จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ศิลปะในดินแดนประเทศไทย

พิทยะ ศรีวัฒนสาร
เรียบเรียง


การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย นอกจากจะอาศัยผลงานและตำราของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีเป็นพื้นฐานแล้ว ยังมีตำราของนักวิชาการจำนวนมาก อาทิ “ศิลปะในประเทศไทย” ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล “ศิลปกรรมไทย” ของรองศาสตราจารย์ สงวน รอดบุญ “ประวัติศาสตร์ศิลปในประเทศไทยฉบับคู่มือนักศึกษา” ของ รองศาสตราจารย์ พิริยะ ไกรฤกษ์ “ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย:การเริ่มต้นและการสืบเนื่องงานช่างในศาสนา” ของศาสตราจารย์ ดร. สันติ เล็กสุขุม และ“ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา”ของประยูร อุลุชาฏะ เป็นต้น


ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศมีความก้าวหน้ามากขึ้น การเข้าถึงความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยระดับหนึ่ง จึงสามารถสืบค้นได้จากเครือข่าย www.tkc.go.th ของศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ (Thailand Knowledge Center-TKC)และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

๔.๑ ความหมายของศิลปะ
ลีโอ ตอลสตอย(Leo Tolstoy) กล่าวว่า ศิลปะ หมายถึง กิจกรรมซึ่งมนุษย์ตั้งใจถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกพึงพอใจยินดีจากประสบการณ์ออกมา โดยไม่คำนึงถึงอรรถประโยชน์ทางวัตถุ และช่วยยกระดับของจิตวิญญาณมนุษย์ให้สูงขึ้น[1] ตามทัศนะของตอลสตอยนั้น สิ่งที่จะจัดเป็นศิลปะได้ต้องประกอบด้วย ๓ ทฤษฎี คือ [2]


ทฤษฎีความโน้มเอียง (Tendency Theory) ระบุว่า สาระแท้จริงของศิลปะ ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อหาที่สื่อออกมานั้น จะต้องมีความสำคัญและมีคุณค่าต่อมนุษย์ ต้องเป็นเรื่องราวที่ดีงาม มีศีลธรรม ชี้นำสังคมได้ โดยอาจมีแรงผลักดันมาจากศาสนา ศีลธรรม สังคมหรือการเมืองก็ได้


ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ (Aesthetic Theory) ระบุว่า สาระสำคัญของศิลปะอยู่ที่ความงามอันน่าพึงพอใจและยินดีของรูปแบบที่ถูกสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นภาพทิวทัศน์ ดอกไม้ ภาพเปลือยหรือท่าเต้นบัลเล่ย์ ฯลฯ
ทฤษฎีสัจนิยม (Realism Theory) ระบุว่า สาระสำคัญของศิลปะอยู่ที่การนำเสนอความจริงที่เป็นจริงและถูกต้องให้ปรากฏตามสภาพอันเที่ยงแท้


พระยาอนุมานราชธนอธิบายว่า ศิลปะ หมายถึง อารมณ์สะเทือนใจที่แสดงออกมาเป็นหนังสือ สี เสียง ท่าทางการเคลื่อนไหวที่งดงาม ทำให้ผู้อ่าน ผู้ดูหรือผู้ฟังรู้สึกเป็นอารมณ์[3]


ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายความหมายของศิลปะอย่างสอดคล้องกับบริบททางศิลปวัฒนธรรมไทยว่า ศิลปะ หมายถึง ฝีมือหรือฝีมือทางช่าง หรือการแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ โดยหมายถึงวิจิตรศิลป์[4] และอธิบายว่า “วิจิตร” แปลว่า “งามหยดย้อย”[5]


อย่างไรก็ดี ศูนย์กลางความรู้แห่งชาติได้อธิบายคุณสมบัติของศิลปะอย่างน่าสนใจ โดยเห็นว่าการที่นักปราชญ์ยุคคลาสสิคของกรีกชี้ว่า “ศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น”นั้นไม่น่าจะเพียงพอ มิฉะนั้นไม่ว่าใครจะสร้างอะไรขึ้นมา ก็จะถือเอาว่าผลงานของผู้นั้นเป็นศิลปะทั้งหมด สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจะถือว่าเป็นศิลปะได้นั้นต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ ดังนี้[6]


๑.มีความงามที่เกี่ยวข้องกับรสนิยมของแต่ละคน เชื้อชาติ วัฒนธรรม หรือยุคสมัย ซึ่งจะไม่แน่นอนตายตัว รวมถึงความงามที่มีลักษณะเป็นสากล ได้แก่ รูปเปลือยของกรีกยุคคลาสสิค ภาพรอยยิ้มมีเสน่ห์ของโมนาลิซา แต่ความงามบางอย่างก็มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสวย อาทิ ภาพรองเท้าของวินเซนต์ แวนโก๊ะ(Vincent van Gogh) เป็นต้น
๒.มีอารมณ์สะเทือนใจ ศิลปะที่สามารถแสดงความงามได้อย่างทรงพลังมักจะให้อารมณ์สะเทือนใจ ความสะเทือนใจรวมถึงอารมณ์อันเกิดจากความเศร้าโศก เสียใจและยินดี
๓.มีแนวคิดและ/หรือมีความคิดสร้างสรรค์ งานศิลปะที่ดีจะต้องมีความคิดที่ดีด้วย ศิลปะในอดีตและศิลปะร่วมสมัยบางประเภท อาจเน้นความงามเป็นหลักและมีความคิดสร้างสรรค์เป็นรอง แต่แนวโน้มทั้งของศิลปะนานาชาติจะให้ความสำคัญกับแนวคิดและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น จนบางครั้งอาจละเลยฝีมือและความงาม
๔.มีทักษะฝีมือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของศิลปะ แม้บางยุคจะไม่เน้นฝีมือช่างเพื่อสร้างความเหมือนและความสวยงาม อาทิ ศิลปะแนวสำแดงอารมณ์(Expressionism) แต่ศิลปินก็สามารถแสดงออกทางอารมณ์ด้วยการปาดป้ายฝีแปรงให้เป็นภาพที่ตนต้องการ
๕.มีความพิเศษเฉพาะตัว เมื่อศิลปินมีทักษะฝีมือ มีความคิดสร้างสรรค์และความพิเศษเฉพาะตัวก็สามารถสร้างความแปลกใหม่ออกมาอย่างโดดเด่นได้

๔.๒ ศิลปะก่อนสมัยอารยธรรมไทย
๔.๒.๑ ศิลปะวัตถุรุ่นเก่า

ศิลปะวัตถุรุ่นเก่าหมายถึงโบราณวัตถุขนาดเล็กจำนวนหนึ่งซึ่งถูกนำเข้ามายังดินแดนในประเทศไทยโดยพ่อค้าหรือนักบวชชาวต่างชาติ และพบในพื้นที่ต่างๆ เช่น ที่เมืองโบราณพงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ที่ตำบลเวียงสระ อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานีและในเมืองพระนครศรีอยุธยา กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖–๑๕


ตะเกียงโรมันสำริด
ตะเกียงโรมันสำริด สูง ๒๗ เซนติเมตร พบที่เมืองโบราณพงตึก ฝาตะเกียงทำเป็นรูปเทพเจ้าซีเลนัส(Silenus) ตำนานกล่าวว่าเทพเจ้าองค์นี้ทรงเป็นโอรสแห่งแผ่นดินของชาวกรีก ลักษณะของด้ามจับทำเป็นรูปใบปาล์ม โคนด้ามทำเป็นรูปปลาโลมาหันหน้าหากัน สัณนิษฐานว่าอาจหล่อขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรีย เมืองท่าศูนย์กลางทางการค้าของอาณาจักรอียิปต์ยุคปลายก่อนพุทธศตวรรษที่ ๖ (รูปที่๑)

รูปที่๑

๔.๒.๒ ศิลปะเทวรูปรุ่นเก่า
ศิลปะเทวรูปรุ่นเก่าเป็นศิลปะสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายหรือลัทธิไวษณพนิกาย แพร่กระจายตามชุมชนโบราณชายฝั่งทะเลทางภาคใต้และเมืองโบราณร่วมสมัยกับศิลปะทวารวดีในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในภาคใต้ ศิลปะแบบเทวรูปรุ่นเก่าพบมากในพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงาและนครศรีธรรมราช ภาคเหนือตอนล่างพบที่เมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกพบที่เมืองศรีมโหสถ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๔


เอกมุขลึงค์
พบที่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฏร์ธานี สูง ๑.๐๙ เมตร เอกมุขลึงค์ที่พบแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนฐานรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่า พรหมภาค หมายถึง พระพรหม ส่วนกลางรูปแปดเหลี่ยม เรียกว่า วิษณุภาค หมายถึง พระวิษณุ และส่วนยอดรูปทรงกระบอกปลายมน เรียกว่า รุทรภาค หมายถึง พระอิศวร รูปพระจันทร์เสี้ยวด้านพระเศียรของพระอิศวรที่ส่วนรุทรภาค ชี้ให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลจากศิลปะคุปตะในพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ [7] (รูปที่ ๒)

