จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สำเนียงคนกรุงเทพฯเป็นสำเนียงชาวเมืองกรุงเก่ามิใช่สำเนียงจีนแต้จิ่ว

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ผู้รู้เคยเสนอไม่ต่ำกว่า 25 ปี มาแล้วว่า สำเนียงกรุงเทพฯเป็นสำเนียงแต้จิ๋ว และนักร้องเพลงเพื่อชีวิตเคยระบุว่า สำเนียงสุพรรณบุรีเป็นสำเนียงคนเมืองหลวงในอดีตเช่นกัน และสืบเนื่องจากการสัมมนาเรื่อง “ย้อนรอยอารยธรรมสยาม-โลกตะวันตก” ระหว่างวันพฤหัสบดีที่15-ศุกร์ที่16 กรกฎาคม 2553 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา โดยสถาบันอยุธยาศึกษากับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย อาจารย์ผู้ใหญ่เสนอว่าสำเนียงชาวอยุธยาปัจจุบันเป็นสำเนียงคนเมืองหลวงในอดีตสะท้อนจากหลักฐานเสียงทำนองการพากย์โขน








ในช่วงท้ายของการสัมมนาผู้เขียนแย้งว่า สำเนียงกรุงเทพฯเป็นสำเนียงแบบชาวเมืองกรุงเก่า(ชาวเมืองพระนครอยุธยา) อาทิ ขุนนาง เชื้อพระวงศ์ คหบดีและชาวเมืองที่เหลือรอดมาจากการถูกกวาดต้อนไปยังพม่า ขณะที่พื้นที่ภายในกำแพงเมืองเดิมถูกทิ้งร้างอยู่จนถึงสมัยรัชกาลที่3 (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)และคนอยุธยาที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่หรือกลับมาอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวนา ชาวชนบทและชาวมุสลิมจำนวนหนึ่งทำให้สำเนียงชาวอยุธยาปัจจุบันเป็นสำเนียงดั้งเดิมของตามแบบของคนชนบทที่สืบทอดต่อกันมาหลังเสียกรุง

ภาพประกอบจากหนังสือแบบหัดอ่าน ก ข ก กา ของพระยาผดุงวิทยาเสริม(กำจัด พลางกูร) ขอขอบคุณยิ่ง



ภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือบริเวณแนวกำแพงเมืองด้านในจุดใกล้เคียงกันกับที่ตาโป๊ถูกม้าเตะขาโปถัดจากป้อมมหากาฬ


อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านยืนยันอธิบายว่า ผู้ดีและเชื้อพระวงศ์ชาวกรุงเก่าถูกกวาดต้อนไปพม่าจนหมดสิ้นแล้ว และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว การอพยพเข้ามาของคนจีนแต้จิ๋วซึ่งมีอัตราสูงมากหลังสมัยอยุธยา ทำให้สำเนียงคนกรุงเทพฯปัจจุบันเป็นสำเนียงแบบจีนแต้จิ๋ว และอาจารย์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีหลักฐานใหม่ๆมานำเสนอในโอกาสต่อไปก็พร้อมที่จะรับฟัง

โจทย์นี้ติดตรึงอยู่ในใจผู้เขียนมาโดยตลอด จึงครุ่นคิดแก้ปัญหาอยู่เป็นเวลานาน เนื่องจากเห็นว่า แม้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว แต่การที่โครงสร้างทางสังคมไทยมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ทำให้พระองค์ทรงได้รับการศึกษาอย่างไทย ทรงบวชอย่างชาวพุทธ ทรงศึกษาตำราพิชัยสงครามของไทยและทรงคลุกคลีกับราชสำนักสยามมากกว่าจะคลุกคลีกับพ่อค้าจีน หรือคนจีนอพยพหรือทรงศึกษาตำราพิชัยสงครามซุนหวู่พากย์จีน

