จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รวมบทความทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี พิทยะ ศรีวัฒนสาร(แปล)จาก Siam-Thai Millennium: One Thousand Eventful Years, Focus, The Nation(1999)

1.กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว[1]

สุจิตต์ วงษ์เทศ (เขียน),

หลายปีมาแล้วที่นักวิชาการชาวตะวันตกระบุว่าคนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นชนเผ่าป่าเถื่อน (barbarians) โดยเชื่อว่าภูมิภาคนี้ไม่มีวัฒนธรรมหรืออารยธรรมโดดเด่นเกิดขึ้น จนกระทั่งพ่อค้าและพระภิกษุชาวอินเดียเดินทางมาถึง นักวิชาการชาวตะวันตกจึงกำหนดศัพท์เฉพาะขึ้น ใช้เรียกภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเห็นว่า ภูมิภาคนี้เป็นเพียงดินแดนส่วนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลของอารยธรรมอินเดีย คำจำกัดความดังกล่าวได้แก่ อินเดียไกล (l’Inde exterieure) อินเดียน้อย (Greater India) และรัฐแบบอินเดีย (The Indianised States)

ผลการขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งดำเนินการครั้งแรกเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วทำให้นักวิชาการสลัดความคิดข้างต้นออกไปจนหมดสิ้น ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และนักมานุษยวิทยาต่างก็เห็นพ้องกันว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนที่มีเอกลักษณ์รูปแบบทางอารยธรรมโดดเด่นเป็นของตนเองอย่างแท้จริง

หลักฐานที่นักโบราณคดีขุดค้นพบคือสิ่วหิน (chisels) อันเป็นเครื่องมือซึ่งพวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ (nomads) ใช้กันเมื่อประมาณ 800,000 - 600,000 ปีมาแล้วที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางและโครงกระดูกของมนุษย์โฮโมอิเรคตัส (Homo Erectus คนเดินเหยียดหลังตรงพวกแรก)ขุดพบในเกาะชวา
เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคไพลสโตซีน (Pleistocene period ประมาณสองล้านถึงหนึ่งแสนปีมาแล้ว) ในขณะนั้นเกาะต่างๆในทะเลจีนใต้ รวมทั้งหมู่เกาะของมาเลเซีย และอินโดนีเซียยังมิได้แยกตัวออกไปจากแผ่นดินใหญ่ หลักฐานอื่นๆ ก็ชี้ชัดว่ามีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อประมาณ 30,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อยเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่สำคัญครั้งแรก เกิดขึ้นประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว เมื่อมีคน อพยพจากจีนและดินแดนอื่นๆ มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคทางใต้ คนที่เข้ามาใหม่มิได้ขับไล่คนพื้นเมืองออกไป หากแต่ได้แทรกซึมเข้าไปสู่ชุมชนพื้นเมือง(Indigenous Communities) ทีละน้อย

หลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบในจีนตอนใต้และเวียตนามเหนือ รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้ให้เห็นว่าคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้จักเทคโนโลยีการทำสำริดมาเป็นเวลานานถึง 3,500 ปีแล้ว

ภาพกลองมโหระทึก (kettledrum) ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย พบที่อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอื่นๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ริเริ่มสร้างหมู่บ้านขนาดเล็กเมื่อประมาณ 3,000 ปี มาแล้ว ทำให้เชื่อกันว่าความชำนาญในการทำเครื่องมือเครื่องใช้สำริดเหล่านี้ถูกส่งผ่านเข้ามาจากมณฑลสีฉวน (Sichuan) และยูนนานของจีน

ภาพเขียนสีที่ถ้ำตาด้วง จังหวัดกาญจนบุรี รูปคนกำลังใช้กลองมโหระทึกประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ

รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเชื่อว่า เคยมีการอพยพครั้งใหญ่ของคนจากจีนมายังประเทศไทยผ่านเวียตนามเมื่อประมาณ 3,500 ปี รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมเรียกผู้อพยพกลุ่มนั้นว่า “นักเผชิญโชค” และ”พ่อค้า”ที่เข้ามาแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ จำพวกแร่ธาตุและของป่า

ขณะนั้นดินแดนในประเทศไทยปัจจุบันเป็นแหล่งผสมผสานของชนพื้นเมือง (ethnic groups)อันประกอบด้วยชาวไต สยาม มอญและอินเดีย เทคโนโลยีที่ผู้อพยพนำมาและพัฒนาขึ้นใน”บ้านใหม่”ของพวกเขาคือ ความรู้ในการหลอมโลหะและการทำสำริด ต่อมาภายหลังจึงรู้จักการทำเครื่องมือเหล็ก อาวุธเหล็ก และเครื่องใช้ต่างๆ ที่ทำจากเหล็ก

นับเป็นเวลาประมาณ 2,500 ปี มาแล้วที่หมู่บ้านขนาดใหญ่ระยะแรกๆ หลายแห่งในแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แหล่งตั้งถิ่นฐานชุมชนเหล่านี้ถูกปกครองโดยหัวหน้าหมู่บ้าน สินค้าหลักของพวกเขามิใช่ข้าวหรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ หากแต่เป็นโลหะจำพวกทองแดงและเหล็ก ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างคนจากส่วนในของภูมิภาคเอเฃียตะวันออกเฉียงกับนักเดินเรือต่างชาติทำให้หมู่บ้านเหล่านี้ขยายตัวขึ้นเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

หลักฐานชี้ให้เห็นว่าเมืองขนาดใหญ่ยุคแรกๆ ของภาคพื้นส่วนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้ของประเทศไทย และในที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่น้ำแม่กลองทางด้านตะวันตกของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา การค้าขายจึงเกิดขึ้นระหว่างพ่อค้าอินเดียและจีนกับคนพื้นเมืองในเวียตนาม ซึ่งนักวิชาการปัจจุบันเรียกว่า พวกซาฮุยน์หฺ-ดองซอน (Sa Huynh – Dong Son)

มหากาพย์รามายณะ (The Ramayana epic) และนิทานชาดก (Jataka เรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า เขียนโดยชาวอินเดีย) เรียกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า สุวรรณภูมิ (Land of Gold) นิทานหลายเรื่องในพระชาดก (รวมทั้งเรื่องพระมหาชนก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชนิพนธ์อีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้) กล่าวถึงการเดินทางไปสู่ดินแดนสุวรรณภูมิอันถูกพรรณนาถึงในแง่ของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ซึ่งคนทุกเชื้อชาติอยากจะเดินทางไปติดต่อค้าขาย

จากหลักฐานที่รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมกล่าวถึง ปรากฏว่าบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียในดินแดนประเทศไทยตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว

รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เชื่อว่า พระภิกษุชาวอินเดียสองรูปคือ พระโสณะเถระ และพระอุตตรเถระ ซึ่งถูกพระเจ้าอโศกมหาราชส่งมาเผยแพร่ศาสนาพุทธในสุวรรณภูมิเมื่อประมาณ 300 ปี ก่อนคริสต์ศักราชนั้น อาจมาขึ้นฝั่ง ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้บนฝั่งแม่น้ำท่าจีน-แม่น้ำแม่กลองนั่นเอง ดังนั้นเมื่อสุวรรณภูมิเป็นจุดหมายหลักของบรรดาพ่อค้าต่างชาติเช่นนี้แล้ว คณะเผยแพร่ศาสนาพุทธของพระโสณะและพระอุตตระจึงมิใช่อาคันตุกะรายเดียวในขณะนั้นของภูมิภาคนี้

รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมระบุว่า ที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลองมีฐานะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของสุวรรณภูมิมาตั้งแต่ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช และทำให้มีการค้าขายของ พ่อค้าต่างชาติมากมายเกิดขึ้นในย่านนี้ ปฏิสัมพันธ์ข้างต้นจึงทำให้เกิดพัฒนาการของศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ การปกครองระบบกษัตริย์ ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับภารตะ(คืออินเดีย) และความหลากหลายของพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อทางศาสนาที่นำเข้ามาเผยแพร่เหล่านี้ ได้ส่งอิทธิพลอย่างเด่นชัดต่อสังคมต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องมีความระมัดระวังต่อการเน้นให้เห็นถึงความสำคัญมากเกินไปของอารยธรรมอินเดียในภูมิภาคนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือก่อนที่พระภิกษุและพ่อค้าชาวอินเดียจะเดินทางมาถึงนั้น คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีอารยธรรมซึ่งได้พัฒนาการไปอย่างช้าๆ ตามวิถีของตนอยู่แล้ว

การติดต่อกับอินเดียจะไม่เกิดขึ้นถ้าหากมิได้รับอนุญาตจากหัวหน้าชุมชนชาวพื้นเมืองซึ่ง ดูเหมือนว่าผู้นำเหล่านี้จะตัดสินใจเลือกรับเอาศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ(ทั้งนิกายมหายาน และนิกายเถรวาท) ที่เห็นว่าเหมาะสมกับสังคมและความเชื่อดั้งเดิมของพวกเขามากที่สุด ลัทธิการนับถือปรากฏการณ์ธรรมชาติ (Animism)ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นความเชื่อหลักที่คล้ายๆกับสังคมแรกเริ่มอื่นๆในโลก ภาพเขียนสีในถ้ำและเพิงผาจำนวนมากซึ่งถูกค้นพบในประเทศไทย ล้วนถูกทำขึ้นก่อนการเข้ามาของอารยธรรมอินเดียทั้งสิ้นเราจะพบว่าในภาพเขียนบางแห่งมีรูปหัวหน้าชุมชนกำลังประกอบพิธีกรรมติดต่อกับบรรดาภูตผีและเทพเจ้าอย่างตั้งอกตั้งใจ

