จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วิพากษ์หนังสือโบราณคดี: แนวคิดและทฤษฎี ของ ผศ ดร. สว่าง เลิศฤทธิ์

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

๑.มุมมองทั่วไปและเทียบเคียงวรรณกรรม(General views and related literatures)
๑.๑เสียงจากคนนอกวงการ: มโนทัศน์ของคำว่า “โบราณคดี”
มโนทัศน์ คือ แบบจำลองหรือผังความคิดดั้งเดิมในมันสมองของมนุษย์อันเกิดการเรียนรู้ ประสบการณ์หรือความรู้สึกนึกคิด สำหรับคนทั่วไปแล้ว เมื่อถูกถามว่าโบราณคดีคืออะไร คำตอบที่ได้รับค่อนข้างห้วนๆ ขาดช่วงและไม่ต่อเนื่องกันทางความคิด อาทิ นางสุมณี ศาตะโยธิน อายุ ๖๕ ปี การศึกษาระดับประถมต้น อาชีพแม่บ้านเกษียณอายุ มีอาการยิ้มอายๆและอึกอักๆก่อนที่จะใช้ความพยายามตอบคำถามของผู้วิพากษ์ว่า “นึกถึงของเก่าของแก่ โบร่ำโบราณ”

เมื่อถามพนักงานขายกาแฟเอกเปรสโซหน้าศูนย์สารสนเทศและหอสมุดมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ว่า โบราณคดี คือ อะไร พนักงานคนดังกล่าวอ้ำๆอึ้งๆอยู่พักหนึ่งแล้วตอบว่า หมายถึง “ของโบราณโบราณ”
ในคำถามเดียวกัน ครูช่วยสอนวิชาห้องทดลองวิชาวิศวกรรมศาสตร์คำตอบว่า น่าจะหมายถึง “บ้านเชียง ..ความเก่าแก่ …พระราชวังและตำนาน…”

เมื่อถามนักศึกษาหญิงคนหนึ่งหน้าลิฟต์ของอาคาร๖ ภายในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ก็ได้รับคำตอบห้วนๆเช่นกันว่า โบราณคดีหมายถึง “วัตถุโบราณ สิ่งของโบราณ”
เพื่อตรวจสอบว่าในกลุ่มของผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอกสาขาวิชาต่างๆมีมโนทัศน์อย่างไรเกี่ยวกับคำว่า โบราณคดี ก็ได้รับคำตอบค่อนข้างชัดเจนขึ้น ดังนี้

ดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการท่องเที่ยวจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม เคนต์ ประเทศอังกฤษผู้หนึ่ง อธิบายมโนทัศน์ต่อคำว่า “โบราณคดี” ว่า “นึกถึง antiques (โบราณวัตถุ)และการขุดค้นที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของคนในอดีต”

ศุภมิตร เอกวรรณัง มหาบัณฑิตสาขาวิชาภูมิศาสตร์กล่าวถึงโบราณคดีว่า “เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณสถาน”

กรกิต ชุ่มกรานต์ มหาบัณฑิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์ตอบว่า “เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว โบราณคดีแตกต่างจากประวัติศาสตร์ตรงที่ประวัติศาสตร์ศึกษาเรื่องราวจากเอกสาร โบราณคดีศึกษาเรื่องราวจากวัตถุ โดยจะแบ่งออกเป็นโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่ทั้งสองสาขาวิชาต่างก็มีส่วนเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน”

ซึ่งเป็นที่น่าคิดว่า ไม่มีผู้ใดนึกถึงภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง “The Mummy” “The Mummy Return” หรือภาพยนตร์อันเป็นตำนานแห่งการผจญภัยของ “Indiana Jones” ดังเช่นที่ไบรอัน เอ็ม. ฟาแกน(Brian M. Fagan)ได้เปรียบเปรยไว้ในหนังสือชื่อ “Archaeology : A Brief Introduction” (Eighth Edition)แม้แต่คนเดียว[1]

อย่างไรก็ดี จากการประมวลความหมายของคำว่า “โบราณคดี”แบบคร่าวๆดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ผู้คนนอกวงการโบราณคดีแต่ละระดับความรู้ แต่ละยุคสมัย แต่ละวัย และแต่ละสถานภาพ ต่างก็มีมโนทัศน์ต่อคำว่า “โบราณคดี” แตกต่างกันออกไป ทว่าสิ่งหนึ่งที่พวกเขาเกือบทั้งหมดมีความเข้าใจร่วมกันคือ คำว่า “ของโบราณ” เป็นคำสำคัญ(key word) ของคำว่า“โบราณคดี”

๑.๒ มโนทัศน์ของคนในแวดวงโบราณคดี
การอธิบายความหมายของคำว่า“โบราณคดี”ให้กระจ่าง ถูกต้องครบถ้วนในแบบที่จะไม่ถูกท้วงติงว่า “เข้าใจผิดๆถูกๆ”นั้น อาจจำเป็นต้องลำดับคำกล่าวของนักวิชาการบางท่านมาอธิบายเปรียบเทียบ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ดังนี้

ตามโบราณราชประเพณี วิชาโบราณคดีเป็นวิชาหนึ่งในศิลปศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์จะต้องทรงได้รับการศึกษา ผู้รู้ในระยะแรกๆของการบุกเบิกค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรัสถึงพระนิพนธ์เรื่องนิทานโบราณคดีว่า “เป็นเรื่องจริงที่ได้รู้เห็นมิได้คิดประดิษฐ์ขึ้น แต่เป็นเรื่องเกร็ดนอกพงศาวดาร จึงเรียกว่านิทานโบราณคดี”[2] โบราณคดีในมโนทัศน์นี้ จึงเป็นเรื่องราวจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง สังคม วัฒนธรรม ประเพณีและศิลปกรรมแขนงต่างๆ

ระยะต่อมา นิยามของโบราณคดีในมโนทัศน์ของคน“ใน”แวดวงวิชาการโบราณคดี จะปรุงแต่งออกมาในเชิงที่เกี่ยวกับเรื่องราวของมนุษย์ในอดีต สังคม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่และหลักฐานที่ถูกค้นพบอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อให้เกิด “ความน่าเชื่อถือ” หรือ“ความเป็นวิทยาศาสตร์”

จากการสัมภาษณ์ผู้มีความรู้ทางด้านวิชาโบราณคดีบางคน อาทิ ธนกฤต ลออสุวรรณ บัณฑิตและมหาบัณฑิตสาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่า “โบราณคดีเป็นการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์สมัยโบราณทุกด้านไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะต้องมีการอ้างอิงหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรมและสัมพันธ์กับสาขาอื่นๆ ทั้งประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และที่น่าสนใจคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกผู้ที่ศึกษาเรื่องราวในพระราชพงศาวดารว่า นักเรียนโบราณคดี”

“โบราณคดี”คำเดียวกันนี้“จะหมื่นบ๊อง(bong)” [3](นามแฝง)ได้ร่วมตอบกระทู้ในเว็บไซต์วิชาการดอทคอม เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ เวลา ๒๑:๒๔:๒๕ น. สอดคล้องกับทัศนะของ ธนกฤตว่า “โบราณคดี คือ วิชาว่าด้วยการศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในอดีต โดยอาศัยหลักฐานร่องรอยที่กาลเวลาเหลือทิ้งไว้ โดยเฉพาะสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น โบราณสถาน ศิลปกรรม ซากสิ่งมีชีวิตรวมทั้งซากมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ อักษรหนังสือและอื่นๆ กระทั่งก้อนขี้และอีกมากมาย ทั้งหลายทั้งมวลนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของขยะที่อดีตได้เหลือทิ้งไว้ให้” การตอบกระทู้แบบง่ายๆได้ใจความของ “จะหมื่นboNg” สะท้อนให้เห็นว่าเขาน่าจะมีพื้นฐานความรู้ทางโบราณคดีอีกผู้หนึ่งด้วยเช่นกัน แม้ว่าอันที่จริงแล้ว หาก “ก้อนขี้” ไม่ถูกฝังอยู่ในสภาพของ “fossil”ก็ยากที่จะเหลือมาถึงมือของ “จะหมื่นboNg”

เจน แมคอินทอช(Jane McIntosh)ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพัฒนาการในการบุกเบิกทำงานของนักโบราณคดีแต่ละยุค ตั้งแต่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการจนถึงยุคปัจจุบัน อ้างคำกล่าวของวิลเลียม แคมเดน(William Camden, ชาวอังกฤษ ค.ศ.๑๕๕๑–๑๖๒๓)ว่า “การศึกษาเรื่องราวสมัยโบราณ(Antiquiy-โบราณวิทยา) เปรียบเสมือนอาหารทิพย์อันเหมาะสำหรับคนซื่อสัตย์และมีเกียรติ” [4] และชี้ว่าโบราณคดีมีลักษณะของการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จ(total study)ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สิ่งของทุกอย่างที่เหลือจากอดีต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตขึ้นอีกครั้งหนึ่งเท่าที่จะสามารถทำได้ แม้ว่าหลายคนจะเข้าใจว่าโบราณคดีหมายถึงการขุดค้น แต่การขุดค้นที่ว่านี้ก็เป็นเพียงกระบวนการอย่างหนึ่งของกระบวนการหลายๆอย่างทางโบราณคดีเท่านั้นเอง[5]

ในทัศนะของไบรอัน เอ็ม. ฟากัน(Brian M. Fagan) โบราณคดีเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับอดีตของมนุษย์และพฤติกรรมของมนุษย์สมัยโบราณอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ของโบราณคดีเป็นส่วนหนึ่งของวิชามานุษยวิทยา(Fagan, p.4)

๑.๓ ทบทวนวรรณกรรม(reviewed literatures)
สำหรับนักโบราณคดีชาวไทยแล้ว การนำแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีมาประยุกต์ใช้ในการทำวิจัยเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างจะยังไม่เห็นชัดเจน นักวิชาการที่ศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา นับเป็นผู้รู้กลุ่มแรกๆที่ให้ความสนใจต่อการนำทฤษฎีมาเป็นแบบจำลองในการอธิบายเรื่องราวทางวิชาการอย่างโดดเด่น

อมรา พงศาพิชญ์เป็นนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่พยายามอธิบายให้เห็นพัฒนาการของทฤษฎีในการอธิบายองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๓ ดังปรากฏในงานเขียนเรื่อง “วัฒนธรรม ศาสนาและชาติพันธุ์: วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา” โดยเฉพาะในปีพ.ศ.๒๕๔๓ งานเขียนเรื่อง “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม: กระบวนทัศน์และบทบาทในประชาสังคม”[6] ของเธอตอนหนึ่งได้อธิบายถึงทฤษฎีการแพร่กระจายวัฒนธรรมจากศูนย์กลางของรัฐด้วยการยกตัวอย่างที่โดดเด่นในงานของนักวิชาการสำคัญ ได้แก่ ธิดา สาระยา เรื่อง (ศรี)ทวารวดี งานของศรีศักร วัลลิโภดม เรื่อง “แอ่งอารยธรรมอีสาน”กับ “สยามประเทศ” และงานเขียนของสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา เรื่อง “น้ำ: บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย”[7]

งานวิจัยเรื่องวัฒนธรรมหมู่บ้านไทยของฉัตรทิพย์ นาถสุภาและพรพิไล เลิศวิชา อธิบายลักษณะทางวัฒนธรรมของหมู่บ้านไทย ๔ ภาคอย่างกลมกลืน ภายใต้การอ้างอิงหลักฐานพื้นเมืองและมานุษยวิทยา เพื่ออธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยไร้กลิ่นอายของทฤษฎีตะวันตก เว้นแต่เมื่อต้องการเชื่อมโยงคำอธิบาย จึงมีวิธีการนำเสนอที่อาจจับคู่เทียบได้กับแนวคิดของทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ในกรณีที่อธิบายถึงการผสมผสานความเชื่อล้านนาดั้งเดิมของศาสนาพุทธจากอินเดีย และการนับถือพระธาตุประจำดอยซึ่งพัฒนามาจากความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุในอินเดีย[8] เป็นต้น จึงนับเป็นพัฒนาการอีกรูปแบบหนึ่งในการนำเสนอทางวิชาการของนักวิชาการท่านนี้ แม้จะยังคงการนำทฤษฎีมาร์กซิสม์มาประยุกต์ใช้ ดังปรากฏในปาฐกถาเรื่อง “จากประวัติศาสตร์หมู่บ้านสู่ทฤษฎีสองระบบ” อันเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์หมู่บ้านไทย[9]

ผลงานวิจัยของนักวิชาการชาวไทยที่นำเอาทฤษฎีทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมของนักวิชาการตะวันตกมาปรับใช้อย่างชัดแจ้ง ปรากฏอยู่ในรายงานวิจัยเรื่อง “วิธีคิดของคนไทย: พิธีกรรม : ‘ข่วงฝีฟ้อน’ ของ ‘ลาวข้าวเจ้า’ จังหวัดนครราชสีมา” โดยสุริยา สมุทรคุปต์และคณะแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ งานวิจัยชิ้นนี้พยายามที่จะอธิบายความหมายของคำว่า “วิธีคิด” ให้ชัดเจน ด้วยการลำดับแนวคิดของนักวิชาการทั้งชาวต่างประเทศตั้งแต่โคลด เลวี-เสตราส์(Claude Levi-Strauss) วิคเตอร์เทอร์เนอร์และแมรี ดักลาส(Victor Turner and Mary Douglas) มิเชล ฟูโกลท์(Michel Foucault) และแนวคิดของนักวิชาการชาวไทยตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๔ หลวงวิจิตรวาทการ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ พระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยุตโต) จนถึงแนวคิดแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน นับเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการนำทฤษฎีทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมมาใช้ในการศึกษาชุมชนในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา[10] ซึ่งก็เป็นที่น่าสังเกตอยู่ไม่น้อยเช่นกันเกี่ยวกับความเหมาะสมของการนำแนวคิดแบบตะวันตกภายใต้วิธีการศึกษาแบบข้ามวัฒนธรรม(cross- cultural discipline)มาประยุกต์ใช้และเปรียบเทียบ เพื่อที่จะอธิบายวิธีคิดของชาวนาไทยในเขตพื้นที่ดังกล่าว

งานค้นคว้าวิจัยชิ้นหนึ่งของศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ ไฮแอม(Charles Higham) แห่งมหาวิทยาลัยโอทาโกและดร.รัชนี ทศรัตน์แห่งกรมศิลปากรเรื่อง “Prehistoric Thailand: From Settlement to Sukhothai” [11] เสนอเรื่องราวพัฒนาการของอารยธรรมในดินแดนประเทศไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยสุโขทัย โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งอาศัยกรอบแนวคิดและทฤษฎีการแพร่กระจายของวัฒนธรรม(cultural diffusionism) โดยมีกระบวนการแลกเปลี่ยนค้าขายและการเผยแพร่ศาสนา และทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยม(structural functionalism)[12] เป็นองค์ประกอบในการอธิบาย

ทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมนี้ แพร่หลายมากในสหรัฐอเมริกาโดยการริเริ่มของฟรอนซ์ โบแอส(Franz Boas)[13] ส่วนทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยมเป็นแนวคิดที่ริเริ่มสร้างสรรค์โดยอัลเฟรด อาร์. แรดคลิฟบราวน์(Alfred R. Radcliffe-Brown)ชาวอังกฤษเมื่อต้นศตวรรษที่๒๐ น่าเสียดายว่าไฮแอมและรัชนี ทศรัตน์มิได้บ่งชี้ชัดเจนว่า คำอธิบายในงานดังกล่าวอาศัยแนวคิดในทฤษฎีใด

ตัวอย่างเนื้อหาการประยุกต์ใช้ทฤษฎีในงานค้นคว้าของไฮแอมและรัชนี ทศรัตน์ศึกษาได้จากข้อเสนอที่ระบุว่า รากฐานอารยธรรมในดินแดนประเทศไทยก่อตัวมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ การติดต่อกับสังคมต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อารยธรรมดังกล่าวมีความก้าวหน้า แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่สมัยเหล็กในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า สมาชิกของชุมชนมีฐานะมั่งคั่งจากหลักฐานสิ่งของที่ถูกฝังอยู่กับโครงกระดูกในหลุมศพ คนพื้นเมืองเหล่านี้เป็นคู่ค้าของพ่อค้าชาวอินเดีย ซึ่งนำสินค้านานาชนิดเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวอินเดียรู้จักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะที่เป็น “สุวรรณภูมิ(The Land of Gold)” สินค้าที่พ่อค้าอินเดียนำเข้ามาคือ เครื่องประดับจาก หินอะเกต เครื่องประดับจากหินคาร์เนเลียนและเครื่องประดับจากแก้ว ส่วนสินค้าที่พ่อค้าอินเดียนำกลับไป คือ เครื่องเทศ เครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะสำริดและทองคำ พ่อค้าอินเดียยังให้โอกาสผู้นำท้องถิ่นกว้านซื้อสินค้ามีค่าใหม่ๆ ทำให้ผลผลิตของสินค้าพื้นเมืองมีช่องทางในการระบายออกไป [14]

คำอธิบายของไฮแอมและรัชนี ทศรัตน์ระบุว่า การขยายอิทธิพลลงใต้ของราชวงศ์ฮั่นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๔ (๑๐๐ B.C.) ทำให้จีนเพิ่มความสนใจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องการรวบรวมสินค้าแปลกๆ อาทิ นอแรดและขนนกเท่านั้น หากแต่ยังต้องการขยายจักรวรรดิและอำนาจทางการเมืองของตนด้วย

ไฮแอม และรัชนี ทศรัตน์มองว่า การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้าต่างชาติเป็นปัจจัยสู่การมีอารยธรรมโดยอัตโนมัติเป็นข้อเสนอที่ยังไม่มีข้อยุติ เพราะก่อนหน้านี้ดินแดนประเทศไทยในอดีตอาจมีโครงสร้างทางสังคมที่ละเอียดอ่อน และมีกรอบที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว การที่ผู้นำพื้นเมืองจะยกสถานะของตนให้สูงขึ้น ก็เป็นเงื่อนไขสนับสนุนให้เกิดอารยธรรมเช่นกัน

การที่ชาวอินเดียนำความเชื่อทางศาสนาพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อเรื่องฐานะความเป็นเทพของปัจเจกบุคคลเข้ามา ความศรัทธาที่มีต่อพระศิวะจึงอาจส่งผลให้ “เจ้าเหนือหัว” มีฐานะประดุจเทพเจ้า ภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีจึงถูกนำมาใช้เพื่อสื่อความหมายที่ยากจะเข้าใจ เพื่อครอบงำความนับถือและความเกรงขามท่ามกลางผู้ไม่รู้หนังสือ และศาสนาสถานที่ก่อสร้างด้วยหินและอิฐซึ่งเริ่มแพร่กระจายทั่วไป เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงลัทธิการบวงสรวงในศาสนาพราหมณ์รูปแบบใหม่ อันนำมาสู่การอภิเษกศิวลึงค์หิน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจรัฐและผู้ปกครองรัฐ และเป็นศูนย์รวมการประกอบพิธีกรรมที่เข้ามาใหม่และทรงอำนาจ

ไฮแอมและรัชนี ทศรัตน์เห็นว่า เสียงสวดมนต์ของบรรดานักบวชในวิหารเทพเจ้าเป็นเสมือนเครื่องป้องกันรัฐและผู้นำ โดยมีชาวนาจากฐานล่างสุดของโครงสร้างสังคมรูปปิรามิดเป็นกลไกในการผลิตอาหารและปรนนิบัติเทวาลัยรองรับความเชื่อใหม่ที่เข้ามา

การนำแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีมาปรับใช้ในงานวิจัยจริงๆของนักโบราณคดีเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงในบทความนี้ งานวิจัยเรื่อง “โบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ซึ่งดร.รัศมี ชูทรงเดช [15] เป็นหัวหน้าโครงการจึงเหมาะที่สุดในการนำมากล่าวถึง
นอกจากการนำแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีมาประยุกต์ใช้ในการทำวิจัยจะเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยชัดเจนดังได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ดร.รัศมี ชูทรงเดชยังชี้ว่า นักโบราณคดีไทยไม่เคยสร้างและพัฒนาทฤษฎีทางโบราณคดีมาก่อน ดังนั้นในบทที่ ๒ ว่าด้วยกรอบความคิดในการทำงานวิจัย จึงระบุว่า “การพัฒนาทฤษฎีเป็นความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการสร้าง ‘พลังทางปัญญา’ ในสังคมวิชาการของประเทศไทยโดยรวม เพื่อที่เราสามารถทะลายกำแพงของการใช้พื้นฐานแนวคิดของทฤษฎีจากนักวิชาการตะวันตกในการอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างไรก็ดีขณะที่เรายังไม่มีกระบวนสร้างทฤษฎีโดยนักวิชาการไทย ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ฐานความคิดของตะวันตกเป็นแนวทางไปก่อน โดยเฉพาะกระบวนการสร้างและแสวงหาความรู้” [16]

โครงการวิจัยเรื่อง “โบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” มีลักษณะเป็นโครงการวิจัยแนวมานุษยวิทยาโบราณคดี ดังนั้นแนวคิดหลักที่เป็นพื้นฐานในการวิจัยคือ การศึกษาวิวัฒนาการวัฒนธรรม(cultural evolution) ซึ่งหมายถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยอ้างอิงจากแนวคิดของเซอร์วิส(Service: 1973) และแนวคิดนิเวศวัฒนธรรม(cultural ecology) ซึ่งเน้นศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมจากการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม(Steward: 1973)

โครงการวิจัยข้างต้น มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม และเพื่อจัดหมวดหมู่ของหลักฐานโบราณคดีจากการสำรวจและขุดค้นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค โดยใช้วิธีการศึกษาแบบเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรม(cross-cultural analysis) ทั้งด้านโบราณคดีและชาติพันธุ์วิทยา เพื่ออธิบายปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อาทิ สภาพอากาศ การเพิ่มประชากร เทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น [17]

ดร. รัศมี ชูทรงเดชใช้นิยามเกี่ยวกับระดับสังคมที่เสนอโดย อัลมัน เซอร์วิส(Alman Service) อัลเลน จอห์นสัน(Allen Johnson)และทิโมธี เอิร์ล (Timorty Earle) เป็นแนวทางเบื้องต้นในการอธิบายลักษณะสังคมในอดีต ทั้งๆที่ทราบดีว่ากรอบคิดดังกล่าวถูกนักโบราณคดีสำนักคิดหลังกระบวนการ(post-processual)และสำนักคิดหลังสมัยใหม่(post-modern) วิจารณ์ว่าเป็นการมองสังคมแบบแช่แข็งเป็นเส้นตรงและหยุดนิ่ง จากคำอธิบายที่ว่าสังคมเริ่มมีวิวัฒนาการจากกลุ่มชน (band) ชนเผ่า(tribe) แว่นแคว้น(chiefdom) และรัฐ(state)[18]

