จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ข้อเสนอแนวทางการวิเคราะห์หลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีเรื่งชุมชนเมืองศรีเทพ

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

๑.กล่าวนำ

สิ่งสำคัญของการศึกษาวิชาการทางด้านโบราณคดี คือ ขั้นตอนการวิเคราะห์ร่องรอยทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจากหลักฐานสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิเคราะห์โบราณวัตถุและสิ่งที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถาน เพื่ออธิบาย เปรียบเทียบ ตีความ และกำหนดอายุสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต พฤติกรรม คติความเชื่อและเรื่องราวของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในอดีต

โดยทั่วไปหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ทางด้านโบราณคดี อาจจำแนกเป็นเครื่องมือหิน ไม้ ถ่าน ภาชนะดินเผา เครื่องมือโลหะเครื่องใช้โลหะ ลูกปัด เครื่องประดับซึ่งทำจากแก้ว หิน แร่ ประติมากรรม ศิลาจารึก รวมถึงละอองเกสรดอกไม้ เมล็ดพืช/ธัญพืช และกระดูกสัตว์ การวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีหลากหลายมาใช้ ในการวิเคราะห์หลักฐานข้างต้น อาทิ การใช้รังสีเอกเรย์ถ่ายภาพกระดูก /ไม้ /หีบศพหรือโลหะ เพื่อศึกษาสภาพภายในของวัตถุหรือมัมมี่ เพื่อหาร่องรอยโรคบางอย่าง ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปอ่านภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อหาร่องรอยทางเดินสมัยโบราณ(Silencio phase path) สถิติ กราฟ เป็นต้น

๒.กระบวนการวิเคราะห์ทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้อง

กรอบโครงของการวิเคราะห์ทางโบราณคดี ซึ่งได้เลือกสรรมาใช้เป็นข้อเสนอในการวิเคราะห์ผลการขุดค้นทางโบราณคดีเรื่องชุมชนก่อนเมืองศรีเทพของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพประกอบด้วยกระบวนการต่างๆทางวิชาการ ๑๐ วิธี ตามลำดับการปฏิบัติงาน ดังนี้

๒.๑. ข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing)และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geography Information System - GIS)ในงานโบราณคดี

ข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing)ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geography Information System GIS ) หมายถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลทางภูมิศาสตร์อย่างเป็นระบบเพื่อใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนการตัดสินใจดำเนินการด้านต่างๆทางโบราณคดี อาทิ การสำรวจแหล่งโบราณคดี คูน้ำ คันดิน การเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำ การศึกษาร่องรอยของโบราณสถานทั้งบนดิน(Surface Feature)และใต้ดิน (Subsurface Feature) รวมถึงลักษณะแหล่งน้ำสระน้ำโบราณหรือสภาพแวดล้อมดั้งเดิมในอดีต โดยอาศัยข้อมูลจากแผนที่ ภาพถ่ายจากดาวเทียมในสภาวะต่างๆมาประกอบกัน

๒.๒ หลักประติมานวิทยา(Iconography)/ การศึกษาศิลาจารึก (Inscription)/ การศึกษาอนุสรณ์สถาน (Monuments )

หลักประติมานวิทยา(Iconography)/ คือ การศึกษาคติความเชื่อทางศาสนาหรือวัฒนธรรมของมนุษย์ในอดีตจากหลักฐานรูปเคารพหรือรูปแกะสลักที่มนุษย์สร้างขึ้น

การศึกษาจารึก (Inscription ) การศึกษาเปรียบเทียบรูปรอยเส้นอักษรที่จารบนหินหรือวัตถุอื่นๆ เพื่อกำหนดอายุแหล่งโบราณคดี

การศึกษาอนุสรณ์สถาน(Monuments ) การศึกษาอนุสรสถาน สถาปัตยกรรม องค์ประกอบและชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมเพื่ออธิบายคติ ความเชื่อ รูปแบบ เทคโนโลยีและอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจากการติดต่อกับชุมชนภายนอก

๒.๓ การกำหนดอายุทางโบราณคดีจากเครื่องมือหิน(Dating Lithic Manufacturing)

การกำหนดอายุทางโบราณคดีจากการศึกษาเครื่องมือหิน (Dating Lithic Manufacturing) ในทางโบราณคดีการวิเคราะห์เครื่องมือหินจำเป็นต้องอาศัยพื้นฐานเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจวัดเครื่องมือหินทางกายภาพหลายรูปแบบ อาทิ การสังเกตจำแนกรูปแบบอันเกิดจากเทคนิคการผลิตเครื่องมือหิน(the type of lithic manufacturing techniques) รวมทั้งคุณลักษณะและรูปลักษณ์ เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบให้เห็นว่า หินดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้น (archaeological material)ไม่ใช่หินในธรรมชาติ เพื่อศึกษาวิถีชีวิต พฤติกรรม รูปแบบและเทคโนโลยีของชุมชนโบราณในแหล่งโบราณคดี

๒.๔ การวิเคราะห์ภาชนะดินเผา (Pottery Analysis )

