จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

395 ปี บันทึกของปินโต : หลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือนิยายผจญภัย

395 Years Pinto’s Pérégrinação : an Account of Historiography or Adventurous Novel
โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
Bidya Sriwattanasarn ปกหนังสือเรื่อง เปเรกรินาเซา ของปินโต(เอื้อโดยวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)


แฟร์เนา เมนเดส ปินโต(เอื้อเฟื้อโดยวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)



บทคัดย่อ
บันทึกความทรงจำของแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต( Fernão Mendez Pinto ค.ศ.1509-1583) เรื่อง “Pérégrinação”ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปีค.ศ.1614 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ รวมทั้งอัตชีวประวัติของเขาอย่างน่าตื่นเต้นและเหลือเชื่อ จนมีการใช้ชื่อของปินโตเล่นคำเชิงล้อเลียนว่าพูดจริงหรือเท็จอย่างสนุกสนานโดยชนชาติศัตรูของโปรตุเกสในยุโรปหรือแม้แต่ชาวโปรตุเกสบางคน บันทึกของปินโตถูกอ้างอิงจากนักประวัติศาสตร์ไทยอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาจนปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงบทบาทของทหารรักษาพระองค์ชาวโปรตุเกส และการพระราชทานที่ดินให้พวกเขาตั้งถิ่นฐานและปฏิบัติศาสนพิธีในสมัยอยุธยา จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบว่าหนังสือฉบับนี้มีสถานะเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือเป็นเพียงนิยายผจญภัย
คำสำคัญ: แฟร์เนา เมนเดซ ปินโต , หลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือนิยายผจญภัย , ทหารรักษาพระองค์ชาวโปรตุเกส, สมัยอยุธยา

Abstract
Memoir of Fernão Mendez Pinto(1509-1583), “Pérégrinação”,1st published in 1614, informed us about contemporary environment, geography, history, culture, customs, traditions and events of the lands he visited, including with his exciting and unbelievable biography. This caused enemies of the Portuguese nation in Europe and even some one in Portugal, used his name so funny as a banter-pun. His memoir had been generally referred by Thai historians for long time since H.R.H. Prince Damrong up to the present day, concerning to issues of the role of the Portuguese royal bodyguard and the royal conferring land for them to be their settlement and to proceed their religious ritual in Ayutthaya Period. So, it was the main problem to examine that the book was a account of historiography or just an adventurous novel.
Key Words: Fernão Mendez Pinto, an account of historiography or an adventurous novel,Portuguese royal bodyguards, Ayutthaya period

คำนำ
“Pérégrinação หรือ Pérégrinaçam” แปลว่า “long tour,long travels” ตรงกับคำว่า “Peregrination“ หรือ “Pilgrimage” หมายถึง การเดินทางการท่องเที่ยว หรือการเดินทางแสวงบุญ
เมื่อแบร์นารด์ ฟิกูอิเยร์(Bernard Figuier) แปลงานเขียนของปินโตเป็นภาษาฝรั่งเศสในค.ศ. 1628 เขาใช้ชื่อ ว่า “les voyages adventureux de fernando mendez pinto 1537-1558” และมีชื่อภาษาอังกฤษโดยการแปลของเฮนรี โคแกนว่า “The Voyages and Adventures of Fernand Mendez Pinto” (1653)
อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์และผู้อ่านจำนวนไม่น้อยกลับมีความสงสัยต่อความเก่งกล้าสามารถของปินโต บางคนประนามว่างานเขียนของเขาเป็นเรื่องโกหกเพื่อความมีชื่อเสียงของตน แม้แต่ชาวโปรตุเกสเองก็ยังนำชื่อของเขาไปล้อเลียนว่า “ Fernâo , Mendez? Pinto!(Fernâo, do you lie? Yes, I lie! )” ทั้งๆที่ปินโตไม่เคยระบุว่า “Pérégrinação” เป็นนิยายประโลมโลก ( Fiction) แต่กลับบอกว่า บันทึกของเขาเปรียบเป็น “ตำรา”ในการสำรวจดินแดนและการเดินเรือไปยังดินแดนต่างๆในโลกตะวันออก ผู้เขียนจึงได้เสนอแนวทางศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของบันทึกฉบับนี้

