จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สถานภาพการศึกษาประวัติศาสตร์ศรีวิชัยและรัฐสำคัญร่วมสมัย

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์



แผนที่เมืองโบราณและเส้นทางการเดินเรือของพระภิกษุอี้จิง(ภาพจากหนังสือของD.E.G. Hall ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

กล่าวนำ
นับเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชได้จัดการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติเรื่องประวัติศาสตร์ศรีวิชัย แต่ในอดีตเมื่อยังเป็นวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชนั้น สถาบันการศึกษาแห่งนี้เคยจัดการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องราวของประวัติศาสตร์ศรีวิชัยมาแล้ว ๔ ครั้ง การสัมมนาแต่ละครั้งล้วนก่อให้เกิดคุณูปการต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
การประชุมวิชาการครั้งนี้ อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการอธิบายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยต่อไปอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต

หลักฐานเกี่ยวกับศรีวิชัยและพัฒนาการทางแนวคิด:
ข้อถกเถียงที่เริ่มต้นจากคำถามว่า “ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่ไหน”

บันทึกของพระภิกษุอี้ชิง(I-tsing)ชาวจีน ซึ่งเดินทางมาศึกษาภาษาสันสกฤตที่เช-ลิ-โฟ-ชิ(Che-li-fo-che) นาน ๖ เดือนเมื่อ พ.ศ.๑๒๑๔ ระบุว่า “เช-ลิ-โฟ-ชิ” หรือ “โฟ-ชิ” เป็น “อาณาจักร” ที่ควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างพ่อค้าชาวตะวันออกกับตะวันตก และเป็นแหล่งเผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความสำคัญ หลักฐานของอี้ชิงทำให้เกิดข้อสัณนิษฐานมากมายว่าระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๓–๑๘ อาณาจักรแห่งนี้อาจตั้งอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน

พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ลำดับให้เห็นพัฒนาการของข้อถกเถียงทางวิชาการที่เกิดจากการศึกษาประวัติศาสตร์ศรีวิชัย พระนิพนธ์สำคัญนี้แปลจากบทความของโวลเตอร์(O.W. Wolters)ซึ่งกล่าวว่าในปีพ.ศ.๒๒๖๑ บาทหลวงเรอโนโดต์(Renaudot) ได้แปลจดหมายเหตุการเดินทางของชาวอาหรับ ๒ คนที่กล่าวถึง “อาณาจักรซาบาค” ออกเผยแพร่ และในพ.ศ.๒๔๔๗ ปอล เปลลิโอต์(Paul Pélliot) ก็ให้ความสนใจต่อเรื่องราวของ “ศรีวิชัย” ซึ่งรู้จักกันในนาม “อาณาจักรโภชะ” แห่งเกาะชวาด้วย

โวลเตอรส์ระบุว่า ยอร์ช เซเดส์(George Coedes) เป็นคนแรกที่ชี้ว่า อาณาจักรเช-ลิ-โฟ-ชิ เป็นชื่อของ “อาณาจักรศรีวิชัย” โดยเทียบคำว่า “เช-ลิ-โฟ-ชิ” กับ คำว่า “ศรีบูซา(Serbeza หรือ Sribuza)” ในเอกสารโบราณภาษาอาหรับ รวมถึงการอ้างหลักฐานศิลาจารึกที่พบในเกาะบังกาของอินโดนีเซีย จารึกหลักที่๒๓ และจารึกราชวงศ์โจฬะในอินเดียใต้ เป็นต้น ทำให้เซเดส์เชื่อตามเกรินเนเวลดต์(Groenevaldt)ว่า ราชธานีของศรีวิชัยตั้งอยู่ที่ปาเล็มบัง แต่หลักฐานจากการขุดค้นของนักโบราณคดีชาวอินโดนีเซียร่วมกับชาวอเมริกันระหว่างวันที่๑๓กรกฎาคมถึงวันที่๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๗ มิได้พบร่องรอยโบราณวัตถุสถานเก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่๑๙ ดังนั้นหากศูนย์กลางของศรีวิชัยจะตั้งที่ปาเล็มบังจริง ก็อาจอยู่ในช่วงสุดท้ายของสมัยศรีวิชัย