การวิเคราะห์ภาชนะดินเผา (Pottery Analysis ) เป็นกระบวนการทางวิชาการที่เกิดขึ้นสืบเนื่องภายหลังการขุดค้นภาคสนาม โบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผาหรือเศษภาชนะดินเผาจะถูกนำไปยังห้องศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดี(archaeological laboratory)เพื่อผ่ากระบวนการวิเคราะห์ ขั้นตอนเบื้องต้นนั้น เริ่มต้นการล้างเพื่อทำความสะอาด นับจำนวน ชั่งน้ำหนักและจำแนกประเภทตามลักษณะหน้าที่และการใช้งาน (function and attributes) กระบวนดังกล่าวดำเนินการเพื่อตอบปัญหาการวิจัยเกี่ยวกับวิถีชีวิต เทคโนโลยี การติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนทางการค้า ระหว่างชุมชน ฐานะทางเศรษฐกิจในครัวเรือนของชุมชนผู้เป็นเจ้าของแหล่งโบราณคดี

ภาชนะดินเผาจึงเป็นโบราณวัตถุสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับการทำงานในฐานะนักโบราณคดีเนื่องจากภาชนะดินเผาไม่ใช่วัตถุที่สลายตัวง่าย (decomposed ) ดังเช่น อาหาร ผ้าและอินทรีย์วัตถุอื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถขุดค้นพบได้ในแหล่งโบราณคดีด้วยปริมาณมหาศาลด้วย

รูปแบบของภาชนะดินเผาและเทคโนโลยีการผลิตยังมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาและสถานที่ของแหล่งผลิต แหล่งวัตถุดิบและส่วนผสม ภาชนะดินเผาจึงเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สามารถบ่งชี้อายุสมัยของแหล่งโบราณคดีและปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม การศึกษารูปแบบ ขนาด การตกแต่งลวดลายและเทคนิคการเคลือบ จึงมีความสำคัญต่อการจำแนกและบ่งชี้อัตลักษณ์และความแตกต่างทางวัฒนธรรมในแหล่งโบราณคดี

๒.๕ การศึกษาโลหะวิทยาทางโบราณคดี (Archaeo-metallurgy)

การศึกษาโลหะวิทยาทางโบราณคดี (Archaeo-metallurgy ) เพื่ออธิบายให้ทราบถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือ เครื่องใช้และเครื่องประดับที่ทำขึ้นมาจากโลหะต่างๆ เช่น ทองแดง สำริด เหล็ก ฯลฯ แหล่งผลิต แหล่งแร่ รูปแบบและเทคนิคการผลิต

การศึกษาโลหะวิทยาทางโบราณคดี สามารถช่วยให้นักโบราณคดีสามารถอธิบายเรื่องราวการแพร่กระจายและการติดต่อของชุมชนโบราณ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรแร่ธาตุและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในอดีตได้อย่างถูกต้อง

๒.๖.การวิเคราะห์พืชพรรณทางโบราณคดีและเมล็ด (Floral Analysis and Rice Analysis )

การศึกษาวิเคราะห์ลักษณะพืชพรรณทางโบราณคดี (Floral Analysis ) เป็นการศึกษาเปรียบเทียบหลักฐานพืชพรรณที่ขุดค้นพบในหลุมขุดค้นทางโบราณคดีเพื่ออธิบายสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่และสภาพการเชื่อมโยงลักษณะทางนิเวศวิทยาในอดีตของแหล่งโบราณคดี รวมถึงการศึกษาพันธุ์ข้าวและการแพร่กระจายของพันธุ์ เพื่ออธิบายรูปแบบและขนาดของเขตเศรษฐกิจในแหล่งโบราณคดีอีก

๒.๗การวิเคราะห์ลูกปัดและเครื่องประดับจากแก้ว (Glass/ Bead Analysis)

การวิเคราะห์ลูกปัดและเครื่องประดับจากแก้ว (Glass/ Bead Analysis) เพื่อหาคำอธิบายเกี่ยวกับวัตถุดิบ รูปแบบ ทรวดทรง ขนาด สี ลวดลาย เทคโนโลยี แหล่งผลิต ร่องรอยอันบ่งบอกเทคนิคการผลิต ส่วนผสมทางเคมี คติความเชื่อที่เกี่ยวข้อง ความหนาแน่น การแพร่กระจายและการติดต่อกับชุมชนภายนอก

๒.๘ การวิเคราะห์กระดูกสัตว์ (Faunal Analysis )

การวิเคราะห์กระดูกสัตว์ (Faunal Analysis ) เป็นการศึกษาลักษณะทางกายภาพของกระดูกเพื่อช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมในอดีตของมนุษย์ กระดูกสัตว์เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ช่วยให้เราสามารถอธิบายเรื่องราวต่างๆได้มากมาย การศึกษากระดูกสัตว์อย่างระมัดระวังอาจช่วยให้เราได้ข้อมูลสำคัญ อาทิ อาหารที่สัตว์แต่ละประเภทกินเข้าไป จำนวนและประเภทของกลุ่มที่เข้าใช้พื้นที่ในแต่ละฤดูกาล สัตว์บางประเภทมีชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่เฉพาะถิ่น การปรากฏตัวของสัตว์แต่ละชนิดอาจเป็นร่องรอยให้เราอธิบายเงื่อนไขแวดล้อมทางภูมิอากาศที่เหมาะสมกับสัตว์แต่ละชนิดได้

