จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

การขุดแต่งพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
เมื่อปีงบประมาณ2540 ผู้เขียนภายใต้การดำเนินงานของบริษัทมรดกโลก จำกัด ได้รับจ้างเหมาการขุดแต่งเพื่อการบูรณะพระที่นั่งสุทธาสวรรย์(ภายในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์) ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี การทำงานครั้งนั้นผู้เขียนมีความสุขอย่างยิ่งในการใช้ความพยายามรวบรวมสติปัญญาเพื่อสร้างเรื่องราวในอดีตจากหลักฐานโบราณคดีทั้งที่เอกสารและโบราณวัตถุสถานและร่องรอยสถาปัตยกรรม ผู้เขียนเห็นว่า ข้อมูลดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางวิชาการต่อไปจึงขอนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้อีกครั้ง

ลักษณะรากฐานของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ก่อนการขุดแต่ง
สภาพแวดล้อม
พระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นรากฐานโบราณสถานซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ ภายในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ลักษณะของรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ถูกวางตาแหน่งอยู่ตรงกึ่งกลางของเขตพระราชฐานส่วนนี้ โดยรากฐานพระที่นั่งทางเหนืออยู่ห่างจากกำแพงทางด้านใต้ของพระที่นั่งดุสิตสวรรยธัญญมหาปราสาท ประมาณ 30เมตร รากฐานทางด้านตะวันออกอยู่ห่างจากแนวกำแพงพระราชฐานชั้นที่สอง ประมาณ 60 เมตร รากฐานทางด้านใต้อยู่ห่างจากแนวกำแพงทางใต้ประมาณ 25 เมตร ส่วนรากฐานพระที่นั่งทางด้านตะวันตกนั้นปรากฏแนวกำแพงก่ออิฐฉาบปูน สูง 15 เมตรตัดเนื้อที่บางส่วนของระเบียงด้านตะวันตกของพระที่นั่งออกไป ดังปรากฏหลักฐานในแผนผังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี จากการสำรวจของพระยาโบราณราชธานินทร์


แนวกำแพงซึ่งตัดเนื้อที่บางส่วนของระเบียงด้านตะวันตกของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ออกไปนั้น อาจถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังการขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้เสร็จสิ้นลงไป ได้ปรากฏร่องรอยบางอย่างที่บ่งชี้ว่ากำแพงด้งกล่าวอาจวางรากฐานอยู่แนวกำแพงแก้วเดิมด้านตะวันตกของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ก็ได้ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า และเข้าใจว่าแนวกำแพงแก้วเดิมของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์อาจจะอยู่ห่างจากกำแพงพระราชฐานด้านตะวันตกประมาณ 60เมตร เช่นเดียวกับระยะห่างจากแนวกำแพงด้านตะวันออก


พื้นผิวดินภายในพระราชฐานอันเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์นั้น ถูกปรับให้อยู่ต่ำกว่าพื้นที่ส่วนอื่นของพระราชวังประมาณ 2 เมตร ทั้งนี้วิศวกรคงจะคำนึงถึงประโยชน์เกี่ยวกับแรงดังในการทดน้ำจ่ายน้ำเพื่อใช้อุปโภคสำหรับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นสำคัญ

สภาพปัจจุบัน
สภาพปัจจุบันของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ถูกจัดแต่งเป็นสวนขนาดใหญ่มีสภาพร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่ไม่กี่ชนิด ได้แก่ ต้นก้ามปู ต้นปีบ และพิกุล นอกนั้นเป็นต้นผลไม้ อาทิ มะม่วงขนาดเล็ก ต้นส้มโอและไม้ดอกของไทย อาทิ ราชาวดี เป็นต้น


ภายในสวนด้านหลังแนวกำแพงด้านตะวันตกประกอบด้วยต้นมะพร้าวจำนวนหนึ่ง ต้นพุทรา ต้นมะม่วงขนาดย่อม กอไผ่ และพื้นสนามหญ้า ซึ่งได้รับการดูแลรักษาอย่างค่อนข้างดี


รากฐานของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ก่อนการขุดแต่งในปีงบประมาณ 2540 นั้น ถูกดินปกคลุมทับถมค่อยข้างเบาบางเนื่องจากเคยได้รับการขุดแต่งมาแล้วเมื่อประมาณ 20 ปีเศษที่ผ่านมา การขุดแต่งครั้งน้นดำเนินการแต่เพียงขุดลอกดินที่ทับถมรากฐานทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้บางส่วนออกไปเท่านั้น ระดับการขุดลอกดินออกไปยังไม่ถึงพื้นลาน โดยรอบของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ แต่กระนั้นก็ตามการดำเนินการดังกล่าวช่วยทำให้รากฐานบางส่วนของพระที่นั่งองค์นี้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดพอสมควร


จากการสำรวจพบว่าแผนผังโครงสร้างรากฐานของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ถูกออกแบบให้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทุกส่วนทุกด้านมีความลงตัวกันอย่างเหมาะสม เรียกว่า “Symmetrical designation system” กล่าวคือ หากออกแบบให้มีประตูและหน้าต่างทางด้านหน้าอย่างไร ทางด้านหลังก็จะทำประตูและหน้าต่างล้อตามไปด้วย ทางด้านข้างชักปีกอาคารและบันไดออกไปอย่างไร ด้านตรงกันข้ามก็จะถูกออกแบบให้มีองค์ประกอบแบบเดียวกันตามไปด้วยโดยไม่มีข้อยกเว้น เป็นต้น แนวความคิดที่มีในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์อย่างลงตัวเช่นนี้ จะช่วยให้การวิเคราะห์รูปแบบโครงสร้างและแผนผังของพระที่นั่งองค์นี้มีเหตุผลน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น


จากสภาพเท่าที่ปรากฏได้ชัดเจนว่า รากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนชุดรากฐาน 2 ชุด กล่าวคือ ชุดฐานชั้นนอกประกอบด้วยแผนผังของกำแพงแก้ว กำแพงปีกท้องพระโรง ระเบียง ฐานน้ำพุ ปีกพระที่นั่งซ้าย-ขวา มุขบันได และเกย ส่วนชุดฐานชั้นในเป็นส่วนรองรับโครงสร้างผนังและเครื่องบนหลังคา อันน่าจะเป็นท้องพระโรงที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ขณะแปรพระราชฐาน ณ เมืองลพบุรี


ชุดฐานชั้นนอกและชุดฐานชั้นในของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ต่างก็เป็นฐานปัทม์หน้ากระดานอกไก่มีบัวคว่ำบัวหงายเป็นองค์ประกอบโดยเริ่มต้นจากฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าลดชั้นขึ้นไปรองรับลวดบัวแล้วจึงเป็นบัวคว่ำ ก่อนจะขึ้นไปเป็นหน้ากระดานอกไก่และชั้นบัวหงายตามลำดับ เหนือชั้นหงายขึ้นไปจึงเป็นพื้นระเบียงและพื้นท้องพระโรงที่ประทับของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ชั้นบัวคว่ำของฐานแต่ละด้านจะปรากฏท่อน้ำดินเผาสำหรับระบายน้ำออกจากระเบียงพระที่นั่งเป็นระยะๆ


ชุดฐานปัทม์หน้ากระดานอกไก่นี้เป็นองค์ประกอบเด่นทางสถาปัตกรรมแบบไทยประเพณีในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่สำหรับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์นั้นชุดฐานปัทม์หน้ากระดานอกไก่จะเพิ่มเส้นลวดที่โคนกลับบัวคว่ำบัวหงายเข้าไปอย่างละเส้น ทำให้หน้ากระดานอกไก่มีความคมชัดมากยิ่งขึ้น


องค์ประกอบของกำแพงแก้วล้อมรอบระเบียงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ จะก่อตัวขึ้นจากฐานเขียงแล้วจึงเป็นบัวหงายก่อนจะเป็นผนังกำแพงแก้ว สูงประมาณ 100-120 เซนติเมตร และทับหลังกำแพงแก้วรูปบัวหงาย หน้ากระดานบัวคว่ำ สูงประมาณ 20 เซนติเมตร


สำหรับกำแพงปีกท้องพระโรง ซึ่งเป็นกำแพงสูงประมาณ 2.50 เมตร ชักปีกออกมาจากมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือและมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ คั่นระเบียงด้านตะวันตกของพระที่นั่งให้พ้นจากสายตาของบุคคลภายนอก มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับกำแพงแก้วของพระที่นั่งองค์นี้


เสาอาคารของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ถูกออกแบบให้ฝากอยู่กับโครงสร้างของผนัง โดยมีลักษณะเป็นโครงอิฐฉาบปูนยื่นออกมาจากผนังอาคารเพียงเล็กน้อย ร่องรอยของช่องอิฐที่ผนังตามแนวเสาบ่งชี้ให้ทราบว่ามีการทำด้นทวยรองรับเครื่องบนหรือชั้นหลังคาด้วย องค์ประกอบดังกล่าวสังเกตได้จากปีกทางด้านใต้ ซึ่งก่อเป็นอาคารยื่นออกมา มีประตูและหน้าต่างเป็นช่องโค้งยอดแหลม ตามแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเปอร์เซีย-โมกุล หรือที่เรียกว่า “Sarasenic Achitectural”
มิติทางสถาปัตยกรรม
รากฐานระเบียงพระที่นั่งสุทธาวรรย์
ลักษณะเป็นรากฐานชั้นนอกส่วนนอกของพระที่นั่ง มีด้านแปยาวประมาณ 35 เมตร ด้านสกัดยาวประมาณ 27 เมตร ซึ่งอันที่จริงแล้วหากคำนวณจากแผนผังพระที่นั่งสุทธาวรรย์ของฝรั่งเศส(Plan du Palais de Louvo) และผังที่นั่งพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรีแล้ว ด้านแปของพระที่นั่งสุทธาวรรย์อาจมีความยาวประมาณ 38 เมตรเลยทีเดียว

มุขบันได
ทางด้านตะวันออกของพระที่นั่งสุทธาวรรย์มีมุขกว้าง 1เมตร ยาว 11.20 เมตร ยื่นออกมาลักษณะคล้ายจะเป็นบันไดทางขึ้นสู่ระเบียงด้านตะวันออกของพระที่นั่ง โดยทำเป็นบันไดเบื้องซ้ายและเบื้องขวาที่มุมบางทิศเหนือและทิศใต้ของมุข และถ้าหากเชื่อมันในทฤษฎีเรื่องความลงตัวทางสถาปัตยกรรมดังกล่าวไปแล้วข้างต้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าระเบียงทางด้านตะวันตกของพระที่นั่งสุทธาวรรย์จะมีมุขยื่นออกไปและมีบันไดขึ้น-ลงทางเบื้องซ้ายและขวา เช่นเดียวกัน

ปีกอาคาร (พระปรัศว์)
ปีกอาคารซึ่งถูกชักออกไปทางด้านเหนือและด้านใต้ของมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้อของฐานพระที่นั่งสุทธาวรรย์มีลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านแปยาว 9 เมตรด้านสกัดกว้าง 7 เมตร ผนังของแต่ละด้านกว้างประมาณ 1 เมตร ภายหลังการขุดแต่งปรากฏอหลักฐานของถึงน้ำกรุหินอ่อนอยู่ภายใน ทั้งปีกด้านทิศเหนือและปีกด้านทิศใต้


สำหรับปีกด้านเหนือนั้น โครงสร้างผนังและเครื่องบนถูกรื้อทำลายลงไปจนหมดสิ้นเหลือเพียงร่องรอยของโคนเสาก่ออิฐถือปูน ฐานเสาบัวคว่ำและผนังเตี้ยๆแต่กระนั้นก็ยังพอจะเห็นร่องรอยขององค์ประกอบและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมจากการวิเคราะห์และเปรียบเที่ยบกับปีกอาคารทางด้านใต้ของฐานพระที่นั่งฯ


กล่าวคือ ปีกอาคารด้านเหนือจะมีช่องหน้าต่างรูปวงโค้งยอดแหลมแบบซาราเซนนิค จำนวน 3 ช่อง เหตุที่เชื่อว่าด้านเหนือมีแต่ช่องหน้าต่างก็เนื่องจากไม่มีร่องรอยของบันไดยื่นจากตัวอาคารมารับช่องประตูทางด้านนี้แต่อย่างใด ส่วนทางด้านใต้ปีของอาคารทศเหนือนั้นปรากฎหลักฐานของช่องประตูจำนวน 2ช่อง ขนาบข่องหน้าต่างตรงกลางจำนวน 1 ช่อง ช่องประตูและช่องหน้าต่างทั้งหมดจะมีรูปแบบเป็นช่องโค้ง เช่นเดียวกับช่องประตูและช่องหน้าต่างทางทิศเหนือของปีกอาคารด้านใต้ของพระที่นั่งสุทธาวรรย์