ต่อมา D.G.E. Hall ในหนังสือชื่อ “ A History of South-East Asia” (๒๔๙๘)กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ศรีวิชัยเคยมีสภาพไม่ปะติดปะต่อและไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เมื่อเซเดส์ตีพิมพ์บทความชื่อ “Le Royaume de Çrivijaya” ในวารสารสำนักฝรั่งเศสแห่งตะวันออกไกล(BEFEO)พ.ศ.๒๔๖๑ จึงก่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศรีวิชัยอย่างกว้างขวาง และงานเขียนของฮอลล์มีเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับศรีวิชัยอย่างค่อนข้างลึกซึ้งเป็นที่รู้จักดีจากการแปลเผยแพร่ของท่านผู้หญิงวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยาและคณะเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ และตีพิมพ์เป็นครั้งที่๓ แล้ว
ฮอลล์ชี้ให้เห็นว่า ระยะแรกๆ การค้นพบจารึกภาษามลายูโบราณจำนวน ๔ หลัก โดย ๒ หลักแรกใกล้เมืองปาเล็มบัง หลักที่ ๓ พบที่เมืองกะรัง พราหิ(Karang Brahi) และหลักที่๔ พบบนเกาะบังกา(Bangka) รวมถึงความเหมาะสมของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อาจทำให้ศรีวิชัยสามารถควบคุมช่องแคบมะละกาและช่องแคบซุนดาได้ไม่ยากเย็น

ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธนในหนังสือ “เรื่องแหลมอินโดจีนสมัยโบราณ”(พ.ศ.๒๔๘๑)กล่าวว่า เรื่องราวของอาณาจักรศรีวิชัยรู้กันในวงแคบๆของปราชญ์ไม่กี่คน “เช-ลิ-โฟ-ชิ”ในตำราของท่านถูกเรียกตามสำเนียงจีนว่า “ซีหลีหุดซี” พันเอกเยรินีระบุว่า “ซีหลีฮุดซี” ตรงกับชื่อ “ศรีโภชะ” ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย และจดหมายเหตุอาหรับเรียกว่า “ซาบาค”
พระยาอนุมานราชธนอ้างจดหมายเหตุของจีนว่า “เสียมหลอก๊ก” ในสมัยธนบุรี มีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์มาจากรัฐโบราณในคาบสมุทรมลายูชื่อ “เชกโท้หรือชิ-ถู หรือเชียะโท้ว” ซึ่งประเด็นนี้อาจส่งผลให้เกิดงานค้นคว้าต่อยอดทางประวัติศาสตร์ของนักวิชาการท้องถิ่นในสมัยหลัง

ประวัติศาสตร์การค้าของศรีวิชัย : มุมมองของมิลตัน ออสบอร์น

ขณะที่ดี.จี.อี. ฮอลล์ (D.G.E. Hall) มีความเห็นสอดคล้องกับเซเดส์เรื่องที่ตั้งของศรีวิชัย มิลตัน ออสบอร์น(Milton Osborne) ใน “Southeast Asia : An Introductory History” (9th Edition2004) เพียงแต่ระบุกว้างๆว่า ความสามารถในการควบคุมการค้าในช่องแคบมะละกาเป็นเวลายาวนาน อาจทำให้ศรีวิชัยมีราชธานีตั้งอยู่ในทำเลต่างๆที่เหมาะสมอย่างน้อย ๒ แห่งหรือมากกว่านั้น ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งบนเกาะสุมาตรา

หากจะกล่าวตามทัศนะของมิลตัน ออสบอร์นแล้วจะเห็นภาพของจีนซึ่งถือว่า ประเทศตนเป็นศูนย์กลางของโลกหรือราชอาณาจักรกลาง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะกับศรีวิชัยถือว่ามีความลึกซึ้งอย่างยิ่ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เวียดนามลงมาถูกจีนเรียกว่า “นานยาง” หรือ “ดินแดนแห่งทะเลใต้”

ในสายตาของจีนรัฐต่างๆในภูมิภาคนี้ เป็นพวกขาดระเบียบและมีฐานะเป็นรัฐบรรณาการของตน แต่มิได้หมายความว่าจีนมีฐานะเป็นผู้ปกครองรัฐเหล่านี้โดยตรง ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีลักษณะแบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยจีนมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐบรรณาการให้รอดพ้นจากผู้ท้าทายอำนาจของจีน ฝ่ายรัฐบรรณาการก็จะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของจีนด้วย
ออสบอร์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับรัฐค้าขายอย่างศรีวิชัย คือ การได้รับการรับรองสิทธิที่จะค้าขายกับจีน ซึ่งติดตามมาด้วยสถานภาพของการเป็นรัฐบรรณาการ ทันทีที่จีนมอบฐานะดังกล่าวให้แก่ศรีวิชัย รัฐค้าขายชายฝั่งอื่นๆที่เป็นคู่แข่งของศรีวิชัยก็จะตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอย่างมาก ความสามารถของศรีวิชัยและการได้รับการยอมรับจากจีน ส่งผลให้ศรีวิชัยกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลชั้นแนวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ออสบอร์นเห็นว่า การก้าวสู่อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบทางการค้าและการสนับสนุนจากจีน รูปแบบการค้าระหว่างประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคต้น มีลักษณะเป็นการค้าระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย รวมไปถึงเปอร์เซียและดินแดนที่อยู่ไกลออกไป สินค้ามีค่าของตะวันตกรวมถึงผลิตผลจากป่าซึ่งเชื่อว่ามีสรรพคุณทางการบำบัดโรค ถูกนำมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าจากจีน อาทิ ผ้าไหม เครื่องถ้วย เครื่องเขินและผลิตภัณฑ์อื่นๆ (Lacquers and other manufactured Items) การควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างหมู่เกาะอินโดนีเซียในพุทธศตวรรษที่๑๒ ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวมาเลย์ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะสุมาตรา

ดี.จี.อี. ฮอลล์เสนอเพิ่มเติมว่า ความเหมาะสมของที่ตั้งตามสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งทำให้อาณาจักรศรีวิชัยก้าวขึ้นสู่การเป็นอาณาจักรสำคัญที่ควบคุมเส้นการค้าขายระหว่างตะวันออกกับตะวันตกอย่างรวดเร็วระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๓–๑๔ และฮอลล์ใช้คำเรียกชายฝั่งทะเลในเขตอิทธิพลทางการเมืองของศรีวิชัยตาม O.W. Wolters ว่า “the Favoured Coast” และนักประวัติศาสตร์บางท่านแปลว่า “ชายฝั่งที่ได้รับความนิยม”

ศูนย์กลางของอาณาจักรศริวิชัยในพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ทรงวิเคราะห์ประเด็นต่างๆในหลักฐานของอี้จิงอย่างน่าสนใจด้วยโวหารอันคมกริบ ไม่เพียงแต่เรื่องนาฬิกาแดดและแผนที่ลมในพระนิพนธ์ชื่อ “หลักฐานที่ตรวจสอบได้เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย” ทรงเห็นว่าเกาะสุมาตราไม่ใช่ศูนย์กลางของศรีวิชัยด้วยเหตุผลที่ว่า
“…ย้อนกลับมาอี้-ชิงอีกครั้ง ท่านกล่าวว่า ระหว่างทางที่ไปอินเดียท่านได้หยุดแวะที่โฟเช และใช้เวลาศึกษาไวยากรณ์สันสกฤตอยู่ ๖ เดือน ก่อนจะเดินทางต่อไปอินเดีย นอกจากอี้-ชิงกล่าวว่าในโฟเชมีพระถึง๑,๐๐๐ รูป ผู้เชี่ยวชาญเรื่องศรีวิชัย-ปาเลมบังอธิบายว่า เหตุผลที่ทำให้อี้-ชิงออกนอกเส้นทางลงทางใต้เส้นศูนย์สูตรหลายองศา ก็เพราะว่าปาเลมบังเป็นศูนย์ของการศึกษาภาษาสันสกฤต ……..ผู้เขียนเห็นว่ามีจากที่เขียนด้วยภาษาสันสกฤตหลักหนึ่งพบในสุมาตรา โดยเฉพาะในสุมาตราตอนใต้ได้พบจารึกประมาณ ๖ หลัก ..เขียนด้วยภาษามาเลย์โบราณ ในขณะที่ในประเทศไทยทั้งภาคใต้และภาคกลาง ได้พบจารึกภาษาสันสกฤตอย่างน้อยที่สุดก็จำนวนเท่าๆกัน และมากกว่าครึ่งเป็นจารึกที่มีอายุก่อนคริสต์ศตวรรษที่๗"

การที่เซเดส์ที่ระบุว่า กรณีที่ในปาเล็มบังมีร่องรอยโบราณสถานปรากฏไม่มากเท่าที่ควรเนื่องจากผู้ปกครองอาณาจักรศรีวิชัยมัวแต่ยุ่งเกี่ยวกับการควบคุมการเดินทางในช่องแคบมะละกานั้น หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนีทรงแย้งว่า

“สำหรับพระจำนวนพันนั้น มีบางคนอาจคิดว่าอี้-ชิง กล่าวถึงลิงพันตัวมากกว่าพระ๑,๐๐๐ รูป พระอาศัยอยู่ในกุฏิไม่ใช่ต้นไม้ ไม่มีประโยชน์ที่จะบอกผู้เขียนว่า ที่อยู่ของพระเป็นกระท่อมทำด้วยไม้ และพระเหล่านี้ปรากฏในเวลาหลายๆศตวรรษมาแล้ว นี่แสดงให้เห็นถึงการละเลยนักบวชตะวันตกที่อยู่นอกพุทธศาสนาไม่ได้ เช่น มุสลิม และน่าคิดถึงนักบวชอื่นๆ สถานที่พระอาศัยอยู่จะพบสิ่งที่คล้ายห้องโถงหรืออุโบสถ ซึ่งใช้เป็นที่บวชและพิธีกรรมทางศาสนา ห้องโถงนี้อาจสร้างด้วยหินหรืออิฐ และถึงแม้จะล้มครืนลงมาแล้วหรือไม่ก็ตาม ก็จะยังเหลือร่องรอยซากของมันอยู่างเช่นที่ไชยาและนครฯ…”