ดร.รัศมี ชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมว่า การที่นำทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมมาใช้ในงานวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในการการจัดหมวดหมู่และทำความเข้าใจหลักฐานโบราณคดีที่พบในอำเภอปางมะผ้า เนื่องจากต้องการสร้างบรรทัดฐานในการเปรียบเทียบปรากฏการณ์และหลักฐานโบราณคดีในพื้นที่วิจัย โดยมิได้มองว่าวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของมนุษย์เป็นกระบวนการที่มึลักษณะเป็นเส้นตรงที่ผ่านขั้นตอนความเจริญที่เหมือนกัน แต่สนใจอธิบายพลวัติทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นในแต่ละช่วงเวลา ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงที่พร้อมกันหรือไม่พร้อมกันก็ได้ รวมถึงเงื่อนไขซึ่งทำให้วัฒนธรรมมีการปรับตัวที่เหมือนหรือแตกต่างกัน โดยยกตัวอย่างรูปแบบของหัวโลงศพไม้ที่เหมือนหรือต่างกันในเขตอำเภอปางมะผ้าว่า มีนัยสำคัญอย่างไรภายในสังคมของคนบนพื้นที่สูงเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว [19] เป็นต้น

นอกเหนือจากทฤษฎีวิวัฒนาการวัฒนธรรมและทฤษฎีนิเวศวัฒนธรรมแล้ว เมื่อกล่าวถึงสมมติฐานในงานวิจัย ดร.รัศมีระบุถึงทฤษฎีการปรับตัวของคนในสภาวะแวดล้อม ๓ เงื่อนไข ดังนี้
๑.การเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตจากการหาอาหารตามธรรมชาติมาเป็นการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ พัฒนามาจากการปรับตัวในพื้นที่ชายขอบที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์(marginal environments)
๒.การเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตจากการหาอาหารตามธรรมชาติเป็นการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์ พัฒนาขึ้นมาจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ(resource abundance)
๓.ถ้าสภาพแวดล้อมในสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย-โฮโลซีนตอนต้นในพื้นที่สูงของอำเภอปางมะผ้าคล้ายคลึงกับปัจจุบัน ข้อมูลสภาพแวดล้อมปัจจุบันก็สามารถถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการสร้างทฤษฎีเรื่องการปรับตัวของคนกับสภาพแวดล้อมในอดีตในพื้นที่วิจัยได้ [20]

ดังนั้นจากแนวคิด ทฤษฎี วัตถุประสงค์และสมมติฐานที่นำเสนอในกรอบความคิดของดร.รัศมี ผู้วิพากษ์เชื่อว่า น่าจะทำให้สามารถสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อาทิ สภาพอากาศ การเพิ่มประชากร เทคโนโลยีการผลิตได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

นอกจากตัวอย่างการนำทฤษฎีของนักวิชาการตะวันตกมาปรับใช้ของนักวิชาการอื่นๆแล้ว ก่อนที่จะวิพากษ์หนังสือโบราณคดี: แนวคิดและทฤษฎีอย่างจริงจัง การกล่าวถึงวิธีคิดในการศึกษาวิชาโบราณคดีผ่านกรอบคิดและทฤษฎีแบบตะวันตกของผู้เขียนก็น่าจับตามองไม่น้อย

ผู้เขียนเคยบรรยายว่า นักโบราณคดีชาวตะวันตกบางคนเสนอว่า ในกลุ่มชนบางแห่งมีความเชื่อเชิงสัญลักษณ์ว่า ภาชนะดินเผามีอวัยวะต่างๆเปรียบได้กับอวัยวะของคน ได้แก่ ตัว ขา หู ก้น ฯลฯ แต่ผู้วิพากษ์ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมนุษย์มิได้ผูกพันมากมายกับ “หม้อ” “ไห” “เครื่องใช้”ต่างในชีวิตประจำวันถึงขนาดนั้น จนถึงกับถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ต้องอธิบายเชื่อมโยงและบ่งชี้ให้เห็นนัยะทางวัฒนธรรมที่แฝงอยู่

ผู้วิพากษ์กลับคิดว่า ข้าวของและเครื่องใช้อื่นๆจำนวนไม่น้อยในสังคมโบราณทั้งที่ใช้ในพิธีกรรมและนอกพิธีกรรมต่างก็มีส่วนประกอบที่เทียบเคียงได้กับอวัยวะของมนุษย์ อาทิ ขา หู ตัว ก้น ฯลฯ ทั้งสิ้น ได้แก่ เครื่องใช้ประเภท เตา ตู้ โต๊ะ เตียง เป็นต้น ส่วนพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ตามความเชื่อก็มีนัยะปรากฏชัดเจนแล้วในวัตถุทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับลัทธิความเชื่อ เช่น ในตัวอย่างหยาบๆที่นึกขึ้นมาได้ตอนนี้ คือ กลองมโหระทึก บั้งไฟ รูปวีนัส เดอ วิลเลนดอล์ฟ(Venus de Villendolf) โยนี ลึงค์ เป็นต้น

แบบเสนองานวิจัยซึ่งดร.สว่าง เลิศฤทธิ์เป็นหัวหน้าโครงการเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ เรื่อง “พัฒนาการของความซับซ้อนทางสังคมและการเมืองจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในเขตที่ราบลุ่มทางตะวันตกของภาคกลาง” ผู้วิจัยระบุว่า การศึกษาทางโบราณคดีเกี่ยวกับลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองในสังคมที่เริ่มซับซ้อน(early complex societies)ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย เคยมีผู้ศึกษาไว้แล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ Wales(1969) ภาควิชาโบราณคดี(๒๕๒๓) ผาสุข อินทราวุธ(๒๕๒๖) Glover(1989) สุรพล นาถะพินธุ(๒๕๓๘) Mudar(1993, 1999) ฯลฯ ผลการศึกษาของนักวิชาการเหล่านี้ บ่งชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์(๕๐๐ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ.๕๐๐)จากการดำรงชีพด้วยการเก็บของป่า ล่าสัตว์เพาะปลูกพืชบางชนิด และติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน มาเป็นการเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก โดยชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเป็นชุมชนขนาดเล็กกระจายอยู่ในเชตพื้นที่ป่าหรือที่ราบเชิงเขา ครั้นถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ตอนต้นมีการเคลื่อนย้ายชุมชนเข้าไปอยู่ริมแม่น้ำในที่ราบลุ่มเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๐–๓๐ เมตร ซึ่งมีพื้นที่เหมาะสำหรับการเกษตรกรรม ลักษณะชุมชนเป็นแบบมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผู้วิจัยอ้างข้อเสนอของดร.ธิดา สาระยาว่า ชุมชนเหล่านี้มีการจัดลำดับชนชั้นทางการปกครองในลักษณะที่ซับซ้อนมากขึ้น

ประเด็นที่ผู้วิจัยตั้งคำถาม คือ การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในช่วงเวลาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างไรและผลที่ตามมาคืออะไร นอกจากนี้ผู้วิจัยเสนอว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความซับซ้อนทางสังคมและการเมือง ได้แก่ การเพิ่มของประชากร การขยายพื้นที่ของชุมชนและเครือข่าย ลักษณะโครงสร้างทางการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ รูปแบบการตั้งถิ่นฐานแบบเมืองศูนย์กลางและบริวาร ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การควบคุมผลผลิตทางเศรษฐกิจหรือการค้า และการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนหรือภูมิภาค เป็นต้น

แบบเสนอโครงการวิจัยนี้ มีการนำเสนอสมมติฐานและปัญหาในการวิจัยน่าสนใจ ๔ ประการ[21] ประการที่๑ คือ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายมีหลักฐานบ่งชี้ถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในสังคม อาทิ ของหายากและมีคุณค่าสูง ได้แก่ ลูกปัด กำไลสำริด ต่างหูและภาชนะดินเผาบางประเภท ประการที่๒ คือ การควบคุมผลผลิตส่วนเกินและการรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจอาจบ่งชี้ถึงความซับซ้อนทางสังคมโดยชนชั้นผู้นำ การศึกษาการจัดระเบียบการผลิตภาชนะดินเผา(ceramic production organization) ๓ ปัจจัย ได้แก่ ขนาด ความหลากหลายและการทำให้เป็นมาตรฐาน จะสามารถบอกได้ว่าการผลิตนั้นควบคุมโดยชนชั้นผู้นำหรือเป็นกิจกรรมในครัวเรือน แต่เสียดายที่ปราศจากกรอบโครงทฤษฎีทางโบราณคดีที่ชัดเจน ประการที่๓ คือ การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการบริโภคสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของการผลิตภาชนะดินเผาและกิจกรรมอื่นๆ อาทิ กิจกรรมที่สัมพันธ์กับการรักษาสถานภาพของชนชั้นผู้นำหรือกิจกรรมประจำปีของชุมชน ได้แก่ การจัดงานเลี้ยง โดยสามารถอธิบายได้จากการวิเคราะห์ขนาด ความหลากหลายและการทำให้เป็นมาตรฐานของภาชนะดินเผา ประการที่๔ แหล่งโบราณคดีแต่ละแห่งมีความเก่าแก่ไม่เท่ากัน หากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองได้ชัดเจนก็สามารถลำดับความเก่าแก่ของหลักฐานและแหล่งโบราณคดีได้อย่างเป็นระบบและถูกต้อง

น่าเสียดายที่ในแบบเสนอโครงการวิจัยนี้ยังไม่เห็นพัฒนาการเด่นชัดในการประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางโบราณคดี และเป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งๆที่ยังมิได้ระบุว่าจะเลือกแหล่งโบราณคดีแห่งใดเป็นสถานที่ขุดค้น การตั้งประเด็นในการอธิบาย“พัฒนาการของความซับซ้อนทางสังคมและการเมืองจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในเขตที่ราบลุ่มทางตะวันตกของภาคกลาง” โดยเน้นการจัดระเบียบการผลิตภาชนะดินเผา การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการบริโภคและการจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งโบราณคดีและชุดหลักฐาน จะสามารถตอบคำถามที่ตั้งไว้ได้มากน้อยเพียงใด หากปราศจากกรอบโครงทางทฤษฎีเมื่อเทียบกับการศึกษาหัวข้อเดียวกันในสมัยประวัติศาสตร์ซึ่งเต็มไปด้วยหลักฐานเอกสาร

บทความของมิเชลล์ เฮกมอน (Michelle Hegmon) เรื่อง “Setting Theoretical Egos Aside: Issues and Theory in North American Archaeology.” ตีพิมพ์ในวารสาร The American Antiquity 68(2), 2003 กล่าวโดยรวมว่าทฤษฎีในวิชาโบราณคดีของอเมริกาเหนือ มีลักษณะมุ่งสร้างความชัดเจนของประเด็นคำถามต่างๆทางการวิจัย มากกว่าจะชี้ชัดหรือถกเถียงเกี่ยวกับฐานะตัวตน(position)ของทฤษฎี เฮกมอนไม่ปฏิเสธว่าทฤษฎีบางอย่างก็มีแนวคิดชัดเจน เช่น ทฤษฎีนิเวศวิทยาวิวัฒนาการ(Evolutionary Ecology) ทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรม(Behavioral Archaeology)และทฤษฎีโบราณคดีวิวัฒนาการสำนักดาร์วิน (Darwinian Archaeology) นักโบราณคดีส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือเรียกทฤษฎีเหล่านี้ว่า “กลุ่มแนวคิดแบบ processual - plus” [22] และยังมีกลุ่มทฤษฎีที่สนใจเรื่องเพศสภาวะ(Gender) ทฤษฎีผู้กระทำ(Agency/ practice) ทฤษฎีสัญลักษณ์และความหมาย(Symbols and meaning) ทฤษฎีวัฒนธรรมทางวัตถุ(Material culture)และทฤษฎีที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของชาวพื้นเมือง(Native perspectives)ด้วย เธออธิบายว่า โบราณคดีเพศสภาวะ(Gender archaeology)ก็มีกระบวนทัศน์แบบเดียวกับแนวคิดแบบprocessual-plus ซึ่งมีความหลากหลายในการนำเสนอประเด็นธรรมดาๆทั่วไปให้น่าสนใจ และเชื่อว่าการเน้นทฤษฎีผู้กระทำ(agency/ practice)ถือเป็นพัฒนาการสำคัญ แม้ว่ามโนทัศน์(conceptions)เรื่องนี้มักจะถูกนำไปโยงกับปัจเจกชน(individuals)และแนวคิดเกี่ยวกับแรงจูงใจ(motivation)แบบตะวันตกก็ตาม ที่สำคัญก็คือนักโบราณคดีส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือ รวมทั้งพวกที่ยึดทฤษฎีหลังกระบวนการ(post processual) มักถูกจัดอยู่ในกลุ่มทันสมัย(modern)มิใช่กลุ่มหลังทันสมัย(Postmodern) ซึ่งการขาดกระบวนการถกเถียงทางทฤษฎีนี้ แม้จะก่อให้เกิดความหลากหลายและการพูดคุยที่ชัดเจน แต่ก็อาจทำให้ทฤษฎีทางโบราณคดีในอเมริกาเหนือขาดความรอบคอบอย่างเพียงพอ และอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อแนวทางของทฤษฎีแบบPost modernism ก็ได้

๒.วิพากษ์ภายนอก(External Critique)
การวิพากษ์ภายนอก หมายถึง การสำรวจคุณค่าของเอกสารโบราณ ศิลาจารึก วรรณคดี บทความ หนังสือ ตำรา หรือวิทยานิพนธ์ภายใต้การตั้งคำถามว่า เอกสารชิ้นนี้ผู้แต่งเป็นใคร แต่งขึ้นเมื่อใด ภูมิหลังผู้แต่งเป็นอย่างไร แต่งขึ้นเพื่ออะไร เนื้อหาโดยรวมเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งในที่นี้ผู้วิพากษ์จะวิพากษ์ภายนอกหนังสือเล่มนี้ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การตีพิมพ์ ภูมิหลังและความสนใจทางวิชาการ แรงผลักดัน และองค์ประกอบด้านเนื้อหา ดังต่อไปนี้

๒.๑การตีพิมพ์
หนังสือโบราณคดี: แนวคิดและทฤษฎีของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สว่าง เลิศฤทธิ์ เป็นเอกสารวิชาการลำดับที่๔๐ ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ จำนวน ๓.๐๐๐ เล่ม เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดี ผู้เขียนระบุว่าได้พยายามจัดลำดับให้อยู่ตามช่วงเวลาของพัฒนาการทางแนวคิดเป็นหลัก ตั้งแต่กำเนิดของวิชาโบราณคดีจนถึงแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ซึ่งถูกนักโบราณคดีนำมาใช้ในการวิจัยทั้งในอดีตและปัจจุบัน เน้นการ “นำเสนอเนื้อหาหลักของแนวคิดและทฤษฎีเป็นปฐม” [23] และกล่าวเสริมว่า “ในอนาคตคงจะมีแนวคิดและทฤษฎีใหม่ๆในวงวิชาการโบราณคดีเกิดขึ้นและพัฒนาต่อไปอีกอย่างไม่หยุดยั้ง”

๒.๒ภูมิหลังและความสนใจทางวิชาการ
ผู้เขียนเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาโบราณคดี ผู้เขียนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.๒๕๒๘ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิชามานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน(Washington State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ผู้เขียนมีงานเขียนทางวิชาการและบทความจำนวนมากตั้งแต่เมื่อยังศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยศิลปากรจนถึงปัจจุบัน งานเขียนเหล่านี้ถูกตีพิมพ์ทั้งในหนังสือพิมพ์รายวัน วารสารระดับชาติและนานาชาติ อาทิ เมืองโบราณยะรัง(๒๕๓๑) เรื่องครั้งเก่าก่อน(๒๕๓๒) วิวัฒนาการของมนุษยชาติ(๒๕๔๖) เป็นต้น

โดยพื้นฐานทางการศึกษานั้น ผู้เขียนเป็นนักเรียนสอบเทียบข้ามชั้นของโปรแกรมวิทย์-คณิต ไม่ใช่สายศิลป์-ภาษา มิฉะนั้นแล้วเชื่อว่าอาจจะได้เห็นหนังสืออ้างอิงภาษาต่างประเทศที่หลากหลายครบเครื่องมากกว่านี้ เพราะเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา ในสายตาของรุ่นพี่แล้วผู้เขียนเป็นนักเรียนโบราณคดีที่มีความขยันขันแข็ง กระตือรือร้นทางด้านการเรียนและการฝึกฝนใช้ภาษาต่างประเทศยิ่งนักจนเป็นที่ร่ำลือ ดังนั้น ภาพความซื่อ อารมณ์ขันและการพูดจาโผงผาง เห็นได้จากการที่ผู้เขียนเคยเอ็ดตะโรเด็กๆที่เข้าไปเล่นซุกซนใกล้ๆหลุมขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งในภาคกลางว่า “ยาม่าเหล่น(อย่ามาเล่นวุ่นวายแถวๆนี้)” เมื่อไม่เชื่อฟังก็ดุทันทีอย่างไม่ไว้หน้าว่า “บักฮานิ(ไอ้ห่าเอ๊ย)” ส่งผลให้เด็กๆเหล่านั้นกระเจิดกระเจิงหายไปทันที [24] ทั้งหลายนี้ติดตรึงในความทรงจำของ“คนในวงการ”ส่วนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันเมื่อจะสร้างงานเขียนหรือบทความ ผู้เขียนกลับแฝงความสุขุมนุ่มลึกและ“คมในฝัก”

ครั้นมีสถานภาพเป็นอาจารย์ก็แสดงให้เห็นถึงความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การวิเคราะห์เรื่องเครื่องมือหินและภาชนะดินเผา และการจัดการทรัพยากรทางโบราณคดี[25] เป็นต้น

๒.๓ แรงผลักดัน
แรงผลักดันในการเขียนหนังสือเรื่องโบราณคดี: แนวคิดและทฤษฎีของผู้เขียน คือ เพื่อใช้เป็นเอกสารคำสอนวิชาประวัติแนวคิดและทฤษฎีวิชาโบราณคดีสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทของภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ก่อนการปรับปรุงหลักสูตรของภาควิชาโบราณคดีในระยะ ๑๐ปีเศษที่ผ่านมา ความรู้เกี่ยวกับประวัติแนวคิดและทฤษฎีโบราณคดีปรากฏแทรกอยู่ในวิชาระเบียบวิธีการวิจัยทางโบราณคดี ตำราที่ใช้เรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น ดังนั้นอาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียและต่อมาได้โอนย้ายไปสอนที่คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหาในรายวิชาแก่นักศึกษาเป็นภาษาไทย

ผู้เขียนระบุว่า “ถึงเวลาจำเป็นต้องจัดพิมพ์เอกสารหรือตำราเบื้องต้นนี้เผยแพร่ในวงกว้าง เนื่องจากในวงการศึกษาทางโบราณคดีในประเทศไทยยังไม่เคยมีการเรียบเรียงแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาครอบคลุมมาก่อน”[26]

หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้เขียนใช้ความวิริยะ อุตสาหะและความทุ่มเทอย่างสูงในการเรียบเรียง คือ การใช้หนังสืออ้างอิงภาษาไทย จำนวน ๑๑ เล่มและเอกสารตำราภาษาต่างประเทศอย่างมหาศาลถึง ๑๖๘ เล่ม ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงกล่าวในคำนำตอนหนึ่งว่า”วิชาโบราณคดีเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งที่มีผู้เข้าใจผิดๆถูกๆอยู่มาก”[27] “ หากมีตำราเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีที่เป็นภาษาไทยเผยแพร่ ก็คงจะช่วยให้ความรู้ด้านโบราณคดีเป็นที่รู้จักในทางที่ถูกต้องมากขึ้นทั้งในหมู่นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป”[28] เหตุนี้จึงมิอาจปฏิเสธถึงคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ได้เลย

กระนั้นก็ตาม จากคำกล่าวข้างต้นของผู้เขียน ทำให้ผู้วิพากษ์อดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสังเกต ๓ ประการ ดังนี้ ประการแรก แท้ที่จริงแล้วโบราณคดีคืออะไร และก่อนหน้านี้ไม่เคยมีผู้ใดอธิบายความหมายของโบราณคดีไว้เลยหรือ ประการที่สอง คือ ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นมาว่า อะไรคือการเข้าใจโบราณคดีแบบผิดๆถูกๆ และมีความจำเป็นหรือไม่เพียงใดที่จะต้องอธิบายความหมายของ “โบราณคดี” ให้เหมือนกันราวกับออกมาจากพิมพ์เดียวกัน และประการสุดท้าย การอ้างอิงหนังสือภาษาอังกฤษมากมายเช่นนี้ อาจจะถูกมองได้ว่าเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือโดยไม่จำเป็นได้หรือไม่

๒.๔ องค์ประกอบด้านเนื้อหา
เนื้อหาของหนังสือ “โบราณคดี: แนวคิดและทฤษฎี” แบ่งออกเป็น ๑๒ บท อย่างพอเพียงที่จะใช้ประกอบการบรรยายได้ครบ ๑ ภาคเรียน และหากมองอย่างผิวเผินจะเห็นว่า รูปแบบและเนื้อหาทุกอย่างดูสมบูรณ์อย่างไม่น่าจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ใดๆได้เลย อีกทั้งยังมีการเพิ่มในส่วนของดัชนีทั้งภาษาไทย(ประมาณ ๕ หน้า)และภาษาอังกฤษ(ประมาณ ๒ หน้า) ซึ่งหนังสือวิชาการภาษาไทยทั่วไปไม่ค่อยนิยมทำ แต่หากได้ศึกษาโดยละเอียดแล้ว จะพบว่าการลำดับเนื้อในส่วนของสารบัญบางหัวข้อ ไม่ตรงกับหัวข้อที่ลำดับอยู่ในส่วนของเนื้อหา ซึ่งจะชี้ให้เห็นภาพรวม ดังนี้

บทที่๑ บทนำ ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับความหมายของวิชาโบราณคดี ประเภทของโบราณคดีและระเบียบวิธีการวิจัยทางโบราณคดี

บทที่๒ ทฤษฎีทางโบราณคดี ประกอบด้วยความหมายของทฤษฎี แนวทางการศึกษาทางโบราณคดี ข้อมูลทางโบราณคดีและกระบวนทัศน์ทางโบราณคดี กล่าวคือ ชื่อหัวข้อเรื่องในสารบัญบางชื่อคลาดเคลื่อนไปจากชื่อในบทของเล่ม บางส่วนมีชื่อหัวข้อกลับไม่ตรงกับสารบัญ

