จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ชื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อ่านว่า สะ-หริด หรือ สะ-ริด ?

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ในช่วงปลายสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเอเชีย) พ.สมานคุรุกรรมได้เล่าถึงบทบาทของทหารไทยในกองทัพพายัพตอนหนึ่งจากบันทึกของพลตรีหลวงหาญสงครามว่า เมื่อประมาณปลายเดือน มกราคม ๒๔๘๗ พลโท จิระ วิชิตสงคราม แม่ทัพพายัพคนใหม่มีคำสั่งให้พลตรีหลวงหาญสงครามกับพันเอกหลวงเกรียงเดชพิชัย ผู้บัญชาการกองพลที่ ๔ ไปพบที่เมืองพยาค และสั่งการให้ส่งเชลยทหารจีนไปพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ ของจีน ซึ่งตั้งประจัญกันคนละฝั่งแม่น้ำ เพื่อเจรจายุติการรบ เพราะการที่ประเทศไทยต้องเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเกิดจากสถานการณ์บังคับ เมื่อกลับมาแล้วพลตรีหลวงหาญสงครามจึงให้หาธงขาวเขียนภาพจับมือไขว้ให้ร้อยตำรวจโท ธานี สุนทรกิจ ล่ามภาษาจีน เขียนหนังสือตามใจความข้างต้นและให้จ่านายสิบหนึ่งนายกับพลทหารจีนที่เป็นเชลยสามนายกับเสบียงอาหารพอกินได้สองวันเดินทางไปยังเมืองมะ พร้อมด้วยนายทหารฝ่ายเสนาธิการ นายทหารคนสนิทและหน่วยคุ้มกันเพื่อสมทบกับ พันโท ประยูร สุคนธทรัพย์(ยศขณะนั้น) ผู้บังคับการกองพันทหารราบซึ่งยึดเมืองมะและรักษาชายแดนแม่น้ำลำให้ร่วมเดินทางไปยังเมืองลา จากนั้นจึงส่งชุดเชลยศึกให้ลุยข้ามน้ำไปยังฝั่งเขตแดนจีนและให้พันโท ประยูร สุคนธทรัพย์จัดหมู่รับข่าวไว้ที่ชายฝั่งแม่น้ำลำ[1] เรื่องราวทางการทหารและการเมืองระหว่างประเทศในสงครามมหาเอเชียบูรพามีเนื้อหาโดยละเอียดในหนังสือประวัติการรบของทหารไทยในสงครามมหาเชียบูรพา ซึ่งรวบรวมและเรียบเรียงจากหลักฐานประวัติศาสตร์ และบันทึกคำให้สัมภาษณ์ของอดีตนายทหารที่มีประสบการณ์รบจริงในสงครามข้างต้น หนังสือดังกล่าวจัดทำโดย คณะกรรมการจัดทำหนังสือประวัติการรบของทหารไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา ของกองบัญชาการทหารสูงสุด(ปัจจุบัน คือ กองบัญชาการกองทัพไทย)

พันโท ประยูร สุคนธทรัพย์ ได้รับราชการสืบมาจนกระทั่งได้รับพระราชทานยศสุดท้ายเป็นพลเอกและเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม

ขณะที่รับราชการเป็นภัณฑารักษ์ของกองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร กรมการศึกษาวิจัย(ปัจจุบัน คือ กรมยุทธศึกาทหาร) กองบัญชาการทหารสูงสุด ผู้เขียนได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการจัดทำหนังสือประวัติการรบของทหารไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยมีพลเอกประยูร สุคนธทรัพย์ในวัย 84-85 ปีรับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการฯ ท่านยังมีสุขภาพแข็งแรง พูดจาเสียงดังฟังชัดสมเป็นชายชาติทหาร และมีเมตตาต่อผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง
ผู้เขียนสังเกตว่า พลเอกประยูร สุคนธทรัพย์ท่านมักจะสวมแหวนวงใหญ่ลักษณะคล้ายแหวนเงิน และเหลือบมองบ่อยๆด้วยความสนใจ และนึกในใจ(ตามประสาคนมีตาแต่หามีแววไม่) แหวนหลวงพ่อของท่านประธานวงนี้ช่างใหญ่โตดีจัง
พลเอกประยูรท่านคงจะสังเกตเห็นแววตาสอดรู้สอดเห็นของบริวารคนนี้ ท่านจึงเมตตาเล่าความเป็นมาของแหวนวงดังกล่าวให้ฟังว่า แหวนวงนั้นเป็น “แหวนตราจอมพล” ทำจากทองคำขาว ซึ่งบรรดาพ่อค้าประชาชนร่วมกันทำขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ.2500 เศษๆ เพื่อมอบให้แก่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในผลงานการปราบปรามอาชญากรรมให้สงบอย่างราบคาบด้วยความเด็ดขาด จนเป็นที่มาของคำกล่าวเปรียบเปรยทุกครั้งเมื่อเห็นความหย่อนยานของผู้รักษากฎหมายว่า “เรื่องอย่างนี้ถ้าเป็นสมัยจอมพลสฤษดิ์ละน่าดู” แต่จอมพลสฤษดิ์ ไม่รับ และมอบให้แก่พลเอกประยูร สุคนธทรัพย์แทน
ขณะนั้นพลเอกประยูร สุคนธทรัพย์ ดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ถามท่านว่า “พี่ยูร ผมจะให้พี่ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม พี่จะรับหรือไม่” พลเอกประยูร สุคนธทรัพย์ กล่าวปฏิเสธตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมด้วยความถ่อมตน เพราะเห็นว่าจะต้องรับภารกิจเพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย ท่านจึงขอรับหน้าที่เป็นเพียงรองปลัดกระทรวงกลาโหมเท่านั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงมอบแหวนจอมพลวงดังกล่าวให้แก่ท่าน และพลเอกประยูร สุคนธทรัพย์ก็ได้สวมแหวนดังกล่าวติดนิ้วมาโดยตลอดจวบจนวาระสุดท้ายเมื่อพ.ศ.2542

ประเด็น คือ พลเอกประยูร สุคนธทรัพย์เรียกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นบุคคลร่วมสมัยของท่านว่า “จอม-พน สะ-ริด ธะ-นะ-รัด”อย่างชัดเจนโดยตลอด ผู้เขียนจึงใคร่บันทึกความทรงจำนี้ไว้เพื่อเป็นอนุสาวรีย์อันยั่งยืนอีกด้านหนึ่งของท่านพลเอกประยูร สุคนธทรัพย์และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

[1] พ.สมานคุรุกรรม, เรื่องเล่าจากอดีต (๑๐) ต่วยตูน ธันวาคม ๒๕๔๖ ปักษ์แรกมุมประวัติศาสตร์ห้องสมุด ๒๑-๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ อ้างจาก http://www.bloggang.com/viewblog

1 ความคิดเห็น: