โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ที่ราบภาคกลางของประเทศไทยมีพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในพื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเองก็ปรากฏร่องรอยการแพร่กระจายของโบราณวัตถุและโบราณสถานที่สามารถกำหนดอายุได้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๑๖–๑๗ เป็นต้นมา พระพุทธรูปพระประธานขนาดใหญ่ของวิหารหลวงวัดพนัญเชิงนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาก็มีหลักฐานยืนยันว่า สถาปนาขึ้นเมื่อพ.ศ.๑๘๖๗ บ่งชี้ให้เห็นรากฐานของพัฒนาการทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา จนถึงพ.ศ.๑๘๙๓ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาจึงบันทึกว่า
“ศุภมัสดุ ศักราช๗๑๒ ปีขาล โทศก (พ.ศ.๑๘๙๓) วันศุกร์ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๕ เพลา
๓ นาฬิกา ๙ บาท สถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา ชีพ่อพราหมณ์ให้ฤกษ์ตั้งพิธีกลบ
บาตร ได้สังข์ทักษิณาวัฏใต้ต้นหมันใบหนึ่ง แล้วสร้างพระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาทองค์หนึ่ง สร้างพระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาทองค์หนึ่ง สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาทองค์หนึ่ง แล้วพระเจ้าอู่ทองเสด็จเข้ามาเสวยราชสมบัติ พระชนม์ได้ ๓๗ พรรษา ชีพ่อพราหมณ์ถวานพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว...”[1]
กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา วัฒนธรรมและวิทยาการนานถึง ๔๑๗ ปี มีราชวงศ์ต่างๆปกครองทั้งหมด ๕ ราชวงศ์ได้แก่ ราชวงศ์อู่ทอง (พ.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๕๒) ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. ๑๙๕๒ -๒๑๑๒) ราชวงศ์สุโขทัย (พ.ศ. ๒๑๑๒–๒๑๗๒) ราชวงศ์ปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๒–๒๒๓๑)และราชวงศ์บ้านพลูหลวง(พ.ศ.๒๒๓๒– ๒๓๑๐)และมีพระมหากษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น ๓๔ พระองค์ ในปีพ.ศ.๒๓๑๐กรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าปิดล้อมโจมตีและเผาทำลายจนสูญสิ้นฐานะศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองของสยามประเทศไปโดยสิ้นเชิง
สภาพที่ตั้งอันอุดมสมบูรณ์มีแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และมีลำคลองสาขาหลายสายไหลเชื่อมกันทั้งในและนอกกำแพงเมือง เป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการอุปโภค บริโภค การคมนาคม การค้าขายและการเกษตรกรรม ทั้งยังใช้เป็นแนวป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรูได้เป็นอย่างดี ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(พ.ศ.๒๐๙๑–๒๑๑๑) มีการขยายกำแพงเมืองและขุดทางน้ำเชื่อมกันระหว่างแม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำป่าสักเพื่อดัดแปลงให้เป็นคูเมือง กรุงศรีอยุธยาจึงมีสภาพเป็นเกาะคล้ายสัณฐานของเรือสำเภา หลักฐานประวัติศาสตร์กล่าวถึงกำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยามีความยาววัดรวมกันทั้งสิ้น ๑๒ กิโลเมตร ป้อมปราการ ประตูเมือง ถนนปูอิฐขนานไปกับลำคลองม มีสะพานอิฐ สะพานศิลาหรือสะพานไม้ทอดเชื่อม[2] จึงได้รับการขนานนามจากพ่อค้าและนักเดินทางชาวตะวันตกว่า “เวนิสแห่งตะวันออก”
