จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทฤษฎีกับวิชาโบราณคดี

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ความหมายของวิชาโบราณคดี
ตามโบราณราชประเพณี วิชาโบราณคดีเป็นวิชาหนึ่งในวิชาศิลปศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์จะต้องทรงได้รับการศึกษา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นักปราชญ์ในระยะแรกๆของการบุกเบิกค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ดำรัสในพระนิพนธ์เรื่องนิทานโบราณคดีว่า “เป็นเรื่องจริงที่ได้รู้เห็นมิได้คิดประดิษฐ์ขึ้น แต่เป็นเรื่องเกร็ดนอกพงศาวดาร จึงเรียกว่านิทานโบราณคดี”[1] ในมโนทัศน์นี้ “โบราณคดี” จึงเป็นเรื่องราวจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง สังคม วัฒนธรรม ประเพณีและศิลปกรรมแขนงต่างๆ

เจน แมคอินทอช(Jane McIntosh)ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพัฒนาการในการบุกเบิกทำงานของนักโบราณคดีแต่ละยุค ตั้งแต่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการจนถึงยุคปัจจุบัน อ้างคำกล่าวของวิลเลียม แคมเดน(William Camden, ชาวอังกฤษ ค.ศ.๑๕๕๑–๑๖๒๓)ว่า “การศึกษาเรื่องราวสมัยโบราณ(Antiquity-โบราณวิทยา) เปรียบเสมือนอาหารทิพย์อันเหมาะสำหรับคนซื่อสัตย์และมีเกียรติ” [2] และชี้ว่าโบราณคดีมีลักษณะของการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จ(total study)ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สิ่งของทุกอย่างที่เหลือจากอดีต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตขึ้นอีกครั้งหนึ่งเท่าที่จะสามารถทำได้ แม้ว่าหลายคนจะเข้าใจว่าโบราณคดีหมายถึงการขุดค้น แต่การขุดค้นที่ว่านี้ก็เป็นเพียงกระบวนการอย่างหนึ่งของกระบวนการหลายๆอย่างทางโบราณคดีเท่านั้นเอง[3]

ในทัศนะของไบรอัน เอ็ม. ฟากัน(Brian M. Fagan) โบราณคดีเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับอดีตของมนุษย์และพฤติกรรมของมนุษย์สมัยโบราณอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ของโบราณคดีเป็นส่วนหนึ่งของวิชามานุษยวิทยา[4] (Fagan, p.4)

ทฤษฎีกับวิชาโบราณคดี
สำหรับนักโบราณคดีชาวไทยแล้ว การนำแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีมาประยุกต์ใช้ในการทำวิจัยเป็นกระบวนการที่ยังไม่เห็นชัดเจนเท่าใดในปัจจุบัน นักวิชาการที่ศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา นับเป็นผู้รู้กลุ่มแรกๆที่ให้ความสนใจต่อการนำทฤษฎีมาเป็นแบบจำลองในการอธิบายเรื่องราวทางวิชาการอย่างโดดเด่น

อมรา พงศาพิชญ์ พยายามอธิบายให้เห็นพัฒนาการของทฤษฎีในการอธิบายองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๓ ดังปรากฏในงานเขียนเรื่อง “วัฒนธรรม ศาสนาและชาติพันธุ์: วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา” โดยเฉพาะใน พ.ศ.๒๕๔๓ งานเขียนเรื่อง “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม: กระบวนทัศน์และบทบาทในประชาสังคม”[5] ของเธอตอนหนึ่งได้อธิบายถึงทฤษฎีการแพร่กระจายวัฒนธรรมจากศูนย์กลางของรัฐด้วยการยกตัวอย่างที่โดดเด่นในงาน ธิดา สาระยา เรื่อง (ศรี)ทวารวดี ศรีศักร วัลลิโภดม เรื่อง “แอ่งอารยธรรมอีสาน”กับ “สยามประเทศ” และงานเขียนของสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา เรื่อง “น้ำ: บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย”[6]

