาศัยออกเป็น เขตพระราชวังหลวงติดกำแพงเมืองด้านเหนือ พระราชวังหน้าติดกำแพงเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ พระราชวังหลังติดกำแพงเมืองด้านตะวันตก และในกำแพงเมืองยังมีเขตที่อยู่อาศัยของเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง ราษฎร พ่อค้าไทย จีน อินเดีย เปอร์เซีย ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเขตที่อยู่อาศัยของชาวมอญ ลาว จีน ญวน ญี่ปุ่น โปรตุเกส อังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส มักกะสัน และอื่นๆนอกกำแพงเมืองทางทิศใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาอย่างเป็นสัดส่วนด้วย โดยชาวจีนส่วนหนึ่งอาศัยอยู่บริเวณตั้งแต่ย่านวัดพนัญเชิงขึ้นไปจนถึงปากคลองวัดดุสิต รวมถึงในเกาะเมืองด้านใต้(ตรงข้ามวัดพนัญเชิงและย่านป้อมเพชร) ชาวอินเดียอาศัยนอกเกาะเมืองด้านใต้ ชาวอังกฤษและฮอลันดาอาศัยอยู่บริเวณย่านด้านใต้ของวัดพนัญเชิงลงมา ชาวโปรตุเกสอยู่บริเวณตำบลบ้านดินด้านใต้วัดบางกระจะลงมา ชาวญี่ปุ่นตั้งค่ายอยู่ฝั่งตรงกันข้ามเยื้องกับหมู่บ้านโปรตุเกส เป็นต้น

๒) การปกครอง
การปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยามีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของพระราชอำนาจสูงสุดในการปกครองอันละเมิดมิได้ พื้นฐานของพระราชอำนาจนี้มาจากขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ซึ่งปรากฏอย่างเด่นชัดอยู่ในกฎมนเทียรบาล อันเป็นเครื่องมือกำหนดแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีต่อพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จึงทรงมีพระราชฐานะเป็นสมมติเทพ ผู้ทรงเปรียบเสมือนเทพเจ้า ซึ่งจะต้องมีการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก อีกทั้งยังทรงเป็นเจ้าชีวิตและเจ้าแผ่นดิน ความเชื่อดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิเทวราชา ซึ่งได้รับสืบทอดแนวความคิดมาจากอาณาจักรกัมพูชา

ในด้านการเมืองนั้น กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีศูนย์กลางทางการปกครองที่แวดล้อมด้วยเมืองเล็กโดยรอบปริมณฑลของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเรียกว่า “หัวเมืองชั้นใน” ถัดออกไปคือ เมืองลูกหลวงหรือเมืองหลานหลวง(ขึ้นอยู่กับยศของเจ้านายผู้ปกครองเมือง) เรียกว่า “หัวเมืองชั้นนอกหรือเมืองพระยามหานคร” และเมืองประเทศราช มีขุนนางที่สมุหนายกดูแลฝ่ายพลเรือน สมุหกลาโหมเป็นผู้ควบคุมดูแลฝ่ายทหาร ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(พ.ศ.๑๙๙๑–๒๐๑)มีการปฏิรูปการปกครองและยกเลิกการแต่งตั้งพระราชวงศ์ไปปกครองหัวเมืองสำคัญ (เมืองพระยามหานคร ) เนื่องจากกรุงศรีอยุธยามีอาณาเขตเพิ่มมากและและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเกิดปัญหาการสะสมกำลังเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์ ดังปรากฏหลักฐานเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราช(ขุนหลวงพะงั่ว พ.ศ.๑๙๑๓-๑๙๓๑)แห่งเมืองสุพรรณบุรียกทัพเข้ามาชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระราเมศวร และสมเด็จพระราเมศวร(พ.ศ.๑๙๓๑–๑๙๓๘)ยกทัพจากเมืองลพบุรีเข้ามาชิงราชบัลลังก์จากสมเด็จพระเจ้าทองลัน(พ.ศ.๑๙๑๓) เป็นต้น

การปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเกิดขึ้นในปีพ.ศ.๑๙๙๘ มีเหตุผลหลักๆ ๓ ประการ คือ ประการแรก เพื่อขยายอำนาจส่วนกลางออกควบคุมหัวเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ประการที่สอง เพื่อเป็นการแบ่งแยกหน้าที่ของฝ่ายพลเรือนและทหารให้ชัดเจน ประการที่สาม เพื่อการถ่วงดุลย์อำนาจของขุนนางฝ่ายต่างๆมิให้มีโอการร่วมมือกันล้มราชบัลลังก์ การปฏิรูปของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งเรียกว่าการปกครองแบบจตุสดมภ์ถูกนำมาใช้จนถึงรัชสมัยพระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่(พ.ศ.๒๔๑๑–๒๔๕๓) รัชกาลที่๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ [58]

หลักการปกครองแบบจตุสดมภ์ ประกอบด้วยการปกครองส่วนกลางและการปกครองหัวเมือง

การปกครองส่วนกลาง อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสมุหพระกลาโหมและสมุหนายก ซึ่งจะอำนาจในการบังคับบัญชาเสนาบดีจตุสดมภ์ ได้แก่ กรมเวียง กรมวัง กรมคลังและกรมนาอีกชั้นหนึ่ง

สมุหพระกลาโหม เป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีผู้บังคับบัญชากรมกลาโหม มีหน้าที่บังคับบัญชาดูแลกำกับราชการและไพร่ฝ่ายทหารทั้งในราชธานีและหัวเมืองต่างๆทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งกรมในสังกัดฝ่ายกลาโหม ได้แก่ กรมอาสาซ้าย กรมอาสาขวา กรมเขนทองขวา กรมเขนทองซ้าย กรมทวนทองขวา กรมทวนทองซ้าย กรมช่างสิบหมู่ เป็นต้น ยศและราชทินนามของสมุหพระกลาโหมคือ เจ้าพระยามหาเสนาบดีวิริยภักดีบดินทรสุรินทรฤาชัย ถือตราพระคชสีห์

สมุหนายก เป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีผู้บังคับบัญชากรมมหาดไทยมีหน้าที่บังคับบัญชาดูแลกำกับขุนนางและไพร่ฝ่ายพลเรือนทั้งในราชธานีและหัวเมืองต่างๆทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งกรมในสังกัดฝ่ายพลเรือน รวมทั้งกรมจตุสดมภ์ทั้ง ๔ และกรมอื่นๆ อาทิ กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ กรมมหาดไทยฝ่ายพะลำพัง กรมมหาดไทยตำรวจภูธร กรมมหาดไทยตำรวจภูบาลฯลฯ ด้วย ยศและราชทินนามของสมุหนายกคือ เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมหนายกอัครมหาเสนาบดี ถือตราพระราชสีห์
เสนาบดีเวียง วัง คลังและนาอันเป็นหัวใจของการปกครองแบบจตุสดมภ์มีบทบาทดังนี้[59]
กรมเวียง (กรมนครบาล) มีหน้าที่ในการปกครองท้องที่ ปราบอาชญากรรม รักษาความสงบภายใน ดูงแลปัญหาอัคคีภัยในเขตราชธานีและหัวเมืองใกล้ราชธานี ตัดสินคดีความมหันตโทษ และควบคุมดูแลกรมในสังกัด อาทิ กรมตะเวณขวาและกรมตะเวณซ้าย ฯลฯ เสนาบดีกรมเวียงคือ พระยายมราช ถือตรา พระยมขี่ทรงสิงห์
กรมวัง (กรมธรรมาธิกรณ์) มีหน้าที่ดูแลราชการ งานยุติธรรมและงานพระราชพิธีในราชสำนัก แต่งตั้งยกกระบัตรไปประจำยังหัวเมือง เพื่อกำกับราชการต่างพระเนตรพระกรรณพระมหากษัตริย์และรายงานเรื่องต่างๆเข้ามายังส่วนกลาง รวมทั้งกำกับราชการกรมในสังกัด ได้แก่ กรมชาวที่พระบรรทม กรมพระภูษามาลา กรมฉางข้าวบาตร และกรมสวนหลวง ฯลฯ เสนาบดีคือ พระยาธรรมาธิบดี ถือตราเทพยดาทรงโค
กรมคลัง (กรมโกษาธิบดี) มีหน้าที่เก็บ รักษา และจ่ายพระราชทรัพย์ ดูแลการเก็บภาษีอากรต่างๆ รับผิดชอบการค้าสำเภาและการผูกขาดการค้าทั้งภายในและภายนอกพระราชอาณาจักร ดูแลชาวต่างชาติและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ รวมถึงบังคับบัญชา เสนาบดีคือพระยาโกษาธิบดี ถือตราบัวแก้ว
กรมนา (กรมเกษตราธิการ) มีหน้าที่ตรวจตราและส่งเสริมการทำนาของประชาชน เก็บหางข้าว ออกโฉนดที่นา จัดซื้อข้าวขึ้นฉางหลวง ตัดสินคดีความเกี่ยวกับที่นา ผลิตผลในนาและโคกระบือ รวมทั้งดูแลกรมในสังกัด เช่น กรมฉาง เป็นต้น เสนาบดีคือ พระยาพลเทพ ถือตรา ๙ ดวงเพื่อใช้ในโอกาสต่างๆ อาทิ ตราพิทยาธรถือดอกจงกลนี ตราพระพิรุณขี่นาค ตราพระโพสพยืนบนแท่น ตราเทวดานั่งบุษบก เป็นต้น