บทที่๓ ประวัติวิชาโบราณคดีโดยสังเขป ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติของวิชาโบราณคดีในยุโรป วิชาโบราณคดีในอเมริกา และเรื่องราวของวิชาโบราณคดี ณ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ

บทที่๔ โบราณคดีตามแนวคิดทฤษฎีประวัติวัฒนธรรม ประกอบด้วยเนื้อหาที่อธิบายถึงลักษณะสำคัญของทฤษฎีประวัติวัฒนธรรม และวิธีการศึกษาตามแนวทฤษฎีประวัติวัฒนธรรม

บทที่๕ ทฤษฎีหน้าที่นิยมในวิชาโบราณคดี ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาและที่มาของแนวคิดทฤษฎีหน้าที่นิยม(functionalism) พื้นฐานของแนวคิดทฤษฎีหน้าที่นิยม และวิธีวิทยาของงานโบราณคดีเชิงหน้าที่นิยม

บทที่๖ ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในวิชาโบราณคดี ประกอบด้วยเนื้อหาปฐมบทของแนวคิด ทฤษฎีวิวัฒนาการรุ่นแรกในงานมานุษยวิทยา-โบราณคดี และเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการใหม่

บทที่๗ โบราณคดีใหม่ ประกอบด้วยหัวข้อที่อธิบายถึงการก่อตัวของแนวคิดโบราณคดีใหม่ บินฟอร์ด(Binford)กับโบราณคดีใหม่ ลักษณะสำคัญของโบราณคดีใหม่ และการวิจารณ์งานโบราณคดีใหม่ บทนี้ชื่อหัวข้อในสารบัญไม่ครบตามหัวข้อในเล่ม

บทที่๘ ทฤษฎีระดับกลางในงานโบราณคดี ประกอบด้วยหัวข้อที่อธิบายถึงลักษณะของหลักฐานโบราณคดีกับทฤษฎีระดับกลางของบินฟอร์ด หลักฐานทางโบราณคดีกับโบราณคดีพฤติกรรมของชิฟเฟอร์ และปัญหาของทฤษฎีระดับกลางในงานโบราณคดี

บทที่๙ โบราณคดีหลังกระบวนการ ประกอบด้วยหัวข้อเกี่ยวกับรากฐานของแนวคิด หัวข้อหลังกระบวนการกับโบราณคดี หัวข้อการถกเถียงระหว่างนักโบราณคดีหลังกระบวนการและกับนักโบราณคดีกระบวนการ และหัวข้อการโต้กลับของนักโบราณคดีกระบวนการ บทนี้ชื่อหัวข้อในสารบัญไม่ตรงกับหัวข้อเรื่องในเล่ม

บทที่๑๐ เพศสถานะกับโบราณคดี ประกอบด้วยการกล่าวนำ จากนั้นจึงเป็นหัวข้อประเด็นหลักในการศึกษาเพศสถานะในงานโบราณคดี กับหัวข้อข้อถกเถียงและความเห็น

บทที่๑๑ ทฤษฎีผู้กระทำในวิชาโบราณคดี ประกอบด้วยหัวข้อประวัติและพัฒนาการ หัวข้อตัวอย่างการประยุกต์ใช้ทฤษฎีผู้กระทำในงานโบราณคดี หัวข้อสรุปและทิศทางข้างหน้า ซึ่งในบทนี้ ชื่อหัวข้อในสารบัญไม่ครบตามหัวข้อในเล่ม

บทที่๑๒ บทสรุป (จำนวน๔ หน้า)กล่าวถึงพัฒนาการของแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดี ซึ่งมีพื้นฐานมาจากศาสตร์หลายสาขา ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมและปัจจัยด้านเวลา

ผู้วิพากษ์ขอยกคำพังเพยโบราณมาเป็นคติในที่นี้คือ “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” เป็นคำพังเพยที่สามารถใช้ได้นิรันดร์ฉันใด ขอบเขตของหนังสือที่ยกมาข้างต้นพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ผู้เขียนจะตั้งใจเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้มากเพียงใด แต่จากกระบวนการตรวจสอบภายนอกข้างต้น ทำให้แลเห็นปัญหาด้านเทคนิคด้านการลำดับเนื้อหาเบื้องต้นว่า ส่วนของสารบัญมีการคลาดเคลื่อนกับหัวข้อในเล่มมากถึง ๔ บท คือ บทที่ ๒ บทที่๗ บทที่ ๙ และบทที่๑๑ หากเข้าสู่กระบวนการวิพากษ์และตรวจสอบภายในแล้ว อาจชี้ให้เห็นสาระบางอย่างที่น่าสนใจซึ่งบางท่านอาจมองข้ามก็ได้

๓. การวิพากษ์ภายใน(Internal Critique)
การวิพากษ์ภายในมีหลากกลายรูปแบบขึ้นอยู่กับว่าเอกสารที่วิพากษ์นั้นเป็นศิลาจารึก เอกสารโบราณ วรรณกรรมโบราณ บทความ วิทยานิพนธ์ ตำรา หรือหนังสือทั่วไป กลยุทธ์ในการวิพากษ์ภายในอาจประกอบด้วยการตรวจสอบการใช้ถ้อยคำสำนวนทางภาษา การอ้างอิงหลักฐานทางวิชาการ ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน ความน่าเชื่อถือของการตีความและการเสนอความคิดเห็นทางวิชาการ เป็นต้น

การวิพากษ์ภายในครั้งนี้ ได้ตั้งประเด็นตรวจสอบเกี่ยวกับความหมายของโบราณคดี การใช้คำสำคัญ(key words) การถ่ายทอดแนวคิดและทฤษฎีเปรียบเทียบกับบทความของมิเชลล์ เฮกมอน และคุณค่าที่มีต่อการศึกษาวิชาโบราณคดีดังต่อไปนี้

๓.๑ ความหมายของ “โบราณคดี”
ผู้เขียนนิยามความหมายของ “โบราณคดี” ว่า “วิชาโบราณคดี(Archaeology) มาจากศัพท์ภาษากรีก ‘archaeos’ ที่มีความหมายว่าเก่าแก่ และ ‘logos’ ซึ่งแปลว่า ‘วิชา’ หรือ ‘ความรู้’ ฉะนั้นโดยรากศัพท์แล้ว วิชาโบราณคดีเน้นที่ความเก่าแก่หรือประวัติความเป็นมาของสิ่งต่างๆ โดยจุดเริ่มต้นมาจากการศึกษาความเก่าแก่ของโลก และต่อมาเปลี่ยนเป็นการศึกษาความเก่าแก่ของมนุษยชาติ”

คำอธิบายข้างต้นของผู้เขียน มิได้แตกต่างไปจากนิยาม “โบราณคดี” ในตำราของศาสตราจารย์ ปรีชา กาญจนาคม ผู้มีชีวิตและการทำงานประดุจ “ตำนาน” เล่มหนึ่งของวงการโบราณคดีไทยเท่าใดนัก แต่ที่น่าเสียดาย คือ ข้อความในย่อหน้าแรกของผู้เขียนมิได้ระบุว่า อ้างอิงมาจากนิยามของหนังสือเล่มใด จนกระทั่งในย่อหน้าที่ ๒ จึงได้พบการอ้างอิงงานเขียนของ Brian M. Fagan เรื่อง “In the Beginning: Introduction to Archaeology (6th edition, 1988 p.4)เมื่อจำเป็นที่จะต้องทำให้การกล่าวถึงนิยามของ“โบราณคดี”มีน้ำหนัก“แบบวิชาการ” ว่า

“วิชาโบราณคดีดูเหมือนจะเริ่มต้นจากความรักสนุกกับการสะสมและ ‘ขุด’ หาของเก่า คนที่สะสมและขุดมักจะเป็นผู้ดี(nobility)และชนชั้นกลาง(bourgeoisie) ในคริสต์ศตวรรษที่๑๕ คนกลุ่มนี้เป็นเพียงอาสาสมัคร นักสะสม หรือนักโบราณคดีแฝง(pseudoarchaeology) มากกว่าจะเป็นนักโบราณคดี ตามแนวคิดปัจจุบัน จนกระทั่งถึงคริสตศตวรรษที่๑๘ ในช่วงยุคแสงสว่างทางปัญญา จึงมีการค้นคว้าหาความเก่าแก่ของโลกหรือความเป็นมาของโลกภายใต้กรอบที่เรียกว่า Antiquarianism ความพยายามในการศึกษาความเก่าแก่ของโลก มีส่วนทำให้หลักฐานเกี่ยวกับมนุษย์ (เช่น เครื่องมือหิน ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และเศษภาชนะดินเผา เป็นต้น) ถูกค้นพบและเปิดเผยมากขึ้น จนนำไปสู่การก่อร่างสร้างตัวของวิชาโบราณคดีในคริสต์ศตวรรษที่๑๙“[29]

การนิยามความหมายของโบราณคดีในย่อหน้าที่๑–๒ของผู้เขียน แม้จะมีลักษณะเป็น“วิชาการ” แต่ก็อธิบายแบบกางตำรา พจนานุกรมหรือเอนไซโคลปิเดีย อันสมควรที่จะเรียกว่าเป็นนิยามแบบ “pseudologos” มากกว่า คือ ยกแม่น้ำทั้งห้ามา “อ้างว่าเป็นสาระ”

ผู้วิพากษ์จะไม่ชื่นชมหากนักวิชาการท่านใดจะเผอเรอสบถ“ช่างแม่ง”บนเวทีสัมมนาอย่างอิสระโดยไม่สนใจว่าในเวทีนั้นมีผู้อาวุโสระดับ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นครนั่งเป็นประธาน แม้ว่าท่านอาจจะไม่ถือสา และในที่นี้ผู้วิพากษ์มิได้เห็นด้วยที่ผู้เขียนกล่าวว่า ผู้ที่สนใจหรือศึกษาเรื่องราวของอดีตจากการสะสมและขุด “ของเก่า” เป็นเพียงอาสาสมัคร นักสะสมหรือนักโบราณคดีแฝง อันเป็นวิธีคิดที่อาจจะเกิดจากการใช้ปัจจัยภูมิหลังทางการศึกษาระดับปริญญาเอกจากต่างประเทศมาเป็นเครื่องชี้วัดความถูกต้องหรือน่าเชื่อถือ โดยมิได้คำนึงถึงเงื่อนไขแวดล้อมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอดีตมาร่วมพิจารณา

ตรงกันข้ามผู้วิพากษ์เห็นว่า ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณวัตถุและศิลปวัตถุอันเป็นตัวแทนของอดีตในยุคเริ่มแรกแห่งวิวัฒนาการของวิชาโบราณคดี เป็นกลุ่มชนชั้นสูงที่ได้รับการศึกษาวิชาการแขนงต่างๆมาเป็นอย่างดีเท่าที่ระบบการศึกษาสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการจะเอื้ออำนวยให้ พวกเขามีวิถีชีวิต ค่านิยม ขนบธรรมเนียมและประเพณีที่ใกล้ชิดกับเรื่องราวความเป็นไปทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณคดี ฯลฯ ของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ(renaissance) อันเป็นยุคเริ่มต้นของการสนใจใฝ่รู้เรื่องราวและศิลปวิทยาการของโลกยุคคลาสสิคที่สูญหายไปในยุคกลาง พวกเขาจึงรู้จักซึมซาบลีลา ฝีมือ รสนิยม และเชิงช่างของปราชญ์สาขาต่างๆแห่งยุคร่วมสมัยจากการศึกษา วิเคราะห์ ตีความ จดจารบันทึก และถ่ายทอดเรื่องราวที่เกี่ยวกับงานศิลปะหรือโบราณวัตถุหรือมรดกทางอารยธรรมอื่นๆจากโลกยุคคลาสสิคเอาไว้อย่างถูกต้อง โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยบางแห่ง

ความเห็นของผู้วิพากษ์สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเจน แมคอินทอช(Jane McIntosh)ที่ระบุว่า “In all ages and all countries, people have been fascinated by their past”[30] ซึ่งตรงนี้แหละที่จะทำให้เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มนุษย์รู้จักและมีโอกาสเรียนรู้ผลงานของปราชญ์สาขาต่างๆในอดีตอย่างมากมาย

สำนึกแห่งการเรียนรู้ของคนในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการจึงเป็นสิ่งที่ Charles E. Orser, Jr. เรียกว่า “ผู้รู้แห่งยุค(learned man of the time) ” ซึ่งมักจะ “สนใจเกี่ยวกับความเป็นมาของตน(wondered about their origins)”[31] ผู้วิพากษ์จึงเห็นว่า การทำงานของนักสะสมศิลปวัตถุในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เป็นสิ่งที่สมควรจะได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นนักโบราณคดียุคบุกเบิกเช่นเดียวกับการยกย่องแพทย์ นักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ ฯลฯ ที่ได้รับการยกย่องชื่นชมเป็นอย่างสูงในช่วงเวลาเดียวกัน มากกว่าจะถูกทักท้วงว่าเป็นเพียงมือสมัครเล่นหรือพวกชอบอ้างตนเป็น “นักโบราณคดี” เท่านั้น

สิ่งที่มิอาจมองข้าม คือ ความหมายของ “archaeos” และ “logos” อันเป็นรากศัพท์ดั้งเดิมภาษาละตินของ “archaeology” นั้น มีความหมายไม่แตกต่างไปจากมโนทัศน์ของชาวบ้านทั่วไปอย่างนางสุมณี ศาตะโยธินที่มีต่อคำว่า “โบราณคดี”เลยแม้แต่น้อย

ในทัศนะของนักวิชาการชาวยุโรปเอง คำว่า “โบราณคดี” ก็ยังเป็นที่เข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากทัศนะของชาวอเมริกัน ซึ่งอธิบายว่าโบราณคดีเป็นเพียงสาขาเล็กๆของวิชา “มานุษยวิทยา” อีกทั้งผู้เขียนเองก็ยอมรับว่า “นิยามของโบราณคดีเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา”[32] ดังนั้น ผู้วิพากษ์จึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้เขียนที่มุ่งจะกำหนดขอบเขตนิยามของคำว่า “โบราณคดี”ให้เป็นแบบเคร่งครัดตายตัว โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยวิวัฒนาการของบริบททางวัฒนธรรม เหตุนี้การที่จะมีผู้ให้ความหมายของคำว่า “โบราณคดี” แตกต่างออกไปจากนิยามของผู้เขียนบ้าง ก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดความแปรปรวนเสียหายต่อการศึกษาเรื่องราวในอดีตของมนุษยชาติแต่อย่างใด และที่สำคัญที่สุด คือ นิยามของโบราณคดีนั้น แท้ที่จริงแล้วอาจมิได้เปลี่ยนแปลงไปตาม “เวลา” ที่คนสมมติขึ้นมา หากแต่เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขการอธิบายของ “คน” “คำ” วัฒนธรรม และ “วิทยาการ”มากกว่าสิ่งอื่นใด

ปัญหาน่าห่วงมากกว่ากรณีข้างต้นอยู่ที่ประเด็นซึ่งผู้เขียนระบุว่า “…ภารกิจหลักของโบราณคดีไม่ว่าในยุคสมัยใด ก็คือการค้นหาหรือถอดรหัสความหมายจากวัตถุหรือสิ่งของโดยการใช้แนวคิด ทฤษฎี วิทยาการ เทคนิควิธีและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ…”[33]

กล่าวคือ จากหลักฐานที่ปรากฏนั้น “การถอดรหัส” ความหมายวัตถุสิ่งของโดยใช้ “แนวคิด ทฤษฎี วิทยาการ เทคนิควิธีและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ” หรือแม้แต่การประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วินมาใช้ในวิชาโบราณคดีนั้น เพิ่งจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในอเมริกาเหนือเมื่อไม่นานมานี้เอง[34] และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน โครงการต่างๆ ตามรอบปีงบประมาณด้านการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของส่วนราชการไทยบางแห่ง แทบจะไม่พบการใช้ทฤษฎีมาเป็นเครื่องมือในการ “ถอดรหัสอดีต” ดังกล่าวเลยก็ว่าได้

๓.๒ การใช้คำสำคัญ(Key words)
เซอร์ ฟรานซิส เบคอน(Sir Francis Bacon ค.ศ.๑๕๖๑–๑๖๒๖) นักปรัชญาชาวอังกฤษกล่าวว่า “ความรู้ คือ อำนาจ(Knowledge is power) ”[35] ดังนั้น นักวิชาการทุกสาขาวิชาชีพจึงเปรียบเสมือนผู้มีอำนาจชี้นำสังคมตามศาสตร์ของตน และจากผลงานทางวิชาการจำนวนมากของผู้เขียน จึงอาจยอมรับได้โดยดุษณีว่า ผู้เขียนเป็นผู้มีอำนาจคนหนึ่งซึ่งมีความรู้และความสามารถในการสื่อสารถ่ายทอดความรู้ ความคิดและความเห็นทางวิชาการแบบอย่างลึกซึ้ง สอดคล้องกับคำกล่าวของศาสตราจารย์ ดร. เสมอชัย พูลสุวรรณในคำนิยมของหนังสือโบราณคดี: แนวคิดและทฤษฎี ที่ว่า “..หนังสือเล่มนี้ได้แนะนำส่วนที่ควรทราบไว้ได้ครอบคลุมดีแล้ว และด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจค่อนข้างง่าย…” [36]

ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้วิพากษ์เห็นว่า ในบางโอกาสการใช้คำสำคัญ(key word)บางคำของผู้เขียน แม้จะสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของคำนั้นได้ ทว่าภาษาไทยแม้จะเป็นภาษาสัญลักษณ์ที่มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความก้าวหน้าของวิทยาการ แต่ก็เป็นภาษาที่มีอัตลักษณ์ จารีตและขนบการใช้ที่ควรยึดถือร่วมกันระดับหนึ่ง อาจเทียบได้กับจารีตในการทำวิจัยของชุมชนนักวิชาการ อาทิ แบบแผนการอ้างอิงหลักฐานเอกสารและตำรา เป็นต้น

ผู้วิพากษ์จะพยายามเสนอความคิดเห็นต่อข้อมูลบางอย่างอันอาจก่อให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการใช้คำสำคัญบางคำในหนังสือ “โบราณคดี: แนวคิดและทฤษฎี” ตามลำดับนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนี้

-บทที่๑ บทนำ
คำสำคัญคำแรกที่ผู้วิพากษ์ชอบใจในหนังสือเล่มนี้คือคำว่า “ยุคแสงสว่างทางปัญญา” ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Enlightenment Era” นักวิชาการสาขาประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งเคยเรียกกันมานานว่า “ยุคแห่งภูมิธรรม” เพราะจัดเป็นยุคเริ่มต้นของโลกสมัยใหม่ในปัจจุบัน นักวิชาการสมัยใหม่บางท่านก็เรียกว่ายุคแสงสว่างหรือยุคแสงสว่างทางปัญญา

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวว่า หากจะเรียกให้ตรงตัวจริงๆก็น่าจะเรียกว่า “ยุคส่องแสง” ไปเลย หากใช้จริงๆคำดังกล่าวก็คงจะสื่อความหมายได้น้อยกว่าคำเดิม(ยุคภูมิธรรมหรือยุคแสงสว่างทางปัญญา) ประเด็นก็คือ การที่ผู้เขียนมีความโน้มเอียงในการเลือกใช้ชื่อยุค “Enlightenment” ว่า “ยุคแสงสว่างทางปัญญา” แทนที่จะเรียกว่า “ยุคภูมิธรรม” อาจเป็นเพราะชื่อยุคดังกล่าวตรงกับชื่อของผู้เขียนก็ได้

การใช้คำสำคัญบางคำของผู้เขียนบางครั้งก็“รวบรัดตัดความ” คล้ายลักษณะนิสัยบางอย่าง จนอาจกลายเป็นจุดอ่อนของหนังสือ อาทิ ในการอธิบายคำว่า “ประวัติวัฒนธรรม” ผู้เขียนระบุว่า “…แต่ละสมัยมีลักษณะทางวัฒนธรรมแตกต่างกัน กล่าวโดยสรุปก็คือ ประวัติวัฒนธรรมจะถูกสร้างขึ้นมาโดยการนำลำดับทางวัฒนธรรม(sequence)จากแหล่งโบราณคดีในพื้นที่เล็กๆหลายแห่งมารวมกันให้เห็นภาพรวมระดับภูมิภาคหรือใหญ่กว่านั้นก็ได้…”[37]

ประเด็น คือ การใช้คำสำคัญว่า “ลำดับทางวัฒนธรรม” ผู้เขียนวงเล็บเพียงคำว่า“sequence” เท่านั้น โดยอาจมีเจตนาละคำว่า “culture”เอาไว้ในฐานที่เข้าใจ ทั้งๆที่เมื่อคำนึงถึงการใช้ “คำ” ไม่ให้มีลักษณะแบบ “ผิดๆถูกๆ”อย่างคำว่า “โบราณคดี”ที่ผู้เขียนเคยท้วงติงเองนั้น โดยสาระที่แท้จริงคำว่า “sequence”เป็นคำนามที่มีความหมายว่า “แห่งการลำดับชั้น, การต่อท้าย, ลำดับชุดของสิ่งของ ความคิดหรือเหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นตามลำดับของสิ่งอื่นหรือเหตุการณ์อื่น” ด้วยเหตุนี้หากประสงค์จะกล่าวถึงลำดับทางวัฒนธรรมแล้ว ก็ควรจะใช้ว่า “culture sequence” หรือ “cultural sequence” ให้ชัดเจน “ถูกต้องรัดกุม”

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เขียน กรณีดังกล่าวอาจเป็นข้อผิดพลาดเชิงการเรียงพิมพ์ เนื่องจากในกรณีที่ใกล้เคียงกันนี้ ปรากฏว่าในหน้า ๕๙และ หน้า ๖๖ ก็มีคำว่า“ลำดับสมัยวัฒนธรรม(cultural sequence)” อยู่ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้เมื่อแรกเห็นคำว่า “artifacts” ในหน้า ๕ ผู้วิพากษ์ก็มิได้ติดอกติดใจกับคำแปลดังกล่าวที่ว่า “โบราณวัตถุ” เพราะถือว่าพอรับได้ ทั้งๆที่ในใจอยากจะเห็นคำแปล “artifacts”ว่า “หลักฐานโบราณคดี” มากกว่า แต่เมื่อพบวลีว่า “artifacts never lie” ในหน้า ๙ และผู้เขียนแปลวลีดังกล่าวว่า “โบราณวัตถุไม่เคยโกหก” ยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้วิพากษ์ไม่คล้อยตามไปด้วยกับการแปลวลีข้างต้น แต่หากแปลว่า “หลักฐานโบราณคดีไม่เคยโกหก หรือ หลักฐานโบราณคดีไม่มีลวง” น่าจะทำให้วลีข้างต้นนี้มีความสละสลวยมากกว่าเป็นไหนๆ