ประวัติของปินโต
ปินโตเป็นชาวเมืองมองเตอมูร์เก่า (Montemor-o-velho) ใกล้เมืองกูอิงบรา (Coinbre) ในราชอาณาจักรโปรตุเกส ปินโตเกิดในครอบครัวยากจนระหว่างค.ศ. 1509-1512 เมื่ออายุประมาณ 10 หรือ 12 ขวบจึงต้องเป็นเด็กรับใช้ของสุภาพสตรีผู้หนึ่ง ในค.ศ. 1523 ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตรายจนต้องหลบหนีลงเรือจากเมืองกูแอ ดึ แปดรา (Cue de Pedra) การผจญภัยของปินโตเริ่มขึ้นเมื่อเดินทางไปถึงเมืองดิว (Diu) ในอินเดียในค.ศ.1538 ขณะมีอายุได้ 28 ปี เขาเดินทางกลับมาตุภูมิเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1558 รวมเป็นเวลา 21 ปีของการแสวงโชคในเอเชีย ปินโตเคยเดินทางไปในเอธิโอเปีย จีน อาณาจักรของชาวตาร์ตาร์ (Tataria) โคชินไชนา สยาม พะโค ญี่ปุ่น และหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในน่านน้ำอินโดนีเซียปัจจุบัน
ปินโตเคยเผชิญปัญหาเรืออับปาง 5 ครั้ง ถูกขาย 16 ครั้งและถูกจับเป็นทาสถึง 13 ครั้ง ชีวิตในเอเชียของปินโตเคยผ่านการเป็นทั้งกลาสีเรือ ทหาร พ่อค้า ทูตและนักสอนศาสนา (missionary) เมื่อเดินทางกลับไปถึงโปรตุเกสในปีค.ศ.1558 เขาจึงพยายามติดต่อขอรับพระราชทานบำเหน็จรางวัล เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติและศาสนาอย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากราชสำนัก ปินโตจึงไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปรากัลป์ (Pragal) ใกล้เมืองอัลมาดา (Almada) ทางใต้ของโปรตุเกส ปินโตเขียนหนังสือชื่อ “Pérégrinação”ขึ้น และถูกตีพิมพ์หลังจากเขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1583

ปินโตเคยเดินทางเข้าสยาม 2 ครั้ง (กรมวิชาการ, 2531 : 115) ครั้งแรกเข้ามาในปัตตานีและนครศรีธรรมราชก่อนค.ศ.1548 ครั้งที่ 2 เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1534-1546) นักประวัติศาสตร์บางคนนำหลักฐานของฝ่ายไทยเข้าไปตรวจสอบความน่าเชื่อถือในเอกสารของเขาหลายประเด็น และชี้ให้เห็นความคลาดเคลื่อนของศักราชที่เขาอ้างถึง
หลังจากปินโตถึงแก่กรรม บุตรีของเขาได้มอบต้นฉบับหนังสือเรื่อง “Pérégrinação” ให้แก่นักบวชสำนักหนึ่งแห่งกรุงลิสบอน ต่อมากษัตริย์ฟิลิปที่ 1 (Philip I of Portugal,1581-1598 และทรงเป็นกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน - Philip II of Spain,1556-1598) ทรงได้ทอดพระเนตรงานนิพนธ์ชิ้นนี้ บุตรีของปินโตจึงได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลแทนบิดา

งานเขียนของปินโตตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1614 และแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ภาษาฝรั่งเศส (1628) ภาษาอังกฤษ (1653) ใน ค.ศ.1983 กรมศิลปากรได้เผยแพร่บันทึกของปินโตบางส่วนในชื่อ “การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังด์ มังเดซ ปินโต ค.ศ1537-1558” แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร ต่อมากรมศิลปากรร่วมกับกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการได้ตีพิมพ์ผลงานบางส่วนของเขาออกเผยแพร่อีกครั้งใน ค.ศ.1988 โดยแปลจากหนังสือชื่อ “Thailand and Portugal : 470 Years of Friendship”