กระนั้นก็ตาม หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนีทรงชี้ว่า ระยะแรกราชธานีของศรีวิชัยมีหลายแห่งตามความสำคัญ ได้แก่ เมืองหลวงอันดับหนึ่งหรือเมืองหลวงเอกของศรีวิชัยมี ๒ เมือง คือ เมืองไชยากับเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งผลัดกันขึ้นมามีความสำคัญ เมืองหลวงอันดับสองของศรีวิชัย คือ ไทรบุรี (มลายูหรือมาล้ายู-Muara Takus)กลางเกาะสุมาตรา คุมช่องแคบมะละกา และเมืองหลวงอันดับสามมีสิงหนคร(สงขลา) และกลิกะ กทาหะกาลาทางใต้ของรัฐมอญในประเทศพม่า ต่อมาครองชัย หัตถาอ้างพระนิพนธ์ในหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนีว่า ศูนย์กลางของศรีวิชัยมี ๓ แห่งคือ “ศรีวิชัยที่ไชย” “ศรีวิชัยที่ปาเล็มบัง” และ “ศรีวิชัยที่ชวากลางและตะวันตก”



ทัศนะของท่านจันทร์ที่มีต่องานเขียนของธรรมทาส พานิช

นักวิชาการไทยบางท่าน อาทิ ธรรมทาส พานิช ยอมรับถึงความเป็นท้องถิ่นนิยมของตน(Chai-ya centric)อย่างชัดเจน จึงใช้หลักฐานจดหมายเหตุสมัยต่างๆของจีนและบันทึกของอี้จิง ซึ่งแปลเป็นภาษาอักฤษโดย J. Takakusu (Oxford, 1896) ชื่อ “A Reccord of the Bhuddist Religion as Practised in India and the Malay Archipelago sent Home from the Southern Sea” และอ้างอิงจดหมายเหตุของอาหรับ จารึกของศรีลังกา และจารึกต่างๆที่พบในคาบสมุทรมลายู บูรณาการเข้ากับตำนานสำคัญในภาคใต้ เช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระแก้วมรกต ฯลฯ และนำแนวคิดของมานิต วัลลิโภดมและควอริทซ์ เวลส์มาสนับสนุนข้อเสนอ แล้วระบุว่า “นครที่ท่านเซเดส์อ้างว่าคือ ‘ศรีวิชัย’ นั้น จีนเรียก ‘โฟ-เช’ ท่านตากากุสุแปลว่า ‘โพ-ชะ’นั้น ที่ถูกควรเป็น ‘โพธิ’ และควรจะเป็นที่ไชยา”

อย่างไรก็ดี หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ในพระนิพนธ์ชื่อ “Sri Vijaya in the 7th Century A.D.” ทรงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของธรรมทาส พานิช โดยทรงระบุว่า
“นายธรรมทาส พานิชอยู่ที่ไชยา แม้จะไม่ได้ใช้ศิลาจารึกซึ่งพบในเกาะสุมาตรามาพิจารณา แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเซเดส์ก่อนหน้าโมนส์แล้ว เนื่องจากบ้านของนายธรรมทาส พานิชตั้งอยู่ห่างจากวัดเวียง ซึ่งพบจารึกที่มีหลักฐานชื่อ ศรีวิชัย ไม่กี่ร้อยหลา นอกจากนี้ที่ไชยายีงมีเขาศรีวิชัยและเรื่องเล่าพื้นบ้านมากมาย แต่เป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า แม้นายธรรมทาส พานิชจะนั่งอยู่บนกองหลักฐานมากมายเกี่ยวกับศรีวิชัย เขากลับคิดว่า ชิ-ลิโฟ-ชิของหลวงจีนอี้ชิง คือ อาณาจักรศรีโพธิ์ จุดสนใจหลักของนายธรรมทาส พานิช คือ มุ่งเขียนประวัติศาสตร์ศาสนา และในขณะที่ทฤษฎีของนายธรรมทาส พานิชมีความน่าสนใจ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมรับเรื่องศรีโพธิ์ เพราะชื่อดังกล่าวมิได้ปรากฏอยู่ในจารึกหลักใด ในขณะที่ชื่อ ศรีวิชัย กลับมีหลักฐานรองรับดีกว่า”