ภายในตัวเมืองแบ่งเขตที่อยู่อาศัยออกเป็น เขตพระราชวังหลวงติดกำแพงเมืองด้านเหนือ เขตพระราชวังหน้าติดกำแพงเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เขตพระราชวังหลังติดกำแพงเมืองด้านตะวันตก และในกำแพงเมืองยังมีเขตที่อยู่อาศัยของเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง ราษฎร พ่อค้าไทย จีน อินเดีย เปอร์เซีย ฯลฯ เป็นต้น มีที่อยู่อาศัยของชาวมอญ ลาว จีน ญวน ญี่ปุ่น โปรตุเกส อังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส มักกะสัน(มากัสซาร์)และอื่นๆนอกกำแพงเมืองทางทิศใต้อย่างเป็นสัดส่วน ชาวจีนส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในย่านวัดพนัญเชิงขึ้นไปจนถึงปากคลองวัดดุสิตและในเกาะเมืองด้านใต้ตรงข้ามวัดพนัญเชิงและย่านป้อมเพชร ชาวอินเดียอาศัยนอกเกาะเมืองด้านใต้ ชาวอังกฤษและฮอลันดาอาศัยอยู่บริเวณย่านด้านใต้ของวัดพนัญเชิงลงมา ชาวโปรตุเกสอยู่บริเวณตำบลบ้านดินด้านใต้วัดบางกระจะลงมา ชาวญี่ปุ่นตั้งค่ายอยู่ฝั่งตรงกันข้ามเยื้องกับหมู่บ้านโปรตุเกส
กรุงศรีอยุธยามีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของพระราชอำนาจสูงสุด พื้นฐานของพระราชอำนาจนี้มาจากขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธปรากฏอยู่ในกฎมนเทียรบาล อันเป็นเครื่องมือกำหนดแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีต่อพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นสมมติเทพซึ่งจะต้องมีการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก
กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีศูนย์กลางทางการปกครองแวดล้อมด้วยเมืองเล็กโดยรอบปริมณฑลเรียกว่า “หัวเมืองชั้นใน” ถัดออกไป คือ เมืองลูกหลวงหรือเมืองหลานหลวงเรียกว่า “หัวเมืองชั้นนอกหรือเมืองพระยามหานคร”และเมืองประเทศราช ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(พ.ศ.๑๙๙๑–๒๐๑)มีการปฏิรูปการปกครองและยกเลิกการแต่งตั้งพระราชวงศ์ไปปกครองหัวเมืองสำคัญ(เมืองพระยามหานคร ) เนื่องจากกรุงศรีอยุธยามีอาณาเขตเพิ่มมาก จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเกิดปัญหาการสะสมกำลังพลเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์
การปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีเหตุผลหลัก ๓ ประการ คือ การขยายอำนาจส่วนกลางออกควบคุมหัวเมืองต่างๆเพื่อรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง การแบ่งแยกหน้าที่ของฝ่ายพลเรือนและทหารให้ชัดเจน และการถ่วงดุลย์อำนาจของขุนนางฝ่ายต่างๆมิให้มีโอกาสร่วมมือกันล้มราชบัลลังก์[3] จึงเกิดทำให้มีการกำหนดตำแหน่งสำคัญทางการเมือง คือ สมุหพระกลาโหม เป็นอัครมหาเสนาบดีผู้บังคับบัญชากรมกลาโหม สมุหนายก เป็นอัครมหาเสนาบดีผู้บังคับบัญชากรมมหาดไทยดูแลกำกับขุนนางและไพร่ฝ่ายพลเรือนทั้งในราชธานีและหัวเมืองต่างๆทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งกรมจตุสดมภ์ทั้ง ๔ ได้แก่ เสนาบดีเวียง วัง คลังและนาอันเป็นหัวใจของการปกครองแบบจตุสดมภ์ [4]
สังคมอยุธยาเป็นสังคมของชนชั้น แบ่งเป็นชนชั้นผู้ปกครอง ชนชั้นที่อยู่ใต้ปกครอง และพระสงฆ์ ชนชั้นผู้ปกครอง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนางและข้าราชการ ส่วนชนชั้นที่อยู่ใต้ปกครอง ได้แก่ ไพร่และทาส สำหรับพระสงฆ์นั้นเป็นชนชั้นพิเศษที่แยกออกมาจากชนชั้นปกครองและชนชั้นที่ถูกปกครอง
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวว่า การจัดระบบควบคุมกำลังคนหรือระบบไพร่นี้เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่๒ กล่าวคือ
“ศักราช ๘๘๐ ขาลศก(พ.ศ.๒๐๖๑) ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดี สร้างพระศรีสรรเพชญ์