งานวิจัยเรื่องวัฒนธรรมหมู่บ้านไทยของฉัตรทิพย์ นาถสุภาและพรพิไล เลิศวิชา อธิบายลักษณะทางวัฒนธรรมของหมู่บ้านไทย ๔ ภาคอย่างกลมกลืน ภายใต้การอ้างอิงหลักฐานพื้นเมืองและมานุษยวิทยา เพื่ออธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยไร้กลิ่นอายของทฤษฎีตะวันตก เว้นแต่เมื่อต้องการเชื่อมโยงคำอธิบาย จึงมีวิธีการนำเสนอที่อาจจับคู่เทียบได้กับแนวคิดของทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ในกรณีที่อธิบายถึงการผสมผสานความเชื่อล้านนาดั้งเดิมของศาสนาพุทธจากอินเดีย และการนับถือพระธาตุประจำดอยซึ่งพัฒนามาจากความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุในอินเดีย[7] เป็นต้น จึงนับเป็นพัฒนาการอีกรูปแบบหนึ่งในการนำเสนอทางวิชาการของนักวิชาการท่านนี้ แม้จะยังคงการนำทฤษฎีมาร์กซิสม์มาประยุกต์ใช้ ดังปรากฏในปาฐกถาเรื่อง “จากประวัติศาสตร์หมู่บ้านสู่ทฤษฎีสองระบบ” อันเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์หมู่บ้านไทย[8]

ผลงานวิจัยของนักวิชาการชาวไทยที่นำเอาทฤษฎีทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมของนักวิชาการตะวันตกมาปรับใช้อย่างชัดแจ้ง ปรากฏอยู่ในรายงานวิจัยเรื่อง “วิธีคิดของคนไทย: พิธีกรรม : ‘ข่วงฝีฟ้อน’ ของ ‘ลาวข้าวเจ้า’ จังหวัดนครราชสีมา” โดย สุริยา สมุทรคุปต์และคณะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (พ.ศ.๒๕๔๐) งานวิจัยชิ้นนี้พยายามที่จะอธิบายความหมายของคำว่า “วิธีคิด” ให้ชัดเจน ด้วยการลำดับแนวคิดของนักวิชาการทั้งชาวต่างประเทศตั้งแต่โคลด เลวี-เสตราส์(Claude Levi-Strauss) วิคเตอร์ เทอร์เนอร์และแมรี ดักลาส(Victor Turner and Mary Douglas) มิเชล ฟูโกลท์(Michel Foucault) และแนวคิดของนักวิชาการชาวไทยตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๔ หลวงวิจิตรวาทการ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ พระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยุตโต) จนถึงแนวคิดแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน นับเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการนำทฤษฎีทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมมาใช้ในการศึกษาชุมชนในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา[9] ซึ่งก็เป็นที่น่าสังเกตอยู่ไม่น้อยเช่นกันเกี่ยวกับความเหมาะสมของการนำแนวคิดแบบตะวันตกภายใต้วิธีการศึกษาแบบข้ามวัฒนธรรม(cross- cultural discipline)มาประยุกต์ใช้และเปรียบเทียบ เพื่อที่จะอธิบายวิธีคิดของชาวนาไทยในเขตพื้นที่ดังกล่าว

งานค้นคว้าวิจัยชิ้นหนึ่งของศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ ไฮแอม(Charles Higham) แห่งมหาวิทยาลัยโอทาโกและดร.รัชนี ทศรัตน์แห่งกรมศิลปากรเรื่อง “Prehistoric Thailand: From Settlement to Sukhothai” [10] เสนอเรื่องราวพัฒนาการของอารยธรรมในดินแดนประเทศไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยสุโขทัย โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งอาศัยกรอบแนวคิดและทฤษฎีการแพร่กระจายของวัฒนธรรม(cultural diffusionism) โดยมีกระบวนการแลกเปลี่ยนค้าขายและการเผยแพร่ศาสนา และทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยม(structural functionalism)[11] เป็นองค์ประกอบในการอธิบาย

ทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมนี้ แพร่หลายมากในสหรัฐอเมริกาโดยการริเริ่มของฟรอนซ์ โบแอส(Franz Boas)[12] ส่วนทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยมเป็นแนวคิดที่ริเริ่มสร้างสรรค์ โดย อัลเฟรด อาร์. แรดคลิฟฟ์-บราวน์(Alfred R. Radcliffe-Brown)ชาวอังกฤษเมื่อต้นศตวรรษที่๒๐ น่าเสียดายที่ไฮแอมและรัชนี ทศรัตน์มิได้บ่งชี้ชัดเจนว่า คำอธิบายในงานดังกล่าวอาศัยแนวคิดในทฤษฎีใด

