จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

รายงานการบูรณะพระปรางค์สามยอด พ.ศ.2537

รายงานการบูรณะโบราณสถานพระปรางค์สามยอด ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
ปีงบประมาณ 2537 (กรกฎาคม 2538)

เสนอ กรมศิลปากร
(ศึกษาเปรียบเทียบ ค้นคว้าและเรียบเรียงโดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร)





















คำนำ
วิกฤตการณ์อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและความเจริญทางวัตถุอย่าไม่หยุดยั้ง เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการโยกย้ายถ่ายเทมวลสารประชากรและอื่นๆหลายกระแสโดยผ่านกระบวนการทางด้านการคมนาคม แม้ความหนาแน่นของการคมนาคมจะเป็นสิ่งบ่งชี้ระดับแห่งพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างและความมั่นคงของโบราณสถานอย่างรุนแรงแล้วองค์กรซึ่งรับผิดชอบต่อการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ จำเป็นต้องรีบดำเนินการตรวจสอบป้องกันและแก้ไขโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้


ในอดีตนั้น โบราณสถานสำคัญของชาติจำนวนมากต่างก็ถูกคุกคามจากการขยายตัวของประชากรและสังคมเมือง อาทิ การสร้างอาคารคร่อมทับหรือแวดล้อมโบราณสถาน การตัดถนนและการสร้างทางรถไฟผ่านโบราณสถาน การดัดแปลงสภาพคูเมืองเชื่อมเข้ากับคลองชลประทาน การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ การบุกรุกและรื้อโบราณสถานเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ด้วยความรู้เท่าไม่ถุงการณ์ ฯลฯ สาเหตุข้างต้นล้วนแต่ทำให้เกิดความสูญเสียโอกาสในการศึกษาหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปกรรมของอารยธรรมไทยทั้งสิ้น


กรมศิลปากรตระหนักถึงสภาวะอันน่าวิตกดังกล่าวจึงได้ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อป้องกันและอนุรักษ์มิให้มรดกศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของชาติถูกทำลายด้วยเงื่อนไขต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอนุรักษ์พระปรางค์สามยอด อันเป็นโบราณสถานใจกลางเมืองลพบุรี ซึ่งบ่งบอกถึงพัฒนาการของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดี โบราณสถานแห่งนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขยายตัวของผังเมืองและความหนาแน่นของการจราจร ทั้งยานยนต์และรถไฟ อันมิได้ตระหนักถึงความอยู่รอดใดๆ ทำให้โครงสร้างบางส่วนของพระปรางค์ปริแยกอย่างน่าเกรงว่าจะทรุดพังลงมา หากมิได้เร่งรีบดำเนินการอนุรักษ์และบูรณะอย่างเหมาะสม


ขณะที่ลวดลายปูนปั้นของพระปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุได้รับความเสียหายจากมูลนกพิราบ ส่วนพระปรางค์สามยอดก็ได้รับผลกระทบจากการรบกวนของลิงทั้งหลายที่ปีนป่ายหรืองัดแงะชิ้นส่วนต่างๆบนองค์ปรางค์ อาทิ ลวดลายปูนปั้น กลีบขนุนปรางค์ และศิลาแลงที่เสื่อมสภาพ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากการลักลอบนำชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรมออกไปจากองค์ปรางค์อย่างผิดกฎหมายด้วย ทำให้กรมศิลปากรต้องดำเนินการให้มีการอนุรักษ์โบราณสถานพระปรางค์สามยอดด้วยวิธีการต่างๆอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2469 เป็นต้นมา


ในปี พ.ศ.2536 ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรศักดิ์ก่อสร้าง ได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากรให้ดำเนินการบูรณะพระปรางค์หมายเลข 3 (ปรางค์ทิศเหนือ) แล้วเสร็จสมบูรณ์ด้วยดี ต่อมาในงบประมาณ 2537 ห้างฯ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการบูรณะปรางค์หมายเลข 1 (ปรางค์ทิศใต้) และปรางค์หมายเลข 2 (ปรางค์ประธาน) ระหว่างเดือนตุลาคม 2537-กรกฎาคม 2538 พร้อมกันไปกับการขุดแต่งและขุดค้นเพื่อตรวจสอบชั้นดินทางโบราณคดีและศึกษาโครงสร้างรากฐานของโบราณสถานแห่งนี้


เนื่องด้วยการบูรณะโบราณสถานพระปรางค์สามยอดเป็นการดำเนินงานที่อยู่ในความสนใจอย่างยิ่งของมวลชน ห้างฯ จึงมีนโยบายให้บุคลากรทุกฝ่ายปฏิบัติงานอย่างรอบคอบรัดกุมเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรและทางฝ่ายราชการ โดยคำนึงถึงถึงปรัชญาในการสงวนรักษามรดกทางสถาปัตยกรรมของสภาระหว่างประเทศว่าด้วยอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (INTERNATIONAL COUNCIL ON MONUMENTS AND SITES) เจ็ดประการ ได้แก่ การป้องกันการเสื่อมสภาพ (PROTECTION) การสงวนรักษาภาพ (PRESERVATION) การอนุรักษ์ (CONSERVATION) การเสริมความมั่นคงแข็งแรง (CONSOLIDATION) การบูรณปฏิสังขรณ์ (RESTORATION) การฟื้นฟูสภาพตามเค้าโครงเดิมทางสถาปัตยกรรม (RECONSTRUCTION) และการรื้อแล้วประกอบคืนตามสภาพเดิม (ANASTYLOSIS) ภายใต้การควบคุมและแนะนำอย่างใกล้ชิดของผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร


ห้างฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รายงานฉบับนี้จะมีประโยชน์ต่อการศึกษาเปรียบเทียบและเป็นแบบอย่างในการตัดสินใจดำเนินการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถาน เพื่อป้องกันและแก้ไขการคุกคามหรือการทำลายโบราณสถานสำคัญแห่งอื่นๆของชาติในโอกาสต่อไป

ผู้ร่วมงาน

1. นายสุรชัย ธรมธัช ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรศักดิ์ก่อสร้าง
2. นายเจตนพันธุ์ ธนะสุนทร นักโบราณคดี
3. นายพิทยะ ศรัวัฒนสาร นักโบราณคดี
4. นายกฤษฏา ตะก้อง ช่างสำรวจ
5. นายสัมพันธ์ สุขพัทธี ช่างศิลปกรรม
6. นายสุเมธ ทองสุก ผู้ช่วยช่างศิลปกรรม
7. นายธีระกุล สิงหะแสนยาพงษ์ ผู้ช่วยช่างสำรวจ
8. นายวินิต พูนเพิ่ม ช่างฝีมือแรงงาน
9. นายสมชาย คำแตง ช่างฝีมือแรงงาน
10. นายสุรชัย บุญโย ช่างฝีมือแรงงาน
11. นายลบ มาประโคน ช่างฝีมือแรงงาน
12. นายพินิจ คงทวี ช่างฝีมือแรงงาน
13. นายเจ้ย เกียรรัมย์ ช่างฝีมือแรงงาน
14. นายฉาย ขุนกลาง ช่างฝีมือแรงงาน
15. นายเตียน สมหมาย ช่างฝีมือแรงงาน
16. นายวันชัย ฤทธิ์เจริญ ช่างฝีมือแรงงาน
17. นายคูณ ปุนประโคน ช่างฝีมือแรงงาน
18. นายหลี ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา ช่างฝีมือแรงงาน
19. นายบุรินทร์ ภาสดา ช่างฝีมือแรงงาน
20. นายชาติ มหาดไทย หัวหน้าคนงาน
21. นางจินดา กำเนิดเพ็ชร คนงาน

บทนำ
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโบราณสถานพระปรางค์สามยอด
ที่ตั้ง
โบราณสถานพระปรางค์สามยอด เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่ประมาณ พิกัด PS 741368 หรือที่ประมาณเส้นรุ้งที่ 14 องศา 47 ลิปดา 08 ฟิลิปดาเหนือ เส้นแสงที่ 100 องศา 36 ลิปดา 30 ฟิลิปดาตะวันออก ตามแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ จังหวัดลพบุรี มาตราส่วน 1 : 50000 พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ระวาง 5138 IV

พระปรางค์สามยอด เป็นโบราณสถานสำคัญ ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี มีขอบเขตพื้นที่ตามแนวเขตรั้วโบราณสถานปัจจุบันประมาณ 2 ไร่เศษ

ทิศเหนือ เป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์มาลัยรามา และห้างทวีกิจ ระหว่างโรงภาพยนตร์มาลัยรามากับโบราณสถานพระปรางค์สามยอดมีทางเดินสาธารณะทอดยาวไปตามแนวทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ทางเดินสาธารณะสายนี้ ชาวเมืองลพบุรีเคยเรียกว่า “ประตูผี” ใช้เป็นทางแห่ศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดปาธรรมโสภณ ปัจจุบันคือถนนมโนราห์ กับถนนคูเมืองหรือถนนบนเมืองเส้นใดเส้นหนึ่ง และหากนำแผนที่ของวิศวกรชาวฝรั่งเศสมาเทียบประกอบการวิเคราะห์ก็จะพบว่า ทางเดินสายนี้เดิมถูกตัดเป็นแนวเส้นตรง มีจุดเริ่มต้นที่ประตูเมืองริมฝั่งแม่น้ำลพบุรีทางเหนือของศาลลูกศร ผ่านบ้านหลวงรับราชฑูตผ่านจวนเจ้าพระยาพระคลัง (อันเป็นที่ดินส่วนใหญ่ของคุณนายรุจี) ผ่านขึ้นไปยังพระปรางค์สามยอด จากนั้นก็จึงเป็นเส้นทางที่สามารถจะเดินทางไปด้านใดก็ได้ อาทิ หากไปทางตะวันออก ก็จะเป็นเมืองชั้นในด้านหน้าของพระราชอุทยานในสมเด็จพระนารายณ์ หากไปทางทิศเหนือก็จะเป็นประตูเมืองด้านตรงข้ามกับวัดตองปุ เป็นต้น
ทิศตะวันออก มีทางรถไฟตัดผ่านตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถัดขึ้นไปเป็นถนนราชมนู อันเป็นถนนที่เชื่อมกับวงเวียนศาลพระกาฬทางด้านใต้ และทัศออกไปทางทิศตะวันออก เป็นสนามกีฬาของโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย
ทิศใต้ มีถนนวิชาเยนทร์ตัดผ่าน ตามแผนผังของฝรั่งเศส ถนนสายนี้เริ่มต้นที่ประตูเมืองฝั่งริมแม่น้ำลพบุรี ระหว่างวัดปืนกับจวนราชทูตเปอร์เซีย ผ่านบ้านหลวงรับราชทูต จวนเจ้าพระยาพระคลังกับปรางค์แขก ผ่านพระปรางค์สามยอดไปสิ้นสุดที่ศาลพระกาฬ ถนนวิชาเยนทร์นี้เป็นเส้นทางที่ขนานกับถนนมโนราห์กับถนนบนเมืองและถนนคูเมือง ปัจจุบันมีอาคารพาณิชย์ตั้งอยู่ตลอดแนว
ทิศตะวันตก มีถนนพระปรางค์สามยอดตัดผ่านฝั่งตรงข่ามถนนมีอาคารพาณิชย์ตั้งอยู่ตลอดแนว ถนนพระปรางค์สามยอดนี้ เป็นถนนที่ถูกตัดขึ้นใหม่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผ่านเนินพระปรางค์สามยอดทางด้านใต้ (จากถนนวิชาเยนทร์) ไปตัดกับถนนสุระสงครามที่บริเวณสี่แยกท่าโพธิ์ จัดเป็นทางคมนาคมสำคัญระหว่างจังหวัดลพบุรีกับจังหวัดสิงห์บุรี