รูปที่๒

๔.๒.๓ ศิลปะทวารวดี
ศิลปะทวารวดี หมายถึง ศิลปะเนื่องในศาสนาพุทธนิกายหินยานและมหายานที่แพร่หลายในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๖


ในภาคกลางศิลปะทวารวดีพบที่เมืองจันเสน เมืองโคกไม้เดน จ.นครสวรรค์ เมืองคูบัว จ.ราชบุรี เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เมืองพงตึก จ.กาญจนบุรี เป็นต้น ภาคใต้พบที่ จ.สุราษฎร์ธานี ภาคตะวันออก พบที่เมืองศรีมโหสถ เมืองโคกขวาง จ.ปราจีนบุรี เมืองดงละคร จ.นครนายก เมืองพระรถ เมืองพนัสนิคม จ.ชลบุรี ฯลฯ ภาคเหนือพบที่เมืองหริภุญชัย จ.ลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์ บ้านฝ้าย อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เมืองเสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ฯลฯ


พระพุทธรูปปางประทานพร
พบที่วัดรอ จ.พระนครศรีอยุธยา ศิลาสูง๑.๔๗เมตร อิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและหลังคุปตะ คือ ห่มจีวรบางแนบองค์เหมือนผ้าเปียกน้ำ แม้พระพักตร์ยังคล้ายศิลปะอินเดียอยู่แต่ก็ประทับยืนตรงและพระพักตร์มีลักษณะเป็นพื้นเมืองแล้ว (รูปที่ ๓)

รูปที่๓

๔.๒.๔ ศิลปะลพบุรี
ศิลปะลพบุรีหรือเรียกว่า “ศิลปะขอม” หมายถึง รูปแบบศิลปะที่แพร่กระจายในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย โดยได้รับแรงบันดาลใจและคติทางประติมานวิทยามาจากอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งส่งผ่านมาจากอินเดียอีกชั้นหนึ่ง อิทธิพลของศิลปะลพบุรีผสมผสานในศิลปะที่พบในดินแดนประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๑๒ จนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น


แนวคิดเกี่ยวกับศิลปะลพบุรีก่อตัวในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย พันตรี ลูเนต์ เดอ ลาจองกิแยร์ (Lunet de Lajonguiêre) เรียกศิลปะซึ่งมีลักษณะคล้ายกับศิลปะในประเทศกัมพูชาว่า“ศิลปะเขมร” แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์เรียกว่า “ศิลปะลพบุรี” เพราะเมืองลพบุรีเป็นเมืองสำคัญในช่วงที่อาณาจักรกัมพูชาเคยแผ่อิทธิพลเข้ามา[8] และศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงอธิบายว่า “ศิลปะลพบุรี” หมายถึง โบราณวัตถุโบราณสถานเขมรที่ค้นพบในประเทศไทยรวมทั้งศิลปะที่สร้างเลียนแบบระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๒-๒๐ อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ หม่อมราชวงศ์ สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์เสนอว่า ดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งถูกเรียกว่าดินแดน“นอกกัมพุชเทศ”นั้น หมายถึง ดินแดนที่อยู่นอกเขตอิทธิพลของอาณาจักรกัมพูชา ศิลปะในดินแดนแถบนี้จึงมิใช่ศิลปะเขมรแท้ๆ และบางครั้งศิลปะในดินแดนประเทศไทยยังส่งอิทธิพลให้แก่ศิลปะเขมรด้วย จึงควรเรียกว่า “ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย”


ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง
พบที่วัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา สูง ๑๘๐ เซนติเมตร ลักษณะพระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม แสดงกิริยาการเคร่งขรึม พระขนง(คิ้ว)เป็นเส้นตรง ทรงจีวรบางมาก แลเห็นจีวรที่พระนาภีและข้อพระบาทเท่านั้น จัดอยู่ในศิลปะแบบบาปวนต่อนครวัด กำหนดอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ (รูปที่ ๔)

รูปที่ ๔

สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมศิลปะลพบุรี ได้แก่ เทวาลัยประจำชุมชนหรือเทวสถาน (ปราสาทหิน) ธรรมศาลา(ที่พักคนเดินทาง) และอโรคยศาลา(โรงพยาบาล) เทวาลัยประจำชุมชนบนพื้นราบ ได้แก่ ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา ปราสาทศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ฯลฯ และเทวาลัยบนภูเขา ได้แก่ ปราสาทเขาพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ปราสาทเขาน้อย จ.สระแก้ว เป็นต้น
เทวาลัยหรือปราสาทหินที่พบในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อประดิษฐานเทวราชาหรือเทวรูปที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่บรรพบุรุษตามความเชื่อในศาสนาฮินดู จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่๑๗ พระเจ้าชัยวรมันที่๖(พ.ศ.๑๖๕๑–๑๖๕๕)ผู้ทรงสนับสนุนศาสนาพุทธนิกายมหายาน จึงโปรดฯให้สร้างปราสาทหินพิมายซึ่งมีภาพแกะสลักที่เกี่ยวเนื่องทั้งเรื่องราวในศาสนาพุทธนิกายมหายานและศาสนาฮินดู ครั้นถึงรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่๗ (พ.ศ.๑๗๒๔–ประมาณพ.ศ.๑๗๖๓) มีการสร้างสถาปัตยกรรมแบบใหม่ คือ อโรคยศาลาและธรรมศาลาซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธนิกายมหายานอย่างชัดเจน สถาปัตยกรรมสำคัญในศิลปะลพบุรี อาทิ ปราสาทพนมรุ้ง


ปราสาทพนมรุ้ง(รูปที่ ๕) อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เป็นปราสาทหินทรายสีชมพูขนาดใหญ่บนยอดเขาพนมรุ้ง ตั้งระหว่างเส้นทางจากเมืองพระนครในอาณาจักรกัมพูชามายังเมืองพิมาย เขาพนมรุ้งเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว ปากปล่องภูเขาไฟปัจจุบันมีสภาพเป็นสระน้ำที่เชิงเขาด้านล่าง คำว่า “พนมรุ้ง” มาจากภาษาเขมรว่า “วนํมรุง” แปลว่า“ภูเขาอันกว้างใหญ่” [9] ศิลาจารึกที่พบบ่งชี้ว่า พระเจ้านเรนทราทิตย์พระญาติของพระเจ้าสุริยวรมันที่๒ (พ.ศ.๑๖๕๖–หลังพ.ศ.๑๖๘๘) อาจทรงเป็นผู้สร้างปราสาทพนมรุ้ง ภาพจำหลักบนทับหลังด้านหน้าครรภคฤหะ(ห้อง)ของปรางค์ประธานถูกสร้างขึ้นตามความเชื่อในลัทธิปศุปตะของศาสนาฮินดูแบบไศวนิกาย รูปฤาษี ๕ ตนหมายถึง พระอิศวรขณะทรงพรตเป็นพระฤาษี แต่รูปจำหลักอื่นๆ อาทิ ทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์และรูปวิษณุตรีวิกรม ฯลฯ ก็แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดูแบบไวษณพนิกาย ลวดลายจำหลักที่ปรากฏจัดอยู่ในศิลปะลพบุรีร่วมสมัยกับศิลปะนครวัดของอาณาจักรกัมพูชา(พ.ศ.๑๖๕๐–๑๗๑๕)

รูปที่ ๕

๔.๒.๕ ศิลปะศรีวิชัย
ศิลปะศรีวิชัย หมายถึง ศิลปะที่สร้างขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓–๑๙ ศิลปะศรีวิชัยได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียทั้งแบบคุปตะ แบบหลังคุปตะ และแบบปาละ-เสนะ ตามลำดับ โบราณวัตถุบางชิ้นของศิลปะศรีวิชัยมีลักษณะคล้ายกับศิลปะวัตถุที่พบในชวาภาคกลางมาก[10] บางท่านเสนอว่าควรเรียก “ศิลปะทักษิณหรือศิลปะในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย” เพราะหลักฐานที่พบแต่ละชิ้นมีลักษณะแตกต่างกันมากแล้วแต่จะได้รับอิทธิพลศิลปะใด[11] ศิลปะแบบศรีวิชัยจำแนกเป็น ประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ดังนี้