ผู้เขียนกล่าวว่า “วัฒนธรรมมีลักษณะพลวัติไม่หยุดนิ่ง (dynamic)”[38] คำว่า “dynamic”แปลว่า “พลังที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว” อันมีความหมายตรงกับคำว่า “พลวัติ” อยู่แล้ว ประโยคดังกล่าวจึงเป็นการใช้คำแบบซ้อนความโดยไม่จำเป็น

ในการอธิบายความหมายของโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์(Prehistoric Archaeology) ผู้เขียนกล่าวถึงสาขาย่อยของวิชามานุษยวิทยาวิชาหนึ่ง คือ วิชา palaeoanthropology และอธิบายว่าเป็นวิชาที่ “ศึกษาวิวัฒนาการมนุษย์ ซึ่งเน้นการวิเคราะห์ซากบรรพชีวินเกี่ยวกับบรรพบุรุษของมนุษย์ เพื่อทำความเข้าใจกำเนิดและวิวัฒนาการทางกายภาพ และพฤติกรรมของมนุษย์เป็นหลัก”[39] น่าเสียดายที่ผู้เขียนมิได้แปลชื่อวิชานี้ ทั้งๆที่สามารถแปลได้อย่างเหมาะสมว่า “วิชาโบราณมานุษยวิทยา” ซึ่งอาจเทียบได้กับคำว่า “archaeometallurgy” ซึ่งผู้เขียนถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยอย่างงดงามว่า “โบราณโลหะวิทยา”[40]

เมื่อเห็นคำว่า “โบราณคดีเชิงชาติพันธุ์ “ ในหน้า๑๑ ผู้วิพากษ์อดไม่ได้ที่จะนึกถึงคำเดียวกันนี้ที่เคยมีผู้แปลไว้อย่างเหมาะสมมาก่อนนานแล้วว่า “ชาติพันุธ์โบราณคดี” หรือ“ชาติพันธุวิทยาโบราณคดี” ซึ่งมีความหมายเดียวกัน

ผู้เขียนกล่าวถึงการตั้งบริษัทเอกชน(contract company)เข้ามาทำงานทางด้านโบราณคดี [41] อันที่จริงผู้เขียนน่าจะใช้เรียกคำดังกล่าวว่า “บริษัทรับเหมาเอกชน”ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่กลับยังเรียกคำๆนี้ทับศัพท์ ทั้งๆที่ในบริบทของชุมชนโบราณคดีไทยปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้วเกือบสองทศวรรษตั้งแต่ยุคที่นายนิคม มูสิกะคามะ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองโบราณคดี

-บทที่๒ ทฤษฎีทางโบราณคดี
ผู้เขียนอธิบายความหมายของ“theory”แบบกว้างๆตามนิยามของวิลเลียม ดี.ลีป (William D. Lipe)ว่าหมายถึง ความคิด(ideas)หรือมโนทัศน์(concepts)ที่ช่วยให้มนุษย์มองโลกอย่างเข้าใจและมีเหตุผล[42] ซึ่งค่อนข้างสั้นและคลุมเครือ และเป็นที่น่าเสียดายว่าข้อความดังกล่าวนี้ ดูผิวเผินแล้วมีลักษณะราวกับจะอ้างมาจากสมุดจดคำบรรยาย “เอกสารส่วนตัว” เมื่อลงทะเบียนเรียนวิชามานุษยวิทยาเบื้องต้น “Introductory Lecture Notes, Anthropology 4302 530” เมื่อปีค.ศ.๑๙๙๙ โดยการขออนุญาตเป็นการส่วนตัว ทั้งนี้ผู้เขียนอ้างอิงเนื้อหาจากเอกสารนี้อย่างน้อย ๓ ครั้งด้วยกัน [43] ซึ่งข้อสังเกตนี้อาจจะไม่จริงก็ได้

เหตุที่ต้องวิพากษ์ประเด็นนี้ก็คือ ในระดับมืออาชีพแล้ว การอ้างอิงเอกสารที่ยังไม่ตีพิมพ์เป็นสิ่งไม่ควรปฏิบัติ เนื่องจากผู้อ่านไม่สามารถจะติดตามอ่านหรือตรวจสอบในภายหลังได้หากเกิดข้อสงสัยที่อาจจะตามมา

นอกจากนี้ การอธิบายนิยาม “ทฤษฎี” ของวิลเลียม ดี.ลีป ยังมิอาจเทียบได้กับคำอธิบายนิยามของ “theory” ใน Edictionary.com ซึ่งประกอบด้วยนิยามที่ชัดเจนและกระชับถึง ๗ ความหมาย เช่น “ทฤษฎี” หมายถึง กลุ่มของถ้อยคำ(statement)หรือ หลักการ(principles)ที่สามารถนำมาใช้ในการอธิบายความจริงหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะความจริงหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ถูกทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า หรือได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและสามารถนำไปใช้ในการทำนายเกี่ยวกับความจริงหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติได้ ฯลฯ [44]

แต่ครั้นผู้เขียนอ้างความเห็นของแม็กกีและวอร์มเกี่ยวกับความหมายของทฤษฎีเพิ่มเติมว่า ทฤษฎีเป็นเครื่องมือช่วยสร้างความหมายแก่ข้อมูลหรืออย่างน้อยก็เป็นกรอบแนวคิดว่าควรจะเก็บข้อมูลประเภทใดและอย่างไร[45] และอธิบายเพิ่มเติมว่า ในวิชาโบราณคดีทฤษฎีมีความสำคัญในฐานะที่เป็น “ข้อความเสนอ(prepositions)” หรือ “หลักการ(principles)บางอย่าง” ซึ่งยังไม่ถูกทดสอบหรือพิสูจน์ หรือสามารถทดสอบได้ด้วยกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์[46] คำอธิบายในบริบทนี้จึงเข้าใจได้มากกว่าการอ้างนิยาม “ทฤษฎี” ตามทัศนะของวิลเลียม ดี. ลีป ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น

สำหรับผู้วิพากษ์แล้ว ค่อนข้างจะพึงพอใจต่อนิยามและคุณค่าของในทัศนะของ เฮกมอน ที่เสนอว่า ทฤษฎีเป็นกรอบความคิดหลักที่ช่วยให้นักวิจัยหรือคนที่มีความอยากรู้อยากเห็นเข้าใจเรื่องราวเฉพาะกรณีหรือเรื่องต่างๆรอบตัว เมื่อเผชิญกับแรงกระตุ้นแบบไม่สิ้นสุดและมีข้อมูลเพียงเล็กน้อย ทฤษฎีก็สามารถจะช่วยให้มุ่งความสนใจไปที่ข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจปฏิสัมพันธ์และทำให้สามารถแปลงข้อมูลเหล่านั้นให้กลายเป็นความรู้ได้

นอกจากนี้ทฤษฎียังเป็นเครื่องมือบ่งชี้ ประทับตราและอธิบายเรื่องราวของสิ่งต่างๆได้เป็นอย่างดี ทฤษฎีจึงมีฐานะเป็นกรอบที่ต้องปฏิบัติตามเช่นเดียวกับภาษา วัฒนธรรมและสิ่งต่างๆทั้งหลายที่มนุษย์ส่วนใหญ่ใช้เป็นหน้าต่างเปิดสู่โลก เฮกมอนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การที่จะเข้าใจเรื่องราวต่างๆได้อย่างชัดเจนอาจทำให้ละเลยสิ่งอื่นๆและมิได้มองโลกอย่างที่ควรเป็น แต่กลับมองตามกรอบโครงความคิดที่สอดคล้องกับทฤษฎีของตน[47]

คำว่า “งานที่เป็นการทดลอง”[48] วงเล็บในภาษาอังกฤษว่า “experimental archaeology” เป็นศัพท์อีกคำหนึ่งที่อาจบ่งชี้ให้เห็นอุปนิสัยแบบ“รัวและรวบ”ของผู้เขียน ซึ่งเป็นคนคิดไว พูดไว อันที่จริงผู้เขียนควรจะแปลศัพท์วลีนี้ให้ชัดเจนไปเลยก็ได้ว่า “งานโบราณคดีที่เป็นการทดลอง”

เมื่อกล่าวถึง “theoretical orientation” ผู้เขียนระบุว่าเป็น “แนวทางทฤษฎี”[49] โดยมิได้รักษาความหมายดั้งเดิมในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึง “การสร้างความเข้าใจอย่างแจ่มชัดทางด้านทฤษฎี”

เมื่อผู้เขียนกล่าวถึงนักโบราณคดีกลุ่มหนึ่งซึ่งให้ความสนใจกับความคิด ระบบสัญลักษณ์และโครงสร้างทางจิตใจของมนุษย์ในฐานะที่เป็นแรงผลักดันสำคัญเบื้องหลังพฤติกรรมมนุษย์ ผู้เขียนเรียกนักโบราณคดีกลุ่มนี้ว่า “นักศึกษาความคิด(Ideationist)” ซึ่งเชื่อว่า ความเข้าใจวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่ามนุษย์คิดอะไร จึงต้องพยายาม “ถอดรหัสมโนทัศน์(cognitive code)ของเขาให้ได้”[50] ในทางปรัชญาแล้วคำว่า “cognitive code” น่าจะเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงกระบวนการบูรณาการทางความคิดของมนุษย์ตั้งแต่ความระมัดระวัง ความคิด ความรู้ การเรียนรู้ไปจนถึงการตัดสินใจ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วหมายถึงการสำนึกรู้(cognition) ซึ่งจะลึกซึ้งมากกว่าการอธิบายเพียงว่าเป็นการ “ถอดรหัสมโนทัศน์” ซึ่งน่าจะตรงกับภาษาอังกฤษว่า “conception code”

การวงเล็บภาษาอังกฤษมากมายในหนังสือเล่มนี้ มีคุณค่าในแง่การเปิดโลกทางภาษาแก่ผู้อ่าน แม้บางคำ อาทิ “guess(การเดา การทำนาย)” อาจจะถูกมองว่า ไม่เห็นน่าจะต้องพิมพ์ใส่ในวงเล็บ แต่เมื่ออยู่คู่กับคำว่า ‘speculation(การคาดเดา การพยากรณ์อย่างมีหลักการ)” กลับทำให้บริบททางความคิดที่นำเสนอมีความน่าสนใจขึ้นมา[51]

-บทที่๓ ประวัติวิชาโบราณคดีโดยสังเขป
การค้นคว้าเกี่ยวกับความเป็นมาของมนุษย์ในโลกใหม่ เริ่มต้นเมื่อคนผิวขาวเดินทางไปพบคนพื้นเมืองซึ่งมีหน้าตาแตกต่างไปจากตน จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า “Who are the Indians?” [52] ประโยคคำถามนี้ผู้เขียนแปลแบบเก็บความเช่นเดิมว่า “คนพวกนี้เป็นใคร” โดยละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า “คนพวกนี้” คือ “ชาวอินเดียน” การแปลลักษณะนี้จะปรากฏบ่อยมาก แม้เมื่อ กล่าวถึงนักวิชาการทั้งหลายแบบ “armchair scholars” ผู้เขียนก็ยังอดมิได้ที่จะเรียกแบบเสียดว่าเป็นพวก “นั่งในห้องแล้วนึกเอาเอง”[53] ซึ่งเห็นได้ชัดว่า คำว่า”pseudoarchaeology” ก็ดี คำว่า“armchair scholars”ก็ดี ล้วนเป็นคำพูดที่มาจาก “ขี้ปากฝรั่ง”แท้ๆ และหากจะมองด้วยความเป็นธรรมแล้ว การทำงานวิจัยทางวิชาการมีทั้งแบบ “documentary research” และ “field research” ซึ่งผู้วิพากษ์ก็นับถือกระบวนการทำงานทั้งสองพวกอย่างไม่น้อยหน้ากว่ากันสักเท่าใด จึงขอเรียกกลุ่ม armchair scholars” ว่าเป็นพวกนักวิจัยเชิงเอกสารมากกว่าจะชี้หน้าว่า “เป็นพวกนั่งเทียน” และในอดีตพวก “armchair scholars” ก็เคยสร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้นในการอธิบายเรื่องราวทางโบราณคดีมาเป็นระยะๆ

ผู้วิพากษ์อดจะคิดอย่างสนุกๆไม่ได้ว่า การเรียกชื่อสกุลของ“Frederic W. Putnam”นักโบราณคดีชาวอเมริกันคนหนึ่งในยุคบุกเบิกว่า “พุทนัม”[54]ของผู้เขียน ฟังกี่ครั้งๆก็มีสำเนียงคล้ายชื่อของชาวศรีลังกามากกว่าจะเป็นชื่อของชาวอเมริกัน

-บทที่๔ โบราณคดีตามแนวคิดทฤษฎีประวัติวัฒนธรรม

เมื่อผู้เขียนกล่าวถึงวิธีการศึกษาการแพร่กระจาย(diffusion approach) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางมานุษยวิทยาอีกสำนักคิดหนึ่ง มีนักวิชาการเด่นๆ ได้แก่ ฟรีดิช ราทเซล(Friedrich Ratzele) และฟรานซ์ โบแอส(Franz Boas) นักวิชาการกลุ่มนี้ไม่เชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน พวกเขาพยายามค้นหา“cultural traits”หรือที่ผู้เขียนเรียกในภาษาไทยว่า “รูปแบบของลักษณะบางอย่างของวัฒนธรรม” ซึ่งอาจสืบทอดมาถึงกลุ่มชนรุ่นหลังตามแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการ แต่ไม่พบ พวกเขาเชื่อว่าวัฒนธรรมแต่ละวัฒนธรรมมีลักษณะเฉพาะ และวัฒนธรรมหลักๆมีจุดเริ่มต้นที่ใดที่หนึ่งแล้วแพร่กระจายไปยังที่อื่น โดยจะผ่านการอพยพเคลื่อนย้ายของประชากร หรือผ่านการแพร่กระจายทางความคิดก็ได้[55] ผู้วิพากษ์เห็นว่า “cultural traits” น่าจะแปลให้กระชับว่า“ลักษณะทางวัฒนธรรม” มากกว่า

การรักษาความหมายของคำสำคัญเป็นหน้าที่ของนักวิชาการ เมื่อผู้เขียนกล่าวว่า “วัฒนธรรมนั้นมีความต่อเนื่องจากอดีตจนปัจจุบัน” แล้ววงเล็บต่อท้ายว่า (cultural continuity) [56] ทั้งนี้หากไม่คิดมากก็จะไม่ติดใจอะไร แต่ผู้วิพากษ์อดจะรู้สึกแปลกๆ ไม่ได้เมื่อเห็นว่า ผู้เขียนแปลความหมายแบบขยายความเกินคำ

การวิพากษ์ประเด็นเรื่องการใช้คำสำคัญ(key words)ในบทที่๕ ทฤษฎีหน้าที่นิยมในวิชาโบราณคดี บทที่๖ ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในวิชาโบราณคดี บทที่๗ โบราณคดีใหม่ บทที่๘ ทฤษฎีระดับกลางในงานโบราณคดี บทที่๙ โบราณคดีหลังกระบวนการ บทที่๑๐ เพศสถานะกับโบราณคดี และบทที่๑๑ ทฤษฎีผู้กระทำในวิชาโบราณคดีนั้น ผู้เขียนจะขอไม่กล่าวถึงอีก เพราะคงจะมีลักษณะไม่แตกต่างจากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเท่าใดนัก

-บทที่๑๒ บทสรุป
ในบทสรุปนี้ผู้วิพากษ์จะไม่กล่าวถึงการใช้คำสำคัญ หากแต่จะชี้ว่าสำหรับมือสมัครเล่นแล้วการเขียนบทสรุปเปรียบเสมือนยาขมหม้อใหญ่ที่จำต้องฝืนกินเพื่อรักษาโรค และจะไม่กินก็ไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้วิพากษ์เห็นว่า บทสรุปที่ดีจะต้องมีการลำดับเนื้อความทั้งหมด พร้อมด้วยข้อเสนอแนะต่อเรื่องนั้นๆให้จบภายใน ๓–๑๐ หน้าเป็นอย่างน้อยตามความเหมาะสม เพื่อทบทวนประเด็นสำคัญและจุดประกายความคิดแก่ผู้อ่าน

ในบทสรุปของหนังสือเรื่อง “โบราณคดี: แนวคิดและทฤษฎี”นี้ ผู้เขียนอ้างความเห็นของนักวิชาการชาวตะวันตกบางคน เช่น Brian M. Fagan, Green and Doershuk, Newmann and Sanford etc. มาเป็นข้อตอกย้ำทางแนวคิด อาทิ อ้างความเห็นของ Brian M. Fagan ตอนหนึ่งว่า ความหลากหลายของทฤษฎีอาจเกิดจากความแตกต่างของวิธีคิดและความพยายามในการพิสูจน์แนวคิดใหม่ๆ และการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อภาพสังคมและวัฒนธรรมในอดีตให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยยังคงรักษาวัตถุประสงค์หลักคือ ๔ ประการ ได้แก่ การศึกษาและอธิบายหลักฐานโบราณคดีทั้งในด้านเวลาและสถานที่ การสร้างภาพชีวิตของมนุษย์ในอดีต การศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และการเข้าใจร่องรอยที่เปรียบเสมือนบันทึกทางโบราณคดีหรือความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของมนุษย์กับวัฒนธรรมทางวัตถุ[57]

แนวคิดของนักวิชาการดังกล่าวที่ยกมาเป็นคำอธิบายที่น่าสนใจ แต่บทสรุปควรจะเป็นพื้นที่ ซึ่งผู้เขียนต้องสรุปด้วยตนเองมากกว่า ประเด็นที่ต้องการจะชี้ให้เห็นก็คือ แม้ข้อความที่ยกมาอ้างอิงจะเลิศลอยเพียงใดก็ตาม แต่เมื่ออยู่ในบทสรุปแล้ว ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องอ้างแหล่งที่มาเลยแม้แต่น้อย เพราะกระบวนการอ้างอิงควรจะจบลงอย่างสิ้นเชิงแล้วก่อนที่ผู้เขียนจะ “จั่ว” หัวเรื่องว่าเป็น “บทสรุป”

๓.๓ การถ่ายทอดแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีเปรียบเทียบกับบทความของมิเชลล์ เฮกมอน
หนังสือเล่มนี้เป็นกระแสทางวิชาการโบราณคดีที่น่าท้าทายชิ้นหนึ่ง และมิอาจปฏิเสธจุดแข็งในเนื้อหาที่ผู้เขียนลำดับให้เห็นเกี่ยวกับทฤษฎีทางโบราณคดีอย่างเป็นกระบวนการได้ กล่าวคือ ภายใต้การอ้างอิงงานเขียนของโจน อาร์.แมคกีและริชาร์ด แอล. วอร์มส์(Jon R. McGee and Richard L. Warms)และนักวิชาการบางท่าน ผู้เขียนจำแนกทฤษฎีทางโบราณคดีออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ ระดับต่ำ ระดับกลางและระดับสูง ทฤษฎีระดับต่ำ(low - level theory) หมายถึง การตั้งข้อสังเกตที่ได้จากการทำงานโดยตรงในภาคสนาม ทฤษฎีระดับกลาง (middle – level theory) หมายถึง การเชื่อมโยงสมมติฐานเฉพาะเรื่องเข้ากับทฤษฎี หรือการอธิบายกฎ(แนวคิด)ทั่วไปเกี่ยวกับระบบสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์เข้ากับหลักฐานทางโบราณคดี หรือการพยายามเชื่อมโยงข้อมูลจากทฤษฎีระดับล่างเข้ากับสมมติฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต .และทฤษฎีระดับสูง (high – level theory) หรือทฤษฎีทั่วไป(general theory) หมายถึง การเสนอกรอบแนวความคิด(framwork) ที่เป็นแนวทางในการอธิบายสังคมมนุษย์โดยรวม อาทิ การปรับตัวของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งด้านวัฒนธรรมหรือด้านชีววิทยา.[58]

ผู้เขียนชี้ว่า ทฤษฎีทางโบราณคดีอาจศึกษาได้หลายแง่มุม แต่ก็เว้นที่จะกล่าวถึงคำว่า “epistimological framework” เมื่อระบุว่า “หนังสือเล่มนี้จะมองแนวคิดทฤษฎีทางโบราณคดีหลายแง่มุม ตั้งแต่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ทฤษฎีในกรอบของการค้นหาหรืออธิบายสิ่งที่เรารู้ (ว่าเรารู้ได้อย่างไร) (epistimological framework) และการวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎี”[59]

คำว่า“epistimological framework”หรือ “กรอบคิดหรือขอบเขตทางด้านญาณวิทยา” นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางมาแล้วไม่น้อยกว่านับสิบปี[60] น่าเสียดายที่ผู้เขียนมิได้กล่าวถึงให้ชัดเจนกว่านี้

ผู้เขียนอธิบายถึงทฤษฎีสำคัญๆทางโบราณคดีจำนวน ๘ ทฤษฎีเป็นอย่างน้อย ได้แก่ ทฤษฎีประวัติวัฒนธรรม ทฤษฎีหน้าที่นิยมในวิชาโบราณคดี ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม โบราณคดีใหม่ ทฤษฎีระดับกลางในงานโบราณคดี ทฤษฎีโบราณคดีหลังกระบวนการ เพศสถานะกับโบราณคดี[61] การวิพากษ์การถ่ายทอดแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีของผู้เขียนในส่วนนี้ ผู้วิพากษ์ขอนำประเด็นจากบทความของมิเชลล์ เฮกมอน (Michelle Hegmon)นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The American Antiquity เมื่อ ค.ศ.๒๐๐๓ มาเป็นเครื่องมือ

มิเชลล์ เฮกมอนชี้ว่า ทฤษฎีทางโบราณคดีของอเมริกาเหนือ มีลักษณะมุ่งสร้างความชัดเจนของประเด็นคำถามต่างๆทางการวิจัย มากกว่าจะชี้ชัดหรือถกเถียงเกี่ยวกับฐานะตัวตน(position)ของทฤษฎี เธอไม่ปฏิเสธว่าทฤษฎีบางอย่างก็มีแนวคิดชัดเจน เช่น ทฤษฎีนิเวศวิทยาวิวัฒนาการ(Evolutionary Ecology) ทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรม(Behavioral Archaeology)และทฤษฎีโบราณคดีวิวัฒนาการสำนักดาร์วิน (Darwinian Archaeology) ซึ่งนักโบราณคดีส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือเรียกทฤษฎีเหล่านี้ว่า“กลุ่มแนวคิดแบบ processual - plus” [62] นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีเพศสภาวะ(Gender) ทฤษฎีผู้กระทำ(Agency/ practice) ทฤษฎีสัญลักษณ์และความหมาย(Symbols and meaning) ทฤษฎีวัฒนธรรมทางวัตถุ(Material culture) และทฤษฎีที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของชาวพื้นเมือง(Native perspectives)ด้วย

เปรียบเทียบการอธิบายแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีของผู้เขียนและเฮกมอน

ผู้เขียน(พ.ย.๒๕๔๗)
๑.ทฤษฎีประวัติวัฒนธรรม
๒.ทฤษฎีหน้าที่นิยมในวิชาโบราณคดี
๓.ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม
๔.โบราณคดีใหม่
๕.ทฤษฎีระดับกลางในงานโบราณคดี
๖.ทฤษฎีโบราณคดีหลังกระบวนการ
๗.เพศสถานะกับโบราณคดี
๘.ทฤษฎีผู้กระทำในวิชาโบราณคดี
๙………………………………………….