การศึกษาความสัมพันธ์ของที่ตั้งโบราณสถานพระปรางค์สามยอดกับโบราณสถานอื่นๆ
ก่อนจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างโบราณสถานพระปรางสามยอดกับโบราณสถาน
อื่นๆในเมืองลพบุรี (แม้จะกล่าวไปบ้างแล้วก็ตาม) ขอประเมินคุณค่าของเอกสารสำคัญ (แผนที่ของวิศวกร
ฝรั่งเศสสมัยพระนารายณ์) ที่จะใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงเนื้อหาในที่นี้เป็นเบื้องต้นสักเล็กน้อย


แผนผังเมืองละโว้หรือลพบุรีซึ่งจะใช้เป็นหลักฐานในการบรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างโบราณสถานพระปรางค์สามยอดและโบราณสถานสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนี้ เชื่อกันว่าถูกสำรวจและรังวัดขึ้นโดย นาย เดอ ลา มาร์ (M.DE LA MARE) วิศวกรฝรั่งเศสที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ประมาณปี พ.ศ.2223-2230) นาย เดอ ลา มาร์ ผู้นี้เคยบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับกบฏมักกะสันในปี พ.ศ.2230 อย่างละเอียด จากการสังเกตการณ์และสอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์หลายคน ต่อมาแผนผังฉบับนี้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในบันทึกจดหมายเหตุการเดินทางของชาวฝรั่งเศสบางเล่ม


ลักษณะแผนผังเมืองลพบุรีของนาย เดอ ลา มาร์ นั้น ได้แสดงพื้นที่ขอบเขตกำแพงเมืองเพียง 2 ชั้น ภายในกำแพงเมืองได้ระบุที่ตั้งของอาคาร สถานที่ เส้นทางอย่างเป็นสัดส่วน มีการแสดงลักษณะลำน้ำและแนวป่าด้วย น่าเสียดายที่แผนผังมิได้ลงตำแหน่งของพระที่นั่งเย็น ซึ่งอยู่ห่างจากประตูเพนียดออกไปประมาณ 3 กิโลเมตรเศษ แต่มีหลักฐานว่าสภาพแวดล้อมของพระที่นั่งเย็นขณะนั้นเป็นหนองน้ำและ ป่าไม้ มีพื้นที่กว้างประมาณสิบห้าหรือยี่สิบลิเออ (1 ลิเออ เท่ากับ 100 เส้น) เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ ช้าง แรด เสือ กวาง และสมัน


แผนผังของนาย เดอ ลา มาร์ ใช้มาตราส่วนเป็นระบบวาของฝรั่งเศส หรือเรียกว่าตัว (TOISE) 1 ตัว เท่ากับ 180 เซนติเมตร หรือ 6 ฟุต (หรือ 2 เมตรโดยประมาณ) เมื่อนำแผนผังเมืองลพบุรีจากการสำรวจของกองโบราณคดี กรมศิลปากร ปรากฏว่าสามารถเทียบเคียงกันได้ด้วยดี (เนื่องจากมีการอ้างอิงแผนผังของเดอ ลา มาร์) ทำให้แลเห็นวิวัฒนาการและขอบเขตพื้นที่ของโบราณสถานในเมืองลพบุรีที่ถูกดัดแปลงในชั้นหลังได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย ดังตัวอย่างเช่น แผนผังระบุว่า ประตูพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์มีเพียงด้านเหนือกับด้านใต้เพียงด้านละ 2 ประตูเท่านั้น แสดงว่าเมื่อเสด็จพระราชดำเนินขึ้นจากเรือที่ประตูเมืองทางด้านตะวันตกริมแม่น้ำลพบุรี สมเด็จพระนารายณ์ทรงเสด็จเข้าสู่พระราชวังแห่งนี้ที่ประตูวังตรงข้ามกับวัดกวิศราราม และถนนหนทางส่วนใหญ่ในเมืองลพบุรีล้วนแต่ยังคงรักษาเส้นทางดั้งเดิมเอาไว้แบบทั้งสิ้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ พื้นที่เดิมซึ่งน่าจะเป็นสนามหลวง หรือทุ่งพระเมรุของเมืองลพบุรี ทาง ด้านตะวันออกของพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์นั้น ปัจจุบันมีสภาพเป็นตึกแถวและสถานที่ราชการ มี พื้นที่ของสวนราชานุสรณ์เพียงบางส่วนเท่านั้นที่ยังคงเหลือร่องรอยดังกล่าวไว้ให้เห็น (ปัจจุบันคือที่ตั้งของหน่วยศิลปากรที่ 1 )

พระปรางค์สามยอด อยู่ห่างจากโบราณสถานปรางค์แขกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 400 เมตร อยู่ห่างจากพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุไปทางทิศเหนือประมาณ 500 เมตร อยู่ห่างจากศาลพระกาฬไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 120 เมตร

เมื่อได้สำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพของพระปรางค์สามยอดจากที่สูง จะพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ โบราณสถานพระปรางค์สามยอดกับโบราณสถานพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ต่างก็ตั้งอยู่บนพื้นระนาบเดียวกันตามแนวแกนทิศเหนือกับทิศใต้อย่างน่าประหลาดใจ

ปรางค์แขกนั้น จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมบ่งชี้ให้เห็นว่า ถูกสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 ลักษณะเป็นปรางค์ก่ออิฐ 3 องค์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก รากฐานเดิมถูกดินทับถมเกือบถึงธรณีประตูขององค์ปรางค์อย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น หากมีการขุดแต่งหารากฐานเดิมจะช่วยให้การวิเคราะห์ลักษณะฐานของพระปรางค์สามยอดและฐานของพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุมีความถูกต้องยิ่งขึ้น

พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนั้น เชื่อกันว่ามีการสร้างขึ้นทับซ้อนบนรากฐานเดิม 2 สมัย กล่าวคือ สมัยแรกเป็นรากฐานพระปรางค์ส่วนล่าง (ปัจจุบันคือฐานไพที) สร้างประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 7 ครั้นมีการทรุดพังลงไปจึงได้มีการก่อพระปรางค์องค์ใหม่ขึ้นบนรากฐานเดิมเมื่อประมาณคริสตวรรษที่ 12 ลักษณะของพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงขนาดเล็กตั้งแต่ฐานขึ้นไป เมื่อมีการซ่อมแซมในชั้นหลังจึงมีการเสริมเรือนฐานด้วยอิฐฉาบปูนจนถึงยอดปรางค์ที่ทำด้วยหินทราย แต่ได้หักตกลงมาทางด้านใต้ของปรางค์เสียแล้ว


พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนั้นจะประกอบไปด้วย ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันเช่นเดียวกับพระปรางค์สามยอดและเทวสถานปรางค์แขกหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสงสัยเนื่องจากรากฐานของโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐทางด้านเหนือและด้านใต้ของปรางค์นั้นมีขนาดเล็กเกินกว่าจะรองรับโครงสร้างของสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเป็นปรางค์ได้ และถ้าหากจะมองว่าเป็นอาคารมุขที่ยื่นออกมาจากพระปรางค์ประธานก็ยังจะต้องหาหลักฐานเพิ่มเติมอีกมากเช่นกัน

สภาพแวดล้อมและการอนุรักษ์พระปรางค์สามยอดก่อนปี พ.ศ.2537
ก่อนที่โบราณสถานพระปรางค์สามยอดจะถูกแวดล้อมด้วยอาคารพาณิชย์ดังเช่นปัจจุบันนั้น ระหว่างปี พ.ศ.2483-2490 อันเป็นช่วงที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำริให้มีการวางผังเมืองใหม่ลพบุรีขยายออกไปทางทิศตะวันออกของเมืองเก่า สภาพแวดล้อมของพระปรางค์สามยอดมีลักษณะเป็นโบราณสถานที่ถูกปกคลุมด้วยเนินดินสูงเกือบถึงฐานไพทีหรือฐานบัวหงาย มีต้นไม้ต้นหญ้าปกคลุมค่อนข้างรก จากหลักฐานภาพถ่ายก่อนปี พ.ศ.2469 แสดงให้เห็นว่าหน้าบันทางทิศตะวันตกของพระปรางค์ด้านทิศเหนือได้หลุดร่วงลงมาบางส่วนแล้ว ทั้งนี้คงจะมีสาเหตุมาจากปรางค์องค์นี้ถูกลักลอดเอาทับหลังออกไป ขณะที่ซุ้มประตูทุกด้านยังมิได้ถูกปิดด้วยประตูไม้และลูกกรงเหล็กในระยะหลัง


จากการสัมภาษณ์ราษฎรในละแวกใกล้เคียงทำให้ได้ทราบว่า บริเวณซากวิหารทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระปรางค์นั้น แต่เดิมเป็นที่ทิ้งขยะของเทศบาลเมืองลพบุรีเป็นเวลานาน ทำให้การขุดแต่งบริเวณนั้นได้พบหลักฐานการรบกวนและความแปรปรวนจากร่องรอยกิจกรรมดังกล่าว ตั้งแต่ระดับผิวดินจนถึงระดับ 30 เซนติเมตรจากผืนดินเลยทีเดียว การตัดถนนพระปรางค์สามยอดทางด้านตะวันตกของโบราณสถานแห่งนี้ด้วยการขุดหน้าปรางค์ นอกจากนี้ยังมีผู้ให้ข้อมูลว่า เคยมีขอทานเข้าไปฆ่ากันตายข้างในองค์ปรางค์เมื่อประมาณหลายสิบปีก่อน แต่ประเด็นนี้ไม่สำคัญเท่าใดนัก ปัญหาที่น่าวิตกก็คือการบุกรุกเข้าไปใช้โบราณสถานปิดวัตถุประสงค์ของเยาวชนชาวลพบุรีบางกลุ่มที่ติดสารระเหยประเภทกาวและสารทินเนอร์ในยามวิกาล เนื่องจากได้พบหลักฐานกระป๋องกาวตกอยู่จำนวนหนึ่งทางด้านตะวันออกขององค์ปรางค์ เป็นสิ่งบ่งชี้ให้คำนึงถึงปัญหาคุณภาพของสังคมที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพื้นที่โบราณสถานแห่งนี้