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเรื่องเล่าเก่าแก่พื้นเมืองกล่าวถึง พญานาค หรืองูศักดิ์สิทธิ์ในตำนาน รวมทั้งร่องรอยความเชื่ออื่นๆที่เกี่ยวกับการนับถือธรรมชาติแบบโบราณ ปรากฎให้เห็นในพิธีสักการะเทพเจ้าแห่งท้องฟ้า เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลเกษตรกรรม คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด มีความเชื่อคล้ายกันเรื่องอำนาจอันเป็นอมตะของเทพเจ้าแห่งท้องฟ้า ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นผู้ควบคุมจักรวาล โลก สิ่งมีชีวิตและภูตผีทั้งหมด ความเชื่อนี้สะท้อนให้เห็นจากการตกแต่งประดับประดากลองมโหระทึกสำริด ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในรัฐเถียน (Tian State ใกล้กับทะเลสาบคุนหมิง) ในมณฑลยูนนานของจีน เมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช กลองมโหระทึกสำริดเหล่านี้ถูกนำจากจีนมายังเวียตนามทางเหนือ เข้าสู่ตอนกลางแผ่นดินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะใกล้เคียงในเวลาต่อมาตามลำดับ

ในประเทศไทย กลองสำริดเหล่านี้รู้จักกันในชื่อกลองมโหระทึก หรือกลองสำริด มีลายจำหลักรูปกบ รูปสัตว์ 12 ราศี และรูปจำหลักคล้ายดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลาง เชื่อกันว่ากลองมโหระทึก เป็นสิ่งที่จะนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ผู้นำของชุมชนผู้ซึ่งสามารถติดต่อกับเทพเจ้าแห่งท้องฟ้าโดยตรง และกลองมโหระทึกก็มักจะถูกฝังไว้กับศพของหัวหน้าชุมชนด้วยเมื่อเขาตายลงไป

ภาพโครงกระดูกของมนุษย์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือสำริดและเครื่องมือเหล็กถูกขุดพบร่วมกับภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้สำริดและเหล็ก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของอารยธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนการเข้ามาของพระภิกษุและพ่อค้าชาวอินเดีย

2.เบ้าหลอมแห่งวัฒนธรรม [2]
ก่อนการเข้ามาของอารยธรรมอินเดียนั้น ภูมิภาคแห่งนี้มีชุมชนอิสระขนาดเล็กหลายชุมชน ตั้งอยู่ ประกอบด้วยหลากหลายชนชาติ แม้ส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะนับถืออำนาจของเทพเจ้าแห่งท้องฟ้า ทว่าชุมชนแต่ละแห่งต่างก็มีผีประจำชุมชนเป็นของตนเอง (คือผีอารักษ์หรือGuardian Spirits)

เมื่อผู้นำชุมชนได้เลือกรับเอาศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธซึ่งเหมาะสมกับชุมชนที่สุดเพื่อนำไปผสมผสานกับความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติของท้องถิ่นแล้ว ถึงกระนั้นผีก็ยังคงได้รับการนับถือเฃ่นเดิม แต่พระพุทธเจ้าหรือเทพเจ้าในศาสนาฮินดู (อาทิ พระพรหม หรือเทพองค์อื่น ขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชน) ก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเทพเจ้าสูงสุดด้วย บรรดาหัวหน้าชาวพื้นเมืองได้นำศาสนาใหม่เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการยกฐานะของตนขึ้นเป็นเทวราชา (god kings) ซึ่งซึ่งเชื่อกันว่าทรงอวตารหรือเป็นผู้นำสาส์นมาจากเทพเจ้าผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติ พิธีกรรมจึงถูกประกอบขึ้นเพื่อตอกย้ำความเชื่อข้างต้น

ครั้นนักบวชในศาสนาพราหมณ์ถูกแต่งตั้งขึ้นเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ และได้กลายเป็นราฃครู-ปุโรหิต หรือผู้รู้เกี่ยวกับพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนาเพื่อขอพรให้แก่บุคคลสูงศักดิ์ จึงเป็นต้นกำเนิดของการปกครองแบบกษัตริย์ ซึ่งได้แพร่หลายทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลักฐานตำนานของพ่อค้าชาวกรีก โรมัน อินเดียและจีนประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 3 จึงชี้ว่า ดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจุดนักพบของพ่อค้าจากตะวันออกและตะวันตก ขณะนั้นคาบสมุทรมาเลย์ประกอบด้วยรัฐเล็กรัฐน้อย ตำนานกล่าวว่า รัฐเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาและการปกครองจากอินเดีย แม้ว่าพลเมืองจะนับถือเทพเจ้าของศาสนาฮินดู แต่ก็นับถือพระพุทธศาสนาด้วย ผู้ชายชาวพื้นเมืองจำนวนมากอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่การเฉลิมฉลองเทศกาลนักขัตฤกษ์และการประกอบพิธีกรรมเนื่องในศาสนาฮินดูก็ยังคงมีควบคู่กันไป ภายในพระราชวังของพระมหากษัตริย์มีทั้งพระพุทธรูปและเทวรูปจำนวนมากตามแบบอย่างศิลปะซึ่งนำเข้ามาจากชมพูทวีป (subcontinentคือ อินเดีย) ตำนานเหล่านี้ยังระบุด้วยว่า บรรดากษัตริย์ชาวพื้นเมืองและเชื้อพระวงศ์ล้วนมีฐานะมั่งคั่ง แต่ละคนมีข้าทาสและบริวารหลายร้อยคน การแบ่งแยกคนออกเป็นสองชนชั้น คือ ผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง เป็นจารีตที่เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน

นอกเหนือไปจากการติดต่อทางด้านวัฒนธรรมและศาสนากับอินเดียแล้ว สุวรรณภูมิยังเริ่มค้าขายโดยตรงกับจีนในช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่คริสต์ศตวรรษที่ 3 จะเริ่มต้น ซึ่งในช่วงก่อนสมัยราชวงศ์ฮั่น (200 ปีก่อนคริสต์ศักราชถึง ค.ศ.220)จะเริ่มขึ้นนั้น มีพ่อค้าจีนจำนวนไม่มากนักแล่นเรือเข้ามาค้าขายยังสุวรรณภูมิ พ่อค้าเหล่านี้มีลูกเรือเป็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สินค้าจากดินแดนสุวรรณภูมิมีจุดหมายปลายทางที่อินเดียและจีน แต่สินค้าส่วนใหญ่จะถูกลำเลียงผ่านทางบกไปยังท่าเรือตอนเหนือของเวียตนาม โดยมีชาวพื้นเมืองแห่งซาฮุยน์หฺ- ดองซอน (Sa Huynh – Dong Son) เป็นพ่อค้าคนกลาง

ภาพลูกปัดจากการขุดค้น เก็บรักษาไว้ที่วัดคลองท่อม จังหวัดกระบี่

ความรุ่งเรืองทางการค้าระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีหลักฐานยืนยันชัดเจนจากการขุดค้นพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น สินค้าประเภทเครื่องเคลือบ (enamel goods) เครื่องใช้สำริด

กลองมโหระทึกสำริดและอาวุธสำริดในแหล่งโบราณคดีหลายแห่งทางเหนือของเวียตนาม อินโดนีเซีย และที่จังหวัดอุตรดิตถ์ในภาคเหนือของประเทศไทย

เมื่อสุวรรณภูมิกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าระหว่างตะวันตก (อินเดีย) ตะวันออก (จีน) แล้ว ปริมาณการค้าในภูมิภาคนี้ก็มีมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาเส้นทางการค้าขายสายใหม่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการขยายตัวของชุมชนพื้นเมืองเพิ่มขึ้นด้วย

เมืองอู่ทอง (ในจังหวัดสุพรรณบุรี) เป็นชุมชนที่บ่งชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของอารยธรรมอินเดียได้อย่างชัดเจน เมืองโบราณแห่งนี้เป็นท่าเรือสำคัญในอาณาจักรฟูนัน จดหมายเหตุจีนชี้ว่าฟูนันเป็น “รัฐที่มีอำนาจ” ครอบคลุมไปถึงชุมชนเมืองท่าเล็กๆ ทั้งหมดตามชายฝั่งของอ่าวไทย นักประวัติศาสตร์บางคนระบุว่า แหล่งตั้งถิ่นฐานแห่งแรกของอาณาจักรฟูนันอาจอยู่ตามลำน้ำโขงตอนล่าง ระหว่างชอด็อค (chaudoc)กับพนมเปญ ครั้นถึงคริสต์ศตวรรษที่ 2 ฟูนันจึงสามารถควบคุมแม่น้ำโขงตอนล่างและบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง รวมทั้งบริเวณตอนเหนือของเมืองเว้ในเวียตนาม และตอนเหนือของคาบสมุทรมาเลย์ไว้ได้โดยสิ้นเชิง

จากการวิจัยของรองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัย ศิลปากรชี้ว่า ฟูนันเป็นรัฐใหญ่ปกครองโดยระบบกษัตริย์ (monarchy) มีการเชื่อมโยงทางการค้าและการปกครองกับอินเดียและจีน รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เชื่อว่ามีการนับถือศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธในฟูนันพร้อมๆ กันทั้งชนชั้นสูงในราชสำนักและสามัญชน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมา ทำให้ฟูนันกลายเป็นศูนย์รวมทางการค้าขายทางทะเลระหว่างตะวันออกกับตะวันตกแทนสุวรรณภูมิ

นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าอาณาจักรฟูนันเป็นรัฐสำคัญรัฐแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณ แต่รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าพัฒนาการของรัฐต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสลับซับซ้อนมาก และได้ระบุว่า แม้ฟูนันจะได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางเมืองท่าสำคัญ แต่ก็มีรัฐและเมืองท่าสำคัญแห่งอื่นๆ อาทิ เมืองอู่ทองเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันด้วย


ภาพตะเกียงโรมันสำริด พบที่อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เป็นหลักฐานบ่งฃี้ให้เห็นถึงการติดต่อค้าขายระหว่างตะวันออกกับตะวันตกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่7

รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นนักวิชาการคนหนึ่งซึ่งอยากจะเห็นการศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีลักษณะเป็นแบบแนวนอน (มุมมองกว้าง) อันมีความหลากหลายมากกว่าจะเป็นการศึกษาแบบแนวดิ่ง(เจาะลึก) นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรฟูนันตามแนวดิ่ง มักจะมองอาณาจักรฟูนันมีฐานะเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่ที่ส่งอิทธิพลทางวัฒนธรรมให้แก่อาณาจักรเจนละ อาณาจักรพระนคร (Angkor) และอาณาจักรเขมรในช่วงหลัง

ศาสตราจารย์ชอง บ็วสเซอลิเยร์ (Jean Boiselier) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสชี้ว่า โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่พบจากการขุดค้นที่เมืองออกแก้ว (Oc - Eo) เป็นโบราณวัตถุสมัยเจนละ (ซึ่งมีอายุรุ่น หลังสมัยฟูนัน) และเสนอว่าเมืองอู่ทองเป็นราชธานีของอาณาจักรฟูนัน แต่รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเมืองอู่ทองและเมืองออกแก้วต่างก็เป็นชุมชนขนาดใหญ่ในดินแดนสุวรรณภูมิ รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมเชื่อว่าอู่ทองเป็นเมืองที่จดหมายเหตุจีนเรียกว่า “จิ้นหลิน” (Chin Lin/Jin Lin ซึ่งหมายถึงดินแดนแห่งทองคำ)มากกว่า จดหมายเหตุจีนยังระบุว่าเมืองท่าแห่งนี้เคยถูกกองทัพฟูนันครอบครองเป็นครั้งคราวในคริสต์ศตวรรษที่ 3 แต่หลักฐานเกี่ยวกับอาณาจักรฟูนันยังพบน้อย ถึงกระนั้นสิ่งที่เราทราบเกี่ยวกับฟูนันก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะสามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่าในช่วงแห่งความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรฟูนันนั้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พัฒนาการเข้าสู่ยุคใหม่โดยร้อยรัดรากฐานและความเจริญทางการค้าขายชายฝั่งทะเล ระหว่างตะวันออกกับตะวันตกด้วยอิทธิพลทางวัฒนธรรม ศาสนา และสังคมของอินเดียไว้อย่างมั่นคง

ปัจจัยดังกล่าวนี้ถือเป็นพื้นฐานของพัฒนาการในขั้นต่อมาของชุมชนและรัฐขนาดใหญ่ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งดินแดนที่อยู่ในประเทศไทยด้วย

แผนผังชายฝั่งและที่ตั้งชุมชนก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 4

3.คำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ [3]
ไมเคิล ไรท์ (เขียน)

เมื่อกลางเดือนเมษายน คอลัมน์โฟกัส (Focus) ตีพิมพ์บทความสารคดีชุดSiam-Thai Millenium ชิ้นแรก ของสุจิตต์ วงษ์เทศนักประวัติศาสตร์คนสำคัญ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการก้าวเข้าสู่ปี ค.ศ. 2000 และอธิบายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อ 2000 ปีที่แล้ว

ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย แต่ก็ได้บ่ายเบี่ยงเนื่องจากติดภารกิจสำคัญ บัดนี้ก็พร้อมแล้ว และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้แจ้งให้ทราบว่ากำลังมีปัญหาในการเขียนต้นฉบับ ซึ่งต้องส่งพิมพ์ 2 ครั้งต่อหนึ่งเดือน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเข้าร่วมในโครงการด้วยการผลัดเข้ามาเสนอความคิดเห็นเป็นครั้งคราวไป การทำงานครั้งนี้มิใช่ความพยายามในการร่วมมือกัน สุจิตต์ วงษ์เทศและข้าพเจ้าเป็นเพื่อสนิทกัน เรามีแนวความคิดและอุดมคติร่วมกัน แต่ภูมิหลังและ บุคลิกภาพของเรามีความแตกต่างกันมากจนกระทั่งไม่สามารถเป็น “แนวร่วม” (united front) กันได้ ครั้งใดที่เราพยายามเป็นแนวร่วมกันก็ดูเหมือนจะก่อให้เกิดการขัดคอกันเองเสียทุกครั้งไปในเวลาอันไม่นานนัก บทความนี้และบทความที่จะถูกตีพิมพ์ในอนาคตของข้าพเจ้าจึงเปรียบเสมือนดนตรีเสียงสูงที่คลอประสานท่วงทำนองของสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นเสียงของคนนอกที่แต่งเติมเสียงร้องของคนใน

สุจิตต์ วงษ์เทศเป็นใคร ถ้าจะนับทางสายบิดา สุจิตต์ก็เป็นชาวลาว เพราะบรรพบุรุษฝ่ายบิดาเป็นเชลยสงครามซึ่งถูกรัชกาลที่ 3 กวาดต้อนมาจากเมืองเชียงของในประเทศลาว เพื่อให้ไปแผ้วถาง บุกเบิกดงมาเลเรียในเขตจังหวัดปราจีนบุรี สุจิตต์ วงษ์เทศมีญาติฝ่ายมารดาเป็นชาวจีน เพราะมารดาเดินทางอพยพมาในเรือสำเภาเมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่แล้ว สุจิตต์ วงษ์เทศจึงภูมิใจที่จะบอกว่า ตนเองเป็นคนครึ่งลาวครึ่งจีน กรณีดังกล่าวช่วยให้สามารถอธิบายปฏิกิริยาของเขาที่มีต่อความเชื่อเรื่องเชื้อชาติ (racial mythology) ซึ่งนำเข้ามาเผยแพร่เป็นครั้งแรกโดยรัชกาลที่ 6 เมื่อประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้วถูกกระตุ้นให้กลายเป็นลัทธิชาตินิยม (national myth) ไประหว่างยุคเผด็จการทหาร (Fascist Period) แล้วถูกรักษาไว้ราวกับมดในก้อนอำพัน (amber) ในหลักสูตรของโรงเรียนปัจจุบัน

เมื่อเร็วๆนี้ ดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่า ความคิดยึดมั่นในเรื่องเชื้อชาติถูกใช้อย่างน่ากลัวอย่างไรบ้าง รัฐซึ่งอ้างตัวเองว่าเป็น “ไทย“ เป็นผู้ให้คำจำกัดความและจำแนก “ความเป็นคนไทย Thai-ness” ผู้ซึ่งมีลักษณะตรงตามคำจำกัดความของรัฐจะได้รับการยอมรับว่าเป็น “ไทย” และได้รับสวัสดิการต่างๆ จากรัฐเป็นการตอบแทน คนอื่นๆอาทิ คนกลุ่มน้อยชาวเขาคนจนผู้เกรี้ยวกราดและนักคิดอิสระ จะถูกกล่าวหาจากรัฐบาลว่ามิใช่คนไทย (UN-Thai) และถูกกีดกันออกไปจากการมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ของประเทศ สิ่งดังกล่าวทำให้กระบวนการประชาธิปไตยในไทยมีอุปสรรค และความเกลียดกลัวคนต่างชาติได้ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธซึ่งมีผลประโยชน์มากมายเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นเดิมพัน (xenophobia so handy a weapon when a vested interests are at stable) ด้วยเหตุนี้ทำให้เรามีนักพนัน นักเก็งกำไร และคนปลิ้นปล้อนพื้นเมือง ที่ป่าวร้องคำขวัญประจำชาติและเรียกร้องให้รัฐช่วยดึงพวกเขาให้พ้นจากความชั่วร้ายของคนอื่นที่มิใช่คนไทย

ในบทความชื่อ “Once upon a Time” (Focus, หน้า C1, April 19, 1999) สุจิตต์ วงษ์เทศเขียนเกี่ยวกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (จนถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ) และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความก้าวหน้าทางสังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยีแล้ว ก่อนที่เขาจะรู้จักประเทศอินเดีย สุจิตต์ วงษ์เทศจำเป็นต้องเขียนถึงปรากฏการณ์นี้ แต่เขียนทำไมหรือ ทำไมความคิดต่อทาง วัฒนธรรมระหว่างอินเดียกับ S.E.A. จึงมีการเข้าใจอย่างผิดๆ และมีการบิดเบือนไปได้ มีเหตุมากมาย ดังนี้ คือ

1. เมื่อตะวันตกหันมาสนใจตะวันออก ตะวันตกได้กำหนดความคิดเอาไว้ตายตัวแล้วระหว่างกรอบของ “อารยธรรม” กับ “ความป่าเถื่อน” ยุโรปหรือโลกคริสเตียนเป็นดินแดนแห่งอารยธรรม ดินแดนอื่นๆ นอกนั้นล้วนเป็นดินแดนแห่งความป่าเถื่อน ดังนั้นเห็นได้ชัดเจนว่า ในความรู้สึกของผู้รู้แห่งสมัยวิคตอเรียแล้ว ชาวยุโรปได้ถ่ายทอดอารยธรรมแก่อเมริกา ในขณะที่วัฒนธรรมพื้นเมืองของอเมริกา (indigenous American culture) ถูกให้คำจำกัดความว่า เป็นพวกป่าเถื่อน เช่นเดียวกับในกรณีการมองภาพลักษณ์ของเอเชียการถูกครอบงำจากอิทธิพลยิ่งใหญ่ของอินเดียก็ได้ถูกนำมาใช้อธิบายลักษณะวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