กระดูกสัตว์ที่พบ ในแหล่งโบราณคดี มักพบอยู่รวมกันเป็นกองๆ แต่ละกองอาจมีกระดูกสัตว์ต่างชนิดกันเมื่อนำเข้าไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ กระดูกสัตว์ที่พบในแหล่งโบราณคดีอาจจำแนกเป็น กระดูกสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนม (Land mammal) สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม( Sea mammal) นก ปลา เปลือกหอยฝาเดียว (Univalves) เปลือกหอยสองฝา (Bivalves) และหอยประเภทอื่น อาทิ หอย Chitons และ หอยขนาดเล็กแบบBarnacles เป็นต้น

๒.๙การกำหนดอายุโบราณวัตถุทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถระบุได้แน่นอน(Absolute Dating)และการกำหนดอายุจากการเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะ(Relative Dating )

เทคนิคการกำหนดอายุโบราณวัตถุทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถระบุเวลาได้แน่นอน(Absolute Dating) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อนักโบราณคดี และการกำหนดอายุหลักฐานโบราณคดีโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นวิธีการระบุอายุของสิ่งต่างๆซึ่งแม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ วิธีการดังกล่าวประกอบด้วยกระบวนการดังนี้

Dendrochronology การศึกษาวงปีของต้นไม้ (study of tree ring patterns) จากพื้นฐานการเจริญเติบโตแต่ละปีของต้นไม้ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของแต่ละปี อาจบ่งชี้ให้เห็นถึงความชุ่มชื้นหรือความแห้งแล้งของสภาพภูมิประเทศในอดีตที่เกี่ยวเนื่องกับแหล่งโบราณคดีและหลักฐานโบราณคดีที่พบจากการขุดค้น ปีใดฝนตกชุกและน้ำมาก วงปีของต้นไม้ก็จะกว้าง ปีใดฝนแล้งและน้ำน้อยวงปีของต้นไม้ก็จะแคบ

Archaeomagnetism การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลก ( the earth's magnetic field)ในช่วงเวลาต่างๆที่ตกค้างฝังอยู่ในวัตถุต่างๆ อาทิ แผ่นดินเผา (baked clay) เตาเผาเครื่องถ้วยชาม ดินในแหล่งโบราณคดีถูกเผาด้วยอุณหภูมิประมาณ ๗๐๐ องศา เซลเซียส หรือหินภูเขาไฟ เมื่อเย็นลงในสนามแม่เหล็กโลกวัตถุนั้นจะมีความเป็นแม่เหล็กอ่อนคงที่ขนานไปกับแนวสนามแม่เหล็กโลก พื้นที่ดังกล่าวจะบันทึกเรื่องทิศทางสนามแม่เหล็กโลก หลังจากที่ได้มีการเผาครั้งสุดท้ายซึ่งสามารถตรวจวัดได้

Thermoluminesence การหาอายุทางวิทยาศาสตร์จากการปล่อยพลังงานแรงสูงของรังสี(รังสีอัลฟา เบตา แกมมา) แสงที่เปล่งออกมาจากวัตถุที่ถูกเผา โดยเฉพาะเศษภาชนะดินเผา สามารถนำไปวัดค่าและกำหนดอายุที่แน่นอนได้

Radio Carbon (C-14 ) การหาอายุของอินทรีย์วัตถุ อาทิ ไม้ กระดูกคน/ สัตว์ ถ่าน จากการสลายตัวของกัมมันตภาพรังสีซึ่งผสมผสานอยู่ในร่างกายของมนุษย์จากการเผาผลาญก๊าซ ออกซิเจน

นอกจากการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการหาอายุทางวิทยาศาสตร์แบบ Absolute dating ประเภทอื่นๆอีก ได้แก่ การวิเคราะห์จากวงจรชีวิตของปะการัง (coral growth cycles ) การสะสมของชั้นตะกอนดินของแต่ละปี (Varves : annual clay sediment layers) รวมถึงวิธีการวิเคราะห์ผลจากการแผ่รังสีของธาตุต่างๆ อาทิ Uranium, Thorium, and Potassium เข้าไปในองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งเรียกว่ากระบวนการแบบ Radio Active Carbon เป็นต้น

การกำหนดอายุจากการเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะ(Relative Dating)

-การกำหนดอายุจากการเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะ(Relative Dating) เป็นอีกกระบวนการที่นักโบราณคดีนำมาใช้ในการกำหนดอายุหลักฐานโบราณคดี การกำหนดอายุจากการเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะ หมายถึง การนำสิ่งที่พบใหม่ไปเปรียบเทียบและกำหนดอายุกับสิ่งที่พบอยู่ก่อนและทราบอายุสมัยแล้ว วิธีนี้อาจมีความผิดพลาดได้ แต่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเบื้องต้น

-การศึกษารูปแบบ(Typology) เน้นความคล้ายคลึงกันของรูปแบบโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบเพื่อการกำหนดอายุ