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานพระปรางค์สามยอด
โบราณสถานพระปรางค์สามยอด เป็นสถาปัตยกรรมทรงปรางค์สามองค์ที่ถูกสร้างขึ้นบนฐานค่อนข้างเตี้ย ตั้งอยู่บนเนินดินสูงจากผิวถนนประมาณ 3 เมตร ลักษณะของปรางค์ทั้งสามองค์ตั้งเรียงกันตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ปรางค์ประธาน (ปรางค์หมายเลข 2) สูงจากพื้นดินประมาณ 20 เมตร ปรางค์ทิศเหนือ (ปรางค์หมายเลข 3) และปรางค์ทิศใต้ (ปรางค์หมายเลข 1) เคยมีการค้นพบพระพุทธรูปศิลาทรายปางนาคปรกประดิษฐานในพระปรางค์หมายเลข 2 (ปรางค์ประธาน) ส่วนพระปรางค์หมายเลย 3 (ปรางค์ทิศเหนือ) พบประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลเกติเตศวรศิลาทราย และพระปรางค์หมายเลข 1 (ปรางค์ทิศใต้) พบรูปจำหลักนางปรัชญา ปารมิตรอันเป็นศักติ(ชายา)ของพระโพธิสัตว์อวโลเกติเตศวร ประดิษฐานอยู่ภายใน รูปเคารพทั้งสามเป็นประติมา กรรมที่ถูกสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพุทธนิกายมหายาน


จากหลักฐานรูปแบบและลวดลายที่ปรากฏในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม รวมทั้งหลักฐานจากโบราณวัตถุและศิลาจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ และอื่น ๆ ทำให้เชื่อกันว่าโบราณสถานพระปรางค์สามยอด เป็นศาสนสถานที่ถูกสร้างขึ้นมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกับศิลปะภายในประเทศกัมพูชา


จากลักษณะรากฐานของพระปรางค์องค์ที่1 (ปรางค์ทิศใต้) ยกเว้นบันไดทางขึ้นมุขทิศใต้ น่าจะเป็นส่วนประกอบการทางสถาปัตยกรรมที่ยังไม่เคยถูกดัดแปลงแก้ไขหรือซ่อมแซมบูรณะดังนั้น เมื่อได้พิจารณารูปแบบของฐานพระปรางค์หมายเลข 1 ที่มุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือบริเวณบันไดทางขึ้นฉนวนระหว่างพระปรางค์หมายเลข 1 กับพระปรางค์หมายเลข 2 จะพบร่องรอยของการทำหลักฐานเป็นรูปหน้ากระดานอกไก่อยู่คั่นฐานบัวคว่ำด้านล่าง กับฐานบัวหงายด้านบนเอาไว้ แระพื้นที่บนฐานบัวหงายนี้อาจจะมีลักษณะเป็นฐานไพที ซึ่งใช้เดินประทักษิณโดยรอบปรางค์ทั้งสามองค์ต่อเนื่องกันไปกับฐานไพทีของพระปรางค์หมายเลข 2 และหมายเลข 3


ร่องรอยดังกล่าวอาจจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า การซ่อมฐานพระปรางค์หมายเลข2 และหมายเลข 3 เมื่อปี พ.ศ. 2469 – 2471 นั้น เป็นการซ่อมโดยยังดงรักษารูปแบบดั้งเดิมทางสถาปัตยกรรมของฐานพระปรางค์สามยอดเอาไว้ ดังจะเห็นว่าฐานหน้ากระดานอกไก่ที่คั่นฐานบัวคว่ำบัวหงายของพระปรางค์สามยอดนั่น มีลักษณะคล้ายกับฐานไพทีของพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุตุลพบุรี ทั้งฐานชั้นบนและฐานชั้นล่าง รวมทั้งมีลักษณะคล้ายกับฐานของซากโบราณสถานศิลาทรายทางด้านใต้นอกระเบียงคตพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุอีกด้วย


พระปรางค์แต่ละองค์จะมีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ทิศ แต่ละทิศล้วนมีบันไดทางขึ้นหรือร่องรอยของบันไดยื่นออกมา นอกจากนี้ ฉนวนที่เชื่อมปรางค์ทิศเหนือและทิศใต้เข้ากับปรางค์ประธานยังมีทางขึ้นและประตูทั้งด้านตะวันตกด้วย แต่น่าเสียดายประตูฉนวนบางด้านและหน้าต่างของมุขทิศถูกก่ออิฐบิดเสียแล้ว


ปัญหาที่ถูกนำมาพิจารณาขณะนี้คือรูแบบของบันไดทางขึ้นมุขทิศต่าง ๆ ภายหลังจากการซ่อมเมื่อปี พ.ศ. 2469 – 2471 นั้น มีลักษณะค่อนข้างกว้างกว่าและชันน้อยกว่ารูปแบบของบันไดทางขึ้นอาคารที่ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากศิลปะขอม ซึ่งก็คงจะได้ข้อยุติว่าจะมีการดำเนินการไปต่ออย่างไรหรือไม่ในระยะอันใกล้นี้

โบราณสถานที่ก่อเสริมขึ้นใหม่
1.วิหารทิศตะวันออก
ลักษณะเป็นวิหารก่ออิฐถือปูน ขนาด 15 x 10 เมตร ก่อเชื่อมเข้ากับมุขทิศด้านตะวันออกของปรางค์หมายเลข2 (ปรางค์ประธาน) หลังคาทรุดพังลงมา หลักฐานจากการขุดแต่งได้พบว่า วิหารนี้มุงหลังคาด้วยกระเบื้องกาบกล้วย การเชื่อมวิหารกับปรางค์เข้าด้วยกันนั้นพบว่าช่างได้เจาะหน้าบันศิลาทรายของมุขทิศด้านตะวันออกเป็นร่องสำหรับสอดแปทำหลังคาลดชั้นร่องสอดแปนี้จะปรากฏอยู่บนหน้าบันของมุขทิศด้านตะวันออกและตะวันตกของปรางค์หมายเลข2และ3 มุขทิศด้านตะวันออกของปรางค์หมายเลข1 และจากการขุดแต่งบริเวณทิศของปรางค์แต่ละจุดข้างต้น ล้วนได้พบชิ้นส่วนของกระเบื้องมุงหลัวคาแบบกาบกล้วยในบริเวณดังกล่าวทั้งสิ้นลักษณะของการทำร่องสอดแปนอกจากจะปรากฏอยู่หน้าบันมุขทิศของพระปรางค์สามยอดแล้วยังปรากฏอยู่บนหน้าบันปรางค์รายของวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย
2.ซากโบราณสถานด้านตะวันตกของปรางค์หมายเลข 2 (ปรางค์ประธาน)
ลักษณะเป็นเนินดินปกคลุมแนวรากฐานอิฐ ขนาด 10 x 8 เมตร ขุดพบร่องรอยของกระเบื้องมุงหลังคาแบบกาบกล้วยเช่นกัน
3.รากฐานวิหารด้านตะวันตกเฉียงเหนือของปรางค์หมายเลข 3
ตั้งอยู่ห่างจากปรางค์หมายเลข 3 ประมาณ 20 เมตร ลักษณะเป็นเนินดินมีหญ้าปกคลุม ภายหลังหารขุดแต่งได้พบว่าเนินดินดังกล่าวเป็นรากฐานอาคาร ขนาด 8 x 15 เมตร รูปทรงสันฐานคล้ายกับวิหารด้านตะวันออกของปรางค์ประธาน จากหลักฐานการขุดแต่งได้พบว่าผนังด้านสกัด (ด้านหุ้มกลอง) ทางทิศตะวันออกของวิหารหลังนี้ได้ทรุดตัวลงไปทางด้านตะวันตกทั้งแถบ พบกระเบื้องมุงหลังคาแบบเกล็ดเต่า ซ้อนกันเป็นจำนวนมาก


อาคารและรากฐานอาคารทั้งสาม น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231) ดังรูปแบบประตูและหน้าต่างมีลักษณะเป็นวงโค้งการใช้ผนังอาคารเป็นตัวช่วยในการรับน้ำหนักเครื่องบนของวิหาร โดยไม่ปรากฏร่องรอยของการทำเสารับโครงสร้างหลังคาภายในอาคารตามรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณ เป็นต้น

ลวดลายปูนปั้นที่พระปรางค์สามยอด
แม้โบราณสถานทั้งสามองค์จะมีขนาดลดหลั่นกัน โดยปรางค์ประธานมีขนาดสูงที่สุด ส่วนปรางค์ทิศเหนือกับปรางค์ทิศใต้มีความสูงน้อยกว่าดังได้กล่าวไปแล้ว แต่การตกแต่งลวดลายปูนปั้นของพระปรางค์ทั้งสามนั้น มีรูปแบบคล้ายคลึงกันมาก ความแตกต่างของลวดลายปูนปั้นอาจจะมีบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้คงจะเป็นผลมาจากการซ่อมแซมและปฏิสังขรณ์ในชั้นหลังนั่นเอง การศึกษาลวดลายปูนปั้นของโบราณสถานพระปรางค์สามยอดให้เข้าใจโดยทั่วไปนั้น ควรจำแนกและเปรียบเทียบลักษณะลวดลายตามองค์ประกอบของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมทั้งสามองค์ออกเป็น 5 ส่วน โดยเริ่มจากส่วนล่างขึ้นไปด้านบนดังนี้
1.ลวดลายปูนปั้นที่เรือนธาตุส่วนล่าง
ประกอบด้วย ลายด้านล่างสุดเป็นลายหน้ากระดานรูปดอกไม้สี่กลีบในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือลายดอกซีกดอกซ้อน ถัดขึ้นไปเป็นลายใบไม้ม้วน ถัดขึ้นไปเป็นลายบัวคว่ำคั่นด้วยลวดบัว เหนือลวดบัวขึ้นไปทำเป็นลายดอกไม้ (คล้ายดอกบัว) ตั้งขึ้น มีลายเทพนมประดับที่มุม ลักษณะดังกล่าวข้างต้นเป็นรูปแบบการตกแต่งเรือนธาตุส่วนล่างของมุขทิศปรางค์แต่ละองค์ในขณะที่เรือนธาตุส่วนล่างของปรางค์นั้นเท่าที่ปรากฏหลักฐานลวดลายจะเริ่มด้วยลายบัวคว่ำ ถัดขึ้นไปเป็นลายใบไม้ม้วน ถัดขึ้นไปเป็นลวดบัว แล้วจึงเป็นรูปหน้าของอสูร ทรงมงกุฎแบบหน้านางยอดมงกุฎทำเป็นลายช่อดอกไม้ตั้งขึ้น ใบหน้าอสูรแต่ละหน้าจะถูกคั่นด้วยช่อดอกไม้ลักษณะแบบเดียวกัน อสูรมีใบหน้ากลม ตาโปน ปากแสยะ ทรงตุ้มหูลายดอกไม้ คิ้วอสูรมีลักษณะต่อกันเป็นรูปปีกกา แลดูถมึงทึง ทำให้ต้องนึกถึงประติมากรรมปูนปั้นศิลปะแบบทราวดี (แบบละโว้) ที่พบในเมืองลพบุรีและเมืองหริภุญไชย ลวดลายรูปหน้าอสูรมีสภาพเสียหายไปมากแล้วในปัจจุบัน
2.ลวดลายปูนปั้นที่เรือนธาตุส่วนบน (ระดับเดียวกับทับหลัง)
ประกอบด้วย ลวดบัวด้านล่างสุด ถัดขึ้นไปเป็นลวดลายพวงอุบะหรือลายช่อชัยพฤกษ์ทิ้งชายลง คั่นด้วยลวดบัว ถัดขึ้นไปทำเป็นลายดอกบัวตูมมีชั้นบัวหงายเรียงรายอยู่ด้านบน ถัดจากชั้นบัวหงายขึ้นไปเป็นลวดลายใบไม้ม้วน ถัดขึ้นไปเป็นลวดลายบัวหงายแบบบัวฟันยักษ์ ถัดจากบัวฟันยักษ์เป็นลายกลีบบัวซ้อนกันอย่างวิจิตร แล้วจึงเป็นลายก้นหอยอยู่ด้านบนของส่วนลวดลายชุดนี้
3.ลวดลายปูนปั้นเหนือเรือนธาตุส่วนบน (ระดับเดียวกับกรอบหน้าบันมุขทิศ)
ประกอบด้วย ลวดลายช่อชัยพฤกษ์ทิ้งชายลงเบื้องล่าง ถัดขึ้นไปเป็นลายดอกบัวตูมถัดขึ้นไปเป็นลายใบไม้ม้วน ถัดขึ้นไปเป็นลายบัวหงาย ถัดขึ้นไปเป็นลายประจำยามก้านเกี้ยว ถัดขึ้นไปเป็นลายบัวคว่ำ ถัดขึ้นไปเป็นลายใบไม้ม้วน ถัดขึ้นไปเป็นลายดอกบัวตูม แล้วจึงเป็นลายกระจังอยู่ด้านบนสุดของลวดลายชุดนี้
4.ลวดลายปูนปั้นบนชั้นเชิงบาตร (เหนือระดับสันหลังคามุขทิศหรือหลังคาฉนวน)
ประกอบด้วย ลวดลายหน้ากากมีเขี้ยวยึดช่อชัยพฤกษ์อยู่ภายในแถวหน้ากระดานลวดบัวบนและล่าง ถัดขึ้นไปเป็นลายดอกบัวตูม ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวหงาย ถัดขึ้นไปเป็นลายหน้ากระดานบรรจุลายหงส์ (ลักษณะคล้ายคลึงกับหงส์ที่ปรากฏในเศษภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี และหงส์ในเศษภาชนะดินเผาเตาบ้านบางปูน) ถัดขึ้นไปเป็นลายประจำยามดอกซีกดอกซ้อน (ลายดอกไม้สี่กลีบในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน) ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวหงาย และจึงเป็นชั้นหน้ากระดานดอกจันอยู่ด้านบนสุด
5.ลวดลายปูนปั้นบนหน้ากระดานใต้กลีบขนุนปรางค์แถวล่างสุด
สังเกตพบเพียงลวดลายดอกไม้สี่กลีบใหญ่คั่นด้วยกลีบขนาดเล็กอีก 4 กลีบ สลับกันภายในช่องกระจกเท่านั้น
นอกเหนือจากลวดลายปูนปั้นที่ตกแต่งอยู่ตามโครงสร้างส่วนต่างๆ ของพระปรางค์แล้วยังมีลวดลายที่น่าสนใจ ดังนี้
ซุ้มหน้าบันมุขทิศเหนือของปรางค์หมายเลข 3 ปั้นเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ
ซุ้มหน้าบันมุขทิศตะวันออกของปรางค์หมายเลข 2 มีลวดลายจำหลักขนาดเล็กบนศิลาทรายรูปบุคคลประทับยืนกุมกระบองคล้ายกลีบขนุนปรางค์รูปบุคคลกุมกระบอง