ประวัติศาสตร์ศรีวิชัยกับนักวิชาการทักษิณคดี

ปรีชา นุ่นสุข ในหนังสือชื่อ “หลักฐานทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย” (๒๕๒๕) เป็นแบบอย่างของการติดตามศึกษาเรื่องราวของประวัติศาสตร์ศรีวิชัยอย่างต่อเนื่อง เขากล่าวว่า ในพุทธศตวรรษที่๑๐–๑๓ มีอาณาจักรสำคัญ คือ “อาณาจักรโพลิง” ซึ่งนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า คือ เมืองนครศรีธรรมราช และหลักฐานของอี้ชิงระบุว่า อาณาจักรโพลิงถูกครอบครองโดยอาณาจักรชิ-ลิ-โฟ-ชิในพุทธศตวรรษที่๑๓ และระบุว่าการพบหลักฐานทั้งโบราณวัตถุ โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในขณะนั้น ทำให้เชื่อว่า เมืองนครศรีธรรมราชและบริเวณรอบอ่าวบ้านดอน อาจจะเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอย่างไม่ต้องสงสัย

สหพันธรัฐศรีวิชัย : กระแสการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศรีวิชัยในปัจจุบัน

ข้อขัดแย้งเรื่องที่ตั้งของอาณาจักรศรีวิชัยที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้นักประวัติศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะไม่กล่าวถึงประเด็นเรื่องศูนย์กลางของศรีวิชัย
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม เห็นว่า “ศรีวิชัย” เป็นชื่อสมมติของระยะเวลาระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๓–๑๙ที่สัมพันธ์กับรูปแบบทางศิลปกรรมรูปแบบหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย ในทัศนะของร.ศ.ศรีศักร วัลลิโภดมนั้น คำว่า “ศรีวิชัย”ของท่าน ไม่เกี่ยวกับรัฐหรืออาณาจักรหรือจักรวรรดิที่เรียกว่า “ศรีวิชัย” ซึ่งบรรดานักปราชญ์ทั้งในอดีตและปัจจุบันยังถกเถียงกันว่า มีศูนย์กลางอยู่ ณ ที่ใดกันแน่(อินโดนีเซีย มาเลเซียหรือประเทศไทย) จึงเลี่ยงที่จะตีความว่าสถานที่ซึ่งมีกล่าวถึงในจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศนั้น “อยู่ตรงโน้นตรงนี้ในประเทศไทย” หากแต่จะกล่าวถึงเฉพาะประเด็นที่ท่านมั่นใจแล้วเท่านั้น
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ระบุถึงภาพกว้างๆว่า ระหว่างพุทธศตวรรษที่๘–๙ลงมาชุมชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งแผ่นดินใหญ่ คาบสมุทรและหมู่เกาะได้พัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมืองแล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะบ้านเมืองชายทะเลทั้งบนคาบสมุทรและหมู่เกาะได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มการเมืองซึ่งท่านเรียกว่า “สหพันธรัฐศรีวิชัย”

ดร.ธิดา สาระยา ระบุว่า “เราจะไม่ศึกษาว่าอาณาจักรศรีวิชัยอันรุ่งเรืองสมัยคริสต์ศตวรรษที่๗–๑๓นั้นอยู่ที่ไหน” ขณะที่ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ มุ่งเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการควบคุมทางการเมืองของผู้นำศรีวิชัยและเลี่ยงข้อถกเถียงเกี่ยวกับที่ตั้งหรือศูนย์กลางของดินแดนศรีวิชัยเช่นกัน

สุจิตต์ วงษ์เทศกับแนวคิดในการศึกษา “ศิลปวัฒนธรรมศรีวิชัยบนคาบสมุทรภาคใต้”
การที่ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่ใด ทำให้ สุจิตต์ วงษ์เทศผู้เรียบเรียงหนังสือเรื่อง “ศรีวิชัย” คล้อยตามรศ.ศรีศักร วัลลิโภดม โดยมุ่งเสนอภาพของชุมชนโบราณร่วมสมัยศรีวิชัยในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยและจำกัดขอบเขตคำอธิบายภายใต้กรอบของ “ศิลปวัฒนธรรมศรีวิชัยบนคาบสมุทรภาคใต้” แทนความพยายามในการศูนย์กลางราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัย
การขุดค้นทางโบราณคดีกับความชัดเจนที่รอการพิสจน์


นงคราญ ศรีชาย นักโบราณคดี สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่๑๑ (นครศรีธรรมราช) เสนอบทความเรื่อง “นครศรีธรรมราชก่อนพุทธศตวรรษที่๑๙“(๒๕๔๕) ลำดับให้เห็นพัฒนาการของการนำเสนอเรื่องราวและหลักฐานเกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัยของนักวิชาการในอดีต และกล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับชุมชนโบราณในพื้นที่ภาคใต้ก่อนพุทธศตวรรษที่๑๙ รวมถึงยืนยันว่าผลการขุดแต่งเจดีย์ที่วัดท้าวโคตรพบหลักฐานที่สามารถกำหนดอายุอยู่ในสมัยอยุธยาเท่านั้น มิใช่สมัยศรีวิชัยดังคำสัมภาษณ์ขุนอาเทศคดี นอกจากนี้ยังเสนอว่า การขุดค้นทางโบราณคดีในโอกาสต่อไปจะช่วยให้สามารถตอบคำถามได้ชัดเจนมากขึ้น

การจำแนกแนวความคิดเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ศรีวิชัย

อาจกล่าวโดยสังเขปในที่นี้ได้ว่า นักวิชาการที่ศึกษาหรือเคยศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย ประกอบด้วยนักวิชาการ ๕ กลุ่มดังนี้

กลุ่มนักวิชาการต่างชาติ ยอร์ช เซเดส์ มาชุมดาร์ (R.C. Majumdar) สลาเมตมุลชานา ควอริทช์ เวลส์ โอ.ดับเบิลยู. โวลเตอรส์ ดี.จี.อี. ฮอลล์ มิลตัน ออสบอร์น ฯลฯ

กลุ่มนักวิชาการเมือง มจ.จันทร์จิรายุ รัชนี มานิต วัลลิโภดม มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ศรีศักร วัลลิโภดม ชูศิริ จามรมาน พิริยะ ไกรฤกษ์ ธิดา สาระยา ผาสุข อินทราวุธ สุเนตร ชุตินธรานนท์ ฯลฯ

กลุ่มนักวิชาการของกรมศิลปากร ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ บรรจง วงศ์วิเชียร
เขมชาติ เทพไชย นงคราญ ศรีชาย ฯลฯ ซึ่งเมื่อถึงเวลาอันควรก็ต้องย้ายไปรับตำแหน่งเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพตามความเหมาะสม

กลุ่มนักวิชาการท้องถิ่น ธรรมทาส พานิช ปรีชา นุ่นสุข พล.ต.ท. สรรเพชญ์ ธรรมาธิกุล เสนีย์อนุชิต ถาวรเศรษฐ์ ฯลฯ

กลุ่มนักวิชาการอิสระ สุจิตต์ วงษ์เทศ ไมเคิล ไรท์ ฯลฯ

สำหรับแนวคิดหรือข้อเสนอเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ศรีวิชัยนั้น จำแนกโดยสังเขปดังนี้

๑.กลุ่มที่เชื่อว่า ศูนย์กลางของศรีวิชัยอยู่ที่เกาะสุมาตรา ได้แก่ ยอร์ช เซเดส์ โอ.ดับเบิลยู.โวลเตอรส์ พอล วิทลีย์ สลาเมตมุลชานา

๒.กลุ่มที่เชื่อว่าศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่คาบสมุทรมลายู(อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ) ได้แก่ ควอริทซ์ เวลส์(ภายหลังกลับเห็นด้วยกับแนวคิดของเซเดส์) มจ.จันทร์จิรายุ รัชนี มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล มานิต วัลลิโภดม ฯลฯ

๓.กลุ่มที่เชื่อว่า ศูนย์กลางของศรีวิชัยอยู่ที่อยู่บนเกาะชวาแล้วย้ายไปอยู่ที่นครศรีธรรมราช ได้แก่ อาร์.ซี. มาชุมดาร์ (R.C. Majumdar)

๔. กลุ่มที่เชื่อว่า ศูนย์กลางของศรีวิชัยอยู่ที่เมืองกลันตันบนคาบสมุทรมลายู แล้วย้ายไปอยู่ที่เมืองเมาราตากุส((Maura Takus) ได้แก่ เจ.แอล. โมนส์ (J. L. Moens)

๕. กลุ่มที่เชื่อว่า ศรีวิชัยตั้งอยู่บนเกาะชวาระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปที่ปาเล็มบัง ได้แก่ ปอล เปลลิโอต์(Paul Pélliot)

๖. กลุ่มที่เชื่อว่า เมืองปาเล็มบังไม่มีร่องรอยหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย ได้แก่ เบนเนท บรอนสันและไวส์แมน(Bennet Bronson & Wisseman)

๗. กลุ่มที่เชื่อว่า เมืองแจมบีเป็นศูนย์กลางของศรีวิชัย ได้แก่ ดร.โซกโมโน(Soekmono)ชาวอินโดนีเชีย

๘. กลุ่มที่เชื่อว่า ศรีวิชัยมีลักษณะเป็นสหพันธรัฐโดยมีฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญอยู่บนชายด้านตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ได้แก่ ศรีศักร วัลลิโภดม