ด้านสกัดของปีกอาคารทางเหนือนั้นปรากฏร่องรอยของช่องประตู ทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตก โดยเฉพาะประตูด้านตะวันออกนั้นจะมีร่องรอยของฐานบันไดปรากฏให้เห็นด้วยและช่องประตูทั้งสองด้านก็น่าจะมีรูปเป็นช่องโค้งยอดแหยมเช่นเดียวกับประตูด้านตะวันออกและตะวันตกของปีกอาคารด้านใต้ ทางมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปีกอาคารส่วนนี้ปรากฏบันไดยื่นออกไป มีแผ่นหินแอนดีไซต์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 1.00 X 50 เซนติเมตรรองรับ


ปีกอาคารด้านใต้นั้นมีโครงสร้างและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมก่อนข้างสมบูรณ์ ง่ายต่อการอธิบายทำความเข้าใจและสามารถนำมาใช้เป็นหลักในการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับองค์ประกอบส่วนอื่นๆของอาคารได้เป็นอย่างดี ผนังด้านเหนือยังปรากฏช่องประตูรูปโค้งมุมแหลมจำนวน 2 ช่อง สูงประมาณ 3 เมตร ขนาบช่องหน้าต่างรูปแบบเดียวกันไว้ตรงกลาง ความสูงประมาณ 2.5 เมตร ช่องประตูและช่องหน้าต่างมีความกว้างประมาณ 1.80 เมตรเท่ากัน ผนังด้านใต้ของปีกอาคารถูกรื้อทำลายไปจนหมดสิ้น ขณะที่ผนังด้านตะวันตกยังอยู่ครบ ส่วนผนังด้านตะวันออกนั้นยังคงเหลือเฉพาะซีกประตูด้านเหนือเท่านั้น


ด้านตะวันออกของปีกอาคารส่วนนี้มีบันไดกว้างประมาณ 2 เมตร ยื่นออกไป ส่วนทางมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ก็มีบันไดยื่นออกไปเช่นกัน


ฐานน้ำพุหรือฐานอ่างน้ำสรงสนาน
ฐานน้ำพุหรือฐานอ่างน้ำสรงสนานเป็นรากฐานขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมขนาด 7X3 เมตร ซึ่งถูกก่อยื่นเป็นมุขออกไปทางเหนือและใต้ ที่บริเวณจุดกึ่งกลางของรากฐานเดิม (ก่อนจะถูกกำแพงเขื่อนเพชรก่อคล่อมตัดบางส่วนของระเบียงด้านตะวันตกของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ออกไปเล็กน้อย) ของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ สภาพก่อนการขุดแต่งมีต้นหญ้า มูลดินและกากปูนปกคลุมประมาณ 10 เซนติเมตร
ฐานน้ำพุหรืออ่างน้ำสรงสนานทางทิศเหนือของเชิงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์จะมีเขามอหรอภูเขาจำลองก่ออิฐถือปูนหนา มีแผนผังคล้ายรูปครึ่งวงกลมจำนวน 6 รูป เรียงล้อมกันเป็นวงคล้ายกลีบดอกจันทร์ ลดชั้นจากฐานขึ้นไปสู่ยอด นับได้ 3 ชั้น (2ยอด) 7 ชั้น (2 ยอด)9ชั้น (1 ยอด) และ 11 ชั้น (1 ยอด) รวม 6 ยอด ฐานแต่ละด้านของยอดเขามอจะคว้านร่องทรงกระบอก ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจใช้สำหรับประดับพรรณไม้เป็นระยะๆ ฐานของเขามอทำเป็นช่องโค้งมุมแหลมเจาะทะลุจากเหนือไปใต้กว้างประมาณ 1 เมตร มีดินทับถมอยู่จนเกือบเต็มช่องโค้ง ดินดังกล่าวเป็นดินใหม่ ซึ่งถูกนำมาตกแต่งเขามอเนื่องในงานฉลองแผ่นดินสมเด็จ พระนารายณ์ของแต่ละปีที่ผ่านมา


ตรงกึ่งกลางของเขามอทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตก มีแนวกำแพงแก้วชักปีกออกไปทั้งสองด้านเพียงเล็กน้อยก่อนที่กำแพงแก้วจะหักเลี้ยวไปทางทิศใต้ของทั้งสองด้าน มุมของกำแพงแก้วทั้งสองด้านถูกก่อเป็นเสารูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ยอดเสามีลักษณะย่อมุมและทำเป็นหัวเม็ดทรงสี่เหลี่ยมย่อมุม คล้ายกับหัวเม็ดของเสากำแพงแก้วทุกต้นภายในพระราชฐานแห่งนี้สิ่งที่น่าสนใจคือ ลักษณะของกำแพงแก้วทางด้านตะวันออกของฐานน้ำพุหรืออ่างน้ำสนานเชิงเขามอนี้ ไม่มีร่องรอยของคูหาขนาดเล็กรูปโค้งยอดแหลมดังเช่นกำแพงแก้วของพระที่นั่งดุสิตสวรรย์ธัญญมหาปราสาท หรือตึกเลี้ยงรับรองราชทูต และอื่นๆแต่อย่างใด ส่วนฐานน้ำพุหรืออ่างน้ำสรงสนานทางทิศใต้นั้นเหลือเพียงฐานอิฐเหนือชั้นบัวหงายเท่านั้น


ในระยะแรกก่อนการขุดแต่ง สภาพของฐานน้ำพุหรืออ่างน้ำสรงสนานทั้งทางด้านเหนือ(เชิงเขามอ)และทางใต้ ต่างก็มีวัชพืช ดินและกากปูนทรายทับถมค่อนข้างหนา ทำให้ยังไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางสถาปัตยกรรมกันได้อย่างลงตัว จนกรทั่งการขุดแต่งดำเนินผ่านไปจึงได้แลเห็นความเชื่อมโยงที่มีต่อกันได้ชัดเจน (ก่อนการขุดแต่งนั้นเชิงเขามอด้านตะวันตกเฉียงใต้พบร่องรอยบันไดกว้างประมาณ 1 เมตร ส่วนเชิงด้านตะวันออกและตะวันตกของฐานน้ำพุด้านใต้พบร่องรอยบันไดขนาบฐานน้ำพุทั้งสองด้าน หลังการขุดแต่งได้พบบันไดด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขามอเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง บันไดทั้งสี่แท่งที่กล่าวถึงนั้น เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ลงตัวกันอย่างเหมาะสม)
รากฐานเกยคชาธารและเกยราชยาน

ทางมุมทิศด้านตะวันออกเฉียงเหนือของรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์มีชั้นอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 2.40X2.00 เมตร ก่อยื่นออกมาเป็นเกยช้างพระที่นั่ง สูงประมาณ 2 เมตร ลักษณะคล้ายเกยช้างพระที่นั่งไกรสรสีหราช


ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ มีร่องรอยของแนวอิฐสูงประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 100 เซนติเมตร สภาพทรุดพัง เข้าใจว่าน่าจะเป็นร่องรอยของเกยราชยานคานหาม

พื้นระเบียงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์
พื้นระเบียงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ทั้งสี่ด้านก่อนการขุดแต่ง มีต้นหญ้า มูลดิน กากปูน ทราย ปกคลุม แนวระเบียงบางส่วนหลงเหลือพื้นปูนหนาเกือบ 20 เซนติเมตร ส่วนระเบียงของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ กว้างประมาณ 5-6 เมตร ที่บริเวณแนวตรงกันระหว่างฐานน้ำพุหรืออ่างน้ำสรงสนาน มีร่องรอยขนาบด้วยแผ่นปูนขาวกว้างประมาณ 40 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เมตร ทั้งสองด้านแลดูคล้ายร่องน้ำไหลใช้ส่งไปยังฐานน้ำพุหรืออ่างน้ำสรงสนานทั้งสอง


กำแพงแก้ว
กำแพงแก้วของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์นั้นถูกรื้อทำลายไปจนแทบหมดสิ้น เหลือแนวให้เห็นเพียงเล็กน้อยที่เชิงเขามอด้านเหนือ ซึ่งได้กล่าวไปแล้วข้างต้น แนวกำแพงแด้วกับช่องประตูและบันไดขึ้นลงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์จะมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างมาก ทางด้านเหนือจะมีแนวช่องประตู รวม 5 ช่องทางด้านตะวันออกจะมีแนวช่องประตู 2 ช่อง ด้านใต้จะมีแนวช่องประตู 5 ช่อง และด้านตะวันตกจะมีแนวช่องประตูผ่านกำแพงแก้ว 2 ช่อง

กำแพงปีกท้องพระโรง

กำแพงปีกท้องพระโรงที่คั่นระหว่างพระราชฐานชั้นนอกกับพระราชฐานชั้นในของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นส่วนที่ชักปีกออกจากมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือไปจรดแนวกำแพงแก้วทั้งด้านเหนือและด้านใต้ มีความยาวด้านละ 6 เมตร กว้าง 1 เมตร สูงประมาณ 2 เมตรเศษ ปรากฏร่องรอยของประตูทางเข้าด้านละ 1 กว้างประมาณ 1.20 เมตร
ด้านล่างของกำแพงมีลักษณะเป็นรากฐานบัวคว่ำ มีทับหลังกำแพงเป็นรูปบัวหงาย หน้ากระดานบัวคว่ำ สภาพด้านเหนือค่อนข้างสมบูรณ์ มีเพียงทับหลังเท่านั้นที่ถูกทำลายไป ส่วนทางด้านใต้เหลือเพียงซีกผนังด้านเหนือเท่านั้น
มีร่องรอยว่าตรงจุดที่กำแพงปีกท้องพระโรงด้านเหนือแล่นไปจรดกับแนวกำแพงทางทิศเหนือ ซึ่งล้อมด้านเหนือของระเบียงพระที่นั่งด้านตะวันตกไว้นั้น จุดสิ้นสุดของกำแพงได้สร้างคล่อมอยู่บนทับหลังของกำแพงแก้วส่วนนี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่า กำแพงปีกท้องพระโรงน่าจะถูกสร้างขึ้นภายหลังกำแพงแก้วในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันมากนัก

รากฐานท้องพระโรงที่ประทับของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์

ลักษณะเป็นรากฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกชั้นสูงเหนือระเบียงพระที่นั่งประมาณ 81 เซนติเมตร มีด้านแปยาว 22 เมตร ด้านสกัดกว้าง 12 เมตร 80 เซนติเมตร ผนังส่วนใหญ่ถูกรื้อทำลายไปจนเกือบหมดสิ้น ด้านเหนือเหลือผนังบางส่วนสูงประมาณ 2 เมตร ด้านตะวันออกไม่เหลือผนังอยู่เลย ด้านใต้เหลือผนังสูงประมาณ 2 เมตร และด้านตะวันตกเหลือผนังสูงประมาณ 100-260 เซนติเมตร

ผนังของท้องพระโรงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ มีร่องรอยของเสาที่ฝากอยู่กับโครงสร้างผนังเช่นเดียวกับเสาของปึกอาคารทั้งสองด้าน


จากร่องรอยของช่องหน้าต่างทางซีกตะวันตก จำนวน 2 ช่อง ของผนังทางทิศเหนือ มีช่องประตูอยู่ตรงกลาง ทำให้พอจะอนุมานได้ว่า ซีกตะวันออกของผนังทางทิศเหนือก็น่าจะมีช่องหน้าต่าง รวม 2 ช่อง เช่นเดียวกัน ดังนั้นผนังทิศใต้ของท้องพระโรงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ก็จะมีช่องหน้าต่างและช่องประตูจำนวนเท่ากันด้วย โดยที่ช่องประตูทั้งสองด้านนั้นมีร่องรอยบันไดเตี้ยๆ ฝังอยู่กับผนังด้านแปนั่นเอง
สำหรับผนังด้านตะวันออกนั้น จากร่องรอยของช่องหน้าต่าง 2 ช่อง กับช่องประตู 1 ช่องทางด้านตะวันตก และแนวบันไดที่ยื่นออกไปจากผนังด้านสกัด ทำให้อาจสันนิษฐานได้ว่าผนังด้านตะวันออกของท้องพระโรงควรจะมีช่องประตูขนาดกว้างประมาณ 2 เมตร จำนวน 1 ช่อง ช่องหน้าต่างกว้างประมาณ 1.20 เมตร จำนวน 2 ช่อง เช่นเดียวกับด้านตะวันตกซึ่งอยู่ทิศตรงกันข้าม


หลุมลึกขนาด 4X7 เมตร ทางมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรากฐานท้องพระโรง เดิมที่เข้าใจกันว่าเป็นถังเก็บน้ำเพื่อใช้ในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ แต่เมื่อตรวจสอบผนังทุกด้านดูแล้วไม่ปรากฏรอยยาปูนขาวกันซึมตามคุณลักษณะของถังน้ำแม้แต่น้อย ดังนั้นสภาพที่เห็นในปัจจุบันคงเกิดจากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ ซึ่งเชื่อกันมาอย่างผิดๆว่า ถูกฝังอยู่ใต้พื้นพระที่นั่งองค์นี้