-การพิจารณาวิวัฒนาการของรูปแบบศิลปะ(Evolution of Style) เป็นเรียงลำดับอายุสมัยของโบราณวัตถุที่พบและสามารถกำหนดอายุได้แล้วจากจารึก หรือจากหลักฐานและวิธีการทางวิชาการอื่นๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบ่งบอกให้ทราบถึงลำดับก่อนหลังของรูปแบบและลวดลายทางศิลปะที่ปรากฏอยู่ในโบราณวัตถุที่พบ อาจยกตัวอย่างเช่น จารึกของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ กล่าวถึงการสร้างปราสาทเขาพระวิหารในพุทธศตวรรษที่๑๖ แต่จากการศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบและวิวัฒนาการทางศิลปะกลับบ่งชี้ว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างสมัยหลังพุทธศตวรรษที่๑๖

-การกำหนดอายุของวัตถุซึ่งพบอยู่ด้วยกัน(Associated finds) วัตถุทำขึ้นสมัยเดียวกันย่อมฝังอยู่ด้วยกัน ตัวอย่างเช่น หลุมศพบ้านเชียงพบหม้อลายเขียนสี ๔ ใบวางเหนือหัว ด้านขวาวางหอกเหล็ก ๑ เล่ม ข้อมือสวมกำไลสำริด ปลายเท้ามีหม้อเขียนสี ๓ใบ

-การวิเคราะห์ชั้นดิน(Stratigraphical Analysis) วิเคราะห์โบราณวัตถุในดิน สีดิน ลักษณะดิน ชั้นดิน ชั้นไม่มีวัฒนธรรม(sterile layer) จะไม่ปรากฏหลักฐานโบราณคดี ชั้นที่อยู่อาศัย(Living floor) จะมีการแพร่กระจายของ artifacts ชั้นอินทรียวัตถุ (Humus layer) เป็นชั้นดินธรรมชาติ / ชั้นวัฒนธรรมที่อยู่ด้านล่างสุดจะเก่าแก่ที่สุด ชั้นวัฒนธรรมที่อยู่ถัดขึ้นมาจะมีอายุน้อยกว่าลงไปเรื่อยๆ

๒.๑๐ Isotopic Analysis

Isotopic Analysis เป็นวิธีการกำหนดอายุจากสารเคลือบกระดูกและฟัน(enamel) ซึ่งปรากฏอยู่ทั้งในกระดูกและฟันของมนุษย์จนกระทั่งวันสุดท้ายแห่งการมีชีวิตของบุคคลหรือสัตว์นั้น

๓.การเลือกแหล่งขุดค้นเป็นโจทย์เพื่อเสนอแนวทางการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีที่เหมาะสมในการนำข้อเสนอพื้นฐานเพื่อการวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดีไปใช้มากที่สุด คือ แหล่งโบราณคดีในพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพ ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากนักโบราณคดีได้ค้นพบหลักฐานต่างๆในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้อย่างหลากหลาย ทั้งหลักฐานโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และหลักฐานโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชุมชน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยโลหะเป็นต้นมาจนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่๑๘–๑๙

หลักฐานเหล่านี้ประกอบด้วย เครื่องมือหินขัด เครื่องมือสำริด เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับจากหิน แร่ แก้ว ภาชนะดินเผา แวดินเผา กระดูกสัตว์ ฟันสัตว์ เปลือกหอย ศิลาจารึก โบราณสถาน พระพุทธรูป เทวรูป ศิวลึงค์ ลวดลายปูนปั้น คูน้ำ คันดิน กำแพงเมือง คูเมือง รวมถึงสิ่งบ่งชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินของน้ำและสภาพทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น หลักฐานดังกล่าวปรากฏอย่างครบถ้วนและครอบคลุมข้อเสนอแนวทางการวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดีดังกล่าวไปแล้วข้างต้น

๔.ความเป็นมาของการดำเนินการทางโบราณคดีที่เมืองศรีเทพ

ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๑ โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้เริ่มดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถานในเมืองศรีเทพมาตามลำดับ ทำให้มีการค้นพบหลักฐานโบราณคดีจำนวนมากจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๑, ๒๕๓๓ และ ๒๕๓๔ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีทั้งภายในเขตเมืองโบราณศรีเทพและนอกเขตเมืองศรีเทพ ได้แก่ บริเวณเนินดินหมายเลข ๐๙๗๑และแหล่งโบราณคดีบ้านหนองแดง รวมทั้งมีการขุดแต่งโบราณสถานสำคัญหลายแห่งในเมืองโบราณแห่งนี้ด้วย อาทิ เขาคลังใน ปราค์สองพี่น้อง และปรางค์ศรีเทพ หลักฐานดังกล่าวที่พบส่วนหนึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในที่นี้ เพื่อเสนอแนวทางในการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี
หลักฐานโบราณคดีที่พบในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

หลักฐานโบราณคดีที่พบในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จำแนกเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุจำนวนมาก อาทิ ศิลาจารึก พระพุทธรูป ธรรมจักรศิลา พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระกฤษณะโควรรธนะ แผ่นทองคำดุนรูปพระนารายณ์ เทวรูปพระอาทิตย์ ศิวลึงค์ ลวดลายปูนปั้นที่ฐานเขาคลังใน คูน้ำ คันดิน กำแพงเมือง คูเมือง ฯลฯ

๕.รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเรื่องชุมชนก่อนเมืองศรีเทพ

รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเรื่องชุมชนก่อนเมืองศรีเทพมีเนื้อหาประกอบด้วยเรื่องราวการอธิบายถึงสภาพแวดล้อมในธรรมชาติและภูมิศาสตร์ตำแหน่งที่ตั้งเมืองศรีเทพ รวมถึงแนวความคิดเรื่องชุมชนในอดีตแถบเมืองศรีเทพ และการกล่าวถึงการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีเนินดินหมายเลข ๐๙๗๑ และแหล่งโบราณคดีบ้านหนองแดง หลักฐานโบราณคดีที่พบจากการขุดค้นในแหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่งได้แก่

แหล่งโบราณคดีหมายเลข ๐๙๗๑
-โครงกระดูกมนุษย์
-โครงกระดูกช้าง
-ภาชนะดินเผา
-ชิ้นส่วนหินบดยา
-แนวกำแพงศิลาแลง
-โครงกระดูกมนุษย์
-กำไลสำริด
-เครื่องมือเหล็ก
-ลูกปัดแร่คาร์เนเลียน
-ลูกปัดดินเผา

แหล่งโบราณคดีบ้านหนองแดง
-โครงกระดูกมนุษย์
-ฟันสัตว์
-ภาชนะดินเผาทาน้ำดินสีแดง
-ตราประทับดินเผา
-เศษภาชนะดินเผาลายขูดขีด
-เปลือกหอย
-เศษหิน แกนหิน กำไลหิน
-เครื่องมือเหล็ก
-ขวานหิน
-เศษสำริด
-แวดินเผา

ส่วนหลักฐานอื่นๆที่พบ ได้แก่ ชิ้นส่วนกระดองเต่า/ ตะพาบ ขวานสำริด และแกนหิน ฯลฯ เป็นต้น

รายงานฉบับนี้ยังกล่าวถึง ข้อพิจารณาเรื่องชุมชนก่อนเมืองศรีเทพ การแพร่กระจายของชุมชนในระยะแรก ประเพณีเกี่ยวกับความตาย เทคโนโลยีทางการผลิต รูปแบบการดำรงชีพ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางวัฒนธรรม

๖.ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการวิเคราะห์หลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีเรื่องชุมชนก่อนเมืองศรีเทพ

การเสนอแนวทางการศึกษาเพื่อการดำเนินงานทางโบราณคดี และเพื่อการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีจากรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเรื่องชุมชนก่อนเมืองศรีเทพนี้ ผู้เขียนจะเริ่มต้นจากการบรรยายถึงกระบวนการวิเคราะห์หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองศรีเทพทั้งที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีและพบก่อนหน้า รวมทั้งจะกล่าวถึงประโยชน์หรือระดับคุณค่าของข้อเสนอแต่ละแนวทางที่มีต่อข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการขุดค้นที่เมืองศรีเทพพร้อมกันไปในคราวเดียวกัน ดังต่อไปนี้

๖.๑ กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing)และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geography Information System – GIS.)ในงานโบราณคดี

จากการศึกษารายงานการขุดค้นทางโบราณคดีชิ้นนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอว่า นักโบราณคดีสามารถนำกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing)และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geography Information System – GIS.)ในงานโบราณคดี มาใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศและเส้นทางการไหลของลำน้ำสายต่างในพื้นที่ปริมณฑลของเมืองศรีเทพได้เป็นอย่างดี หากนักโบราณคดีได้ศึกษาภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายจากดาวเทียมก็จะร่องรอยดังกล่าวปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะไม่สามารถสนับสนุนกระบวนการดำเนินงานทางวิชาการของนักโบราณคดีได้เลยหากอาศัยขั้นตอนการสำรวจภูมิประเภทภาคพื้นดินแต่เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ พื้นที่ภายในเมืองศรีเทพส่วนหนึ่ง(เมืองนอก)ยังถูกใช้ทำเกษตรกรรม ทำให้ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการทางโบราณคดีได้อย่างเต็มที่ การใช้ข้อมูลระยะระบบRemote Sensing ยังอาจช่วยให้สามารถระบุได้ว่า พื้นที่บริเวณใดมีแนวอิฐที่เป็นฐานรากของอาคารซ่อนตัวอยู่ หรืออาจจะนำข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมมาวิเคราะห์ว่า แต่เดิมพื้นที่ส่วนใดเคยเป็นแนวถนนโบราณมาก่อนในอดีต เป็นต้น วิธีการนี้ค่อนข้างมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการดำเนินงานทางโบราณคดีในอนาคต

๖.๒ประติมาวิทยา ศิลาจารึกและอนุสรณ์สถาน

ประติมานวิทยา

ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีการค้นพบหลักฐานโบราณคดีประเภทประติมากรรม และรูปเคารพทางศาสนาจำนวนมาก อาทิ ศิวลึงค์ เทวรูปพระอาทิตย์ ภาพสลักรูปพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในถ้ำเขาถมอรัตน์ ศิวลึงค์ รูปโคนนทิ พระกฤษณะโควรรธนะ รูปจำหลักอุมามเหศวรบนทับหลังที่ปรางค์สองพี่น้อง แผ่นทองดุนรูปพระนารายณ์ และรูปอรรถนารีศวร เป็นต้น การบ่งชี้ว่าประติมากรรมชิ้นใดเป็นรูปแทนเทพเจ้าองค์ใด มีความสำคัญอย่างไร หรือมีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในศาสนาใด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำวิธีการทางประติมานวิทยามาใช้ในการวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี

ศิลาจารึก

ศิลาจารึกที่เมืองศรีเทพเป็นหักฐานโบราณคดีสำคัญที่มีการค้นพบมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสด็จตรวจราชการเมืองวิเชียรบุรีในปี พ.ศ.๒๔๔๗

มีการค้นพบศิลาจารึกที่เมืองศรีเทพจำนวนหนึ่ง ศิลาจารึกเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นร่องรอยพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ คติ ความเชื่อทางศาสนา เรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ พัฒนาการทางอักษรศาสตร์ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับชุมชนภายนอก ศิลาจารึกสำคัญของเมืองศรีเทพ คือ ศิลาจารึกบ้านวังไผ่ เป็นต้น ศิลาจารึกนี้เขียนด้วยอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตอายุพุทธศตวรรษ๑๓ จารึกบ้านวังไผ่เป็นหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบในเขตเมืองศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (เดิมขึ้นอยู่กับเขตปกครองของอ.วิเชียรบุรี) ศิลาจารึกชิ้นนี้มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพโบราณและเครือข่ายบ้านเมืองในดินแดนประเทศไทยซึ่งมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๓ ต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่๑๗–๑๙

ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ระบุว่า ศิลาจารึกบ้านวังไผ่มีชื่อเรียกว่า ศิลาจารึกหลัก K.๙๗๘ ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ชะเอม คล้ายแก้ว เรียกศิลาจารึกหลักเดียวกันนี้ว่า “จารึกศรีเทพ พช./ ๒“ และในปี พ.ศ.๒๕๒๙ เรียกศิลาจารึกหลักนี้ว่า “ศิลาจารึกบ้านวังไผ่” มาจนถึงปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ อ่านศิลาจารึกบ้านวังไผ่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ ตีพิมพ์ในบทความเรื่อง “Nouvelles Inscriptions de Si Tep, K.978, 979“ Inscriptions du Cambodge Volume III, L’École Française d’Éxtrême – Orient, 1964

นายชะเอม คล้ายแก้วนักอ่านอักษรโบราณ กรมศิลปากร อ่านจารึกนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ ตีพิมพ์ในบทความเรื่อง “ศิลาจารึกศรีเทพ พช.๒ อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตพุทธศตวรรษที่๑๒“ วารสารศิลปากร ปีที่๒๗ เล่ม๓ กรกฎาคม ๒๕๒๖

คำอ่านของเซเดส์กับชะเอม คล้ายแก้ว แตกต่างกันบ้างเล็กน้อยในบันทัดที่ ๓, ๔, ๗, ๘, ๙, และ ๑๐ แต่ก็ส่งผลทำให้การแปลศิลาจารึกของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านสื่อความหมายบางส่วนแตกต่างออกไปด้วย

บทความของเซเดส์เรื่อง Nouvelles Inscriptions de Si T’ep, K.978, 979 ในหนังสือ Inscription du Cambodge Volume VII ระบุว่า "พระเจ้าภววรมันผู้ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศรีประถิวีนทรวรมัน พระองค์โปรดฯให้สร้างรูปพระอิศวรขึ้นเนื่องในโอกาสเสด็จฯราชสมบัติของพระองค์ เป็นการประกาศพระเกียรติยศของพระองค์" จารึกบ้านวังไผ่จึงมีลักษณะเป็นข้อความประกาศสรรเสริญยกย่องพระมหากษัตริย์ และแม้จารึกจะไม่ได้ระบุว่า พระเจ้าภววรมันโปรดฯสร้างจารึกหลักนี้ขึ้นมาก็ตาม แต่การที่คำแปลในจารึก(โดยเซเดส์)ระบุว่า พระเจ้าภววรมันโปรดฯให้สร้างรูปพระอิศวรขึ้นก็เท่ากับว่าเป็นการให้สร้างศิลาจารึกหลักนี้ไปในตัวด้วยเช่นกัน

เมื่อชะเอม คล้ายแก้วอ่านและแปลจารึกหลักนี้ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ ก็ปรากฏว่า ไม่มีข้อความตอนใดในจารึกกล่าวถึงพระนามของผู้สร้างจารึกหลักนี้ คำแปลของชะเอมระบุถึงแต่เพียงว่า “พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน และผู้ทรงเป็นใหญ่เสมอพระเจ้าศรีภววรมัน พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงโปรดให้สร้างจารึกนี้ไว้ในโอกาสที่ขึ้นครองราชย์ของพระองค์”

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านในประเด็นที่ว่าใครเป็นผู้สร้างจารึกนั้น คำตอบที่ได้จึงไม่สอดคล้องกันดังนั้นเมื่อจะต้องนำหลักฐานดังกล่าวมาใช้ในทางวิชาการ จึงจำเป็นต้องกล่าวถึงคำอ่าน-แปลของทั้งสองท่านมาพิจารณาอย่างเท่าเทียมกันด้วย

การนำกระบวนการวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดีมาใช้ในการศึกษาจารึกบ้านวังไผ่ ถือเป็นสิ่งที่นักโบราณคดีควรคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์และเกิดความถูกต้องต่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองศรีเทพมากยิ่งขึ้น