๙.กลุ่มที่เชื่อว่า ชื่อที่ถูกต้องของอาณาจักรศรีวิชัยคือ อาณาจักร ศรีโพธิ์ ได้แก่ ธรรมทาส พานิช และเสนีย์อนุชิต ถาวรเศรษฐ์

สรุปและข้อคิดเห็น “แรงกระเพื่อมจากแนวคิดในอดีต: แนวโน้มที่ยังไม่เสื่อมคลาย”

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ งานค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ตะวันตกนับแต่เซเดส์ลงมาส่งผลให้ตำราวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายสำนักถ่ายทอดออกมาตามๆกันว่า ศูนย์กลางของศรีวิชัยอยู่ในเกาะสุมาตรา อาทิ ไพโรจน์ โพธิ์ไทร ใน ”ภูมิหลังของเอเชียอาคเนย์” อ้างความเห็นของเยาวหราล เนรูห์ว่า ศรีวิชัยตั้งอยู่ที่ปาเล็มบัง เพ็ญศรี กาญจโนมัย ใน “ประวัติศาสตร์ทั่วไปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” อ้าง ดี.จี.อี.ฮอลล์ ว่า ศูนย์กลางของศรีวิชัยอยู่ที่ปาเล็มบัง และบังอร ปิยะพันธุ์ ใน “ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” อธิบายตามออสบอร์นว่า อาณาจักรศรีวิชัยตั้งอยู่ที่ปาเล็มบัง ทางตะวันออกของเกาะสุมาตรา เป็นต้น

นอกจากนี้ตำราประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ชื่อ “The Cambridge History of Southeast Asia: Volume One, Part One , From early time to c.1500” (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๓๕) ซึ่งอ้างข้อเขียนส่วนหนึ่งของO.W. Wolters(1986)ยอมรับว่า แม้กระทั่งบัดนี้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศรีวิชัยยังไม่กระจ่างชัดเท่าที่ควร เขาจึงได้ลำดับให้เห็นว่าระยะแรกการศึกษาประวัติศาสตร์ศรีวิชัยซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตรานั้น เริ่มต้นจากการอ้างอิงเอกสารของจีนและอาหรับเป็นส่วนใหญ่และใช้หลักฐานส่วนหนึ่งจากศิลาจารึกบ้าง ในระยะหลังจึงมีการนำหลักฐานทางโบราณคดีเข้ามาประกอบการศึกษาค้นคว้ามากขึ้นเรื่อยๆ ตำราฉบับนี้ชี้ว่า ศรีวิชัยมีอำนาจควบคุมทั้งช่องแคบมะละกาและช่องแคบซุนดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมืองปาเล็มบังนั้นมีอำนาจเหนือเครือข่ายของผู้ปกครองชาวมาเลย์(Malay rulers)

วิสันธนี โพธิสุนทร ในฐานะนักวิชาการของกรมศิลปากร ซึ่งน่าจะจัดอยู่ในกระแสเดียวกับนงคราญ ศรีชาย บทความชื่อ “ศรีวิชัย” ตีพิมพ์ในหนังสือพัฒนาการอารยธรรมไทย” (๒๕๓๑) จึงเสนอว่าที่ตั้งของอาณาจักรศรีวิชัยยังมีปัญหาถกเถียงกันว่า จะอยู่ที่ปาเล็มบังหรือบนคาบสมุทรมลายู

หนังสือ “ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ ภาคพิสดาร (๑-๒)” (๒๕๔๙) ของดี.จี.อี ฮอลล์(๑๙๕๕) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ(บรรณาธิการ) แปลโดยท่านผู้หญิงวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยาและคณะ ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถูกนำกลับมาตีพิมพ์อีกเป็นครั้งที่๘ โดยเนื้อหามิไม่แตกต่างไปจากฉบับแปลที่ตีพิมพ์ครั้งที่๑ และแท้จริงแล้วในทัศนะของผู้เขียน ความพิสดารที่เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ น่าจะยกให้งานค้นคว้า ๓ ชิ้นของธรรมทาส พานิช พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล และเสนีย์อนุชิต ถาวรเศรษฐ์ตามลำดับมากกว่า



บรรณานุกรม

ครองชัย หัตถา, รศ. ดร. ปัตตานี การค้า การเมืองและการปกครองในอดีต. โครงการปัตตานี
ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
๒๕๔๑.

จันทร์จิรายุ รัชนี, หม่อมเจ้า. “หลักฐานที่ตรวจสอบได้เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย”รายงานการ
สัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชครั้งที่๒. : ประวัติศาสตร์และสังคมของ
นครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๖.