เสวยราชสมบัติ แรกตำราพิชัยสงครามและแรก(ทำสารบาญ)ชี พระราชสัมฤทธิ์ทุกเมือง“[5]
ระบบไพร่แม้จะเป็นรูปแบบการควบคุมกำลังคนที่มีประสิทธิภาพและสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาหลายร้อยปี แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหานานาต่างๆ อาทิ ปัญหาไพร่หนีนาย มูลนายกดขี่ไพร่ ไพร่หลวงหนีงานหนักแล้วบวชเป็นพระ ไพร่หลวงติดสินบนมูลนายเพื่อให้รับตนเป็นไพร่สม มูลนายส้องสุมไพร่สมเพื่อชิงอำนาจทางการเมือง ทางการจึงออกกฎหมายห้ามมูลนายใช้งานไพร่หลวงดุจทาส กฎหมายห้ามเบียดบังไพร่หลวงเป็นไพร่สม การออกระเบียบให้ตรวจนับจำนวนไพร่ในสังกัดให้ถูกต้องตามบัญชีหางว่าว เป็นต้น
กรุงศรีอยุธยามีการติดต่อค้าขายทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางเกษตรกรรม รวมถึงสินค้าประเภทของป่า และเป็นแหล่งระบายสินค้าทั้งสินค้าเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ ผ้าและของฟุ่มเฟือยจากจีน อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกและยุโรป ฯลฯ สินค้าจากต่างประเทศมักมีราคาแพง ลูกค้าจึงเป็นชนชั้นปกครองและคหบดี
ระยะแรกการค้าขายในกรุงศรีอยุธยาเป็นแบบเสรี เมื่อการค้ากับตะวันตกขยายตัวมากขึ้น จึงมีการตั้งกรมพระคลังสินค้า เพื่อดำเนินการผูกขาดทางการค้า ควบคุมสินค้าเข้าและสินค้าออก รวมทั้งกำหนดราคาสินค้าทุกชนิดด้วย สินค้าออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว หมาก พลู ฝ้าย มะพร้าว กระวาน กานพลู พริกไท น้ำตาล เกลือ สินค้าป่าที่สำคัญคือ ไม้ กฤษณา อำพัน ฝาง งาช้าง หรดาล นอระมาด ช้าง ม้า นกยูง นกแก้วห้าสี แร่ทองคำ เงิน พลอย เครื่องสังคโลกและเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น สินค้าเข้าสำคัญ ได้แก่ ผ้า แพรพรรณ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยญี่ปุ่น มีด ดาบ หอก เกราะ ทองแดง สารส้ม และเครื่องรัก เป็นต้น [6]
การเข้ามาของชาวต่างชาติทั้งจากเอเชียและยุโรปทำให้กรุงศรีอยุธยาสามารถเลือกสรร เรียนรู้และหล่อมหลอมศิลปวิทยาการจากต่างชาติ อาทิ การจ้างผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือสำเภาชาวจีน การจ้างนักบัญชีและตัวแทนทางการค้าชาวอาหรับ การเรียนรู้ตำราพิชัยสงครามและวิทยาการปืนใหญ่จากชาวโปรตุเกส การรับรูปแบบศิลปวัฒนธรรม การเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสเพื่อใช้เป็นภาษากลางในการติดต่อกับต่างชาคิ การจ้างชาวโปรตุเกสเป็นล่ามในราชสำนัก[7] เป็นต้น
[1] กรมศิลปากร , พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา, (กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์, ๒๕๑๖), ๑, ๑๑๑.
[2] จารุณี อินเฉิดฉาย “กรุงศรีอยุธยา, ” พัฒนาการอารยธรรมไทย , (กรุงเทพ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๓๖), ๒๐๕–๒๐๘.
[3] ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล, เรื่องเดียวกัน, ๒๗๕–๒๗๘.
[4] เรื่องเดียวกัน, ๒๗๗–๒๗๘.
[5] กรมศิลปากร “พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์” คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัดและพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, ๔๕๓.
[6] จารุณี อินเฉิดฉาย, เรื่องเดียวกัน , ๒๑๒.
[7] พิทยะ ศรีวัฒนสาร, “ชุมชนชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๐๕๙–๒๓๑๐“ ( วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑), ๑๓๘–๑๕๖, ๒๔๔–๒๖๐. และ ๒๖๑–๒๖๗.