2. เราอาจให้อภัยต่อความเข้าใจผิดของบรรดานักปราชญ์ภาคตะวันตกในยุโรปยุคแรกๆ ได้ เพราะการเขียนบันทึกเกี่ยวกับ S.E.A. ยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้นจนกระทั่งระบบการเขียนของชาวอินเดียเข้ามาเผยแพร่ในช่วงคริสต์ศักราช ในทางตรงกันข้ามความแพร่หลายของวรรณคดีภาษาสันสกฤต ประกฤต (ภาษที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Modern Indo-Aryan ภาษาบาลีก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย) และทมิฬของชาวอินเดียอย่างไรก็ดีบันทึกลายลักษณ์ของอินเดีเก่าแก่ที่มีอายุนับย้อนหลังได้ใกล้เคียงกับกฎหมายของพระเจ้าอโศก (the edicts of Ashore) ในช่วง 30 ปีก่อนคริสต์ศักราช และเรื่องก่อน ประวัติศาสตร์ใน S.E.A. เป็นที่รู้จักกันน้อยมากจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มานี้เอง

3. วัฒนธรรมอินเดียโบราณถูกใช้อย่างผิดๆ อย่างกว้างขวางถูกมองว่าเป็นเบ้าหลอมให้แก่คนกลุ่มน้อยเลียนแบบ และวัฒนธรรมอินเดียถูกมองว่ามีความความเก่าแก่มากกว่าใครๆ อย่างผิดๆ มานานเช่นกัน ในทางตรงกันข้ามสำหรับวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในปัจจุบันนี้เท่าที่ทราบมา (ยกเว้นอารยธรรมฮินดู – Indus Civilization ซึ่งอาจจะเข้ามาจากตะวันออกกลาง) จะเห็นได้ว่า มีแต่โบราณวัตถุฝีมือค่อนข้างหยาบ (pertly pour stuff) เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งละอันพันละน้อยที่เราค้นพบเกี่ยวกับก่อนประวัติศาสตร์ใน S.E.A.

เรื่องราวเก่าแก่ที่สุดของอารยธรรมอินเดีย คือ เวทัส (Vedas) อันเป็นเรื่องเล่าเชิงมุขปาฐเก่าแก่มากมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมดั้งเดิมของชนเผ่าเร่ร่อนที่ดำเนินชีวิตโดยการขโมยปศุสัตว์ ซึ่งแตกต่างจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับภูมิปัญญา (inspiration = good idea) ของชาวสวนและชาวนายุคแรกของ S.E.A. ชาวอินเดียในยุนแรกไม่เคยประสบความสำเร็จในการผลิตโลหะสำริดอย่างแท้จริง พัฒนาการในเรื่องโลหะสำริดของอินเดียบรรลุขั้นสูงสุดเกิดขึ้นหลังจากมีการติดต่อกับยุคโลหะสำริดใน S.E.A. เป็นเวลานานมากทีเดียว
ทัศนทั่วไปของชาวตะวันตกในเรื่องความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมอินเดียได้มองข้ามความหลากหลายของภูมิภาคอื่นๆ ของอินเดียและการมีส่วนร่วมใน “พื้นฐานดั้งเดิม – pritive element” ของ S.E.A. รวมทั้งลัทธินับถือต้นไม้ นับถือพญานาค และการสืบทอดมรดกทางสายมารดาของชาวดราวิเดียน (Dravidian) ในอินเดียได้ด้วย ดังนั้นบางทีวัฒนธรรมอินเดียซึ่งเป็นที่ชื่นชมรับรู้ของ S.E.A. อาจมิใช่เพราะว่าเป็นของแปลกและก้าวหน้า หากแต่เป็นเพราะพวกเขาต่างก็คุ้นเคยดีอยู่แล้วนั่นเอง เห็นได้จากพระคเณศ เทพเจ้าผู้ทรงมีเศียรเป็นช้าง แทบจะมิใช่สิ่งแปลกสำหรับคนใน S.E.A. เลย สิ่งเหล่านี้มี เหตุผลน่าเชื่อถือเหวี่ยงกลับเมื่อมีนักวิชาการเสนอว่า วัฒนธรรมของ S.E.A. มีความเป็นพื้นเมือง อย่างแท้จริง โดยมิได้รับการถ่ายทอดมาจากอินเดีย เช่นเดียวกับที่มีการพูดว่ายุโรปตะวันตกมิได้สืบทอด วัฒนธรรมมาจากกรีก หรือโรม ข้อเสนอดังกล่าวมีประเด็นน่าสนใจ เพราะถ้าหากลองหลับตาให้แน่น และสวดอธิษฐานมากๆ เราก็อาจจะพบตนเองอยู่ในดินแดนของออซ (The Land of Oz) สุจิตต์ วงษ์เทศมีเหตุผลน่าเชื่อถือมากกว่า ถูกแล้วสุจิตต์ วงษ์เทศได้เน้นถึงความสำเร็จของชาวพื้นเมืองในเรื่องโครงสร้างทางสังคมและเทคโนโลย (ซึ่งรู้จักกันน้อยมาก) ในขณะเดียวกันก็ยอมรับถึงการรับเอาศาสนาที่สูงกว่าความรู้ทางอักษรศาสตร์จากอินเดีย

4.ข้อเสนอที่เชื่อว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโลหะสำริดก่อนอินเดีย

เหตุใด S.E.A. จึงดึงดูดให้พ่อค้าจีนและอินเดียเดินทางเข้ามาค้าขายด้วยในระยะเริ่มแรก บางทีสาเหตุที่ทำให้พ่อค้าจีนเดินทางเข้ามาอาจจะแตกต่างจากพ่อค้าชาวอินเดียก็ได้ จีนเป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ด้วยโลหะธาตุ และมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีถลุงโลหะแบบโบราณ ในขณะที่อินเดียมีโลหะประเภททองคำเพียงเล็กน้อย (ซึ่งอาจจะถูกนำมาจากเอเชียกลาง) และไม่มีดีบุก เมื่อไม่มีดีบุกทำให้อินเดียไม่มียุคสำริดเป็นของตนเองด้วย ทำให้อินเดียข้ามจากยุคทองแดงไปเป็นยุคเหล็กเลย (ยกเว้นเครื่องมือทองแดงบางชิ้นมีสภาพเป็นโลหะสำริดโดยบังเอิญเนื่องจากเทคนิคการถลุงทองแดงแบบไม่บริสุทธิ์) นักวิชาการหลายคนจึงเสนอว่า พ่อค้าชาวจีนสนใจ S.E.A. เนื่องจากมีสินค้าฟุ่มเฟือยจำพวก apes งาช้าง ไข่มุก รังนก เครื่องเทศ และเครื่องยาประเภทนอแรด ดังนั้นเอกสารจีนที่เก่าแก่ที่สุด ชิ้นหนึ่งจึงพูดถึงการเดินทางของนักเล่นแร่แปรธาตุ (Alchemist) แห่งลัทธิเต๋าที่เข้ามาเป็นส่วนผสมเครื่องปรุงทิพย์โอสถ (the elixir of life) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทางตรงกันข้ามอินเดียมีเครื่องเทศจำนวนมาก อินเดียต้องการเพียงงาช้าง และ apes และชาวอินเดียมักจะไม่ค่อยแสวงหาความเป็นอมตะจากยาอายุวัฒนะดังเช่นชาวจีน จึงเชื่อกันว่าพ่อค้าชาวอินเดียเข้ามายัง S.E.A. ครั้งแรกเพื่อแสวงหาทองคำ (ปัจจุบันยังมีอยู่ในคาบสมุทรมาเลย์ และแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง) และดีบุกซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญของการทำโลหะสำริดนั่นเอง สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญก็คือ คัมภีร์โบราณของอินเดีย (ทั้งคัมภีร์ในพุทธศาสนาและฮินดู) ต่างก็เรียก S.E.A. ว่า “สุวรรณภูมิ” นอกจากนี้ยังมีนิยายปรัมปราจำนวนมากกล่าวถึงเจ้าชายถูกกีดกันราชสมบัติแล้วแล่นเรือมุ่งหน้าไปยังสุวรรรภูมิ และเดินทางกลับมาด้วยความมั่งคั่ง ต่อมาก็ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ หรือได้แต่งงานกับสาวงาม เป็นต้น