Michelle Hegmon(2003)
๑.ทฤษฎีนิเวศวิทยาวิวัฒนาการ(Evolutionary Ecology)
๒.ทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรม(Behavioral Archaeology)
๓.ทฤษฎีโบราณคดีวิวัฒนาการสำนักดาร์วิน (Darwinian Archaeology)
๔.ทฤษฎีสัญลักษณ์และความหมาย(Symbols and meaning)
๕.ทฤษฎีวัฒนธรรมทางวัตถุ(Material culture)
๖.ทฤษฎีที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของชาวพื้นเมือง(Native perspectives)
๗.ทฤษฎีเพศสภาวะ(Gender)
๘.ทฤษฎีผู้กระทำ(Agency/ practice)
๙.ทฤษฎีกระบวนการพิเศษ(processual plus)
ขณะที่เฮกมอนมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความชัดเจนของประเด็นคำถามต่างๆทางการวิจัยมากกว่าจะชี้ชัดหรือถกเถียงเกี่ยวกับฐานะตัวตน(position)ของทฤษฎี แต่ผู้วิพากษ์มีวัตถุประสงค์ในระดับที่ต่ำกว่า คือ เพื่อชี้ให้เห็นแนวโน้มอันอาจจะเกิดขึ้นจากการทำความเข้าใจกับเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปดังนี้

ทฤษฎีประวัติวัฒนธรรม
เฮกมอนมิได้กล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับประวัติวัฒนธรรม แต่ก่อนจะกล่าวถึงแนวคิดนี้ ผู้วิพากษ์มีข้อสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า เหตุใดผู้เขียนจึงแปลคำ“culture history” ว่า “ประวัติวัฒนธรรม” [63] ทั้งๆที่มีคำว่า “ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม”ใช้ทั่วไปแล้ว

เหตุที่ตั้งข้อสังเกตเช่นนั้นก็เพราะผู้วิพากษ์เห็นว่า นักวิชาการทุกสาขาวิชาชีพต่างก็มี “อัตตะ-ego” ลึกเร้นแฝงอยู่ในความรู้สึกอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ในทัศนะของผู้วิพากษ์อัตตะมิเพียงไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ มิหนำซ้ำยังทำให้นักวิชาการมีความมั่นใจและภาคภูมิใจในวิชาชีพหรือ “field”ทางวิชาการของตนอีกด้วย ซึ่งถือเป็น “อัตตะ” ฝ่ายดี แต่“อัตตะ”อีกส่วนหนึ่ง เป็นธรรมชาติฝ่ายต่ำที่มีกิเลสหรือโมหะแห่งความลุ่มหลงในวิชาชีพปนเปื้อนยากจะสลัดให้หลุดพ้น ซึ่งมนุษย์ก็มีกันอยู่ถ้วนทั่วทุกตัวคน

มิเชล เฮกมอน (Michelle Hegmon) ได้ตีแผ่ให้เห็น “ego” ของนักโบราณคดีอย่างตรงไปตรงมา[64] ผู้วิพากษ์เห็นว่าเธอคงไม่รอฟังถ้อยแถลงออกตัวของนักวิชาการคนใดในทำนองว่า “ข้าพเจ้าเป็นนักวิชาการที่เปิดกว้างทางความคิดมากที่สุด” หรือ “ข้าพเจ้าพร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นทุกเรื่อง” หรือ “ข้าพเจ้าไม่มีอัตตะ” เป็นต้น

ในทัศนะของผู้วิพากษ์ หาก “social history” แปลว่า “ประวัติศาสตร์สังคม”แล้ว คำว่า “culture history” ก็มิควรจะแปลเป็นอื่นได้นอกจากคำว่า “ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม” และการที่ผู้เขียนแปลคำดังกล่าวว่า “ประวัติวัฒนธรรม” จึงดูราวกับว่า มิได้ใส่ใจต่อความภาคภูมิใจในวิชาชีพของนักวิชาการสาขาอื่น

นอกจากนี้หลักการของวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ การเน้นศึกษาวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ ข้อสังเกตประการต่อมา คือ การใช้คำว่า “culture history” ในการศึกษาวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์นั้นจะมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์มีขอบเขตชัดเจนว่า เป็นการศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในสมัยที่มีตัวอักษรใช้แล้ว การนำคำว่า “culture history” มาใช้ในบริบทของการศึกษาเรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์จึงเป็นคำถามที่พึงใคร่ครวญ ในกรณีนี้ผู้วิพากษ์นึกถึงคำว่า “prehistoric culture” ซึ่งอาจถูกนำมาใช้แทนได้อย่างความเหมาะสม

ผู้เขียนระบุว่าประวัติวัฒนธรรม(culture history) “ดูเหมือนจะเป็นแนวทางศึกษา (approach)หรือวิธีการทำงานโบราณคดีมากกว่าจะเป็นทฤษฎี” โดยเน้นที่การสร้างหรือจัดลำดับวัฒนธรรมของมนุษย์ตามเวลาหรือความเก่าแก่ แนวคิดหรือกระบวนทัศน์เกี่ยวกับประวัติวัฒนธรรมมีมานานพอๆกับประวัติวิชาโบราณคดี และนักโบราณคดีหลายคนกล่าวว่าประวัติวัฒนธรรมเป็นกระบวนทัศน์หลักแรกสุดของวิชาโบราณคดี[65]

การนำเสนอของผู้เขียนมีข้อขัดแย้งอยู่ในตัวเองจากความพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงความชัดเจนของวิธีคิดนี้ กล่าวคือ จากย่อหน้าข้างต้นผู้เขียนระบุว่า “แนวคิดหรือกระบวนทัศน์เกี่ยวกับประวัติวัฒนธรรมมีมานานพอๆกับประวัติวิชาโบราณคดีและนักโบราณคดีหลายคนกล่าวว่าประวัติวัฒนธรรมเป็นกระบวนทัศน์หลักแรกสุดของวิชาโบราณคดี”[66] ในย่อหน้าต่อมาได้ขยายความว่า “ประวัติวัฒนธรรมเป็นกระบวนทัศน์ที่ก่อตัวและเป็นที่สนใจในหมู่นักโบราณคดีในราวสองทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่๒๐และเสื่อมความนิยมในราวทศวรรษที่๑๙๖๐“[67]

หากคำกล่าวนำของผู้เขียนยุติลงเพียงแค่นั้น ก็จะไม่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงใดๆ แต่เมื่อผู้เขียนกล่าวเสริมว่า “ …แต่ผู้เขียนเห็นว่าแนวคิดเกี่ยวกับประวัติวัฒนธรรมมีความเป็นมาเก่าแก่กว่านั้น อย่างน้อยก็ตั้งแต่ประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สันขุดเนินดินในเขตที่ดินของเขาในปี๑๗๘๔..”[68]

ผู้วิพากษ์เห็นว่าเจฟเฟอร์สันเพียงแต่ “รายงาน(บันทึก)” ให้เห็นถึงลักษณะการทับถมของชั้นดินเท่านั้น มิได้ลำดับให้เห็นแนวคิดเกี่ยวกับการเน้นหรือสร้างกระบวนทัศน์เพื่อจัดลำดับวัฒนธรรมของมนุษย์ตามเวลาหรือความเก่าแก่แต่อย่างใด การที่ผู้เขียนระบุว่า การขุดค้นของเจฟเฟอร์สันเป็นการขุดค้นตามชั้นดินครั้งแรกในโลกใหม่นั้น น่าจะเป็นเกียรติยศสูงสุดเพียงพออยู่แล้ว ส่วนการจัดลำดับยุคสมัยทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ได้แก่ ยุคหิน ยุคสำริดและยุคเหล็กเมื่อประมาณค.ศ.๑๘๑๖ ควรจะเป็นการริเริ่มอย่างแท้จริงของคริสเตียน ทอมเซน ทั้งนี้ผู้เขียนเองก็ระบุอยู่แล้วว่า การกล่าวถึงการลำดับในบันทึกของเจฟเฟอร์สันไม่ค่อยจะชัดเจนนัก[69]

ผู้เขียนกล่าวถึงวิธีการศึกษาแบบประวัติวัฒนธรรม ๔ ประการ ตั้งแต่หน้า๖๒ถึงหน้า๘๑ ได้แก่ การศึกษาการแพร่กระจาย(diffusionism approach) การสืบย้อนประวัติสายตรง(direct historical approach) วิธีการตรวจสอบด้วยชั้นดิน(stratigraphic approach)และวิธีการจัดจำแนกรูปแบบ(typological and classificatory approach) และสรุปว่า แม้“แนวคิดทฤษฎีประวัติวัฒนธรรม” จะได้รับความนิยมมากระหว่างค.ศ.๑๙๑๐–๑๙๔๐ แต่ก็ไม่เคยหายไปจากงานโบราณคดี อีกทั้งยังมีความจำเป็นเบื้องต้นต่อการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีด้วยในฐานะ “กระดูกสันหลังของวิชาโบราณคดี”[70]

ผู้วิพากษ์มีความโน้มเอียงที่ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับการอธิบายของฟาแกน(Brian M. Fagan)เมื่อกล่าวถึงการแพร่กระจาย(diffusion)ในฐานะของทฤษฎี(Diffusionism)[71] ซึ่งนักโบราณคดีใช้อย่างแพร่หลายและเป็นเอกเทศ เช่นเดียวกับการถูกนำไปใช้ในงานมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา มากกว่าจะกล่าวถึงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนทัศน์แบบประวัติวัฒนธรรม เนื่องจากทฤษฎีการแพร่กระจายวางอยู่บนภาพรวมที่เกี่ยวกับการอธิบายถึงแนวคิดเรื่องการค้า การอพยพ การติดต่อทางวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งการออกเดินทางเพื่อการสำรวจ(exploration)[72] เป็นต้น

ทฤษฎีหน้าที่นิยมในวิชาโบราณคดี ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในวิชาโบราณคดีและทฤษฎีระดับกลางในวิชาโบราณคดี

ในขณะที่ผู้เขียนอธิบายถึงความเป็นมา ความหมายและขอบเขตของทฤษฎีหน้าที่นิยมในวิชาโบราณคดี ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในวิชาโบราณคดีและทฤษฎีระดับกลางในวิชาโบราณคดีแบบแยกส่วนอย่างชัดเจน แต่ในบทความของเฮกมอนได้กล่าวแบบรวมๆ เมื่อผู้วิพากษ์เลือกที่จะนำเนื้อหาในบทความของเฮกมอนมาเป็นเครื่องมือทางวิชาการ จึงจำเป็นต้องกล่าวถึงทฤษฎีทั้งสามในที่เดียวกันด้วย

ทฤษฎีหน้าที่นิยมในวิชาโบราณคดี ผู้เขียนลำดับเรื่องราวให้ทราบว่า ทฤษฎีนี้เกิดจากวิจารณ์งานโบราณคดีตามแนวคิดแบบประวัติวัฒนธรรมของเทเลอร์(Walter W. Taylor)ว่า เน้นการพรรณนาและสร้างลำดับอายุสมัยวัฒนธรรมมากเกินไปจนคล้ายจะเป็นส่วนหนึ่งของวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งจริงๆแล้วผู้วิพากษ์ก็เห็นด้วยว่าไม่น่าจะผิดนัก เนื่องจากเป็นกระแสวิชาการที่ดำรงอยู่ขณะนั้น เทเลอร์เสนอว่าในฐานะที่โบราณคดีเป็นส่วนหนึ่งของมานุษยวิทยา จึงควรศึกษาวัฒนธรรมในลักษณะเปรียบเทียบทั้งแบบหยุดนิ่งและเป็นพลวัติ ทั้งในแง่ของรูปแบบ หน้าที่และพัฒนาการอย่างเป็นองค์รวม[73] ผู้เขียนระบุเสริมว่ามีนักโบราณคดีหลายคนกล่าวสอดคล้องกับเทเลอร์ อาทิ มาลินอฟสกี(Bronislaw Malinowski) ซึ่งเน้นทฤษฎีหน้าที่นิยมเชิงจิตวิทยาเน้นการอธิบายครอบคลุมไปถึงปัจเจกบุคคล และอัลเฟรด แรดคลิฟฟ์-บราวน์(Alfred R. Radcliffe-Brown) ซึ่งประยุกต์ทฤษฎีโครงสร้างนิยมของเอมิล เดอร์ไฮม์(Émile Durkheim, 1858-1917: อ่านแบบฝรั่งเศสว่า เอมิล ดูร์ไคหม์)นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสในการเสนอทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่นิยม(structural functionalism)

ทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่นิยม(structural functionalism)เน้นว่า สังคมมนุษย์มีโครงสร้างหน้าที่หลายส่วน และแต่ละส่วนก็ทำงานสอดประสานกับส่วนอื่นๆเพื่อรักษาสมดุลหรือเสถียรภาพของสังคมให้ราบรื่น[74]
ผู้เขียนอ้างแนวคิดของแรดคลิฟฟ์ –บราวน์ที่ว่า สังคมมนุษย์มีลักษณะคล้ายคลึงกับสังคมสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตทั่วไป คือ มีโครงสร้างทางสังคมซึ่งประกอบด้วยการทำหน้าที่ที่สัมพันธ์กัน นักมานุษยวิทยาจึงควรพยายามค้นหาส่วนประกอบต่างๆที่รวมกันขึ้นเป็นโครงสร้างของสังคม เพื่อตรวจสอบว่าส่วนประกอบนั้นมีบทบาทหน้าที่อย่างไรในแต่ละสังคมหรือมีส่วนจรรโลงสังคมอย่างไร เขาเชื่อว่าสังคมมนุษย์มีโครงสร้างที่สังเกตได้ มิได้มีลักษณะแบบนามธรรมเหมือนวัฒนธรรม แนวคิดของแรดคลิฟฟ์ บราวน์ได้รับความนิยมระหว่าง ค.ศ.๑๙๓๐–๑๙๖๐[75]

ผู้เขียนชี้ว่า นักโบราณคดี อาทิ แซลมอน(Merrillee Salmon)นำแนวคิดเชิงทฤษฎีหน้าที่นิยมมาใช้ในการอธิบายหลักฐานโบราณคดี และเปลี่ยนมุมมองในการศึกษาโบราณวัตถุ จากการมองว่า โบราณวัตถุเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์แต่ละยุค มาเป็นการพิจารณาว่า โบราณวัตถุมีฐานะเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ หรือเป็นหลักฐานในการอธิบายวัฒนธรรมในอดีตของมนุษย์ ดังนั้นการศึกษาทางโบราณคดีตามแนวคิดทฤษฎีหน้าที่นิยมจึงมุ่งศึกษาโบราณวัตถุในฐานะที่เป็นสื่อบอกพฤติกรรมของมนุษย์ และศึกษารูปแบบการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในลักษณะที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเพื่ออธิบายให้เห็นพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งนิยมกันมากตั้งแต่ทศวรรษ๑๙๔๐–๑๙๖๐ และนิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน[76]

ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในวิชาโบราณคดี ผู้เขียนเกริ่นถึงความเป็นมาว่า มีรากฐานต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ สมัยการออกเดินทางสำรวจดินแดนและสมัยล่าอาณานิคมของชาวยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่๑๕–๑๖ การค้นพบดินแดนและคนพื้นเมืองทำให้นักสำรวจและนักคิดสนใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมและกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในดินแดนอื่นๆของโลก [77]

ผู้เขียนกล่าวว่า ในคริสต์ศตวรรษที่๑๙ นักวิชาการชาวอังกฤษสองคน คือ เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์(Herbert Spencer)และชาร์ลส์ ดาร์วิน(Charles Darwin) สนใจศึกษาประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง สเปนเซอร์เสนอความคิดว่าสังคมมนุษย์ในโลกมีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไปสู่ลักษณะที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และเรียกแนวคิดนี้ว่า “universal evolution” เขาชี้ว่าสังคมอารยะมีศีลธรรมจรรยามากกว่าสังคมป่าเถื่อน ทฤษฎีของสเปนเซอร์เน้นวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ขณะที่ทฤษฎีของดาร์วินเน้นวิวัฒนาการทางชีววิทยา[78]

ผู้วิพากษ์ขอสลับเนื้อหาในส่วนของทฤษฎีระดับกลางในงานโบราณคดีมากล่าวถึงก่อนแนวคิดโบราณคดีใหม่ เพื่อจะทำให้สามารถนำเนื้อหาในบทความของเฮกมอนมาตรวจสอบได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทฤษฎีระดับกลางในงานโบราณคดี ผู้เขียนนำข้อมูลจากราบบ์และกูดเยียร์(Mark L. Raab and Albert C. Goodyear)ในบทความชื่อ “Middle-Range Thoery in Archaeology: A Critical Review of Origins and Applications” มาอธิบายว่า ทฤษฎีนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาในทศวรรษ๑๙๔๐ โดยนักสังคมวิทยาชื่อโรเบิร์ต มอร์ตัน(Robert K. Morton) เพื่ออธิบายลักษณะหรือพฤติกรรมทางสังคมที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมให้เห็นจริงและสามารถทดสอบได้ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ จากนั้นกลุ่มนักวิชาการที่เรียกตนเองว่า “นักโบราณคดีใหม่หรือนักโบราณคดีกระบวนการ” จึงนำมาประยุกต์ใช้ในงานโบราณคดีประมาณทศวรรษ๑๙๗๐[79] นอกจากนี้ผู้เขียนยังอภิปรายเกี่ยวกับ “cultural traits” ซึ่งยังไม่ชัดเจนนักเมื่อเทียบกับคำอธิบายอย่างเกาะติดจริงจังของเฮกมอน[80]

ผู้เขียนกล่าวว่า ทฤษฎีระดับกลางเกิดจากความพยายามของนักโบราณคดีกลุ่มนี้ในการเชื่อมโยงข้อมูลจากทฤษฎีระดับล่าง(low level theory)เข้ากับสมมติฐานหรือมโนทัศน์เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต โดยพวกเขาเห็นว่าการมองหลักฐานทางโบราณคดีตามแนวทฤษฎีระดับล่างมีลักษณะหยุดนิ่ง อาทิ การอธิบายโบราณวัตถุได้เพียงแค่ว่า เป็นอะไร อายุเท่าไร มีกี่รูปแบบ เป็นต้น นักโบราณคดีควรยกระดับการตีความหลักฐานโบราณคดีด้วยการอธิบายให้เห็นพลวัติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต ทฤษฎีนี้เปรียบเสมือนพื้นที่ระหว่างหลักฐานโบราณคดีที่มีลักษณะหยุดนิ่งกับพติกรมของมนุษย์ซึ่งมีลักษณะเคลื่อนไหว เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “bridging theory” หรือ “middle range theory(MRT)”[81] ผู้เขียนกล่าวว่าในแง่วิธีวิทยาการศึกษาทางโบราณคดีตามแนวทฤษฎีระดับกลางเน้นกระบวนการศึกษาที่เป็นระบบ สามารถทดสอบได้(replicability)และอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลเช่นเดียวกับการทดลองวิทยาศาสตร์ และวิธีการที่นิยมใช้กันคือ โบราณคดีทดลองหรือที่ผู้เขียนเรียกสั้นๆว่า “การทดลอง(experimental archaeology) โบราณคดีเชิงพฤติกรรม(behavioral archaeology)และการศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยาโบราณคดี(ethnoarchaeology) นักโบราณคดีระดับกลางรุ่นบุกเบิกและมีชื่อเสียงโดดเด่น ได้แก่ ลูอิส บินฟอร์ด(Luis Binfordและไมเคิล ชีฟเฟอร์(Michael Schiffer) [82]

ทั้งนี้ ผู้เขียนชี้ให้เห็นปัญหาเชิงทฤษฎีในส่วนของทฤษฎีวิวัฒนาการวัฒนธรรมในวิชาโบราณคดีและทฤษฎีระดับกลางในงานโบราณคดีอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน

บทความของเฮกมอนมิได้กล่าวถึงทฤษฎีหน้าที่นิยมทางโบราณคดี ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในวิชาโบราณคดีและทฤษฎีระดับกลางในงานโบราณคดีแบบตรงๆ หากแต่นำเสนอในส่วนของทฤษฎีพิสูจน์ชัดเชิงอัตลักษณ์แล้ว ๓ ทฤษฎี(Three Self-Identified Perspectives) และทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรม

ในส่วนของทฤษฎีพิสูจน์ชัดเชิงอัตลักษณ์แล้ว ๓ ทฤษฎีเธออธิบายว่า ทฤษฎีแรกคือ ทฤษฎีนิเวศวิทยาวิวัฒนาการ (Evolutionary Ecology) หรือ ทฤษฎีวิทยาศาสตร์วิวัฒนาการ(Evolutionary Science) ทฤษฎีนี้มีความสัมพันธ์กับความหลากหลายทางพฤติกรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมาตามทัศนะของเคลลี(Kelly: 2000, 64) แนวคิดของทฤษฎีนิเวศวิทยาวิวัฒนาการ รู้จักกันในทฤษฎีนิเวศวิทยาพฤติกรรมของมนุษย์(human behavioral ecology: HBE) อันเกี่ยวข้องกับการปรับใช้ทฤษฎีนิเวศวิทยาวิวัฒนาการกับมนุษย์และพฤติกรรมของมนุษย์ ทฤษฎีนี้พยายามนำเสนอแนวคิดแบบนิเวศวิทยาวัฒนธรรม(cultural ecology)ของจูเลียน สจวร์ด(Julian Steward:1955) ซึ่งประกอบด้วยฐานคิดของทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างเข้มข้น ดังปรากฏอ้างอิงในบทความของ Winterhalder and Smith (2000:51) เฮกมอนชี้ให้เห็นว่าอย่างน้อยในงานโบราณคดีของอเมริกาเหนือ ทฤษฎีนิเวศวิทยาวิวัฒนาการถูกนำมาใช้กันมาก เพื่อศึกษากลุ่มชนเก็บหาของป่าและล่าสัตว์(hunters-gatherers)หรือกลุ่มชนขนาดเล็กที่มีความก้าวหน้าเรื่องการเพาะปลูก (small-scale horticulturalists) ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับหลักฐานทางโบราณคดีในแคลิฟอร์เนียหรือGreat Basin และกลวิธีต่างๆในการแสวงหาอาหารยังคงถูกใช้อย่างต่อเนื่องจนถึงสมัยประวัติศาสตร์