ที่ราบภาคกลางของประเทศไทยมีพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในพื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเองก็ปรากฏร่องรอยการแพร่กระจายของโบราณวัตถุและโบราณสถานที่สามารถกำหนดอายุได้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๑๖–๑๗ เป็นต้นมา พระพุทธรูปพระประธานขนาดใหญ่ของวิหารหลวงวัดพนัญเชิงนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาก็มีหลักฐานยืนยันว่า สถาปนาขึ้นเมื่อพ.ศ.๑๘๖๗ บ่งชี้ให้เห็นรากฐานของพัฒนาการทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา จนถึงพ.ศ.๑๘๙๓ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาจึงบันทึกว่า
“ศุภมัสดุ ศักราช๗๑๒ ปีขาล โทศก (พ.ศ.๑๘๙๓) วันศุกร์ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๕ เพลา
๓ นาฬิกา ๙ บาท สถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา ชีพ่อพราหมณ์ให้ฤกษ์ตั้งพิธีกลบ
บาตร ได้สังข์ทักษิณาวัฏใต้ต้นหมันใบหนึ่ง แล้วสร้างพระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาทองค์หนึ่ง สร้างพระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาทองค์หนึ่ง สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาทองค์หนึ่ง แล้วพระเจ้าอู่ทองเสด็จเข้ามาเสวยราชสมบัติ พระชนม์ได้ ๓๗ พรรษา ชีพ่อพราหมณ์ถวานพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว...”[1]
กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา วัฒนธรรมและวิทยาการนานถึง ๔๑๗ ปี มีราชวงศ์ต่างๆปกครองทั้งหมด ๕ ราชวงศ์ได้แก่ ราชวงศ์อู่ทอง (พ.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๕๒) ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. ๑๙๕๒ -๒๑๑๒) ราชวงศ์สุโขทัย (พ.ศ. ๒๑๑๒–๒๑๗๒) ราชวงศ์ปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๒–๒๒๓๑)และราชวงศ์บ้านพลูหลวง(พ.ศ.๒๒๓๒– ๒๓๑๐)และมีพระมหากษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น ๓๔ พระองค์ ในปีพ.ศ.๒๓๑๐กรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าปิดล้อมโจมตีและเผาทำลายจนสูญสิ้นฐานะศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองของสยามประเทศไปโดยสิ้นเชิง
สภาพที่ตั้งอันอุดมสมบูรณ์มีแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และมีลำคลองสาขาหลายสายไหลเชื่อมกันทั้งในและนอกกำแพงเมือง เป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการอุปโภค บริโภค การคมนาคม การค้าขายและการเกษตรกรรม ทั้งยังใช้เป็นแนวป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรูได้เป็นอย่างดี ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(พ.ศ.๒๐๙๑–๒๑๑๑) มีการขยายกำแพงเมืองและขุดทางน้ำเชื่อมกันระหว่างแม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำป่าสักเพื่อดัดแปลงให้เป็นคูเมือง กรุงศรีอยุธยาจึงมีสภาพเป็นเกาะคล้ายสัณฐานของเรือสำเภา หลักฐานประวัติศาสตร์กล่าวถึงกำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยามีความยาววัดรวมกันทั้งสิ้น ๑๒ กิโลเมตร ป้อมปราการ ประตูเมือง ถนนปูอิฐขนานไปกับลำคลองม มีสะพานอิฐ สะพานศิลาหรือสะพานไม้ทอดเชื่อม[2] จึงได้รับการขนานนามจากพ่อค้าและนักเดินทางชาวตะวันตกว่า “เวนิสแห่งตะวันออก”