ซุ้มหน้าบันระดับเหนือหลังมุขทิศตะวันออกของปรางค์หมายเลข 1 มีลวดลายปูนปั้นรูปมกรคายนาคห้าเศียรเป็นซุ้ม ภายในซุ้มตกแต่งเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิเหลือเพียงครึ่งองค์ลักษณะคล้ายพระพุทธรูปร่วมสมัยศิลปะบายนของกัมพูชา
ซุ้มหน้าบันทิศใต้ของปรางค์หมายเลข 3 ทำปลายซุ้มหน้าบันเป็นรูปมกรคายนาค ภายในมีรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก ประทับบนฐานบัวหงาย ลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้ วางพระหัตถ์บนเข่าคล้ายพระพุทธรูปศิลปะล้านนา แต่พระบาทนั้นไขว้กันหลวมๆ แบบพื้นเมืองภายใต้อิทธิพลทราวดี ส่วนรัดประคดนั้นทำเว้าลงแล้วหยักเป็นมุมแหลมตรงกลาง แลเห็นขอบชัดเจนตามแบบฉบับของศิลปะลพบุรี

ปรางค์หมายเลข 2 ทางด้านเหนือมีกลีบขนุนปรางค์รูปบุคคลแบบบุรุษอีกหนึ่งไว้ด้านบนแสดงกิริยาการเหาะไปในอากาศ (ชำรุด) ซึ่งปกติควรจะทำเป็นรูปท้าวกุเวรทรงคชสีห์หรือพระพรหมทรงหงส์ ทางทิศตะวันออกมีกลีบขนุนปรางค์จำหลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ด้านใต้เป็นรูปพระยมทรงโค ด้านตะวันตกเป็นรูปพระวรุณทรงหงส์


แนวความคิดในการติดตั้งกลีบขนุนปรางค์เท่าที่ปรากฏจากการศึกษากลีบขนุนปรางค์ที่ยังหลงเหลืออยู่พบว่า แต่ละด้านจะมีกลีบขนุนปรางค์รูปเทพประจำทิศตรงกลาง ขนาบข้างด้วยกลีบขนุนปรางค์รูปนักบวชกุมกระบองด้านละหนึ่งองค์ (ซ้าย-ขวา) และกลีบขนุนปรางค์รูปนักบวชกุมกระบองของแต่ละด้านจะถูกขนาบด้วยกลีบขนุนปรางค์รูปพญานาคที่มุมของหลังคาปรางค์ กลีบขนุนปรางค์ทุกชิ้นจะปรากฏร่องรอยการตกแต่งด้วยปูนปั้นอีกชั้นหนึ่งทั้งสิ้น


ที่น่าสนใจคือ การขุดพบกลีบขนุนปรางค์รูปนางเทพอัปสรทรงดอกบัว ? (ชำรุด ศีรษะหักหายไป) ตกอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกของปรางค์ประธานประมาณ 15 เมตร กลีบขนุนปรางค์นี้อาจอยู่บนตำแหน่งที่สัมพันธ์กับกลีบขนุนปรางค์รูปนักบวชกุมกระบองก็ได้ ดังจะพบว่าปราสาทหินเขาพนมรุ้งก็มีกลีบขนุนปรางค์รูปนางเทพอัปสร ? วางคั่นระหว่างกลีบขนุนปรางค์รูปนักบวชกับพญานาค


สำหรับเสาประดับกรอบประตูของพระปรางค์ทั้งสามองค์นั้น ทำด้วยศิลาทรายรูปแปดเหลี่ยม จำหลักเส้นลวดตลอดจากบนลงล่างแบบเสาประดับกรอบประตูในศิลปะบายนกัมพูชาที่โคนเสาจำหลักรูปฤาษีนั่งไขว้ขาประนมมือภายในซุ้มประดับด้วยรวยระกา โดยเสาบางท่อนมีการใช้ชิ้นส่วนกระเบื้องเคลือบสีเหลืองมาซ่อมด้วย ส่วนฤาษีโคนเสาอิงกรอบประตูที่ปราสาทเขาพนมรุ้งนั้นนั่งไขว่ห้างเอียงข้างหันหน้าออก มือถือคัมภีร์ ใบหน้าแสดงอาการยิ้มเล็กน้อย ไม่ถมึงทึงหรือเคร่งเครียดแต่อย่างใด


จากการศึกษาเปรียบเทียบในชั้นต้นนี้ได้พบว่า ลักษณะปลายซุ้มหน้าบันรูปมกรคายนาคที่โบราณสถานพระปรางค์สามยอดนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับลวดลายปูนปั้นรูปมกรคายนาคที่วัดล้มกลางเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังอาจโยงความสัมพันธ์ของซุ้มหน้าบันรูปมกรคายนาคของพระปรางค์สามยอดและพระปรางค์วัดล้ม เข้ากับบันไดรูปมกรคายนาคมีคนแคระแบกที่วัดธรรมิกราชอีกแห่งหนึ่งด้วย จะทำให้มองเห็นความเกี่ยวเนื่องจากศิลปกรรมของโบราณสถานในเมืองลพบุรีและเมืองพระนครศรีอยุธยาได้ดียิ่งขึ้น


สำหรับลวดลายการตกแต่งบนองค์ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับลวดลายปูนปั้นที่พระปรางค์สามยอดค่อนข้างมาก จึงควรจะได้มีการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปะโดยละเอียด จะทำให้สามารถทราบวิวัฒนาการศิลปกรรมของเมืองลพบุรีได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป

บทที่ 1
สภาพโบราณสถานก่อนการบูรณะ
จากการศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรม ทำให้สามารถแบ่งโบราณสถานพระปรางค์สามยอดออกเป็น 2 ส่วนดังนี้
ก.ส่วนที่หนึ่ง คือ พระปรางค์สามองค์ ตั้งอยู่บนฐานแยกต่างหากจากกัน ก่อด้วยศิลาแลงและศิลาทรายบางส่วน สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18
ข.ส่วนที่สอง คือ โบราณสถานก่ออิฐถือปูนที่ถูกสร้างเสริมขึ้นมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างน้อย ได้แก่ ซากวิหารด้านตะวันออกของปรางค์ประธาน (ปรางค์หมายเลข 2) รากฐานอาคารด้านตะวันตกของปรางค์ประธาน (ปรางค์หมายเลข 2) และรากฐานวิหารด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระปรางค์สามยอด

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

ความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อศาสนสถาน ทำให้พระปรางค์สามยอดได้รับการอนุรักษ์ด้วยดีมาตั้งแต่ครั้งอดีต หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า สมเด็จพระนารายณ์แห่งราชวงศ์ปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้มีการซ่อมแซมและบูรณะพระอารามต่างๆ ในเมืองลพบุรีอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งในสมัยหลังทั้งราชบัณฑิตสภาและกรมศิลปากร รวมทั้งองค์กรท้องถิ่นอื่นๆต่างก็ให้ความสนใจในการอนุรักษ์พระปรางค์สามยอดอย่างต่อเนื่อง ทำให้โบราณสถานแห่งนี้มีองค์ปาระกอบทางสถาปัตยกรรมที่ค่อนข้างสมบูรณ์นับตั้งแต่บัวยอดปรางค์ ชั้นเชิงบาตร ชั้นหลังคาเรือนธาตุ และฐานพระปรางค์ แม้ในเวลาต่อมาปัจจัยต่างๆจะทำให้ชิ้นส่วนของหลังคาปรางค์บางอันหลุดตกลงมาบ้าง
องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของพระปรางค์หมายเลข 1 มีดังนี้
1.กลศ (หินชั้นที่ 1-2)
คือ ส่วนยอดของหลังคาปรางค์ รูปร่างคล้ายไข่ผ่าครึ่งด้านหน้าตัดสูง 20 ซม. ทำจากศิลาทรายสีเทา 2 ชิ้นวางประกบกัน มีรูตรงกลาง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 ซม. ตั้งอยู่บนชั้นศิลาแลง 3-4 ก้อนอย่างหมิ่นเหม่ ชั้นศิลาแลงนี้แต่เดิมคงจะมีลักษณะเป็นรูปกลีบบัวหรือทรงฟักทอง (ทรงเฟือง)