งานของKelly(2001)ใช้ข้อมูลจาก Carson Sink (ในรัฐNevada) เพื่อประเมินค่าแบบจำลองของการตั้งถิ่นฐานและการย้ายถิ่นฐาน และยังมีงานวิจัยของBroughton and O’connell (1999: 154-156) ซึ่งเน้นแนวคิดเรื่องการแผ่กว้างของอาหารและทางเลือกในการล่าสัตว์(diet breadth and prey choice)[83] ตามทัศนะของเฮกมอน นักโบราณคดีหลายคนที่ใช้ทฤษฎีนิเวศวิทยาวิวัฒนาการ ดูเหมือนจะเปิดกว้างต่อวิธีการแสวงหาคำอธิบายอื่นๆเช่นกัน อาทิ แม้งานของเคลลี่(2000) จะมีแนวโน้มในการนำทฤษฎีโบราณคดีสำนักดาร์วิน(Darwinian archaeology)มาใช้ แต่เขาเสนอว่า แนวคิดหลายอย่างที่มีพื้นฐานจากทฤษฎีนิเวศวิทยาวิวัฒนาการและทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรม อาจถูกใช้ผสมผสานกับทฤษฎีโบราณคดีสำนักดาร์วินได้ และเขาได้ใช้ทฤษฎีการสำนึกรู้เชิงพฤติกรรม(behavioral insight)มาอธิบายการแสดงออกทางบุคลิกภาพ เพื่อพัฒนาทฤษฎีนิเวศวิทยาวิวัฒนาการในหลักฐานเครื่องมือหินเป็นการเฉพาะด้วย

เฮกมอนกล่าวถึงทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรมว่า ริเริ่มขึ้นในปีค.ศ.๑๙๗๑ โดยนักวิชาการ ๓ คน คือ Reid, Schiffer และRathje แต่กระนั้นก็ดี จนถึงปีค.ศ.๑๙๙๕ ก็มีแต่ Michael Schiffer รวมถึงกลุ่มลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยอะริโซนาเท่านั้น ที่ค่อนข้างผูกพันกับทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรม

ตามบทความของชิฟเฟอร์(๑๙๙๙) ที่เฮกมอนอ้างถึงนั้น ทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรม สนใจความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของมนุษย์กับวัฒนธรรมทางวัตถุทุกสมัยและทุกสถานที่ตามชื่อทฤษฎี ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรม จึงรวมถึงการศึกษาวัฒนธรรมทางวัตถุสมัยใหม่ และวิถีทางพฤติกรรมที่ทำให้เกิดหลักฐานโบราณคดีด้วย แต่ไม่รวมถึงแนวคิดเชิงนามธรรม

ทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรมอาจเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในการพัฒนาแนวคิดทางวิธีวิทยาต่างๆ(methodologies) อาทิ การศึกษาการเกิดหลักฐานโบราณคดี(formation processes)ของชิฟเฟอร์(๑๙๘๗) และประวัติศาสตร์การเกิดหลักฐานโบราณคดี(artifact life histories)ในปี ค.ศ.๑๙๙๕ ซึ่งช่วยให้สามารถทำความเข้าใจกับหลักฐานทางโบราณคดีและช่วยให้สามารถสร้างเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมในอดีตของมนุษย์ขึ้นมาใหม่ได้

อย่างไรก็ดี เฮกมอนเห็นว่า นักโบราณคดีที่สนใจทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรมนั้น มุ่งอธิบายพฤติกรรมและประเด็นต่างๆ ได้แก่ ความหมาย(ชิฟเฟอร์และมิลเลอร์: ๑๙๙๙) พิธีกรรม(วอลเกอร์: ๒๐๐๒ วอลเกอร์และลูเซโร:๒๐๐๐) และสังคมที่ซับซ้อน(ลามอตตาและชิฟเฟอร์: ๒๐๐๑)อย่างเด่นชัดด้วย ดังเห็นจากความต้องการที่จะพัฒนาแนวคิดเพื่ออธิบายความหลากหลายของหลักฐานโบราณคดี อาทิ ชิฟเฟอร์และสคีโบ(๑๙๙๗) สนใจอธิบายอิทธิพลองค์ประกอบทางพฤติกรรมของผู้ผลิต(producers) รวมทั้งสิ่งต่างๆจากกระบวนการทางสังคมและการต่อรองทางสังคม (social processes and negotiations) ที่ส่งผลต่อลักษณะทางการแสดงออกของหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งทำเสร็จแล้ว

เฮกมอนชี้ให้เห็นข้อเสนอของชิฟเฟอร์ซึ่งเน้นว่า ทั้งทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรมและทฤษฎีอื่นๆ ต่างก็เป็นแนวทางดีที่สุดในการเสนอปัญหาทางโบราณคดี โดยเขาพยายามจะสร้างการเชื่อมโยงทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรมกับแนวอื่นคิดอื่นๆ

เฮกมอนเห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว แม้นักวิชาการบางคนในกลุ่มทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรมจะได้พัฒนาหรือร่างทฤษฎีเชิงพฤติกรรมอย่างชัดเจน แต่ความรู้ทางวิธีวิทยาและทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรม ก็ถูกนำมาผสมผสานกับแนวคิดทางโบราณคดีอื่นๆอีกหลายแนวคิด รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการวิจัยแบบองค์รวม(accumulations research)ด้วย[84]

อย่างไรก็ดี หากจะกล่าวโดยภาพรวมแล้วพบว่า ผู้เขียนทำการบ้านในส่วนของทฤษฎีหน้าที่นิยมในวิชาโบราณคดี ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในวิชาโบราณคดีและทฤษฎีระดับกลางในวิชาโบราณคดีได้ดีมาก จึงยังไม่พบข้อถกเถียงใดๆในขณะนี้

โบราณคดีใหม่(The New Archaeology)หรือโบราณคดีกระบวนการ(processual archaeology)
ผู้วิพากษ์เห็นด้วยที่ผู้เขียนระบุว่า ทฤษฎีหรือกระบวนทัศน์ใหม่ๆทางโบราณคดีมักเกิดจากการวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีเก่า จากนั้นก็มีทฤษฎีใหม่เป็นทางเลือก และทฤษฎีใหม่ที่เข้ามาก็มิได้แทนที่แทนทฤษฎีเก่า หากแต่มีส่วนส่งเสริมซึ่งกันและกัน อาทิ ทฤษฎีประวัติวัฒนธรรมอาจมีข้อด้อยที่เน้นการลำดับอายุสมัยทางวัฒนธรรมมากเกินไป จนมองข้ามบทบาทหน้าที่ของโบราณวัตถุ ทฤษฎีหน้าที่นิยมจึงเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ เมื่อทฤษฎีหน้าที่นิยมถูกวิจารณ์ว่า มองสังคมในลักษณะที่หยุดนิ่ง ทฤษฎีวิวัฒนาการจึงถูกนำเข้ามาประยุกต์ใช้ และทฤษฎีต่างๆก็ถูกใช้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน[85]

โบราณคดีใหม่ เกิดในทศวรรษ๑๙๖๐ เนื่องจากความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการศึกษาโบราณวัตถุของนักโบราณคดีรุ่นก่อน(ทศวรรษ๑๙๑๐–๑๙๖๐) ซึ่งเน้นการระบุ(identify) พรรณนา(describe) และจัดลำดับอายุสมัย(order)ของวัฒนธรรมมากเกินไป โดยไม่ให้ความสนใจลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมอื่นๆของโบราณวัตถุ ด้วยเหตุนี้ลูอิส บินฟอร์ด(Luis Binford)และเพื่อนเสนอว่า นักโบราณคดีควรนำวิธีการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์และเปิดเผยชัดเจนมาใช้ในการทำงานทางโบราณคดี และควรสนใจวัฒนธรรมในลักษณะที่เป็นกระบวนการมากกว่าการจัดลำดับอายุสมัยและพรรณนาวัฒนธรรม ผู้เขียนระบุว่าในช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้สนใจศึกษา อธิบายและตีความทางวัฒนธรรมอย่างเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์กันบ้างแล้ว อาทิ วอลเตอร์ เทเลอร์(ทฤษฎีหน้าที่นิยมและการศึกษาวัฒนธรรมด้วยการตั้งสมมติฐานแล้วทดสอบสมมติฐานนั้น) วิลเลียม โรบินสันและอัลเบิร์ต สปอลดิง (การศึกษาวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบด้วยการใช้วิธีการทางสถิติในการวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี) โจเซฟ คาลด์เวลล์ (สนใจนิเวศวิทยาวัฒนธรรม) และกอร์ดอน วิลลี(ศึกษาการตั้งถิ่นฐานอย่างเป็นระบบครั้งแรก) เป็นต้น [86]

ผู้เขียนอ้างงานเขียนของ Bruce G. Trigger เรื่อง “A History of Archaeological Thought” เมื่อระบุว่าแนวคิดของนักโบราณคดีในยุโรปบางคน อาทิ เกรแฮม คลาร์ก(Greham Clark, 1907-1995)ชาวอังกฤษก็มีลักษณะเป็นโบราณคดีใหม่เช่นกัน กล่าวคือเขาเสนอความคิดว่าวัฒนธรรมเป็นเสมือนระบบการปรับตัวของมนุษย์ให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โดยนักโบราณคดีต้องเข้าใจถึงสภาพการคงอยู่และการทับถมของโบราณวัตถุประเภทต่างๆในแหล่งโบราณคดีว่าอาจจะไม่เหมือนกัน นักโบราณคดีจึงมีข้อจำกัดในการศึกษา [87] และปัจจัยที่ทำให้กระแสของ “โบราณคดีใหม่หรือโบราณคดีกระบวนการ” แพร่หลายมากยิ่งขึ้นคือการค้นพบวิธีการกำหนดอายุด้วยแบบRediocarbon Dating(Carbon14)ในช่วงปลายทศวรรษ๑๙๔๐ ของวิลลาร์ด เอฟ. ลิบบี(Willard F. Libby) และการค้นพบวิธีการกำหนดอายุโบราณวัตถุแบบ accelerator mass spectrometry(AMS) ทำให้การกำหนดอายุหลักฐานโบราณคดีน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น[88]

ผู้เขียนกล่าวว่าโบราณคดีใหม่ “ไม่มีอะไรใหม่” โดยอ้างอิงบทความของรัศมี ชูทรงเดชเรื่อง “โบราณคดียุคโลกานุวัตร: ตัวอย่างจากสำนักคิดอเมริกัน” เมื่อกล่าวถึงลักษณะสำคัญของโบราณคดีใหม่ว่า โบราณคดีใหม่ไม่ละทิ้งกระบวนทัศน์วิวัฒนาการ เมื่อต้องอธิบายสาเหตุการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม โบราณคดีใหม่เน้นการศึกษาวัฒนธรรมทุกแง่มุม โบราณคดีใหม่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับวัฒนธรรม โบราณคดีใหม่สนใจเปรียบเทียบความแตกต่างหรือความคล้ายคลึงของวัฒนธรรมและปัจจัยผลักดัน และโบราณคดีใหม่เน้นการประยุกต์ใช้วิธีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ สถิติ การควบคุมตัวแปรและการสุ่มตัวอย่างในการศึกษา[89]

ผู้เขียนกล่าวถึงการวิจารณ์งาน “โบราณคดีใหม่”ว่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิในเรื่องเรื่องเกี่ยวกับการอธิบายหรือตีความระบบสังคมที่เกิดขึ้นในอีต ได้แก่ ระบบเครือญาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังกล่าวถึงโอกาสที่จะผิดพลาดของการทดสอบสมมติฐานโดยการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ด้วย ซึ่งข้อวิจารณ์เหล่านี้เป็นที่มาของการเกิดแนวคิดทางโบราณคดีแบบหลังกระบวนการ(post processual archaeology)ในเวลาต่อมา[90]

โบราณคดีใหม่ในทัศนะของเฮกมอนนั้น เธออธิบายอย่างรวบรัดว่า ทฤษฎีโบราณคดีใหม่ในยุคทศวรรษ๑๙๖๐sและต้นยุคทศวรรษ๑๙๗๐s มีแนวคิดแบบสนับสนุนวิธีการทางวิทยาศาสตร์(scientific approaches) ทำให้บางทีก็เรียกกลุ่มนี้ว่า พวกปฏิฐานนิยม (positivists)[91] ซึ่งพยายามค้นหากฎเกณฑ์ทางวิชาการเพื่อให้ยอมรับกันทั่วไป(general laws) นักโบราณคดีสำคัญในกลุ่มได้แก่ บินฟอร์ด(๑๙๖๔) และวัตสันกับเพื่อนร่วมงาน(๑๙๗๑)

โบราณคดีหลังกระบวนการ
ผู้เขียนกล่าวว่า เอียน ฮอดเดอร์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษเป็นผู้บัญญัติคำว่า “โบราณคดีหลังกระบวนการ” เป็นคนแรกเมื่อค.ศ.๑๙๘๕ โบราณคดีหลังกระบวนการเป็นกระบวนทัศน์ทางโบราณคดีที่เกิดขึ้นในทศวรรษ๑๙๘๐ โดยมีที่มาจากแนวคิดกระแสหลักแบบหลังสมัยใหม่(Post modern) ซึ่งแพร่หลายอยู่ก่อนแล้วในทศวรรษ๑๙๖๐

ผู้เขียนอ้าง David H. Thomas ในงานเขียนของเรื่อง “Archaeology: Down to Earth”เพื่ออธิบายว่า “post modern” เป็นการเคลื่อนไหวที่เปรียบเสมือนยาแก้พิษทางวิชาการสำหรับผู้ที่รับแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์มาเกินขนาด และอ้างงานเขียนของธงชัย วินิจจะกูลจากงานเขียนชื่อ “ลืมโคตรเหง้าก็เผาแผ่นดิน” ในการขยายความว่า “โพสท์ โมเดิร์น”เป็นกระแสท้าทายความคิดความเชื่อของโลกสมัยใหม่หรือกระแสความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์หรือปฎิฐานนิยม(positivism)และเป็นแนวทางในการรับรู้และเข้าใจสังคมมนุษย์แนวทางหนึ่ง การที่โพสท์ โมเดิร์นเข้ามาแทนที่ความคิดแบบโมเดิร์นนิสม์ เนื่องจากหลังสงครามโลกทั้งสองครั้ง ทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก ผู้คนจึงเกิดความไม่แน่ใจต่อแนวคิดแบบโมเดิร์น แนวคิดแบบ“โพสท์ โมเดิร์น” จึงเป็นความเคลื่อนไหวทางเลือกใหม่ในการมองโลก สังคมและสรรพสิ่ง[92] ทั้งปวง [93]

ผู้เขียนอธิบายว่า วิธีการของแนวความคิดแบบโพสท์ โมเดิร์น คือ การรื้อสร้าง(deconstruction)อันมีที่มาจากการวิจารณ์วรรณกรรม และการรื้อสร้างในทัศนะของโพสท์ โมเดิร์น หมายถึง การลดทอนบทบาท และลดทอนการผูกขาดสิทธิและอำนาจของผู้ผลิตงานลง แล้วเปิดโอกาสให้มีการตีความจากมุมอื่นๆด้วย ความคิดดังกล่าวทำให้นักโบราณคดีในยุโรป โดยเฉพาะนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้นำสาระจากหลักบางส่วนของโพสท์โมเดิร์นมาใช้ในการตีความและอธิบายหลักฐานทางโบราณคดี จนกลายเป็นแนวคิดแบบ “post processual archaeology”หรือ “แนวคิดโบราณคดีแบบหลังกระบวนการ”

ผู้เขียนได้เปรียบเทียบแนวคิดโบราณคดีกระบวนการกับโบราณคดีหลังกระบวนการ ดังนี้[94]
โบราณคดีกระบวนการ
๑.เน้นกฎทั่วไปตามแนวทฤษฎีวิวัฒนาการ ไม่เน้นการศึกษาแบบประวัติศาสตร์เฉพาะกรณี
๒.ต้องการค้นหากฎสากลทางวัฒนธรรมซึ่งอาจช่วยให้เข้าใจสังคมทั้งในอดีตและปัจจุบัน
๓.เน้นการใช้หลักการแบบวิทยาศาสตร์ในการอธิบายหลักฐานโบราณคดี เน้นวัตถุวิสัย(objectivity)ในการทดสอบหรือตรวจสอบข้อสังเกต
๔.เน้นความเป็นกลาง เที่ยงตรงและมีจรรยาบรรณ ใช้มุมมองแบบภววิสัย ไม่ใช้มุมมองแบบอัตวิสัยในการศึกษา
๕.นิยามวัฒนธรรมว่าเป็นระบบการปรับตัวของมนุษย์ เน้นการปรับตัวภายนอก(extrasomatic means of adaptation) จึงมุ่งให้ความสนใจแก่สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและเศรษฐกิจ เป็นสำคัญ ส่วนระบบความคิด และศาสนาเป็นเพียงส่วนประกอบ
๖.เป็นแนวทางการศึกษาที่ใช้มุมมองจากปรากฏการณ์ภายนอก(etic phenomina) คือ ศึกษาวัฒนธรรมจากกาสังเกตการณ์ในฐานะคนนอกมุมเข้าไปข้างใน

โบราณคดีหลังกระบวนการ
๑.ปฏิเสธกฎทั่วไปตามแนวทางทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม และวิจารณ์ว่า โบราณคดีกระบวนการใช้ลัทธิเชื้อชาติเป็นเกณฑ์ในการจัดลำดับทางวัฒนธรรม ซึ่งกำหนดให้วัฒนธรรมตะวันตกอยู่สูงสุด
๒.ปฏิเสธการค้นหากฎสากลเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งไม่มีอยู่จริง เพราะสิ่งที่นักโบราณคดีกระบวนการพยายามสรุปเป็นเพียงการตีความเท่านั้น
๓.ปฏิเสธวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาสังคมวัฒนธรรม และประกาศว่าการการกำหนดกฎเกณฑ์ข้อบังคับในการศึกษา วิจัยและตีความเป็นลักษณะของเผด็จการอันนำไปสู่การทำลายวิธีการศึกษาแบบอื่นๆ นอกจากนี้นักโบราณคดียังไม่ควรทดสอบสอบสิ่งต่างๆ เพราะการทดสอบมิได้ให้คำตอบเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ในอดีต และสิ่งที่ได้จากการทดสอบ เป็นสิ่งที่เกิดจากสมมติฐานของนักโบราณคดี ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต
๔.ปฏิเสธความเป็นกลาง เที่ยงตรง ไม่เชื่อว่ามุมมองแบบภววิสัยจะเกิดขึ้นจริงในใจผู้ศึกษา เพราะมนุษย์มีจิตใจอ่อนไหวโดยธรรมชาติ จึงอาจมีมุมมองแบบอัตวิสัยแทรกอยู่ในการอธิบายหลักฐานโบราณคดี วิธีการอธิบายแบบอัตวิสัย(เน้นประสบการณ์จากภายในความคิด) มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อการตีความอดีตของมนุษย์ นอกจากนี้ความหมายที่มาจากการศึกษาหลักฐานโบราณคดีล้วนมีลักษณะการเมืองแฝงอยู่ คือเป็นความหมายที่เกิดจากปัจจุบันซึ่งมีขั้นตอนซับซ้อนและมีเรื่องการเมืองและศีลธรรมผสมผสานอยู่ในการตัดสินใจให้ความหมายของสิ่งที่ศึกษาอยู่ด้วย
๕.ปฏิเสธการมองวัฒนธรรมว่าเป็นระบบการปรับตัว แต่เห็นว่าสังคมมนุษย์ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายทางความคิด มีกลุ่ม มีพรรคพวก มีความขัดแย้ง มีชนชั้นในสังคม แต่ละกลุ่ม แต่ละครอบครัว แต่ละคนก็ไม่จำเป็นต้องมีจุดหมายในชีวิตเหมือนกัน และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม อาจจเกิดจากปัจจัยภายใน มิใช่ปัจจัยภายนอกเสมอไป
๖.ปฏิเสธมุมมองจากปรากฏการณ์ภายนอก การเข้าใจสังคมมนุษย์อย่างแท้จริงต้องใช้มุมมองจากจิตใจภายในของคนที่เราศึกษา มิใช่มุมมองของผู้ศึกษาเอง ดังนั้นโบราณคดีหลังกระบวนการจึงเน้นบทบาทของโบราณวัตถุในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

ผู้เขียนอธิบายเพิ่มเติมว่า สาระหลักของกระบวนทัศน์นี้เน้นที่ระบบคิด(ideanation paradigm)และมุ่งวิพากษ์วิจารณ์กระบวนทัศน์แบบโบราณคดีใหม่(โบราณคดีกระบวนการ)และทฤษฎีโบราณคดีระดับกลางโดยตรง โบราณคดีหลังกระบวนการแบ่งออกเป็น ๒ ขั้ว คือ ขั้วที่๑ เน้นระบบความคิดจิตใจ(มองพฤติกรรมของมนุษย์จากข้างใน) ขั้วที่๒ เน้นลักษณะวัตถุนิยม(มองพฤติกรรมนุษย์จากปัจจัยภายนอก) และทั้งสองขั้วต่างก็วิพากษ์กันเองจนเกิดแนวความคิดแตกแขนงออกไปมากมาย[95]

สำหรับเฮกมอนแล้ว เธอกล่าวถึงโบราณคดีหลังกระบวนการว่า แนวคิดทางโบราณคดีแบบหลังกระบวนการ( post-processual )ปฏิเสธรูปแบบของพัฒนาการทางสังคมและแนวคิดเรื่องวัฒนธรรม/ นานาสังคม(culture/ societies) ในฐานะที่มีการคงอยู่ของเจตนารมณ์หรือความต้องการ(will or need) แต่เน้นในเรื่องของปัจเจกบุคคล(individuals) ตัวแทน(agency)และแรงผลักดัน (impetus)แทน เช่นเดียวกันนักโบราณคดีกลุ่มทฤษฎีหลังกระบวนการหลายคน(Shennan: 1993) ที่ชี้ชัดปัญหาต่างๆด้วยกรอบความคิดของทฤษฎีวิวัฒนาการ แม้ว่าพวกเขามักจะตรวจสอบแนวความคิดนี้ตามความจำเป็น มากกว่าจะปฏิเสธที่รูปแบบ(typologies)ไปโดยสิ้นเชิง(Earl and Johnson: 1987)

