จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วิพากษ์รายงานการวิจัย เรื่องการศึกษาร่องรอยของอารยธรรมโบราณจากหลักฐานทางโบราณคดี ในเขตจังหวัดลำพูนก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙

วิพากษ์รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษาร่องรอยของอารยธรรมโบราณจากหลักฐานทางโบราณคดีในเขตจังหวัดลำพูนก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙
โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
กล่าวนำ
บทความนี้นำรายงานการวิจัยของครูมาวิพากษ์เพื่อเป็นการฝึกฝนและขัดเกลาสติปัญญาของตน และเป็นการบูชาพระคุณครูผู้ประสิทธิประสาทความรู้และชี้นำหนทางแห่งสัมมาทิฐิ รวมถึงเป็นแบบอย่างในการดำรงตนแก่ศิษย์ทั้งปวงมาอย่างยาวนาน


คำนำ
เมืองลำพูนหรือหริภุญไชย เป็นเมืองโบราณร่วมสมัยวัฒนธรรมทวารวดีที่มีการเริ่มก่อตัวและมีพัฒนาการขึ้นมาอย่างสืบเนื่องตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่๑๔ จนถึงปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นก่อนที่เมืองลำพูนจะเติบโตขึ้นเป็นชุมชนสมัยประวัติศาสตร์นั้น พื้นที่ในเขตนี้มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยโลหะเมื่อประมาณ ๓๐๐๐ -๒๘๐๐ ปีมาแล้ว จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ในช่วงประมาณ ๒๐ ปีที่ผ่านมา สถานภาพการศึกษาเรื่องราวทางวิชาการเกี่ยวกับล้านนาศึกษาเกิดขึ้นอย่างคึกคักโดยเฉพาะการปฏิบัติงานขุดค้นทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถานของนักโบราณคดีกรมศิลปกรในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนบน อาทิ เสนอ นิลเดช คงเดช ประพัฒน์ทอง บวรเวท รุ่งรุจี วิชัย ตันติกร พิสิษฐศักดิ์ บรรณานุรักษ์ เป็นต้น นอกจากนักโบราณคดีของกรมศิลปากรแล้ว นักวิชาการในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ยังให้ความสนใจต่อการศึกษาเอกสารและศิลปโบราณวัตถุและภูมิปัญญาของล้านนาอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นสุรพล ดำริห์กุล สรัสวดี อ๋องสกุลหรืออุษณีย์ ธงไชย ทั้งนี้ยังมิได้กล่าวถึงนักวิชาการสำคัญอื่นๆอีกหลายท่าน

แต่ถึงกระนั้นเรื่องราวที่ถูกต้องและแม่นยำเกี่ยวกับเมืองลำพูนในด้านของการกำหนดอายุสมัยของโบราณวัตถุ โบราณสถาน ประติมาวิทยา และปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและวัฒนธรรมระหว่างลำพูนกับชุมชนภายนอกก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องการคำอธิบายให้เติมเต็มและเพิ่มพูนมาโดยตลอด

ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ รองศาสตราจารย์ผาสุข อินทราวุธ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สินชัย กระบวนแสงและอาจารย์พเยาว์ นาคเวกได้ร่วมมือกันเสนอโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาร่องรอยของอารยธรรมโบราณจากหลักฐานทางโบราณคดีในเขตจังหวัดลำพูนก่อนพุทธศตวรรษที่๑๙ ” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานทางโบราณคดีเพื่อศึกษาชุมชน หลักฐานทางวัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ด้านต่างๆทั้งภายในเองและภายนอกชุมชน

ในฐานะที่รายงานวิจัยชิ้นนี้นำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ยุคเริ่มต้นของประเทศไทย และคณะผู้วิจัยยังเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาโบราณคดี ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวของประเทศไทยที่เปิดการเรียนการสอนสาขาวิชานี้ การเลือกหยิบยกผลงานวิชาการดังกล่าวมาวิพากษ์ จึงน่าจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ต่อการศึกษาในสาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ไม่น้อยก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเทคนิควิทยา คุณค่าและความน่าเชื่อถือในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เปรียบเทียบ อ้างอิง ตีความ และเรียบเรียงเผยแพร่รายงานการวิจัยทางวิชาการโบราณคดี

การวิพากษ์เอกสารเป็นกระบวนการทางวิชาการที่ใช้ในการตรวจสอบวิเคราะห์คุณค่าและประเมินความน่าเชื่อถือของเอกสารหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี กรอบโครงกรวิพากษ์รายงานการวิจัยเรื่อง“การศึกษาร่องรอยของอารยธรรมโบราณจากหลักฐานทางโบราณคดีในเขตจังหวัดลำพูนก่อนพุทธศตวรรษที่๑๙ ” จึงประกอบด้วยการวิพากษ์ภายนอก(External Critique) การวิพากษ์ภายใน(Internal Critique) ข้อคิดเห็นของผู้วิพากษ์ และบทสรุปที่ได้จากการวิพากษ์

ควรกล่าวในที่นี้ด้วยว่า การที่ผู้วิพากษ์หยิบงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นมาศึกษาเกิดจากปัจจัยผลักดัน ๒ ประการ คือ ประการแรก เป็นความบังเอิญจากการสืบค้นในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัยเป็นเวลานาน กลับพบรายงานชิ้นนี้แสดงผลอยู่เพียงเรื่องเดียวในหน้าจอ ประการที่สอง ผู้วิพากษ์เข้าใจว่า โจทย์ในการวิพากษ์รายงานการวิจัยจะเป็นของนักวิชาการท่านใดก็ได้ที่ไม่ใช่งานวิจัยของตนเอง ดังนั้น จึงรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่จะได้มีโอกาสฝึกฝน ศึกษาและวิพากษ์งานของ “ครู”อย่างเอาจริงเอาจังและเที่ยงธรรม โดยมิได้มีเจตนาที่จะลบหลู่และจาบจ้วงให้เสื่อมเสีย อันเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีและกระทบกระเทือนวัฒนธรรมประเพณีอันดีของเราแต่อย่างใด

๑.การวิพากษ์ภายนอก(External Critique)
๑.๑ ลักษณะของโครงการ ประเภทของงานวิจัยและสาขาวิชาที่ทำการของงานวิจัย
โครงการวิจัยเรื่องการศึกษาร่องรอยของอารยธรรมโบราณจากหลักฐานทางโบราณคดีในเขตจังหวัดลำพูนก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (A Study on the ancient civilization in Lumphun Province prior to the mid-13 rd century, based on the archaeological evidence.)เป็นงานวิจัยร่วมของกลุ่มนักวิจัยซึ่งเป็นคณาจารย์ของภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะผู้วิจัยประกอบด้วย ร.ศ. ดร.ผาสุข อินทราวุธ ผ.ศ.สินชัย กระบวนแสง และอ.พเยาว์ นาคเวก งานวิจัยช้นนี้ทำขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ สถานที่ดำเนินงานวิจัยเป็นกลุ่มโบราณสถานในเขตจังหวัดลำพูนและพื้นที่ใกล้เคียง ผู้สนับสนุน งบประมาณในการวิจัยคือสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ประเภทของงานวิจัยเป็นการวิจัยขั้นพื้นฐาน(Basic Research) และสาขาวิชาที่ทำการวิจัยคือสาขาปรัชญา กลุ่มวิชาโบราณคดี

คำถามที่ตั้งขึ้นมาในที่นี้คือ เหตุใดคณะผู้วิจัยจึงตั้งชื่องานวิจัยโดยใช้ชื่อว่า “การศึกษาร่องรอยอารยธรรมโบราณในเขตจังหวัดลำพูน” ทั้งๆที่หลักฐานโบราณคดีที่พบทั้งจากการขุดค้นและการพบโดยบังเอิญในพื้นที่วิจัยนั้น เป็นล้วนหลักฐานที่บ่งชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในเมืองลำพูนหรือหริภุญไชย และมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔

ปัญหาชื่อของงานวิจัยที่ระบุว่าเป็นการศึกษาอารยธรรมอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพและคุณค่าของงานวิจัยชิ้นนี้ นอกจากนี้บางครั้งนิยามของคำว่า “อารยธรรม” กับ “วัฒนธรรม” ยังเป็นสิ่งที่แทบจะแยกกันไม่ออกไปเสียด้วยซ้ำ

นันทนา กบิลกาญจน์อธิบายว่า “อารยธรรม” ตามความหมายทางวิชาการ หมายถึง สภาพที่พ้นจากความป่าเถื่อน หรือสภาพที่เจริญแล้ว หรือมีลักษณะที่มีความสลับซับซ้อนและมีลักษณะเด่นเป็นของตนเองพอสมควร

ส่วน “วัฒนธรรม” ตามความหมายทางมานุษยวิทยา หมายถึง แบบแผนทางพฤติกรรมของมนุษย์ที่ได้มีการบูรณาการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการพูด การกระทำหรือการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆขึ้นมา หรือในพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๕ หมายถึงความเจริญงอกงามหรือความเป็นระเบียบแบบแผนและความมีศีลธรรมอันดีของประชาชน แลหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีซึ่งพบจากการขุดค้นตามโครงการวิจัยชิ้นนี้รวมถึงหลักฐานที่พบก่อนหน้านี้ ก็ล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึงลักษณะของการหลุดพ้นจากสภาพอนารยชนและความป่าเถื่อนแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชิ้นพระพุทธรูปอันสะท้อนให้เห็นคติความเชื่อทางศาสนา จารึกอันเป็นหลักฐานสำคัญทางภาษาศาสตร์ หรือเศษเครื่องเคลือบดินเผาอันบ่งชี้ให้เห็นถึงความเจริญของพัฒนาการทางเทคโนโลยีภาชนะดินเผาของมนุษย์ ดังนั้นในงานวิจัยทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีหลายชิ้น นักวิชาการจำนวนไม่น้อยจึงใช้คำว่าอารยธรรมในระดับเดียวกับความหมายของวัฒนธรรม

๑.๒ แบบเสนอโครงการวิจัย(Research)
เนื่องจากเอกสารที่นำมาวิพากษ์ในที่นี้เป็นรายงานผลการวิจัย ดังนั้นผู้วิพากษ์จึงไม่มีโอกาสศึกษาต้นแบบเสนอโครงการวิจัยของคณะทำงาน แต่จากสำรวจเนื้อหาของบทนำ(หน้า ๑-๔) ได้พบว่าเนื้อหาในบทนำประกอบด้วยการกล่าวถึงประเด็นสำคัญๆ ได้แก่ ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย วัตถุประสงค์ของโครงการ ผลที่คาดว่าจะได้รับ รวมทังประเด็นอื่นๆที่ได้จากการสำรวจเอกสารรายงานฉบับนี้

๑) อะไรเป็นความสำคัญ/ ที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย
คณะผู้วิจัยได้กล่าวถึงแนวทางการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดลำพูนที่มีการศึกษามาก่อนหน้านี้ ๓ ประเด็นหลัก คือ
ก.ประเด็นการแพร่กระจายของหลักฐานชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์อ้างอิงหลักฐานจากรายงานสำรวจของโครงการโบราณคดีประเทศไทย(ภาคเหนือ)
ข.ประเด็นการแบ่งยุคในการศึกษาประวัติศาสตร์ดินแดนล้านนาของนักวิชาการ เริ่มจากการสร้างบ้านแปงเมืองในแคว้นหริภุญไชยก่อนพุทธศตวรรษที่๑๙ ถึงการก่อตัวของล้านนาหลัง พุทธศตวรรษที่๑๙ และสิ้นสุดอาณาจักรล้านนาในพุทธศตวรรษที่๒๑
ค.ประเด็นเรื่องวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาที่ผ่านมา อาศัยหลักฐานประเภทตำนาน จารึกและโบราณวัตถุสถาน และการขุดค้นทางโบราณคดี

๒) สมมติฐาน/ ข้อเสนอหลักอันนำมาสู่การวิจัยคืออะไร
ในรายงานวิจัยฉบับนี้ไม่ได้ตั้งหัวข้อที่จะระบุให้เห็นชัดๆว่าคณะผู้วิจัยมีสมมติฐานหรือข้อเสนออันนำมาสู่การวิจัยเรื่องนี้อย่างไร แต่จากการศึกษาเนื้อหาในบทนำของรายงานวิจัยเรื่องนี้ก็ได้พบว่า คณะผู้วิจัยได้บรรยายให้ทราบถึงปัญหาอันนำมาสู่การวิจัยรวม ๔ ประการดังนี้
ก.ประวัติศาสตร์ล้านนาก่อนพ.ศว.๑๙ มีความสับสน(ประเด็นการสร้างหริภุญไชยและหิรัญนครเงินยางเชียงแสน)
ข.การกำหนดอายุหลักฐานทางศิลปกรรมเก่าที่สุดอยู่ที่พ.ศ.ว.๑๕-๑๖
ค. การกำหนดอายุ จารึกมอญที่พบอยู่ประมาณพ.ศ.ว.๑๗
ง.การศึกษาทางโบราณคดีใช้ทุนสูง แหล่งโบราณคดีในเขตเมืองลำพูน/ หริภุญไชย ไม่ได้ดำเนินการขุดตรวจ/ ศึกษาอย่างจริงจัง

๓) ปัญหาที่นักวิจัยต้องการคำตอบ
สิ่งที่ผู้วิจัยมุ่งศึกษาก็คือ ชั้นวัฒนธรรมของชุมชนโบราณที่ศูนย์กลางของแคว้นหริภุญไชย เพื่อหาคำตอบจากคำถามต่อไปนี้ คือ
ก.ชุมชนระยะแรกเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณที่ตั้งของเมืองหริภุญไชยตั้งแต่เมื่อใด
ข.มีความต่อเนื่องของการตั้งชุมชนยาวนานมากน้อยเพียงใด
ค.ชุมชนที่เมืองหริภุญไชยรับวัฒนธรรมจากกลุ่มใดบ้าง
๑.๓ วัตถุประสงค์ของโครงการ
คณะผู้วิจัยระบุวัตถุประสงค์ของโครงการ ๕ ข้อ ดังนี้
๑.ดำเนินการขุดค้นแหล่งโบราณคดีจุดต่างๆในจังหวัดลำพูน เพื่อศึกษาชั้นดินทางวัฒนธรรมว่ามีการอยู่อาศัยต่อเนื่องหลายวัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมเดียวและเป็นชุมชนในวัฒนธรรมใดบ้าง
๒.ศึกษาโบราณวัตถุจากการขุดค้นชั้นดินต่างๆ เปรียบเทียบรูปแบบ กำหนดอายุทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เทคนิคการผลิต เพื่อทราบอายุสมัยของชุมชนและความสำคัญกับชุมชนร่วมสมัย
๓.ศึกษาภาชนะดินเผาจากชั้นดินระดับต่างๆ เพื่อทราบพัฒนาการรูปแบบ เทคโนโลยี / เปรียบเทียบรูปแบบและเนื้อภาชนะกับแหล่งโบราณคดีต่างๆ / ศึกษาลักษณะเฉพาะของภาชนะพื้นเมืองในเขตภาคเหนือตอนบน และกำหนดอายุของแหล่งโบราณคดีด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
๔.ศึกษาวัฒนธรรม คติความเชื่อของชุมชนโบราณแห่งนี้ โดยตีความโบราณวัตถุจากการขุดค้นและสภาพแวดล้อมของแหล่งโบราณคดี
๕.ศึกษาความสัมพันธ์ของชุมชนโบราณแห่งนี้กับวัฒนธรรมของชุมชนร่วมสมัยในภูมิภาคอื่นๆ

๑.๔ ผลที่คาดว่าจะได้รับ
คณะผู้วิจัยชี้ถึงผลที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัยดังนี้
๑.ทราบเรื่องราวทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในเขต จ.ลำพูน
๒.ทราบอายุสมัยของชุมชนโบราณในเขต จ.ลำพูน
๓.ทราบความสัมพันธ์ของชุมชนในเขต จ.ลำพูน ตั้งแต่เริ่มเข้ามาอยู่ การอธิบายความต่อเนื่องของชุมชน/ ระดับอิทธิพลวัฒนธรรมจากภายนอก
๔.ทราบความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณแห่งต่างๆร่วมสมัย
๕.มีคุณค่าต่อการศึกษาอารยธรรมของกลุ่มชนโบราณในภาคเหนือตอนบนก่อนพุทธศตวรรษที่๑๙ แก่สถาบันศึกษาต่างๆ/ เพิ่มข้อสนเทศแก่กรมศิลปากรและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาส่งเสริมและอนุรักษ์ตามแนวทางของหน่วยงาน

๑.๕ เค้าโครงการนำเสนอรายงานการวิจัย
เค้าโครงการนำเสนอรายงานการวิจัยฉบับนี้ประกอบด้วยลำดับเรียงเนื้อหาดังต่อไนี้
สารบัญเรื่อง
กิตติกรรมประกาศ
บทคัดย่อ
Abstract
สารบัญเรื่อง
สารบัญตาราง แผนที่ แผนผังและภาพประกอบ
บทนำ
บทที่๑ ประวัติความเป็นมาของอาณาจักรหริภุญไชย
บทที่๒ หลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการสำรวจและขุดค้นเพิ่มเติมในเขตจังหวัด
ลำพูนและบริเวณใกล้เคียง
บทที่๓ การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากหลักฐานประเภทต่างๆ
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
แผนที่ แผนผัง ภาพประกอบ

หากพิจารณาอย่างผิวเผินจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า เค้าโครงการนำเสนอรายงานวิจัยฉบับนี้มีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน มีรายละเอียดของเนื้อหา ภาพประกอบ แผนที่ แผนผัง รวมถึงข้อมูลๆที่ปรากฏอยู่ในตารางครบถ้วน จนไม่สามารถหยิบยกสิ่งใดมาวิพากษ์วิจารณ์ได้เลย แต่หากพิจารณาโดยละเอียดก็จะพบว่า คำว่าสารบัญเรื่องนั้นมีการวงเล็บคำแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Toble of Contents” แทนที่จะเป็น “Table of Contents” ซึ่งเป็นการสะกดคำผิดโดยไม่เจตนา แต่ถึงแม้ว่าจะสะกดถูก อันที่จริงก็น่าจะใช้เพียงคำว่า “Content”ก็เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ผู้วิพากษ์ยังเห็นว่า ในหน้า vii คำว่า “แผนผัง” ควรคำนามใช้ในภาษาอังกฤษว่า “plan” มากกว่าการใช้คำกริยา plan + ing (geral) กลายเป็นคำว่า “planning = การวางแผนผัง” และสิ่งที่น่าเสียดายอีก ๓ ประการ ซึ่งควรจะต้องกล่าวถึงในที่นี้ คือ

ประการแรก ทั้งๆที่เค้าโครงการนำเสนอในสารบัญระบุว่า ในรายงานการวิจัยมี Abstract อยู่ในหน้า iv แต่กลับไม่ปรากฏข้อมูลดังกล่าวนี้ในส่วนดังกล่าว เมื่อเปิดรายงานไปจนถึงส่วนสุดท้ายของโครงเรื่องถัดจากหน้าสุดท้ายของบรรณานุกรมในหน้า ๑๐๓ จึงพบว่ามี เนื้อเรื่องสังเขปของรายงานซึ่งน่าจะใช้ศัพท์ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “summary” พร้อมกับมีตารางการกำหนดอายุ บรรณานุกรม รายการแผนที่ ภาพถ่ายและแผนผัง แนบมาด้วยจำนวน ๑๕ หน้า แต่มิได้ระบุหมายเลขหน้าต่อเนื่องกันไป

ประการที่สอง แม้ว่ารายงานวิจัยฉบับนี้ จะมีเชิงอรรถและบรรณานุกรมอ้างอิงแบบเข้มข้น แต่กลับไม่ระบุหัวข้อเอาไว้ในที่ในสารบัญอย่างเหมาะสม

ประดารที่สาม ในเนื้อหาบทที่๒ มีตารางแสดงผลการกำหนดอายุของตัวอย่างถ่านจากหลุมขุดค้น ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญและมีความโดดเด่นเหนือกว่าข้อมูลใดๆที่ได้มีการค้นพบกันมา แต่ตารางดังกล่าวกลับปรากฏแทรกอยู่ในหน้า ๗๙ ของรายงานการวิจัย โดยมิได้ระบุอยู่ในรายการของสารบัญตารางอย่างที่ควรจะเป็น

๒.การวิพากษ์ภายใน(Internal Critique)
กรอบโครงของการวิพากษ์ภายในประกอบด้วยการวิพากษ์เนื้อหาแต่ละบท ซึ่งมีทั้งสิ้น ๕ ประเด็น คือ องค์ความรู้ที่ค้นพบจากการวิจัย วิธีการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ ตีความหลักฐานโบราณวัตถุ การใช้หลักฐานเอกสารเปรียบเทียบอ้างอิงในงานวิจัย ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน ความน่าเชื่อถือของการ วิเคราะห์ เปรียบเทียบ และตีความทางโบราณคดี โดยผู้วิพากษ์จะเริ่มนำเนื้อหาในบทต่างๆมาวิพากษ์ดังต่อไปนี้

๒.๑ การวิพากษ์ภายในบทนำ(น.๑-๔)
คณะผู้วิจัยสามารถลำดับเนื้อหาเพื่อชี้ให้เห็นถึง ความเป็นมาของโครงการและพื้นที่ที่จะดำเนินการวิจัย ทำให้ผู้สนใจสามารถทำความเข้าใจได้ภายในเวลาอันรวดเร็วว่า คณะผู้วิจัยกำลังจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และมีวัตถุประสงค์อย่างไร ผลการวิพากษ์บทนำของรายงานวิจัยชิ้นนี้ปรากฏอยู่ในตารางวิพากษ์ดังต่อไปนี้

ตารางระบุผลการวิพากษ์บทนำด้วยวิธ๊การวิเคราะห์แบบ SWOT Analysis

SWOT Analysis Results

Strength(จุดแข็ง) การเกริ่นนำเข้าสู่ปัญหาของการวิจัย สามารถปูพื้นฐานความรู้/ ความเข้าใจต่อปัญหาที่ทำวิจัยได้ดี มีการลำดับเนื้อหาพัฒนาการและรูปแบบการศึกษาเกี่ยวกับล้านนาและหริภุญไชย มีวัตถุประสงค์และผลที่คาดว่าจะได้รับชัดเจน

Weakness(จุดอ่อน) นำเสนอแนวคิดทฤษฎี/ หรือสมมติฐานของการวิจัยไม่ชัดเจนนัก ต้องวิเคราะห์ข้อมูลออกมาจากเนื้อหา

Opportunity(โอกาส) สามารถระบุแนวคิดและทฤษฎีเพิ่มเติมได้ในหัวข้อความสำคัญที่มาของปัญหาที่ทำวิจัย (ยังไม่ชัด)

Threaten(ข้อจำกัด) แบบเสนอโครงการวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยศิลปากร แบบฟอร์มดังกล่าวมิได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้เสนอโครงการจะต้องระบุแนวคิด ทฤษฎี สมมติฐานในแบบเสนอโครงการ โดยนักวิจัยต้องนำเสนอเองด้วยประสบการณ์เฉพาะของผู้วิจัยแต่ละโครงการและแบบเสนอโครงการวิจัยก็มีรูปแบบ เดียวกับแบบเสนอโครงการวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งมิใช่ลักษณะของมืออาชีพดังเช่นแบบเสนอโครงการวิจัยของสกว.

๒.๒ การวิพากษ์ภายในบทที่๑ ประวัติความเป็นมาของอาณาจักรหริภุญไชย(น.๕-๓๑)
คุณค่าของเนื้อหาบทที่๑ในรายงานการวิจัยชิ้นนี้ คณะผู้วิจัยได้ลำดับเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองลำพูนจากการศึกษาศิลาจารึก เอกสารโบราณและรายงานการขุดค้น/ขุดแต่งทางโบราณคดีที่ได้ดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้ได้อย่างโดดเด่น

ในประเด็นหลักฐานด้านตำนานและพงศาวดารที่เกี่ยวข้องกับเมืองลำพูน โดยคณะผู้วิจัยได้พรรณนาถึงตำนานต่างๆ อาทิ ตำนานพระธาตุหริภุญไชย ตำนานจามเทวีวงศ์ หรือพงศาวดารเมืองหริภุญไชย อายุพุทธศตวรรษที่๒๑ ภาษาบาลีแต่งโดยพระโพธิรังษี ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ อายุพุทธศตวรรษที่๒๑ ภาษาบาลีแต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระ(พ.ศ.๒๐๖๐-๒๐๗๑) ตำนานมูลศาสนา ภาษาไทยแต่งโดยพระพุทธพุกามและพระพุทธญาณ พงศาวดารโยนก พ.ศ.๒๔๔๑-๒ ภาษาไทยแต่งโดยพระยาประชากิจกรจักร(แช่ม บุนนาค)

องค์ประกอบอื่นๆที่คณะผู้วิจัยกล่าว คือ เรื่องที่ตั้ง ประวัติการตั้งเมือง ประวัติเมืองลำพูนก่อนการยึดครองของพระยามังรายในพุทธศตวรรษที่๑๙ รวมถึงหลักฐานศิลาจารึก สถาปัตยกรรม ประติมากรรมและผลการขุดค้นที่ได้มีผู้ศึกษาไว้ก่อนแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจคือ คณะผู้วิจัยได้นำข้อมูลการศึกษา พระพิมพ์ดินเผากลุ่มต่างๆที่พบในเขตเมืองลำพูนจากผลงานเขียนของนักสะสมพระพิมพ์ดินเผาในพื้นที่มาใช้อย่างเปิดกว้าง ดังนั้นภายในรายงานฉบับนี้จึงปรากฏชื่อเรียกพระพิมพ์ตามคำเรียกรูปแบบพระพิมพ์ดินเผาของนักสะสมโบราณวัตถุแทรกอยู่ด้วย อาทิ พระรอดหลวง (แม่พระรอด) พระพิมพ์ปรกโพธิ์ พระกวาง และพระกล้วย แม้แต่ในเนื้อหาบทที่ ๒ ก็ยังปรากฏคำเรียกพระเลี่ยงหลวงพระแปด พระสิบแปด และพระลือหน้ามงคล ซึ่งจะว่าไปคำเรียกเหล่านี้เป็นผลจากประสบการณ์คร่ำหวอดของ “ขบวนการนิยมของเก่า” อย่างแท้จริง

การจำแนกรูปแบบทางศิลปะวัตถุมงคลดังกล่าวนี้ อาจจะไม่มีมีพื้นที่ทางวิชาการปรากฏอยู่ในตำราประติมานวิทยาเล่มใดหรือผู้เขียนมิได้มีแนวคิดเกี่ยวกับการเปิดกว้างด้านการบูรณาการทางวิชาความรู้ และประการสำคัญคือคำเรียกชื่อพระพิมพ์ดังกล่าว เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านซึ่งบางครั้งนักวิชาการไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยแม้แต่น้อย

จริงอยู่แม้ว่ารูปแบบศิลปะที่ปรากฏอยู่ในพระพิมพ์แต่ละยุค จะถูกกำหนดด้วยกรอบโครงของรูปแบบทางศิลปะที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคอยู่แล้ว แต่ก็น่าคิดเช่นกันว่าการที่นักโบราณคดีได้รับการปลูกฝังมิให้สะสมโบราณวัตถุ และไม่เคยได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการวิเคราะห์พระพิมพ์ตามแบบอย่างของนักสะสมโบราณวัตถุ ต่อไปคงจะไม่มีนักโบราณคดีที่มีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการทางศิลปะของพระพิมพ์ดินเผาเกิดขึ้น หากมิได้มีความสนใจใฝ่รู้ด้วยตนเองนอกเหนือไปจากความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากมหาวิทยาลัย

๒.๓ การวิพากษ์ภายในบทที่๒ หลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการสำรวจและขุดค้นเพิ่มเติมในเขตจังหวัดลำพูนและบริเวณใกล้เคียง(น.๓๒-๘๑)
ในฐานะคณะผู้วิจัยเป็นนักโบราณคดีโดยวิชาชีพ รายงานการวิจัยชิ้นนี้จึงพรรณนาเนื้อหาเกี่ยวกับหลักฐานโบราณคดีที่พบจากการขุดค้นหลุมขุดค้นต่างๆ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีวัดรมณียา(วัดกู่ละมัก) บ้านวังไฮ เมืองลำพูนเก่า นอกเมือง ลำพูนเก่า วัดสังฆาราม(วัดประตูลี้) วัดพระธาตุหริภุญไชยและโรงเรียนเวียงของอย่างเป็นระบบและเข้าใจง่ายไม่เยิ่นเย้อ รวมทั้งยังได้มีการศึกษาเปรียบเทียบโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจและขุดค้น และลำดับชั้นทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจนสามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการทำงานวิจัยและอ้างอิงทางวิชาการได้อย่างไม่ลำบากใจ

อย่างไรก็ดี งานชิ้นใดที่ถูกจับตาวิพากษ์อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นงานระดับชิ้นพิเศษเพียงใด ส่วนใหญ่มักอดไม่ได้จะต้องมีผู้หยิบยกประเด็นต่างๆไปวิพากษ์วิจารณ์ ดังตัวอย่างในรายงานวิจัยฉบับนี้หน้า ๓๔ บรรทัดที่๗ คณะผู้วิจัยเสนอว่า มีรูปเดียรถีย์อยู่ในพระพิมพ์ชุดพระแปด ซึ่งเดิมทีผู้วิพากษ์ไม่เห็นด้วยเท่าใดนักว่า พระพิมพ์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดของการเป็นพุทธบูชาวัตถุจะมีรูปของคนนอกศาสนา(เดียรถีร์)เบียดแทรกอยู่ด้วย แต่เมื่อย้อนคิดกลับไปถึงภาพมารวิชัยก็ทำให้จำต้องยอมรับข้อเสนอดังกล่าวโดยดุษณีย์

ในข้อ ๒.๒.๓ เมื่อระบุถึงพระพิมพ์ดินเผารูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งใต้ซุ้มพุทธคยา คณะผู้วิจัยได้ระบุว่า “มีการค้นพบแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ในบริเวณเดียวกันกับที่พบพระพิมพ์ดังกล่าวด้วย” การใช้คำว่าปูนปลาสเตอร์ทำให้นึกถึงปูนที่ใช้ผสมเมื่อทำเฝือกรักษาอาการบาดเจ็บของกระดูก แทนที่จะสื่อให้เห็นภาพของแม่พิมพ์ปูนปั้นโบราณ

โดยมากรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถานของนักโบราณคดีจะได้รับการยกย่องว่า มีความละเอียดละออน่าเชื่อถือ เนื่องจากได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีจากมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูล การพิสูจน์อักษรหรือเรื่องเนื้อหา แต่ก็มีรายงานจำนวนไม่น้อย ถูกมองว่าละเลยรูปแบบภาษาทางวิชาการโดยที่ผู้นำเสนอรายงานนั้นอาจจะลืมคำนึงถึง อาทิ มักติดกับการใช้คำว่า “เปิดหลุม” แทนคำว่า “เริ่มปฏิบัติงานขุดค้น” บางครั้งก็ใช้คำว่า “ดึงเป็นมุมฉาก” แทนคำว่า “ลากเส้นทำมุมฉาก” บางทีก็ใช้คำว่า “ต้องทำการถากถาง” ซึ่งผู้วิพากษ์อดจะถกเถียงในใจเสียมิได้ว่า การถากถางเพื่อทำให้ผิวหลุมในบริเวณหลุมขุดค้นให้โล่งเตียนนั้น คงไม่ถึงกับต้องใช้คำว่า “ทำการถากถาง”ก็น่าจะก็ได้ความกระชับรัดกุม

ผู้อ่านบางท่านอาจจะแย้งว่า การใช้คำเหล่านี้ไม่เห็นจะเสียหายอะไร แต่ผู้วิพากษ์ยังขอยืนยันว่า หากคำนึงถึงความประณีตในการใช้ภาษาเขียนอย่างเป็นทางการแล้วมิอาจจะปฏิเสธข้อวิจารณ์นี้ได้เลย

รายงานวิจัยชิ้นนี้มิได้อธิบายให้ชัดเจนเมื่อกล่าวบรรยายถึงตะคันดินเผาในกลุ่มโบราณวัตถุประเภทดินเผา ซึ่งพบจากการขุดค้นที่วัดสังฆารามว่า ใช้น้ำมันอะไรเป็นเชื้อเพลิงในการตามไฟในตะคันดินเผา ที่ถูกแล้วควรจะระบุสักหน่อยว่าเป็นน้ำมันมะพร้าว

