จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

แนวคิดเกี่ยวกับวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

สมัยหรือเวลาทางประวัติศาสตร์(Historical times) ตามทัศนะของชาร์ลส์ อี. ออร์เซอร์ จูเนียร์(Charles E. Orser, Jr.) หมายถึง นิยามทั่วไปที่ระบุถึงช่วงเวลาส่วนหนึ่งอันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติซึ่งเริ่มต้นเมื่อมีการบันทึกเรื่องราวต่างๆเป็นลายลักษณ์อักษรสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวของสังคมรู้หนังสือซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในดินแดนเมโสโปเตเมียและลุ่มแม่น้ำไนล์(ประมาณ 3,250 B.C.) แต่การรู้หนังสือมิได้เกิดขึ้นพร้อมกันทุกๆแห่งทั่วโลก เพราะบางภูมิภาคของโลกยังคงมีสภาพเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือและจีนทางเหนืออารยธรรมการรู้หนังสือพัฒนาขึ้นประมาณ 2,000 B.C. การรู้หนังสือของชุมชนชาวมายาในอเมริกากลางเกิดขึ้นร่วมสมัยคริสตกาล และหลายภูมิภาคของโลกก็เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์เมื่อนักสำรวจชาวยุโรปเดินทางไปถึงหลังคริสต์ศตวรรษที่15 ขณะที่บางภูมิภาคของแอฟริกากลาง นิวกินี และที่ราบลุ่มอะเมซอนยังเป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์[1]
ภาพอักษรคูนิฟอร์ม(Cuneiform)จากดินแดนเมโสโปเตเมีย(อ้างอิงภาพจากWikipedia.com)

แผ่นดินเผาอักษรภาพคูนิฟอร์ม(ภาพจากWikipedia.com)

การค้นพบทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญๆส่วนมากเกิดจากหลักฐานทางโบราณคดีของอารยธรรมยุคเริ่มแรก อาทิ ห้องสมุดแห่งเมืองนิเนเวห์ของพระเจ้าอัสซูบานิปาลแห่งอาณาจักรอัสซีเรีย สุสานทองคำของฟาโรห์ตุตันคาเมน กองทหารดินเผาในสุสานของจักรพรรดิซวงตี้(Xuang Ti)ในคริสต์ศตวรรษที่2 การสืบค้นแหล่งต่างๆเหล่านี้ถือเป็น “Text aided Archaeology” หรือ การศึกษาทางโบราณคดีที่เกิดจากการใช้เอกสารประวัติศาสตร์(Historical Documentation)มาสนับสนุนให้เรื่องของพัฒนาการสังคมมนุษย์แต่ละยุคมีความเด่นชัดขึ้น[2]
วิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์เป็นกระบวนการศึกษาเกี่ยวกับอดีตของมนุษย์ในช่วงที่มีการประดิษฐ์อักษรบันทึกเรื่องราวต่างๆของสังคมที่สามารถอ่านออกและแปลความหมายได้ มิฉะนั้นอักษรหรือจารึกที่ค้นพบก็จะเป็นหลักฐานโบราณคดีสมัยกึ่งประวัติศาสตร์(Proto-history Archaeology) ขอบเขตของการศึกษาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ยังรวมความถึงการศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในอดีตเมื่อเร็วๆนี้หรือแม้แต่อดีตที่กินเวลาค่อนข้างยาวนาน รวมถึงสมัยอาณานิคมและสมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ยุคใหม่จากหลักฐานเอกสารด้วย[3]

การศึกษาพัฒนาการของชุมชนหรือรัฐโบราณในประเทศไทย มีการใช้หลักฐานโบราณคดีอย่างหลากหลาย ประกอบด้วยโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน โครงกระดูก ศิลปวัตถุ ศิลาจารึก พงศาวดาร จดหมายเหตุ ใบบอก ตำนานพื้นเมือง เรื่องเล่า และคำสัมภาษณ์ เป็นต้น
เทคนิคการศึกษาหลักฐานดังกล่าวประกอบด้วยกระบวนการสำรวจ ขุดค้น ขุดแต่ง และบันทึกข้อมูลต่างๆอย่างครบถ้วน จากนั้นจึงนำข้อมูลต่างๆไปวิเคราะห์ทางด้านกายภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพื่อการตีความและกำหนดอายุหลักฐานทางที่พบในอย่างสอดคล้องกับแนวทางของวิชาโบราณคดี อันประกอบด้วยเป้าหมายหลัก 4 ประการ ตามข้อเสนอของไบรอัน เอ็ม. ฟาแกน (Brian M. Fagan)ในงานเขียนชื่อ ปฐมบทของวิชาโบราณคดี (In the Beginning : An Introduction to Archaeology)[4] และโรเบิร์ต เจ. แชเรอร์กับเวนดี แอชมอร์(Robert J. Sharer and Wendy Ashmore) ในงานเขียนชื่อ วิชาโบราณคดี : การค้นหาอดีตของเรา(Archaeology: Discovering Our Past)

เป้าหมายประการแรก คือ การเปิดเผยลักษณะต่างๆของอดีต โดยการพรรณนาและจำแนกหลักฐานทางโบราณคดีออกเป็นหมวดหมู่เชิงกายภาพตามบริบทของสถานที่และเวลา เป้าหมายประการนี้ เกี่ยวข้องกับการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรม(Culture History)[5] ซึ่งหมายถึง การพรรณนาวัฒนธรรมต่างๆของมนุษย์โดยจัดลำดับย้อนไปถึงสมัยที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่ออธิบายว่าในพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินการศึกษามีหลักฐานบ่งชี้ถึงวัฒนธรรมอะไร วัฒนธรรมดังกล่าวมีอายุเท่าใด ลักษณะของวัฒนธรรมนั้นๆมีรูปแบบอย่างไรและมีขอบเขตกว้างใหญ่เพียงใด และอะไร คือ ลักษณะเด่นของวัฒนธรรมข้างต้น [6]

เป้าหมายประการที่สอง คือ การค้นหาหน้าที่(Function)ของหลักฐานต่างๆเพื่อจำลองภาพวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีตขึ้นมา โดยวิเคราะห์จากรูปร่างหรือรูปทรง และความสัมพันธ์ระหว่างหลักฐานที่พบ เป้าหมายประการนี้ เน้นความสัมพันธ์ของการตั้งถิ่นฐาน วิธีการดำรงชีพและสภาพแวดล้อม ซึ่งต่างก็มีบทบาทและส่งอิทธิพลต่อกันจากพื้นฐานแนวคิดที่ว่ามนุษย์แต่ละสภาพแวดล้อมย่อมมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันเนื่องจากต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ทำให้มีการใช้เทคโนโลยีต่างกันออกไป แนวคิดข้างต้นริเริ่มโดย เกรแฮม คลาร์ก(Grahame Clark) จูเลียน สจวร์ด(Julians Steward)และริชาร์ด แมกนีช(Richard MacNeish) ซึ่งระบุว่า การอธิบายแหล่งโบราณคดี โบราณสถานและโบราณวัตถุโดยไม่คำนึงถึงบริบททางสภาพแวดล้อมของแหล่งโบราณคดีและโบราณวัตถุ เปรียบเสมือนการมองมนุษย์เพียงด้านเดียว พวกเขาจึงเน้นการเก็บหลักฐานทางโบราณคดีทุกชนิด ทั้งหลักฐานที่มนุษย์ทำขึ้น(Artifacts)และนิเวศวัตถุ(Ecofacts)อย่างละเอียด โดยทำงานร่วมกับนักวิชาการสาขาต่างๆแบบสหวิทยาการ[7]

เป้าหมายประการที่สาม คือ การค้นหากระบวนการทางวัฒนธรรมว่า เกิดขึ้น เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาอย่างไร เปลี่ยนแปลงด้วยสาเหตุใด เป้าหมายนี้เรียกว่า “โบราณคดีใหม่(New Archaeology) หรือ โบราณคดีกระบวนการ(Processual Archaeology)” อันเป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจกระบวนการทางวัฒนธรรม(Cultural Process) ซึ่งมีลักษณะแบบพลวัติ(Dynamic) คือ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป้าหมายประการนี้มุ่งอธิบายว่า เหตุใดวัฒนธรรมของมนุษย์ในพื้นที่ต่างๆจึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นขั้นตอนวิวัฒนาการและต้องการหาคำตอบว่า ปัจจัยด้านเทคโนโลยี การเพิ่มจำนวนของประชากร โครงสร้างของครอบครัวและสิ่งแวดล้อม จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง เหตุนี้จึงมีการพัฒนาเทคนิคในการศึกษากระบวนการทางวัฒนธรรม โดยเน้นการวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยการออกแบบการวิจัย การตั้งสมมติฐาน การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตรวจสอบสมมติฐาน[8] ซึ่งจะรวมความไปถึงการตีความหลักฐานทางโบราณคดีด้วย

เป้าหมายประการที่สี่ คือ การทำความเข้าใจและอธิบายความหมายทางวัฒนธรรมภายใต้บริบทเชิงสัญลักษณ์ คุณค่าและโลกทัศน์ต่างๆ ทั้งระดับปัจเจก( คือ ระดับเอกเทศ)และระดับสังคม จากพื้นฐานที่มนุษย์มีระบบโลกทัศน์ ความคิด และความเชื่อแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม จึงแสดงออกมาในรูปของการกระทำและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งแฝงด้วยความเชื่อ ค่านิยม สัญลักษณ์และเจตนคติ

อ้างอิง

[1] Charles E. Orser, Jr. Historical Archaeology. Second edition. (New Jersey: Upper Saddle River, 2004), p.4
[2] Charles E. Orser, Jr., ibid, p.4
[3] Charles E. Orser, Jr., ibid., p.5
[4] อ้างในสว่าง เลิศฤทธิ์, โบราณคดี: แนวคิดและทฤษฎี, (กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮาส์, 2547), หน้า3-4
[5] สว่าง เลิศฤทธิ์ แปล Culture History ว่า ประวัติวัฒนธรรม, อ้างแล้ว , หน้า 4
[6] สว่าง เลิศฤทธิ์, เรื่องเดิม, หน้า4
[7] สว่าง เลิศฤทธิ์, เรื่องเดิม, หน้า 5
[8] สว่าง เลิศฤทธิ์, เรื่องเดิม, หน้า6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น