ภายในตัวเมืองแบ่งเขตที่อยู่อาศัยออกเป็น เขตพระราชวังหลวงติดกำแพงเมืองด้านเหนือ เขตพระราชวังหน้าติดกำแพงเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เขตพระราชวังหลังติดกำแพงเมืองด้านตะวันตก และในกำแพงเมืองยังมีเขตที่อยู่อาศัยของเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง ราษฎร พ่อค้าไทย จีน อินเดีย เปอร์เซีย ฯลฯ เป็นต้น มีที่อยู่อาศัยของชาวมอญ ลาว จีน ญวน ญี่ปุ่น โปรตุเกส อังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส มักกะสัน(มากัสซาร์)และอื่นๆนอกกำแพงเมืองทางทิศใต้อย่างเป็นสัดส่วน ชาวจีนส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในย่านวัดพนัญเชิงขึ้นไปจนถึงปากคลองวัดดุสิตและในเกาะเมืองด้านใต้ตรงข้ามวัดพนัญเชิงและย่านป้อมเพชร ชาวอินเดียอาศัยนอกเกาะเมืองด้านใต้ ชาวอังกฤษและฮอลันดาอาศัยอยู่บริเวณย่านด้านใต้ของวัดพนัญเชิงลงมา ชาวโปรตุเกสอยู่บริเวณตำบลบ้านดินด้านใต้วัดบางกระจะลงมา ชาวญี่ปุ่นตั้งค่ายอยู่ฝั่งตรงกันข้ามเยื้องกับหมู่บ้านโปรตุเกส
กรุงศรีอยุธยามีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของพระราชอำนาจสูงสุด พื้นฐานของพระราชอำนาจนี้มาจากขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธปรากฏอยู่ในกฎมนเทียรบาล อันเป็นเครื่องมือกำหนดแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีต่อพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นสมมติเทพซึ่งจะต้องมีการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก
กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีศูนย์กลางทางการปกครองแวดล้อมด้วยเมืองเล็กโดยรอบปริมณฑลเรียกว่า “หัวเมืองชั้นใน” ถัดออกไป คือ เมืองลูกหลวงหรือเมืองหลานหลวงเรียกว่า “หัวเมืองชั้นนอกหรือเมืองพระยามหานคร”และเมืองประเทศราช ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(พ.ศ.๑๙๙๑–๒๐๑)มีการปฏิรูปการปกครองและยกเลิกการแต่งตั้งพระราชวงศ์ไปปกครองหัวเมืองสำคัญ(เมืองพระยามหานคร ) เนื่องจากกรุงศรีอยุธยามีอาณาเขตเพิ่มมาก จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเกิดปัญหาการสะสมกำลังพลเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์
การปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีเหตุผลหลัก ๓ ประการ คือ การขยายอำนาจส่วนกลางออกควบคุมหัวเมืองต่างๆเพื่อรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง การแบ่งแยกหน้าที่ของฝ่ายพลเรือนและทหารให้ชัดเจน และการถ่วงดุลย์อำนาจของขุนนางฝ่ายต่างๆมิให้มีโอกาสร่วมมือกันล้มราชบัลลังก์[3] จึงเกิดทำให้มีการกำหนดตำแหน่งสำคัญทางการเมือง คือ สมุหพระกลาโหม เป็นอัครมหาเสนาบดีผู้บังคับบัญชากรมกลาโหม สมุหนายก เป็นอัครมหาเสนาบดีผู้บังคับบัญชากรมมหาดไทยดูแลกำกับขุนนางและไพร่ฝ่ายพลเรือนทั้งในราชธานีและหัวเมืองต่างๆทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งกรมจตุสดมภ์ทั้ง ๔ ได้แก่ เสนาบดีเวียง วัง คลังและนาอันเป็นหัวใจของการปกครองแบบจตุสดมภ์ [4]
สังคมอยุธยาเป็นสังคมของชนชั้น แบ่งเป็นชนชั้นผู้ปกครอง ชนชั้นที่อยู่ใต้ปกครอง และพระสงฆ์ ชนชั้นผู้ปกครอง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนางและข้าราชการ ส่วนชนชั้นที่อยู่ใต้ปกครอง ได้แก่ ไพร่และทาส สำหรับพระสงฆ์นั้นเป็นชนชั้นพิเศษที่แยกออกมาจากชนชั้นปกครองและชนชั้นที่ถูกปกครอง
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวว่า การจัดระบบควบคุมกำลังคนหรือระบบไพร่นี้เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่๒ กล่าวคือ
“ศักราช ๘๘๐ ขาลศก(พ.ศ.๒๐๖๑) ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดี สร้างพระศรีสรรเพชญ์
เสวยราชสมบัติ แรกตำราพิชัยสงครามและแรก(ทำสารบาญ)ชี พระราชสัมฤทธิ์ทุกเมือง“[5]
ระบบไพร่แม้จะเป็นรูปแบบการควบคุมกำลังคนที่มีประสิทธิภาพและสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาหลายร้อยปี แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหานานาต่างๆ อาทิ ปัญหาไพร่หนีนาย มูลนายกดขี่ไพร่ ไพร่หลวงหนีงานหนักแล้วบวชเป็นพระ ไพร่หลวงติดสินบนมูลนายเพื่อให้รับตนเป็นไพร่สม มูลนายส้องสุมไพร่สมเพื่อชิงอำนาจทางการเมือง ทางการจึงออกกฎหมายห้ามมูลนายใช้งานไพร่หลวงดุจทาส กฎหมายห้ามเบียดบังไพร่หลวงเป็นไพร่สม การออกระเบียบให้ตรวจนับจำนวนไพร่ในสังกัดให้ถูกต้องตามบัญชีหางว่าว เป็นต้น
กรุงศรีอยุธยามีการติดต่อค้าขายทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางเกษตรกรรม รวมถึงสินค้าประเภทของป่า และเป็นแหล่งระบายสินค้าทั้งสินค้าเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ ผ้าและของฟุ่มเฟือยจากจีน อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกและยุโรป ฯลฯ สินค้าจากต่างประเทศมักมีราคาแพง ลูกค้าจึงเป็นชนชั้นปกครองและคหบดี
ระยะแรกการค้าขายในกรุงศรีอยุธยาเป็นแบบเสรี เมื่อการค้ากับตะวันตกขยายตัวมากขึ้น จึงมีการตั้งกรมพระคลังสินค้า เพื่อดำเนินการผูกขาดทางการค้า ควบคุมสินค้าเข้าและสินค้าออก รวมทั้งกำหนดราคาสินค้าทุกชนิดด้วย สินค้าออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว หมาก พลู ฝ้าย มะพร้าว กระวาน กานพลู พริกไท น้ำตาล เกลือ สินค้าป่าที่สำคัญคือ ไม้ กฤษณา อำพัน ฝาง งาช้าง หรดาล นอระมาด ช้าง ม้า นกยูง นกแก้วห้าสี แร่ทองคำ เงิน พลอย เครื่องสังคโลกและเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น สินค้าเข้าสำคัญ ได้แก่ ผ้า แพรพรรณ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยญี่ปุ่น มีด ดาบ หอก เกราะ ทองแดง สารส้ม และเครื่องรัก เป็นต้น [6]
การเข้ามาของชาวต่างชาติทั้งจากเอเชียและยุโรปทำให้กรุงศรีอยุธยาสามารถเลือกสรร เรียนรู้และหล่อมหลอมศิลปวิทยาการจากต่างชาติ อาทิ การจ้างผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือสำเภาชาวจีน การจ้างนักบัญชีและตัวแทนทางการค้าชาวอาหรับ การเรียนรู้ตำราพิชัยสงครามและวิทยาการปืนใหญ่จากชาวโปรตุเกส การรับรูปแบบศิลปวัฒนธรรม การเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสเพื่อใช้เป็นภาษากลางในการติดต่อกับต่างชาคิ การจ้างชาวโปรตุเกสเป็นล่ามในราชสำนัก[7] เป็นต้น
[1] กรมศิลปากร , พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา, (กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์, ๒๕๑๖), ๑, ๑๑๑.
[2] จารุณี อินเฉิดฉาย “กรุงศรีอยุธยา, ” พัฒนาการอารยธรรมไทย , (กรุงเทพ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๓๖), ๒๐๕–๒๐๘.
[3] ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล, เรื่องเดียวกัน, ๒๗๕–๒๗๘.
[4] เรื่องเดียวกัน, ๒๗๗–๒๗๘.
[5] กรมศิลปากร “พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์” คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัดและพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, ๔๕๓.
[6] จารุณี อินเฉิดฉาย, เรื่องเดียวกัน , ๒๑๒.
[7] พิทยะ ศรีวัฒนสาร, “ชุมชนชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๐๕๙–๒๓๑๐“ ( วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑), ๑๓๘–๑๕๖, ๒๔๔–๒๖๐. และ ๒๖๑–๒๖๗.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น