แท้ที่จริงแล้วส่วนดังกล่าวเป็นโครงสร้างฐานรากของอาคารที่ก่อเป็นเอ็นยึดผัง และอัดทรายเพื่อรองรับน้ำหนักของโครงสร้างส่วนบนของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เท่านั้น หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง คือแผนผังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี ก็มิได้ลงตำแหน่งของหลุมดังกล่าวไว้แสดงให้เห็นว่าการขุดเกิดขึ้นในสมัยหลัง


พื้นของท้องพระโรงมีร่องรอยของการปูอิฐเอาไว้ เหนือชั้นอิฐเทปูนขาวปิดทับ มีกากปูนและวัชพืชปกคลุมทั่วไป
การขุดแต่งรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์


การสำรวจทางโบราณคดีและการวางฝังหลุมขุดแต่งรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์
กระบวนการขุดแต่งพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เพื่อศึกษารากฐานอาคาร รวมทั้งเทคนิคทางสถาปัตยกรรม และหลักฐานทางโบราณคดี เพื่ออธิบายเรื่องราวความเป็นมาในอดีตและพัฒนาการทางศิลปสถาปัตยกรรม รวมทั้งแง่มุมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมการจัดการระบบน้ำภายในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ประกอบด้วยขั้นตอนเหล่านี้ คือ การสำรวจที่ตั้งและสภาพทั่วไปของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เพื่อกำหนดตำแหน่งของโบราณสถานลงไปในผังบริเวณ การทำแผนผังแนวราบของโบราณสถานและการตอกหมุดแบ่งหลุมขุดแต่งครอบคลุมพื้นที่ที่ได้กำหนดไว้ เพื่อให้การเก็บบันทึกข้อมูลทางโบราณคดีเป็นไปอย่างถูกต้อง มีหลักฐานอ้างอิง และท้ายที่สุดคือการทำรูปแบบตั้งทั้งสี่ด้านของรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เพื่อบันทึกลักษณะทางสถาปัตยกรรมของรากฐานพระที่นั่งโดยละเอียดก่อนการขุดแต่งหาข้อมูลทางโบราณคดีแบบรูปตั้งของรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์จะเป็นหลักฐานที่ใช้ในการเปรียบเทียบและวิเคราะห์รูปทรงดั้งเดิมในอตีตของสถาปัตยกรรม (Architectural Reconstruction หรือ Structural Assumption) แห่งนี้กับสถาปัตยกรรมอื่นๆ ซึ่งถูกสร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกันได้เป็นอย่างดี ระหว่างการทำผังรูปตั้งลวดลายต่างๆ ที่ถูกตกแต่งและยังหลงเหลืออยู่ รวมไปถึงร่องรอยทุกชนิดที่ปรากฏอยู่ที่รากฐานอาคารจึงถูกบันทึกลงไปในแบบภาพร่างด้วยวิธีการวัดตำแหน่งทั้งตามแนวราบและแนวดิ่งของอิฐแต่ละก้อนอย่างรอบคอบ โดยใช้มาตราส่วน 1 : 70 ในแผ่นฟิล์มมาตรฐานขนาด A1


หลุมขุดแต่งรากฐานพระพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 889 ตาราเมตร ถูกกำหนดให้มีขนาด 5X5 เมตร โดยผังแนวราบมีทิศทางเรียงลำดับตัวเลขขึ้นไปด้านเหนือ ผังแนวดิ่งมีทิศทางทางเรียงลำดับออกไปด้านตะวันตก


การเรียกชื่อหลุมเพื่ออ้างอิงหลักฐานที่พบจากการขุดแต่ง เริ่มต้นด้วยเลขอารบิคแล้วตามด้วยอักษรชื่อย่อของทิศเป็นภาษาอังกฤษ อาทิ หลุม 1N 1W, 2N 2W, 6N 6W, 5N 9W, 7N 8W เป็นต้น อันจะแตกต่างจากการลำดับชื่อหลุมขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีในพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างผังเมืองโบราณพระนครศรีอยุธยาบ้างเล็กน้อย เนื่องด้วยผังดังกล่าวเป็นหลุมขนาด 50 X 50 เมตร มีผังหลุมย่อย ขนาด 5X5 เมตร จำนวน 100 หลุม ซ้อนอยู่ภายในหลุมใหญ่แต่ละหลุม และการเรียกชื่อหลุมนั้นจะระบุทิศ ตามด้วยเลขประจำหลุมใหญ่ และชื่อหลุมย่อยโดยลำดับ (อาทิ N5 W8 P3 เป็นต้น)


ทุกจุดตัดของผังหลุมแต่ละตำแหน่งในผังหลุมขุดแต่งรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ สามารถนำไปเทียบเคียง (Matched) หรือเชื่อมโยงเข้ากับแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร (มาตราส่วน 1 : 50,000) ได้อย่างถูกต้อง ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่าผังหลุมขุดแต่งพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ได้ปรากฎชื่อพิกัดทางเทคนิคการสำรวจทั้งแนวราบและแนวดิ่งเอาไว้ชัดเจน เพื่อเป็นมาตรฐานในการอ้างอิงข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีและงานวิชาการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


ขั้นตอนการขุดแต่งและการเก็บรวบรวมหลักฐานโบราณคดี
การขุดแต่งโบราณสถาน หมายถึง การขุดลอกมูลดิน อิฐหัก กากปูน และวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมอยู่บนโบราณสถานออกไปด้วยความระมัดระวัง มิให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างหรือองค์ประกอบสถาปัตยกรรม


ร่องรอยทางโบราณคดีและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏขึ้นมาระหว่างการขุดแต่งจะถูกบันทึกด้วยการถ่ายภาพ ทำแผนผัง และบรรยายเป็นลายลักษณ์อักษร โดยละเอียด เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานสนาม ได้แก่ จอบ เสียม พลั่ว เกียง แปรงปัดฝุ่น กล้องถ่ายรูป เครื่องเขียน และถุงพลาสติกสำหรับเก็บบรรจุโบราณวัตถุ เป็นต้น


การขุดแต่งรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์จนแล้วเสร็จนั้นใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเศษในระยะแรกการขุดแต่งรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เริ่มต้นขึ้นทางด้านตะวันออก เพื่อดูความเหมาะสมว่าจะต้องขุดลอกมูลดินที่ทับถมด้านข้างรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ประมาณเท่าใด จากการปฏิบัติงานพบว่าทางด้านตะวันออกนี้มีมูลดินและกากปูนทับถมอยู่ประมาณ 10-15 เซนติเมตรหนือพื้นถนนอิฐราดปูนขาวนับว่ามีอัตราการทับถมของชั้นดินน้อยมาก ทั้งนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากมีการปรับปรุงและดูแลพื้นที่ต่อเนื่องกันมาเป็นอย่างดีในอดีต เพราะโบราณสถานในบริเวณใกล้เคียงเคยเป็นทีทำการราชการ ก่อนที่จะอยู่ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร นอกจากนี้ยังมีประวัติบอกเล่าว่าเคยผ่านการขุดแต่งมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้งด้วย


พื้นที่ดำเนินการขุดแต่งทางด้านตะวันออกอยู่ห่างจากรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ระยะ 5 เมตร ตามแนวเหนือ – ใต้ โดยหลุมขุดแต่งเริ่มต้นจาก 1N 1W จนถึง 9N 1W


การขุดแต่งพื้นที่เชิงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ด้านตะวันออกใช้เวลาไม่นานนักก็แล้วเสร็จจากนั้นจึงย้ายแรงงานไปปฏิบัติงานต่อบริเวณเชิงพระที่นั่งด้านใต้ และบางส่วนของระเบียงด้านตะวันออกของรากฐานอาคาร การทำงานในชั้นต้นคือ ขุดลอกมูลดินและขนย้ายอิฐหักกากปูน ใช้เวลาไม่นาน เพราะพื้นที่ปฏิบัติงานมีการทับถมไม่มากแต่อย่างใด (อัตราการทับถมของมูลดินเฉลี่ย 30 เซนติเมตร) พื้นที่ปฏิบัติงานห่างจากแนวรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ประมาณ 5 เมตร ยกเว้นทางใต้ของปีกอาคารระหว่างหลุม1N 8W เท่านั้นที่มีพื้นที่ปฏิบัติงานกว้างเพียง 2.5 เมตร หลุมขุดแต่งด้านนี้เริ่มต้นจาก 1N 1W ถึง 1N 8W


ภายหลังการขุดลอกมูลดินและเศษอิฐหักกากปูนออกไปจากเชิงพระที่นั่งด้านใต้แล้ว การดำเนินงานขุดแต่งพื้นที่ส่วนบนของปีกอาคารทั้งด้านเหนือและด้านใต้ และพื้นที่ระเบียงทั้งสี่ด้านของพระที่นั่งฯก็เริ่มขึ้นในเวลาต่อมา สภาพการทับถมของมูลดินมีค่อนข้างน้อย การเสื่อมสภาพของปูนขาวที่ถูกเทราดอยู่เหนือพื้นอิฐมีค่อนข้างสูงมาก แต่พื้นระบียงบางส่วนซึ่งเทปูนหนาประมาณ 15 เซนติเมตร ยังคงรักษาสภาพไว้ได้ค่อยข้างดี สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าปูนขาวมีส่วนผสมของหินอ่อนที่ถูกย่อยเป็นก้อนเล็กๆทั่วไป และเชื่อกันว่าช่างอาจนำหรือเกณฑ์หินอ่อนดังกล่าวมาจากแหล่งหินอ่อนที่เขาสมอคอนซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ก่อนมีสัมประทานเหมืองหินอ่อนนั้น ชาวบ้านได้ย่อยหินอ่อนตวงขายเป็นปี๊บ ปัจจุบันก็ยังพอจะมีคนจำได้ว่าเคยมีการประกอบอาชีพย่อยหินอ่อนขายในย่านเขาสมอคอนมาก่อน แต่จะสืบย้อนกลับไปได้ไกลเพียงใดไม่ทราบแน่ชัด


การขุดแต่งพื้นที่ด้านบนของปีกอาคารและระเบียงโดยรอบพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ในชั้นต้นยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าใดนัก เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอันจะนำมามาซึ่งคำอธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อย่างเพียงพอ ดังนี้นการเก็บรายละเอียดเพื่อค้นหาร่องรอยต่างๆเพิ่มขึ้น จึงเป็นกระบวนการภาคสนามที่จะต้องดำเนินต่อไป


การขุดแต่งพื้นที่ซึ่งเชื่อว่าเป็นท้องพระโรงที่ประทับของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ดำเนินไปพร้อมๆกับการขุดลอกดินออกจากเชิงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ทางด้านเหนือ


พื้นที่ส่วนท้องพระโรงมีการทับถมของมูลดินไม่มาก การดำเนินการส่วนใหญ่คือ การแซะหญ้าแห้วหมูและวัชพืชอื่นออกไป นอกจากนี้ยังมีขุยดินและขุยทรายที่กระจัดกระจายทับถมอยู่ด้านบนเนื่องจากการขุดเอาดินอัด ทรายอัดที่ใช้รองรับโครงสร้างและกันทรุดพังจึ้นมาจากหลุม N5 4W จนสภาพของพื้นท้องพระโรงกลายเป็นหลุมสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 5 X 7 เมตร ลึก 2 เมตร ทำให้อาจเข้าใจผิดได้ว่าหลุมดังกล่าวเป็นร่องรอยคูหาใต้ดินหรือถังเก็บน้ำในสมัยนั้น ข้อสนับสนุนว่าหลุมดังกล่าวมิใช่คูหาใต้ดินหรือถังเก็บน้ำใต้อาคาร คือ ผนังแต่ละด้านของหลุมมิได้ฉาบปูนกันซึมเพื่อใช้เก็บกักน้ำ การสอปูนระหว่างอิฐแต่ละชั้นใช้ปูนหนามาก และไม่มีการปาดปูนด้านข้างแต่อย่างใด เมื่อขุดตรวจลงไปที่พื้นก็ยังพบชั้นทรายหยาบถูกบดอัดเป็นชั้นหนา ดังได้คาดคะเนไว้แล้วในเบื้องต้น


การขุดแต่งพื้นที่เชิงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ทางด้านเหนือ จำเป็นต้องย้ายดินออกไปจากพื้นที่รอบเขามอ เนื่องจากเป็นดินใหม่ซึ่งถูกนำมาปรับ


พื้นที่หลุมขุดแต่งทางมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวอาคารถัดจากเขามอออกไป น่าจะเคยเป็นจุดทิ้งและเผาขยะของส่วนราชการเดิมมาก่อน เนื่องด้วยขุดพบเศษวัสดุประเภทโลหะสังกะสีผุๆ เศษแก้ว ขวดยานัตถุ์ ขวดน้ำหอม เศษเหล็ก และอื่นๆ ทับถมอยู่ในชั้นดินตื้นๆ โครงสร้างของดินก็มีลักษณะเกาะกันแบบหลวมๆ มีเศษเถ้าถ่านปะปน