………… “Sri Vijaya in the 7th Century A.D.”. รายงานการสัมมนาประวัติ
ศาสตร์ –โบราณคดีศรีวิชัย. กรุงเทพ: พิฆเณศ, ๒๕๒๕.

………………… “เรื่องของอาณาจักรศรีวิชัย “. รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์
นครศรีธรรมราชครั้งที่๓ ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชจากภาษาและวรรณกรรม. ,

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๒๘.

จุมพล วัฒน์บุณย์, บทบรรณาธิการในวารสารศรีวิชัยของวิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานี ปีที่๖ ฉบับ
ที่๒ กันยายน ๒๕๒๕.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. บรรณาธิการ. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์
ภาคพิศดาร.เล่ม๑ ดี.จี.อี.ฮอลล์ . เขียน . มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการ
ตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. กรุงเทพฯ: ๒๕๔๙.

ธนาลัย สุขพัฒน์ธี, พรรณงาม เง่าธรรมสารและมัทนา เกษกมล ( แปล), สังเขปประวัติศาสตร์เอ
เชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, ๒๕๒๘.

ธรรมทาส พานิช. ประวัติศาสตร์ไชยา นครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ: เอ.พี.กราฟิกดีไซน์, ๒๕๔๑.

………… พนม ทวาราวดี ศรีวิชัย. นครหลวงกรุงเทพธนบุรี: สื่อการค้า, ๒๕๑๕.

ธิดา สาระยา “พัฒนาการของรัฐบนคาบสมุทรไทย เน้นตามพรลิงค์(คริสต์ศตวรรษที่๖–๑๓).
รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชครั้งที่๓ : ประวัติศาสตร์
นครศรีธรรมราชจากภาษาและวรรณกรรม, สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กระทรวงศึกษาธิการ, ๑๔–๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖.

นงคราญ ศรีชาย. “นครศรีธรรมราชก่อนพุทธศตวรรษที่๑๙“ ประวัติศาสตร์โบราณคดี
นครศรีธรรมราช, สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่๑๑ (นครศรีธรรมราช) สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๔๓.

บังอร ปิยะพันธุ์. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๗.

ปรีชา นุ่นสุข. หลักฐานทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย. ชุด
นครศรีธรรมราชคดีศึกษา อันดับ๒. ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช
จัดพิมพ์เนื่องในการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชครั้งที่๒. วันที่ ๒๕–๒๗ มกราคม ๒๕๒๕.
เพ็ญศรี กาญจโนมัย. ประวัติศาสตร์ทั่วไปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: เค.ยู.บุ๊คเซ็น
เตอร์, ๒๕๓๓.

ไพโรจน์ โพธิ์ไทร. ภูมิหลังของเอเชียอาคเนย์ . นครหลวงกรุงเทพธนบุรี: บรรณกิจเทรดดิ้ง,
๒๕๑๕

วิสันธนี โพธิสุนทร. “ศรีวิชัย” พัฒนาการอารยธรรมไทย . กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในมหา
มงคลเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๐ ปี วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๖.
ศรีศักร วัลลิโภดม. “พัฒนาการของบ้านเมืองในภาคใต้ของประเทศไทยในสมัยศรีวิชัย” รายงาน
การสัมมนาเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย. สีหวัฒน์ แน่นหนา(บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: พิฆเณศ, ๒๕๒๕.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. ศรีวิชัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๓๑.

สุเนตร ชุตินทรานนท์. “การควบคุมทางการเมืองของผู้นำศรีวิชัย” รายงานการสัมมนาประวัติ
ศาสตร์นครศรีธรรมราชครั้งที่๒. วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชและสำนักงานคณะกรรมการ
วัฒนธรรมแห่งชาติ, ๒๕๒๖.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. “อาณาจักรศรีวิชัย” รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์
นครศรีธรรมราชครั้งที่๒. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช.
กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๖.

อนุมานราชธน, พระยา. แหลมอินโดจีนสมัยโบราณ. เสฐียรโกเศศ(นามแฝง) กรุงเทพฯ: เจริญ
รัตน์การพิมพ์, ๒๕๑๕.

Hall, D.G.E. A History of South-East Asia. 4th Edition. New York : St. Martin’s
press, 1981.

Osborne, Milton . Southeast Asia : An Introductory History. Ninth Edition Allen &
Unwin, Australia, 2004.

Tarling, Nicholas . Editor. The Cambridge History of Southeast Asia: Volume One,
Part One , From early time to c.1500. Cambridge University Press, UK.,
1999.

1 ความคิดเห็น:

  1. หลักฐานทางใหม่ๆทางโบราณคดีในอินโดนีเซียชี้ให้เห็นว่าศูนย์กลางศรีวิชัยไม่ได้อยู่ในประเทศไทย

    ตอบลบ