อนุสรณ์สถาน

ในเมืองศรีเทพมีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง อาทิ เขาคลังใน เขาคลังนอก ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้องและโบราณสถานอื่นๆ ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์เสนอว่า โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานเขาคลังในที่เมืองศรีเทพ(อายุราวพุทธศตวรรษที่๑๔) มีลักษณะคล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลข๑๘หรือเจดีย์วัดโขลงสุวรรณคีรีที่เมืองคูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี ส่วนลวดลายปูนปั้นตกแต่งอาคาร อาทิ คนแคระแบก สัตว์แบกและลวดลายปูนปั้น ก็มีรูปแบบสัมพันธ์กับลวดลายตกแต่งโบราณสถานที่มีอายุร่วมสมัยกับศิลปะทวารวดีอื่นๆ ในเมืองนครปฐม เมืองอู่ทอง เมืองโคกไม้เดน(นครสวรรค์) และวัดนครโกษา(ลพบุรี) รูปแบบลวดลายที่พบอาจเทียบได้กับลวดลายดั้งเดิมในศิลปะอินเดีย การศึกษาแนวทางยังกล่าวยังอาจสะท้อนให้เห็นคติความเชื่อทางศาสนาในเมืองศรีเทพได้อีกด้วย

ตัวอย่างแนวทางการศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบสถาปัตยกรรมและลวดลายทางศิลปะข้างต้น มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการอธิบายและเปรียบเทียบเรื่องราวและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอนุสรณ์สถานในเมืองศรีเทพ

๖.๓ การกำหนดอายุทางโบราณคดีจากเครื่องมือหิน(Dating Lithic Manufacturing)

จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีทั้งในเขตเมืองศรีเทพและนอกกำแพงเมืองศรีเทพมีการค้นพบเครื่องมือขวานหินขัดจำนวนหนึ่ง อันสะท้อนให้เห็นความสืบเนื่องทางวัฒนธรรมที่มีการสืบทอดมาจนถึงสมัยโลหะตอนปลายในเมืองศรีเทพโบราณ แนวทางการวิเคราะห์เครื่องมือหินที่นำมาใช้อย่างจริงจังและเหมาะสม ยังอาจช่วยให้เข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งผลิตเครื่องมือหิน รูปแบบ ขนาด เทคโนโลยีและคติความเชื่อเกี่ยวกับตำแหน่งการฝังเครื่องมือหินลงในหลุมศพสมัยโลหะตอนปลาย

๖.๔ การวิเคราะห์ภาชนะดินเผา (Pottery Analysis )

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า รูปแบบภาชนะดินเผามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอธิบายเรื่องราวของเทคโนโลยีการผลิตภาชนะ แหล่งผลิต แหล่งวัตถุดิบและส่วนผสม การเปลี่ยนแปลงตามเวลาและสถานที่ของภาชนะดินเผา จึงเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สามารถบ่งชี้อายุสมัยของแหล่งโบราณคดีและปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างเมืองศรีเทพกับชุมชนอื่นๆ

แนวทางการวิเคราะห์ภาชนะดินเผาที่พบในเขตเมืองศรีเทพการศึกษารูปแบบ ขนาด การตกแต่งลวดลายและเทคนิคการเคลือบ จึงมีคุณค่าและความสำคัญต่อการจำแนกและบ่งชี้อัตลักษณ์และความแตกต่างทางวัฒนธรรมในแหล่งโบราณคดี

๖.๕ การวิเคราะห์โลหะวิทยาทางโบราณคดี (Archaeo-metallurgy)

โบราณวัตถุส่วนหนึ่งที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองศรีเทพ คือ กำไลสำริด ขวานสำริด พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปเงิน เครื่องมือเหล็กและอื่นๆ กระบวนการวิเคราะห์ทางโบราณคดี หากกระบวนการวิเคราะห์หลักฐานโลหะวิทยาทางโบราณคดีนี้มาใช้ จะช่วยให้นักโบราณคดีสามารถอธิบายพัฒนาการทางเทคโนโลยีโลหะวิทยาสมัยโบราณที่ปรากฏในเมืองศรีเทพ รวมทั้งยังอาจช่วยให้สามารถอธิบายความสัมพันธ์ด้านดังกล่าวกับแหล่งผลิตโลหะสำริด เหล็ก และแหล่งถลุงแร่ทองแดงในเขตจังหวัดลพบุรีได้อีกทางหนึ่งด้วย

๖.๖ การวิเคราะห์พืชพรรณและธัญพืช (Floral Analysis and Rice Analysis )

น่าเสียดายที่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า มีการขุดค้นพบหลักฐานพืชพรรณหรือเมล็ดข้าวในหลุมขุดค้นที่เมืองศรีเทพ มิฉะนั้นแล้วนักโบราณคดีอาจทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพันธุ์พืชโบราณซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมในอดีตและวัฒนธรรมที่เมืองศรีเทพอีกทางหนึ่ง โดยการใช้กระบวนการวิเคราะห์พืชพรรณและธัญพืช

๖.๗ การวิเคราะห์ลูกปัดและเครื่องประดับจากแก้ว (Glass/ Bead Analysis)