การปกครองหัวเมือง
หัวเมืองชั้นใน นสมัยอยุธยาตอนต้นหัวเมืองชั้นในมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงและเมืองหลานหลวง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงลดฐานะเมืองดังกล่าวให้เป็นหัวเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อราชธานี โดยส่วนกลางจะส่ง “ผู้รั้ง”ไปปกครอง ตำแหน่งนี้จะมีอำนาจน้อยกว่าเจ้าเมือง หัวเมืองชั้นในทิศเหนือจรดเมืองชัยนาท ทิศตะวันออกจรดเมืองปราจีนบุรี ทิศใต้จรดเมืองกุยบุรี ทิศตะวันตกจรดเมืองกาญจนบุรี

หัวเมืองชั้นนอก อยู่ถัดออกไปจากหัวเมืองชั้นใน อาจเรียกว่าเมืองพระยามหานครก็ได้ และถูกแบ่งออกเป็นหัวเมืองชั้นตรี หัวเมืองชั้นโทและหัวเมืองชั้นเอกตามระดับความสำคัญ ได้แก่ เมืองพิษณุโลก เมืองนครศรีธรรมราช เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสุโขทัย เมืองกำแพงเพชร เป็นต้น โดยส่วนกลางอาจส่งขุนนางไปปกครองหรือแต่งตั้งขุนนางเชื้อสายเจ้าเมืองเดิมปกครองก็ได้ แต่ละเมืองก็จะมีสมุหพระกลาโหม สมุหนายกและขุนนางจตุสดมภ์ปฏิบัติราชการเช่นเดียวกับราชธานี

หัวเมืองประเทศราช ได้แก่ เมืองขึ้นอาทิ หัวเมืองเขมร หัวเมืองมอญ หัวเมืองมลายู ซึ่งส่วนกลางมิได้ส่งขุนนางไปปกครอง แต่หัวเมืองประเทศราชจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการและดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองไปถวายตามเวลาที่กำหนดไว้[60]
๓) โครงสร้างทางสังคมและระบบการควบคุมกำลังคน
สังคมอยุธยาเป็นสังคมของชนชั้น แบ่งเป็นชนชั้นผู้ปกครอง ชนชั้นที่อยู่ใต้ปกครอง และพระสงฆ์ ชนชั้นผู้ปกครอง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนางและข้าราชการ ส่วนชนชั้นที่อยู่ใต้ปกครอง ได้แก่ ไพร่และทาส สำหรับพระสงฆ์นั้นเป็นชนชั้นพิเศษที่แยกออกมาจากชนชั้นปกครองและชนชั้นที่ถูกปกครอง
เงื่อนไขในการกำหนดศักดินา คือ ชาติกำเนิดและตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ในสังคมอยุธยา “ศักดินา” เป็นเครื่องมือสำคัญในการแจกจ่ายไพร่พล และควบคุมกำลังคน รวมทั้งกำหนดบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคลที่มีต่อรัฐและมูลนาย กำลังคนหรือแรงงานไพร่เป็นทรัพยากรที่มีค่าทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ นักวิชาการบางคนอธิบายว่า ศักดินา หมายถึง กรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นพื้นฐานของการจัดระบบสังคม[61] กล่าวคือ พระมหาอุปราชทรงเป็นผู้มีศักดินาสูงสุด จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ เจ้านายทรงกรมมีศักดินา ๑๑,๐๐๐ - ๕๐,๐๐๐ ขุนนางคือข้าราชการที่มีศักดินาตั้งแต่ ๔๐๐– ๑๐,๐๐๐ ข้าราชที่มีศักดินาต่ำกว่า ๔๐๐ ถือเป็นข้าราชการชั้นประทวน ไพร่มีศักดินา ๑๐–๒๕ ส่วนวณิพกและทาสมีศักดินาไม่เกิน ๕

ไพร่ หมายถึง ราษฎรชายหญิงที่มิได้เป็นมูลนายหรือทาส ไพร่ทุกคนจะต้องขึ้นทะเบียนสังกัดมูลนาย(เจ้านายและขุนนาง) เพื่อการเกณฑ์แรงงานตามกรมของมูลนายตามระยะเวลาที่กำหนด
แรงงานไพร่นอกจากจะมีความสำคัญต่อการผลิตด้านต่างๆในสังคมแล้ว ยังเป็นกำลังสำคัญของอำนาจทางการเมือง การสงคราม งานโยธา รวมถึงงานสาธารณูปการทั้งหลายด้วย พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวว่า การจัดระบบควบคุมกำลังคนหรือระบบไพร่นี้เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่๒ กล่าวคือ

“ศักราช ๘๘๐ ขาลศก(พ.ศ.๒๐๖๑) ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดี สร้างพระศรีสรรเพชญ์ เสวยราชสมบัติ แรกตำราพิชัยสงครามและแรก(ทำสารบาญ)ชี พระราชสัมฤทธิ์ทุกเมือง“[62]

ไพร่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แบ่งเป็น
ไพร่หลวง เป็นไพร่สังกัดพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงปกครองไพร่หลวงผ่านขุนนาง โดยทรงให้ไพร่หลวงสังกัดในกรมต่างๆของขุนนาง ไพร่หลวงเป็นสมบัติของพระมหากษัตริย์มิใช่ไพร่ของขุนนางที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล ไพร่หลวงมีภาระในการขุดคลอง สร้างกำแพงเมือง ป้อมปราการ ถนนและวัดหลวง รวมทั้งเป็นทหารในยามศึกด้วย ไพร่หลวงมีอายุตั้งแต่ประมาณ ๑๘ ปีและปลดระวางเมื่ออายุครบ ๗๐ ปี ใน ๑ ปี ไพร่หลวงถูกเกณฑ์แรงงาน ๖ เดือน เรียกว่า “การเข้าเดือน” เมื่อออกเดือนแล้วก็ยังต้องไปทำงานรับใช้มูลนายด้วยเป็นระยะๆ จึงไม่มีอิสระในการประกอบอาชีพและต้องรับภาระหนักกว่าไพร่สมมาก

ในสมัยอยุธยาตอนกลางเมื่อการค้าต่างประเทศเจริญรุ่งเรืองมาก จึงเกิดไพร่ประเภทใหม่คือ “ไพร่ส่วย” ไพร่ส่วยเป็นไพร่หลวงซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ไกลจากราชธานี การเกณฑ์แรงงานมาใช้จึงไม่สะดวก แต่เนื่องจากอาศัยอยู่ในที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร เช่น เงิน ทอง ดีบุก รังนก ไม้ฝาง ผลเร่วและ ฯลฯ ทางการจึงอนุญาตให้ไพร่ประเภทนี้ส่งสิ่งของมีค่าแทนการเกณฑ์แรงงานได้ เพื่อใช้ในราชการและส่งขายต่างประเทศ

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์(พ.ศ.๒๑๙๙–๒๑๓๒)ทางการอนุญาตให้มีไพร่ส่วยเงินได้ ไพร่หลวงคนใดไม่ประสงค์จะทำงานให้ทางการ ก็สามารถจ่ายเงินแทนได้ในอัตรา ๒ บาทต่อเดือน แต่ไพร่หลวงซึ่งถูกเกณฑ์แรงงานเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุด[63]