เอกสารโบราณอาจจะสับสนอยู่บ้างในเรื่องของการเรียกชื่อโลหะทั้งหลาย “สุวรรณ (Suvarna – fine - coloured)” มักจะหมายถึงทองคำเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็อาจจะหมายรวมไปถึงสำริด ซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเชื่อกันว่ามีพลังเหนือธรรมชาติ สำริดถูกเรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า ปัญจโลหะ (Parcaloha) ซึ่งได้แก่ ทองแดง ดีบุก ตะกั่ว เงินและทองคำ ตามหลักฐานในคัมภีร์โบราณ มีการ ตั้งคำถามว่าชาวอินเดียเรียนรู้สูตรลับของส่วนผสมโลหะนี้ (ซึ่งผลการวิเคราะห์ส่วนผสมทางเคมี ของสำริดอินเดียโบราณมิได้สอดคล้องกันกับความเป็นจริง) ได้จากที่ใด พวกเขาอาจเรียนรู้จาก ตะวันออกกลาง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นโลหะสำริดแท้ๆ ของอินเดียก็คงจะเริ่มมีขึ้นประมาณช่วงก่อนคริสต์กาล แต่หลักฐานที่พบกลับไม่สอดคล้องกัน หลักฐานโลหะสำริดแท้ๆ ชิ้นเอกของอินเดียซึ่งเก่าแก่ที่สุดถูกผลิตขึ้นในอินเดียใต้ระหว่าง 500 ปีหลังของสหัสวรรษแรก (ที่อมราวดี คันจิปุรัม และอนุราธปุระ) ช่วงเวลาที่ตั้งเป็นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง อินเดียใต้ และศรีลังกามีพัฒนาการด้านศิลปะและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีโลหะสำริดภายในช่วงเวลาไม่กี่ศตวรรษหลังจากได้มีความสัมพันยธ์ทางการค้าอย่างมั่นคงแล้วกับดินแดนในแผ่นดินใหญ่ของ S.E.A.ในช่วง 5020 ปีแรกของคริสต์กาล
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ ส่วนผสมของโลหะสำริด (ทั้งในด้านความเชื่อและความเป็นจริง) และมีความเชี่ยวชาญในการผลิตสำริดเป็นอย่างดีแล้วก่อนสมัยคริสต์กาล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่ง คือ เราต่างก็รู้จักกำไรข้อเท้า ซึ่งทำเครื่องสำริดหล่อ แบบกลวง (hollow-cest) และมีลูกกระพรวนห้อยของนักเต้นระบำชาวอินเดีย กำไรข้อเท้าอีกแบบหนึ่งทำเป็นวงมีกระดิ่งเล็กๆ ห้อยสวมที่ข้อเท้าของนักเต้นระบำและกระดิ่งแต่ละอันมีกระพรวนเล็กๆ ห้อยโดยรอบโดยรอบ แต่กลับเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่า โบราณวัตถุเหล่านี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อใดในศิลปะอินเดีย เนื่องด้วยไม่พบโบราณวัตถุดังกล่าวในหลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์เลย

อย่างไรก็ดี หลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กลับมีหลักฐานกำไรข้อเท้าและกระพรวนสำริดจำนวนมาก ซึ่งเคยเชื่อกันว่าถูกนำเข้ามาจากอินเดีย หลักฐานข้างต้นทำให้เรื่องราวทุกอย่างกระจ่างขึ้น นั่นคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มิได้เรียนรู้เทคนิคการผลิตโลหะสำริดมาจากชาวอินเดีย ตรงกันข้ามอินเดียกลับเรียนรู้เทคนิคดังกล่าวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงกระนั้นข้อสงสัยเกี่ยวกับพระพุทธรูปสำริดก็ยังคงมีอยู่ต่อไปว่าเทคนิคการหล่อได้รับการถ่ายทอดมาจากที่ใด

พระพุทธรูป ซึ่งในที่นี้เรียกว่า “The missionary Buddha” แม้ว่าจะถูกจัดอยู่ในศิลปะแบบอมราวดีและอนุราธปุระนั้น ถูกค้นพบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระพุทธรูปเหล้านี้อาจถูกนำมาโดยพระภิกษุซึ่งเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนา แต่ปัญหาก็คือนักประวัติศาสตร์ศิลปะยังไม่มีความเห็นสอดคล้องลงตัวกันว่าพระพุทธรูปเหล่านี้ถูกหล่อขึ้นที่ใด ด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์ศิลปะอาจจำเป็นต้องอาศัยหลักฐานเอกสารมาช่วยเพิ่มขึ้นอีกด้านหนึ่ง ความเชี่ยวชาญชั้นสูงในการหล่อโลหะแบบกลวง Hollow casting เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบที่บ้านเชียงในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในขณะที่พระพุทธรูปสำริดลักษณะคล้ายๆ กันซึ่งพบในศรีลังกานั้นล้วนเป็นแบบสำริดหล่อตัน (solid cast) ยกเว้นพระพุทธรูปที่พบที่เมือง บาดัลลา ( Badulla) จากเหตุผลที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ (traditional texts) คือ การเป็นบาปอย่างรุนแรงถ้ามีการสร้างพระพุทธรูปแบบไม่สมบูรณ์ ดังนั้นการสร้างพระพุทธรูปแบบหล่อตันจึงเป็นทางออกที่ดีกว่า ในทางตรงกันข้ามกับหลักฐานที่พบในศรีลังกานั้น “The Missionary Buddha” ใน S.E.A. ต่างก็เป็นพระพุทธรูปสำริดเนื้อบางซึ่งหล่อแบบกลวง ด้วยเหตุนี้อาจจะกล่าวได้ว่า พระพุทธรูปเหล่านี้ถูกหล่อขึ้นใน S.E.A. และจากเอกลักษณ์ดังกล่าวข้างต้น จึงอาจเป็นไปได้ว่าพระพุทธรูปสำริดหล่อแบบบกลวงซึ่งพบที่บาดัลลาในศรีลังกาอาจถูกนำเข้าไปจาก S.E.A. ก็ได้ ในบทความของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งกล่าวถึงอาณาจักรฟูนันว่าเป็นรัฐหรืออาณาจักรแห่งแรกใน S.E.A. ดังปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุจีน และขยายอำนาจจากอ่าวสยามไปยังปากแม่น้ำโขงระหว่างช่วง 500 ปีแรกคริสต์ศักราช

นักวิชาการฝรั่งเศสเชื่อว่า “ฟูนัน” เป็นภาษาจีนเพี้ยนมาจากคำว่า “พนม” แปลว่า ภูเขาในภาษาเขมร และเป็นรัฐซึ่งมีลักษณะเป็นศูนย์รวมอำนาจ (centralized state) หรือรัฐแบบจักรวรรดิ (Empire state)
สุจิตต์ วงษ์เทศเสนอว่า ฟูนันน่าจะมีลักษณะคล้ายกับเมืองท่าสมาพันธรัฐทางการค้าที่กระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลด้านใต้ของภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีฐานะเป็นแหล่ง รวบรวมสินค้าของพ่อค้าจีนและอินเดีย ซึ่งในช่วงคริสต์ศตวรรษแรกๆ นั้น พ่อค่าเหล่านี้นิยมแวะเข้ามาเป็นอย่างยิ่ง ศาสตราจารย์ทัตสุโอะ โฮชิโน เห็นด้วยกับแนวความคิดของสุจิตต์ เขาเชื่อว่าคำ “ฟูนัน” มาจากภาษาทมิฬว่า “ปุรัม-puram“ อันแปลว่า “เมือง” และอาจจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ “คันจิปุรัม - Kanchipuram” (ปรากฏอยู่ในบันทึกของจีนหลายชื่อ เช่น คันจิ–ฟู–kan–chi–fu และฟูนัน–fu–nan) โดยอาจจะตั้งอยู่ที่เมืองศรีเทพ ซึ่งเคยตั้งอยู่ปากอ่าวสยามในสมัยโบราณ

งานเขียนของไมเคิล วิคเคอรีชิ้นล่าสุดเรื่องอาณาจักรกัมพูชาสมัยเริ่มแรกสอดคล้องกับทัศนของสุจิตต์ และได้เสนอแนวคิดเพิ่มเติมอีกด้วยว่า เมืองท่าต่างๆ ของดินแดนภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสำคัญอย่างไรต่อการแล่นเรือเข่ามาค้าขายในช่วง 500 ปีแรกของคริสต์ศักราช อย่างไร ก็ดีประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6-7 นักเดินเรือสามารถแล่นเรือโดยอาศัยเรือสินค้าเดินทางไปมาค้าขายระหว่างชวาและกวางตุ้งได้โดยมิต้องอาศัยการแล่นเรือเลียบชายฝั่งอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 7 รัฐฟูนันจึงค่อยๆ หายไปจากบันทึกของจีน และถูกแทนที่ด้วย ชิ-ลิ-โฟ-=u / shi-li-of-che (หรือ shin-li-fo-shi หรือศรีวิชย / ศรีวิชัย) ซึ่งเป็นเมืองท่าสมาพันธรัฐในคาบสมุทรมาเลย์ และหมู่เกาะทางตอนใต้ โดยมีจุดศูนย์กลางเคลื่อนย้ายไปเป็นช่วงๆ เมืองท่าโบราณบนภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะมีพ่อค้าต่างชาติเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย อย่างไรก็ดีในช่วง 500 ปีที่สองของคริสต์สหัสวรรษ วัฒนธรรมนานาชาติของเมืองท่าโบราณเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนย้ายไปสู่เมืองซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในภาคพื้นทวีป อาทิ ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ เนื่องด้วยผู้นำได้หาทางครอบครองทรัพยากรอันมั่งคั่งที่มาจากภาคพื้นทวีปด้วยการชักนำวิถีชีวิต แบบใหม่มาสู่พวกเขา ข้อเสนอนี้เป็นคำอธิบายเพียงอย่างเดียวที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐรูปแบบใหม่ เช่น ทวารวดี พระนคร และอีศานปุระ ถูกก่อตั้งอยู่ลึกเข้าไปในภาคพื้นทวีปได้อย่างไรภายหลังการหายไปจากบันทึกจีนของรัฐฟูนัน ทั้งนี้เพราะหลักฐานเอกสารต่างๆ มีน้อยมากนั่นเอง