ประติมากรรม
พระโพธิสัตว์ปัทมปาณีในรูปของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สำริด สูง ๖๓ เซนติเมตร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงค้นพบที่อ.ไชยา สุราษฎร์ธานีเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ ลักษณะชำรุดเหลือเพียงครึ่งท่อนบนประทับยืนตริภังค์ หนังกวางที่ทรงห่มบ่งชี้ว่าเป็นรูปของพระอวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทรงเป็นพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนานิกายมหายาน ทรงกำเนิดจากพระอมิตาภะพุทธเจ้า จึงมีรูปพระอมิตาภะประทับปางสมาธิที่มวยผมหรือศิราภรณ์ ในประเทศจีนพระอวโลกิเตศวรเป็นหญิง คือ เจ้าแม่กวนอิม ชายาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร คือ นางดารา [12] (รูปที่ ๖)

รูปที่ ๖

สถาปัตยกรรม
ระยะแรก เจดีย์หรือสถูปทรงมณฑปที่สร้างเนื่องในศาสนาพุทธนิกายมหายาน อายุราวพุทธศตวรรษที่๑๓-๑๕ ลักษณะคล้าย“จันทิ”ในเกาะชวาภาคกลาง(อินโดนีเซีย) หรือคล้ายปราสาทจามที่เมืองฮัวไลและโบราณสถานศิลปะขอมสมัยกุเลน(รูปที่ ๗)
ระยะที่๒ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ไม่พบหลักฐานสถาปัตยกรรม แต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ พบร่องรอยสถาปัตยกรรมถูกสร้างพอกทับด้านนอกด้วยเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายหินยานแบบลังกาวงศ์


รูปที่ ๗


๔.๓ ศิลปะสมัยอารยธรรมไทย
๔.๓.๑ ศิลปะหริภุญชัยและล้านนา
ศิลปะหริภุญชัยและล้านนา หมายถึง ศิลปะที่พบในดินแดนล้านนาซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ๘ จังหวัดของภาคเหนือตอนบนระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔–๒๓ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพู ลำปาง แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน อาณาจักรล้านนามีศูนย์กลาง คือ เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙ โดยพระเจ้ามังราย ตำนานกล่าวว่าอาณาจักรล้านนามีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยพญาลวจกราชแห่งเมืองหิรัญนครเงินยาง(เชียงแสน)เมื่อ พ.ศ.๑๑๘๑[13] ดินแดนล้านนาประกอบด้วย
แคว้นหริภุญชัย ก่อตั้งเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ มีศูนย์กลางอยู่ในเขตจังหวัดลำพูนและจังหวัดลำปาง ศาสตราจารย์ สันติ เล็กสุขุมเชื่อว่า ศิลปะหริภุญชัยมีความสัมพันธ์กับศิลปะร่วมสมัยในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงศิลปะมอญและศิลปะพุกาม [14]
แคว้นโยนก ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย มีแม่น้ำกก แม่น้ำลาว แม่น้ำสายและแม่น้ำโขงไหลผ่าน และมีตำนานเล่าขานสืบมา เช่น ตำนานสุวรรณโคมคำและตำนานสิงหนวัติกุมาร เป็นต้น แคว้นโยนกมีอายุในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙


แคว้นน่าน ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดน่าน มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน ศูนย์กลางของแคว้นน่านอยู่ที่เมืองปัวหรือพลั่วหรือ“วรนคร” มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแคว้นหลวงพระบางและแคว้นสุโขทัย สินค้าสำคัญ คือ เกลือสินเธาว์ แคว้นน่านถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นล้านนาในพุทธศตวรรษที่ ๒๑
ศิลปะล้านนา จำแนกเป็น ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และจิตรกรรม ดังนี้


ประติมากรรม

จำแนกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ดังนี้
กลุ่มที่ ๑ เรียกว่า พระพุทธรูปศิลปะล้านนารุ่นแรกหรือที่เรียกว่า “พระพุทธรูป
เชียงแสนรุ่นที่๑“ หรือ “สิงห์๑“ พบมากในเมืองเชียงแสนเชื่อว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ พบทั่วไปในเมืองเชียงใหม่ บางองค์มีจารึกระบุปีสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลักษณะของประติมากรรมคล้ายศิลปะปาละของอินเดียซึ่งถ่ายทอดมาจากศิลปะพุกาม พระรัศมีดอกบัวตูม เม็ดพระศกใหญ่รูปก้นหอย พระหนุ(คาง)เป็นปม อมยิ้ม อวบอ้วน พระอุระ(อก)นูน ชายสังฆาฏิ(จีวรสั้น)มีปลายเป็นรูปเขี้ยวตะขาบ ฐานบัวหงายบัวคว่ำมีเกสร ประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร(รูปที่ ๘)


กลุ่มที่๒ เรียกว่าพระพุทธรูปล้านนาตอนปลาย หรือ “พระพุทธรูปเชียงแสนรุ่นที่๒“ หรือ “สิงห์๒“ หรือเรียกว่า “พระพุทธรูปแบบเชียงใหม่” ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยเข้ามาผสมผสานจากการที่พระสุมนะเถระขึ้นไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ที่แคว้นน่าน เชียงใหม่และลำพูนเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ พุทธลักษณะประกอบด้วยพระรัศมีรูปเปลวไฟ ขมวดพระขนาดเกศาเล็ก พระพักตร์รูปไข่ ชายจีวรยาวถึงพระนาภี นิยมทำปางขัดสมาธิราบ และปางต่างๆ อาทิ ปางอุ้มบาตรและปางไสยาสน์ และนิยมสร้างพระพุทธรูปจากแก้วสีและหินผลึก


กลุ่มที่๓ พระพุทธรูปล้านนา หลังช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ศาสนาและศิลปกรรมรุ่งเรืองมีการปฏิสังขรณ์วัดและสร้างพระพุทธรูปมาก นิยมจารึกข้อความอุทิศส่วนกุศลและนิยมสร้างพระพุทธรูปแบบเชียงแสน๑อีกครั้ง เมืองลำปาง พะเยา ฝาง นิยมสร้างพระพุทธรูปที่มีลักษณะร่วมกันคือ มีไรพระศกคล้ายกัน แต่ลักษณะพระพักตร์และวัสดุต่างกัน เช่น พะเยานิยมสร้างพระพุทธรูปหินทรายบนฐานสูง มีภาพประกอบฐาน หลังพุทธศตวรรษที่๒๒ เกิดความระส่ำระสาย ในอาณาจักรล้านนา ศิลปะการสร้างพระพุทธรูปมีความแตกต่างหลากหลายทำให้ศิลปะที่สร้างขึ้นในช่วงนี้ขาดอัตลักษณ์ (Identity)

รูปที่ ๘

สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมล้านนาระยะแรก

พัฒนาขึ้นมาจากการผสมผสานรูปแบบของศิลปะหริภุญชัยและศิลปะพุกามแล้วจึงพัฒนารูปแบบของตนเองในช่วงพุทธศตวรรษที่๑๙ จำแนกเป็น ๒ รูปแบบ คือ
เจดีย์ทรงระฆัง มีฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จ เหนือขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวในผังทรงกลมซ้อนกัน๓ชั้น เหนือชุดฐานบัวในผังทรงกลมเป็นฐานลูกแก้วอกไก่ซ้อน ๓ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังและบัลลังก์ย่อมุม ถัดไปเป็นก้านฉัตร ปล้องไฉน และปลียอดตามลำดับ ทำให้มีรูปทรงเพรียวและแพร่หลายมาก ได้แก่ เจดีย์พระธาตุหริภุญชัย เจดีย์วัดพระบวช เชียงแสน ในสมัยพระเจ้าติโลกราช[15]


(รูปที่ ๙)


เจดีย์ทรงปราสาท ลักษณะสำคัญคือเป็นเจดีย์ที่มีเรือนธาตุเป็นแผนผังรูปสี่เหลี่ยม ที่เรือนธาตุมีซุ้มจระนำสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป เหนือขึ้นไปเป็นชุดหลังคาลาดและองค์ระฆัง ได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมหริภุญชัย โดยมีเจดีย์วัดกู่กุด(วัดจามเทวี) เป็นต้นแบบ เจดีย์ทรงปราสาทที่สำคัญ ได้แก่ เจดีย์วัดป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ลักษณะเด่นคือ เปลี่ยนจากหลังคาลดชั้นในเจดีย์กู่กุดเป็นชั้นหลังคาลาดขึ้นไป ถือเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์แบบล้านนาอย่างหนึ่ง

รูปที่ ๙


จิตรกรรม
จิตรกรรมในศิลปะล้านนาหลงเหลือค่อนข้างน้อย จิตรกรรมล้านนาเก่าแก่ที่สุด คือ จิตรกรรมฝาผนังในกรุเจดีย์วัดอุโมงค์เถรจันทร์เมืองเชียงใหม่ ลักษณะเป็นจิตรกรรมเรื่อง พระอดีตพุทธเจ้า ๒๔องค์ อายุราวพุทธศตวรรษที่๒๐[16] ซึ่งสัมพันธ์กับศิลปะสุโขทัยและศิลปะอยุธยาตอนต้น ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๒๑–๒๒ ศิลปะล้านนานิยมเขียนภาพพระบฏเหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ด้วยสีพหุรงค์ เช่น สีเขียว น้ำเงิน เหลือง ขาว แดงและดำ โดยเฉพาะภาพพระพุทธเจ้านั้นนิยมปิดทองและตัดเส้นด้วยสีแดงและดำ[17]


จิตรกรรมศิลปะล้านนาที่เหลือส่วนใหญ่เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ จิตรกรรมที่วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ เขียนลวดลายด้วยเทคนิคลายทองพื้นแดงฉลุกระดาษ และเทคนิคจิตรกรรมสีฝุ่นเรื่องสังข์ทอง(ทิศเหนือ) สุวรรณหงส์(ทิศใต้)และรูปพระอดีตพุทธเจ้า(ส่วนบนของผนังห้องท้ายวิหารด้านเหนือ)[18] จิตรกรรมวัดภูมินทร์ จ.น่าน(รูปที่ ๑๐) เขียนภาพจากปัญญาสชาดก อาทิ ชาดกเรื่องคันธนะกุมมาน [19] เป็นต้น


รูปที่ ๑๐

๔.๓.๒ ศิลปะสุโขทัย
ศิลปะสุโขทัย หมายถึง ศิลปะที่แพร่กระจายอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๐ โดยมีเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี ศิลปะสุโขทัยมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

ประติมากรรม


สมัยสุโขทัยนิยมสร้างพระพุทธรูป ๔ พระอิริยบถ คือ ปางประทับนั่ง ปางประทับยืน ปางลีลาและปางไสยาสน์ พุทธลักษณะทั่วไปของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย คือ มีพระอังสา(บ่า)ใหญ่ บั้นพระองค์(เอว)เล็ก พระพักตร์เป็นรูปไข่ พระโอษฐ์อมยิ้ม พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง เม็ดพระศกคล้ายก้นหอย พระรัศมีเป็นเปลวไฟ ฐานเป็นรูปหน้ากระดานเรียบๆ ชายจีวรยาวทำเป็นรูปเขี้ยวตะขาบ จำแนกออกเป็น ๔ หมวด ดังนี้


๑) หมวดใหญ่ /หมวดทั่วไป/ หมวดคลาสสิก พระพักตร์รูปไข่ พระโอษฐ์อมยิ้ม พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง พระรัศมีเป็นเปลวไฟ พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ขมวดพระเกศาเวียนขวาเป็นก้นหอย ชายสังฆาฏิเป็นรูปเขี้ยวตะขาบ (รูปที่ ๑๑)
๒) หมวดพระพุทธชินราช พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระหัตถ์ทั้ง๔ ยาวเสมอกัน
๓) หมวดวัดตะกวนหรือหมวดเบ็ดเตล็ด มีลักษณะของพระพุทธรูปล้านนาและลังกาเข้ามาผสมผสาน พบที่วัดตะกวนเป็นแห่งแรก ต่อมาพบที่วัดพระพายหลวง ฯลฯ
๔) หมวดกำแพงเพชร ลักษณะคล้ายหมวดใหญ่ พระนลาฏ(หน้าผาก)กว้าง พระหนุ(คาง)ค่อนข้างแหลม

รูปที่ ๑๑


นอกจากการนับถือศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์แล้ว ชาวสุโขทัยยังนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงแผ่นที่๔ ด้านที่๑บรรทัด๕๑-๕๔ กล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทว่า “ปีฉลู ณ วันศุกร ขึ้น...ค่ำ เดือน๘ บูรพาษาฒนักขัตฤกษ์ เวลารุ่งเช้า เมื่อเสด็จประดิษฐานรูปพระมเหศวร พระวิษณุ ไว้ในหอเทวาลัยมหาเกษตร ในป่ามะม่วงนี้...ดาบสพราหมณ์ทั้งหลายบูชาเป็นนิตย์” (รูปที่ ๑๒)

รูปที่ ๑๒

สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัยจำแนกเป็น เจดีย์ พระปรางค์และวิหาร เจดีย์สมัยสุโขทัย จำแนกเป็น เจดีย์ทรงลังกาซึ่งสร้างตามแบบอย่างศิลปะลังกา ได้แก่ เจดีย์ วัดช้างล้อม อ.ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย เจดีย์ทรงปราสาทอิทธิพลของศิลปะพุกามที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย [20] และเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.สุโขทัย ซึ่งช่างพัฒนามาเป็นศิลปะของสุโขทัยอย่างแท้จริง (รูปที่ ๑๓)
พระปรางค์ในศิลปะสุโขทัยเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลทางจากศิลปะเขมร แต่มีรูปทรงที่ค่อนข้างสูงและเพรียวกว่า ได้แก่ พระปรางค์วัดศรีสวายและวัดพระพายหลวง เป็นต้น


วิหารในสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย ได้แก่ วิหารพระอจนะวัดศรีชุม ซึ่งเป็นวิหารทรงมณฑปขนาดใหญ่ ก่อครอบพระพุทธรูปประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย รูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลศิลปะลังกาแบบโปลนนารุวะ ภายในวิหารมีอุโมงค์สามารถเดินขึ้นไปถึงพระพาหาพระพุทธรูป พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรเคยเสด็จฯมาพักทัพและได้ยินเสียงพระพุทธรูปพูดได้ พระราชพงศาวดารเรียกวัดนี้ว่า “วัดฤษีชุม” แต่ชื่อเดิมน่าจะเป็น “ศรี-ชุม” ซึ่งออกเสียงว่า “สะหลี-ชุม” แปลว่าต้นโพธิ์มาก มีการค้นพบภาพจำหลักเล่าเรื่องพุทธชาดกภายในอุโมงค์ของพระมณฑปที่วัดแห่งนี้ด้วย

รูปที่ ๑๓

๔.๒.๘ ศิลปะอู่ทอง


ศิลปะอู่ทอง หมายถึง ศิลปะก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๗-๑๙ พบมากในเขตเมืองโบราณอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรีและปริมณฑล ผลการขุดค้นทางโบราณคดีของศาสตราจารย์ชอง บวสเซอลิเยร์(Jean Boiselier)ระบุว่า เมืองอู่ทองร้างก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาเกือบ ๓๐๐ ปี จึงไม่ควรเรียกศิลปะที่พบในเขตเมืองอู่ทองและปริมณฑลว่า “ศิลปะอู่ทอง” เพราะเป็นสกุลช่างทางศิลปะที่มีสืบเนื่องมาถึงสมัยอยุธยาตอนต้น นักวิชาการบางท่านเสนอให้เรียกว่า “ศิลปะอโยธยา” [21]เพราะเชื่อว่ามีเมืองอโยธยาทางทิศตะวันออกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา[22] และมีผู้เสนอให้ศิลปะอู่ทองว่า “ศิลปะสกุลช่างสุพรรณบุรี-สรรค์บุรี” [23]


ประติมากรรม


พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองจำแนกเป็น ๓ รูปแบบ ดังนี้


แบบอู่ทองA อิทธิพลศิลปะทวารวดีและศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทยผสม
ผสานกัน อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ พระรัศมีดอกบัวตูม พระพักตร์และจีวรคล้ายพระ
พุทธรูปแบบทวารวดีแต่ค่อนข้างเหลี่ยมและมีไรพระศก ฐานหน้ากระดานแอ่นเข้าใน (รูปที่ ๑๔)
แบบอู่ทองB อิทธิพลของศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทยมากขึ้น พระรัศมีเป็น
เปลวไฟ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ลักษณะฐานหน้ากระดานแอ่นเข้าใน
แบบอู่ทองC อิทธิพลศิลปะสุโขทัยปะปนมาก แต่มีไรพระศก ฐานหน้ากระดาน
แอ่นเป็นร่องเข้าข้างใน อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ พบมากที่กรุวัดราชบูรณะ


รูปที่ ๑๔


สถาปัตยกรรม
นักวิชาการกล่าวถึงนิยามของสถาปัตยกรรมแบบอู่ทองค่อนข้างจะไม่ชัดเจนนัก ไม่ว่าจะในตำราของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ศาสตราจารย์ สันติ เล็กสุขุมและรองศาสตราจารย์ สงวน รอดบุญ เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงทางวิชาการ แต่ประยูร อุลุชาฏะเสนอชัดเจนว่า เจดีย์สมัยอโยธยามีทั้งสิ้น ๖ รูปแบบ[24] อย่างไรก็ดี สถาปัตยกรรมที่นักวิชาการยอมรับว่า สร้างขึ้นร่วมสมัยกับศิลปะอู่ทอง ได้แก่ พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี ซึ่งศาสตราจารย์ ชอง บวสเซอลิเยร์เสนอว่า เป็นพระปรางค์องค์แรกในศิลปะไทยที่ยังมีทับหลังศิลาทรายจำหลักตามแบบอย่างศิลปะลพบุรีอยู่ (รูปที่ ๑๕)

รูปที่๑๕

๔.๓.๔ ศิลปะอยุธยา
ศิลปะอยุธยาเป็นศิลปะในดินแดนประเทศไทยแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างระหว่าง พ.ศ.๑๘๙๓-๒๓๑๐ หลักฐานที่ใช้ในการศึกษาศิลปะสมัยอยุธยา ประกอบด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานและเอกสารจำนวนหนึ่ง รวมถึงผลงานการศึกษาค้นคว้าและตำราของนักวิชาการทั้งหลาย อาทิ ประยูร อุลุชาฏะ และศาสตราจารย์ สันติ เล็กสุขุม ในที่นี้จะกล่าวถึงศิลปะอยุธยาเฉพาะงานประติมากรรม สถาปัตยกรรมและจิตรกรรม ดังนี้

ประติมากรรม
ลักษณะของพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา จำแนกเป็น[25]


แบบแรก พระพุทธรูปที่สร้างตามแบบอย่างศิลปะอู่ทอง B และอู่ทอง C คือมีไรพระศก จีวรตัดตรง ฐานแอ่นเข้าใน ศิลปะแบบอู่ทองB แพร่หลายก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) อาทิ พระพุทธไตรรัตนนายก(อู่ทองB) พระพุทธรูปในกรุวัดราชบูรณะ(อู่ทองC) และรูปพระโพธิสัตว์ ๕๐๐ ชาติ ซึ่งมีลักษณะของศิลปะลพบุรีหรืออู่ทองผสมผสานกับศิลปะสุโขทัย
แบบที่๒ เริ่มตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครองเมืองพิษณุโลก ศิลปะสุโขทัยได้แพร่เข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ถึงเสียกรุงศรีอยุธยา จัดเป็นศิลปะอยุธยาอย่างแท้จริง ระยะแรกๆยังมีไรพระศกและจีวรตัดตรง แต่ฐานมีการตกแต่งเครื่องประดับมากมาย
แบบที่๓ สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นิยมสร้างพระพุทธรูปหินทราย รวมทั้งสร้างพระพุทธรูปสำริดที่มีพระเนตรและพระโอษฐ์ทำเป็นขอบ ๒ ชั้นหรือมีพระมัสสุ(หนวด)บางๆ
แบบที่๔ พระพุทธรูปทรงเครื่อง แบ่งเป็น๒ แบบ คือ พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยกับพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ปางที่นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องในศิลปะอยุธยา ได้แก่ ปางห้ามสมุทร ยกพระหัตถ์แสดงปางประทานอภัย ๒ ข้าง ปางห้ามญาติ ยกพระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานอภัย ๑ ข้าง ปางห้ามพระแก่นจันทร์ ยกพระหัตถ์ซ้ายแสดงปางประทานอภัย ๑ ข้าง (รูปที่ ๑๖)

รูปที่๑๖

สถาปัตยกรรม
จะกล่าวถึงเฉพาะรูปแบบของเจดีย์ ซึ่งจำแนกออกเป็น ๔ สมัย ดังนี้[26]
สมัยที่๑ ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่๑-สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(พ.ศ.๑๘๙๓-๒๐๓๑) นิยมสร้างเจดีย์หรือสถูปทรงปรางค์อาทิ วัดพุทไธสวรรย์ วัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก (รูปที่ ๑๗)


สมัยที่๒ ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จฯครองเมืองพิษณุโลก ทำให้เกิดพระราชนิยมในศิลปะสุโขทัยที่เมืองพระนครศรีอยุธยาเพิ่มมากขึ้น อาทิ เจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดใหญ่ชัยมงคล แม้ว่าสมัยเจ้าสามพระยาจะเคยมีการสร้างเจดีย์ทรงลังกาที่วัดมเหยงคณ์มาแล้ว
สมัยที่๓ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีการถ่ายแบบปรางค์เขมรมาสร้างวัดไชยวัฒนาราม และเกิดความนิยมสร้างในการสร้างเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง (วัดชุมพลนิกายาราม)
สมัยที่๔ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ(พ.ศ.๒๒๗๕-๒๓๑๐) นิยมสร้างเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง อาทิ ปฏิสังขรณ์เจดีย์วัดภูเขาทองบนฐานที่พระเจ้าบุเรงนองสร้างไว้ ฐานและหลังคาอุโบสถทำเป็นเส้นอ่อนโค้ง

รูปที่๑๗


จิตรกรรม
จำแนกเป็น ๓ ยุค คือ


จิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.๑๘๙๓–๒๐๗๒) มีอิทธิพลของศิลปะลพบุรี สุโขทัยและลังกาเข้ามาผสมผสาน สีที่ใช้มีลักษณะแข็งและหนัก และใช้เพียงสีดำ ขาวและแดง จิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนกลาง (พุทธศตวรรษที่๒๒–๒๓) มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยมากขึ้น คือ ใช้สีเพิ่มมากขึ้น พบพียงหลักฐานจิตรกรรมในสมุดภาพไตรภูมิ แต่นักวิชาการบางท่านก็จัดให้ภาพเขียนในกรุพระเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ องค์ด้านตะวันออกอยู่ในสมัยนี้ด้วย[27]


จิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาถึงสิ้นกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.๒๒๓๑–๒๓๑๐) มีการจัดองค์ประกอบภาพลักษณะแบบมองจากเบื้องสูง(bird’s eye view) มีการใช้เส้นสินเทารูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ แบ่งภาพเป็นตอนๆใช้เทคนิคการเขียนภาพแบกพหุรงค์(polychrome) พื้นภาพใช้สีเบาเพื่อการเน้นภาพเขียน มีอิทธิพลศิลปะจีนในภาพธรรมชาติแบบสามมิติ หลักฐานจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้แก่ จิตรกรรมในตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ (จ.พระนครศรีอยุธยา ) วัดใหญ่สุวรรณาราม และวัดเกาะแก้วสุทธาราม (จ.เพชรบุรี) และวัดประดู่ทรงธรรม[28] เป็นต้น (รูปที่ ๑๘)

รูปที่๑๘


๔.๓.๕ ศิลปะรัตนโกสินทร์


ศิลปะรัตนโกสินทร์ ในที่นี้หมายถึงศิลปะแบบไทยประเพณีที่สร้างตั้งแต่มีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ.๒๓๒๕)ถึงสมัยรัชกาลที่๓(พ.ศ.๒๓๙๔) นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “ศิลปะบางกอก(Bangkok Art)”[29] การศึกษาศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ค่อนข้างมีหลักฐานและตำราแพร่หลายจำนวนมาก จึงจะกล่าวถึงตามลำดับโดยอ้างอิงข้อมูลในเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ ดังนี้[30]


รัชกาลที่๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(พ.ศ.๒๓๒๕–๒๓๕๒) ประติมากรรมแนวอุดมคติที่นิยมสร้าง คือ พระพุทธรูป ซึ่งสร้างตามสภาวะธรรม เพื่อแสดงถึงความเป็นพุทธะ ไม่สนใจภาพแบบสมจริง (Realism) อาทิ รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดฯให้สร้างพระพุทธรูปขึ้น ๒ องค์ คือ พระพุทธจุลจักรอุทิศถวายพระบรมชนกนาถ และสร้างพระพุทธจักรพรรดิเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลในส่วนพระองค์ ประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้น [31]


ลักษณะเด่นของงานจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่๑ คือ การเขียนภาพ ๒ มิติ(กว้างและยาว) ไม่เน้นกล้ามเนื้อ แสงเงาและรอยยับของผ้า ไม่มีหลักทัศนียวิสัย(perspective) การให้สี ลวดลายประดับ เครื่องแต่งกาย การวางตำแหน่งของคนและวัตถุต่างๆ บ่งบอกถึงสถานภาพและตัวบุคคล เช่น รูปพระพุทธเจ้าจะมีพระวรกายเป็นทองด้วยการปิดทองคำเปลวและมีพระเกตุมาลา ภาพกษัตริย์ก็จะต้องมีผิวเป็นสีอ่อนสะอาด สวมมงกุฎและฉลองพระองค์ (รูปที่ ๑๙) ภาพทหารเลวและไพร่จะมีหน้าตาเข้าขั้นอัปลักษณ์ ภาพชาวบ้านจะมีร่างกายสีคล้ำหน้าตาดูธรรมดา และอยู่บริเวณชายขอบของภาพ มักดูตลกหรือน่าเกลียด มีทั้งภาพวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สงบสุขและภาพโป๊เปลือย ภาพการเสพกาม การละเล่นพื้นบ้านและอบายมุขการพนัน