ไพร่สม เป็นไพร่สังกัดมูลนาย(เจ้านายและขุนนาง) ไพร่สมมีฐานะเป็นสมบัติของมูลนายที่สามารถสืบทอดเป็นมรดกได้ และมีหน้าที่รับใช้มูลนายของตน จึงไม่ต้องถูกเกณฑ์มาทำงานโยธาให้แก่รัฐ ไพร่ที่สังกัดเจ้าทรงกรมในสมัยอยุธยาตอนปลายถือเป็นไพร่สมด้วย
ภาระของไพร่สม ได้แก่ การซ่อมแซมที่พักของมูลนาย การเดินสาส์น การติดตามเป็นบริวาร การสร้างวัดของมูลนาย การทำงานฝีมือ และการนำสิ่งของมาบรรณาการมูลนายอย่างสม่ำเสมอ ในยามสงครามไพร่สมจะถูกเกณฑ์เป็นทหารทหารสังกัดกรมกองของมูลนาย
ระบบไพร่แม้จะเป็นรูปแบบการควบคุมกำลังคนที่มีประสิทธิภาพและสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่ก็เป็นระบบที่ก่อให้เกิดปัญหานานาประการ อาทิ ปัญหาไพร่หนีนาย มูลนายกดขี่ไพร่ ไพร่หลวงหนีงานหนักแล้วบวชเป็นพระ ไพร่หลวงติดสินบนมูลนายเพื่อให้รับตนเป็นไพร่สม มูลนายส้องสุมไพร่สมเพื่อชิงอำนาจทางการเมือง ปัญหาการก่อกบฎเนื่องจากประสบความเดือดร้อนจากระบบไพร่ เช่น กบฎญาณพิเชียร (พ.ศ.๒๑๒๔) กบฎธรรมเถียร(พ.ศ.๒๒๓๗) และกบฎบุญกว้าง(พ.ศ.๒๒๔๑) เป็นต้น ทางการจึงออกกฎหมายห้ามมูลนายใช้งานไพร่หลวงดุจทาส กฎหมายห้ามเบียดบังไพร่หลวงเป็นไพร่สม การออกระเบียบให้ตรวจนับจำนวนไพร่ในสังกัดให้ถูกต้องตามบัญชีหางว่าว เป็นต้น
๔) เศรษฐกิจ
สภาพอันเหมาะสมทางภูมิประเทศของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของพระราชอาณาจักร ทำให้กรุงศรีอยุธยามีฐานะเป็นศูนย์กลางทางการติดต่อค้าขายทั้งภายในและภายนอก เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางเกษตรกรรม รวมถึงสินค้าประเภทของป่า และการเป็นแหล่งระบายสินค้าทั้งสินค้าเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ ผ้าและของฟุ่มเฟือยจากจีน อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และยุโรป ฯลฯ

สินค้าจากต่างประเทศมักมีราคาแพงลูกค้ามักเป็นชนชั้นปกครองและคหบดี ตลาดภายในยังเป็นตลาดขนาดเล็กมีระบบการค้าขายแลกเปลี่ยนแบบยังชีพ ระบบเงินตราเป็นสื่อสำคัญในการแลกเปลี่ยน ผู้ผลิตเงินตราที่ใช้ในการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า คือ ราชสำนัก

ในระยะแรกการค้าขายเป็นแบบเสรี เมื่อการค้ากับตะวันตกขยายตัวมากขึ้น จึงมีการตั้งกรมพระคลังสินค้า เพื่อดำเนินการผูกขาดทางการค้า ควบคุมสินค้าเข้าและสินค้าออก รวมทั้งกำหนดราคาสินค้าทุกชนิดด้วย
สินค้าออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว หมาก พลู ฝ้าย มะพร้าว กระวาน กานพลู พริกไท น้ำตาล เกลือ สินค้าป่าที่สำคัญคือ ไม้ กฤษณา อำพัน ฝาง งาช้าง หรดาล นอระมาด ช้าง ม้า นกยูง นกแก้วห้าสี แร่ทองคำ เงิน พลอย เครื่องสังคโลกและเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

สินค้าเข้าสำคัญ ได้แก่ ผ้า แพรพรรณ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยญี่ปุ่น มีด ดาบ หอก เกราะ ทองแดง สารส้ม และเครื่องรัก เป็นต้น [64]
๕) การติดต่อกับต่างประเทศ
กรุงศรีอยุธยามีการติดต่อกับชาติต่างๆทั้งชาวตะวันออกและชาวตะวันตก ชาวตะวันออกที่เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยานอกจากชาติเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน ได้แก่ พม่า ลาว เขมร มอญ จามปา อะเจะห์ ชวา ฯลฯ รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย ศรีลังกา อาหรับ เปอร์เซีย และมาดากัสกา ส่วนชาวตะวันตกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับชาวเมืองพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ชาวโปรตุเกส อังกฤษ ฮอลันดา สเปน และฝรั่งเศส ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เดินทางเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาหลังจากยึดครองมะละกาได้เมื่อพ.ศ.๒๐๕๔

ผลจากการเข้ามาของชาวต่างชาติทั้งชาวเอเชียและชาวยุโรปทำให้กรุงศรีอยุธยาเลือกสรรปรับใช้ เรียนรู้และหล่อมหลอมศิลปวิทยาการนานาประการจากต่างชาติ อาทิ การจ้างผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือสำเภาชาวจีน การจ้างนักบัญชีและตัวแทนทางการค้าชาวอาหรับ การเรียนรู้ตำราพิชัยสงครามและวิทยาการปืนใหญ่จากชาวโปรตุเกส การรับรูปแบบศิลปวัฒนธรรม การเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสเพื่อใช้เป็นภาษากลางในการติดต่อกับต่างชาคิ การจ้างชาวโปรตุเกสเป็นล่ามในราชสำนัก[65] เป็นต้น

๑.๔.๒ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี
ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ.๒๓๑๐ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมืองและการปกครองของไทยได้ย้ายลงมาตั้งที่เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรหรือเมืองบางกอกภายใต้การนำของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี(สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ พระเจ้าตากสิน พ.ศ.๒๓๑๐–๒๓๒๕)
หลักฐานที่ใช้ในการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี ประกอบด้วยพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ อาทิ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี(ฉบับพันจันทนุมาศ) จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องปฐมวงศ์ จดหมายเหตุสมัยราชวงศ์ชิง(ชิงสือลู่) ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พงศาวดารโยนก บันทึกของบาทหลวงเดอ โลเนชาวฝรั่งเศส และหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษหรือโครงกระดูกในตู้ เป็นต้น ส่วนงานวิจัยประวัติศาสตร์สมัยธนบรีที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคือ หนังสือเรื่อง การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ ซึ่งมุ่งอธิบายพัฒนาการทางการเมืองเป็นหลัก แต่ก็ได้กล่าวถึงสภาพเรื่องราวทางเศรษฐกิจและสังคมในสมัยนี้ด้วย

กรุงธนบุรีมีบทบาทต่อประวัติศาสตร์ไทยในฐานะราชธานีเป็นระยะเวลาเพียง ๑๕ ปี ความสำคัญดังกล่าวก็สิ้นสุดลง หลักฐานเอกสารระบุว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมี “พระสติวิปลาส” ขุนนางและอาณาประชาราษฎร์จึงพร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก นายทหารคนสำคัญซึ่งได้รับการยอมรับจากขุนนางข้าราชการและราษฎร ขึ้นปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในปีพ.ศ.๒๓๒๕

การศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยธนบุรีอันเป็นจุดเปลี่ยนผ่านทางการเมือง การปกครอง สังคมและวัฒนธรรมช่วงสั้นๆของสังคมไทยในอดีต จะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ของการสืบทอดเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ สังคมและศิลปวัฒนธรรมสมัย รัตนโกสินทร์ได้มากยิ่งขึ้น

๑) สภาพที่ตั้ง
ในพ.ศ.๒๓๑๐ ระหว่างที่กรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าปิดล้อมจวนจะเสียกรุง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขณะทรงดำรงพระยศเป็นที่พระยากำแพงเพชรทรงนำไพร่พลไทย จีนและคนเชื้อสาย โปรตุเกสรวมประมาณ ๕๐๐ คนเศษตีฝ่าแนวปิดล้อมของกองทัพพม่าออกไปทางตะวันออก[66] เพื่อรวบรวมกำลังไพร่พลแถบหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกต่อสู้ขับไล่พม่าออกไปจากพระราชอาณาจักรสยาม พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกว่า เมื่อเสด็จฯถึงเขตเมืองระยองแล้ว พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสยังบรรดานายทัพและรี้พลว่า

“…กรุงเทพมหานครงจะเสียแก่พม่าเป็นแน่แท้ ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้ได้มากแล้ว จะยกกลับเข้าไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาหาที่พำนักมิได้ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย ท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด นายทหารและไพร่พลทั้งปวงก็เห็นชอบด้วยพร้อมกัน จึงยกพระยากำแพงเพชรขึ้นเป็นเจ้าเรียกว่าเจ้าตากตามนามเดิม…”[67]

หลังเสียกรุงศรีอยุธยา ราชธานีมีสภาพทรุดโทรม เต็มไปด้วยซากศพ ผู้คนอดอยากและคนโทษจำนวนมาก ภาพที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นทำให้ทรงสลดพระทัยและมีพระราชประสงค์จะเสด็จฯไปประทับยังเมืองจันทบูรณ์ แต่อาณาประชาราษฎรและสมณชีพราหม์ได้ร่วมกับกราบบังคมทูลฯให้เสด็จฯประทับ ณ พระตำหนักเมืองธนบุรี[68]

นักวิชาการอธิบายว่า การที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานี อาจประกอบด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ [69]

๑.กรุงธนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านที่ควบคุมเส้นทางการเดินเรือในอ่าวไทย สามารถควบคุมการค้าและยุทธปัจจัยจากภายนอกเข่าสู่ภายในพระราชอาณาจักรได้เป็นอย่างดี
๒.กรุงธนบุรีมีป้อมปราการสองฟากแม่น้ำ ได้แก่ ป้อมวิไชยประสิทธิ์และป้อมวิไชเยนทร์ ซึ่งจะเกื้อหนุนต่อการป้องกันพระนคร
๓.กรุงธนบุรีมีที่ตั้งเหมาะสมเอื้อต่อการล่าถอยไปยังหัวเมืองตะวันออกได้ในเวลาอันรวดเร็ว
๔.ทำเลที่ตั้งของกรุงธนบุรีมีความเหมาะสมต่อการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
๕.กำแพงป้อมวิไชยประสิทธิ์อันเป็นที่ตั้งพระราชวังแม้จะมีพื้นที่เพียง ๑ ตารางกิโลเมตร แต่ก็มีความแข็งแรงเหมาะต่อการเข้าไปปรับปรุงเป็นที่ประทับ และแม้ว่าจะทรงมีพระราชดำริในการสร้างพระตำหนักที่ประทับใหม่ภายในป้อมวิไชยเยนทร์ทางฝั่งตะวันออกแล้วก็ตาม

สภาพที่ตั้งของกรุงธนบุรีมีลักษณะชัยภูมิแบบที่เรียกว่า “เมืองอกแตก” คือมีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง ศูนย์กลางของตังเมืองแม้จะตั้งอยู่ภายในพระราชวังเดิมปากคลองบางหลวง(คลองบางกอกใหญ่)ฝั่งตะวันตก แต่อาณาเขตของตัวเมืองครอบคลุมทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในปีพ.ศ.๒๓๑๖สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้เกณฑ์ราษฎรขุดคูก่อกำแพงเมืองทางฝั่งตะวันตกตามแนวคลองวัดวิเศษการไปออกคลองบางหลวง ส่วนทางฝั่งตะวันออกโปรดฯให้ขุดคูเมืองตั้งแต่บริเวณปากคลองโรงไหมใต้สะพานพระปิ่นเกล้าไปตามแนวซึ่งเรียกว่า “คลองหลอด” ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดในปัจจุบัน

๒) การปกครอง
เมื่อขับไล่พม่าออกไปจากเมืองธนบุรีและสถาปนาศูนย์อำนาจแห่งใหม่ขึ้นมาแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินได้เสด็จฯออกปราบปรามชุมนุมต่างๆที่ตั้งตนเป็นอิสระหลังการสลายตัวของกรุงศรีอยุธยารวมเป็นเวลา ๓ ปี เพื่อสถาปนาความมั่นคงทางการเมืองของราชธานี

กลยุทธ์ที่ทรงใช้ในการรวบรวมความเป็นปึกแผ่นของพระราชอาณาจักร คือทรงเน้นทั้งวินัยทหารที่ประกอบไปด้วยความเด็ดขาดและการรอมชอมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและการปกครอง ดังปรากฏในปีพ.ศ.๒๓๑๑ เมื่อทรงปราบชุมนุมเจ้าพิมาย(กรมหมื่นเทพพิพิธ พระโอรสสมเด็จพระบรมราชาที่๓ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)ได้ก็โปรดฯให้ประหารชีวิตเสีย แต่ครั้นปราบชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราชสำเร็จในปลายปี พ.ศ.๒๓๑๒ กลับทรงใช้วิธีการผูกน้ำใจเนื่องจากทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า “เจ้านครมิได้เป็นขบถประทุษร้าย เป็นแต่ตั้งตัวในเวลาบ้านเมืองเป็นจลาจล จึงโปรดให้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี และให้เจ้านราสุริยวงศ์หลานเธอออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช และทรงสถาปนาให้เป็นเจ้าประเทศราช”[70]

แม้ในปีพ.ศ.๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะไม่ทรงประสบความสำเร็จในการปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก แต่สามารถปราบปรามพระตะบอง เสียมราฐและเขมรฝ่ายนอกได้ภายในปีเดียวกัน ต่อมาในปีพ.ศ.๒๓๑๓ ทรงปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกและชุมนุมเจ้าพระฝางได้ตามลำดับ ถือเป็นการรวบรวมและฟื้นฟูอาณาเขตของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้อีกครั้ง [71] ยุทธศาสตร์สำคัญที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงนำมาใช้ในการสงครามคือ การยกทัพออกไปรับศึกที่ชายแดนแทนการตั้งรับศึกในราชธานีดังที่เคยใช้ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เมื่อครั้งกรุงเก่า การออกไปรับศึกนอกราชธานีมีผลดีคือ ทำให้บ้านเมืองและราษฎรไม่บอบช้ำจากการสงคราม

ในด้านการปกครองนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงอาศัยขุนนางผู้ใหญ่ผู้เคยรับราชการสมัยอยุธยาเป็นผู้ถ่ายทอดแบบแผนการปกครองบ้านเมือง ในสมัยกรุงธนบุรี พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นผู้มีพระราชอำนาจสูงสุดในฐานะพระประมุขและผู้ปกครองบ้านเมืองให้มีความสงบสุขภายใต้ทศพิธราชธรรมและแนวคิดจักรพรรดิราช ในรัชสมัยนี้การปกครองแบบจตุสดมภ์ถูกนำมาใช้อีก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคด้วยการทรงแต่งตั้งนายทหารคนสนิทหรือเจ้าเมืองเดิมออกไปปกครองหัวเมืองใหญ ส่วนเมืองเล็กซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปทรงมอบหมายให้หัวเมืองใหญ่ดูแลต่างพระเนตรพระกรรณอีกชั้นหนึ่ง อาทิ เมืองนครราชสีมาดูแลหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองนครศรีธรรมราชดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ เมืองพิษณุโลกดูแลหัวมืองฝ่ายเหนือและเมืองจันทบูรณ์ดูแลหัวเมืองฝ่ายตะวันออก [72]

การฟื้นฟูอำนาจทางการเมืองของราชสำนักกรุงธนบุรีประการสำคัญ คือ การขยายพระราชอำนาจไปยังหัวเมืองล้านนา ในปีพ.ศ.๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จฯยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่เพื่อขจัดอิทธิพลของพม่า โดยความร่วมมือของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละ จากนั้นทรงแต่งตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นเจ้าประเทศราชเมืองเชียงใหม่และพระยากาวิละเป็นเจ้าประเทศราชเมืองลำปาง ต่อมาเมืองลำพูน เมืองแพร่ และเมืองน่านก็เข้าสวามิภักดิ์ด้วย[73] นอกจากนี้เวียงจันทร์ หลวงพระบาง ปัตตานีและเคดะห์ ต่างก็ยอมรับในพระราชอำนาจของพระองค์เช่นเดียวกัน[74]บุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการสร้างพระราชอำนาจของสมเด็จพระเจ้าตากสินคือ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์จักรีในเวลาต่อมา

เดวิด เค. วายแอตต์อธิบายว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงประสบความสำเร็จในฐานะนักรบมากกว่านักปกครอง หลักฐานของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสในระบุว่า เมื่อกองทัพสยามยกกลับกรุงธนบุรีในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๒๒ ภายในราชสำนักธนบุรีเริ่มมีความไม่ปกติเกิดขึ้น กล่าวคือ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสวดพระพุทธมนต์ ทรงงดพระกระยาหารและทรงบำเพ็ญวิปัสนาธุระ จากนั้นทรงประกาศว่าทรงมีอิทธิฤทธิ์สามารถเหาะขึ้นไปบนอากาศได้ พระองค์ยังทรงบังคับให้พระสงฆ์ยอมรับว่าทรงบรรลุโสดาบัน และหากพระเถระรูปใดไม่ยอมถวายบังคมพระองค์ท่านในฐานะเทพ ก็จะถูกโบย ถอดยศและต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ทำให้ราษฎร ขุนนาง ข้าราชการหวั่นกลัว ส่งผลกระทบต่อพระราชอำนาจของราชสำนัก

ตอนปลายรัชสมัยหลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่า นอกจากพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะส่งผลกระทบต่อขุนนางและข้าราชการแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนต่อพ่อค้าและชาวต่างชาติซึ่งตั้งถิ่นฐานในสยามด้วย ในปีพ.ศ.๒๓๒๔ พ่อค้าจีนต่างยกเลิกการค้าขาย เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระอาการผิดปกติทางพระสติมากยิ่งขึ้น แม้แต่พระมเหสี พระโอรสและขุนนางระดับสูงก็ถูกโบย เพื่อให้รับสารภาพอย่างปราศจากความผิด นักวิชาการเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงทางลบที่เกิดขึ้นในตอนปลายรัชสมัยของพระองค์ อาจมีสาเหตุจากการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระราชฐานะพระมหากษัตริย์ที่สืบเชื้อสายมาจากสามัญชนลูกครึ่งจีน แม้จะทรงเคยได้รับการยอมรับจากอาณาประชาราษฎร์ภายหลังการกอบกู้พระราชอาณาจักร แต่เมื่อบ้านเมืองมีความมั่นคงแล้ว กลุ่มอำนาจเดิม อาทิ ตระกูลขุนนางซึ่งเคยเป็นชนชั้นปกครองมาหลายชั่วอายุคนรวมถึงขุนนางและพ่อค้า เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องผลประโยชน์ดั้งเดิมที่เคยได้รับอย่างเงียบๆในช่วงที่พระราชจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้าตากสินเปลี่ยนแปลงไป[75]

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่าในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขุนนางแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่๑ ข้าหลวงเดิม หมายถึง ขุนนางที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงไว้วางพระทัยเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดและถวายตัวในระยะแรกๆ กลุ่มที่๒ ขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งรับราชการมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีความรู้เรื่องพระราชพิธีและแบบแผนราชการ กลุ่มที่๓ กลุ่มข้าราชการทั่วไป [76] แต่มัลลิกา มัสอูดีอธิบายค่อนข้างชัดเจนกว่าว่า ขุนนางในราชสำนักสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแบ่งเป็น กลุ่มขุนนางที่สวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กลุ่มขุนนางที่สนับสนุนขบถพระยาสรรค์ และกลุ่มขุนนางที่สนับสนุนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก[77]

พระราชอาณาเขตในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแม้จะขยายไปมากกว่าสมัยอยุธยา แต่อำนาจส่วนใหญ่กลับเป็นของเจ้าประเทศราชทั้งในนครศรีธรรมราช ปัตตานี ล้านนา กัมพูชา เวียงจันทน์และหลวงพระบาง นอกจากนี้การที่ขุนนางต้นตระกูลบุนนาคก็ยังคงมีอิทธิพลในกรมพระคลังสินค้าร่วมกับขุนนางเชื้อสายจีนและพราหมณ์ในด้านเศรษฐกิจ และขุนนางเชื้อสายเก่าแก่ยังอาศัยชื่อเสียง เครือข่ายความชำนาญพิเศษและความได้เปรียบในการควบคุมกำลังคน เพื่อรักษาความมั่นคงของตำแหน่งและแสวงหาก้าวหน้าของตนด้วย ซึ่งล้วนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้เห็นพ้องใช้เป็นข้ออ้างในปีพ.ศ.๒๓๒๔ว่า เพื่อประโยชน์สุขของแผ่นดินสยามและความยั่งยืนของพระพุทธศาสนา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสมควรจะถูกถอดลงจากพระราชอำนาจ[78]

๓) โครงสร้างทางสังคมและการควบคุมกำลังคน
สังคมสมัยกรุงธนบุรีเป็นสังคมที่มีความสับสนอันเกิดจากผกระทบของสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ถึงกระนั้นโครงสร้างทางสังคมในสมัยธนบุรียังคงประกอบด้วยชนชั้นปกครองและชนชั้นซึ่งถูกปกครองเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา การควบคุมกำลังคนหรือระบบไพร่เป็นสิ่งสำคัญต่อการปกครองมาโดยตลอด เนื่องจากหากการควบคุมกำลังคนไม่มีประสิทธิภาพ การเรียกเกณฑ์ทัพเพื่อทำสงครามป้องกันตนเองก็จะด้อยประสิทธิภาพไปด้วย

ในสมัยธนบุรี สถานการณ์ที่บ้านเมืองยังไม่สงบราบคาบ ทำให้มูลนายถือโอกาสนำไพร่หลวงหรือไพร่สมและทาสมาเป็นสมบัติส่วนตัว นอกจากนี้ไพร่อีกส่วนหนึ่งยังหนีไปอยู่ตามป่าเพื่อความปลอดภัยและเพื่อการหลุดพ้นจากพันธะทางสังคม สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงฟื้นฟูระบบไพร่ขึ้นมาใหม่ ด้วยการโปรดฯให้สักข้อมือหมายหมู่สังกัดของไพร่หลวงและไพร่สมทั้งในส่วนกลางและหัวเมือง แล้วให้ส่งบัญชีเป็นทะเบียนหางว่าวต่อกรมพระสุรัสวดี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการสักหมายหมู่ไพร่ทุกกรมกอง และมีการกำหนดโทษผู้ปลอมแปลงเหล็กสักหรือขโมยเหล็กสักของหลวงไปใช้ถึงขั้นประหารชีวิตทั้งโคตร[79]

ในปีพ.ศ.๒๓๒๒ ช่วงปลายรัชสมัยเกิดกบฎไพร่ในเขตกรุงเก่า พระภิกษุชื่อมหาดาประกาศว่าจะ“รื้อการถ่ายน้ำ”หรือไขน้ำออกจากบึงบึงพระราม เพื่อเอาสมบัติในบึงออกมาบูรณะวัดพระราม มีการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์จนเป็นที่เลื่อมไขแก่เจ้าเมืองกรุงเก่า แม้แต่ผู้คนในกรุงธนบุรียังเกิดความศรัทธา ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องส่งกองทหารขึ้นไปปราบ ชี้ให้เห็นว่าทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาการเมืองต่างก็ผูกพันกับระบบการควบคุมกำลังคน และกบฎที่เกิดขึ้นใกล้ราชธานีเป็นสิ่งที่สะท้อนให้ให้เห็นถึงความเปราะบางของการควบคุมกำลังคนในรัชสมัยนี้

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์เสนอว่า ปัญหาเช่นนี้มีรากฐานมาตั้งแต่เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสถาปนาราชธานีขึ้นใหม่ๆ พระองค์ทรงแต่งตั้งหัวหน้าชุมนุม หรือ “นายซ่อง” ที่ยอมอ่อนน้อมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาให้ยังคงปกครองผู้คนในสังกัดตนเองได้ต่อไป โดยอาศัยความจงรักภักดีที่หัวหน้าชุมนุมมีต่อพระองค์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ แต่เมื่อจะต้องเกณฑ์คนเพื่อเข้าทัพ ทำงานโยธาหรือเรียกเกณฑ์ส่วยสินค้าป่าแล้ว ทางการจะต้องเรียกเกณฑ์จากหัวหน้าชุมนุม อันแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจควบคุมกำลังคนจริงๆในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคือหัวหน้าชุมนุมแต่เดิม

๔) เศรษฐกิจ
การกวาดต้อนผู้คนกลับไปยังพม่าหลังสงครามในปีพ.ศ.๒๓๑๐ เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้กรุงธนบุรีขาดแคลนแรงงานผลิตจำนวนมาก ภาวะสงครามทำให้ไพร่หยุดการทำไร่ไถนาเป็นเวลาหลายปี จึงก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารตามมา การที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าสวามิภักดิ์ ทำให้ราษฎรเข้ามาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จึงเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพงและคนอดตายซ้ำเติม บาทหลวงชาวฝรั่งเศสบันทึกว่า “ค่าอาหารการรับประทานในเมืองแห่งนี้แพงอย่างที่สุด เวลานี้ข้าวสารขายกันทะนานละ ๒ เหรียญครึ่ง” สภาพปัญหาเช่นนี้จึงทำสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชปรารภว่า “บุคคลผู้ใดเป็นอาทิ คือ เทวดา บุคคลผู้มีฤทธิ์มาประสิทธิ์ มากระทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ขึ้นให้สัตว์โลกเป็นสุขได้ แม้ผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคให้ผู้นั้นได้”[80]