เมื่อการขุดแต่งรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ครอบคลุมพื้นที่ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างเหมาะสมในเบื้องต้นแล้ว คณะทำงาน ได้แก่ นักโบราณคดี ช่างสำรวจ และช่างศิลปกรรม ได้ใช้เวลาในการสำรวจพื้นที่ทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิจารณาและประเมินสภาพโบราณสถานภายหลังการขุดแต่งอันจะทำให้การติดตามร่องรอยขององค์ประกอบและรากฐานสถาปัตยกรรมมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในระหว่างนั้นก็ได้ชี้จุดให้แรงงานขุดแต่งลงพื้นที่ ใช้ความประณีตใจการเก็บรายละเอียดต่างๆ ของพื้นระเบียง ลำราง และท่อน้ำดินเผาที่ฝังอยู่ใต้พื้นอิฐ โดยรอบอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ยิ่งใช้ความสังเกตขณะปฏิบัติงานขุดแต่งมากเพียงใดก็จะยิ่งช่วยให้การบรรยายและการบันทึกสภาพภายหลังการขุดแต่งโบราณสถานมีสาระและคุณภาพมากยิ่งขึ้น ระดับศักยภาพของข้อมูลและหลักฐานดังกล่าวมานี้จะช่วยอธิบายและเชื่อมโยงเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณสถานแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
สภาพรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ภายหลังการขุดแต่ง


เชิงรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์
การขุดลอกมูลดินและเศษอิฐหักออกจากพื้นที่เชิงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ทางด้านเหนือระยะห่างจากรากฐานพระที่นั่งประมาณ 5 เมตร ได้พบพื้นลานพระราชฐานอยู่ลึกลงไปจากผิวดิน ประมาณ 30-40 เซนติเมตร พื้นดังกล่าวถูกปูด้วยอิฐ ขนาดประมาณ 28 X 14 X 5 เซนติเมตร เหนืออิฐขึ้นไปจะมีพื้นปูนขาวเทราดทับอีกชั้นหนึ่งหรือไม่นั้น น่าสงสัยไม่น้อย อย่างไรก็ตามการพบชิ้นส่วนของแผ่นกระเบื้องอิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 30 X 30 X 3 เซนติเมตร ปริมาณเล็กน้อยที่หลุม 9N 7W ทำให้นึกเปรียบเทียบถึงพื้นระเบียงคดหรือพื้นลานประทักษิณที่วัดบางแห่งในเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งนิยมทำพื้นอิฐเหนือชั้นดินอัดก่อนจะปูด้วยแผ่นกระเบื้องอิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใกล้เคียงกันอีกครั้งหนึ่งแผ่นกระเบื้องอิฐชนิดนี้มีความแข็งแกร่ง ทนทาน และสวยงามมาก หากเคยถูกนำมาปูเรียงเป็นพื้นลานพระราชฐานในพระราชวังแห่งนี้มาก่อนก็น่าจะหลงเหลือร่องรอยหลักฐานไว้มากกว่านี้ หรือมิฉะนั้นก็อาจถูกรื้อไปใช้ประโยชน์จนหมดสิ้นแล้วก็ได้

เชิงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ทางด้านตะวันออกถูกออกแบบให้เป็นถนนพื้นอิฐ เทปูนขาวซึ่งมีส่วนผสมของหินอ่อนขนาดต่างๆกัน (ตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 -2.5 เซนติเมตร) ถนนสายนี้เริ่มต้นจากแนวประตูกำแพงด้านเหนือ ผ่านหน้าพระที่นั่งไปสู่ประตูพระราชฐานทางใต้ โดยมีจุดหักเลี้ยวไปทางตะวันออกที่กึ่งกลางรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นทางสามแพร่งมุ่งสู่ประตูพระราชฐานทางตะวันออก

ถนนดังกล่าวมีความกว้างประมาณ 4 เมตร ด้านตะวันออกของถนนถูกขุดเป็นรางระบายน้ำแล้วทำผนังอิฐเตี้ยๆยกเป็นขอบถนน ส่วนด้านตะวันตกมีแต่ขอบถนนเพียงอย่างเดียว

มีข้อถกเถียงพิจารณากันพอสมควรว่าพื้นถนนสายนี้เป็นของเดิมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรือจะถูกบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากมีมูลดินทับถมเพียงบางๆ และใช้อิฐไม่สมบูรณ์มาปูเรียงและแนวถนนลักษณะดังกล่าวมีร่องรอยอยู่ทั่วไปภายในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ข้อเสนอที่เห็นว่าถนนว่าจะเป็นของเดิมในสมัยอยุธยา พิจารณาจากส่วนผสมของปูนมีลักษณะใกล้เคียงกับพื้นปูนบนระเบียงพระที่นั่ง และปูสอกันซึมที่อ่างเก็บน้ำในพระราชฐานชั้นนอก

ที่หลุม 4N 1W (ด้านใต้ของมุขที่ยื่นออกมาทางตะวันออก) พบแผ่นหินชนวนขนาดประมาณ 30 X 50 X 5 เซนติเมตรวางเป็นแนวจากตะวันตกไปตะวันออกอยู่ใต้พื้นถนน ปิดบนท่อน้ำดินเผาอีกครั้งหนึ่ง เข้าใจว่าด้านเหนือของมุขก็น่าจะมีแนวดังกล่าวเช่นกัน


บริเวณเชิงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ด้านใต้ พบว่าพื้นพระราชฐานด้านนี้มีลักษณะเป็นลานเทด้วยปูนผสมทรายหยาบและหินอ่อนก้อนเล็กๆ พื้นบางส่วนมีอิฐทรงปริมาตรปูทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้ว่ามีความสัมพันธ์กับรากฐานอาคารอย่างไร เนื่องจากมีสภาพไม่ค่อยชัดเจนเท่าใดนัก


เมื่อทดลองขุดลอกมูลดินต่อเนื่องไปทางใต้ กว้าง 50 เซนติเมตร ห่างออกมาจากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ประมาณ 10 เมตร (ตรงกับพื้นที่หลุมทดสอบชั้นดินทางโบราณคดี 1S 3W) ก็พบว่ายังคงมีพื้นปูนเทกว้างออกไปประมาณ 10 และสิ้นสุดลงที่แนวชั้นอิฐกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร หากพิจารณาจากหลักฐาน Plan du Palais de Louvo แล้ว แนวอิฐชุดนี้น่าจะเป็นรากฐานของกำแพงล้อมพระราชอุทยานขนาดเล็กด้านเหนือและใต้ของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์นั่นเอง พระราชอุทยานดังกล่าวคงจะมีลักษณะเป็นสวนย่อมๆ มีพื้นลาดพระบาทเทปูน สำหรับเสด็จลงสำราญพระราชหฤทัยเมื่อทรงปลูกพรรณไม้หอมพันธุ์หายากด้วยพระองค์เอง ตามบันทึกของแชร์แวส เราจะเห็นประตูทางเข้าพระราชอุทยานทั้งสองฟากตั้งอยู่ด้านตะวันตก เยื้องกับประตูและบันไดของปีกอทางเหนือและใต้เล็กน้อย


ในพื้นที่หลุม 3N 4W ได้พบอ่างน้ำรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 1X1 เมตร ขอบกรุอิฐพื้นปูนอิฐ ฉาบปูนกันซึมแน่นหนา พบท่อดินเผาเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร ที่ขอบอ่างด้านใต้ท่อดังกล่าวนี้อาจเป็นท่อส่งน้ำจากพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ต่อเข้าไปยังพระราชอุทยานเล็กด้านใต้ด้านตะวันตกของอ่างมีหลุมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยอิฐตั้ง ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร แต่อาจจะบึกมากกว่านี้ก็ได้ (มีดินทับถมอยู่ข้างในช่องเล็กยากต่อการขุดตาม) ส่วนด้านเหนือบริเวณฐานระเบียงมีหลักฐานของการเซาะอิฐเป็นร่องกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร มุ่งตรงไปยังแผ่นหินชนวนกรุขอบลำรางแผ่นหินชนวนนี้เซาะด้านบนเป็นร่องรูปครึ่งวงกลม ขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลาง (ครึ่งวงกลม)ประมาณ 2.5 เซนติเมตร เช่นเดียวกับเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อน้ำดินเผาด้านล่าง หลักฐานนี้จะเป็นร่องรอยแนวของท่อโลหะสำริดที่ใช้ส่งน้ำจากลำรางไปยังอ่างน้ำและพระราชอุทยานด้านใต้ได้หรือไม่


ด้านตะวันออกของอ่างดังกล่าว เป็นบันไดอิฐขนาดประมาณ 60X100 เซนติเมตร รับกับบันไดด้านเหนือของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ซึ่งมีแผ่นหินแอนดีไซต์ปูอยู่บนขั้นบันได (8N 4W) บันไดด้านใต้นี้แต่เดิมก็น่าจะมีแผ่นหินแอนดีไซต์ปูทับอยู่ข้างบนเช่นกัน


เขามอและหลักฐานระบบการทดน้ำจ่ายน้ำ
เมื่อการขุดแต่งพื้นที่รอบๆเชิงเขามอ ทางเหนือของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ซึ่งบันทึกของนิโคลาส แชร์แวส ระบุว่าเป็นสระน้ำลักษณะคล้ายถ้ำเล็กๆ เสร็จสิ้นลง ได้พบแนวท่อน้ำดินเผาที่เชิงเขามอด้านเหนือ 2 แนว ทำมุมเฉียงกัน ท่อน้ำดังกล่าวมีต้นทางมาจากด้านเหนือ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทดน้ำเข้ามาใช้ภายในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ท่อน้ำทั้งสองแนวถูกฝังอยู่ใจ้ดินมีอิฐตะแคง อท่งศิลาแลงและพื้นปูนลานพระราชฐานปูทับตามลำดับอย่างแน่นหนามั่นคง


ฐานโดยรอบรูปครึ่งวงกลมทางด้านเหนือเชิงเขามอมีร่องรอยของการฝังท่อน้ำดินเผา ปิดทับด้วยแผ่นดินอิฐปูนอน ท่อดินเผาดังกล่าวอาจเป็นเพียงท่อระบายน้ำออกจากจุดใดจุดหนึ่งของระเบียงหรือสระน้ำด้านใต้ของเขามอ ขณะที่ฝั่งทางใต้ของเชิงเขามอ ซึ่งอยู่บนระเบียงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ได้ขุดพบลานอิฐขนาด 1.60X2.90 เมตร มีลำรางขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร ล้อมทั้งสี่ด้าน ที่มุมลำรางมีหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40-50 เซนติเมตร รวม 4หลุม หลักฐานที่พบนี้เป็นร่องรอยของสระน้ำหรืออ่างน้ำที่มีลักษณะคล้ายถ้ำเล็กๆ ในบันทึกของนิโคลาส แชร์แวส นั่นเอง หลุมทั้งสี่มุมของสระแห่งนี้น่าจะเป็นร่องรอยของหลุมเสากระโจมตามระบุในเอกสารเช่นกัน ใต้ช่องโค้งมุมแหลมด้านเหนือของสระน้ำหรืออ่างน้ำนี้ มีบ่อรูปรีหรือรูปกระเพาะหรือกระเปาะ มุมทางใต้ของบ่อทำเป็นรูปเหลี่ยมหรือมุขยื่นออกมา บ่อนี้ลึกประมาณ 70-80 เซนติเมตร ความกว้างใกล้เคียงกัน ด้านบนซ้ายและขวาเป็นท่อน้ำให้เกิดการใหลเวียนขนาดต่างกัน บ่อและท่อดินเผานี้ยาปูนแน่นหนา


การค้นพบสระน้ำหรือแท้ที่จริงก็คืออ่างน้ำขนาดใหญ่
การขุดแต่งที่บริเวณหลุม 2N 5W, 2N 6W, 3N 5W,3N 6W, อ้นเป็นที่ตั้งขององค์ประกอบสถาปัตยกรรมซึ่งเรียกในชั้นต้นว่า “ฐานน้ำพุ” ทางด้านใต้ของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ได้พบร่องรอยของสระน้ำหรืออ่างน้ำ ขนาดประมาณ 2.90X2.90 เมตร มีลำรางล้อมทั้ง 4 ด้าน และที่มุมลำรางก็มีหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 เซนติเมตรอยู่ทั้งสี่มุมด้วย ตรงจุดกึ่งกลางของสระหรืออ่างน้ำ มีท่อโลหะสำริดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร วางแนวทะลุถึงระดับพื้นพระราชอุทยาน ซึ่งแต่เดิมนักโบราณคดีเข้าใจว่าสระน้ำนี้เป็นร่องรอยของฐานน้ำพุ แต่เมื่อตรวจสอบจากหลักฐานของแชร์แวสโดยยึดจากการอ้างถึงสระน้ำด้านเหนือที่มีลักษณะคล้ายถ้ำ และการยึดหลักความลงตัวขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแล้วสิ่งที่เรียกว่าฐานน้ำพุทางด้านใต้ของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์นั้น น่าจะเป็นสระน้ำหรืออ่างน้ำอีกแห่งหนึ่งอันมีหลุมเสากระโจมเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งด้วย


ส่วนท่อสำริดซึ่งวางเป็นแนวฉากกับพื้นสระน้ำจะถูกวางใต้พื้นดินขณะสร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์มาจากท่อน้ำดินเผาเชิงเขามอด้านเหนือได้หรือไม่