รูปแบบการนำเสนอ
งานเขียนของปินโตถูกนำเสนอในรูปของร้อยแก้ว บางตอนก็ระบุว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาจากคำบอกเล่าและการสอบถามผู้รู้ อาทิ เหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต บางตอนก็ระบุว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง เช่น เหตุการณ์เดินทางเข้ามายังสยาม 2 ครั้ง (กรมวิชาการ, 2531: 115) เป็นต้น
ปินโตระบุว่า การเล่าเรื่องการเดินทางของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการเรียนรู้สภาพภูมิศาสตร์ของโลกให้มากยิ่งขึ้น มิได้มีจุดประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความท้อถอยในการติดต่อกับดินแดนแถบเอเชีย เขาระบุว่าอุทิศการทำงานให้แก่พระเจ้ามิได้หวังชื่อเสียง สิ่งที่ผลักดันให้เขาเดินทางไปยังตะวันออก คือ ธรรมชาติของลูกผู้ชาย เขาแสดงความขอบคุณพระเจ้าและสวรรค์ที่ช่วยให้รอดพ้นจากภยันตรายมาได้(Henry Cogan, 1653 :1-2) ส่วนเฮนรี โคแกนระบุว่า จุดมุ่งหมายในการแปลหนังสือ“Pérégrinação” จากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษ คือ ต้องการให้ผู้อ่านทั่วไปเกิดความพึงพอใจและกระตุ้นให้มีการสำรวจและค้นคว้าทางภูมิศาสตร์ เพื่อเป็นบทเรียนให้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเรืออับปาง เพื่อทัศนศึกษาดินแดนต่างๆในโลกกว้างและเพื่อเรียนรู้เรื่องราวของ“คนป่าเถื่อน”(Henry Cogan, 1653 : A-B)

จุดมุ่งหมายที่จริงจังของทั้งปินโตและโคแกนสะท้อนให้เห็นคุณค่าของเหตุการณ์ สถานที่ ทรัพยากร อารมณ์ ความรู้สึกและวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คนที่ปรากฏในหนังสือ “Pérégrinação” อย่างไม่อาจมองข้ามได้ งานของปินโตจึงได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยๆฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสในปีค.ศ.1628 ก็ถูกอ้างอิงโดยซิมอง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de Laloubère) ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อกล่าวถึงจำนวนเรือที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาก่อนหน้าการเข้ามาของตน (จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1,2510 : 502) ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าหากลาลูแบร์เคยได้ยินการเสียดสีงานเขียนของปินโตมาบ้างก่อนที่จะเดินทางเข้ามาสยาม เขาควรจะได้ตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานจากผู้รู้พื้นเมืองชาวสยามอีกครั้ง ก่อนจะตีพิมพ์งานเขียนของตนที่กรุงอัมสเตอร์ดัมในปีค.ศ.1714 เพราะงานเขียนของปินโตเคยถูกล้อเลียนมาแล้วอย่างอื้อฉาว แต่กลับไม่ปรากฏข้อวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของปินโตในงานของลาลูแบร์

คุณค่าทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม
บันทึกของปินโตนับเป็นเอกสารสำคัญที่กล่าวถึงเรื่องราวส่วนหนึ่งเกี่ยวกับทรัพยากร การทหาร วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ กฎหมายและเรื่องราวในราชสำนักสยามกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 และมักจะถูกอ้างอิงเสมอเมื่อกล่าวถึงบทบาททางการทหารของชุมชนโปรตุเกสในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1543-1546) เมื่อเกิดศึกระหว่างสยามกับเชียงใหม่ขึ้นใน ค.ศ.1548 (พ.ศ.2091) ปินโต กล่าวว่า
“ชาวต่างประเทศทุกๆชาติที่ไปร่วมรบกับกษัตริย์สยามนั้นต่างก็ได้รับคำมั่น
สัญญาว่าจะได้รับบำเหน็จรางวัล การยกย่อง ผลประโยชน์ ความชื่นชมและเกียรติยศชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้รับอนุญาตให้สร้างโบสถ์เพื่อการปฏิบัติศาสนกิจในแผ่นดินสยามได้....”

การเข้าร่วมรบในกองทัพสยามครั้งนั้นเป็นการถูกเกณฑ์ หากไม่เข้าร่วมรบก็จะถูกขับออกไปภายใน 3 วัน ด้วยเหตุนี้จึงมีชาวโปรตุเกสถึง 120 คน จากจำนวน 130 คน อาสาเข้าร่วมรบในกองทัพสยาม เหตุการณ์ดังกล่าวถูกบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่าเป็นศึกเมืองเชียงกรานซึ่งเกิดขึ้นในค.ศ.1538 (พ.ศ.2081) คลาดเคลื่อนไปจากที่ระบุในหลักฐานของปินโต 10 ปี แม้ว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงอ้างจากหนังสือของปินโตก็ตาม