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ชี้ว่า สมัยธนบุรีสสยามเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เฉพาะเรื่องการผลิตข้าวให้พอกินตลอดทั้งปีก็ต้องใช้เวลาอยู่หลายปี ส่วนเรื่องการผลิตข้าวเพื่อส่งออกนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เลยเกือบตลอดรัชสมัย ยิ่งต้องทำสงครามเกือบทุกปีก็ยิ่งทำให้ทางการต้องสะสมข้าวในฉางหลวงไว้มาก ส่วนแรงงานที่ใช้ในการผลิตข้าวก็ต้องต้องลดน้อยลงเนื่องจากถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ มิหนำซ้ำรายได้จากการอากรค่านาก็เก็บได้เพียง ๑ ใน ๓ ของพื้นที่เพาะปลูกในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น ความสามารถในการควบคุมกำลังคนยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้จากสินค้าป่ามีปริมาณน้อยกว่าสมัยอยุธยาตอนปลาย พื้นที่เก็บอากรค่านาเพิ่งขยายไปถึงเมืองพิชัย สงขลา ตราดและโคราชในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง

บาทหลวงฝรั่งเศสและนักเดินทางชาวเดนมาร์กบันทึกว่า พระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งของแผ่นดินมาจากการประมูลสิทธิ์ในการขุดหาสมบัติที่ฝังไว้ในศาสนาสถานที่กรุงเก่า เงื่อนไขนี้เองทำให้นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่ามีส่วนทำให้เศรษฐกิจสมัยธนบุรีฟื้นตัว นอกจากนี้แม้การค้าสำเภากับจีนจะยังมิได้ดำเนินไปอย่างเป็นทางการจนกระทั่งถึงปีสุดท้ายในรัชกาล แต่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทางการสยามและพ่อค้าจีนก็ยังคงมีอยู่ สิ่งที่ขาดหายไปคือสิทธิพิเศษของทางการสยามในการเว้นภาษีขาเข้าและออกจากการค้ากับราชสำนักจีนในการค้าแบบบรรณาการ[81] ผลที่ตามมาคือการขาดแคลนเงินสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าที่ต้องการ อาทิ ปืน ทำให้ทางการสยามต้องนำสินค้าประเภท ดีบุก งาช้างและไม้มาแลกอาวุธปืนแทน นอกจากนี้การขาดแคลนเงินและทรัพย์สินจากการค้ายังส่งผลกระทบต่อการพระราชทานเบี้ยหวัด เครื่องยศ การเสริมสร้างพระราชฐานะและพระราชอำนาจ ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงระมัดระวังการรั่วไหลของเงินทอง อีกทั้งยังทรงลงโทษผู้กระทำการทุจริตอย่างรุนแรง ความระมัดระวังเช่นนี้จึงเป็นการขัดผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ตามปกติของขุนนางอีกทางหนึ่งเช่นกัน

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินคือ การสละพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารจากพ่อค้าต่างเมืองมาแจกจ่ายราษฎร และการสนับสนุนให้พ่อค้าต่างชาติเช่น ชาวจีน เข้ามาค้าขายในกรุงธนบุรีและทำไร่อ้อย ไร่พริกไทยตามหัวเมืองชายฝั่งตะวันออกและภาคใต้ ทำให้ภาวะขาดแคลนอาหารบรรเทาลง ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวคือ ในปีพ.ศ.๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้เจ้านายและขุนนางทำนาบริเวณนอกคูเมืองฟากตะวันออกของกรุงธนบุรี กระทุ่มแบน หนองบัวและแขวงเมืองนครชัยศรี รวมทั้งให้ทหาร ราษฎรและเชลยชาวลาวและเขมรทำการเพาะปลูกยามที่เว้นว่างจากราชการสงคราม[82]
๕) การติดต่อกับต่างประเทศ
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แม้การติดต่อเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศค่อนข้างเกิดขึ้นอย่างจำกัดและไม่คึกคักดังเช่นสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ทางการสยามก็พยายามส่งเสริมการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศให้เจริญรุ่งเรืองดังเช่นสมัยกรุงศรีอยุธยา จดหมายเหตุต่างชาติระบุว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงโปรดปรานการค้าอย่างมากและทรงเปิดโอกาสทางการค้าแก่สินค้าทุกชนิดจากเมืองจีน ทำให้มีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานจำนวนมากทำให้กลายเป็นพ่อค้ากลุ่มสำคัญ ในปีพ.ศ.๒๓๑๗และพ.ศ.๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพยายามส่งพระราชสาส์นไปยังราชสำนักจีน เพื่อขอซื้อกำมะถันและกระทะเหล็กจากจีนแต่ไม่ได้รับการยอมรับจากราชสำนักจีน ในปีพ.ศ.๒๓๒๔เมื่อจักรพรรดิจีนทรงรับรองพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์สยามแล้ว พระองค์จึงได้ถวายเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งจักรพรรดิจีนทรงรับไว้เพียงช้าง ๑ เชือกและนอระมาดเท่านั้น ส่วนสิ่งของอื่นๆจักรพรรดิจีนทรงอนุญาตให้ราชทูตสยามนำไปขายที่เมืองกวางตุ้งได้โดยไม่เสียภาษี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังทรงสนับสนุนให้ชาวจีนเป็นนายเรือเพื่อนำสินค้าไปขายในนามของพระมหากษัตริย์สยามพร้อมกับสินค้าส่วนตัว หลวงอภัยพานิชหรือจีนมั่วเสง เป็นนายเรือคนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ส่งสินค้าไปขายที่เมืองจีนปีละ ๑๕ ลำ โดยมีเรือสินค้าของตนร่วมเดินทางไปปีละ ๒ ลำ [83]
สรุป
จากที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นจะเห็นว่า ดินแดนในประเทศมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยาวนานตั้งแต่สมัยหินเก่า สมัยหินกลาง สมัยหินใหม่และสมัยโลหะของยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งมีอายุสมัยอยู่ในช่วงตั้งแต่ประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓-๕ อันเป็นช่วงที่มีหลักฐานเอกสารกล่าวถึงการเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาพุทธในดินแดนประเทศไทย

ในระยะต่อมาดินแดนในประเทศไทยมีพัฒนาการอยู่ในสมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรก อันมีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาจากอินเดียเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๗–๑๕ จากนั้นจึงเริ่มมีหลักฐานพัฒนาการของชนชาติไทยเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๑๖–๑๗ เป็นต้นมา ก่อนที่จะปรากฏหลักฐานการก่อตัวของชุมชนที่มีชาวไทยเป็นผู้ปกครองสืบเนื่องมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่๑๘ จนถึงปัจจุบัน

เมื่อประมาณ ๒๐ ปีเศษมาแล้ว ตำราทางประวัติศาสตร์มักอธิบายว่า ก่อนสมัยอารยธรรมยุคเริ่มแรกซึ่งเป็นยุคก่อนที่จะมีการติดต่อกับอินเดียและจีน ดินแดนในประเทศไทยยังไม่มีความเจริญทางศิลปวิทยาการและเทคโนโลยี แต่หลักฐานโบราณวัตถุสำริดจากการขุดค้นทางโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางตอนล่างตั้งแต่กลางทศวรรษ ๒๕๑๐ เป็นต้นมา บ่งชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการหลอมทองแดงและการผลิตโลหะสำริด รวมถึงการแพร่กระจายของเครื่องมือเหล็กและอื่นๆในดินแดนประเทศไทยตั้งแต่ประมาณ ๓,๗๐๐-๑,๙๐๐ ปีมาแล้ว ทำให้นักวิชาการปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ในการอธิบายพัฒนาการทางวัฒนธรรมในดินแดนประเทศไทยว่า ความเจริญทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้เป็นผลมาจากการบ่มเพาะสร้างสรรค์และถ่ายทอดทางภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นจากการประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการแก้ปัญหาในชีวิตของคนพื้นเมืองเป็นทุนดั้งเดิมทางวัฒนธรรม ก่อนที่จะมีการติดต่อกับชาวต่างชาติเป็นเวลานานแล้ว เมื่อผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับคนต่างถิ่น การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางความเปิดกว้างทางสังคมที่มีความอดกลั้นต่อความหลากหลายและความแตกต่างทางวัฒนธรรมจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

การศึกษาวิวัฒนาการของประเทศไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยธนบุรี เพื่อศึกษารากฐานความเป็นมาของอารยธรรมไทย จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจและยอมรับความเป็นไปต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีสติ รวมทั้งมีความชื่นชมและภาคภูมิใจต่อการดำเนินชีวิตอย่างกลมกลืนในปัจจุบัน กระนั้นก็ตาม เนื้อหาที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ที่พยายามจุดประกายการเรียนรู้เรื่องไทยศึกษาทั้งเชิงลึกและกว้าง ซึ่งผู้สนใจจะสามารถค้นคว้าในระดับสูงได้จากบางส่วนของบรรณานุกรมท้ายบท
บรรณานุกรม
จารุณี อินเฉิดฉาย. “กรุงศรีอยุธยา.” พัฒนาการอารยธรรมไทย. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๓๖.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยาประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๒.
เฉลิม ยงบุญเกิด. บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ . พระนคร : ชวนพิศ, ๒๕๑๐.
ต้วน ลี่ เซิง. “เอกสารโบราณของจีนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย.”รวมบทความประวัติศาสตร์. ฉบับที่๘ (๒๕๒๙ ):
นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี . กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๒๕.
บังอร ปิยะพันธุ์. ประวัติศาสตร์ไทย การปกครอง สังคม เศรษฐกิจและความสัมพันธ์กับ ต่างประเทศ.กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง, ๒๕๓๘.
บริหารวิชาบูรณาการ, คณะกรรมการหมวดวิชาศึกษาทั่วไป. ไทยศึกษา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๕.
โบราณราชธานินทร์, พระยา. “ตำนานกรุงเก่า, ”ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓. พระนคร: ,โรงพิมพ์ครุสภาลาดพร้าว, ๒๕๑๑.
ประเสริฐ ณ นคร , “ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก” งานจารึกและประวัติศาสตร์ของประเสริฐ ณ นคร. นครปฐม: ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ, ๒๕๓๔.
ประเสริฐ ณ นครและวินัย พงศ์ศรีเพียร. “ความรู้พื้นฐานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ประวัติ ศาสตร์ไทยจะเรียนจะสอนกันอย่างไร. กรุงเทพฯ: การศาสนา กรมการศาสนา, ๒๕๔๓.
พิทยะ ศรีวัฒนสาร, “ชุมชนชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๐๕๙–๒๓๑๐.“ วิทยา นิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ๒๕๔๑.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ . “พัฒนาการของแว่นแคว้นในดินแดนประเทศไทย, ” เอกสารการสอนชุดวิชาประวัติศาสตร์ไทย หน่วยที่๑-๘ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดชวนพิมพ์, ๒๕๔๓.
วินัย พงศ์ศรีเพียร. “ดินแดนไทยตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่๒๐.“ ประวัติศาสตร์ไทยจะเรียนจะสอนกันอย่างไร. กรุงเทพฯ: การศาสนา, ๒๕๔๓. วิไลลักษณ์ เมฆารัตน์,. “แคว้นสุโขทัย.” เอกสารการสอนชุดวิชาประวัติศาสตร์ไทย หน่วยที่๑-๘ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์, ๒๕๔๓.
วิสันธนี โพธิสุนทร” “ศรีวิชัย”” พัฒนาการอารยธรรมไทย” กรุงเทพ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๓๖.
ศิลปากร, กรม” “พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์.” คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัดและพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. นครหลวง: เจริญธรรม, ๒๕๑๕.
…………… พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา. เล่ม๑, กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์, ๒๕๑๖.
……………พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. เล่ม๒, พิมพ์ครั้งที่๑๐. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอเดีย สแควร์, ๒๕๓๕.
ศรีศักร วัลลิโภดม. “กรุงอโยธยาในประวัติศาสตร์” สังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ฉบับพิเศษปีที่ ๓ ,มิถุนายน ๒๕๐๙
สมชาย ณ นครพนม. “สุโขทัย: รุ่งอรุณแห่งความสุข.” พัฒนาการอารยธรรมไทย, กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ ๑๙๙๗ จำกัด, ๒๕๓๖.
สินชัย กระบวนแสง. “ประวัติศาสตร์สุโขทัย.” โบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ฉบับคู่มือครูสังคมศึกษา. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.
อาคม พัฒิยะและนิธิ เอียวศรีวงศ์. ศรีรามเทพนคร: รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์ อยุธยาตอนต้น. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๒๗.
อินทปัญญาจารย์, พระครู. แนวสังเขปโบราณคดีอ่าวบ้านดอน. กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา,๒๕๒๙.

Bibliography

Higham, Charles and Ratchanie Thosarat. Prehistoric Thailand: From Early Settlement to Sukhothai. Bangkok: River Book. 1984.
Pelliot, Paul. Memoires sur les Coutumes du Cambodge de Tcheou Ta-Kouan Version Nouvelle suivie d’un Commentaire Inacheve. Paris: Librarire d’Amerique et d’Orient Adrien - Maisonneuve, 1954.
Sriwattanasarn , Bidya. “Portuguese Bandel in Thonburi: Reward of Taharn Farang
Man Pün, 1768.” Paper presented at the International Conference Dhonburi Rajabhat University, Bangkok, 25-27 May 2004.
Wongthes, Sujit. “Rise and Fall of Dvaravati” Siam-Thai Millenium,The Nation, May,17,1999.
Wood, W.A.R.. A History of Siam. Bangkok: Chalermnit, 1959.
Wyatt, David K.. Thailand A Short History.Bangkok: O.S.Printing House, 1982.