เมื่อกล่าวถึงผลการขุดค้นแหล่งโบราณคดีวัดพระธาตุหริภุญไชย (หน้า ๔๔ ) รายงานวิจัยระบุว่า ได้พบเศษเครื่องเคลือบดินเผาแบบล้านนา แต่น่าเสียดายที่มิได้ระบุแหล่งเตาจำเพาะเจาะจงลงไปว่าเป็นแหล่งเตาใด เนื่องจากแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยล้านนามีอยู่ไม่น้อยกว่า ๕ แหล่ง และแต่ละแหล่งก็สามารถแยกรูปแบบออกจากกันได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้คำเรียกชื่อราชวงศ์หมิงในรายงานวิจัยฉบับนี้บางครั้งยังเรียกสลับกันไปมาว่า “ราชวงศ์เหม็ง” บางครั้งก็เรียกว่า “ราชวงศ์หมิง” ซึ่งปัจจุบันนั้นนิยมใช้คำว่า “ราชวงศ์หมิง”

รายงานวิจัยกล่าวถึงการขุดค้นพบภาชนะดินเผาแบบหม้อมีสันโดยระบุว่า “เป็นภาชนะเนื้อหยาบที่เผาด้วยไฟแรงต่ำ” ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านนึกถึงภาพระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าทันสมัยแบบ “Low Voltage” หรือ “High Voltage” ในกรณีนี้ ผู้วิพากษ์เห็นว่าเราเคยใช้คำว่า “เผาด้วยความร้อนอุณหภูมิต่ำ” ก็เหมาะสมดีอยู่แล้ว

เมื่อบรรยายถึงโบราณวัตถุประเภทดินเผา กลุ่มกระเบื้องมุงหลังคา รายงานวิจัยอ้างข้อมูลการสำรวจวัดโบราณในเขตจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ และระบุชื่อนักวิชาการทัศนศิลป์ของกรมศิลปากรในวงเล็บว่า “คุณวงษ์ฉัตร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา” จริงๆแล้วนักวิชาการท่านนี้คือ นายวงศ์ฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา
กรณีนี้อาจเป็นได้ว่า คณะผู้วิจัยนำชื่อของนายวงษ์ฉัตรไปรวมกับนามสกุลของของศิษย์เก่าปริญญาโทสาขาโบราณคดีอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเข้าศึกษาในช่วงเวลาไม่ห่างกันเท่าใดนัก

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของรายงานวิจัยส่วนนี้ตามทัศนะของผู้วิพากษ์ อยู่ที่การระบุผลการกำหนดอายุจากถ่านในหลุมขุดค้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมักจะไม่ปรากฏในรายงานการขุดค้นของผู้รับเหมาเอกชนที่ทำงานเป็นคู่สัญญากับกรมศิลปากร ดังข้อมูลในตาราง Radio-carbon dating of the charcoal sample from Lamphun (แม้ตารางดังกล่าวจะไม่ถูกเน้นในสารบัญตารางก็ตาม)

๒.๔ การวิพากษ์ภายในบทที่๓ การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากหลักฐานประเภทต่างๆ (น.๘๒-๙๕)
รายงานวิจัยชิ้นนี้พรรณนาผลการวิเคราะห์ถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองลำพูน และความสัมพันธ์กับชุมชนร่วมสมัยและรัฐใกล้เคียงจากหลักฐานต่างๆอย่างน่าสนใจ โดยอาศัยกระบวนการวิเคราะห์จากหลักฐานต่างๆ ดังนี้

๑.วิเคราะห์จาก ตำนานและพงศาวดาร
๒.วิเคราะห์จาก หลักฐานด้านศิลาจารึก
๓.วิเคราะห์จากหลักฐานด้านศิลปกรรมเนื่องในพุทธศาสนา(ด้านสถาปัตยกรรมวิเคราะห์ต้นแบบเจดีย์เหลี่ยมของหริภุญไชย / คติความเชื่อของชุมชนวิเคราะห์จากประติมากรรมเนื่องในพุทธศาสนา)
๕.วิเคราะห์จากหลักฐานที่พบจากการขุดค้น

ผลการวิเคราะห์ที่สำคัญ คือ การนำเสนอเค้าโครงของปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมหริภุญไชยกับวัฒนธรรมพุกาม(พุทธศตวรรษที่๑๗–๑๘ ) ดังปรากฏให้เห็นจากหลักฐานพระพุทธรูปปูนปั้นและพระพิมพ์เนื้อบางกลุ่มพระคง พระเลี่ยมและพระแปด รวมถึงภาชนะดินเผาที่มีเทคนิดการปั้นคล้ายคลึงกับภาชนะดินเผาที่พบในประเทศพม่า ส่วนปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นระหว่างหริภุญไชยกับเขมรที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันเห็นได้จากการพบหลักฐานพระพิมพ์แบบตรีกาย

๒.๕ การวิพากษ์ภายในบทที่๔ บทสรุปและข้อเสนอแนะ
รายงานการวิจัยชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเรื่องการศึกษาร่องรอยอารยรรมโบราณจากหลักฐานโบราณคดีในเขตจังหวัดลำพูน โดยสรุปมาจากผลของการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ กำหนดอายุและตีความหลักฐานทางโบราณคดี คำตอบที่ได้ปรากฏว่ามีความสอดคล้องกับเรื่องราวที่มีอยู่ในหลักฐานศิลาจารึก ตำนานและพงศาวดารพื้นเมืองที่ได้มีการบันทึก ร้อยเรียงและบอกเล่าสืบทอดต่อกันมา