มีข้อสงสัยอีกประการหนึ่งว่า ร่องรอยของสระน้ำทั้งทางด้านเหนือและด้านใต้ของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ที่ขุดพบ เป็นเพียงสระที่มีขนาดเล็กๆเท่านั้น (สระเหนือ 1.60X2.90 เมตร สระใต้ 2.90X2.90 เมตร) ขัดแย้งกับคำกล่าวของแชร์แวสที่ระบุว่า


“ที่มุมทั้งสี่มีสระน้ำใหญ่สี่บรรจุน้ำบริสุทธิ์ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน ภายใต้กระโจมซึ่งคลุมกั้น”


ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่แชร์แวสจะระบุถึง Les Bassins ซึ่งแม้จะแปลได้ทั้ง “สระน้ำ” หรือ “อ่างน้ำ” แต่โดยเจตนารมณ์ที่แท้จริงแล้ว เขาต้องการจะกล่าวถึงอ่างน้ำขนาดใหญ่มากกว่าและหลักฐานที่ขุดพบก็สนับสนุนความคิดนี้ยิ่งกว่าใด


ด้วยเหตุนี้เพื่อให้การเรียกองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมดังกล่าวนี้ มีความเหมาะสมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักฐานและสภาพความเป็นจริง ในชั้นนี้จะเรียก “สระน้ำ” ทั้งสี่แห่งว่า “อ่างน้ำ”ต่อไป


การขุดค้นพื้นที่บริเวณหลุม 5N 2W ได้พบร่องรอบของลานอิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ประมาณ 2.90 หรือ 3.00X2.90 หรือ 3.00 เมตร มีลำรางล้อมและมีหลุมเสากระโจมทั้งสี่มุมเช่นกันตรงกลางมีรูเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูท่อสำริด ซึ่งทดสอบความลึกได้ใกล้เคียงกับท่อสำริดในอ่างน้ำด้านใต้ สิ่งที่พบนี้คงจะเป็นอย่างอื่นไปเสียไม่ได้ นอกจากอ่างน้ำทางมุขด้านตะวันออกตามที่นิโคลาส แชร์แวส ระบุไว้ ด้วยเหตุจากลักษณะความคล้ายคลึงกันของหลักฐานนั่นเอง


การขุดพบอ่างน้ำจำนวน 3 สระ ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ในจุดที่รับกันขององค์ประกอบสถาปัตยกรรม คือ อ่างน้ำด้านเหนือคู่กับอ่างน้ำด้านใต้ และอ่างน้ำด้านตะวันออก เพราะฉะนั้นหากอาศัยหลักการเดียวกันอ่างน้ำแห่งที่ 4 ก็ควรจะอยู่ที่ชานระเบียงทางมุมทิศตะวันตกของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ หลุม 5 8 แต่ก็ไม่พบร่องรอยของอ่างน้ำ เมื่อตรวจสอบแผนผังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี ก็ได้พบจุดที่อยู่ห่างจากกำแพงคั่นพระราชฐานชั้นที่ 3 กับพระราชฐานฝ่ายใน ประมาณ 25-30 เมตร มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นอ่างน้ำแห่งที่ 4 แต่ก็ไม่ขอยืนยันมั่นคงเท่าใดนักในที่นี้


มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ในขณะที่อ่างน้ำทิศตะวันออกและทิศใต้มีท่อน้ำสำริดเป็นองค์ประกอบสำคัญในการส่งผ่านน้ำมายังอ่างน้ำ ส่วนอ่างน้ำด้านตะวันออกเชิงเขามอมีท่อดิเผาขนาดใกล้เคียงกันเป็นตัวปล่อยน้ำออกมา การลดขนาดของท่อจ่ายน้ำให้เล็กลง ย่อมจะทำให้น้ำมีแรงดังเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะดันออกมาในแนวระนาบหรือดันขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ในขณะที่น้ำในอ่างน้ำด้านตะวันออกอาจถูกปล่อยออกมาในแนวระนาบเป็นสายธารไหลวนอยู่ภายในถ้ำเล็กใต้เขามอ น้ำบางส่วนอาจจะถูกขึ้นไปบนเขามอด้วยอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วปล่อยให้ไหลลงมาเป็นน้ำตก ส่วนอ่างน้ำด้านตะวันออก ด้านใต้ และอ่างน้ำด้านตะวันตกนั้น แรงดังของน้ำจะทำให้เกิดน้ำพุพุ่งกระจายขึ้นมาเป็นสาย หากมีวัตถุบังคับทิศทางอย่างถูกต้องเหมาะสมก็อาจจะทำให้กระแสน้ำที่พุ่งขึ้นกลายเป็นน้ำพุที่พร่างพรายสายน้ำออกไปรอบทิศอย่างงดงาม


คำให้การขุนหลวงหาวัด นอกจากจะกล่าวถึงการสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ( คือ ดุสิตสวรรย์ธัญมหาปราสาท) และพระที่นั่งสวรรย์ (พระที่นั่งสุทธาสวรรย์) แล้ว ยังกล่าวถึงน้ำพุอ่างแก้ว ซึ่งมีน้ำดั้นน้ำกระดาษเป็นองค์ประกอบ


น้ำพุและอ่างแก้วนั้นมีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวของมันเอง แต่คำว่า “น้ำดั้น” กับ “น้ำกระดาษ” ดูเหมือนว่าอาจจะเลือนหายจากสำนึกรับรู้และพจนานุกรมฉบับปัจจุบันไปแล้ว


การอธิบายเพื่อทำความเข้าใจกับคำทั้งสองมิใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องอาศัยหลักการสังเกตและเชื่อมโยงหลักฐานทางโบราณคดีเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม


คำว่า “น้ำดั้น” หากมิได้หมายถึง ระบบการทดน้ำจ่ายน้ำ (ดั้น = มุดด้นไป, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525, หน้า 298) ไปตามท่อน้ำดินเผา ก็น่าจะหมายถึงน้ำพุที่ “ดั้น” ขึ้นจากอ่างน้ำหรือสระน้ำ


คำว่า “น้ำกระดาษ” นี้ ความจริงแล้วหลักฐานน่าจะบันทึกไว้ว่า “น้ำกระดาด” หรือ “น้ำดาด” มากกว่า เพราะอาจทำให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น หากเป็นเช่นนั้นแล้ว “น้ำกระดาษ” หรือ “น้ำกระดาด” หรือ “น้ำดาด” จะหมายถึงน้ำซึ่งไหลลงมาจากที่สูงได้หรือไม่ และที่สูงในความหมายที่เชื่อมโยงกับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์มากที่สุดก็คือ เขามอ น่าเสียที่คำว่า “ดาด” นั้น พจนานุกรมอธิบายว่าเป็นคำกริยา เช่นเอาวัตถุเช่นผ้าปิด ซึ่งให้ทั่วตอนเบื้องบน เช่น ดาดเพดาน ดาดหลังคา เมื่อเป็นคำวิเศษณ์แปลว่า ไม่ชัน เช่น หลังคาดาด เป็นต้น และหากยึดตามตำราแล้วการอธิบายว่า “น้ำดาด” หรือ “น้ำดาษ” หมายถึง น้ำซึ่งตกลงมาจากที่สูง เช่นเขามอ คงจะไม่ได้รับการยอมรับอย่างแน่นอน
หลักฐานในปีกอาคารเหนือ-ใต้

เมื่อการขุดแต่งปีกอาคารด้านเหนือ (พระปรัศว์ขวา) และปีกอาคารด้านใต้ (พระปรัศว์ซ้าย) แล้วเสร็จ ได้ค้นพบอ่างน้ำขนาดประมาณ 1.00X1.50 เมตร กรุด้วยหินอ่อนหนาประมาณ 4-5 เซนติเมตร (ควรตรวจสอบขนาดอีกครั้งเพื่อความแม่นยำ) ทั้งสองด้าน


อ่างหินอ่อนนี้มีลำรางส่งน้ำจ่ายน้ำ ซึ่งอาจโยงใยมาจากอ่างน้ำเชิงเขามอด้านเหนือก็ได้เนื่องจากได้พบทั้งแนวท่อน้ำดินเผาและแนวลำรางเลาะมาตามกำแพงแก้วโดยตลอด (จะได้กล่าวถึงข้างหน้า)


หลักฐานหลายชิ้น อาทิ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ระบุถึงเทคนิคการเก็บกักน้ำในอ่างว่าต้อง “กรุศิลายาปูนเป็นอันดี” (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 82, พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม,25357 หน้า 247) หรือ “ตรุศิลายาปูนเป็นอันดี” (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับพระพนรัตน์,2535,หน้า 214) การกรุศิลายาปูนนั้นอาจเป็นเทคนิคที่รู้จักกันดีของช่างไทย แต่การใช้หินอ่อนมาทำอ่างน้ำ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก


เอกสารสำคัญร่วมสมัย คือ จดหมายเหตุการณ์เดินทางครั้งที่ 2 ของบางหลวงกีย์ ตาชารต์ ระบุว่า โรงสวด Notre – Dame de Laurette ในบ้านของคอนสแตนติน ฟอลคอน มีการนำหินอ่อน “มาใช้อย่างไม่อั้น” แต่หินอ่อนนั้นเป็นวัสดุก่อสร้างทีมีค่าและมีราคาแพงมาในชมพูทวีป จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันการสร้างอ่างน้ำกรุหินอ่อนยาปูนกันซึมอย่างดีในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ จึงไม่น่าจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาสามัญ


เหตุใดนักโบราณคดีจึงมิได้ระบุว่าอ่างน้ำภายในพระปรัศว์ทั้งสองด้านเป็นอ่างน้ำจำนวน 2 ใน 4 อ่างที่แชร์แวส ระบุ ในที่นี้ยังไม่สามารถหาคำตอบที่เหมาะสมมาอธิบายได้ ทั้งๆที่เป็นจุดที่ไม่ควรจะมองข้าม


ทางด้านใต้ของพระปรัศว์ซ้ายมีบันไดปูด้วยแผ่นหินแอนดีไซต์ รับกับบันด้านเหนือของพระปรัศว์ขวา ซึ่งดูเหมือนว่าแผ่นหินแอนดีไซต์บางชิ้นจะถูกเคลื่อนย้ายออกไป


นอกจากแผ่นหินแอนดีไซต์จะถูกนำมาปูที่ขั้นบันไดแล้ว ยังพบว่ามีร่องรอยการนำหินชนิดดังกล่าวมาปูบนพื้นด้านตะวันตกและด้านใต้ของพระปรัศว์ขวา รวม 4 จุด และปูบนพื้นด้านเหนือและตะวันตกของพระปรัศว์ซ้าย รวม 4 จุดเช่นกัน แต่ร่องรอยการปูหินบางจุดถูกรื้อไปจนหมดสิ้นแล้ว จุดตังกล่าวคือด้านเหนือของพระปรัศว์ซ้าย (หลุม 3N 7W) ซึ่งได้พบร่องรอยของการถมทรายอัดและศษกระเบื้องเคลือมุงหลังจักรพรรดิคาสีเหลืองทับถมอยู่ด้านล่าง อันอาจเป้นหลักฐานบ่งบอกถึงการเชื่อมต่อพระปรัศว์ในระยะหลัง เนื่องจากพบการทำฐานเขียงและลวดลายบัวคว่ำอยู่ทีจุดนี้อย่างชัดเจน


สภาพระเบียงและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
การขุดแต่งระเบียงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ทำให้ได้พบหลักฐานลำรางกว้างประมาณ 30-40 เซนติเมตร วางแนวเลาะกำแพงแก้วของพระที่นั่งทั้งสามด้าน (เหนือ ตะวันออก ใต้) ด้านนอกของลำรางจะมีท่อน้ำดินเผาถูกฝังโผล่ปลายท่อขึ้นมาให้เห็น และตลอดแนวลำรางจะมีหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-40 เซนติเมตร เรียงรายอยู่เป็นระยะๆ


ในชั้นต้นนี้สันนิษฐานว่าลำรางอาจเป็นช่องสำหรับปล่อยให้น้ำไหลผ่านไปหล่อเลี้ยงอ่างน้ำในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ แต่หลุมเสาที่อยู่ตามแนวลำรางนั้น หาเป็นหลุมเสากระโจมก็อาจจะทำให้การไหลเวียนของน้ำไม่สะดวกเท่าที่ควร และมีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ เมื่อขุดแต่งบริเวณหลุม 3N 8W และ 8N 8W เสร็จสิ้นลง ได้พบหลักฐานแผ่นอิฐวางปิดอยู่เหนือปากลำราง ซึ่งทำเป็นแนวต่อเนื่องมาจากด้านตะวันออก ลำรางที่ขุดพบนี้น่าจะสัมพันธ์กับท่อน้ำดินเผาทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ของรากฐานท้องพระโรง (หรือด้านใต้ของขวาและด้านเหนือของพระปรัศว์ซ้าย)