[1] Charles Higham and Rachanie Thosarat, Prehistoric Thailand: From Settlement to Sukhothai. (Bangkok: River Book, 1994 ), 144-173.
[2] Charles Higham and Rachanie Thosarat, Ibid., 173-175.
[3] Charles Higham and Rachanie Thosarat, Ibid., 175-176.
[4] ต้วน ลี่ เซิง, “เอกสารโบราณของจีนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย, ” ใน รวมบทความประวัติศาสตร์. ฉบับที่๘(กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙) , ๓.
[5] บังอร ปิยะพันธุ์, ประวัติศาสตร์ไทย การปกครอง สังคม เศรษฐกิจและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ, (กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง, ๒๕๓๘), ๓๗.
[6] วินัย พงศ์ศรีเพียร, “ดินแดนไทยตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่๒๐, “ ประวัติศาสตร์ไทยจะเรียนจะสอนกันอย่างไร, (กรุงเทพฯ: การศาสนา, ๒๕๔๓), ๔๔. วินัย พงศ์ศรีเพียรเสนอว่า ควรอ่านคำ “Fou-nan” ตามสำเนียงจีนกลางว่า “ฝู้หนันหรือฝู้หนาน”.
[7] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ , “พัฒนาการของแว่นแคว้นในดินแดนประเทศไทย, ” เอกสารการสอนชุดวิชาประวัติศาสตร์ไทย หน่วยที่๑-๘ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดชวนพิมพ์, ๒๕๔๓), ๑๗๐.
[8] พระครูอินทปัญญาจารย์, แนวสังเขปโบราณคดีอ่าวบ้านดอน , (กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา, ๒๕๒๙), ๓๒.
[9] เดิมคือ อ.โคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอศรีมโหสถ เพื่อให้สอดคล้องกับนิทานพื้นบ้านซึ่งเล่ากันในแถบอำเภอดังกล่าว.
[10] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, เรื่องเดียวกัน.
[11] วิชา ๓๐๔ ๗๔๑ การใช้เอกสารโบราณประกอบวิชาโบราณคดี, หลักสูตรปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘. ( ผ.ศ.มยุรี วีระประเสริฐ, บรรยาย).
[12] หรือจู-ยิงขุนนางจีนแห่งอาณาจักรอู๋(อาณาจักรหนึ่งในสมัยสามก๊กปกครองโดยซุนกวนเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๘
[13] บังอร ปิยะพันธุ์, เรื่องเดียวกัน, ๓๘.
[14] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, เรื่องเดียวกัน, ๑๗๕.
[15] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, เรื่องเดียวกัน, ๑๗๐.
[16] Charles Higham and Rachanie Thosarat, op.cit., 175 . ใช้คำว่า “ Duo-luo-bo-di”.
[17] ชื่ออาณาจักรนี้ถูกเรียกด้วยสำเนียงจีนที่แตกต่างกันออกไป เช่น To-la-pa-ti และ Tchouan-lo-po-ti .
[18] Sujit Wongthes, “Rise and Fall of Dvaravati,” Siam-Thai Millenium, The Nation,17 May 1999, c.1.
[19] วินัย พงศ์ศรีเพียร, เรื่องเดียวกัน, ๕๐-๕๑.
[20] วิสันธนี โพธิสุนทร, “ศรีวิชัย, ” พัฒนาการอารยธรรมไทย,(กรุงเทพ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๓๖), ๕๕–๕๖.
[21] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, เรื่องเดียวกัน, ๑๗๖.
[22] เรื่องเดียวกัน, ๑๙๑.
[23] เรื่องเดียวกัน, ๑๗๖ และ ๑๙๒.
[24] เรื่องเดียวกัน, ๑๙๒-๑๙๓.
[25] เรื่องเดียวกัน, ๑๙๓–๑๙๔.
[26] W.A.R. Wood, A History of Siam, (Bangkok: Chalermnit, 1959), 31-39.
[27] David K. Wyatt, Thailand A Short History, (Bangkok: O.S. Printing House, 1982), 12-14.
[28] สินชัย กระบวนแสง, “ประวัติศาสตร์สุโขทัย, ” โบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ฉบับคู่มือครูสังคมศึกษา, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง, ๒๕๔๕), ๒๕๗.
[29] วิไลลักษณ์ เมฆารัตน์, “แคว้นสุโขทัย, ” , เอกสารการสอนชุดวิชาประวัติศาสตร์ไทย หน่วยที่๑-๘ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, (กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, ๒๕๔๓), ๒๐๙.
[30] หลักฐานในศิลาจารึกหลักที่๒ เรียกว่า “ผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ, ” ใน วิไลลักษณ์ เมฆารัตน์, เรื่องเดียวกัน, ๒๑๒.
[31] สินชัย กระบวนแสง , เรื่องเดียวกัน, ๒๕๘.
[32] เฉลิม ยงบุญเกิด, บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ, (พระนคร : ชวนพิศ ๒๕๑๐), ๑.
[33] ประเสริฐ ณ นครและวินัย พงศ์ศรีเพียร, “ความรู้พื้นฐานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ประวัติศาสตร์ไทยจะเรียนจะสอนกันอย่างไร , (กรุงเทพฯ: การศาสนา, ๒๕๔๓), ๑๑๔–๑๑๕.
[34] David K. Wyatt, op. cit., 52.
[35] อาคม พัฒิยะและนิธิ เอียวศรีวงศ์, ศรีรามเทพนคร: รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น, (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๒๗), ๑๐.
[36] สินชัย กระบวนแสง, เรื่องเดียวกัน, ๒๕๗.
[37] นักวิชาการบางท่านเสนอว่า เมืองราดคือเมืองโบราณในเขตเมืองนครราชสีมา และศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ก็ไม่เชื่อว่าเมืองราดจะตั้งอยู่ที่เพชรบูรณ์ นักวิชาการอาวุโสท่านนี้สันนิษฐานว่า เมืองราดตั้งอยู่ในกลุ่มเมืองสะค้าและเมืองลุมบาจายในลุ่มแม่น้ำน่าน โดยอาจจะตั้งอยู่ใกล้อำเภอท่าปลา ตามร่องรอยที่ปรากฏในหลักฐานจารึกที่วัดช้างค้ำอ้างจาก ประเสริฐ ณ นคร , “ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก” งานจารึกและประวัติศาสตร์ของประเสริฐ ณ นคร,(นครปฐม: ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ, ๒๕๓๔), ๓๒–๓๓.
[38] สินชัย กระบวนแสง , เรื่องเดียวกัน, ๒๕๘–๒๕๙.
[39] สมชาย ณ นครพนม, “สุโขทัย: รุ่งอรุณแห่งความสุข,” พัฒนาการอารยธรรมไทย, (กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ ๑๙๙๗ จำกัด, ๒๕๓๖), ๑๗๓.
[40] วิไลลักษณ์ เมฆารัตน์, เรื่องเดียวกัน, ๒๑๙.
[41] เรื่องเดียวกัน, ๒๑๙–๒๒๐.
[42] เรื่องเดียวกัน, ๒๒๐–๒๒๗.
[43] ประเสริฐ ณ นคร, เรื่องเดียวกัน, ๓๒.
[44] เรื่องเดียวกัน.
[45] Paul Pelliot, Memoires sur les Coutumes du Cambodge de Tcheou Ta-Kouan Version Nouvelle suivie d’un Commentaire Inacheve, (Paris: Librarire d’Amerique et d’Orient Adrien - Maisonneuve, 1954), 98. ผู้แปลอธิบายเพิ่มเติมประเด็นการรวมแคว้นของเสียนกับเสียนหลอในเชิงอรรถหน้าเดียวกันด้วย.
[46] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, เรื่องเดียวกัน, ๑๘๙.
[47] เรื่องเดียวกัน, ๑๙๐.
[48] เรื่องเดียวกัน, ๑๘๙.
[49] วินัย พงศ์ศรีเพียร, เรื่องเดียวกัน, ๗๔.
[50] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, เรื่องเดียวกัน, ๑๘๗–๑๘๘.
[51] เรื่องเดียวกัน, ๑๘๘-๑๘๙.
[52] พระยาโบราณราชธานินทร์, “ตำนานกรุงเก่า, ” ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓ (พระนคร: ,โรงพิมพ์ครุสภาลาดพร้าว, ๒๕๑๑), ๑๑.
[53] กรมศิลปากร “พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์” คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัดและพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์,(นครหลวง: เจริญธรรม, ๒๕๑๕), ๔๔๓.
[54] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อยุธยาประวัติศาสตร์และการเมือง, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๒), ๑๑๘–๑๑๙ .
[55] กรมศิลปากร , พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา, (กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์, ๒๕๑๖), ๑, ๑๑๑.
[56] กรมศิลปากร , พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา , พิมพ์ครั้งที่๑๐ (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอเดีย สแควร์, ๒๕๓๕) , ๒ , ๑๖๗.
[57] จารุณี อินเฉิดฉาย “กรุงศรีอยุธยา, ” พัฒนาการอารยธรรมไทย , (กรุงเทพ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๓๖), ๒๐๕–๒๐๘.
[58] ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล, เรื่องเดียวกัน, ๒๗๕–๒๗๘.
[59] เรื่องเดียวกัน, ๒๗๗–๒๗๘.
[60] เรื่องเดียวกัน, ๒๘๑.
[61] จารุณี อินเฉิดฉาย, เรื่องเดียวกัน, ๒๑๖.
[62] กรมศิลปากร “พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์” คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัดและพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, ๔๕๓.
[63] ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล, เรื่องเดียวกัน, ๒๘๖–๒๘๗.
[64] จารุณี อินเฉิดฉาย, เรื่องเดียวกัน , ๒๑๒.
[65] พิทยะ ศรีวัฒนสาร, “ชุมชนชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๐๕๙–๒๓๑๐“ ( วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑), ๑๓๘–๑๕๖, ๒๔๔–๒๖๐. และ ๒๖๑–๒๖๗.
[66] Bidya Sriwattanasarn, “Portuguese Bandel in Thonburi: Reward of Taharn Farang
Man Pun, 1768, ” paper presented at the International Conference of Dhonburi Rajabhat University, Bangkok, 25-27 May 2004, 10.
[67] กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, ๒, ๓๐๐–๓๐๑.
[68] มัลลิกา มัสอูดี, “ธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น, ” เอกสารการสอนชุดวิชาประวัติศาสตร์ไทย หน่วยที่๑-๘ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดชวนพิมพ์,๒๕๔๓), ๓๓๒
[69] เรื่องเดียวกัน.
[70] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๓๔. และกรมศิลปากร , พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา , ๒, ๓๔๐ .
[71] David K. Wyatt, op. cit., 141.
[72] คณะกรรมการบริหารวิชาบูรณาการ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป, ไทยศึกษา (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๕), ๑๕.
[73] มัลลิกา มัสอูดี, เรื่องเดียวกัน.
[74] David K. Wyatt, op. cit., 141-143.
[75] David K. Wyatt, ibid., 144.
[76] นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๒๕), ๑๔๗.
[77] มัลลิกา มัสอูดี , เรื่องเดียวกัน, ๓๓๕.
[78] David K. Wyatt, ibid.
[79] คณะกรรมการบริหารวิชาบูรณาการ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป, เรื่องเดียวกัน, ๑๕.
[80] มัลลิกา มัสอูดี, เรื่องเดียวกัน, ๓๕๑.
[81] นิธิ เอียวศรีวงศ์, เรื่องเดียวกัน, ๑๕๐–๑๕๑.
[82] มัลลิกา มัสอูดี, เรื่องเดียวกัน , ๓๕๑–๓๕๒.
[83] เรื่องเดียวกัน , ๓๕๗-๓๕๘.