5.การก่อตัวและล่มสลายของอาณาจักรทวารวดี

ภาพพระพุทธรูปพบที่วัดพระเมรุ มีรูปแบบทางศิลปะที่นิยมในเมืองนครชัยศรีโบราณ จังหวัดนครปฐม มีภาพพระปฐมเจดีย์อยู่เบื้องหลัง

นักประวัติศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่าฟูนันเป็นรัฐแห่งแรก (ตามความจำกัดความที่ใช้ในปัจจุบัน) ในภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 2 ฟูนันครอบครองแม่น้ำโขงตอนล่างและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง รวมทั้งดินแดนทางตอนเหนือของเมืองเว้ในเวียตนาม และตอนเหนือของคาบสมุทรมาเลย์ ความมั่งคั่งของรัฐแห่งนี้เกิดขึ้นให้เห็นที่เมืองออกแก้ว เมืองท่าสำคัญของปากแม่น้ำโขง (ในประเทศกัมพูชา) พ่อค้าจากอินเดียและดินแดนอื่นทางตะวันตกเดินทางมายังฟูนันโดยอาศัยลมมรสุมในการแล่นเรือสินค้าข้ามมหาสมุทรอินเดียแล้วจอดพักที่อ่าวเมาะตะมะ (อยู่ในพม่าปัจจุบัน) จากนั้นจึงเดินทางข้ามบกมุ่งสู่อ่าวไทย ขณะนั้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 นักเดินเรือสามารถเรียนรู้เทคนิคในการข้ามช่องแคบมะละกามายังทะเลจีนใต้ได้แล้ว เส้นทางการเดินเรือสายใหม่นี้ทำให้พ่อค้าใช้เวลาในการเดินทางสั้นลง เมืองท่าสำคัญต่างๆ บนชายฝั่งอ่าวไทยจึงค่อยๆ หมดความสำคัญส่งผลให้ฟูนันลดความสำคัญลงและทำให้มีรัฐชายทะเลแห่งใหม่เกิดขึ้นแทนที่ตลอดทั้งภูมิภาค (ดูตาราง)
หลักฐานจากจดหมายเหตุจีน

จดหมายเหตุจีนกล่าวถึงการอุบัติขึ้นของรัฐชายทะเลหลายแห่งในภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6-7 (นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับที่ตั้งของสามรัฐแรก ขณะที่อีกสองรัฐหลัง คือ หลั่งยะสิว และโถ-โล-โป-ตี ยังคงมีการถกเถียงกัน)
* ศรีเกษตร : ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี (พม่าตอนกลาง) ปกครองโดยชาวปยู (pyou) พูดภาษาปยู และนับถือศาสนาพุทธ

* อีสานปุระ หรือ เจิน-ละ : ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและในกัมพูชา (นักวิชาการบางคนชี้ว่าตั้งอยู่บริเวณเมืองจำปาศักดิ์ในลาวภาคใต้ ปกครองโดยชาวเขมร นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธนิกายมหายาน จดหมายเหตุจีนกล่าวว่าตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของ โถ-โล-โป-ตี
* จามปา : ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคกลางของเวียตนาม พลเมืองชาวจามและมาเลย์นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธนิกายมหายาน จดหมายเหตุจีนระบุว่าตั้งอยู่ทางตะวันออกของอีสาน ปุระ
* หลั่ง-ยะ-สิว : นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง (ภาคกลางของประเทศไทย) มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครไชยศรี (คืออำเภอเมือง จังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน มิใช่อำเภอนครไชยศรี) พลเมืองพูดภาษามอญและเขมร นับถือศาสนาพุทธ จดหมายเหตุจีนชี้ว่าตั้งอยู่ทางตะวันออกของศรีเกษตร

* โถ-โล-โป-ตี หรือ ทวารวดี : เป็นชื่อซึ่งถูกพระภิกษุหวนจาง (Hsuan Tsang)หรือหยวนจาง (Xuanzang) กล่าวถึงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 7 นักประวัติศาสตร์บางคนชี้ว่าอาณาจักรทวารวดีตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก (ในภาคกลางของประเทศไทย) และมีเมืองหลวงคือละโว้ (อยู่ในจังหวัดลพบุรี) นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า เมืองหลวงของทวารวดีตั้งอยู่ที่นครปฐม พลเมืองพูดภาษามอญและเขมร จดหมายเหตุจีนระบุว่าตั้งอยู่ทางตะวันออกของหลั่งยะสิว

ภาพถ่ายทางอากาศของเมืองนครไชยศรี (นครปฐม)

ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ค.ศ. 1862-1943 : พระอนุชาต่างพระมารดาในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ของ ประเทศไทย) เป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่เสนอว่า “ทวารวดี” ซึ่งปรากฏอยู่ในนามเต็มของกรุงศรีอยุธยา (กรุงเทพทวารวดีกรุงศรีอยุธยา) เป็นชื่อเดียวกับ “โถ-โล-โป-ตี” ซึ่งถูกอ้างอิงในจดหมายเหตุจีน นักวิชาการกลุ่มเซเดส์-ดำรง (The Coedes – Damrong school) เชื่อว่า ทวารวดีเป็นรัฐสำคัญรัฐแรกในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันซึ่งมีอิทธิพลครอบคลุ่มหมดทั้งภูมิภาค

คำว่า “ทวาระ” ในภาษาสันสกฤตต่อท้ายด้วยคำว่า “วดี” อาจแปลว่า “การเปิดประตู” หรือ “ทางเข้า” คำว่า “ทวารกา (Dwaraka)” เป็นชื่อของราชธานีในตำนานของพระกฤษณะ เทพเจ้าในศาสนาฮินดูในประเทศไทยทวารวดีเป็นชื่อของอารยธรรมสำคัญ (ถ้าหากมิได้เป็นรัฐซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวาง) เป็นชื่อของศิลปะที่มีรูปแบบโดดเด่นระหว่างคริศต์ศตวรรษที่ 6-9 ในช่วงเวลาดังกล่าวพื้นฐานอารยธรรมทางศาสนาพุทธได้หยั่งรากลึกลงในใจกลางของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ประวัติศาสตร์ ขอบเขตทางภูมิศาสตร์ หรือแม้แต่ที่ตั้งราชธานีของทวารวดีในฐานะรัฐที่มีเมืองหลวงเดี่ยวกลับเป็นที่รู้จักกันน้อยมาก อย่างไรก็ดีสิ่งที่ทราบกันดีทั่งไปคือ ทวารวดีซึ่งเป็นอารยธรรมที่ใช้ ภาษามอญได้สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของรัฐซึ่งต่อมาคือ ประเทศไทยในปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง
นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า ราชธานีของอาณาจักรทวารวดีตั้งอยู่ที่เมืองละโว้ในเขตจังหวัดลพบุรี แต่นักวิชาการอื่นๆ แห่งสำนักเซเดส์ – ดำรง เชื่อว่าเมืองนครไชยศรี (อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม) เป็นราชธานีของทวารวดี ข้อสรุปดังกล่าววางอยู่บนรากฐานของการค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมากในจังหวัดนครปฐม โดยเฉพาะโบราณวัตถุที่พบบริเวณพระปฐมเจดีย์ วัดพระเมรุ เจดีย์จุลประโทน และเจดีย์วัดพระงาม โบราณวัตถุซึ่งค้นพบนั้นรวมถึงพระพุทธรูปหินปูนขนาดใหญ่ และธรรมจักรหินปูนมีกวางหมอบบนฐาน เชื่อว่าโบราณวัตถุเหล่านี้ถูกทำขึ้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 หรือคริสต์ศตวรรษที่ 7 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการเข้ามาในภูมิภาคนี้ของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท (ประมาณ 300 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ) ธรรมจักรศิลาชิ้นนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โบราณวัตถุรูปแบบคล้ายๆ กันนี้ยังถูกค้นพบในเมืองโบราณหลายแห่งของประเทศไทย อย่างไรก็ดี ขนาดและปริมาณของโบราณวัตถุที่พบในจังหวัดนครปฐม ทำให้นักวิชาการสำนักเซเดส์ – ดำรง สรุปว่าอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการเมืองของอาณาจักรทวารวดีได้ขยายจากเมืองนครปฐมออกไปยังที่ต่างๆ ตามลำดับ

รองศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดมชี้ว่าของสรุปของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ และสมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จำเป็นต้องถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพราะ ทวารวดีอาจมิใช่รัฐสำคัญแห่งแรกในบริเวณที่เป็นดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน จากจดหมายเหตุจีนซึ่งระบุว่าทางด้านตะวันออกของโถ-โล-โป-ตี (ทวารวดี) คือรัฐหลั่ง-ยะ-สิว (Lang-ya-hsiu) เป็นข้อชี้ชัดว่าทวารวดีไม่ได้เป็นรัฐที่มีอำนาจปกครองเบ็ดเสร็จในที่ราบลุ่มภาคกลางขณะนั้น รองศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดมยังเชื่อด้วยว่า ราชธานีของทวารวดีคือ ละโว้ หรือลพบุรี มิใช่นครไชยศรี (นครปฐม) ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เชื่อว่าหลั่ง-ยะ-สิวนั้นตั้งอยู่ไกลออกไปถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำปัตตานี เนื่องจากมีการค้นพบชุมชนโบราณหลายแห่งรวมทั้งเมืองลังกาสุกะ (Lankasuak) ด้วย อย่างน้อยที่สุด ข้อสันนิษฐานของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ดูเหมือนจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสียงที่คล้ายคลึงกันระหว่างลังกาสุกะกับ หลั่ง-ยะ-สิว

รองศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดมไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ และได้เสนอว่า หลั่ง-ยะ-สิวเป็นรัฐในลุ่มแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง มีราชธานีอยู่ที่นครไชยศรี (อำเภอเมืองนครปฐม ขณะนี้) นักวิชาการคนอื่นชี้ว่า ตำนานเกี่ยวกับนครไชยศรีบางเรืองเรียก นครไชยศรีว่า ศรีวิชัย ซึ่งเป็นรัฐชายทะเลมีอำนาจระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9 อาจจะมีการเชื่อมโยงทางการเมือง และรวมตัวกัน และนักเดินเรือชาวจีนได้เรียกชื่อรวมว่า หลั่ง-ยะ-สิว (เรายังไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนในการระบุที่ตั้งของศรีวิชัย นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า ราชธานีของศรีวิชัยตั้งอยู่ในเขตเมืองจัมบิ (Jambi) หรือ ปาเลมบัง (Palembang) ในประเทศอินโดนีเซีย นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าราชธานีของศรีวิชัยตั้งอยู่ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี)

ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงกันถึงการขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของทวารวดี และทวารวดีเป็นชื่อของอารยธรรม ชื่อของวัฒนธรรม หรือชื่อของรัฐนั้น ขอให้เรายึดหลักฐานบางอย่าง ซึ่งอาจจะทำให้มีความมั่นใจในการติดตามมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 1 ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทได้ตั้งมั่นอยู่ในชุมชนของที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลองเป็น ครั้งแรก ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท และศิลปะแบบทวารวดีได้ขยายตัวจากนครไชยศรีไปทางตะวันออกสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำป่าสัก แล้วแพร่เข้าสู่เมืองศรีเทพ (ตั้งอยู่ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์) และแพร่ลงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นสู่ชุมชนในที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีในที่สุด

นักเดินเรือก็มีส่วนในการนำคำสอนทางพุทธศาสนาและรูปแบบของศิลปะแบบทวารวดีไปเผยแพร่ในชุมชนโบราณทางภาคใต้ รวมทั้งสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี การค้าขายทางชายทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเจริญสูงสุดระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-9 รัฐชายทะเล อาทิ ศรีวิชัย มีการติดต่อกับเมืองท่าชายฝั่งของคาบสมุทรมาเลย์และชายฝั่งด้านใต้ของเกาะสุมาตราเป็นสำคัญ

ตามเส้นทางสายนี้ความเชื่อทางศาสนาแบบใหม่ ซึ่งเกิดจากการผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธนิกายมหายาน ศาสนาฮินดู และลัทธิตันตระ (Tantric mysticism) รวมทั้งศิลปะรูปแบบใหม่จาก เบงกอลและมคธ (ปกครองโดยราชวงศ์ปาละ) และศิลปะจากชวาได้เข้าไปถึงนครไชรศรี จากนั้นจึงพัฒนาและแพร่ออกไปสู่ที่ราบลุ่มภาคกลาง และภาคตำวันออกเฉียงเหนืออย่างทั่วถึง นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีบางคนระบุว่าบทบาทที่ศรีวิชัยมีต่อการแพร่กระจายของศาสนาใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจอธิบายได้ชัดเจนในฐานะของอิทธิพลที่ครอบงำอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 8

งานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม เสนอว่าทวารวดีมิได้ล่มสลายไปอย่างฉับพลันทันใดเนื่องจากการเติบโตขึ้นมาของศรีวิชัย อิทธิพลของวัฒนธรรมทวารวดีค่อยๆ จางหายไป เนื่องจากคนในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยอมรับความเชื่อในศาสนาใหม่ ซึ่งพ่อค้านำเข้ามาระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7-11 อันเป็นช่วงที่เรียกว่า สมัยศรีวิชัย


ภาพธรรมจักรศิลา


ภาพถ่ายทางอากาศเมืองนครปฐม

6.ศรีวิชัยอยู่ที่ไหน

ดังได้กล่าวในบทความตอนที่แล้วว่า การค้าขายทางทะเลใน S.E.A. มีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 8-9 นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า ช่วงนี้ศรีวิชัยเป็นรัฐที่มีอำนาจมากที่สุดใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถคุมเมืองท่าชายทะเลใหม่ๆ ตามชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมาเลย์ และฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตรา

นักประวัติศาสตร์อื่นๆ ตั้งข้อสงสัยว่า ศรีวิชัยเคยเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองแต่เพียง รัฐเดียวหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานโบราณคดีเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นขอบเขตทางภูมิศาตร์ และที่ตั้งราชธานีของรัฐนี้ หากเชื่อว่าศรีวิชัยเป็นรัฐที่มีเมืองหลวงเดี่ยว นักประวัติศาสตร์ซึ่งตั้งข้อสงสัยเช่นนี้ คือ รองศาสตราจารย์ดร.ธิดา สาระยา แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในงานวิจัยเรื่อง (ศรี) ทวารวดี (กรุงเทพ : เมืองโบราณ 1995) รองศาสตราจารย์ดร.ธิดา สาระยาได้อ้างอิงหลักฐานของนักเดินเรือชาวอาหรับหรือเปอร์เซีย เมื่อประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 8 หลักฐานชิ้นนี้กล่าวถึง รัฐร่ำรวยซึ่งปกครองโดยมหาราชาแห่งซาบัค (The Maharaja of Zabag) ผู้ทรงเป็น “ราชา ของหมู่เกาะแห่งทะเลบูรพา” นักวิชาการบางคนกล่าวว่า ซาบัค อาจเป็นอีกชื่อหนึ่งของศรีวิชัยก็ได้

รองศาสตราจารย์ดร.ธิดา สาระยา ชี้ให้เห็นถึงการขาดหลักฐานทางโบราณคดีมาสนับสนุน ทฤษฎีอันหลายหลายเกี่ยวกับศรีวิชัย และชี้ว่าควรมีการทำวิจัยเรื่องศรีวิชัยให้มากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ก่อนที่จะสามารถกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า ราชธานีของศรีวิชัยอยู่ที่ไหน หรือก่อนที่จะเสนอสมมุติฐาน เกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของเขตแดนของศรีวิชัย อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์ดร.ธิดา สาระยา กล่าวต่อไปว่า มีหลักฐานทางโบราณคดีอย่างพอเพียงที่จะระบุจุดกำเนิดของเมืองท่าขนาดใหญ่ตามชายฝั่งของอ่าวไทย รองศาสตราจารย์ดร.ธิดา สาระยา คิดว่าทั้งเมืองนครไชยศรี (คือเมืองโบราณในจังหวัดนครปฐม ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดก่อนสมัยอยุธยา ที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในประเทศไทย) และศรีวิชัย ได้ขึ้นมามีอำนาจโดดเด่นในช่วงเวลาเดียวกัน และเชื่อว่าศรีวิชัยได้ทำการค้าอย่างคึกคักกับหมู่เกาะและรัฐชายทะเลในมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้

ในปี ค.ศ. 1918 นักโบราณคดีที่มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศสได้เสนออย่างหนักแน่นว่าอาณาจักร ศรีวิชัยมีฐานะเป็นมหาอำนาจทางการเมืองใหญ่ ซึ่งควบคุมหมู่เกาะทั้งหมดทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรมาเลย์ และเมืองท่าบางแห่งที่อยู่ตามคาบสมุทร โดยมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ปาเล็มบัง ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตรา ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ มีหลักฐานสนับสนุนแนวคิด ดังนี้

· แผ่นหินมีจารึกพบในเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึงพระเจ้ากรุงศรีวิชัย ปีศักราชที่จารึกตรงกับ ค.ศ 775

· จดหมายเหตุจีนของพระภิกษุอี้ชิง (I-tsing) ระบุว่าระหว่างการเดินทางไปอินเดียเมื่อ ปี ค.ศ. 671 เขาได้แวะพักที่ ชิ-ลิ-โฟ-ชิ (Shih-li-fo-shi) เพื่อศึกษาพุทธศาสนาและไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เชื่อว่า ชิ-ลิ-โฟ-ชิ เป็นคำเรียกศรีวิชัยของพระภิกษุอี้ชิง

· มีศิลาจารึก 4 หลัก ภาษามลายูโบราณพบในสุมาตรา โดยพบใกล้ปาเล็มบัง 3 หลัก หลักที่ 4 พบในกะรังบาไฮ (Karang Brahi) ใกล้กับลุ่มน้ำบาตังฮารี (Batang Hari River) และตอนหลังนักวิชาการสำนักเซเดส์อ้างว่าได้พบศิลาจารึกหลักที่ 5 ที่โกตา กาปูร์ (Kota Kapur) บนเกาะบังกา (Bangka) ทางด้านตะวันออกของเกาะสุมาตรา

ตามความคิดของเซเดส์และผู้สนับสนุน ศิลาจารึกเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการมีตัวตนของอาณาจักรที่นับถือศาสนาพุทธและมีอำนาจอยู่ในปาเล็มปังอย่างน้อย 4 ปี (ค.ศ. 682-686) จากหลักฐานในศิลาจารึก อาณาจักรซึ่งเซเดส์เชื่อว่ามีนามว่าศรีวิชัยนี้เพิ่งจะไปทำสงครามชนะ รัฐจัมบิ (Jambi) และบังกา กำลังเตรียมยกทัพไปปราบชวา