การที่ผู้เขียนเห็นว่า สำเนียงกรุงเทพฯเป็นสำเนียง "ชาวเมือง" พระนครศรีอยุธยา ก็เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนว่า หลังสงครามกอบกู้อิสรภาพของสมเด็จพระเจ้าตากสินในปีพ.ศ.2311 เจ้านายส่วนหนึ่งที่ทรงหลบอยู่ในเมืองลพบุรีและบริวารที่ตามเสด็จ รวมขุนนางเก่าจากราชธานี(ยกกระบัตร)ที่รับราชการอยู่ตามหัวเมืองและบริวารต่างก็ทยอยกลับเข้ามารับราชการที่กรุงธนบุรี บุคคลเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของโครงสร้างทางการเมืองและวัฒนธรรมสยามที่ทำให้มีการสืบทอดสำเนียงภาษาของผู้ดีชาวกรุงเก่าเอาไว้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง เจ้าไปทางไหน ผู้นำไปทางไหน ผู้ดีนิยมอย่างไร ผู้ใหญ่ปลูกฝังสั่งสอนแบบไหน คนไทยในอดีตก็มักพร้อมที่จะเชื่อฟังเจริญรอยตาม และคงจะไม่เอาแบบอย่างของกรรมกรกุลี พ่อค้าอพยพมาใช้เป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตโดยไม่จำเป็นอย่างแน่นอน

ขณะที่คนจีนซึ่งอพยพเข้ามายังสยามเมื่อจะค้าขายกับชาวสยาม ก็ต้องพยายามสร้างความกลมกลืนให้เกิดขึ้นกับคนไทยให้มากที่สุด โดยหัดพูดไทย มีเมียไทยหรือคนพื้นเมือง มีลูกก็ให้เรียนหนังสือไทย เพื่อความก้าวหน้าทางด้านการค้าและการเมือง ดังนั้นในวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านพื้นเมืองของไทยจริงๆจึงมักจะมีเรื่องตลกพื้นบ้านล้อเลียนคนจีนพูดไทยไม่ชัด มีภาพกากแบบวิจิตรกามา(Erotic Art)ล้อเลียนความกระหายของหนุ่มจีนที่จากเมียมาค้าขายในจิตรกรรมเวสสันดรชาดก เบื้องขวาพระประธานที่วัดสุวรรณดารารามในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา(ด้านล่าง) เป็นต้น


ชาวสยามน่าจะมีน้อยคนเรียนภาษาจีน ล่ามภาษาจีนจึงน่าจะเป็นลูกหลานจีนที่เกิดในชุมชนจีนในสยามเช่นเดียวกับล่ามโปรตุเกสหรือล่ามฝรั่งเศส ก็มักจะเป็นคนในหมู่บ้านโปรตุเกสเป็นส่วนใหญ่ หากจะมีคำจีนปะปนอยู่ในภาษาไทยบ้างก็ไม่น่าจะส่งผลให้สำเนียงไทยแปรเปลี่ยนไปคล้ายกับสำเนียงแต้จิ๋ว ภาษาเวียดนามซึ่งเป็นภาษาคำโดดแบบภาษาไทย กลับมีโทนเสียงที่คล้ายกับภาษาไทยมากกว่าภาษาจีนเสียอีก สำเนียงแต้จิ๋วจึงไม่น่าจะแทรกซึมเข้ามามีอิทธิพลต่อภาษาในชีวิตประจำวันของชาวกรุงเทพฯจนถึงกับจะกล่าวได้เป็นสำเนียงแต้จิ๋วไปเสียทีเดียวกระนั้น