2.กลุ่มบัวยอดปรางค์ แบ่งเป็น
- บัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 (หินชั้นที่3-4) มีลักษณะเป็นชั้นบัวคว่ำบัวหงาย มีลวดบัวคั่น ทำจากศิลาแลงฉาบปูนขาวซึ่งหลุดร่วงไปเกือบหมดสิ้นแล้ว บัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 ประกอบด้วยชั้นศิลาแลง 2 ชั้น สูงประมาณ 80 ซม.มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 170 ซม.องค์ประกอบบางส่วนของบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 อาทิ กลีบบัวหงายรูปคล้ายลิ่ม และฐานบัวหงาย (คือส่วนที่เป็นบัวคว่ำ) หล่นหายไปประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากศิลาแลงแต่ละก้อนไม่ได้ถูกยึดด้วยเหล็กรูปตัวไอ
-บัวยอดปรางค์ชั้นที่ 2 (หินชั้นที่ 5 – 6) มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 280 ซม.ประกอบด้วย ชั้นศิลาแลง 2 ชั้น มีลักษณะเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายเช่นกัน มีศิลาแลงหลุดตกลงไป 2 ชิ้น ทางด้านตะวันออกและตะวันตก
-บัวยอดปรางค์ชั้นที่ 1 (หินชั้นที่ 7-8) มีเส้นผ่าศูนย์กลางชั้นบนประมาณ 350 ซม.เส้นผ่าศูนย์กลางชั้นล่างประมาณ 400 ซม.ประกอบด้วยศิลาแลง 3 ชั้น

3.กลุ่มชั้นเชิงบาตรหรือชั้นบันแถลง (ชั้นหน้าบัน)
-ชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 5 (บันแถลงชั้นที่5) (หินชั้นที่10-11-12) มีเส้นผ่าศูนย์กลางชั้นบนประมาณ 380 ซม.เส้นผ่าศูนย์กลางชั้นล่างประมาณ 370 ซม.ประกอบด้วยศิลาแลง 3 ชั้น
-ชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 4 (บันแถลงชั้นที่4) (หินชั้นที่13-14) เส้นผ่าศูนย์กลางชั้นบนกว้างประมาณ 500 ซม.เส้นผ่าศูนย์กลางชั้นล่างกว้างประมาณ 480 ซม.
-ชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 3 (บันแถลงชั้นที่3) มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 500 ซม.
-ชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 2 (บันแถลงชั้นที่2) มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 550 ซม.
-ชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 1 (บันแถลงชั้นที่1) มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 550 ซม.
ชั้นเชิงบาตรพระปรางค์หมายเลข 1 มีกลีบขนุนปรางค์เหลืออยู่เพียงด้านละ 1-2 ชิ้นเท่านั้น

4.หลังคามุมทิศ
หลังคามุขทิศด้านตะวันออก ด้านใต้ และด้านตะวันตกของพระปรางค์หมายเลข 1 มีกรอบหน้าบันลดชั้น 2 ชั้น (ช้อนกัน) ประกอบกด้วยศิลาแลงและศิลาทราย มุขทิศแต่ละด้านยื่นออกมาประมาณ 4 เมตร ส่วนมุขทิศเหนือมีลักษณะเป็นฉนวนเชื่อมกับพระปรางค์หมายเลข 2 มีกรอบหน้าบันเพียงชั้นเดียว

5.เรือนธาตุ
ถัดจาดหลังคามุขทิศลงมาเป็นเรือนธาตุของพระปรางค์และเรือนธาตุของมุขทิศ ทำลดชั้นย่อมุมออกไป ภายในเรือนธาตุเรียกว่า “ครรภคฟหะ” ประดิษฐานแท่นโยนิโทรณะ หรือแท่นประดิษฐานรูปเคารพ มีรางน้ำหันไปทางทิศเหนือ แต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

6.ฐาน
ฐานของพระปรางค์หมายเลข 1 มีสภาพทรุดพัง แต่ก็ยังพอจะแลเห็นร่องรอยของฐานบัวคว่ำบัวหงาย โดยมีลวดบัวหรือหน้ากระดานอกไก่คั่นที่บริเวณฐานของฉนวนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลักษณะของฐานดังกล่าวคงจะคล้ายคลึงกับฐานของพระปรางค์หมายเลข 2 และพระปรางค์หมายเลข 3 ซึ่งได้รับการซ่อมแซมไปแล้ว เหตุที่มั่นใจว่าฐานดั้งเดิมของพระปรางค์หมายเลข 1 มีรูปแบบเช่นนั้น เนื่องจากเมื่อนำรูปแบบของฐานปราสาทหินเขาพนมรุ้งมาศึกษาเปรียบเทียบแล้ว จะพบว่าฐานของพระปรางค์สามยอดและฐานของปรางค์ประธานปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ต่างก็มีส่วนที่ควรจะเรียกในที่นี้ว่า “ฐานไพทีย่อมุม” หรือฐานบัวคว่ำบัวหงาย ยื่นออกมาโดยรอบเช่นกัน เพียงแต่ลักษณะของบันไดพระปรางค์หมายเลข 1 และพระปรางค์องค์อื่นๆ เท่านั้นที่ถูกซ่อมผิดจารีตโครงสร้างสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับอิทธิพลของศิลปกรรมเขมรโบราณ


องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของพระปรางค์หมายเลข 2 (ปรางค์ประธาน) มีดังนี้
1.กลศ
พร้อมทั้งส่วนฐานของกลศ หล่นหายไป แต่กลับมีสายล่อฟ้าของใหม่ และอิฐที่ก่อรับสายล่อฟ้าแทนที่
2.กลุ่มบัวยอด แบ่งเป็น
-บัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 ลักษณะเป็นศิลาทราย จำหลักเป็นรูปทรงบัวคว่ำบัวหงายเส้นผ่าศูนย์กลาง 230 ซม.บัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 นี้ เหลือศิลาทรายประกอบกันเป็นรูปบัวทรงเฟืองเพียง 5 ก้อน โดยส่วนบัวหงายทางด้านตะวันตกหลุดหายไป เหลือแต่ส่วนกลีบบัวคว่ำด้านล่าง สำหรับส่วนประกอบบัวยอดปรางค์ตรงกลางทำจากศิลาทรายก้อนใหญ่ประกบกัน 2 ก้อน ตามแนวเหนือ-ใต้ มีรูตรงกลางกว้างประมาณ 30 ซม.ฐานบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 ส่วนล่างของศิลาทรายก้อนใหญ่มีสภาพแตกออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ 2-3 ชิ้น
-บัวยอดปรางค์ชั้นที่ 2 ลักษณะเป็นศิลาทรายวางเรียงกันตามแนวเหนือ-ใต้ 2 ชั้น มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 300 ซม.ประกอบด้วยศิลาทรายตั้งซ้อนกัน 2 ชั้น มีการจำหลักศิลาทรายชั้นบนเป็นรูปกลีบบัวชัดเจน บัวยอดปรางค์ชั้นที่ 2 นี้ยังคงมีลักษณะเป็นทรงเฟืองอยู่
-บัวยอดปรางค์ชั้นที่ 1 ลักษณะเป็นศิลาทรายเรียงซ้อนกัน 3 ชั้น เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 400 ซม.กรอบนอกของบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 1 นี้ ยังคงมีรูปทรงเฟืองและจำหลักลวดลายกลีบบัวเพิ่มเข้าไปด้วย

3.กลุ่มชั้นเชิงบาตรหรือชั้นบันแถลง (ชั้นหน้าบัน)
-ชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 5 (บันแถลงชั้นที่ 5) ส่วนบนมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 400 ซม.ส่วนล่างมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 500 ซม.ทำจากศิลาแลงทั้งหมด
-ชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 4 (บันแถลงชั้นที่ 4) มีเส้นผ่าศูนย์กลางทั้งชั้นบนและชั้นล่างประมาณ 500 ซม.
-ชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 3 (บันแถลงชั้นที่ 3) มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 600-620 ซม.
-ชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 2 (บันแถลงชั้นที่ 2) มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 600 ซม.
-ชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 1 (บันแถลงชั้นที่ 1) มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 650 ซม.
ชั้นเชิงบาตรพระปรางค์หมายเลข 2 มีกลีบขนุนปรางค์เหลืออยู่ด้านละไม่กี่ชั้นเช่นกัน

4.หลังคามุขทิศ
หลังคามุขทิศทางด้านตะวันออกและทิศตะวันตกของพระปรางค์หมายเลข 2 มีกรอบหน้าบันลดชั้น 2 ชั้น ประกอบด้วย ศิลาแลงและศิลาทราย ส่วนมุขทิศเหนือและใต้มีหน้าบันยื่นออกมาเพียงชั้นเดียว เนื่องจากมีฉนวนเชื่อมกับปรางค์หมายเลข 1 ทางทิศใต้ และปรางค์หมายเลข 3 ทางทิศเหนือ อย่างพอเหมาะอยู่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มีการจำหลักรูปบุคคลขนาดเล็กกุมกระบอง มีเคราที่คาง คล้ายนักบวชหรือโยคีส่วนบนของซุ้มหน้าบันมุขทิศตะวันออกของปรางค์ประธานหมายเลข 2 คล้ายรูปนักบวชที่กลีบขนุนปรางค์และโคนเสาประดับกรอบประตู

5.เรือนธาตุ
ภายในเรือนธาตุของพระปรางค์หมายเลข 2 นี้ แต่เดิมเคยประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกศิลาทราย ปัจจุบันคงเหลือแต่ฐานโยนิโทรณะหรือแท่นประดิษฐานรูปเคารพ

6.ฐาน
ฐานของพระปรางค์หมายเลข 2 มีสภาพแข็งแรง เนื่องจากเคยได้รับการซ่อมแซมมาแล้ว

ปัจจุบันภายในเรือนธาตุทั้งของพระปรางค์ทั้งสามองค์ มีสภาพเป็นอิฐ ปูพื้นสูงเท่ากับระดับขอบบนของฐานโยนิโทรณะ เข้าใจว่าน่าจะถูกก่อขั้นเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากยังมีผู้จำได้ว่าเดิมพื้นปรางค์ด้านในอยู่ต่ำกว่านี้ สำหรับผนังปรางค์ด้านในทั้ง 3 องค์ มีการก่ออิฐคล้ายอาสนสงฆ์ ส่วนหน้าต่างของปรางค์ทั้งสามองค์ถูกก่ออิฐปิดหมดทุกด้านเสียแล้ว


สิ่งที่น่าสนใจที่ได้พบจากการศึกษาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานพระปรางค์สามยอดก็คือ การที่บริเวณหน้าบันของมุขทิศเกือบทุกด้านของโบราณสถานแห่งนี้จะมีร่องรอยการถูกเจาะเป็นร่องรูปหน้าจั่วแบบเดียวกัน เมื่อได้พบหลักฐานของกระเบื้องมุงหลังคาจากบริเวณตรงข้ามกับตำแหน่งหน้าบันของมุขทิศจำนวนมาก ทำให้นักโบราณคดีเชื่อว่า การเจาะร่องดังกล่าวบนหน้าบันของมุขทิศน่าจะทำขึ้นเพื่อสอดแปมุงหลังคาในชั้นหลังนั่นเอง หลักฐานการสอดแปมุงหลังคายื่นออกมาจากหน้าบันมุขทิศเช่นนี้ ยังได้พบที่ปรางค์ทิศวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย


ส่วนฝ้าเพดานของพระปรางค์หมายเลข 1-2 นั้น มีร่องรอยของการประดับกระจกเป็นรูปดาวพื้นไม้ลงรักปิดทอง สภาพชำรุดทรุดโทรมค่อนข้างมาก