เรื่องราวในหนังสือ Pérégrinação สอดคล้องกับงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกสหลายคน อาทิ การกล่าวถึง โดมิงกุส ดึ ไซซัส (Domingos de Seisus) ซึ่งเคยถูกจองจำและรับราชการเป็นนายทหารในกรุงศรีอยุธยา (กรมวิชาการ , 2531: 109) ก็ได้รับการยืนยันในงานเขียนของจูอาว เดอ บารอส (João de Baros) เช่นกัน (กรมวิชาการ,2531 : 95) เป็นต้น นอกจากนี้ อี.ดับเบิลยู. ฮัทชินสัน(E.W. Hutchinson) ก็อ้างตามหลักฐานของปินโตว่า

“ทหารโปรตุเกสจำนวน 120 คนซึ่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงจ้างเป็นทหารรักษา
พระองค์(bodyguards)ได้สอนให้ชาวสยามรู้จักใช้ปืนใหญ่”

ดร.เจากิง ดึ กัมปุชชี้ว่า บทบาทของทหารอาสาชาวโปรตุเกสในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชอาจส่งผลให้มีการเริ่มปรับปรุงตำราพิชัยสงครามภายใต้การช่วยเหลือของที่ปรึกษาชาวโปรตุเกส จนเป็นที่มาของการตั้ง “กรมทหารฝารั่งแม่นปืน” ใน หนังสือ“ศักดินาทหารหัวเมือง” ซึ่งประกอบด้วยทหารเชื้อสายโปรตุเกสจำนวน 170 นาย จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ใกล้เคียงกับจำนวนของทหารอาสาโปรตุเกส 120 คน ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช

ความน่าเชื่อถือ
หนังสือของปินโตถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวางในยุโรป จึงเป็นเหตุให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง วิลเลียม คอนเกรฟ (William Congreve, 1670-1729) นักเขียนบทละครชาวอังกฤษได้แทรกบทกวีในบทละครชื่อ “Love for Love” (ค.ศ.1695) เยาะเย้ยว่า “Mendez Pinto was but a type of thee, thou liar of the first magnitude.” (กรมศิลปากร, 2526 : 42 ) เซอร์ ริชาร์ด เบอร์ตัน ( Sir Richard Burton) ในงานเขียนชื่อ “The Third Voyage of Sinbad, the Sailor” ระบุว่า การผจญภัยของปินโตมีลักษณะคล้ายกับเรื่องราวในนิยายอาหรับและตั้งฉายาเขาว่า “ซินแบดแห่งโปรตุเกส”

ดับเบิลยู. เอ.อาร์. วูด (W.A.R. Wood) ชี้ว่าควรจะอ่านงานเขียนของปินโตในฐานะที่เป็นเรื่องราวของชายชราที่ได้เดินทางกลับไปสู่มาตุภูมิอีกครั้งหนึ่งเพื่อความบันเทิง มิใช่เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นวันต่อวัน และตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของปีศักราชในบันทึกชิ้นนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี ดึ กัมปุช อดีตกงสุลใหญ่โปรตุเกสเมื่อค.ศ.1936 กลับชี้ว่าหลักฐานของปินโตแสดงให้เห็นว่าเขาเคยเดินทางเข้ามายังสยามจริง (Campos, 1940 : 14-15) และสิ่งที่สนับสนุนความน่าเชื่อถือในงานของปินโต คือ การยกงานเขียนในชั้นหลังๆมาเทียบเคียงความเป็นไปได้และความถูกต้องของเรื่องราวโดยเฮนรี โคแกน (ดูคำประกาศในฉบับแปลของHenry Cogan,1653 : ไม่มีเลขหน้า)

นักประวัติศาสตร์ไทยหลายคนเลือกใช้ข้อมูลของปินโตมาอ้างอิงโดยตลอด อาทิ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มานพ ถาวรวัฒน์สกุลในเรื่องขุนนางอยุธยา(2536) อ้างเรื่องยศขุนนางสมัยอยุธยาตอนกลาง สุเนตร ชุตินทรานนท์ในเรื่องบุเรงนองกะยอดินนรธา(2538) ก็อ้างเอกสารของปินโตซึ่งระบุตรงกับราล์ฟ ฟิตซ์ (Ralph Fitch)ว่า พระเจ้าบุเรงนองนำเอาเรื่องการขอช้างเผือกมาเป็นสาเหตุของสงครามระหว่างสยามกับพม่าใน ค.ศ.1569 เป็นต้น

งานเขียนปินโตบางส่วนมีรูปแบบเป็นจดหมายติดต่อกับบุคคล (Campos,1940,P.21) ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามความแม่นยำของเวลา (Timing) ที่ระบุในบันทึกของเขา และปินโตยังยืนยันว่าเขาได้รับจดหมายฝากฝัง (recommended letter) จากผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งเมืองกัว (Goa) เพื่อให้ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระราชินีแคเธอรีนแห่งโปรตุเกส (Cogan,1653 : 317) แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการอ้างอิงพยานบุคคลของเขา