รูปที่ ๑๙


รัชกาลที่๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๖๗) ทรงอุปถัมภ์งานช่างไทยต่างๆและยังทรงงานช่างเองด้วย เช่น งานแกะสลักไม้ฝีพระหัตถ์บนบานประตูวัดสุทัศน์เทพวราราม(รูปที่ ๒๐) ในยุคนี้สยามเริ่มติดต่อกับชาติยุโรปทำให้อิทธิพลของศิลปะตะวันตกเริ่มปรากฎขึ้นบ้าง จากสิ่งของที่ชาวตะวันตกนำเข้ามา กลายเป็นเครื่องประดับตกแต่งในราชสำนัก เช่น กระจกใหญ่ ระย้าแก้วและรูปเขียนกษัตริย์โปรตุเกส

รูปที่ ๒๐


รัชกาลที่๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔) ทรงดำริให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่างๆและโปรดฯให้สร้างวัดขึ้นมากมาย การสร้างวัดที่สะท้อนถึงพระราชนิยมในศิลปะจีน เช่น มีการออกแบบลวดลายประดับเลียนแบบศิลปะจีนที่วัดราชโอรส ตั้งแต่ทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ส่งผลต่อการสร้างและบูรณะวัดอื่นๆในสมัยที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ เช่น วัดนางนองที่บางขุนเทียน วัดเฉลิมพระเกียรติที่เมืองนนทบุรี และวัดเทพธิดารามซึ่งสุนทรภู่เคยจำวัดเมื่อครั้งบวชเป็นพระ รวมถึงพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามที่สร้างค้างไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒


ผลงานจิตรกรรมสมัยนี้ มีความรุ่งเรืองโดยศิลปิน เช่น ครูทองอยู่(หลวงวิจิตรเจษฎา) และช่างจีนอย่างครูคงแป๊ะ (หลวงเสนีย์บริรักษ์) ได้เขียนงานในโบสถ์วัดสุวรรณารามและวัดบางยี่ขัน รวมทั้งได้เขียนภาพเพิ่มเติมที่วัดสุทัศน์และวัดเชตุพนวิมลมังคลารามด้วย


สำหรับงานประติมากรรมนั้น หลวงเทพรจนา เจ้ากรมปั้นซ้ายได้ปั้นรูปสมเด็จพระสังฆราช(สุก ไก่เถื่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และหลวงกัลมาพิจิตร เจ้ากรมช่างปั้นขวาปั้นรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ขุน วัดโมลีโลกย์) ส่วนพระสุก(ช่างเขมร)และหลวงวิจิตรนฤมิตร(ช่างไทย) ได้ร่วมกันปั้นรูปเจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์สิงหเสนี)เพื่อสักการะที่ประเทศกัมพูชา(รูปที่๒๑) [32] ผลงานเหล่านี้มีลักษณะที่เหมือนจริงมากกว่าพระพุทธรูปทั่วๆไป เช่น โหนกแก้มและ กล้ามเนื้อบนพระพักตร์และใบหน้า

รูปที่ ๒๑

๔.๔ ศิลปะไทยภายใต้อิทธิพลตะวันตก
ระหว่าง พ.ศ.๒๓๙๔–๒๔๗๕ ประเทศสยามอยู่ระหว่างสภาวะวิกฤตจากการคุกคามของมหาอำนาจกับการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามแบบอย่างของชาติตะวันตก พัฒนาการของศิลปะไทยจึงลักษณะดังนี้
รัชกาลที่๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) ทรงมีพระราชนิยมศิลปะและวิทยาการแบบตะวันตก ทำให้ศิลปินไทยคนสำคัญในเพศบรรพชิต คือ ขรัวอินโข่งมีโอกาสแสดงฝีมือเขียนภาพในมณฑปวัดพระงาม(จ.พระนครศรีอยุธยา) วัดโปรดเกศเชษฐาราม (จ.สมุทรปราการ) วัดบวรนิเวศและวัดบรมนิวาส(กรุงเทพฯ) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับปริศนาธรรมโดยใช้หลักทัศนียวิทยา(Perspective) ทำให้ภาพมีความลวงตาว่ามีความลึก บรรยากาศสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมตะวันตกในภาพก็คล้ายเมืองในยุโรปเข้ามาผสมผสานกับเรื่องและลวดลายแบบไทยๆ โดยไม่เคยเรียนการเขียนรูปแบบตะวันตกมาก่อน จึงสันนิษฐานว่าขรัวอินโข่งคงจะอาศัยการสังเกตจากภาพพิมพ์ที่ส่งมาขาย (รูปที่ ๒๒)


ในปีพ.ศ.๒๓๙๙ รัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นแบบอย่างเลิกธรรมเนียมโบราณอย่างหนึ่ง คือ โปรดฯให้จิตรกรชาวยุโรป ชื่อ อี. พีซ-เฟร์รี (E.Peyze-Ferry) เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมันบนไม้ และยังทรงประทับให้ช่างภาพฉายพระบรมฉายาลักษณ์(รูปถ่าย)หลายภาพ รวมทั้งยังโปรดฯให้หลวงเทพรจนา(พลับ) ปั้นพระบรมรูปขนาดเท่าจริงใน พ.ศ. ๒๔๐๓ ด้วย[33]

รูปที่ ๒๒

รัชกาลที่๕ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓) ศิลปะตะวันตกได้ลดความสำคัญของศิลปะไทยประเพณี เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำเข้าทั้งนายช่าง วิศวกรและสถาปนิกชาวตะวันตกมาสร้างพระราชวัง พระที่นั่ง พระตำหนักและวัดหลวง และทรงว่าจ้างศิลปินชาวต่างประเทศให้ทำงานส่งเข้ามา


สถาปัตยกรรมโดดเด่นในยุคนี้คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (พ.ศ.๒๔๑๙) ที่มีหลังคาส่วนยอดเป็นแบบไทยแต่ตัวอาคารเป็นศิลปะตะวันตก ออกแบบโดย ยอห์น คลูนิช ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมเริ่มสร้างปี ๒๔๕๐แล้วเสร็จปีพ.ศ.๒๔๕๙ เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกแนวผสมผสานระหว่างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) บาโรก (Baroque) และนีโอ-คลาสสิค (Neo-Classicism) มีสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ อันนิบาลเล ริกอตติ (Annibale Rigotti) และ มาริโอ ตามาโย (Mario Tamayo) เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง


(รูปที่ ๒๓)


ใน พ.ศ.๒๔๔๙ ระหว่างที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯประพาสยุโรปเป็นครั้งที่ ๒ ทรงทอดพระเนตรพระราชานุสาวรีย์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ณ พระราชวังแวร์ซาย ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งต่อมากลายเป็นต้นแบบพระบรมรูปทรงม้า โดยฝีมือการปั้นและหล่อของ จอร์จ เออร์เนสต์ ซอลโล (Georges Ernest Saulo) ชาวฝรั่งเศส โดยรัชกาลที่ ๕ ทรงประทับเป็นแบบให้ปั้นที่ฝรั่งเศส


สถาปัตยกรรมสำคัญแบบไทยประเพณีในยุคนี้ คือ พระอุโบสถที่วัดเบญจมบพิตร (พ.ศ.๒๔๔๑) ออกแบบโดยสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม

รูปที่๒๓

รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(พ.ศ.๒๔๕๓-๒๔๖๘) ทรงปรารภว่า "ศิลปะสยามกำลังป่วยไข้" จึงทรงมีพระราชกรณียกิจในการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประเพณี คือ การตั้งกรมศิลปากร สังกัดกระทรวงวัง นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมนโยบายชาตินิยมเพื่อการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมสยาม แต่ก็ยังทรงสนับสนุนการสร้างศิลปะแบบตะวันตกต่อไป เช่น บ้านนรสิงห์ (ตึกไทยคู่ฟ้า) และบ้านพระยาอนิรุทธเทวา(บ้านพิษณุโลก) ซึ่งมีรูปแบบโกธิคสกุลช่างเวนิสใหม่(Neo-Venetian Gothic) ออกแบบโดยสถาปนิกอิตาเลียน อันนิบาล ริกอตติ (Annibale Rigotti)


ในปีพ.ศ.๒๔๖๖ รัฐบาลอิตาลีได้คัดเลือกประติมากรระดับศาสตราจารย์ชาวฟลอเรนซ์ชื่อ คอร์ราโด เฟโรจี (Corrado Feroci) ให้เดินทางมาทำงานเป็นช่างปั้นในกรมศิลปากรเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ ต่อมาเฟโรจีได้โอนสัญชาติเป็นไทยและเปลี่ยนชื่อเป็น ศิลป์ พีระศรี (รูปที่ ๒๔ ) และเป็นบุคคลสำคัญในการร่างหลักสูตรการเรียนการสอนศิลปะในประเทศไทย โดยยึดต้นแบบจากสถาบันศิลปะแห่งเมืองฟลอเรนซ์ ทำให้หลักสูตรวิชาการทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจึงถูกวางไว้อย่างเข้มงวด เพื่อให้ได้มาตรฐานแบบศิลปะตามหลักวิชาของตะวันตก (academic art)

