จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มายาคติเรื่องความกล้าหาญทางวิชาการกับผลประโยชน์และความเป็นปึกแผ่นของชาติบ้านเมือง

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร ทหารกัมพูชาในพื้นที่พิพาทระหว่างไทย-กัมพูชาที่บริเวณปราสาทพระวิหาร ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.bangkokpost.com/

ผู้เขียนเห็นด้วยกับผู้รู้ที่บอกว่า “ประวัติศาสตร์ทำให้ทราบรากเหง้าของความเป็นชาติและสามารถวิเคราะห์นิสัยใจคอของคนแต่ละชาติได้”

วิวาทะเรื่อง ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นของปลอม เมื่อพ.ศ.2530 ดูเหมือนจะเป็นแม่แบบที่ทำให้งานวิจัยหลายชิ้นเจริญรอยตามในเชิง Anti-thesis การศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดีของนักวิชาการยุคบุกเบิกก่อนหน้านั้น บางเรื่องผู้เขียนก็เคยได้ยินอดีตผู้บังคับบัญชา คือ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ พูดว่า “เรื่องอะไรที่ไม่มีประโยชน์ต่อบ้านเมือง คุณจะไปศึกษาทำไม”

เหตุการณ์ปะทะที่ชายแดนไทย-กัมพูชาระหว่างวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ 2554 ทำให้นักข่าวช่อง3 ถามเด็กสาววัยรุ่นว่ารู้สึกอย่างไร เธอตอบว่า “หน้าที่ของชาวบ้านคือ ต้องหนีภัย จะต้องหนีอีกนานเท่าไร อยากให้กลับเหมือนเดิม”

การขัดแย้งกันเรื่องชายแดนเป็นเหตุปกติวิสัยในโลก การลาดตระเวนร่วมกันและการกินข้าวด้วยกันของทหารทหารรวมถึงผลประโยชน์การค้าชายแดนเป็นเรื่องมายา เป็นเรื่องหลอกกัน หากเกิดความขัดแย้งกันจนถึงขั้นใช้กำลังปะทะนั่นแหละจึงจะเป็นเรื่องจริง เพราะเจ็บจริง ตายจริง เสียหายจริง และต้องเตรียมพร้อมที่จะยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นเช่นกัน

มีการระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้รู้สาขาต่างๆออกเผยแพร่ตามสื่อวิทยุและโทรทัศน์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะเมื่อวันเสาร์ที่12 กุมภาพันธ์ 2554 ทีวีดาวเทียมช่องสปริงนิวส์(ขออภัยหากจำผิด)ออกอากาศสดการเสวนาปัญหาดังกล่าวกับนักวิชาการ จำนวน 3 ท่าน มีใจความสังเขปดังนี้

ดร.มรกตฯ ระบุว่า “ไทยยอมรับแผนที่ค.ศ.1907(พ.ศ.2450)ของฝรั่งเศสมานานแล้ว จนกระทั่งสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามรัฐบาลไทยจึงปฏิเสธและเรียกร้องดินแดนคืน( หมายถึงในปีพ.ศ.2483)” และชี้ว่าประเทศไทยยอมรับสิทธิของฝรั่งเศส(และต่อมา คือ กัมพูชา)เหนือปราสาทพระวิหารอยู่แล้ว


คำกล่าวที่ว่าทำไมประเทศไทยถึงเพิ่งจะปฏิเสธแผนที่ค.ศ.1907 ในสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามนี้สำคัญมากเพราะเป็นการตั้งคำถามโดยมองข้ามสภาวการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในสมัยรัชกาลที่5 อันเป็นยุคที่สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ที่ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังไล่ต้อนลูกแกะสยามเข้ามุมก่อนที่จะรุมแทะพื้นที่ของสยามไปได้มากกว่าพื้นที่ที่มีอยู่ในปัจจุบันของประเทศไทย



การที่ต้องเสียพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงกับเสียมราฐ ศรีโสภณและพระตะบอง เพื่อแลกจังหวัดจันทบุรีและตราดกลับคืนมา จึงเป็นเหมือนฝันร้ายที่ทำให้ทางการสยามยังไม่สบโอกาสที่จะปฏิเสธแผนที่ดังกล่าวในช่วงเวลาที่กล่าวถึงไปแล้วนั่นเอง



ในเวลาต่อมา การเพลี่ยงพล้ำตกเป็นรองของเยอรมนีในสมรภูมิที่ยุโรปทำให้ฝรั่งเศสอ่อนแอ ทำให้รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามภายใต้การสนับสนุนของมหาอำนาจชาติเดียวของเอเชียขณะนั้น คือ ญี่ปุ่น กล้าที่จะปฏิเสธอำนาจของฝรั่งเศสและเรียกร้องดินแดนเขมรฝ่ายในกลับคืนมาเป็นผลสำเร็จระยะหนึ่ง และก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากหากมีคำถามว่า ทำไมกัมพูชาเพิ่งจะมางอแงในตามแนวชายแดนทางด้านศรีสะเกษและสุรินทร์ เพราะพฤติกรรมทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ของแต่ละชาติชาติมันล้อกันมาโดยตลอด