ผู้เขียนเห็นว่า เสียงพากย์โขนเป็นศิลปะการแสดงที่ไม่ใช่สำเนียงการพูดในชีวิตประจำวันของชาวเมืองพระนครศรีอยุธยา การพากย์โขนเป็นรูปแบบอย่างหนึ่งของศิลปะไทยในอดีตซึ่งมีอยู่อย่างหลากหลาย อาทิ การร้องลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านต่างๆ การแหล่ การอ่านบทประพันธ์โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เสภา และสักวา เป็นต้น ถ้าสำเนียงการสนทนาของชาวเมืองพระนครศรีอยุธยามีท่วงทำนองแบบเสียงพากย์โขน หรือเสียงทำนองแหล่ หรือเสียงทำนองเสภา เพลงยาว เพลงฉ่อย อีแซว ฯลฯ ความพิเศษของศิลปะดังกล่าวก็อาจแทบจะไม่หลงเหลือให้เห็นกันอีกต่อไป กลายเป็นท่วงทำนองที่ “แสนจะธรรมดาในชีวิตประจำวัน” และจะใช้จีบ ใช้ชม ใช้ด่า หรือใช้กระแหนะกระแหนผู้คนอย่างไรก็ไม่มีความพิเศษพิสดารอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน[1]

ผู้เขียนพบหลักฐานชิ้นหนึ่งในหนังสือ สาส์นสมเด็จฉบับที่ยังไม่ตีพิมพ์พ.ศ.2475[2] สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยเมื่อ 78 ปี ที่แล้วว่า สำเนียงของชาวกรุงเทพฯ มาจากพระนครศรีอยุธยา ดังนี้[3]

“ทูลสมเด็จกรมพระนริศ
วันนี้มานึกอะไรขึ้นอีกอย่างหนึ่งเนื่องด้วยพระดำริของท่านว่า บัญญัติวรรณยุตให้ใช้เอกโท ตามเสียงสูงต่ำ จะเปนของที่เกิดขึ้นชั้นหลังไม่นานนัก มาเกิดปรารภขึ้นว่าแต่ก่อนมา ไทยเราพูดสำเนียงต่างๆกัน ตามถิ่นที่อยู่ ซึ่งยังยังพอหาตัวอย่างชี้ได้ในปัจจุบันนี้ เช่น ชาวนครศรีธรรมราชก็สำเนียงอย่าง๑ ชาวนครราชสีมาก็สำเนียงอย่าง๑ แม้ชาวเมืองสมุทสงคราม ชาวเมืองเพ็ชรบุรีและชาวเมืองสุพรรณบุรีก็มีสำเนียงต่างไปจากชาวกรุงเทพฯ เพิ่งจะมาเหมือนกันขึ้นแพร่หลายเมื่อมีโรงเรียนเกิดขึ้นและการคมนาคมสดวกขึ้น ว่าฉะเพาะชาวเหนือเมื่อครั้งเปนมณฑลราชธานีในสมัยสุโขทัย ก็คงมีสำเนียงไปอีกอย่าง๑ ข้อนี้เห็นได้ในบทเสภาที่แต่งเพียงเมื่อรัชชกาลที่๒และที่๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ยังว่า “ชาวเหนือเสียงเกื๋อไก่” แปลว่าสำเนียงไม่เหมือนชาวกรุงเทพฯ สำเนียงอย่างเราพูดกันในกรุงเทพฯ เห็นจะสืบมาแต่สำเนียงชาวพระนครศรีอยุธยา ด้วยเหตุดังทูลมา ชาวมณฑลและเมืองที่สำเนียงเปนอย่างอื่น ย่อมเขียนวรรณยุตตามเสียงไม่ได้ หม่อมฉันเคยถามพระยาวิเชียรคีรี(ชม)[4] ว่า สำเนียงแกพูดไม่เหมือนชาวบางกอก แกเขียนหนังสือลงเอกโทด้วยเอาหลักอย่างไร แกตอบว่า ใช้จำว่า ชาวบางกอกเขาเขียนคำใช้เอกโทอย่างไรก็เขียนตาม”