รูปที่๒๔

รัชกาลที่๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(พ.ศ.๒๔๖๙–๒๔๗๘) มีการสร้างพระราชวังไกลกังวลที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ตามแบบอย่างศิลปะตะวันตก ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๔๖๘-๒๔๗๗) โปรดฯให้จัดงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๑๕๐ ปี ทำให้เกิดการอนุรักษ์งานศิลปะโบราณของไทย อาทิ จิตรกรรมฝาผนังในพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรัชกาลที่ ๗ โปรดฯให้เขียนภาพใหม่ทั้งหมดภายใต้การควบคุมของพระเทวาภินิมิต(ฉาย เทียมศิลปไทย) โดยอิงรูปแบบของแนวศิลปะที่พัฒนามาจากงานสกุลช่างขรัวอินโข่งและแนวจิตรกรรมสกุลช่างสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์


นอกจากการบูรณะจิตรกรรมวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ยังมีผลงานภาพพระบรม
สาทิสลักษณ์สีน้ำมันฝีมือของพระสรลักษณ์ลิขิตและออสวอลด์ ไบรลีย์ (Oswald Bireley)จิตรกรชาวอังกฤษ มีการสร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย ออกแบบโดย ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากรและนายนารถ โพธิประสาท และมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ออกแบบโดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี (รูปที่๒๕)


รูปที่ ๒๕

๔.๕ ศิลปะไทยร่วมสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ - ปัจจุบัน
แม้ว่าศิลปะจะได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ แต่ศิลปะที่เกี่ยวกับประชาชนโดยตรงยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับ ยกเว้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งในด้านภาพและเนื้อหา แต่ก็มีรูปแบบและบรรยากาศค่อนข้างจะเคร่งขรึม (รูปที่ ๒๖)

รูปที่๒๖


หลังสงครามโลกครั้งที่๒ (หลัง พ.ศ.๒๔๘๘) ศิลปะแนวลัทธิประทับใจ(Impressionism Art) มีอิทธิพลต่อการเสนองานศิลปะของศิลปินไทยจนถึงประมาณพ.ศ.๒๕๐๑ งานที่ได้รับรางวัลในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติล้วนเป็นงานแนวนี้ทั้งสิ้น อาทิ ผลงานของจำรัส เกียรติก้อง จากภาพสีน้ำมันรูปหญิงเปลือยเต็มตัว กำลังหันมาสบตาคนดูอย่างท้าทาย และภาพชายฉกรรจ์ (ภาพเหมือน แสวง สงฆ์มั่งมี พ.ศ.๒๔๙๓)ที่แสดงฝีแปรงฉับพลัน แสดงบุคลิกของประติมากรได้อย่างมีพลัง [34] (รูปที่ ๒๗)

รูปที่ ๒๗

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีเสนอว่า งานศิลปะตามแนวลัทธิประทับใจและแนวสัจนิยม(Realism) เปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกที่ศิลปินสมัยใหม่จะต้องก้าวผ่าน[35] ท่านได้ได้ทุ่มเทกับงานวิชาการและริเริ่มจัดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ทำให้มีบทบาทในแวดวงศิลปะเพิ่มขึ้นและได้รับยกย่องเป็น "บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย"
ศิลปะในยุคหลัง พ.ศ.๒๕๐๐-ปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อวงการศิลปะอย่างยิ่ง อาทิ การทรงงานศิลปะสมัยใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “การบูม(Booming)"ของยุคนิทรรศการศิลปะ การประท้วงผลการตัดสินรางวัลการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ การเคลื่อนไหวของศิลปินรุ่นใหม่ บทบาทของอารี สุทธิพันธุ์ ในฐานะศิลปินสมัยใหม่ที่ขึ้นมาท้าทาย "ค่ายศิลปากร" (รูปที่๒๙) ด้วยผลงานศิลปะลัทธิสำแดงแนวนามธรรม(Abstract Expressionism) รวมทั้งการปรากฏตัวของจ่าง แซ่ตั้งและประเทือง เอมเจริญในฐานะศิลปินอิสระนอกสถาบัน เป็นต้น

รูปที่๒๘

สรุป
ลีโอ ตอลสตอย ชี้ให้เห็นว่า ศิลปะต้องถ่ายทอดเรื่องราวที่ดีงาม มีศีลธรรมและชี้นำสังคมได้ โดยอาจมีแรงผลักดันมาจากศาสนา ศีลธรรม สังคมหรือการเมือง ศิลปะจะต้องประกอบด้วยความงามอันน่าพึงพอใจและยินดีของรูปแบบที่ถูกสร้างสรรค์ นำเสนอความจริงที่เป็นจริงและถูกต้องให้ปรากฏ
เมื่อนำทัศนะข้างต้นมาพิจารณาจะพบว่า ศิลปะที่พบในดินแดนประเทศไทยตั้งแต่สมัยอารยธรรมเริ่มแรกจนถึงสมัยรัชกาลที่๓ เป็นศิลปะแนวอุดมคติที่ช่างสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้นำสังคม รวมถึงตอบสนองความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนา เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านจริยธรรม ภายใต้การอุปถัมภ์หรือการเกณฑ์แรงงานจากไพร่ อย่างค่อนข้างสอดคล้องกับแนวคิดของตอลสตอย


หลักการของศิลปะแนวอุดมคติแบบตะวันออกนั้น มุ่งสร้างสรรค์ผลงานโดยคำนึงถึงกรอบคิดทางคัมภีร์หรือตำราทางศาสนา ประเด็นที่ตอลสตอยระบุว่า ศิลปะต้องนำเสนอความจริงและความถูกต้องให้ปรากฏ ก็จะพบว่าศิลปะในดินแดนประเทศไทยมิได้สร้างขึ้นตามลักษณะที่ถูกต้องและเป็นจริงตามหลักทางสรีระวิทยาและหลักทัศนียวิทยาอย่างครบถ้วน ดังนั้นจึงอาจขาดคุณสมบัติของการเป็น “ศิลปะ” ตามทัศนะข้างต้น


นอกจากบรรทัดฐานตามแนวคิดของตอลสตอยแล้ว แม้จะนำนิยามทางศิลปะที่นักวิชาการท่านอื่น อาทิ พระยาอนุมานราชธนและราชบัณฑิตยสถานมาพิจารณา ก็พบว่ายังไม่มีนิยามใดที่ทันสมัยและครอบคลุมคุณสมบัติของศิลปะได้ เมื่อศูนย์กลางความรู้แห่งชาติอธิบายคุณสมบัติ ๕ ประการของศิลปะว่า ต้องมีรสนิยมของแต่ละคน เชื้อชาติ วัฒนธรรม หรือยุคสมัย มีอารมณ์สะเทือนใจจากความเศร้าโศก เสียใจและปลื้มปิติยินดี รวมทั้งมีแนวคิดและความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะฝีมือ และมีความพิเศษ แปลกใหม่ โดดเด่น กรอบความคิดนี้จึงครอบคลุมสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะ” ในดินแดนประเทศไทย


ศิลปะในดินแดนประเทศไทยซึ่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๑๒ มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาจากอินเดียเข้ามาผสมผสาน ทำให้มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองตามยุคสมัยตั้งแต่ศิลปะวัตถุรุ่นเก่า ศิลปะทวารวดี ศิลปะเทวรูปรุ่นเก่า ศิลปะศรีวิชัย ศิลปะลพบุรี ศิลปะล้านนา ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอู่ทอง ศิลปะอยุธยา และศิลปะรัตนโกสินทร์


ครั้นถึงปลายพุทธศตวรรษที่๒๔ จึงเริ่มมีอิทธิพลทางความคิดและเทคนิควิทยาจากประเทศตะวันตกเข้ามาผสมผสานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ทำให้ศิลปะเริ่มคลี่คลายมาสู่การรับใช้สังคม และเริ่มละทิ้งแนวทางแบบอุดมคติมาเป็นแนวทางแบบสัจนิยมมากยิ่งขึ้น สามารถเห็นได้เด่นชัดมากยิ่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕-๖ โดยเฉพาะเมื่อทางการ “นิยม” ว่าจ้างศิลปินชาวตะวันตกเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะถึงในประเทศ ส่งผลให้ศิลปะโบราณของไทยแทบจะสูญหายไป แต่ศิลปินยิ่งใหญ่สองท่าน คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีส่วนทำให้งานศิลปะในประเทศไทย แบ่งแยกออกเป็น ๒ แนวทาง คือ ศิลปะแบบไทยประเพณี หรือ “ศิลปะแนวกรมศิลปากร” กับศิลปะแบบตะวันตกที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ได้ริเริ่มถ่ายทอด