หนังสือ “ Pérégrinação ” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสยามน้อยมาก ซึ่งอาจจะอธิบายได้ว่าตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ศูนย์กลางของโปรตุเกสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ที่มะละกา ปินโตจึงให้ความสำคัญต่อมะละกามากกว่ากรุงศรีอยุธยา การที่ราชสำนักโปรตุเกสสนใจดินแดนทางใต้ของพม่าและชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจีนก็น่าจะมีผลต่อโครงเรื่องของปินโตเช่นกัน การที่เขามีฐานะเป็นเพียงกลาสีเรือ นักผจญภัย แสวงโชค มิใช่บุตรขุนนางหรือนักการทูต มิใช่พ่อค้าหรือนายทหารที่ถูกส่งเข้ามาติดต่อกับสยามโดยตรง ทำให้เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือของเขาเน้นกล่าวถึงสถานที่ต่างๆตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกที่เขาเคยเดินทางไปถึงมากกว่า

หลักฐานของปินโตกับปัญหาในการศึกษาชุมชนโปรตุเกสสมัยอยุธยา
หากนักเรียนประวัติศาสตร์คนใดจะนำงานเขียนของปินโตมาใช้ในการตรวจสอบเรื่องราวเกี่ยวกับตำแหน่งหัวหน้าค่ายโปรตุเกส ความสัมพันธ์ของคนภายในค่าย ความสัมพันธ์ระหว่างค่ายโปรตุเกสกับราชสำนักอยุธยา ความสัมพันธ์ระหว่างค่ายโปรตุเกสกับมะละกา กัว มาเก๊า และราชอาณาจักรโปรตุเกส รวมไปถึงอาชีพ จำนวนคนและความเป็นอยู่ในค่ายโปรตุเกสสมัยอยุธยา ก็อาจจะต้องใช้ความพยายามในการศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานชิ้นนี้มากพอสมควร ปินโตระบุว่านักสอนศาสนาก็จำเป็นต้องเผยแพร่ศาสนาภายใต้นโยบายของราชสำนักหรือผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งเมืองกัวเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป เมื่อนักบุญฟรานซิส ซาเวียร์(St. Francis Xavier)จะออกไปเผยแพร่ศาสนาในญี่ปุ่น ท่านก็ต้องเดินทางจากมะละกาไปยังกัว เพื่อรับฟังนโยบายของผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งอินเดียเสียก่อน (กรมศิลปากร, 2526 : 35) การที่ปินโตเคยเป็นทูตของข้าหลวงโปรตุเกสแห่งมะละกาไปยังรัฐต่างๆในภูมิภาคแถบนี้ อีกทั้งยังเคยเป็นทหารและนักสอนศาสนาของโปรตุเกสด้วย เขาจึงน่าจะเป็นบุคคลที่มีเกียรติพอที่จะได้รับความเชื่อถือจากผู้มีฐานะเป็นศัตรูชาติโปรตุเกสในยุโรปหรือแม้แต่ชาวโปรตุเกสบางคน แต่เขาก็ไม่เคยถูกนักประวัติศาสตร์โปรตุเกส อาทิ ดูอาร์ตึ บาร์บูซา(Duarte Barbosa) จูอาว ดึ บารอส(João de Baros )และคาสปาร์ คอร์รีอา(Caspar Correa)เสียดสีเลยแม้แต่น้อย





ภาพเขียนแรด ฝีมือของอัลเบรคทช์ ดูเรอร์(Albrectch Durer)
เอื้อเฟื้อโดยวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี ขอขอบคุณอย่างยิ่ง