ภาษาแต้จิ๋วอาจแทรกซึมเข้ามาบ้างในชีวิตประจำวันของชาวกรุงเทพฯ บางส่วน แต่ไม่ได้เป็นโครงสร้างหลักของภาษาไทย หนังสือแบบหัดอ่าน ก ข ก กา โดยพระยาผดุงวิทยาเสริม(กำจัด พลางกูร)[5] ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารวิทยาจารย์เล่ม11 ตอนที่ 7 ร.ศ.129 (พ.ศ.2453) ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวบันทึกถึงเสี้ยวหนึ่งของการเข้ามาผสมผสานทางวัฒนธรรมของภาษาแต้จิ๋วในภาษาไทยตอนหนึ่งว่า


“ ตาอ่ำ เกาะเต่า(พื้นเพเป็นชาวเกาะเต่า: พิทยะ)มีเคหาที่ประตูผี แกมีม้าสี่ตัว เวลาเช้าแกพาม้าสี่ตัวไปที่ท่าน้ำ แกมัวดูเรือลำโตรั่ว น้ำเข้าอู้อู้เสีย ม้าก็เปะปะมาที่ประตูผี ตาโป๊เจียะเจไปซื้อถั่วดำ ถั่วพูมะเขือเต้าหู้ จะมาคั่วกะกะทิ ตาโป๊ตามัวไม่รู้ว่ามีม้ามาเกะกะ ม้าเตะแกเผียะเข้าที่ขา แกเซไปปะทะเสาไฟฟ้า ได้แต่ว่า “ไอ๊ย่า ไอ๊ย่า อั๊วซี้ฮ่า เค้าเป๋แท้ๆ” พอแกทุเลา แกก็เตาะแตะไปหาเจ้าหน้าที่ให้ชำระให้แก เจ้าหน้าที่เขารู้เขาก็ไปเกาะตัวตาอ่ำมา ตาโป๋ [6] ว่า “ทำไมลื้อให้ม้าเตะอั๊วขาโป(ขาบวม: พิทยะ)” ตาอ่ำ เกาะเต่าเสียใจไม่รู้ว่ากะไร ได้แต่ว่า “หึหึ” เจ้าหน้าที่ดุตาอ่ำ เกาะเต่าว่าไม่ดูม้า ให้ม้ามาเกะกะและให้ตาอ่ำ เกาะเต่า เสียค่ายาทาขาตาโป๊ ตาอ่ำ เกาะเต่าจะให้ตาโป๊น่อจี๋ตาโป๊ว่า “ไม่ได้ ไม่ได้ ม้าเตะอั๊วขาโปโตโต อั๊วจะเอาซาจี๋” ตาอ่ำ เกาะเต่าเสียใจจำใจให้ซาจี๋ ตาโป๊ดีใจหัวเราะแหะแหะ...”[7]


ภาษาแต้จิ๋วที่ปรากฏในย่อหน้าข้างต้น ได้แก่ ชื่อ “ตาโป๊เจียะเจ(ตาโป๊กินเจ)” เป็นคำเรียกชาวจีนที่มีคำนำหน้านามแบบไทยผสม ไม่เรียกอาแป๊ะ อากง(ลุง ตา)แบบจีนทั้งหมด เต้าหู้ หมายถึง ส่วนประกอบอาหารจีนชนิดหนึ่งทำจากถั่ว “ไอ๊ย่า ไอ๊ย่า อั๊วซี้ฮ่า เค้าเป๋แท้ๆ” เป็นคำร้องอุทานตกใจแบบจีน อาจแปลได้ว่า “โอ๊ย โอ๊ย ข้าตายห่า ฉิบหายแท้ๆ” คำว่า “อั๊ว” เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 แปลว่า ข้า ผม ฉัน กู ส่วนคำว่า “ลื๊อ” เป็นสรรพนามบุรุษที่2 แปลว่า ท่าน คุณ มึง “น่อจี๋” แปลว่า 2 สลึง “ซาจี๋” แปลว่า 3 สลึง คำเหล่านี้เป็นคำดาดๆในตลาดที่มีการค้าขายระหว่างไทย-จีนเท่านั้น ซึ่งไม่อาจแทรกซึมส่งผลทำให้สำเนียงผู้ดีชาวกรุงเก่าที่เข้ามาอยู่ในเมืองบางกอกแปรปรวนได้เลย