การที่ไทยเป็นประเทศเปิดกว้างและมีความอดทนต่อปฏิสัมพันธ์ทางความคิด ศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมที่ชาวต่างชาตินำเข้ามานานนับพันปี ทำให้แนวทางด้านศิลปะในประเทศไทยพร้อมที่จะผสมผสานความเป็นนานาชาติด้านสาระและแนวคิดแห่งการสร้างสรรค์ใหม่ๆที่ประเทืองคุณค่า อารมณ์และจิตวิญญาณของมนุษยชาติ ภายใต้กรอบโครงที่มาจากการหล่อหลอมทางวัฒนธรรม

บรรณานุกรม

โบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร , สำนัก. ปราสาทพนมรุ้ง. กรุงเทพฯ: เอ. พี. กราฟิกดีไซน์และการพิมพ์, ๒๕๔๓.
ประยูร อุลุชาฏะ. ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: ธเนศวรการพิมพ์, ๒๕๑๖.
ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ภาควิชา. เอกสารประกอบการอบรมโครงการมัคคุเทศก์กับโบราณสถาน. คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๗-๙ พฤษภาคม ๒๕๔๗.
พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปในประเทศไทยฉบับคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๓.
พิริยะ ไกรฤกษ์และ เผ่าทอง ทองเจือ. “ประวัติศาสตร์ศิลปหลังพ.ศ.๒๔๗๕โดยสังเขป, ” ศิลปกรรมหลัง พ.ศ.๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: ศรีบุญพับลิกเคชัน, ๒๕๒๕.
ภาณุพงษ์ เลาหสม. จิตรกรรมฝาผนังล้านนา. กรุงเทพฯ: ด่านสุธา, ๒๕๔๑.
มโน กลีบทอง. “วัฒนธรรมร่วมแบบเขมรในประเทศไทย, ” พัฒนาการอารยธรรมไทย. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๓๖.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๒๕.
สงวน รอดบุญ. ศิลปกรรมไทย. กรุงเทพฯ: การศาสนา, ๒๕๒๙.
สมชาย ณ นครพนม. “ล้านนา: ถิ่นฐานและวัฒนธรรมไทยเหนือ ” พัฒนาการอารยธรรมไทย, กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์ , ๒๕๓๖.
สันติ เล็กสุขุม, ศาสตราจารย์ ดร.. ศิลปะภาคเหนือ: หริภุญชัย-ล้านนา, กรุงเทพ: ด่านสุธา, ๒๕๓๘.
ลีโอ ตอลสตอย. ศิลปะคืออะไร. แปลโดยสิทธิชัย แสงกระจ่าง. กรุงเทพฯ: สแมค คอร์ปอเรชัน จำกัด, ๒๕๓๘.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า. ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, ๒๕๓๔.
เสนอ นิลเดช. ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา. กรุงเทพฯ: ด่านสุธาการพิมพ์, ๒๕๓๙.

Bibliography
Chinda Podimuang. “Chapter 5 The Arts of Thailand, ” A Survey of Thai Arts and Architectural Attractions: a Manual for Tourist Guides, Bangkok: Chulalongkorn University, 1998.
Coedès, G., “ Nouvelles Inscriptons de Si T’ep (K.978-979) “ Inscription du Cambodge Vol. VIII. École Française D’Extrême-Orient, Paris, 1964.
Higham, Charles and Ratchanie Thosarat. Prehistoric Thailand: From Early Settlement to Sukhothai. Bangkok: River Book. 1984.

Web Site
http://teacher.stjohn.ac.th/jstip/01_thaidance.htm
http://www.tkc.go.th:8080/tvm/artisicmovement/questions.jsp/number=1


การอ้างอิง


[1] ลีโอ ตอลสตอย , ศิลปะคืออะไร, แปลโดย สิทธิชัย แสงกระจ่าง (กรุงเทพฯ: สแมค คอร์ปอเรชัน จำกัด, ๒๕๓๘), ๑๑และ ๘๕.
[2] สิทธิชัย แสงกระจ่าง, เรื่องเดียวกัน, ๘๑–๘๓.
[3] http://teacher.stjohn.ac.th/jstip/01_thaidance.htm
[4] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕, (กรุงเพฯ: อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๒๕), ๗๘๓.
[5] ราชบัณฑิตยสถาน, เรื่องเดียวกัน, ๗๖๕.
[6] http://www.tkc.go.th:8080/tvm/artisicmovement/questions.jsp/number=1
[7] พิริยะ ไกรฤกษ์, ประวัติศาสตร์ศิลปในประเทศไทยฉบับคู่มือนักศึกษา, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๓), ๒๓–๒๔.
[8] มโน กลีบทอง , “วัฒนธรรมร่วมแบบเขมรในประเทศไทย, ” พัฒนาการอารยธรรมไทย, (กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๓๖), ๘๓.
[9] สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร , ปราสาทพนมรุ้ง, (กรุงเทพฯ: เอ.พี. กราฟิกดีไซน์และการพิมพ์, ๒๕๔๓), ๑๐๓.
[10] ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล, เรื่องเดียวกัน, ๑๔.
[11] ดูรายละเอียดใน พิริยะ ไกร ฤกษ์, เรื่องเดียวกัน .
[12] ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล, เรื่องเดียวกัน , ๖๖.
[13] เสนอ นิลเดช, ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา, (กรุงเทพฯ: ด่านสุธาการพิมพ์, ๒๕๓๙), ๑๐–๑๑.
[14] สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะภาคเหนือ: หริภุญชัย-ล้านนา, (กรุงเทพ: ด่านสุธา, ๒๕๓๘), ๒๗.
[15] สมชาย ณ นครพนม, “ล้านนา: ถิ่นฐานและวัฒนธรรมไทยเหนือ, ” พัฒนาการอารยธรรมไทย, (กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์ , ๒๕๓๖), ๑๕๕.
[16] สงวน รอดบุญ, ศิลปกรรมไทย ,(กรุงเทพฯ: การศาสนา, ๒๕๒๙), ๑๐๕.
[17] สมชาย ณ นครพนม, เรื่องเดียวกัน, ๑๕๖.
[18] ภาณุพงษ์ เลาหสม, จิตรกรรมฝาผนังล้านนา, (กรุงเทพฯ: ด่านสุธา, ๒๕๔๑), ๗๐–๗๓ .
[19] สงวน รอดบุญ, เรื่องเดียวกัน, ๑๐๕
[20] เดิมศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุลทรงอธิบายว่า เจดีย์ทรงปราสาทเป็นเจดีย์แบบศรีวิชัย ดูศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล, เรื่องเดียวกัน, ๒๙.
[21] ดูสงวน รอดบุญ, เรื่องเดียวกัน, ๑๐๘–๑๑๒.
[22] ประยูร อุลุชาฏะ(ข) , ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา, (กรุงเทพฯ: ธเนศวรการพิมพ์, ๒๕๑๖), ๑.
[23] ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล, เรื่องเดียวกัน, ๓๐-๓๑.
[24] ประยูร อุลุชาฏะ , ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา,, ๘–๑๑.
[25] ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล, เรื่องเดิม, ๓๒-๓๔.
[26] เรื่องเดียวกัน.
[26] เรื่องเดียวกัน.
[26] เรื่องเดียวกัน, ๓๕-๓๗.
[27] สงวน รอดบุญ, เรื่องเดียวกัน, ๑๔๔.
[28] เรื่องเดียวกัน, ๑๔๕–๑๔๖.
[29] Chinda Podimuang, “Chapter 5 The Arts of Thailand, ”, A Survey of Thai Arts and Architectural Attractions: a Manual for Tourist Guides, (Bangkok: Chulalongkorn University, 1998), 59.
[30] ดูThai virtual museum contem art book. microsoft internet explorer ใน www.tkc.go.th
[31] www.tkc.go.th
[32] ปัจจุบันมีรูปที่หล่อจำลองไว้อยู่ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส อ้างจาก www.tkc.go.th
[33] ก่อนหน้านี้คนไทยไม่กล้าเขียนรูปเหมือนหรือปั้นรูปเหมือนของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ เนื่องจากเกรงจะถูกนำไปทำคุณไสย อ้างจากดูThai virtual museum contem art book. microsoft internet explorer ใน www.tkc.go.th
[34] พิริยะ ไกรฤกษ์และ เผ่าทอง ทองเจือ, “ประวัติศาสตร์ศิลปหลังพ.ศ.๒๔๗๕โดยสังเขป, ” ศิลปกรรมหลังพ.ศ.๒๔๗๕, (กรุงเทพฯ: ศรีบุญพับลิกเคชัน, ๒๕๒๕), ๓๑.
[35] เรื่องเดียวกัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น