ตัวอย่างเนื้อหาการประยุกต์ใช้ทฤษฎีในงานค้นคว้าของไฮแอมและรัชนี ทศรัตน์ ศึกษาได้จากข้อเสนอที่ระบุว่า รากฐานอารยธรรมในดินแดนประเทศไทยก่อตัวมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ การติดต่อกับสังคมต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อารยธรรมดังกล่าวมีความก้าวหน้า แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่สมัยเหล็กในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า สมาชิกของชุมชนมีฐานะมั่งคั่งจากหลักฐานสิ่งของที่ถูกฝังอยู่กับโครงกระดูกในหลุมศพ คนพื้นเมืองเหล่านี้เป็นคู่ค้าของพ่อค้าชาวอินเดีย ซึ่งนำสินค้านานาชนิดเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวอินเดียรู้จักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะที่เป็น “สุวรรณภูมิ(The Land of Gold)” สินค้าที่พ่อค้าอินเดียนำเข้ามาคือ เครื่องประดับจาก หินอะเกต เครื่องประดับจากหินคาร์เนเลียนและเครื่องประดับจากแก้ว ส่วนสินค้าที่พ่อค้าอินเดียนำกลับไป คือ เครื่องเทศ เครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะสำริดและทองคำ พ่อค้าอินเดียยังให้โอกาสผู้นำท้องถิ่นกว้านซื้อสินค้ามีค่าใหม่ๆ ทำให้ผลผลิตของสินค้าพื้นเมืองมีช่องทางในการระบายออกไป [13]

คำอธิบายของไฮแอมและรัชนี ทศรัตน์ระบุว่า การขยายอิทธิพลลงใต้ของราชวงศ์ฮั่นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๔ (๑๐๐ B.C.) ทำให้จีนเพิ่มความสนใจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องการรวบรวมสินค้าแปลกๆ อาทิ นอแรดและขนนกเท่านั้น หากแต่ยังต้องการขยายจักรวรรดิและอำนาจทางการเมืองของตนด้วย

ไฮแอม และรัชนี ทศรัตน์มองว่า การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้าต่างชาติเป็นปัจจัยสู่การมีอารยธรรมโดยอัตโนมัติเป็นข้อเสนอที่ยังไม่มีข้อยุติ เพราะก่อนหน้านี้ดินแดนประเทศไทยในอดีตอาจมีโครงสร้างทางสังคมที่ละเอียดอ่อน และมีกรอบที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว การที่ผู้นำพื้นเมืองจะยกสถานะของตนให้สูงขึ้น ก็เป็นเงื่อนไขสนับสนุนให้เกิดอารยธรรมเช่นกัน

การที่ชาวอินเดียนำความเชื่อทางศาสนาพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อเรื่องฐานะความเป็นเทพของปัจเจกบุคคลเข้ามา ความศรัทธาที่มีต่อพระศิวะจึงอาจส่งผลให้ “เจ้าเหนือหัว” มีฐานะประดุจเทพเจ้า ภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีจึงถูกนำมาใช้เพื่อสื่อความหมายที่ยากจะเข้าใจ เพื่อครอบงำความนับถือและความเกรงขามท่ามกลางผู้ไม่รู้หนังสือ และศาสนาสถานที่ก่อสร้างด้วยหินและอิฐซึ่งเริ่มแพร่กระจายทั่วไป เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงลัทธิการบวงสรวงในศาสนาพราหมณ์รูปแบบใหม่ อันนำมาสู่การอภิเษกศิวลึงค์หิน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจรัฐและผู้ปกครองรัฐ และเป็นศูนย์รวมการประกอบพิธีกรรมที่เข้ามาใหม่และทรงอำนาจ

ไฮแอมและรัชนี ทศรัตน์เห็นว่า เสียงสวดมนต์ของบรรดานักบวชในวิหารเทพเจ้าเป็นเสมือนเครื่องป้องกันรัฐและผู้นำ โดยมีชาวนาจากฐานล่างสุดของโครงสร้างสังคมรูปปิรามิดเป็นกลไกในการผลิตอาหารและปรนนิบัติเทวาลัยรองรับความเชื่อใหม่ที่เข้ามา

การนำแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีมาปรับใช้ในงานวิจัยจริงๆของนักโบราณคดีเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงในบทความนี้ งานวิจัยเรื่อง “โบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ซึ่งดร.รัศมี ชูทรงเดช [14] เป็นหัวหน้าโครงการจึงเหมาะที่สุดในการนำมากล่าวถึง

นอกจากการนำแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดีมาประยุกต์ใช้ในการทำวิจัยจะเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยชัดเจนดังได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ดร.รัศมี ชูทรงเดชยังชี้ว่า นักโบราณคดีไทยไม่เคยสร้างและพัฒนาทฤษฎีทางโบราณคดีมาก่อน ดังนั้นในบทที่ ๒ ว่าด้วยกรอบความคิดในการทำงานวิจัย จึงระบุว่า “การพัฒนาทฤษฎีเป็นความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการสร้าง ‘พลังทางปัญญา’ ในสังคมวิชาการของประเทศไทยโดยรวม เพื่อที่เราสามารถทะลายกำแพงของการใช้พื้นฐานแนวคิดของทฤษฎีจากนักวิชาการตะวันตกในการอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างไรก็ดีขณะที่เรายังไม่มีกระบวนสร้างทฤษฎีโดยนักวิชาการไทย ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ฐานความคิดของตะวันตกเป็นแนวทางไปก่อน โดยเฉพาะกระบวนการสร้างและแสวงหาความรู้” [15]

โครงการวิจัยเรื่อง “โบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” มีลักษณะเป็นโครงการวิจัยแนวมานุษยวิทยาโบราณคดี ดังนั้นแนวคิดหลักที่เป็นพื้นฐานในการวิจัยคือ การศึกษาวิวัฒนาการวัฒนธรรม(cultural evolution) ซึ่งหมายถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยอ้างอิงจากแนวคิดของเซอร์วิส(Service: 1973) และแนวคิดนิเวศวัฒนธรรม(cultural ecology) ซึ่งเน้นศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมจากการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม(Steward: 1973)

โครงการวิจัยข้างต้น มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม และเพื่อจัดหมวดหมู่ของหลักฐานโบราณคดีจากการสำรวจและขุดค้นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค โดยใช้วิธีการศึกษาแบบเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรม(cross-cultural analysis) ทั้งด้านโบราณคดีและชาติพันธุ์วิทยา เพื่ออธิบายปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อาทิ สภาพอากาศ การเพิ่มประชากร เทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น [16]

ดร. รัศมี ชูทรงเดชใช้นิยามเกี่ยวกับระดับสังคมที่เสนอโดย อัลมัน เซอร์วิส(Alman Service) อัลเลน จอห์นสัน(Allen Johnson)และทิโมธี เอิร์ล (Timorty Earle) เป็นแนวทางเบื้องต้นในการอธิบายลักษณะสังคมในอดีต ทั้งๆที่ทราบดีว่ากรอบคิดดังกล่าวถูกนักโบราณคดีสำนักคิดหลังกระบวนการ(post-processual)และสำนักคิดหลังสมัยใหม่(post-modern) วิจารณ์ว่าเป็นการมองสังคมแบบแช่แข็งเป็นเส้นตรงและหยุดนิ่ง จากคำอธิบายที่ว่าสังคมเริ่มมีวิวัฒนาการจากกลุ่มชน (band) ชนเผ่า(tribe) แว่นแคว้น(chiefdom) และรัฐ(state)[17]

ดร.รัศมี ชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมว่า การที่นำทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมมาใช้ในงานวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในการการจัดหมวดหมู่และทำความเข้าใจหลักฐานโบราณคดีที่พบในอำเภอปางมะผ้า เนื่องจากต้องการสร้างบรรทัดฐานในการเปรียบเทียบปรากฏการณ์และหลักฐานโบราณคดีในพื้นที่วิจัย โดยมิได้มองว่าวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของมนุษย์เป็นกระบวนการที่มึลักษณะเป็นเส้นตรงที่ผ่านขั้นตอนความเจริญที่เหมือนกัน แต่สนใจอธิบายพลวัติทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นในแต่ละช่วงเวลา ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงที่พร้อมกันหรือไม่พร้อมกันก็ได้ รวมถึงเงื่อนไขซึ่งทำให้วัฒนธรรมมีการปรับตัวที่เหมือนหรือแตกต่างกัน โดยยกตัวอย่างรูปแบบของหัวโลงศพไม้ที่เหมือนหรือต่างกันในเขตอำเภอปางมะผ้าว่า มีนัยสำคัญอย่างไรภายในสังคมของคนบนพื้นที่สูงเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว [18] เป็นต้น