ปัญหาด้านวิศวกรรม
การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ อาทิ อิทธิพลของกระแสลม ฝน แสงแดด และความชื้นในแต่ละปี ทำให้ศิลาแลงและศิลาทรายอันเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของพระปรางค์สามยอดเกิดการเสื่อมสภาพ เมื่อถูกลิงปีนป่ายขึ้นไปขย่มบ่อยๆเข้าก็หลุดตกลงมา เบื้องล่างเป็นจำนวนมาก


จากการสำรวจแรงสั่นสะเทือนของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (A.I.T) แม้จะพบว่าแรงสั่นสะเทือนจากรถไฟและรถบรรทุกมีผลต่อรากฐานของพระปรางค์สามยอดไม่มากนัก การสำรวจมิได้ระบุถึงผลกระทบอันเกิดขึ้นต่อส่วนประกอบของเรือนธาตุ และหลังคาปรางค์ซึ่งได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่องสะสมมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งมีรอยปริแยกหลายจุดบนองค์ปรางค์ อาทิ ที่มุขทิศตะวันออกของพระปรางค์หมายเลข 1 ที่หน้าบันบนชั้นเชิงบาตรของพระปรางค์หมายเลข 2 ซุ้มประตูและมุขทิศด้านตะวันตกของพระปรางค์หมายเลข 2 ซึ่งถูกค้ำยั่นด้านเสาและคานคอนกรีตเสริมเหล็ก อีกทั้งยังถูกรัดด้วยเหล็กแผ่นเพื่อกันมิให้มุขทิศด้านนี้ทรุดพังลงมา

บทที่ 2
การสำรวจเพื่อการบูรณะ

การวางผังบริเวณ
ช่างสำรวจได้กำหนดจุดต่างๆ โดยรอบพื้นที่โบราณสถานออกเป็น 4 จุด ได้แก่จุด RP.1 อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จุด RP.2 อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จุด RP.3 อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และจุด RP.4 อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จากนั้นจึงตีตารางรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 1x1 เมตรคลุมพื้นที่พระปรางค์สามยอด โดยมีจุด BM. อยู่ทางด้านตะวันออกของวิหาร ซึ่งต่อเสริมออกไปจากปรางค์ทิศตะวันออกของพระปรางค์หมายเลข 1 เป็นจุดกำหนดตายตัว มีระดับความสูงสมมติอยู่ที่ 10.000 เมตร การกำหนดจุด BM.มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกับการกำหนด DATUM LINE ในการขุดแต่งโบราณสถาน กล่าวคือ DATUM LINE จะใช้ในการวัดระดับวัตถุที่อยู่ลึกลงไปในชั้นดิน ส่วน BM.LINE ใช้วัดระดับของโครงสร้างของโบราณสถานซึ่งอยู่เหนือผิวดินขึ้นไป


หลังจากทำแผนผังบริเวณในแนวราบแล้ว มีการติดตั้งนั่งร้านโครงเหล็กเพื่อให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติงาน จากนั้นช่างสำรวจไก้ทำผังรูปด้านของพระปรางค์หมายเลข 1-2 เป็นตารางกริดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 1x1 เมตร เช่นเดียวกัน เพื่อควบคุมระดับความสูงของชั้นหินให้สัมพันธ์กับหลักฐานซึ่งจะถูกบันทึกลงบนสมุดกราฟ มิให้เกิดความผิดพลาดในการถอดชิ้นส่วนองค์ประกอบสถาปัตยกรรมของโบราณเป้าหมาย จากนั้นช่างจึงได้กำหนดหมายเลขของตารางกริด โดยเริ่มจากจุด RP.2 มีเส้นตั้งเป็นแกน Y เส้นนอนเป็นแกน X มีหมายเลขกำกับช่องละ 1 เมตร ดังปรากฏในผังบริเวณ


หลังจากทำผังทั้งตามแนวดิ่งและแนวราบโดยใช้อุปกรณ์คือกล้องส่องระดับ ไม้ระดับ ลูกดิ่ง และเชือกแล้ว ก็จะถึงขั้นตอนของการดำเนินการเพื่อการบูรณะ ซึ่งจะได้กล่าวถึงโดยละเอียดต่อไป

บทที่ 3
การบูรณะพระปรางค์หมายเลข 1 และพระปรางค์หมายเลข 2


การบูรณะพระปรางค์หมายเลข 1-2 มีขั้นตอนดังนี้
1.การถอดชิ้นส่วนองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
1.1การถอดชิ้นส่วนพระปรางค์หมายเลข 1
1.1.1 การถอดกลศและฐานกลศ
เมื่อได้ทำผังตำแหน่งของกลศบนยอดปรางค์หมายเลข 1 แล้ว จากนั้นจึงถอดกลศโดยใช้เชือกรัดเป็นห่วงแล้วใช้รถเครนโรยโบราณวัตถุชิ้นนี้ลงมาอย่างระมัดระวัง หลังจากถอดกลศแล้วจึงรื้อฐานรองรับกลศซึ่งเป็นศิลาแลงลงมาด้วย ฐานรองกลศมีสภาพชำรุดมากเหลือศิลาแลงที่มรสภาพสมบูรณ์เพียงชิ้นเดียว นอกนั้นมีสภาพเป็นเศษศิลาแลง 2-3 ก้อน จึงได้เขียนรหัสศิลาของกลศเป็นชั้นที่ 1 ส่วนฐานรองรับกลศให้เป็นศิลาชั้นที่ 2 โดยใช้ระบบให้หมายเลขศิลาเวียนขวาตามเข็มนาฬิกา
1.1.2 การถอดชิ้นส่วนศิลากลุ่มยอดบัวปรางค์
- การถอดชิ้นส่วนบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3
หลังจากถอดชั้นกลศออกไปแล้ว ได้พบว่าชิ้นส่วนบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 ทางด้านตะวันออกมีสภาพชำรุดมาก เนื่องจากมีศิลาแลงหล่นหายไปหลายชิ้น จนเหลือศิลาแลงเพียง 11 ชิ้น ส่วนฐานด้านล่างของบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 ก็มีศิลาแลงรองรับอีกชั้นหนึ่ง ศิลาแลงบางก้อนมีสภาพชำรุดมาก ศิลาแลงชั้นบนมีขนาดประมาณ 30x70x20 ซม.ศิลาแลงชั้นล่างมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย และได้พบหลักฐานว่ามีการใช้ปูนซิเมนต์มาซ่อมบัวยอดปรางค์ชั้นนี้ไปแล้วเมื่อเร็วๆนี้


หลังจากกำหนดรหัสบนศิลาแลงแต่ละก้อนลงบนผังและบนศิลาแล้วจึงรื้อบัวยอดปรางค์ชั้นบนลงมาก่อนที่จะดำเนินการเช่นเดียวกันกับฐานของบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 การรื้อบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 ทำให้พบว่า ภายในมีการนำแท่งศิลาทรายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 50x50x20 ซม.วางเป็นศูนย์กลางของกลีบบัวยอดปรางค์ ซึ่งจะมีขอบด้านนอกบานออก ส่วนขอบด้านในเรียกว่า ไม่ปรากฏหลักฐานการใช้เหล็กรูปตัวไอยึดศิลาแลงแต่ละก้อนเข้าด้วยกัน
-การถอดชิ้นส่วนบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 2
บัวยอดปรางค์ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ศิลาแลงชั้นบนกับชั้นล่าง รูปร่างของศิลาแลงแต่ละก้อนมีลักษณะคล้ายส่วนบนของกระดูก LONG BONE ที่ถูกแต่งส่วนล่างให้มน แล้ววางเรียงโดยการหันส่วนบนออกไปด้านนอก บัวยอดปรางค์ชั้นที่ 2 ส่วนบนประกอบด้วย ศิลาแลงจำนวน 16 ก้อนแต่เหลือเพียง 14 ก้อน


พบหลักฐานการใช้เหล็กรูปตัวไอยึดศิลาแลงก้อนที่ 11-12-13 (ชิ้นเดียวกับก้อนที่ 12) – 14 เข้าด้วยกัน โดยมีโลหะตะกั่วหลอมยึดเหล็กให้แน่นภายในร่องอีกครั้ง ศิลาแลงมีขนาดประมาณ 50x100x30 ซม.ส่วนฐานของบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 2 นั้น มีการใช้เหล็กรูปตัวไอยึดศิลาแลงก้อนที่ 4 กับก้อนที่ 5 ก้อนที่ 9 กับก้อนที่ 10 และก้อนที่ 14 กับก้อนที่ 15 และก้อนที่ 16 เข้าด้วยกัน ปัญหาคือ ศิลาแลงบางก้อนอาจมีสภาพชำรุดเนื่องจากการเจาะฝังเหล็กรูปตัวไอ ดังปรากฏหลักฐานในแผนผังชั้นศิลาแนบท้ายรายงานฉบับนี้
-การถอดชิ้นส่วนบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 1
บัวยอดปรางค์ชั้นที่ 1 ส่วนบนประกอบด้วย ศิลาแลงทั้งชำรุดและสมบูรณ์รวม 35 ก้อน พบว่ามีการใช้เหล็กรูปตัวไอหลอมด้วยตะกั่วยึดหินก้อนที่ 7-8 ไว้เพียงจุดเดียวการเรียงศิลาแลงมีลักษณะวางส่วนของกลีบบัวยอดปรางค์ล้อมรอบแกนของบัวยอดปรางค์ด้านในเป็นวงกลม


ฐานของบัวยอดปรางค์ ประกอบด้วย ศิลาแลงจำนวนมากกว่า 35 ก้อน ศิลาแลงบางก้อนชำรุดหล่นหายไป บางก้อนอาจชำรุดเนื่องจากการใช้เหล็กรูปตัวไอยึด พบหลักฐานการใช้


เหล็กรูปตัวไอหลอมด้วยตะกั่วยึดศิลาแต่ละก้อนเข้าด้วยกันเกือบรอบฐานชั้นล่างของบัวยอดปรางค์ชั้นนี้
การรื้อบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 1 ทั้งส่วนบนและส่วนฐาน มีการถ่ายรูปทำผัง กำหนดรหัสศิลาแลงแต่ละก้อนเป็นหลักฐานรัดกุม