ถ้าเข้าใจไม่ผิด การเสนอความเห็นของดร.มรกตฯ ทำให้ รศ.ดร.พิชายฯ เปรยออกว่า “นักวิชาการบางคนอาจได้รับทุนวิจัยจากภายนอกทำให้เสนอความเห็นและยกหลักฐานขึ้นมาแสดงแบบเห็นอกเห็นใจฝ่ายเขมร”
ซึ่งทำให้ดร.มรกตกล่าวในตอนท้ายของการเสวนาว่า “นักวิชาการจำเป็นต้องมีอิสระในการเสนอความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา”

ผู้เขียนเห็นด้วยกับการมีความกล้าหาญและมีอิสระทางวิชาการ แต่นักวิชาการก็ควรจะมีวิจารณญาณด้วยเช่นเดียวกันว่า อิสรภาพทางความคิดและการแสดงออกจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์และความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติหรือไม่ในอนาคต

ครั้งหนึ่งมีนักวิชาการไทยซึ่งมีชื่อเสียงระดับนานาชาติเคยกล่าวผ่านสื่อทีวีดาวเทียมว่า “คนที่มีความคิดแบบชาตินิยม ...(เป็นคน)...ใฝ่ต่ำ” ทั้งๆที่ท่านก็ทิ้งมาตุภูมิไปเสพสุขอยู่ในสหรัฐอเมริกาจนอาจได้กรีนการ์ดเรียบร้อยไปแล้ว กระนั้นผู้เขียนก็เห็นด้วยอีกนั่นแหละหากเป็นชาตินิยมที่ว่านั้นเป็นชาตินิยมแบบ Nazism คือ หลงเชื่อว่าเชื้อชาติของตนบริสุทธิ์กว่าชนชาติอื่น จนนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในอดีตสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ระหว่างพ.ศ.2483-2488

แต่ชาตินิยมเชิงสร้างสรรค์ก็มีหลายรูปแบบที่ถูกซ่อนไว้ โดยอธิบายเพียงด้านเดียวให้ดูน่ากลัว ตัวอย่างชาตินิยมเชิงสร้างสรรค์ อาทิ ชาตินิยมในด้านการบริโภคสินค้าพื้นเมืองเพื่อลดปัญหาขาดดุลทางการค้า เคยช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับหลายประเทศมาแล้ว ชาตินิยมด้านการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางมรดกวัฒนธรรมก็ทำให้เกิดความหลากหลายทางด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว และชาตินิยมในการหวงแหนมาตุภูมิซึ่งปลูกฝังกันในหมู่ทหารรั้วของชาติ ก็ทำให้ลูกหลานไทยมีแผ่นดินเกิดแผ่นดินตายกันมาถึงทุกวันนี้


เมื่อไทยเสียอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารให้กับประเทศกัมพูชา ในปีพ.ศ. 2505 หมาดๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่า อดีตชาวนาและอดีตทหารกองหนุนอย่าง ลุงบัวลอย ชูเวช ถึงกับออกปากอยากจะเข้าไปจัดการกับผู้นำของฝ่ายตรงข้าม

การที่นักวิชาการแสดงทัศนะออกมาอย่างซื่อๆ ว่า การแสดงความคิดเห็นทางวิชาการอย่างมีอิสระเป็นความกล้าหาญของนักวิชาการ แม้ความเห็นนี้จะน่าชื่นชม แต่ถ้าเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะอาจจะถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปใช้เป็นอาวุธย้อนกลับมาบ่อนทำลายผลประโยชน์ของชาติในวันใดวันหนึ่งก็ได้

ผู้เขียนเห็นว่า นักวิชาการควรจะตระหนักสักเล็กน้อยด้วยซ้ำว่า บรรดาฝ่ายตรงข้าม คือ สมเด็จ ฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา กับ ฯพณฯ ฮอ นำ ฮง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศนั้น แม้จะเป็นมิตรประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งที่กระทบกับผลประโยชน์ของชาติตนคราวใด พวกท่านเหล่านั้นเคยแสดงความคิดเห็นแบบซื่อๆ ใสๆ ตรงไปตรงมาโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาวกัมพูชาบ้างหรือไม่


นักวิชาการ(รวมถึงสื่อมวลชนไทยบางค่าย)พึงสำเหนียกบ้างว่า ทุกครั้งที่มีการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาของผู้นำและสื่อมวลชนของประเทศเพื่อนบ้านนั้น พวกเขาคำนึงถึงผลประโยชน์ของกัมพูชา หรือ ผลประโยชน์ของประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น