นอกเหนือจากทฤษฎีวิวัฒนาการวัฒนธรรมและทฤษฎีนิเวศวัฒนธรรมแล้ว เมื่อกล่าวถึงสมมติฐานในงานวิจัย ดร.รัศมีระบุถึงทฤษฎีการปรับตัวของคนในสภาวะแวดล้อม ๓ เงื่อนไข ดังนี้

๑.การเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตจากการหาอาหารตามธรรมชาติมาเป็นการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ พัฒนามาจากการปรับตัวในพื้นที่ชายขอบที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์(marginal environments)

๒.การเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตจากการหาอาหารตามธรรมชาติเป็นการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์ พัฒนาขึ้นมาจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ(resource abundance)
๓.ถ้าสภาพแวดล้อมในสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย-โฮโลซีนตอนต้นในพื้นที่สูงของอำเภอปางมะผ้าคล้ายคลึงกับปัจจุบัน ข้อมูลสภาพแวดล้อมปัจจุบันก็สามารถถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการสร้างทฤษฎีเรื่องการปรับตัวของคนกับสภาพแวดล้อมในอดีตในพื้นที่วิจัยได้ [19]

ดังนั้น จากตัวอย่างแนวคิด ทฤษฎี วัตถุประสงค์และสมมติฐานที่นำเสนอในกรอบความคิดของดร.รัศมี ผู้วิพากษ์เชื่อว่า น่าจะทำให้สามารถสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อาทิ สภาพอากาศ การเพิ่มประชากร เทคโนโลยีการผลิตได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

วิธีคิดในการศึกษาวิชาโบราณคดีผ่านกรอบคิดและทฤษฎีแบบตะวันตกของนักโบราณคดีบางท่านก็น่าสนใจไม่น้อย

ดร.สว่าง เลิศฤทธิ์เคยบรรยายถึงนักโบราณคดีชาวตะวันตกบางคนที่เสนอว่า ในกลุ่มชนบางแห่งมีความเชื่อเชิงสัญลักษณ์ว่า ภาชนะดินเผามีอวัยวะต่างๆเปรียบได้กับอวัยวะของคน ได้แก่ ตัว ขา หู ก้น ฯลฯ แต่ผู้วิพากษ์ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมนุษย์มิได้ผูกพันมากมายกับ “หม้อ” “ไห” “เครื่องใช้”ต่างๆในชีวิตประจำวันถึงขนาดนั้น จนถึงกับถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องอธิบายเชื่อมโยงและบ่งชี้ให้เห็นนัยทางวัฒนธรรมที่แฝงอยู่

ผู้วิพากษ์กลับคิดว่า ข้าวของและเครื่องใช้อื่นๆจำนวนไม่น้อยในสังคมโบราณทั้งที่ใช้ในพิธีกรรมและนอกพิธีกรรมต่างก็มีส่วนประกอบที่เทียบเคียงได้กับอวัยวะของมนุษย์ อาทิ ขา หู ตัว ก้น ฯลฯ ทั้งสิ้น ได้แก่ เครื่องใช้ประเภท เตา ตู้ โต๊ะ เตียง เป็นต้น ส่วนพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ตามความเชื่อก็มีนัยปรากฏชัดเจนแล้วในวัตถุทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับลัทธิความเชื่อ เช่น ในตัวอย่างหยาบๆที่นึกขึ้นมาได้ตอนนี้ คือ กลองมโหระทึก บั้งไฟ รูปวีนัส เดอ วิลเลนดอล์ฟ(Venus de Villendolf) โยนี ลึงค์ เป็นต้น