1.1.3 การถอดชิ้นส่วนชั้นเชิงบาตร (ชั้นบันแถลง)
-การถอดชิ้นส่วนชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 5 (หน้าบันชั้นที่ 5)
ชั้นเชิงบาตรหรือชั้นบันแถลงหรือหน้าบันชั้นที่ 5 นี้ ประกอบด้วยศิลาแลงจำนวน 36 ก้อน ขนาดไม่เท่ากัน ชิ้นที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดประมาณ 100 x 50 x 30 ซม.ศิลาบางก้อนมีลักษณะเป็นแท่งเล็กๆ สอดระหว่างศิลาก้อนใหญ่เพื่อให้องค์ปรางค์มีความมั่นคง ไม่ปริแยกออกจากกันโดยง่าย ไม่ปรากฏหลักฐานการใช้เหล็กรูปตัวไอยึดศิลาแต่ละก้อนเอาไว้ ศิลาบางก้อนของฐานชั้นกลางของชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 5 จะถูกเซาะร่องทำบ่าเพื่อรับกับเหลี่ยมศิลาแลงด้านนอกที่สอดแทรกเข้ามา เช่นเดียวกีบศิลาแลงชั้นล่างของชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 5 นี้
-การถอดชิ้นส่วนชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 4 (หน้าบันชั้นที่ 4)
ชั้นเชิงบาตรหรือชั้นบันแถลงหรือชั้นหน้าบันชั้นที่ 4 ประกอบด้วยศิลาแลงขนาดต่างๆกัน ศิลาก้อนที่ใหญ่ที่สุดมีขนากประมาณ 100 x 60 x 50 ซม.มีศิลาแลงหล่นหายไปบ้าง เหลือศิลาแลงประมาณ 44-45 ก้อน ขอบด้านนอกบางส่วนของชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 4 นี้ ถูกก่อเสริมด้วยอิฐถือซิเมนต์ เมื่อปี พ.ศ.2512 (มีการเขียนปีที่ซ่อมไว้บนแผ่นซิเมนต์ที่ก่อเสริมด้วย) ชั้นล่าง (ส่วนล่าง) ของชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 4 นี้ เหลือศิลาแลงประมาณ 45-46 ก้อน ศิลาแลงบางก้อนก็มีลักษณะเป็นลิ่มหรือตัวเสริมตัวแทรกให้มีความแน่นหนา ไม่ปรากฏว่ามีการใช้เหล็กรูปตัวไอยึดศิลาแลงเข้าด้วยกันในระดับนี้


เมื่อรื้อศิลาแลงของชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 4 ออกไป จึงได้พบว่ามีการใช้เหล็กรูปตัวไอยึดศิลาแลงทางด้านใต้ของชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 3 (ส่วนบน) เพียงตัวเดียวเท่านั้น


การรื้อศิลาแลงตั้งแต่ส่วนกลศลงมาจนถึงชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 4 ออกไป ทำให้ได้พบแนวโน้มว่า การเรียงศิลาแลงชั้นบนๆ ช่างจะใช้เหล็กรูปตัวไอยึดศิลาแลงเข้าด้วยกัน เนื่องจากศิลาแลงชั้นบนมีขนาดค่อนข้างเล็กและมีน้ำหนักไม่มากนัก การยึดด้วยเหล็กรูปตัวไอจะช่วยให้เกิดความมั่นคงได้มากในระยะแรก แต่ครั้นเวลาผ่านไปนานๆ ร่องที่ใช้วางเหล็กยึดศิลาแลงจะเป็นตัวปัญหาที่ทำให้ศิลาแลงแตกหรือชำรุดหล่นลงมายังพื้นด้านล่างเสียเอง เนื่องจากอุณหภูมิในอากาศจะทำให้ศิลาแลงหรือเหล็กและตะกั่วมีการหดและขยายตัวตามคุณสมบัติทางธรรมชาติของธาตุแต่ละอย่าง


หลักฐานที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งที่พบจากการรื้อชิ้นส่วนศิลาแลงก็คือ นักโบราณคดีได้พบว่า ช่างได้เรียงศิลาแลงให้มีลักษณะเวียนขวาจากบนลงมาด้านล่าง (หรือเวียนจากซ้ายขึ้นไป) ทำให้ศิลาแลงแต่ละชั้นจะมีลักษณะหลั่นเหลื่อมกันเล็กน้อย หากไม่สังเกตชั้นศิลาแลงจากหน้าตัดด้านในของโพรงศิลาแลงที่เหลื่อมกันตรงจุดศูนย์กลางของปรางค์แล้วจะไม่สามารถแลเห็นเป็นเทคนิคพิเศษนี้ได้เลย จึงอาจเรียกเทคนิคพิเศษนี้ว่า “การซ้อนหินหลั่นเหลื่อมกันแบบเกลียวสว่านวนขวาลงล่าง” ก็ได้ ประโยชน์ของการเรียงศิลาแลงเช่นนี้ เมื่อผสมผสานกับการเซาะบ่าของศิลาแลงบางก้อนเพื่อสอดเหลี่ยมของศิลาแลงอีกก้อนเข้ามา จะทำให้เกิดการขัดและการสอดรับกันของศิลาแต่ละก้อนทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ เพิ่มความมั่นคงให้เกิดแก่องค์ปรางค์ได้มากยิ่งขึ้น


จึงตอบปัญหาบางอย่างได้ว่าเหตุใดศิลาแลงบางชั้นจึงมีเหล็กรูปตัวไอยึดศิลาแลงไว้บางก้อนหรือบางส่วนเท่านั้น และการเจาะหรือบากร่องเพื่อใส่เหล็กรูปตัวไอบนศิลาแลงทุกก้อนอาจจะมีส่วนทำให้ศิลาแลงชำรุดและปริออกมาเสียเองก็ได้

1.2 การถอดชิ้นส่วนพระปรางค์หมายเลข 2
1.2.1 การถอดชิ้นส่วนกลุ่มบัวยอดปรางค์
- การถอดชิ้นส่วนกลุ่มบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3
ช่างผู้ปฏิบัติงานบูรณะได้ถอดเสาสายล่อฟ้า แล้วจึงสกัดฐานอิฐที่ใช้ตั้งสายล่อฟ้าออกไป ก่อนจะทำผังและดำเนินการตามเทคนิคการถอดชิ้นส่วนองค์ประกอบของบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 บัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 นี้ เหลือศิลาทรายเพียง 5 ก้อน ก้อนที่ใหญ่ที่สุดมีขนาด 130 x 100 x 50 ซม.
-การถอดชิ้นส่วนบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 2
การรื้อชิ้นส่วนบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 ออกไป ทำให้พบว่า การเรียงศิลาทรายของบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 2 นี้ ได้เรียงตามแนวนอน (ตะวันออก-ตะวันตก) มีการใช้เหล็กรูปตัวไอหลอมตะกั่วยึดศิลาทรายก้อนที่ 1-2-3 และยึดศิลาทรายก้อนที่ 9-10 เข้าด้วยกัน ศิลาทรายที่ประกอบกันเป็นบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 2 นี้ ก้อนใหญ่ที่สุดมีขนาด 150 x 30 x 30 ซม.


เมื่อรื้อส่วนบนของบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 2 ลงไป ได้พบแท่งศิลาทรายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 50 x 50 x 20 ซม.มีรูสี่เหลี่ยมประมาณ 20 x 20 ซม.อยู่ตรงกลาง ซ้อนกัน 2 ชั้น เช่นเดียวกับที่พบในบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 3 ของพระปรางค์หมายเลข 1 แต่ไม่ทราบประโยชน์หรือหน้าที่ของวัตถุดังกล่าวว่า มีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อทางศาสนาอย่างไร แท่งศิลาทรายดังกล่าวนี้วางปิดโพรงของปรางค์หมายเลข 2 ได้พอดี ได้พบชิ้นส่วนแผ่นทองแดงขนาดใหญ่ม้วนเป็นแผ่นกลมวางอยู่ทางด้านใต้ของแท่นศิลาทราย เมื่อคลี่ออกมากับไม่ปรากฏร่องรอยการจารึกใดๆทั้งสิ้น ระดับนี้ไม่พบเหล็กรูปตัวไอยึดศิลาทรายเอาไว้ แต่พบว่ามีการนำศิลาแลงเพียงก้อนเดียว ขนาดประมาณ 30 x 50 x 20 ซม.ปนอยู่กับศิลาทราย
-การถอดชิ้นส่วนบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 1
ศิลาทรายที่นำมาประกอบกันเป็นบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 1 มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีการเซาะร่องเป็นแนวยาวตรงตามแกนทิศทั้งสี่ ซึ่งในชั้นนี้มีผู้ระบุว่า อาจเป็นรางระบายน้ำฝนมิให้ไหลลงไปภายในองค์ปรางค์ได้


ศิลาทรายของบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 1 ส่วนบน ประกอบด้วย หิน จำนวน 28 ก้อน รูปร่างคล้ายลิ่มหรือสี่เหลี่ยมคางหมู ชั้นหินส่วนกลางประกอบด้วยศิลาทราย จำนวน 30 ก้อน ชั้นหินส่วนล่างประกอบด้วยศิลาทราย จำนวน 29 ก้อน และมีหลักฐานใช้เหล็กรูปตัวไอหล่อด้วยตะกั่วยึดศิลาทรายเข้าด้วยกันถึง 11 จุด หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 1

1.2.2 การถอดชิ้นส่วนชั้นเชิงบาตร (ชั้นบันแถลง)
- การถอดชิ้นส่วนชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 5 (ชั้นบันแถลงชั้นที่ 5)
ตั้งแต่ชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 5 ของพระปรางค์หมายเลข 2 ลงไป ทัพสัมภาระส่วนนี้ทำจากศิลาแลงทั้งหมด ประกอบด้วยศิลาแลงประมาณ 30-31 ก้อน ขนาดประมาณ 100 x 60 x 40 ซม.ถึงประมาณ 50 x 30 x 20 ซม.ลดหลั่นปะปนกัน ส่วนบนพบหลักฐานการใช้เหล็กรูปตัวไอยึดศิลาแลงเข้าด้วยกันเพียง 2 จุดเท่านั้น ชั้นเชิงบาตรส่วนกลางพบเพียงจุดเดียว ชั้นเชิงบาตรส่วนล่างนั้นมีศิลาแลงเรียงไม่น้อยกว่า 41 ก้อน (บางก้อนหล่นหายไป)
-การถอดชิ้นส่วนชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 4 (ชั้นบันแถลงชั้นที่ 4)
ชั้นนี้มีการก่อปูนซิเมนต์เสริมความมั่นคงของแนวชั้นศิลาแลง (ระบุว่าซ่อมปี พ.ศ.2512) บางส่วน ชั้นหินส่วนกลางของชั้นเชิงบาตรระดับนี้มีการใช้เหล็กรูปตัวไอยึดประมาณ 5-6 จุด


การรื้อชิ้นส่วนและองค์ประกอบของบัวยอดปรางค์และชั้นเชิงบาตร มีการถ่ายรูปทำผังเอาไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ในการนำมาประกอบเข้าตามรูปเดิม และเพื่อการบูรณะโดยการเสริมศิลาส่วนที่หลุดหายไปให้สมบูรณ์มั่นคงดังเดิม โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกลมกลืนที่มีต่อตัวโบราณสถาน


การถอดชิ้นส่วนพระปรางค์หมายเลข 1-2 บางครั้งจำเป็นต้องใช้เครื่องตัดหินมาใช้ตัดตามแนวตะเข็บศิลาที่ถูกปูนขาวฉาบไว้เพื่อรักษามิให้ปูนขาวกะเทาะหลุดลงมา หลักฐานที่พบจากการรื้อส่วนประกอบของพระปรางค์หมายเลข 2 ตามที่ระบุข้างต้น ทำให้ได้พบคำตอบเกี่ยวกับเทคนิคดังได้กล่าวถึงแล้วในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของการถอดส่วนประกอบของพระปรางค์หมายเลข 1