หลักฐานลูกปัดดินเผา ลูกปัดแก้วและลูกปัดแร่คาร์เนเลียนพบค่อนข้างน้อยจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองศรีเทพ การทำดัชนีโบราณวัตถุดังกล่าวอย่างรัดกุมด้วยกระบวนการวิเคราะห์ลูกปัดและเครื่องประดับแก้ว อาจถูกนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการกำหนดอายุ เปรียบเทียบและตีความหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีอื่นๆได้อีกด้วย

๖.๘ การวิเคราะห์กระดูกสัตว์และเปลือกหอย (Faunal Analysis )

กระดูกสัตว์สำคัญที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองศรีเทพ คือ ช้าง ซึ่งน่าจะเป็นหลักฐานสำคัญของการนำช้างมาเลี้ยงในชุมชน และหากนำกระดูกช้างไปตรวจหาอายุด้วยวิธีการRadio Carbon-๑๔ ก็อาจทราบอายุของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้อย่างชัดเจนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการขุดค้นพบกระดูกช้างแล้ว ยังปรากฏหลักฐานการพบเปลือกหอยบางชนิด แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการขุดค้นพบกระดูกสัตว์ในหลุดขุดค้นแห่งนี้

๖.๙การกำหนดอายุโบราณวัตถุทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถระบุได้แน่นอน(Absolute Dating)และการกำหนดอายุจากการเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะ(Relative Dating )

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองศรีเทพ ซึ่งสามารถนำมากำหนดอายุโบราณวัตถุทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถระบุเวลาได้แน่นอน(Absolute Dating) ได้แก่โครงกระดูกมนุษย์ ฟันสัตว์ เปลือกหอย ภาชนะดินเผาทาน้ำดินสีแดง แวดินเผา ตราประทับดินเผา เศษภาชนะดินเผาลายขูดขีด เศษหิน แกนหิน กำไลหิน ขวานหิน เครื่องมือเหล็ก เศษสำริด

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองศรีเทพ ซึ่งสามารถนำมากำหนดอายุจากการเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะ(Relative Dating ) ได้แก่ ศิลาจารึก พระพุทธรูป ธรรมจักรศิลา พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระกฤษณะโควรรธนะ แผ่นทองคำดุนรูปพระนารายณ์ เทวรูปพระอาทิตย์ ศิวลึงค์ ลวดลายปูนปั้นที่ฐานเขาคลังใน คูน้ำ คันดิน กำแพงเมือง และคูเมืองโบราณ

การวิเคราะห์ด้วยวิธีการข้างต้นอย่างเหมาะสม มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอธิบายพัฒนาการด้านต่างๆของโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบในเมืองศรีเทพ และกระบวนการวิเคราะห์วิทยาศาสตร์บางอย่างก็ได้ดำเนินการไปแล้วและปัจจุบันน่าจะได้รับคำตอบจากหน่วยงานวิเคราะห์ไปแล้วเช่นกัน

๖.๑๐ Isotopic Analysis

หากนำกระบวนการวิเคราะห์แบบ Isotopic Analysis มาใช้กับฟันมนุษย์และสัตว์ซึ่งพบในหลุมขุดค้นหมายเลข ๐๙๗๐ ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพและบ้านหนองแดง น่าจะช่วยทำให้ได้รับคำอธิบายร่องรอยเกี่ยวกับอาหารที่เจ้าของฟันที่ถูกค้นพบรับประทานก่อนที่จะเสียชีวิตก็ได้ กระบวนการนี้ค่อนข้างใหม่มากในวงการโบราณคดี แต่หากนำมาใช้ในการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีอย่างจริงจังก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทางวิชาการ

บรรณานุกรม

ชะเอม คล้ายแก้ว ก., “จารึกศรีเทพ พช./ ๒“ ศิลปากร ปีที่๒๗ เล่ม๓ กรกฎาคม ๒๕๒๖
……………..ข. , “จารึกบ้านวังไผ่” , จารึกในประเทศไทย เล่ม๑ อักษรปัลลวะและหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่๑๒–๑๔, กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, ๒๕๒๙,
นิคม มูสิกะคามะ, ทฤษฎีและแนวปฏิบัติในการอนุรักษ์อนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี, กรุงเทพฯ: หิรัญพัฒน์, ๒๕๓๒.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า, “จารึกใหม่ที่ศรีเทพ” แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ปีที่๑๒ เล่ม๒ เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม ๒๕๒๑,
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ศาสตราจารย์ ,ดร., หม่อมราชวงศ์, “เขาคลังใน” เมืองโบราณ, ปีที่๑๕ ฉบับที่๑ มกราคม-มีนาคม ๒๕๓๒.
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, จารึกที่เมืองศรีเทพฯ กรุงเทพฯ: ฟิวเจอร์ เพลส, ๒๓๓๔.
……………ชุมชนก่อนเมืองศรีเทพ, กรุงเทพฯ: ฟิวเจอร์ เพลส, ๒๓๓๔
……………เมืองศรีเทพ, กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ , ๒๕๓๘,
Coedès, George, “Nouvelles Inscriptions de Si T’ep (K.978, 979)” Inscription du Cambodge Volume VII, École Française D’Extrême-orient, Paris, 1964.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น