แบบเสนองานวิจัยซึ่งดร.สว่าง เลิศฤทธิ์เป็นหัวหน้าโครงการเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ เรื่อง “พัฒนาการของความซับซ้อนทางสังคมและการเมืองจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในเขตที่ราบลุ่มทางตะวันตกของภาคกลาง” ระบุว่า การศึกษาทางโบราณคดีเกี่ยวกับลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองในสังคมที่เริ่มซับซ้อน(early complex societies)บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย เคยมีผู้ศึกษาไว้แล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ Wales(1969) ภาควิชาโบราณคดี(๒๕๒๓) ผาสุข อินทราวุธ(๒๕๒๖) Glover(1989) สุรพล นาถะพินธุ(๒๕๓๘) Mudar(1993, 1999) ฯลฯ ผลการศึกษาของนักวิชาการเหล่านี้ บ่งชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์(๕๐๐ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ.๕๐๐)จากการดำรงชีพด้วยการเก็บของป่า ล่าสัตว์เพาะปลูกพืชบางชนิด และติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน มาเป็นการเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก โดยชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเป็นชุมชนขนาดเล็กกระจายอยู่ในเขตพื้นที่ป่าหรือที่ราบเชิงเขา ครั้นถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ตอนต้นมีการเคลื่อนย้ายชุมชนเข้าไปอยู่ริมแม่น้ำในที่ราบลุ่มเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๐–๓๐ เมตร ซึ่งมีพื้นที่เหมาะสำหรับการเกษตรกรรม ลักษณะชุมชนเป็นแบบมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผู้วิจัยอ้างข้อเสนอของดร.ธิดา สาระยาว่า ชุมชนเหล่านี้มีการจัดลำดับชนชั้นทางการปกครองในลักษณะที่ซับซ้อนมากขึ้น

ประเด็นที่ผู้วิจัยตั้งคำถาม คือ การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในช่วงเวลาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างไรและผลที่ตามมาคืออะไร นอกจากนี้ผู้วิจัยเสนอว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความซับซ้อนทางสังคมและการเมือง ได้แก่ การเพิ่มของประชากร การขยายพื้นที่ของชุมชนและเครือข่าย ลักษณะโครงสร้างทางการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ รูปแบบการตั้งถิ่นฐานแบบเมืองศูนย์กลางและบริวาร ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การควบคุมผลผลิตทางเศรษฐกิจหรือการค้า และการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนหรือภูมิภาค เป็นต้น

แบบเสนอโครงการวิจัยนี้ มีการนำเสนอสมมติฐานและปัญหาในการวิจัยน่าสนใจ ๔ ประการ[20] ประการที่๑ คือ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายมีหลักฐานบ่งชี้ถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในสังคม อาทิ ของหายากและมีคุณค่าสูง ได้แก่ ลูกปัด กำไลสำริด ต่างหูและภาชนะดินเผาบางประเภท ประการที่๒ คือ การควบคุมผลผลิตส่วนเกินและการรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจอาจบ่งชี้ถึงความซับซ้อนทางสังคมโดยชนชั้นผู้นำ การศึกษาการจัดระเบียบการผลิตภาชนะดินเผา(ceramic production organization) ๓ ปัจจัย ได้แก่ ขนาด ความหลากหลายและการทำให้เป็นมาตรฐาน จะสามารถบอกได้ว่าการผลิตนั้นควบคุมโดยชนชั้นผู้นำหรือเป็นกิจกรรมในครัวเรือน แต่เสียดายที่ปราศจากกรอบโครงทฤษฎีทางโบราณคดีที่ชัดเจน ประการที่๓ คือ การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการบริโภคสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของการผลิตภาชนะดินเผาและกิจกรรมอื่นๆ อาทิ กิจกรรมที่สัมพันธ์กับการรักษาสถานภาพของชนชั้นผู้นำหรือกิจกรรมประจำปีของชุมชน ได้แก่ การจัดงานเลี้ยง โดยสามารถอธิบายได้จากการวิเคราะห์ขนาด ความหลากหลายและการทำให้เป็นมาตรฐานของภาชนะดินเผา ประการที่๔ แหล่งโบราณคดีแต่ละแห่งมีความเก่าแก่ไม่เท่ากัน หากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองได้ชัดเจนก็สามารถลำดับความเก่าแก่ของหลักฐานและแหล่งโบราณคดีได้อย่างเป็นระบบและถูกต้อง