เฮกมอนกล่าวว่า ข้อเขียนระยะแรกๆของแนวคิดแบบpost-processual archaeology (โดยเฉพาะในงานของHodder: 1982, Hodder ed.:1982 และShanks and Tilley: 1987a : 1987b) ตอกย้ำถึงวิธีการที่แตกต่างอย่างชัดเจนของการตีความ(interpretation)และวิชาประวัติศาสตร์(history) ถึงแม้แนวคิดในการตีความ(เกี่ยวกับมนุษย์)จะยังคงนำมาซึ่งการถูกโต้แย้งโดยตลอด แต่กลุ่มแนวคิดแบบโบราณคดีหลังกระบวนการ(post-processual)ก็เน้นถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่บังเอิญซ้อนทับอยู่กับกระบวนการศึกษากรณีเฉพาะทั้งทางตรงและทางอ้อม

เฮกมอนยกตัวอย่างงานของบราวน์(Braun:1991)ในการได้เสนอข้อถกเถียงที่ว่า ทำไมเครื่องปั้นดินเผาในเขตมิดเวสท์ วูดแลนด์(Midwestern Woodland)จึงถูกตกแต่ง คำถามนี้อาจทำความเข้าใจได้ในฐานะของกรอบแห่งการก่อตัวแบบพิเศษในท้องถิ่นและในประวัติศาสตร์ สิ่งที่มีความเป็นธรรมดายิ่งกว่านั้นก็คือ นักโบราณคดีเชิงกระบวนการล้วนแต่เคยให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อกรณีเฉพาะมาแล้วทั้งสิ้น เช่น เรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในบริบทที่มีขนาดใหญ่ขึ้น(อาทิงานของ Knight: 1982, Stepponaitis 1981, ดู trigger: 1989a, 368) อันเป็นวิธีการซึ่งปัจจุบันถูกนำไปใช้ในฐานะของลำดับชั้นทางทฤษฎี(theoretical spectrum)

โบราณคดีหลังกระบวนการ(post-processual archaeology) ให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์(symbols)และความหมาย(meaning) ขณะที่โบราณคดีเชิงกระบวนการ(processual archaeology)ระยะแรกๆ ก็เคยอ้างประเด็นการสำนึกรู้(cognition)และความคิด(ideas)อย่างระมัดระวังยิ่ง อาทิ แนวคิด“ideotechnic” ในงานของบินฟอร์ด (1962 ) เป็นต้น

แต่นักโบราณคดีหลังกระบวนการกลับประกาศอย่างชัดเจนว่า ความหมาย(meaning)เป็นสิ่งที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งใน”ถังขยะ(trash)”และในพิธีกรรม

เฮกมอนอ้างข้อเสนอของRobb(1998:331)ว่า “การตั้งคำถามมิใช่ว่าจะจำกัดอยู่แต่เพียงเมื่อได้ค้นพบสัญลักษณ์ทางโบราณคดี หากแต่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่มีการค้นพบวัตถุทางวัฒนธรรม ซึ่งแม้จะมิใช่สัญลักษณ์ทางโบราณคดีก็ตาม ” เธอเห็นว่าทุกวันนี้สัญลักษณ์และความหมาย(symbols and meaning)ปรากฏอยู่ทั่วไปในงานของกลุ่มนักโบราณคดีเชิงกระบวนการ(รวมถึงโบราณคดีเชิงพฤติกรรมด้วย, ดู Shiffer and Miller: 1999) เช่นเดียวกับงานของนักโบราณคดีหลังกระบวนการ(ทัศนะที่แตกต่างจากนี้ดู Brown:1997, Robb: 1988 ส่วนทัศนะของนักโบราณคดีชาวอเมริกันเหนือดู Byers :1999 , Gamble et al 2001, Ortman: 2000, Van Nest et al 2001, Whalen and Minnis 2001) ตามความเห็นของRobb (1998) เขาได้ชี้ชัดลงไปถึงลักษณะของแนวคิดโบราณคดีหลังกระบวนการว่า “สัญลักษณ์มีฐานะบ่งบอกความหมาย(the symbols as tokens approach) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเน้นบทบาท(role)ในการสื่อสาร” เฮกมอนกล่าวว่า มีผลงานวิจัยจำนวนมาก(ส่วนใหญ่เป็นงานค้นคว้าของนักโบราณคดีเชิงกระบวนการ)ที่เน้นเรื่องพัฒนาการศักยภาพทางสัญลักษณ์และการสำนึกรู้ของมนุษย์ (อาทิ งานของ Lindly and Clark: 1990, Renfrew and Scarre: 1998, Renfew and Zubrow: 1994) โดยมุ่งเน้นไปที่ภูมิภาคของโลกเก่า(the Old World)[96]

เพศสถานะกับโบราณคดี
ผู้เขียนใช้คำเรียก “Gender” ว่า “เพศสถานะ” อันเป็นกระบวนทัศน์ทางโบราณคดีที่พัฒนาขึ้นเมื่อประมาณปลายศตวรรษที่๒๐ และอธิบายว่า “เพศสถานะ (gender)”[97] ในทางโบราณคดี มานุษยวิทยา หรือทางวิชาการทั่วไป หมายถึง อัตลักษณ์ทางสังคมของเพศต่างๆ (หญิงหรือชาย หรือกระเทย หรือเกย์) ซึ่งประกอบด้วยบทบาทที่แต่ละคนในสังคมถูกคาดหวังว่าจะแสดงตามเพศของตน เช่น ในสังคมอีสานผู้หญิงควรจะรู้จักการทอผ้าหรือตำหูก ส่วนผู้ชายก็ถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำครอบครัว เป็นต้น เพศสถานะจึงเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมที่ต้องเรียนรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เพศสถานะแตกต่างจากเพศ(sex)ซึ่งหมายถึง ความแตกต่างทาง ชีววิทยาของคน เช่น ความแตกต่างระหว่างระบบฮอร์โมน ลักษณะโครโมโซม และลักษณะทางกายภาพของเพศหญิงและเพศชาย เป็นต้น[98]

ผู้เขียนอธิบายถึงประเด็นหลักในการศึกษาเพศสถานะในงานโบราณคดี ๔ ประเด็น ประเด็นแรกคือ การศึกษาวัฒนธรรมด้วยอคติของบุรุษแบบ “androcentriism” ซึ่งเชื่อว่าผู้ชายเป็นศูนย์กลางของสิ่งต่างๆและผู้ชายมีบทบาทสำคัญในการสร้างสังคมแต่ผู้เดียว บทบาทของเพศหญิงเป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้น[99] ประเด็นที่สอง คือ การเลือกปฏิบัติกับเพศหญิงในสังคมวิชาชีพโบราณคดี ทำให้นักโบราณคดีในยุโรปและอเมริกายุคแรกส่วนใหญ่มักเป็นชาย ประเด็นที่สาม นักโบราณคดีหญิงส่วนใหญ่เสนอว่า การศึกษาเกี่ยวกับเพศสถานะในหลักฐานโบราณคดีควรไดีรับความสนใจมากขึ้นถ้าต้องการเข้าใจสังคมวัฒนธรรมในอดีตอย่างรอบด้าน ได้แก่ กิจกรรมต่างๆที่ประกอบโดยเพศหญิงหรือชาย ตำแหน่งเชิงเปรียบเทียบในระบบการปกครองและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ติดมากับเพศหญิงและเพศชาย ประการที่สี่ การวิจารณ์องค์ความรู้ที่ผ่านมามักจะมีอคติของผู้ชายแฝงมาด้วย โดยนักวิชาการกลุ่มสิทธิสตรีบางคนกล่าวว่า ความรู้ทางโบราณคดีในอดีตมักแฝงความเชื่อว่า ผู้ชายเป็นเพศที่เหนือกว่า(phallocentrism) ทำให้ความรู้ดังกล่าวถูกนำเสนอออกมาผ่านกระบวนการคิดและกระทำโดยผู้ชาย เพื่อสร้างความชอบธรรมของผู้ชาย ซึ่งอาจสะท้อนออกมาจากการใช้ภาษา เช่น “แข็งแรง” “ทรงอำนาจ” ฯลฯ ผู้หญิงจึงถูกบีบทางอ้อมให้คิดและเขียนอย่างผู้ชาย แต่ปัจจุบันสถานการณ์เช่นนี้ลดลง เนื่องจากชายหญิงสามารถคิดและเขียนได้อย่างเป็นอิสระ[100]

ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นข้อถกเถียงที่ปรากฏในทฤษฎีเพศสถานะเช่นกัน แต่ในที่นี้จะขอนำเนื้อหาการถกเถียงทางความคิดในบทความของเฮกมอนมาอธิบายเพิ่มเติม[101] กล่าวคือ เฮกมอนเห็นว่าโบราณคดีเพศสภาวะมีกระบวนทัศน์เป็นโบราณคดีแบบกระบวนการพิเศษ(processual –plus archaeology)และมีความเปิดกว้างทางโบราณคดี อันบ่งบอกถึงลักษณะปัจจุบันหลายๆอย่างของ วงการโบราณคดีในอเมริกาเหนือ

ความสนใจทางด้านโบราณคดีเพศสภาวะเริ่มมีพัฒนาการแบบเดียวกับแนวคิดของกลุ่มpost-processualismในทศวรรษ๑๙๘๐s ทั้งสองแนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสทฤษฎีเดียวกันอย่างชัดเจน บางคนอาจเห็นว่าโบราณคดีเพศสภาวะเป็นส่วนหนึ่งของโบราณคดีแบบหลังกระบวนการ(อาทิ Hodder:1991) ขณะที่บางคนอาจแย้งว่า แนวทางของทั้งสองทฤษฎีนั้นมีลักษณะแตกต่างกันแบบคู่ขนาน ซึ่งบางทีอาจได้รับอิทธิพลด้านความคิดและความรู้สึกต่อทิศทางของทฤษฎีหลังกระบวนการ(postprocessual)ก็ได้(ดูWylie : 1992)

เฮกมอนกล่าวว่า หากมองข้ามความสัมพันธ์ระยะแรกที่มีต่อโบราณคดีหลังกระบวนการแล้ว การเพิกเฉยเป็นเวลานานต่อการศึกษาเรื่องเพศสภาวะทางโบราณคดี กลับแปรเปลี่ยนมาเป็นความนิยมอย่างใหญ่หลวงในช่วงปลายทศวรรษ๑๙๘๐

ตามความคิดของเฮกมอน ทุกวันนี้โบราณคดีเพศสภาวะเกือบจะเป็นกระแสความคิดหลักในมุมมองทางวิชาการของหลายๆทฤษฎี แม้ว่าจะยังคงมีความน่าเคลือบแคลงและมีข้อพิจารณาที่ยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควรก็ตาม งานจำนวนมากของแนวคิดนี้ เป็นของนักวิจัยชาวอังกฤษซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่ต่างๆทุกมุมโลก แต่นอกเหนือไปจากนี้แล้ว แนวคิดเรื่องสตรีเพศนิยมและการวิจัยด้านเพศสภาวะกลับได้รับความนิยมน้อยกว่าในประเทศอังกฤษมาก(ดูCoudart: 1998)

ในทัศนะของเฮกมอน แก่นแท้ของทฤษฎีโบราณคดีเพศสภาวะ คือ มโนทัศน์ที่มีความโน้มเอียงในการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสิทธิสตรี(feminist concept) งานหลายชิ้นในระยะแรกมีมุมมองด้านการวิพากษ์และมุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับบุรุษเพิกแต่เฉยต่อสตรีแบบ “androcentric bias” (ดูงานของ Watson และ Kennedy)อย่างชัดเจน

เมื่อความใส่ใจในแนวคิดเรื่องเพศสภาวะของอเมริกาเหนือมีมากขึ้น หนังสือก็ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาอย่างมากมาย โดยเน้นทั้งเรื่องผู้หญิงและเรื่องของทุกเพศ รวมถึงสัมพันธภาพระหว่างเพศด้วย
นักวิชาการบางคนเสนอว่า โบราณคดีเพศสภาวะเป็นวิถีการหาของความรู้เกี่ยวกับอดีตแบบใหม่ สเปคเตอร์ (ดูSpector: 1991, 1993) ได้ใช้วิธีด้าน“ชาติพันธุวรรณา-ethnography)เพื่ออธิบายเกี่บวกับการตกแต่งสิ่ว(awl)และการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยสาวของชนเผ่าดาโกตา(Dakota)

งานของสเปคเตอร์เป็นยิ่งกว่าเพียงแค่เรื่องเล่าในอดีต เพราะเป็นตัวอย่างที่มีอยู่ไม่กี่ชิ้นเกี่ยวกับแนวคิดแบบ “hermeneutic approach” [102] ในวงการโบราณคดีของอเมริกาเหนือ(ดูการทบทวนPreucel:1995) จากการตรวจสอบเมื่อเร็วๆนี้ของConkey and Gero(1997)เน้นให้เห็นความสำคัญของทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิสตรี(feminist theory)และการวิพากษ์แนวคิดสิทธิสตรีทางวิทยาศาสตร์ในการทำงานโบราณคดี รวมถึงประเด็นผู้กระทำ(agency)ในการผลิตความรู้ของโครงการวิจัยและการตระหนักในเรื่องความไม่ชัดเจน

ทฤษฎีผู้กระทำในวิชาโบราณคดี
ผู้เขียนกล่าวว่า ทฤษฎีผู้กระทำ(agency theory) ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับทฤษฎีโบราณคดีแบบหลังกระบวนการหรือประมาณปลายทศวรรษ๑๙๗๐–๑๙๘๐ จากการผสมผสานทฤษฎีทางสังคมหลายอย่างรวมกัน เช่น “social theory” และ “practice theory” โดยมีจุดเน้นความสนใจร่วมกันในเรื่อง บทบาทหรือการกระทำของ“ปัจเจกบุคคล” “ชนชั้น” หรือ “กลุ่มสังคมบางกลุ่ม” ที่มีพลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม หรือก่อผลรุนแรงถึงขั้นเกิดการปฏิวัติทางสังคมได้ หรือไม่ก็เป็นเรื่องของแนวคิดการกระทำทางสังคม(social agent)ที่เน้นการต่อสู้ ไม่ยอมจำนน ไม่เชื่อตามกฎระเบียบทางสังคมอย่างเคร่งครัดโดยไม่ตั้งคำถามใดๆก่อน นักโบราณคดีจึงมักอ้างอิงงานของนักวิชาการสำนักโพสท์ โมเดิร์นนิสม์ อาทิ คาร์ล มาร์กซ์ แมกซ์ เวเบอร์ เอมิล ดูร์ไคม์ โดยเฉพาะปิแอร์ บูร์ดิเยอร์และแอนโธนี กิดเดนส์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาของทฤษฎีผู้กระทำ”[103]

จากการอ้างอิงงานเขียนของจันทนี เจริญศรีเรื่อง “โพสต์โมเดิร์นกับสังคมวิทยา” และงานเขียนของแมทธิว จอห์นสัน “Matthew Johnson” เรื่อง “Conceptions of Agency in Archaeological Interpretation” ทำให้ผู้เขียนระบุว่า ทฤษฎีผู้กระทำมักถูกนำไปใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงในบริบทของสังคมสมัยใหม่ แต่นักโบราณคดีบางคนได้นำไปปรับใช้ เพื่ออธิบายสังคมวัฒนธรรมของสังคมในอดีตอันไกลโพ้น โดยเฉพาะในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างกับผู้กระทำ(structure-agent relationship) ซึ่งเน้นว่าผู้กระทำสามารถกระทำการใดๆที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคมได้อย่างลึกซึ้ง ขณะเดียวกันผลการกระทำใดๆ จะมีความหมายต่อสังคมได้ก็ต่อเมื่อมีโครงสร้างรองรับ ทั้งสองส่วนจึงเสริมซึ่งกันและกัน[104] นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดและทฤษฎีผู้กระทำในวิชาโบราณคดี ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ทฤษฎีผู้กระทำในงานโบราณคดี รวมทั้งได้สรุปและกล่าวถึงทิศทางข้างหน้าของทฤษฎีผู้กระทำด้วย[105]

จากทัศนะที่มีต่อทฤษฎีผู้กระทำ เฮกมอนเห็นว่าเธอและนักโบราณคดีทั้งหลายต่างก็พอใจที่จะอ้างงานของ Bourdieu(1977) งานของGiddens(1984)และงานของOrtner(1984)ในเรื่องการกระทำ(practice)และผู้กระทำ(agency) [106]

เฮกมอนเห็นว่า ทฤษฎีทางสังคมข้างต้นส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อวงการโบราณคดีในอเมริกาเหนือ เนื่องจากเป็นแรงบันดาลใจของการสร้างแนวความคิดการตั้งถิ่นฐานของประชากรในอดีต (ซึ่งมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมหลายวัฒนธรรมมากกว่าระบบหลายระบบ)

ความนิยมนี้ยังนำมาสู่ปัญหาทางแนวคิดบางอย่าง ปัญหาประการที่หนึ่ง คือ การเน้นย้ำเรื่องผู้กระทำในประเด็นการแยกตัวออกมาจากโครงสร้างและการปฏิบัติมากเกินไป แม้Clarkจะระบุว่า ไม่มีเรื่องของความแปลกแยกด้านมณฑลความคิดของ“ทฤษฎีผู้กระทำ”ก็ตาม(2000: 97) ประการที่สอง คือ สมการดั้งเดิมของผู้กระทำ(agents)มีแนวคิดแบบปัจเจกบุคคลตะวันตกและการขาดความระมัดระวังที่มีต่อการพิจารณาเรื่องสัมพันธ์ของการเป็นบุคคล( personhood ดูClay: 19992, Gillespie: 2001, Strathern: 1981)

แม้ว่าจะมีรากเหง้าอยู่ในทฤษฎีทางสังคม แต่นิยามของผู้กระทำ(agency)ก็ถูกนำมาอยู่ด้านหน้าของทฤษฎีดังกล่าว โดย Giddensให้ความหมายของ “agency” ว่า หมายถึง “ความสามารถของปัจเจกบุคคลในการทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม” ผู้กระทำ(agency)เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์.ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ปัจเจกบุคคลเป็นผู้กระทำ โดยปัจเจกบุคคลนั้นสามารถกระทำการได้แตกต่างกันออกไป (Giddens: 1984, 9)

ขณะที่ DobresและRobb(2000: 8-9) อธิบายความหมายของ “agency”แคบกว่าว่า หมายถึง “คุณภาพของการกระทำ(action)ที่สำคัญทางสังคม” อย่างน้อยสำหรับGiddensแล้ว agency มีความเชื่อมโยงกับโครงสร้าง(structure)เสมอ และแม้ Giddens มองว่า “structure” และ “agency” จะมีความสัมพันธ์กันแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ในระยะแรกๆเขาเคยย้ำให้เห็นว่า“structure” ถูกสร้างและสืบเนื่องกันครั้งแล้วครั้งเล่า(perpetuated)ได้อย่างไร เขาเรียกกระบวนการนี้ว่า “การก่อตัวเป็นโครงสร้าง-structuration”

ขณะที่ Bourdieu (1977, 1990) และOrtner (1984) เน้นว่า การกระทำ(practice) ซึ่ง Ortnerอ้างถึง เกือบจะเป็นอะไรก็ได้ที่คนทำแล้วมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง การกระทำ(practice)มีรากลึกอยู่ในรูปของโครงสร้าง(structure) ผู้กระทำ(agents) และการดำเนินการผลิตซ้ำ(reproduce)หรือเปลี่ยนแปลงรูปทรงของโครงสร้างโดยผ่านการกระทำ

อย่างไรก็ดี การพิจารณาแนวคิดเรื่องผู้กระทำ กลับลืมรากเหง้าข้างต้น(ตามข้อสังเกตของWeissner: 2002) และเปรียบเทียบแนวคิดผู้กระทำด้วยกลวิธีต่างๆ(strategies)หรือเจตนา(intention)ที่มิอาจระงับได้อันมีต่อผลความสนใจของปัจเจกบุคคล ทำให้การกระทำ(practice)และผู้กระทำ(agency)มีความเกี่ยวข้องคล้ายๆกับกระบวนการทางแนวความคิด(conceptualized processes)

นิยามของทั้งสองคำเน้นด้านที่แตกต่างกันของกระบวนการเหล่านี้ โดยผู้กระทำ(agency)ตามข้อเสนอของเฮกมอนนั้น หมายถึง ความสามารถ(capability)ที่อยู่หลังฉากมากกว่า ความสามารถนี้อาจรวมถึงแรงกระตุ้น(motivation)ด้วย ในทางตรงกันข้าม การกระทำ(practice)หมายถึงสิ่งที่มนุษย์ทำโดยตรง

เมื่อเน้นความสนใจมาที่การกระทำ(practice)มากกว่าผู้กระทำ(agency)แล้ว จะเห็นได้ว่าการกระทำ(practice) นำมาซึ่งภาพของพลวัติและมีความเป็นมนุษย์ในกิจกรรมต่างๆ และทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคล(individuals) สถาบัน(institutions)และโครงสร้าง(structure)ได้มากกว่าด้วย(ดู Dobres and Robb: 2000, 4-5)

ความจริงที่นักโบราณคดีมักให้ความสนใจต่อแนวคิดเรื่องผู้กระทำเพียงอย่างเดียวคือ การเสนอว่าความเข้าใจต่อทฤษฎีผู้กระทำ(practice theory)อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะการย้อนกลับของความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างการกระทำ(practice) ผู้กระทำ (agency) และโครงสร้าง(structure)นั้น เฮกมอนเห็นว่าบางครั้งก็มีลักษณะเหมือนแสร้งทำเป็นมองไม่เห็น(overlooked)

การพิจารณาข้อถกเถียงเรื่องผู้กระทำ(agency)ในอเมริกาเหนือ บางทีก็มักเป็นเรื่องตำแหน่งผู้นำ(leadership)และความไม่เท่าเทียมกัน(inequality) อาทิงานของ Phaketat (1994) ยกเหตุผลมาสนับสนุนข้อเสนอเรื่องความสำคัญของลัทธิแนวคิดที่ถูกครอบงำจากชนชั้นนำ(elite – controlled ideology)และลัทธิแสดงนัยยะทางสัญลักษณ์(symbolism)เมื่อเกิดสังคมชนเผ่าทั้งหลาย(chiefdoms)แถบมิสซิสซิปปี c]tได้เสนอว่า การกระทำ(practices)ของสามัญชนกับผู้ก้าวขึ้นเป็นชนชั้นนำ(emergent elite) ส่งผลต่อการสร้างเนินดินแห่งมิสซิสซิปปีและระบบชนชั้นในสังคม(social hierarchies)อย่างไร(Phaketat: 2000) แม้ว่าจุดสิ้นสุดของสังคมชนเผ่าที่มีอำนาจมากจะมิได้เกิดจากผู้กระทำทั้งหมด(all agents) แต่Phaketat ยืนยันว่า การกระทำทั้งหลายอยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างที่ก่อตัวขึ้น (established structure) เมื่อขนาดเปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างดังกล่าวก็เปลี่ยนรูปด้วย Phaketat จึงมุ่งเสนอเค้าโครงของทฤษฎีการกระทำ-practice theory (ซึ่งมิได้เป็นเพียงผู้กระทำ)และให้เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า เป็นสิ่งที่มากกว่าการควบคุมของชนชั้นผู้นำ[107]