1.2.3 การถอดชิ้นส่วนหลังคาและกรอบประตูมุขทิศตะวันตกพระปรางค์หมายเลข 2
หลังจากบันทึกตำแหน่งของศิลาแล้ว ช่างผู้ปฏิบัติงานบูรณะพระปรางค์หมายเลข 2 ได้ถอดชิ้นส่วนสันหลังคา หลังคา และหน้าบันมุขทิศตะวันตกของพระปรางค์หมายเลข 2 ลงมาก่อนที่จะทุบคานคอนกรีตเสริมเหล็กและแผ่นเหล็กที่รัดผนังมุขทิศ และรองรับทับหลังมุขทิศเอาไว้ จากนั้นจึงถอดทับหลังและเสาประดับกรอบประตูของมุขทิศส่วนนี้ออกไปตามลำดับ การถอดหน้าบันของมุขทิศด้านตะวันตกของปรางค์หมายเลข 2 ทำให้ได้พบว่า ศิลาทรายซึ่งวางทับอยู่บนทับหลังของมุขทิศก้อนหนึ่ง มีจารึกซ่อนอยู่ด้านใน อักษรที่ใช้จารึกเป็นอักษรขอม ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณตรวจสอบและวิเคราะห์


เมื่อถอดศิลาลงมาแล้ว ช่างได้รับคำสั่งให้ปัดทำความสะอาดและล้างหินแต่ละก้อนให้สะอาด เพื่อเตรียมนำกลับขึ้นไปประกอบเข้าที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง

2. การเสริมความมั่นคงและการประกอบชิ้นส่วนพระปรางค์หมายเลข 1-2 เข้าที่เดิม
ช่างผู้ปฏิบัติงานบูรณะพระปรางค์ได้เจาะหินเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสลึก 10 ซม.เป็นพื้นที่ขนาด 2 x 2 เมตร เว้นขอบด้านนอกและด้านในติดปล่องเอาไว้เพื่อให้เป็นส่วนยึดเกาะตัวกันระหว่างวัสดุเก่าและวัสดุเสริมความมั่นคงแข็งแรง


จากนั้น ได้ทำความสะอาดพื้นที่ก่อนจะเจาะเหล็กรูปตัวยูยึดหินแต่ละก้อนไว้ และอัดด้วยกาววิทยาศาสตร์ ก่อนจะใช้ปูนขาวหมักเทรองพื้นคานป้องกันมิให้ปูนซิเมนต์ซึมลงไปทำลายเนื้อวัสดุเดิม (ศิลาแลง) เมื่อปูนหมักแห้งได้ที่แล้วจึงวางตะแกรงเหล็กไร้สนิมลงไปแทนที่เนื้อศิลาแลงที่ถูกสกัดออกไป ก่อนจะเทคอนกรีตซึ่งมีส่วนผสม 1:2:4 ลงไปยึดโครงสร้าง คสล. โดยตะแกรงเหล็กมีระยะการผูกเหล็กห่างกัน 20 ซม.ใช้เหล็กไร้สนิมเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 มม.เป็นแกนตะแกรง ใช้เวลาประมาณ 5 วัน เพื่อให้ คสล.อบตัวและแห้งอย่างเหมาะสม (บ่ม คสล.โดยขังน้ำไว้) แล้วจึงนำศิลาของแต่ละชั้นมาประกอบเข้าตามเดิม โดยได้เจาะฝังเหล็กไร้สนิมรูปตัวยูลงบนหินแต่ละก้อนแบบก้อนต่อก้อน ทุกๆจุดของหินแต่ละชั้น


การยึดหินแต่ละก้อนด้วยเหล็กไร้สนิม มีการอัดกาววิทยาศาสตร์เพิ่มความมั่นคงแข็งแรงเข้าไปด้วยทุกครั้ง เหล็กไร้สนิมรูปตัวยูมีขนาดยาวประมาณ 30 ซม.ส่วนที่งอเป็นขอนั้นยาว 15 ซม.


ช่องว่างของศิลาแลงหรือศิลาทรายแต่ละแห่งของทุกๆชั้น จะถูกหยอดปูนขาวหมักได้ที่ป้องกันการซึมผ่านของน้ำและความชื้นระดับหนึ่ง


เมื่อเรียงหินเข้าที่เดิมแล้วจึงได้คัดก้อนที่มีสภาพชำรุดมากๆทิ้งไป แล้วนำวัสดุใหม่ (ศิลาแลงใหม่) เข้าไปเสริมแทนที่ ก่อนที่จะสกัดให้มีรูปทรงกลมกลืนกับวัสดุเดิมตามรูปแบบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม


หลังจากเรียงศิลาขึ้นไปจนถึงระดับของบัวยอดปรางค์ชั้นที่ 1 ของพระปรางค์ทั้งสององค์ จึงสกัดศิลาเพื่อเทคาน คสล.อีกชั้นหนึ่ง ตามขั้นตอนดังได้กล่าวไปข้างต้น แล้วจึงนำชิ้นส่วนต่างๆขึ้นไปเรียงตามตำแหน่งเดิม

การบูรณะซุ้มประตูของมุขทิศด้านตะวันออกของพระปรางค์หมายเลข 1 นั้นมีการปฏิบัติดังนี้


การเสริมความมั่นคงของซุ้มประตูมุขทิศด้านตะวันออกของปรางค์หมายเลข 1 ใช้วิธีการเจาะสอดเหล็กไร้สนิม เอียงเป็นมุม 30-60 องศา ยาว 100 ซม.เข้าไปฝังไว้ที่ด้านหลังของแนวสันหลังคามุขทิศด้านตะวันตก จำนวน 30 จุด แล้วอัดน้ำปูนขาวหมักเข้มข้นลงไปในช่องว่างเพื่อให้ปูนขาวยึดเหล็กกับศิลาแลงเข้าด้วยกันอย่างแข็งแรง

3. การเสริมวัสดุใหม่เข้าไปแทนที่วัสดุที่ชำรุด
ได้กล่าวไปแล้วในขั้นตอนของการเสริมความมั่นคงและการประกอบชิ้นส่วนพระปรางค์กลับที่เดิม

4. การบูรณะฝ้าเพดานภายในครรภคฤหะของพระปรางค์หมายเลข 1-2

จากการศึกษาเทคนิคของการทำฝ้าเพดานของพระปรางค์หมายเลข 1-2 นักโบราณคดี ได้พบว่า ช่างได้บากชื่อตัวบนกับตัวล่างก่อนวางประกบกัน และยึดด้วยเดือยหรือตะปูเหล็กหัวกลมขนาดใหญ่ ส่วนกระดานบุฝ้านั้นจะถูกยึดด้วยเดือยไม้แผ่นต่อแผ่นอย่างแน่นหนา และมีหลักฐานว่าฉนวนของพระปรางค์สามยอดทั้งสองแห่งก็น่าจะมีการบุฝ้าเพดานด้วยเช่นกัน


สำหรับการบูรณะนั้น วิศวกรได้ออกแบบให้ดำเนินการซ่อมแซมฝ้าเพดานของพระปรางค์หมายเลข 1-2 ใช้ฝ้าไม้เนื้อแข็งขนาด 1 x 8 นิ้ว โครงฝ้าเพดานใช้ของเดิม ขนาด 4 ½ x 6 นิ้ว โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกลมกลืน และความมั่นคงแข็งแรงของวัสดุที่จะใช้ให้สัมพันธ์กับโครงสร้างของสถาปัตยกรรม ซึ่งช่างไม้ของฝ่ายผู้ปฏิบัติงานบูรณะได้ยึดถือเป็นหลักสำคัญในการดำเนินการอย่างเคร่งครัด

5. ผลการปฏิบัติงาน
การบูรณะและเสริมความมั่นคงส่วนต่างๆ ซึ่งล่อแหลมต่อการปริแยกและทรุดพังของพระปรางค์สามยอดได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ผลการปฏิบัติจะทำให้องค์ปรางค์มีความมั่นคงแข็งแรงอยู่ได้ระดับหนึ่งจนกว่าส่วนประกอบซึ่งทำจากศิลาแลงและศิลาทรายชิ้นใดชิ้นหนึ่งขององค์ปรางค์จะปริแยกหรือตกหล่นลงมา เนื่องจากการเสื่อมสภาพของวัสดุเดิมที่ใช้ในการก่อสร้าง

6. การนำกลีบขนุนปรางค์และชิ้นส่วนกลีบขนุนปรางค์กลับขึ้นไปติดตั้งบนองค์ปรางค์
กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากความต้องการให้มีการนำเอาส่วนประกอบต่างๆ อาทิ กลีบขนุนปรางค์และชิ้นส่วนกลีบขนุนปรางค์ซึ่งตกหล่นลงมาจากหลังคาปรางค์กลับเข้าไปติดตั้งดังเดิม โดยได้นำชิ้นส่วนดังกล่าวมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นารายณ์ราชนิเวศน์ และกลีบขนุนปรางค์ที่พบจากการขุดแต่ง


นักโบราณคดีจึงดำเนินการปรึกษาหารือและค้นคว้าเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า ควรจะนำกลีบขนุนปรางค์กลับเข้าไปติดตั้งอย่างไร มิให้ขัดแย้งกับคติความเชื่อ ความเป็นมา และทิศทางการติดตั้งประติมากรรมตามจารีตดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมอันเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เนื่องจากเป็นเรื่องยากมากที่จะนำชิ้นส่วนซึ่งไม่ทราบตำแหน่งชัดเจนกลับขึ้นไปติดตั้งให้ถูกต้องได้
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเปรียบเทียบตำแหน่งของกลีบขนุนปรางค์เดิมของพระปรางค์สามยอดจากภาพถ่ายในอดีต และจากการเปรียบเทียบกับกลีบขนุนปรางค์ของปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ทำให้ได้ข้อยุติในชั้นต้นดังนี้


1.ปรางค์ทุกองค์จะมีเทพประจำทิศวางติดตั้งไว้ที่ส่วนกลางของซุ้มหน้าบันของชั้นเชิงบาตรแต่ละชั้นเหมือนกันหมด อาทิ ชั้นเชิงบาตรทิศตะวันออกทักชั้นของปรางค์ทุกองค์จะมีรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณติดตั้งไว้เสมอ เป็นต้น


2.ระหว่างเทพประจำทิศทั้งสองด้านจะติดตั้งกลีบขนุนปรางค์รูปนักบวช (เทวดา?)ยืนกุมกระบองขนาบเทพประจำทิศไว้ ด้านข้างของกลีบขนุนปรางค์รูปนักบวชจะมีกลีบขนุนปรางค์รูปเทพสตรียืนถือดอกบัวอยู่มุมละกลีบ ส่วนด้านข้างของเทพสตรีจะเป็นกลีบขนุนปรางค์รูปพญานาค 5 เศียร ติดตั้งอยู่มุมละ 2 ชิ้น

การติดตั้งกลีบขนุนปรางค์ ได้ดำเนินการโดยอาศัยหลักพิจารณามิให้เกิดความหนาแน่นมากเกินไป เนื่องจากมีกลีบขนุนปรางค์บางส่วนหายไปบ้าง เพื่อมิให้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมขาดความสมบูรณ์

บรรณานุกรม

ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรศักดิ์ก่อสร้าง. รายงานการบูรณะพระปรางค์สามยอด องค์หมายเลข 1 (ทิศเหนือ) ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี ปีงบประมาณ 2536

กองโบราณคดี กรมศิลปากร. เอกสารแถลงข่าวการบูรณะพระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี (พ.ศ.2537)

กองโบราณคดี กรมศิลปากร. ทฤษฎีและแนวปฏิบัติการอนุรักษ์อนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี,2532

กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82 เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน,2537