น่าเสียดายที่ในแบบเสนอโครงการวิจัยนี้ยังไม่เห็นพัฒนาการเด่นชัดในการประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางโบราณคดี และเป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งๆที่ยังมิได้ระบุว่าจะเลือกแหล่งโบราณคดีแห่งใดเป็นสถานที่ขุดค้น การตั้งประเด็นในการอธิบาย“พัฒนาการของความซับซ้อนทางสังคมและการเมืองจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในเขตที่ราบลุ่มทางตะวันตกของภาคกลาง” โดยเน้นการจัดระเบียบการผลิตภาชนะดินเผา การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการบริโภคและการจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งโบราณคดีและชุดหลักฐาน จะสามารถตอบคำถามที่ตั้งไว้ได้มากน้อยเพียงใด หากปราศจากกรอบโครงทางทฤษฎีเมื่อเทียบกับการศึกษาหัวข้อเดียวกันในสมัยประวัติศาสตร์ซึ่งเต็มไปด้วยหลักฐานเอกสาร

บทความของมิเชลล์ เฮกมอน (Michelle Hegmon) เรื่อง “Setting Theoretical Egos Aside: Issues and Theory in North American Archaeology.” ตีพิมพ์ในวารสาร The American Antiquity 68(2), 2003 กล่าวโดยสรุปถึง ทฤษฎีในวิชาโบราณคดีของอเมริกาเหนือ มีลักษณะมุ่งสร้างความชัดเจนของประเด็นคำถามต่างๆทางการวิจัย มากกว่าจะชี้ชัดหรือถกเถียงเกี่ยวกับฐานะตัวตน(position)ของทฤษฎี เฮกมอนไม่ปฏิเสธว่าทฤษฎีบางอย่างก็มีแนวคิดชัดเจน เช่น ทฤษฎีนิเวศวิทยาวิวัฒนาการ(Evolutionary Ecology) ทฤษฎีโบราณคดีเชิงพฤติกรรม(Behavioral Archaeology)และทฤษฎีโบราณคดีวิวัฒนาการสำนักดาร์วิน (Darwinian Archaeology) นักโบราณคดีส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือเรียกทฤษฎีเหล่านี้ว่า “กลุ่มแนวคิดแบบ processual - plus” [21] และยังมีกลุ่มทฤษฎีที่สนใจเรื่องเพศสภาวะ(Gender) ทฤษฎีผู้กระทำ(Agency/ practice) ทฤษฎีสัญลักษณ์และความหมาย(Symbols and meaning) ทฤษฎีวัฒนธรรมทางวัตถุ(Material culture)และทฤษฎีที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของชาวพื้นเมือง(Native perspectives)ด้วย เธออธิบายว่า โบราณคดีเพศสภาวะ(Gender archaeology)ก็มีกระบวนทัศน์แบบเดียวกับแนวคิดแบบprocessual-plus ซึ่งมีความหลากหลายในการนำเสนอประเด็นธรรมดาๆทั่วไปให้น่าสนใจ และเชื่อว่าการเน้นทฤษฎีผู้กระทำ(agency/ practice)ถือเป็นพัฒนาการสำคัญ แม้ว่ามโนทัศน์(conceptions)เรื่องนี้มักจะถูกนำไปโยงกับปัจเจกชน(individuals)และแนวคิดเกี่ยวกับแรงจูงใจ(motivation)แบบตะวันตกก็ตาม ที่สำคัญก็คือนักโบราณคดีส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือ รวมทั้งพวกที่ยึดทฤษฎีหลังกระบวนการ(post processual) มักถูกจัดอยู่ในกลุ่มทันสมัย(modern)มิใช่กลุ่มหลังทันสมัย(Postmodern) ซึ่งการขาดกระบวนการถกเถียงทางทฤษฎีนี้ แม้จะก่อให้เกิดความหลากหลายและการพูดคุยที่ชัดเจน แต่ก็อาจทำให้ทฤษฎีทางโบราณคดีในอเมริกาเหนือขาดความรอบคอบอย่างเพียงพอ และอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อแนวทางของทฤษฎีแบบPost modernism ก็ได้