ท่อน้ำดินเผาที่พบก็มีทั้งท่อน้ำทิ้งและท่อน้ำดี ท่อน้ำทิ้งจะทำหน้าที่ระบายน้ำฝนออกจากระเบียงพระที่นั่งลงสู่ลานด้านล่าง โดยโคนท่อและปลายท่อจะเป็นอิสระไม่เชื่อมกับท่ออื่น ส่วนท่อน้ำดีซึ่งพบด้านใต้ของพระปรัศว์ขวา และด้านเหนือของพระปรัศว์ซ้าย ได้ถูกฝังไว้อย่างมั่นคงใต้พื้นอิฐ มีข้องอและข้อต่อเป็นตัวบังคับทิศทางของท่อ สภาพของท่อทั้งสองด้านถูกฝังอยู่ในช่องลักษณะคล้ายลำราง (ดูแผนผังหลังการขุดแต่ง) จึงอาจเป็นไปได้ว่า แต่เดิมนั้นแนวลำรางทุกด้านของระเบียงพระที่นั่งจะมีท่อน้ำดินเผาฝังอยู่โดยตลอด เพื่อเป็นตัวจ่ายน้ำหล่อเลี้ยงอ่างน้ำทั้งสี่แห่งของท้องพระโรง รวมไปถึงอ่างน้ำในพระปรัศว์ซ้าย-ขวาด้วย ท่อน้ำดินเผาเหล่านี้ได้รับน้ำมาจากแหล่งจ่ายน้ำเชิงเขามอ ซึ่งได้รับน้ำมาจากอ่างแก้วด้านตะวันออกของพระราชฐานชั้นนอก ส่วนท่อน้ำดินเผาทางด้านตะวันออกของรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ อาจเป็นท่อส่งน้ำออกไปหล่อเลี้ยงพระราชอุทยานในพระราชฐานชั้นใน


พื้นระเบียงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ด้านเหนือบริเวณหลุม 7N 4W และใกล้เคียง มีหลักฐานการปูอิฐเฉียงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ และมีแนวเอ็นของคานฐานรากเอียงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนพื้นอิฐด้านอื่นนั้นกลับปูขนานกับแนวรากฐานอาคารตามปรกติ


เมื่อขุดลอกลึกลงในพื้นและร่องเอ็นไปเพียงเล็กน้อยก็พบทรายหยาบ อันเป็นทรายอัดรับน้ำหนักและกันการทรุดพังของโครงสร้าง ในชั้นแรกตั้งสมมติฐานว่าอาจเป็นแนวร่องวางท่อน้ำดินเผาหรือเกิดขึ้นเนื่องจากมีการซ่อมบูรณะในคราวใดคราวหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในขณะนี้


ทางด้านใต้ของอ่างน้ำด้านเหนือ และด้านเหนือของอ่างน้ำด้านใต้ตรงกับช่องประตูกลางท้องพระโรง (ด้านใต้เขามอ) พบแนวพื้นปูนขาวหนา 2 แนว คั่นด้วยร่องตื้นๆ แต่เดิมเข้าใจว่าเป็นทางน้ำที่สัมพันธ์กับอ่างน้ำทั้งสอง แต่เมื่อการขุดแต่งเสร็จสิ้นลงก็เห็นว่าแนวคิดดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานหรือเหตุผลที่เหมาะสมรองรับ


ท้องพระโรงพระที่นั่ง
การขุดแต่งพื้นท้องพระโรง พบหลักฐานการปูพื้นอิฐขนาดเดียวกับอิฐที่ใช้ก่อองค์ประกอบส่วนอื่น และเมื่อได้ขุดตรวดชั้นดินในหลุม 5 4 อันเป็นแอ่งใหญ่ที่ถูกขุดเจาะเอาทรายอัดออกไป ได้พบว่าลึกลงไปพอสมควร ยังคงเป็นชั้นทรายอัดอยู่เช่นเดิม


การพบหลักฐานร่องรอยขององค์ประกอบโบราณสถานภายหลังการขุดแต่ง นับว่าเป็นสิ่งทีมีคุณค่ายิ่งต่อนโยบายและการวางแผนอนุรักษ์และพัฒนารากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ให้ดำรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม และโบราณคดี ต่อไปในอนาคต แม้การขุดแต่งครั้งนี้จะตอบคำถามของนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอาจมีหลักฐานบางอย่างหลุดรอดสายตาของนักโบราณคดีไปบ้าง (อาทิแนวท่อน้ำสำริดและแนวท่อน้ำดินเผา เป็นต้น) เนื่องจากการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2540 ได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่ขุดแต่งไว้เพียง 800 ตารางเมตรเศษ ขณะที่หลักฐานเอกสารในอดีตบันทึกขนาดดั้งเดิมของราดฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์และหมู่ตำหนักบริวารโยงใยออกไปมากกว่า 1 เท่าตัว ดังนั้น เชื่อว่าในโอกาสที่เหมาะสมแล้วคงจะได้มีการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนารากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์อย่างเต็มรูปแบบต่อไป

รูปวิเคราะห์พระที่นั่งสุทธาสวรรย์
จากการทรุดพังจนเหลือแต่พื้นและผนังบางส่วนของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เช่นนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะอธิบายลักษณะและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งองค์นี้ให้เห็นภาพใกล้เคียงกับสภาพดั้งเดิมในอดีตได้มากที่สุด โดยอาศัยการศึกษา วิเคราะห์ เปรียบเทียบ และตีความจากหลักฐาน เอกสารและหลักฐานในโบราณคดีที่พบจากการขุดค้นและการขุดแต่งทางวิชาการเป็นสำคัญ


พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดเป็นสถาปัตย -กรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุถึงการสร้าง “พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท” ว่า มีพระที่นั่งฝ่ายขวาชื่อ “สุทธาสวรรย์” มีพระที่นั่งฝ่ายซ้ายชื่อ “จันทรพิศาล” (คำให้การขุนหลวงหาวัด, 2515, หน้า 327-328) เห็นได้ชัดว่าหลักฐานชิ้นนี้ให้ความสำคัญแก่พระที่นั่งดุสิตสวรรย์มากกว่าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ และพระที่นั่งจันทรพิศาล แต่หลักฐานพระราชพงศาวดารหลายฉบับและเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ระบุถึงการก่อพระมหาปราสาทสององค์ในพระราชวังที่เมืองลพบุรี คือ พระที่นั่งดุสิตสวรรย์ธัญมหาปราสาท และพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ (หรือสุทไธสว-ริย์มหาปราสาท[1]) ในลักษณะที่ให้ความสำคัญเท่าเทียมกัน


เอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมเป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที ซึ่งกล่าวถึงสภาพแวดล้อมทางสถา-ปัตยกรรมโดยทั่วไปในพระราชวังที่เมืองลพบุรีว่าประกอบด้วยพระมหาปราสาทสององค์และพระที่นั่งใหญ่น้อยไม่มียอดหลายองค์ โดยเฉพาะพระที่นั่งสุทไธยสวริย์มหาปราสาท และพระที่นั่งดุสิตสวริยธัญมหาปราสาททั้งสององค์นั้น หลัก-ฐานระบุว่ามียอดทรงมณฑปยอดเดียว มีมุขซ้อน 4 ชั้น และมีฝาทั้ง 4 ด้าน[2]


อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะพบหลักฐาน เอกสารระบุอย่างชัดเจนว่า หลังคาหรือเครื่องบนของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์มียอดทรงมณฑป แต่เนื่องจากรากฐานท้องพระโรงของพระที่นั่งมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีมุขยื่นออกมาทั้งทางด้านเหนือและด้านใต้ เพื่อเป็นโครงสร้างรองรับน้ำหนักเครื่องบนยอดมณฑปของพระที่นั่ง จึงอาจเป็นไปได้ว่า เครื่องบนของส่วนที่เป็นท้องพระโรงนั่นอาจเป็นหลังคาลดชั้น 3 ชั้น ไม่มียอด เนื่องจากอาจเป็นเพียงมุขยื่นออกมาจากโครงสร้างหลักของพระที่นั่ง ซึ่งอยู่ถัดออกไปทางด้านหลัง (ดูแผนผังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี) หรือมิฉะนั้นท้องพระโรงก็อาจเป็นโครงสร้างหลักของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ซึ่งอาจมียอดทรงมณฑป หรือไม่มียอดทรงมณฑปก็เป็นได้


จากปัญหาที่ประสบข้างต้น รูปวิเคราะห์ประกอบการสันนิษฐานลักษณะโครงสร้างส่วนบนของท้องพระโรงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ จึงถูกเสนอเป็นสองแบบ คือ
1. ท้องพระโรงหลังคาลดชั้น 3 ชั้น ยอดมณฑป
2. ท้องพระโรงหลังคาลดชั้น 3 ชั้น ไม่มียอดมณฑป

รูปวิเคราะห์แบบที่ 1 (ยอดมณฑป)
แสดงลักษณะของหลังคาลดชั้น 3 ชั้น เครื่องมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ บัวหัวเสาเป็นบัวแวงหรือบัวกลีบยาวแบบอยุธยาตอนปลาย ผนังมีคันทวยรองรับส่วนชายคา ประตูและหน้าต่างด้านตะวันออกและตะวันตกเป็นช่องโค้ง โดยยึดถือรูปแบบมาจากพระที่นั่งดุสิตสวรรย์ธัญมหาปราสาท
กระเบื้องมุงหลังคาของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นกระเบื้องลูกฟูกตัวผู้-เมียเคลือบสีเหลืองแบบ Imnperial Yellow ตามปริมาณที่พบจากการขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้ สำหรับกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแบบ Local Yellow Tiles ที่พบมากเป็นอันดับสองรองจากกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแบบ Imnperial Yellow Tiles นั้น ไม่ปรากฏหลักฐาน เอกสารระบุว่าเป็นวัสดุที่ใช้ในช่วงเวลาก่อน-หลัง-หรือเวลาเดียวกัน จึงไม่สามารถอธิบายได้ในชั้นนี้


กระเบื้องเชิงชายของท้องพระโรงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์มีลักษณะเป็นรูปคล้ายกระจังสามยอด มีทั้งเนื้อแกร่ง แบบกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแบบ Imperial Yellow และแบบเนื้อดินธรรมดา (Earthenware) เคลือบสีเหลืองแบบพื้น เมือง ซึ่งหากยึดหลักการสันนิษฐานแบบอธิบายด้วยเหตุผลและบริบททางประวัติศาสตร์ เปรียบเทียบกับการได้รับอิทธิพลการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบเคลือบผิวจากจีนแล้ว ก็น่าเชื่อว่าการทำกระเบื้องเชิงชายทรงกระจัง 3 ยอด และกระเบื้องมุงหลังคาเคลือบผิวสีเหลืองแบบท้องถิ่น อาจถูกทำขึ้นในสมัยหลังสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดังปรากฎหลักฐานการผลิตกระเบื้องเคลือบผิวสีเหลืองในสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, อ้างแล้ว, หน้า 72)


ลักษณะยอดมณฑปลดชั้น 7 ชั้น ซึ่งแสดงในแบบรูปวิเคราะห์นี้ประยุกต์ขึ้นมาแบบยอดมณฑปของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ ผสมผสานกับมณฑปสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมที่พระพุทธบาท จ.สระบุรี


รูปวิเคราะห์แบบที่ 2 (ไม่มียอดทรงมณฑป)
แสดงลักษณะท้องพระโรงมีหลังคาลดชั้น 3 ชั้น ไม่มียอดทรงมณฑป ส่วนองค์ประกอบอื่นๆนั้น มีรายละเอียดเช่นเดียวกับรูปวิเคราะห์แบบที่ 1


การศึกษาชั้นดินทางโบราณคดี
ผลจากการขุดค้นในหลุมทดสอบ 1S 3W ทำให้ทราบว่า ชั้นดินในหลุมขุดค้นตั้งแต่ระดับ 30 cm.dt. ถึงประ-มาณ 210 cm.dt. อาจเป็นชั้นดินถมใหม่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ระหว่างมีการเตรียมปรับพื้นพระราชฐานชั้นที่ 3 เพื่อรองรับฐานรากของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เราจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน จากกรณีที่มีการนำทรายหยาบและทรายละเอียดมาบดอัดสลับกันรองรับบริเวณโดยรอบ ไม่ห่างไกลจากรากฐานและฐานรากพระที่นั่งเท่าใดนัก ทรายบดอัดบางส่วนมีชั้นดินเหนียวสีเทาแกมขาวแทรกอยู่เป็นช่วงๆ แลเห็นโดดเด่นตัดกับชั้นทราย