ทฤษฎีของเซเดส์กระตุ้นให้นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีทั้วโลกหันมาทำวิจัยเกี่ยวกับศรีวิชัย นักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับทฤษฎีของเซเดส์จากการค้นพบศิลาจารึกและประติมากรรมเนื่องในศาสนาพุทธ อาทิ รูปพระโพธิสัตว์ ทั้งในรอบๆ เมืองปาเล็มบัง อันชี้ชัดว่าเมืองแห่งนี้เคยเป็นเมืองหลวงของศรีวิชัย
ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเป็นนักวิชาการสำคัญผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีของเซเดส์ ทรงชี้ว่า โบราณวัตถุเนื่องในพุทธศาสนาซึ่งพบในสุมาตรา ถูกสร้างขึ้นหลังยุครุ่งเรือง ของอาณาจักรศรีวิชัย (หลังคริสต์ศตวรรษที่ 8-9) นักวิชาการอื่นๆ ก็ตั้งคำถามว่าทำไมศิลาจารึกเป็นภาษามลายูแทนที่จะเป็นภาษาสันสกฤต อันเป็นภาษาที่ใช้ในศิลาจารึกสมัยศรีวิชัยทั้งหมดที่พบในประเทศไทย

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักวิชาการซึ่งไม่เชื่อความคิดของสำนักเซเดส์ยืนยันว่า ศรีวิชัยไม่มีราชธานีถาวรและศูนย์กลางอำนาจของศรีวิชัยจะย้ายจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของผู้ปกครองในรัฐ และในช่วงเวลาต่างๆ เมืองหลวสงของศรีวิชัยอาจตั้งอยู่บนเกาะแห่งเดียวหรือเกาะสองแห่งขึ้นไปในทะเลชวาบนคาบสมุทรมาเลย์ หรือแม่แต่ที่นครไชยศรี (คือเมืองนครปฐมปัจจุบัน) ก็ได้ ข้อสนับสนุนว่าคนนครไชยศรีเป็นราชธานีของศรีวิชัยมาจากหลักฐาน 2 ประการ คือ มีตำนานเกี่ยวกับชีวิตในเมืองนครไชยศรี เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างที่ศรีวิชัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด แม้ว่าหลักฐานสนับสนุนแต่ละทฤษฎีจะมีน้อยแต่นักวิชาการคนอื่นๆ ก็เชื่อว่า ราชธานีของศรีวิชัยอาจตั้งอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย

หลักฐานโบราณวัตถุซึ่งนักโบราณคดีค้นพบในภาคใต้พิสูจน์ให้เห็นว่าเคยมีชุมชนขนาดใหญ่หลายชุมชนตั้งอยู่ตามชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ชุมชนใหญ่ดังกล่าวได้แก่เมืองไชยา (อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี) เมืองนครศรีธรรมราช (อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช) เมืองสะทิงพระ (รอบทะเลสาบสงขลา บางส่วนของอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา) เมืองปัตตานี (ปัจจุบันคือจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา) ชุมชนทั้งหมดนี้มีการติดต่อกับเมืองและรัฐต่างๆ ทางชายฝั่งตะวันตก รวมทั้งชุมชนในแหล่งโบราณคดีอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เมืองในจังหวัดตรัง และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าจากหลักฐานที่พบค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน ถึงจะทำให้สามารถระบุตำแหน่งของเขตภูมิศาสตร์ของรัฐศรีวิชัยได้อย่างถูกต้องแต่ก็ควรถกเถียงเฉพาะประเด็นสำคัญเพียง 2 เรื่อง คือองค์ประกอบทางการเมือง และรูปแบบทางศิลปะจะเหมาะสมกว่า ทางด้านการเมืองนั้น นักวิชาการ กลุ่มนี้เสนอว่า ศรีวิชัยมิใช่ชื่อของอาณาจักรที่มีราชธานีตั้งมั่นอย่างถาวร หากแต่เป็นชื่อที่ใช้อธิบายลักษณะทางศิลปะและวัฒนธรรมของกลุ่ม เมืองและรัฐที่มีการปกครองตนเองในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ซึ่งรวมกันเป็นสหพันธ์รัฐเพื่อตักตวงผลประโยชน์จากการค้าขายทางทะเล นักวิชาการเชื่อว่า ศาสนาพุทธนิกายมหายานเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการรวมตัวของศรีวิชัย และทำให้เกิดพัฒนาการของรูปแบบศิลปะที่สำคัญ (ภายหลังเรียกว่าศิลปะศรีวิชัย) โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะคุปตะ (Gupta) ศิลปะหลังคุปตะ (Post-Gupta) และศิลปะปาเลเสนะ (Pala-Sena) ซึ่งนำเข้ามาจากอินเดียระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 4 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9

ในบทความคราวที่แล้ว ข้าพเจ้าชี้ว่า จากหลักฐานที่เรามีอยู่เพียงเล็กน้อย จะพบว่าศรีวิชัยมีอำนาจโดดเด่นขึ้นมาภายหลังจากอิทธิพลของทวารวดีถดถอยลง จึงอาจเป็นไปได้ว่าราชธานีของทั้งทวารวดีและศรีวิชัยนั้นตั้งอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีน ทำให้บางครั้งข้าพเจ้าอดสงสัยไม่ได้ว่า อารยธรรมทั้งสองนั้นอาจจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายใต้ชื่อ “ทวารวดี ศรีวิชัย” ก็ได้


แผนผังเมืองโบราณ


ภาพอวโลกิเตศวร

ชุมชนโบราณบนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทร

ไชยา : ตั้งอยู่ในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ่อค้าจากชุมชนแห่งนี้เปิดการค้าขายสองเส้นทางกับชุมชนทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรจากอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มุ่งสู่อำเภอ ห้วยยอด จังหวัดตรัง และล่องตามลำน้ำคีรีรัฐและคลองโศกข้ามเทือกเขาโศก และทางเหนือของแม่น้ำตะกั่วป่า มุ่งหน่างยังอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

ไชยายังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมืองและรัฐอื่นๆ ในที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา โบราณวัตถุสมัยทวารวดี รวมทั้งพระพุทธรูปจำนวนมากก็ถูกค้นพบในบริเวณนี้ แสดงว่าคนในเมือง ไชยานับถือศาสนาพุทธ

ครศรีธรรมราช : เมืองหลวงอาจตั้งอยู่ที่บริเวณตัวจังหวัด ชื่อเดียวกัน
หลักฐานใหม่ที่ขุดพบในช่วงทศวรรษที่ 1970 ชี้ว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 8-9 ชุมชนแห่งนี้ได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเพื่อนบ้าน โดยการยอมให้พ่อค้าของตนเดินทางไปยังชุมชนทางด้านชายฝั่งตะวันตก (ในกระบี่และตรัง) โดยอาศัยเส้นทางผ่านเขาหินปูน

ศิลาจารึกและหลักฐานเอกสารของนักเดินเรืออาหรับและจีนระบุชื่อชุมชนแห่งนี้ว่า ตามพรลิงค์ หรือ ตัง-หม่า-หลิง (Tang-ma-ling) และระบุพระนามของกษัตริย์แห่งนครศรีธรรมราชว่า ศรีธรรมาโศกราช หรือ ธรรมราชาจันทรภาณุ การค้นพบโบราณวัตถุ อาทิ ศิวลึงค์ (สัญลักษณืแห่งความอุดมสมบูรณ์แทนองค์พระศิวะเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่หนึ่งในสามของศาสนาฮินดู-ตรีมูรติ) ทำให้นักวิชาการเชื่อว่าชาวนครศรีธรรมราชเดิมทีเคยนับถือศาสนาฮินดู แล้วเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธในภายหลัง ต่อมานครศรีธรรมราชได้กลายเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย

เมืองสะทิงพระ : ท่าเรือสำคัญซึ่งควบคุมพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา ปัจจุบันอยู่ในอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุง ศูนย์กลางของชุมชนคือ “แผ่นดินบก” ปัจจุบันอยู่ในอำเภอระโนด อำเภอสะทิงพระ และอำเภอเมืองจังหวัดสงขลา นักโบราณคดีชี้ว่า ชาวสะทิงพระเดิมนับถือศาสนาฮินดูก่อนจะเปลี่ยนเป็นศาสนาพุทธเช่นกัน

เมืองปัตตานี : อยู่ในจังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา มีเมืองสำคัญ (อาจเป็นเมืองหลวง) คือ เมืองยะรัง (ปัจจุบันเป็นอำเภออยู่ในจังหวัดปัตตานี) เป็นเมืองท่าที่ตั้งอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี และตามที่ราบลุ่มแม่น้ำปัตตานี เดิมทีนับถือศาสนาฮินดูก่อนที่จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ชุมชนนี้มีการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับเมืองไทรบุรีในประเทศ มาเลย์เซียในปัจจุบัน

บรรณานุกรม(ชั่วคราว)
[1]Sujit Wongthes “ Once Upon a Time” Siam-Thai Millennium: One Thousand Eventful Years, published in Focus, The Nation; Aprill 19, 1999,p.c1.
[2] Sujit Wongthes, “Entrepot of Culture” Siam –Thai One Thousand Eventful Years Millennium, published in Focus, The Nation , May3, 1999,p.c1
[3] Michael Wright, ”A Question of Identity” Siam-Thai One Thousand Eventful Years Millennium, published in Focus, The Nation, May 31, 1999,p.c1.

1 ความคิดเห็น:

  1. พี่ค่ะแล้วเพราะอะไรที่นักประวัติศาสตร์จึงเรียกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเบ้าหลอมของวัฒนธรรมค่ะ

    ตอบลบ