นอกจากนี้หลักฐานโบราณคดีส่วนหนึ่ง ยังชี้ให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนนอกเมืองลำพูนเก่าตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และยืนยันให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนอยู่อาศัยบริเวณศาลากลางจังหวัดวัดพระธาตุหริภุญไชยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ชุมชนในพื้นที่เมืองหริภุญไชยนอกจากจะมีความสัมพันธ์กับชุมชนวัฒนธรรมทวารวดีในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังมีการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางศาสนากับศูนย็กลางพุทธศาสนามหายานในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๕-๑๖ จากการเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมและประติมากรรม ต่อมาในพุทธศตวรรษที่๑๕-๑๖ ชุมชนแห่งนี้ก็ได้มีการติดต่อกับชุมชนโบราณในพม่าจากหลักฐานรูปแบบและเทคนิคการตกแต่งภาชนะดินเผา จนกระทั่งในระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๗-๑๘ ศาสนาพุทธนิกายมหายานจากเขมรได้แพร่เข้ามามีอิทธิพลต่อชุมชนนี้ และมีหลักฐานบ่งชี้ถึงติดต่อกับพ่อค้าจีนสมัยราชวงศ์ซุ่งด้วย

๓.ข้อคิดเห็นของผู้วิพากษ์
โดยภาพรวมแล้วรายงานวิจัยฉบับนี้ ถือเป็นรายงานระดับคุณภาพที่สามารถใช้ในการอ้างอิงทางวิชาการได้ดีฉบับหนึ่งเลยทีเดียว การวิเคราะห์ด้วยระบบ SWOT Analysis น่าจะช่วยให้มองเห็นคุณค่าและความน่าเชื่อถือของรายงานวิจัยชิ้นได้ดียิ่งขึ้น
จุดแข็ง
ผู้นำเสนองานวิจัยชิ้นนี้ล้วนเป็นนักโบราณคดีวิชาชีพ ดังนั้นเรื่องความสมบูรณ์ต่อเนื่องในด้านเนื้อหาและพื้นฐานทางเทคนิควิทยา(Methodology) อันเกิดจากการใช้หลักฐานโบราณคดีและเอกสารโบราณ รวมถึงการกำหนดอายุหลักฐานโบราณคดีด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์จึงมีการดำเนินการอย่างมืออาชีพ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากเต็มที่จากบุคคลฝ่ายต่างๆอย่างพร้อมเพรียงทำให้การทำงานภาคสนามประสบความสำเร็จด้วยดี
จุดอ่อน
การนำเสนอผลการวิจัยในแบบรูปเล่ม โดยเฉพาะชื่อภาษาอังกฤษของรายงานนั้น พยัญชนะต้นของทุกคำควรพิมพ์ด้วย Capital letter ส่วนการพิสูจน์อักษรผิดพลาดเล็กน้อย แต่ก็ไม่ควรปรากฏความผิดพลาดให้เห็น สำเนาเล่มที่นำมาศึกษาไม่มีบทคัดย่อภาษาอังกฤษ Abstract สำเนารายงานที่ใช้วิพากษ์ไม่มีแบบเสนอโครงการวิจัยที่ชัดเจนอยู่ในบทนำอย่างชัดเจนเท่าที่ควร บทนำขาดการกล่าวถึงHypothesis(สมมติฐาน) ลายเส้นโบราณวัตถุ ไม่ควรใช้จุดแรเงา(pointillism Technique)ในการกำหนดแสงตกกระทบบนวัตถุ ฝีมือหยาบ ดังตัวอย่างลายเส้นของโบราณวัตถุบางชิ้นในรายงาน เช่น รูปที่๑๔ ครกดินเผา และสำหรับลูกกระพรวนสำริดในรูปที่๑๙ ควรถ่ายรูปเสร็จแล้วนำมาอนุรักษ์ จากนั้นค่อยวาดลายเส้น ส่วนลายเส้นโบราณวัตถุอื่นๆ เช่น โกศดินเผาจากวัดประตูลี้ พบจากการขุดสร้างอาคารในวัดเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายแล้วปรากฏว่ามีลักษณะราวกับเป็นสิ่งของคนละชิ้นกัน ส่วนสำเนาภาพถ่ายอื่นๆ ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร
โอกาส
นักศึกษาสามารถใช้รายงานฉบับนี้เป็นตำราในการฝึกฝนเรียนรู้เทคนิควิธีการปฏิบัติงานโบราณคดีได้เป็นอย่างดี
ข้อจำกัด
งบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจากสำนักวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยศิลปากรมีจำนวนจำกัด และแบบเสนอโครงการวิจัยค่อนข้างเป็นแบบมือสมัครเล่นในขณะที่ทำวิจัย ซึ่งได้ทราบมาว่าแบบเสนอโครงการวิจัยถูกปรับเปรียบให้มีความทันสมัยมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน
บรรณานุกรม (Bibliography)
นันทนา กบิลกาญจน์, รองศาสตราจารย์ ประวัติศาสตร์และอารยธรรมโลก, กรุงเทพฯ: โอ. เอส. พริ้นติ้งเฮาส์, ๒๕๔๒.
ผาสุข อินทราวุธ, รองศาสตราจารย์และคณะ, รายงานการวิจัยเรื่องการศึกษาร่องรอยอารยธรรมโบราณจากหลักฐานโบราณคดีในเขตจังหวัดลำพูนก่อนพุทธศตวรรษที่๑๙ ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๖,
Woolf , Henry Bosley and staff, Webster’s New Collegiate Dictionary, Massachusetts: Merrium Company, 1976
www.thailandmuseum.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น