ชั้นดินธรรมชาติในพื้นที่นี้ ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์อาจอยู่ในระดับ 200 – 210 cm.dt. ดังจะสังเกตว่า มีการพบชิ้นส่วนกระเบื้องมุงหลังคาแบบลูกฟูกมีเดือยแบบหนา ต่อออกมาจากขอบชายกระเบื้องด้านบน แทนที่จะเป็นเดือยซึ่งยื่นออกมาจากท้องกระเบื้องด้านล่างตามปกติในยุคหลังๆ
แม้จะพบโบราณวัตถุในชั้นดินตั้งแต่ 30 -210 cm.dt. อันเป็นชั้นดินถมหรือทรายอัด แต่ก็เป็นการพบแบบไม่หนาแน่น แสดงให้เห็นถึงการปะปนมากับชั้นดินในช่วงที่มีกิจกรรมปรับพื้นที่พระราชฐานชั้นที่ 3 หลักฐานโบราณวัตถุที่พบในชั้นดินลึกกว่า 210 cm.dt. จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงเรื่องราวการอยู่อาศัยของคนในพื้นที่นี้ ก่อนจะมีการสร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ และกำหนดอายุในราวก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างน้อย


หลักฐานการขุดตรวจชั้นดินในหลุม 1S 3W มีความสอดคล้องกับชั้นดินในหลุม 5N 4W (ส่วนท้องพระโรงที่ประทับ) เราได้พบชั้นทรายบดอัดเพื่อรองรับน้ำหนัก กันการเลื่อนและทรุดพังของฐานรากพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ อย่างน้อยก็อยู่ที่ระดับ 200 เซนติเมตร ลงไปพื้นอิฐของท้องพระโรง ซึ่งนาเชื่อว่าการบดอัดทรายลงไปในฐานรากอาจลึกถึง 3.50 เมตร (จากพื้นท้องพระโรง) ชั้นทรายอัดล่างสุดของฐานรากส่วนท้องพระโรงจึงจะอยู่ระดับเดียวกับชั้นทรายในหลุม 1S 3W


เทคนิคการใช้ทรายบดอัดรองรับน้ำหนักอาคารและกันการเลื่อนไถล – ทรุดพัง เป็นภูมิความรู้ที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยลพบุรี โดยมีหลักฐานให้เห็นจากหลุมทดสอบชั้นดินทางโบราณคดีที่โบราณสถานพระปรางค์สามยอด การใช้ทรายบดอัดรองรับฐานราก (แทนที่จะใช้ดินเหนียวเช่นเดียวกับอยุธยา) อันสืบทอดมาจนถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (อย่างน้อยก็ในพระราชวังนารายณ์นิเวศน์) จะทำให้สามารถอธิบายในประเด็นของการสืบทอดทางเทคโนโลยีและวัฒน-ธรรมของกลุ่มชนในบริเวณนี้อย่างไม่ขาดตอนสูญหายไปเลยได้หรือไม่ นั่นคือกลุ่มคนที่สร้างพระปรางค์สามยอดก็คือกลุ่มคนเชื้อสายเดียวกันกับไพร่ที่ถูกเกณฑ์มาเป็นแรงงานในการก่อพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ แต่ความคิดนี้อาจถูกโต้แย้งได้ในเรื่องสภาพภูมิประเทศของลพบุรี เพราะดินเหนียวอาจหายากกว่าทรายก็ได้ ดังนั้นจึงควรประมวลข้อมูลหลักฐานจากโบราณสถานหลายๆแห่งมาพิจารณาประกอบกัน

เศษภาชนะดินเผาที่พบจากการขุดค้นหลุม 1S 3W
เศษภาชนะดินเผาที่พบจากการขุดค้นหลุม 1S 3W แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ Earthenware, Stoneware และ Porcelain ในที่นี้จะเสนอผลการศึกษาโบราณวัตถุดังกล่าวทีละระดับรวมกัน เพื่อช่วยให้แลเห็นภาพรวมการแพร่ กระจายเศษภาชนะดินเผาในแต่ละระดับของชั้นดินในหลุมขุดค้น
ระดับ 30 – 50 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาเล็กน้อย จำแนกเป็น
Earthenware
-เศษหม้อลายสลับฟันปลาขูดร่องด้านล่าง ขอบปากหม้อคอสูง ปากผายออก
-หูกระปุกดินเผา จัดเป็นเศษภาชนะจากแหล่งพื้นเมืองในเขตเมืองลพบุรี
Stoneware
-ชิ้นส่วนก้นไหเท้าช้างเคลือบผิวสีน้ำตาลปนดำ จากเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี
Porcelain
-ไม่พบ
ระดับ 50 – 70 cm.dt. ไม่พบเศษภาชนะดินเผา
ระดับ 70 – 90 cm.dt. ไม่พบเศษภาชนะดินเผา
ระดับ 90 – 110 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผา 1 ชิ้น
Earthenware
-เศษภาชนะดินเผาไม่มีลาย 1 ชิ้น
Stoneware
-ไม่พบ
Porcelain
-ไม่พบ


ระดับ 110 – 130 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาเล็กน้อย ( 95 กรัม )
Earthenware
-ไม่พบ
Stoneware
-พบชิ้นส่วนคอของภาชนะเนื้อหนาประเภทไหเท้าช้าง จากแหล่งเตาวัดพระปรางค์ (เตาแม่น้ำน้อย)
-ชิ้นส่วนไหไม่มีลายจากเตาบ้านบางปูน
Porcelain
-ไม่พบ
ระดับ 130 – 140 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาเล็กน้อย ( 100 กรัม )
Earthenware
-เศษหม้อดินเผาลายขูดขีดตัดกันไปมาไม่เป็นระบบ 2 – 3 ชิ้น
Stoneware
-ไม่พบ
Porcelain
-ชิ้นส่วนก้นชามเคลือบแบบ Blue and White สมัยราชวงศ์หมิง (ลายใบไม้ดอกไม้)
ระดับ 140 – 150 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาเล็กน้อย ( 120 กรัม )
Earthenware
-เศษหม้อดินเผาลายสลับฟันปลา
-เศษหม้อลายขูดขีดตัดกันไปมา และลายสลับฟันปลาคั่นร่อง
-เศษหม้อขูดเป็นร่องขนาดใหญ่ดิ่งลงเป็นทางรอบไหล่
Stoneware
-ไม่พบ

Porcelain
-ก้นชามแบบ Blue and White ลายใบไม้ สมัยราชวงศ์หมิง
ระดับ 150 – 160 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาเล็กน้อย (300 กรัม)
Earthenware
-เศษหม้อลายสลับฟันปลา ขอบปากหม้อผายออก เคลือบผิวด้วยน้ำดินสีแดง เนื้อบาง
-ชิ้นส่วนฝาหม้อแบบฝาละมี (ฝาแอ่นหงายจุดบน)
-ตะคันดินเผาก้นตัด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4.5 ซ.ม.
-เศษหม้อขูดลายเป็นร่องรอบๆไหล่ 4 ร่อง
Stoneware
-เศษเครื่องถ้วย เคลือบผิวสีขาวขุ่น เขียนลายสีน้ำตาลอมดำใต้เคลือบ เตาสุโขทัย
ชิ้นส่วนไหผิวสีดำอมเทา ไมมีลาย เตาแม่น้ำน้อย
Porcelain
-ไม่พบ
ระดับ 160 – 170 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาเล็กน้อย ( 350 กรัม )
Earthenware
-เศษหม้อดินเผาลายขูดขีดตัดกันเป็นตารางสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
-จุกภาชนะ (ชิ้นส่วนฝาภาชนะแบบฝาละมีจุกบน)
Stoneware
-ชิ้นส่วนไหเนื้อหนา ผิวสีเทาอมดำ ขูดลายลูกคลื่นซ้อนกัน 3 ลายใต้คอ แบบภาชนะเตาแม่น้ำน้อย
-ชิ้นส่วนโอ่งดินเผาเนื้อหนา ผิวสีส้มแบบเตาแม่น้ำน้อย
-ชิ้นส่วนฝาภาชนะเคลือบผิวสีน้ำตาลแบบเตาแม่น้ำน้อย
-ชิ้นส่วนเครื่องเคลือบสีเขียว (ชาม) แบบเตาศรีสัชนาลัย
Porcelain
-เศษชามแบบ Blue and White 3 ชิ้น สมัยราชวงศ์หมิง
ระดับ 170 – 180 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาเล็กน้อย ( 300 กรัม )
Earthenware
-เศษขอบปากหม้อเคลือบน้ำดินสีแดง เนื้อบาง ผิวละเอียด
-เศษหม้อดินเผาไม่มีลายชิ้นเล็กๆ
Stoneware
-ไม่พบ
Porcelain
-ไม่พบ
ระดับ 180 – 190 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาเล็กน้อย ( 470 กรัม )
Earthenware
-ขอบปากหม้อดินเผา ทรงสูงผายออก เนื้อบาง ผิวสีส้ม
-เศษหม้อลายสลับฟันปลา
-เศษหม้อลายขูดขีดตัดกันไปมา
Stoneware
-ขอบปากกระปุก เนื้อบาง สีเทา ไม่เคลือบผิว แบบเตาแม่น้ำน้อย
-ก้นอ่างเคลือบผิวด้านในสีน้ำตาลอมเหลือง เตาแม่น้ำน้อย
-ชิ้นส่วนชามเคลือบสีเทาอมฟ้า แบบเตาศรีสัชนาลัย
Porcelain
-ไม่พบ


ระดับ 190 – 200 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาเล็กน้อย ( 500 กรัม )
Earthenware
-ชิ้นส่วนฝาจุกภาชนะดินเผา
-เศษหม้อดินเผาลายขูดขีดตัดกันไปมาเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
Stoneware
-เศษถ้วยเคลือบสีขาวขุ่นขนาดเล็ก จำแนกไม่ได้ว่ามาจากแหล่งใด
-ชิ้นส่วนก้นครกดินเผาเนื้อหนาคล้ายเตาแม่น้ำน้อย
-ชิ้นส่วนไหดินเผา เนื้อหนา ลายพวงอุบะ ( ลายคล้ายพู่หรือเม็ดพริก ) เตาบ้านบางปูน
Porcelain
-ไม่พบ
ระดับ 200 – 210 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาเล็กน้อย ( 1,900 กรัม )
Earthenware
-เศษหม้อลายสลับฟันปลา
-เศษหม้อลายขูดเป็นร่องคล้ายรูปสามเหลี่ยมซ้อนกัน
-เศษหม้อขูดขีดเป็นตาราง
-เศษหม้อทำลวดลายคล้ายไผ่สานทาบ
-เศษหม้อมีลายเป็นร่องรอบคอ
-ฝาภาชนะดินเผา
-เศษคณฑีหรือป้านน้ำ เคลือบน้ำดินสีแดงเขียนลายสีดำ เตาสุโขทัย
Stoneware
-ชิ้นส่วนชามเคลือบสีเขียวอมฟ้ามีลายนูนรูปกลีบบัวที่ก้น จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
-ชิ้นส่วนไหเนื้อหนา ผิวสีเทา
-ชิ้นส่วนไหเนื้อหนา ประดับลายดอกไม้ 4 กลีบ (คล้ายดอกลำดวน) ใต้ลายลูกคลื่น
-ชิ้นส่วนอ่างดินเผา เนื้อค่อนข้างแกร่ง เคลือบน้ำดินสีแดง
Porcelain
-ไม่พบ
ระดับ 220 – 230 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาทับถมหนาแน่น ( 2,500 กรัม )
Earthenware
-เศษขอบปากหม้อแบบโค้งผายออก มีลายกดหรือขีดเป็นเส้นหยักสั้นๆรอบคอ เคลือบผิวด้วยน้ำดินสีดำ
ไม่ค่อยพบบ่อยนัก
-เศษหม้อเนื้อหนา ค่อนข้างแกร่ง มีลายขูดเป็นร่อง 3 ร่องรอบตัว
-เศษหม้อลายสลับฟันปลา
-เศษหม้อลายขูดคล้ายไผ่สานทาบ
-เศษหม้อขูดเป็นลายรูปสามเหลี่ยมซ้อนกัน
-เศษฝาหม้อดินเผา
-จุกฝาหม้อยอดแหลม
-ชิ้นส่วนตะคันดินเผา แบบก้นตัด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4.5 ซ.ม.
Stoneware
-ชิ้นส่วนไหเนื้อหนา ผิวสีเทา ประดับลายดอกพิกุลหรือดอกลำดวน (รางเลือน) รอบคอแบบเตาบ้านบางปูน
-ชิ้นส่วนไหเนื้อหนาแบบเตาแม่น้ำน้อย
-เศษชามเคลือบผิวสีเขียวอมน้ำตาล เตาศรีสัชนาลัย
-เศษชามเคลือบผิวสีขาวขุ่น เขียนลายสีดำแบบเวียดนาม
-เศษชามเคลือบผิวสีเขียว ขอบปากหยักแบบใบบัว เตาหลงฉวน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 – 20
Porcelain
-ไม่พบ