[1] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิทานโบราณคดี. (กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, ๒๕๑๗). หน้า -ข-
[2]Jane McIntosh. The Practical Archaeologist.(Second edition). ( Hong Kong: Facts On File, Inc., 1999.), p.2.
[3] Jane McIntosh. Ibid.
[4] Fagan, Brian M. Archaeology: A brief Introduction. Eighth Edition. (New Jersey. Upper Saddle River, 2003)
[5] อมรา พงศาพิชญ์. วัฒนธรรม ศาสนาและชาติพันธุ์: วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา. (พิมพ์ครั้งที่๕). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑. และ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม: กระบวนทัศน์และบทบาทในประชาสังคม. (พิมพ์ครั้งที่๒). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓.
[6] อมรา พงศาพิชญ์. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม: กระบวนทัศน์และบทบาทในประชาสังคม. (พิมพ์ครั้งที่๒). (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓) หน้า๒๒–๒๖. ดูรายละเอียดใน ธิดา สาระยา. (ศรี) ทวารวดี. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๘. ศรีศักร วัลลิโภดม. แอ่งอารยธรรมอีสาน. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, ๒๕๓๓. ศรีศักร วัลลิโภดม. สยามประเทศ: ภูมิหลังของประเทศไทยตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๙. สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา. น้ำ: บ่อเกิดวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๙..
[7] ฉัตรทิพย์ นาถสุภาและพรพิไล เลิศวิชา. วัฒนธรรมหมู่บ้านไทย. (กรุงเทพฯ: เดือนตุลาการพิมพ์, ๒๕๔๑), หน้า ๓และหน้า๓๐ เป็นต้น
[8] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. “จากประวัติศาสตร์หมู่บ้านสู่ทฤษฎีสองระบบ” ปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ครั้งที่๑๓ จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ เลา ๑๓.๐๐–๑๕.๐๐ น. สถาบันราชภัฏสุรินทร์จัดพิมพ์เนื่องในวาระครบรอบ ๖๐ ปี ศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสภา พ.ศ.๒๕๔๕. หน้า ๑๕–๓๗.
[9] สุริยา สมุทคุปติ์. วิธีคิดของคนไทย: พิธีกรรม : ‘ข่วงฝีฟ้อน’ ของ ‘ลาวข้าวเจ้า’ จังหวัดนครราชสีมา (นครราชสีมา: สมบูณ์การพิมพ์, ๒๕๔๐), หน้า๕๗–๑๑๕.
[10] Charles Higham and Rachanie Thosarat, Prehistoric Thailand: From Settlement to Sukhothai. (Bangkok: River Book, 1994 ), 144-173.
[11] ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยมเน้นว่าสังคมมนุษย์มีโครงสร้างหน้าที่หลายส่วน แต่ละส่วนก็ทำงานสอดประสานกับส่วนอื่นๆ เพื่อรักษาสมดุลหรือเสถียรภาพของสังคมไว้ให้ราบรื่น, สว่าง เลิศฤทธิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๘๗.
[12] อมรา พงศาพิชญ์. วัฒนธรรม ศาสนาและชาติพันธุ์: วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา. ( พิมพ์ครั้งที่๕).(กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑) หน้า๑๑๘.และอมรา พงศาพิชญ์. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม: กระบวนทัศน์และบทบาทในประชาสังคม. (พิมพ์ครั้งที่๒). (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๑๑–๑๒.
[13] Charles Higham and Rachanie Thosarat, Ibid., 173-175.
[14] ผู้สอนวิชา Theories in Archaeology ของภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในภาคเรียนที่๒ ปีการศึกษา ๒๕๔๘.
[15] รัศมี ชูทรงเดช. โบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์, ๒๕๔๗), หน้า๒๑.
[16] รัศมี ชูทรงเดช. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๒.
[17] หน้าเดียวกัน.
[18] รัศมี ชูทรงเดช. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๒–๒๓.
[19] รัศมี ชูทรงเดช. เรื่องเดียวกัน. หน้า๒๖–๒๘.
[20] สว่าง เลิศฤทธิ์. แบบเสนอโครงการวิจัยประกอบการขอรับทุนอุดหนุนการวิจัยเรื่อง “พัฒนาการของความซับซ้อนทางสังคมและการเมืองจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในเขตที่ราบลุ่มทางตะวันตกของภาคกลาง.
[21] คือ ทฤษฎีที่มุ่งผสมผสานแนวคิดทั่วไปของกลุ่มโบราณคดีกระบวนการ(processual archaeology) เข้ากับทฤษฎีของกลุ่มโบราณคดีหลังกระบวนการ(post-processual)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น