นอกจากนี้เฮกมอนยังกล่าวถึงทฤษฎีเกี่ยวกับความหมายและสัญลักษณ์ ทิศทางของทฤษฎีกระแสหลัก การเปลี่ยนแปลงของการใช้คำสำคัญ(key words)และญาณวิทยาในทางโบราณคดีอย่างน่าสนใจซึ่งยังไม่สามารถนำมากล่าวรวมในที่นี้อย่างเหมาะสมได้

๓.๔ คุณค่าที่มีต่อการศึกษาวิชาโบราณคดี
ผู้วิพากษ์เห็นว่า หนังสือเล่มนี้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการปูพื้นฐานในการเรียนรู้แนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีสำหรับนักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะด้านการเรียนการสอนเพื่ออธิบายให้ทราบถึงพัฒนาการและความเคลื่อนไหวของวิชาโบราณคดีในประเทศตะวันตก รวมถึงกรอบคิดและทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวข้อง

ในทัศนะของผู้วิพากษ์ สำหรับนักโบราณคดีรุ่นเก่าๆบางท่าน แม้จะมีประสบการณ์คร่ำหวอดกับทำงานในพื้นที่จริงเป็นเวลานาน และไม่เคยติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆทางโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีระดับต่ำ ทฤษฎีระดับกลาง หรือทฤษฎีระดับสูงว่ามีลักษณะที่แท้จริงเป็นอย่างไรนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องพะวักพะวนหรือละล้าละลังต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทางแนวคิดหรือทฤษฎีทางสังคมและวัฒนธรรมอันหลากหลาย เพราะการทำงาน “จริงๆ” ทางโบราณคดีในประเทศไทยปัจจุบัน มิได้วางอยู่บนขอบข่ายและองค์ประกอบของแนวคิดและทฤษฎีทางสังคมและวัฒนธรรมแต่เพียงแง่มุมเดียว ยังมีปัจจัยด้านการบริหาร การจัดการ งบประมาณ การบูรณะ การอนุรักษ์ การจัดการมรดกวัฒนธรรม การประชาสัมพันธ์ การสื่อสาร การท่องเที่ยว ผลประโยชน์ ค่าเช่าที่ดินกรมศิลปากร ค่าเข้าชมโบราณสถาน การตรวจสัมปทานเหมือง โรงโม่หิน ฯลฯ เป็นองค์ประกอบที่จะต้องเผชิญโดยตลอดของการปฏิบัติงานประจำวัน ท่ามกลางบุคลากรที่มีอยู่น้อย การนำทฤษฎีทางวิชาการโบราณคดีมาใช้ในการปฏิบัติงานวิจัย จึงเปรียบเสมือนเป็นเรื่องในอุดมคติที่เกิดขึ้นกับชุมชนนักโบราณคดีกลุ่มเล็กๆไม่กี่คนในกรมศิลปากรและแม้แต่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร เนื่องจากการทำงานวิจัยยุคสมัยและบางเรื่องยังต้องคำนึงว่าจะสามารถนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมได้หรือไม่ในสภาวะที่มีเอกสารและหลักฐานต่างๆชัดเจนอยู่แล้ว

มิหนำซ้ำ ผู้วิพากษ์ยังเห็นว่า แนวคิดของบางทฤษฎี อาทิ ทฤษฎีใหม่ล่าสุดอย่างทฤษฎี “ผู้กระทำ”ยังอาจย้อนกลับมาหมกมุ่นอยู่กับบทบาทของ “ผู้นำหรือผู้กล้า” โดยที่นักวิชาการสมัยใหม่เองก็อาจจะลืมไปแล้วก็ได้ว่า รากเหง้าเดิมของการศึกษาปัจเจกบุคคลลักษณะนี้ อาจสัมพันธ์กับทฤษฎีวีรบุรุษ ซึ่งเคยรู้จักกันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว

๔.บทสรุปและข้อคิดเห็น
ผู้เขียนมีความตั้งใจและมีอุตสาหะในการทำงานอย่างน่ายกย่อง และสมควรเป็นแบบอย่างแก่ชุมชนวิชาการ การนำเสนอเรื่องราวทางแนวคิดและทฤษฎีชี้ให้เห็นประวัติและความเป็นมาอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งยังมีภาพถ่าย แผนภูมิ แผนผังและข้อมูลที่เกี่ยวข้องมากมาย ทำให้สามารถเข้าใจเนื้อหาได้ไม่ยากนัก

อย่างไรก็ดี แผนภูมิบางส่วนมิได้แปลเป็นภาษาไทยและมีการอ้างอิงหนังสือหรือตำราภาษาอังกฤษมากเกินความจำเป็น โดยขณะที่อ้างงานเขียนของนักวิชาการ(ไทย)สาขามานุษยวิทยาบางคนเกินความพอดี แต่กลับอ้างอิงงานเขียนรวมถึงผลงานวิจัยของนักโบราณคดีไทยน้อยมาก ทั้งๆที่ควรหยิบมาวิพากษ์ และตรวจสอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวอย่างที่ผู้เขียนกล่าวถึง เพราะการค้นพบสำคัญทางโบราณคดีจำนวนไม่น้อยที่นักวิชาการหลายคนมีประสบการณ์ทางตรง หลายคนมีประสบการณ์ทางอ้อม และตัวอย่างเหล่านั้นน่าจะช่วยทำให้ผู้อ่านเข้าใจประเด็นทางด้านแนวคิดและทฤษฎีเชิงการประยุกต์ใช้ได้ชัดเจนกว่าตัวอย่างในประเทศตะวันตกทั้งหลาย ประเด็นนี้อาจชี้ให้เห็นจุดอ่อนในการเข้าถึงเหตุการณ์และเอกสารวิชาการโบราณคดีในแหล่งโบราณคดีต่างๆของประเทศไทยในหนังสือเล่มนี้

ผู้วิพากษ์มีโอกาสพูดคุยแบบสั้นๆกับผู้เขียนเกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งท่านยอมรับว่า “หนังสือ โบราณคดี: แนวคิดและทฤษฎี” ยังขาดเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่ๆที่เพิ่งจะมีการตีพิมพ์เผยแพร่ เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหาในบทความของเฮกมอนก็พบว่า ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงแนวคิดบางเรื่องเท่าที่ควร อาทิ ญาณวิทยา(Epistimology)ทางโบราณคดี ในฐานะเครื่องมือแสวงหาความรู้และความจริง รวมถึงทฤษฎีกระบวนการพิเศษ(processual plus)เป็นต้น

อิสระทางวิชาการเป็นคำพูดสวยหรู จำเป็นต้องแสดงออกมาให้เห็นประจักษ์ แต่ผู้วิพากษ์เห็นว่าคำๆนี้ น่าจะหมายถึงการใช้ความคิดแบบนอกกรอบหรือนอกจารีตดั้งเดิมเชิงสร้างสรรค์ จากจุดนี้ ผู้วิพากษ์ขอ “โหวต” ไม่เห็นด้วยกับการใช้ “คำแบบอิสระ” ของนักวิชาการท่านใด ซึ่งถ่ายทอดความคิดและคำอธิบายแบบใช้คำฟุ่มเฟือย หวือหวา รุนแรง นอกอัญประกาศหรือโน้มเอียงไปในทางใช้คำซ้อนความ และละเลยคำบางคำซึ่งมีใช้อยู่แล้วโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม อาทิ ใช้คำว่า“ลุ่มลึก” แทนคำว่า “ลึกซึ้ง” หรือ คำ “ปรับปรน” “ปรุงเปลี่ยน” ฯลฯ สำหรับผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ผู้วิพากษ์แลเห็นการใช้ถ้อยคำสำนวนบางคำแบบกระชับ แต่คำสำคัญบางคำก็อาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง และบางครั้งก็ละคำหรือรวบคำแบบละไว้ในฐานที่เข้าใจมากเกินไป

การทำงานวิจัยในงานโบราณคดีสาขาก่อนประวัติศาสตร์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ทฤษฎี เป็นกรอบคิดในการตอบคำถาม โดยทัศนะส่วนตัวแล้วผู้วิพากษ์เห็นว่า การทำวิจัยบางเรื่องซึ่งมีหลักฐานเอกสารจำนวนมาก อาทิ การวิจัยในสาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องนำแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีมาเป็นกรอบในการทำวิจัยก็ได้

ท้ายที่สุดนี้ สิ่งที่ผู้วิพากษ์ได้ใช้ความพยายามอย่างหนักในการวิพากษ์หนังสือเล่มนี้ เพื่อให้เกิดสาระในส่วนที่คิดว่ายังบกพร่อง แต่ก็มิอาจเทียบได้กับความอุตสาหะของผู้เขียนในการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ ผู้วิพากษ์เชื่อว่า หนังสือเล่มนี้อาจเป็นตำนานอีกชิ้นหนึ่งที่นักเรียนโบราณคดีทุกคนต้องศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อปูพื้นฐานและเป็นแนวทางในการเรียนรู้ทางด้านแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีต่อไป

๕.บรรณานุกรม
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ. นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ: คลัง
วิทยา, ๒๕๑๗.
ธิดา สาระยา. (ศรี) ทวารวดี. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๘.
รัศมี ชูทรงเดช. โบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์, ๒๕๔๗
ศรีศักร วัลลิโภดม. แอ่งอารยธรรมอีสาน. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, ๒๕๓๓.
……………. สยามประเทศ: ภูมิหลังของประเทศไทยตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงสมัยกรุง
ศรีอยุธยาราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๙.
สว่าง เลิศฤทธิ์. โบราณคดี แนวคิดและทฤษฎี. กรุงเทพฯ: โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์,
๒๕๔๗.
สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา. น้ำ: บ่อเกิดวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๙.
สุริยา สมุทคุปติ์. วิธีคิดของคนไทย: พิธีกรรม : ‘ข่วงฝีฟ้อน’ ของ ‘ลาวข้าวเจ้า’ จังหวัด
นครราชสีมา. นครราชสีมา: สมบูณ์การพิมพ์, ๒๕๔๐.
อมรา พงศาพิชญ์. วัฒนธรรม ศาสนาและชาติพันธุ์: วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษย
วิทยา. ( พิมพ์ครั้งที่๕). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑
.……….ความหลากหลายทางวัฒนธรรม: กระบวนทัศน์และบทบาทในประชาสังคม.
(พิมพ์ครั้งที่๒). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓.
Fagan, Brian M. Archaeology: A brief Introduction. (Eighth Edition). New Jersey. Upper
Saddle River, 2003.
Hegmon, Michelle. “Setting Theoretical Egos Aside: Issues and Theory in North American Archaeology.” American Antiquity. Special Section Mapping the Terrain of American Archaeology. 68(2), 2003.
Higham, Charles and Rachanie Thosarat, Prehistoric Thailand: From Settlement to Sukhothai. Bangkok: River Book, 1994 .
McIntosh, Jane. The Practical Archaeologist.(Second edition). Hong Kong: Facts On File, Inc. 1999.
Orser, Jr, Charles E. . Historical Archaeology, Upper River New Jersey: Pearson Education, 2004.

WWW.edictionary.com/ theory.

[1] Brian M. Fagan. Archaeology: A brief Introduction. (Eighth Edition). (New Jersey. Upper Saddle River, 2003), p.4.
[2] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิทานโบราณคดี. (กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, ๒๕๑๗). หน้า -ข-
[3] ผู้วิพากษ์ถอดรหัสนามแฝงนี่ได้ว่า “จะหมื่นบ๊อง” ซึ่งคงจะแฝงนัยะเจ็บๆ สนุกสนาน ครึกครื้นตามแบบอย่างของพวกโบราณคดีกระมัง
[4]Jane McIntosh. The Practical Archaeologist.(Second edition). ( Hong Kong: Facts On File, Inc.} 1999.), p.2.
[5] Jane McIntosh. Ibid.
[6] อมรา พงศาพิชญ์. วัฒนธรรม ศาสนาและชาติพันธุ์: วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา. ( พิมพ์ครั้งที่๕). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑. และ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม: กระบวนทัศน์และบทบาทในประชาสังคม. (พิมพ์ครั้งที่๒). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓.
[7] อมรา พงศาพิชญ์. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม: กระบวนทัศน์และบทบาทในประชาสังคม. (พิมพ์ครั้งที่๒). (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓) หน้า๒๒–๒๖. ดูรายละเอียดใน ธิดา สาระยา. (ศรี) ทวารวดี. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๘. ศรีศักร วัลลิโภดม. แอ่งอารยธรรมอีสาน. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, ๒๕๓๓. ศรีศักร วัลลิโภดม. สยามประเทศ: ภูมิหลังของประเทศไทยตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๙. สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา. น้ำ: บ่อเกิดวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๙..
[8] ฉัตรทิพย์ นาถสุภาและพรพิไล เลิศวิชา. วัฒนธรรมหมู่บ้านไทย. (กรุงเทพฯ: เดือนตุลาการพิมพ์, ๒๕๔๑), หน้า ๓และหน้า๓๐ เป็นต้น
[9] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. “จากประวัติศาสตร์หมู่บ้านสู่ทฤษฎีสองระบบ” ปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ครั้งที่๑๓ จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ เลา ๑๓.๐๐–๑๕.๐๐ น. สถาบันราชภัฏสุรินทร์จัดพิมพ์เนื่องในวาระครบรอบ ๖๐ ปี ศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสภา พ.ศ.๒๕๔๕. หน้า ๑๕–๓๗.
[10] สุริยา สมุทคุปติ์. วิธีคิดของคนไทย: พิธีกรรม : ‘ข่วงฝีฟ้อน’ ของ ‘ลาวข้าวเจ้า’ จังหวัดนครราชสีมา (นครราชสีมา: สมบูณ์การพิมพ์, ๒๕๔๐), หน้า๕๗–๑๑๕.
[11] Charles Higham and Rachanie Thosarat, Prehistoric Thailand: From Settlement to Sukhothai. (Bangkok: River Book, 1994 ), 144-173.
[12] ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยมเน้นว่าสังคมมนุษย์มีโครงสร้างหน้าที่หลายส่วน แต่ละส่วนก็ทำงานสอดประสานกับส่วนอื่นๆ เพื่อรักษาสมดุลหรือเสถียรภาพของสังคมไว้ให้ราบรื่น, สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๘๗.
[13] อมรา พงศาพิชญ์. วัฒนธรรม ศาสนาและชาติพันธุ์: วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา. ( พิมพ์ครั้งที่๕).(กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑) หน้า๑๑๘.และอมรา พงศาพิชญ์. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม: กระบวนทัศน์และบทบาทในประชาสังคม. (พิมพ์ครั้งที่๒). (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๑๑–๑๒.
[14] Charles Higham and Rachanie Thosarat, Ibid., 173-175.
[15] ผู้สอนวิชา Theories in Archaeology ของภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในภาคเรียนที่๒ ปีการศึกษา ๒๕๔๘.
[16] รัศมี ชูทรงเดช. โบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์, ๒๕๔๗), หน้า๒๑.
[17] รัศมี ชูทรงเดช. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๒.
[18] หน้าเดียวกัน.
[19] รัศมี ชูทรงเดช. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๒–๒๓.
[20] รัศมี ชูทรงเดช. เรื่องเดียวกัน. หน้า๒๖–๒๘.
[21] สว่าง เลิศฤทธิ์. แบบเสนอโครงการวิจัยประกอบการขอรับทุนอุดหนุนการวิจัยเรื่อง “พัฒนาการของความซับซ้อนทางสังคมและการเมืองจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในเขตที่ราบลุ่มทางตะวันตกของภาคกลาง.
[22] คือทฤษฎีที่มุ่งผสมผสานแนวคิดทั่วไปของกลุ่มโบราณคดีกระบวนการ(processaul archaeology) เข้ากับทฤษฎีของกลุ่มโบราณคดีหลังกระบวนการ(post-processual)
[23] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า (๙)
[24] ๒๐ ปีเศษมาแล้ว อาจเป็นบ้านคูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรีหรือบ้านโนนป่าหวาย อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี
[25] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า๒๔๑
[26] สว่าง เลิศฤทธิ์. โบราณคดี แนวคิดและทฤษฎี. (กรุงเทพฯ: โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์, ๒๕๔๗),. หน้า (๘)
[27] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน.
[28] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน.
[29] สว่าง เลิศฤทธิ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒
[30] Jane McIntosh. Op.cit., p.2.
[31] Charles E. Orser, Jr. Historical Archaeology. (Upper River New Jersey: Pearson Education, 2004), p.1.
[32] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒.
[33] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒.
[34] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๓๐ และหน้า ๑๐๔–๑๑๐.
[35] Francis Bacon. “Knowledge is power” www.google.com/ brainyquote.
[36] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้าปกหลังด้านนอก.
[37] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๔.
[38] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๖.
[39] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๘.
[40] เรื่องเดียวกัน. หน้า ๘.
[41] เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๒.
[42] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า๒๑.
[43] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า๒๑, ๒๖, ๒๗, ๓๒ และ๓๓
[44] WWW.edictionary.com/ theory.
[45] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๑–๒๒
[46] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน.
[47] Michelle Hegmon. Op.cit. p.213.
[48] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๕
[49] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๓๐.
[50] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๓๒.
[51] สว่าง เลิศฤทธิ์. หน้า ๒๖.
[52] สว่าง เลิศฤทธิ์. หน้า ๔๖.
[53] สว่าง เลิศฤทธิ์. หน้า ๔๘.
[54] สว่าง เลิศฤทธิ์. หน้า ๕๒.
[55] สว่าง เลิศฤทธิ์. หน้า ๖๒.
[56] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๗๙.
[57] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๑๔.
[58] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๒–๒๖.
[59] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๖.
[60] เกี่ยวข้องกับวิชาญาณวิทยา(epistimology)อันเป็นปรัชญาสาขาหนึ่ง ว่าด้วยการศึกษาเรื่องความรู้ซึ่งพยายามจะตอบคำถามพื้นฐานว่า อะไรคือความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างความรู้ที่แท้จริง(true knowledge) กับความรู้ที่ไม่จริง(false knowledge)
[61] ผู้วิพากษ์เลือกที่จะใช้คำว่า “ทฤษฎีเพศสภาวะ”
[62] คือทฤษฎีที่มุ่งผสมผสานแนวคิดทั่วไปของกลุ่มโบราณคดีกระบวนการ(processaul archaeology) เข้ากับทฤษฎีของกลุ่มโบราณคดีหลังกระบวนการ(post-processual)
[63] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า๔.
[64] Michelle Hegmon” Setting Theoretical Egos Aside: Issues and Theory in North America Archaeology” Special Section Mapping the Terrain of Americanist Archaeology. American Antiquity, 68(2), 2003, pp.213-243.
[65] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๕๕
[66] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน.
[67] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๕๖.
[68] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. ควรกล่าวด้วยว่าผู้เขียนสะกดชื่อของบุคคลสำคัญผู้นี้คลาดเคลื่อนไปเล็กน้อย ที่ถูกต้องควรเป็น “โธมัส เจฟเฟอร์สัน(Thomas Jefferson)” ดูสว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า๔๙.
[69] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า๕๖–๕๗.
[70] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๘๑.
[71] Brian M. Fagan. Op. cit. p.19.
[72] Brian M. Fagan. Ibid.
[73] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า๘๓–๘๔
[74] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๘๗.
[75] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๘๙–๙๐
[76] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๙๐–๙๒.
[77] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๙๙
[78] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๐๐–๑๐๑
[79] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๔๙.
[80] Michelle Hegmon. Op.cit., p.216.
[81] ผู้วิพากษ์ไม่สนับสนุนการใช้คำย่อในวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดี การใช้คำย่อแบบนี้นิยมมากในกลุ่มสาขาวิชาการบริหารและการจัดการธุรกิจ ซึ่งชอบอธิบายเรื่องง่ายๆให้เป็นเรื่องยาก
[82] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า๑๕๐.
[83] Michelle Hegmon. Op. cit., pp.214-215.
[84] Michelle Hegmon. Op.cit., pp.215-215.
[85] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า๑๒๙.
[86] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๓๐–๑๓๑.
[87] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๓๒.
[88] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๓๔–๑๓๕.
[89] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า๑๓๙–๑๔๐.
[90] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๔๔.
[91] แนวคิดนี้ เชื่อในความรู้สูงสุดที่จากประสาทสัมผัสที่สามารถชั่ง ตวง วัดได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แนวคิดนี้พัฒนามาจากกลุ่มประจักษ์นิยมหรือประสบการณ์นิยม(empiricist) กลุ่มแนวคิดแบบpositivist นี้พัฒนามาจากแนวคิดของพวก empiricist หรือพวก ประสบการณ์นิยม ซึ่งเชื่อในประสาทสัมผัสคือ ตา หู จมูก ลิ้น และสัมผัสเท่านั้น ยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นการตรวจสอบได้ด้วยวิธีการชั่ง ตวงและวัด ทางวิทยาศาสตร์
[92] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๖๕.
[93] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๖๔–๑๖๕.
[94] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๖๖–๑๖๙.
[95] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. ๑๖๓.
[96] Michelle Hegmon. Op. cit., p.217.
[97] เมื่อกล่าวถึง “gender” หนังสือของผู้เขียน ผู้วิพากษ์จะคงคำว่า “เพศสถานะ”ไว้และชื่นชมคำแปลนี้ แต่เมื่อกล่าวถึง “gender” ในบทความของเฮกมอน ผู้วิพากษ์จะใช้คำว่า “เพศสภาวะ” เนื่องด้วยเบื้องต้นนั้น ขาดความรอบคอบในการตรวจสอบคำแปลจากภาษาอังกฤษ(the state of being masculine, feminine, neuter or queer.) จึงต้องขอใช้คำนี้แบบตามน้ำไปพลางๆ
[98] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๘๙.
[99] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๙๐–๑๙๑.
[100] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า๑๙๐–๑๙๖
[101] Michelle Hegmon” op.cit., pp..218-219.
[102] ทฤษฎีนี้สนใจเกี่ยวกับการตีความและการทำความเข้าใจtext บนพื้นฐานของการเป็นtext และบางครั้งการตีความผู้กระทำ(agent) ก็ถูกอ้างว่าเกี่ยวข้องกับทฤษฎีนี้ด้วย
[103] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า๒๐๑–๒๐๒.
[104] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๐๓–๒๐๔.
[105] สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๐๕–๒๑๒.
[106] Michelle Hegmon. Op. cit., p.219.
[107] Michelle Hegmon. Ibid., pp. 219-222.