แม้เพลงไทยจำนวนหนึ่งจะมีเพลง “สำเนียง(ทำนอง)จีน”อยู่บ้าง อาทิ เพลงแป๊ะสามชั้น และมีการแปลวรรณกรรมจีนสามก๊กและอื่นๆ เป็นภาษาไทย แต่ในระบบฉันทลักษณ์ชั้นสูง อาทิ โคลงฉันท์ กาพย์ กลอน นั้นกลับจะไม่พบอิทธิพลของภาษาแต้จิ๋วให้เห็นแม้แต่น้อย เนื่องจากคนไทยไม่ถูกบังคับให้เรียนต้องเรียนภาษาจีนตามแบบอย่างที่ปรากฏในวัฒนธรรมเวียดนาม เกาหลีและธิเบต


จึงอาจจะกล่าวในที่นี้ได้ว่า สำเนียงของคนกรุงเทพฯปัจจุบัน เป็นสำเนียงของผู้ดีหรือสำเนียงเมืองหลวงแบบชาวกรุงเก่า ไม่ใช่สำเนียงเนียงแบบจีนแต้จิ๋วแต่อย่างใด ขณะที่สำเนียงของชาวอยุธยาในปัจจุบันหรือแม้แต่สำเนียงเหน่อของคนแถบปริมณฑลกรุงเทพฯ เป็นสำเนียงหยั่งรากลึกแบบชาวชนบทที่มิได้ตามเคลื่อนย้ายตามผู้นำทางการเมืองลงมายังศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมแห่งใหม่ของสยาม สำเนียงของพวกท่านเหล่านั้นจึงเป็นสำเนียงชาวบ้านมิใช่สำเนียงแบบราชธานี


ผู้เขียนยอมรับว่า ปัจจุบันภาษาไทยและเพลงไทยบางเพลงมีอิทธิพลของสำเนียงอังกฤษเข้ามาผสมผสาน มีสาเหตุจากการที่นักเรียนไทยส่วนหนึ่งต้องเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง หรือเกิดจากอิทธิพลทางการค้าขาย หรือการสื่อสารทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้น และหลักฐานสำคัญสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากความนิยมของชนชั้นนำที่ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันค่อนข้างมากจากความตื่นตัวในการรับอารยธรรมตะวันตกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่4-5 จึงปรากฎการใช้คำภาษาอังกฤษ อาทิ คำว่า "เปิ๊สก้าด-first class" "สเตแท่น-Station" "ตะแล่บแก๊บ-Telegraph" จนถึงคำว่า "โอเค-OK!" อย่างกว้างขวางในสังคมไทยมาโดยลำดับ


[1] การใช้ศิลปะเพลงฉ่อย ลำตัดหรือเพลงพื้นเมืองอื่นๆ ลอยหน้า ลอยตา กรีดกราย จีบ ชม ด่า กระแหนะกระแหนทางการเมืองสามารถสร้างความครื้นเครงและแนวร่วมทางการเมืองได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด
[2] มูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา จัดพิมพ์(2533, หน้า2)
[3] สะกดตามต้นฉบับ
[4]พระยาวิเชียรคีรี(ชม ณ สงขลา)
[5] ตีพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงจรูญ ผดุงวิทยาเสริมและนางสาวจรวยรส พลางกูร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กทม. วันอาทิตย์ที่28 เมษายน พ.ศ. 2528
[6] ตามต้นฉบับ
[7] พระยาผดุงวิทยาเสริม(กำจัด พลางกูร). แบบหัดอ่าน ก ข ก กา. ตีพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงจรูญ ผดุงวิทยาเสริมและนางสาวจรวยรส พลางกูร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กทม. วันอาทิตย์ที่28 เมษายน พ.ศ. 2528, หน้า 25-26

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น