ระดับ 230 – 240 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาค่อนข้างหนาแน่น ( 4,200 กรัม )
Earthenware
-เศษหม้อลายขูดขีดตัดกันไปมาไม่เป็นระบบ
-เศษหม้อลายประทับรูปสามเหลี่ยมซ้อนกัน
-เศษหม้อลายตีตัดกัน มีปุ่มรอบคอ
-เศษหม้อร่องไขว้ตัดกัน
-เศษหม้อลายไผ่สาน
-เศษหม้อลายสลับฟันปลา
-ชิ้นส่วนคณฑีหรือป้านน้ำ เคลือบน้ำดินสีแดง เขียนลายสีดำเป็นเส้นรอบตัว (คล้ายแหล่งเตาสุโขทัย)
Stoneware
-เศษชามเคลือบสีขาว เขียนลายสีดำหรือน้ำเงินอมเขียว เตาสุโขทัย
-เศษชามเคลือบสีขาวขุ่น เขียนลายสีดำ แหล่งเตาสุโขทัย
-เศษชามเคลือบสีขาวอมเขียวเนื้อดินหยาบ (คล้ายแหล่งเตาในเวียดนาม)
-เศษชามเคลือบผิวสีเขียวอมฟ้า แบบเตาศรีสัชนาลัย
-ชิ้นส่วนไหปากกว้าง เนื้อหนา เตาแม่น้ำน้อย
Porcelain
-เศษชามเคลือบผิวสีขาว เขียนลายสีแดงในช่องกระจก สมัยราชวงศ์หมิงตอนปลาย (พบเพียงชิ้นเดียว)
ระดับ 240 – 250 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาหนาแน่น ( 6,200 กรัม )
Earthenware
-ชิ้นส่วนฝาหม้อ แบบแอ่นหงายมีจุก (ฝาละมี)
-เศษหม้อลายสลับฟันปลา แบบร่องคั่น
-เศษหม้อลายร่องตัดกันคล้ายรปทรงเราขาคณิต
-เศษหม้อประทับลายคล้ายไผ่สานทาบ
-ชิ้นส่วนป้านน้ำหรือคณฑี เนื้อบาง เคลือบน้ำดินสีแดง เขียนลายสีดำเป็นเส้นรอบภาชนะซ้อนกัน ลักษณะ
คล้ายเศษภาชนะที่พบในระดับ 210 -220 cm.dt.
Stoneware
-เศษไหเนื้อหนา ประทับลายดอกไม้สี่กลีบ
-ชิ้นส่วนไหขีดลายวงแหวนรอบคอ
-ชิ้นส่วนไหหรืออ่าง มีลายลูกคลื่นซ้อนกันรอบคอ
-ชิ้นส่วนไหหรืออ่าง มีร่องนูนสลับการกดด้วยเปลือกหอยแครง
-ชิ้นส่วนไหเท้าช้าง
-เศษชามเคลือบสีเขียว มีรอยแตกราน 1 ชิ้น เตาศรีสัชนาลัย
-เศษชามเคลือบเขียวอมเทา เขียนลายสีเขียวอมน้ำตาล เตาสันกำแพง 1 ชิ้น
-เศษชามเคลือบเขียวมีลายใบไม้ในเนื้อภาชนะ เตาศรีสัชนาลัย
Porcelain
-ไม่พบ
ระดับ 250 – 270 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผา ( 1,750 กรัม )
Earthenware
-เศษหม้อลายสลับฟันปลา
-เศษหม้อลายประทับคล้ายไผ่สานทาบ
-เศษหม้อผิวเรียบ สีส้ม เนื้อบาง
Stoneware
-ชิ้นส่วนไหเนื้อหนา ลายสลับฟันปลา
-ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยเคลือบ เตาศรีสัชนาลัย
Porcelain
-ไม่พบ
ระดับ 270 – 290 cm.dt. พบเศษภาชนะดินเผาหนาแน่น ( 4,800 กรัม )
Earthenware
-ชิ้นส่วนฝาหม้อมีจุกกลมมนแบบฝาละมี
-เศษหม้อลายสลับฟันปลา
-เศษหม้อประทับลายคล้ายไผ่สานทาบเป็นร่อง
-เศษหม้อขูดขีดตัดกันเป็นตารางสี่เหลี่ยม
-เศษหม้อขูดลายเป็นร่องรอบคอ
-เศษหม้อประทับลายรูปสามเหลี่ยมระหว่างร่องลึก
-เศษหม้อลายลูกคลื่นซ้อนกันคล้ายที่พบใน Stoneware
Stoneware
-ชิ้นส่วนไหปากกว้างประทับลายกลีบดอกไม้รอบๆปาก คล้ายกลีบบัว เตาแม่น้ำน้อย
-ชิ้นส่วนไหลายลูกคลื่นซ้อนกันใต้แนวร่องนูน เตาแม่น้ำน้อย
Porcelain
-ไม่พบ

บทสรุปและข้อเสนอในการออกแบบบูรณะ
หลักฐานจากเอกสารหลายชิ้น อาทิ พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ คำให้การของขุนหลวงหาวัด คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม บันทึกของชาวต่างชาติร่วมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แผนผังจากการสำรวจของวิศวกรต่างชาติในขณะนั้น และแผนผังพระนารายณ์ราชนิเวศน์เมืองลพบุรี จากการสำรวจของพระยาโบราณธานินทร์ รวมทั้งหลักฐานที่พบจากการขุดแต่งพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นสิ่งที่ช่วยให้แลเห็นลักษณะและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของรากฐานอาคารแห่งนี้ได้อย่างค่อนข้างชัดเจนว่า เคยเป็นพระมหาปราสาทหลักคาทรงมณฑปยอดเดียว มีมุขซ้อนสี่ชั้น มีผนังทั้งสี่ด้าน มีพระปรัศว์ซ้ายขวาชักออกไปทางเหนือและใต้ มีกำแพงแก้ว กำแพงปีกท้องพระโรง และอ่างน้ำขนาดใหญ่ เป็นที่สรงสนาน แต่ปัญหาก็คือ ลักษณะสถาปัตยกรรมซึ่งมีหลังคาเป็นทรงมณฑปมักจะมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ขณะที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ดังนั้นผังวิเคราะห์รูปทรงสัณนิษฐานของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์จึงเสนอเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบที่มียอดมณฑปและไม่มียอดมณฑป


รากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์นั้นมีขนาดใหญ่กว่าพระที่นั่งดุสิตสวรรย์ธัญมหาปราสาท ซึ่งเป็นพระมหาปราสาทยอดมณฑปอีกแห่งหนึ่งในพระราชวังเมืองลพบุรี แต่จากการเปรียบเทียบได้พบว่า เสาติดผนังของพระที่นั่งทั้งสองมีขนาดกว้างเท่ากัน ดังนั้นหลักฐานจุดนี้อาจชี้ได้ว่าความสูงของพระที่นั่งสุทธา-สวรรย์กับพระที่นั่งดุสิตสวรรย์ธัญมหาปราสาทคงจะมีขนาดใกล้เคียงกันด้วย และหากคำนึงถึงความเหมาะสมทางภูมิประเทศในพระราชฐานชั้นที่ 3 ซึ่งลดระดับต่ำลงไปกว่าพื้นดินที่รองรับพระที่นั่งดุสิต-สวรรย์ธัญมหาปราสาทแล้ว ระดับน้ำสมมติของหลังคาพระที่นั่งทั้งสององค์น่าจะเท่ากันได้เพื่อทัศนียภาพที่งดงาม


การพบหลักฐานชิ้นส่วนกระเบื้องเคลือบแบบสีเหลืองจักรพรรดิ บริเวณใต้แนวฐานเขียงและลวดบัว ระหว่างพระปรัศว์ซ้ายกับรากฐานระเบียงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ชี้ให้เห็นว่าเมื่อแรกสถาปนาในปี พ.ศ. 2209 พระที่นั่งสุทธาสวรรย์มีแผนผังอาคารจำกัดอยู่เพียงแค่รากฐานระเบียงพระที่นั่งและท้องพระโรง หลังคาของท้องพระโรงนั้นถูกมุงด้วยกระเบื้องมุงหลังคาแบบสีเหลืองจักรพรรดิอยู่จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2219 เมื่อช่างฝรั่งเศสและช่างอิตาเลียนเข้ามาปรับปรุงระบบการทดน้ำจ่ายน้ำในพระราชวัง เมืองลพบุรี ทำให้มีการขยายรากฐานพระที่นั่งออกไปทั้งด้านเหนือและด้านใต้ พระปรัศว์ซ้ายและขวาก็คงจะถูกต่อเติมขึ้นมาในคราวนี้ โดยช่างทั้งสองชาติได้ฝังแนวท่อน้ำดินเผาโดยรอบระเบียงพระที่นั่งต่อเนื่องมาจากเชิงเขามอด้านใต้เพื่อนำน้ำมาหล่อเลี้ยงอ่างน้ำทุกอ่างในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ การขยายผังพระที่นั่งครั้งนี้คงจะได้ใช้กระเบื้องมุงหลังคาดินเผาสีเหลืองแบบท้องถิ่นมาเสริมกระเบื้องมุงหลังคาสีเหลืองจักรพรรดิส่วนที่ชำรุด และถูกนำมาอัดร่วมกับชั้นทรายใต้พื้นอาคารที่ต่อเชื่อมกัน มิใช่เป็นการเปลี่ยนกระเบื้องใหม่ทั้งหมด เหตุที่เห็นว่ามีการนำกระเบื้องดินเผาสีเหลืองแบบท้องถิ่นมาใช้มุงเครื่องบนพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ในคราวนี้ เนื่องจากภาวะการค้ากับจีนในขณะนั้นเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้วก็ได้ นอกจากนี้กรุงศรีอยุธยาอาจจะสามารถทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองได้เองแล้วในระยะนั้น (ดูสมัยพระเพทราชาและการสร้างวัดบรมพุทธาราม ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, หน้า 72)


หลักฐานจากแผนผังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี ยืนยันให้ทราบว่ากำแพงที่คั่นระหว่างพระราชฐานชั้นที่ 3 กับพระราชฐานฝ่ายใน และตัดบางส่วนของรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ออกไป เป็นสิ่งที่ทำขึ้นหลังสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กำแพงดังกล่าวน่าจะเป็นหลักฐานที่เชื่อมโยงกับประวัติเรือนจำลพบุรีในอดีตมากกว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา น่าเสียดายที่กำแพงเรือนจำแนวนี้ถูกก่อเสริมให้สูงและก่ออิฐอุดช่องประตูกำแพงพระราชฐานฝ่ายในของเดิมสมัยพระนารายณ์จนเหลือเพียงช่องเดียวทางด้านเหนือ ทำให้บดบังความสง่างามและทำลายทัศนียภาพของพระราชฐานชั้นที่ 3 และพระราชฐานฝ่ายในลงไปโดยสิ้นเชิง เมื่อคุณค่าของกำแพงแนวนี้เป็นเพียงเครื่องล้อมที่ใช้กักกันนักโทษ จึงไม่เหมาะสมที่จะอนุรักษ์ไว้อีกต่อไป หากแต่ควรเปิดช่องกำแพงออกตามแนวผังเดิมที่ปรากฏในหลักฐานของพระยาโบราณราชธานินทร์


แม้ด้านตะวันตกของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์จะมีแนวกำแพงปีกท้องพระโรงขวางคั่นอยู่เดิมแล้ว แต่กำแพงดังกล่าวมิได้ปิดทึบตลอดแนว เพราะมีช่องพระทวารเปิดทางเชื่อมเอาไว้ถึงห้าช่องอย่างลงตัวรับกับลักษณะองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ การคงแนวกำแพงไว้อย่างเปล่าเปลี่ยวเช่นนี้ แม้ว่าจะยังคงเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถผ่านเข้าออกด้านหลังกำแพงได้ แต่มีเพียงหนุ่มสาวเดินควงคู่เข้าไปเพื่อใช้เป็นที่ลับตาเท่านั้น


สภาพพื้นที่ลุ่มภายในเขตพระที่นั่งสุทธาสวรรย์จะเกิดน้ำท่วมขังทุกครั้งที่ฝนตกหนัก ในการบูรณะควรจะออกแบบเดินท่อระบายน้ำทิ้งขนาดใหญ่พอประมาณ เพื่อให้ระบายน้ำออกไปอย่างรวดเร็วทางด้านใต้


การขุดแต่งในปีงบประมาณ 2540 น่าจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เพียงก้าวเล็กๆ ก้าวแรก อันจะจุดประกายให้เกิดความสนใจและมีความกล้าหาญต่อการฟื้นฟูรากฐานดั้งเดิมของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ให้มีสภาพใกล้เคียง ดังปรากฏในหลักฐานที่บันทึกไว้ในแผนผังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี มากยิ่งขึ้น ปรัชญาความคิดและความหวังของการทำแผนผังชิ้นนั้นก็เพื่อที่จะรักษารากฐานอาคารที่สืบทอดมาแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้คงอยู่ต่อไป เราจะปลุกชีวิตและคืนความเคารพต่อแผนผังที่บรรพบุรุษบันทึกไว้ได้หรือไม่ เราจะทำอย่างไรให้เกิดความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ และมรดกสถาปัตยกรรม

เอกสารอ้างอิงบางส่วน
[1] กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2,หน้า 54 และ ปรีดา ศรีชลาลัย “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมเอกสารจากหอหลวง” ,แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ปีที่ 3 เล่ม 2 พ.ศ. 2512,หน้า 33.
[2] คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม,อ้างแล้ว,หน้า 33

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น