การกล่าวว่ากองทัพพม่านำกระบือและแรดมาลากปืนใหญ่เพื่อทำสงครามกับสยามในฉบับแปลของโคแกน ทำให้วูด(Wood)ชี้ว่างานเขียนของปินโต “เป็นหลักฐานเชิงจินตนาการ” ข้อเสนอของวูดอาจทำให้นักเรียนประวัติศาสตร์เห็นคล้อยไปกับคอนเกรฟที่ระบุว่า ปินโตเป็นคนขี้ปด โชคดีที่ ดร. เจากิง ดึ กัมปุชแย้งว่า ปินโตไม่เคยระบุคำว่า “แรด” ในงานเขียน คำศัพท์ที่เขาใช้ คือ คำว่า “bada หรือ abada”นั้น ในคริสต์ศตวรรษที่16 หมายถึง สัตว์ป่า หรือ สัตว์เลี้ยงที่กลายเป็นสัตว์ป่า แม้ว่าจะมีนักเขียนบางคน เช่น บาทหลวง กาสปาร์ ดึ ครูซ (Fr. Gaspar de Cruz) จะใช้คำดังกล่าวเรียกแรดก็ตาม ส่วนบาร์โบซา (Duarte Barbosa) จูอาว ดึ บารอส (João de Baros ) และ คาสปาร์ คอร์รีอา (Caspar Correa) ต่างก็ใช้คำว่า “ganda” ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตเมื่อกล่าวถึงแรด ขณะที่นักรวบรวมพจนานุกรม ชื่อ บลูโต (Bluteau, 1727) แปลคำว่า “abada คือ สัตว์ป่าชนิดหนึ่ง” ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญในการโต้แย้งประเด็นที่มีการแปล “abada” ว่า “แรด” (Campos, 1959 : 228) แม้ในภาษามาเลย์จะมีคำว่า “badâk” แปลว่า “แรด” แต่ในภาษาอาหรับก็มีคำว่า “abadat” หมายถึง “สัตว์ที่มีรูปร่างเป็นสีน้ำตาล” หรือ “สัตว์ป่า” หรือ “สัตว์เลี้ยงที่หลบหนีไปจนกลายเป็นสัตว์ป่า” ดึ กัมปุช ระบุว่า คำว่า “abada” ถูกแปลว่า “แรด” ในคริสต์ศตวรรษที่17 ดังนั้น “abada” ในบันทึกของปินโตจึงถูก ฟิกูอิเยร์และโคแกนแปลว่า “แรด” ในเวลาต่อมา ปินโตจะใช้คำว่า “abada” เมื่อกล่าวถึง “จามรี(yaks)” ซึ่งเป็นสัตว์ต่าง (beast of burden) ในตาตาเรีย (Tataria) เพราะไม่มีศัพท์ดังกล่าวในภาษาโปรตุเกส และใช้คำภาษาอาหรับว่า “abida” ในที่อื่นๆอีกร่วม12ครั้งเมื่อกล่าวถึงสัตว์ใหญ่คล้ายแรดหรือสัตว์ต่างชนิดอื่นซึ่งไม่อาจหาคำมาใช้แทนได้

สรุป
ผู้เขียนเห็นว่างานนิพนธ์ของปินโตมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์มากกว่าจะถูกมองว่าเป็นเพียงวรรณกรรมประโลมโลกหรือนิยายผจญภัยของกลาสีเรือ แม้เนื้อหาบางตอนจะดูตื่นเต้นเร้าใจเกินกว่าจะมีความสมจริงตามทัศนะของนักประวัติศาสตร์ แต่ในสภาวะที่ยุโรปเพิ่งจะพ้นจากยุคแห่งการจุดไฟเผาหญิงสาวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดและยังคงเคร่งต่อจริยธรรมทางศาสนา มีใครบ้างที่จะกล้าเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าตนเองเคยรับประทานเนื้อมนุษย์เพื่อประทังชีวิตกลางทะเลหลังจากถูกโจรสลัดโจมตี ข้อถกเถียงในงานของปินโตอาจจะมีอยู่ไม่น้อย แต่มีหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นใดบ้างที่ปราศจากคำถามและความเคลือบแคลง งานของปินโตถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของศักราชก็เพราะบันทึกของเขาเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นจากความทรงจำเมื่อเขาเดินทางกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในโปรตุเกสระยะหนึ่งแล้ว
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ เคยได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างยิ่งว่ามีความแม่นยำในเรื่องศักราชและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ (นิธิ, 2525 : 65) แต่ต่อมานักประวัติศาสตร์บางท่านก็เคยตั้งข้อสงสัยต่อสถานภาพดังกล่าว (นิธิ, 2525 : 6) ซึ่งถือเป็นความไม่เที่ยงของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในทางกลับกันอาจจะมีผู้ใช้บันทึกของปินโตมาตรวจสอบความแม่นยำของเอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งอย่างจริงจังในอนาคตบ้างก็ได้

เอกสารอ้างอิง
นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2523. ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา.
นิธิ เอียวศรีวงศ์และอาคม พัฒิยะ. 2525. หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย.
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. 2536. ขุนนางอยุธยา.
ราชบัณฑิตยสถาน. 2550. กฎหมายตราสามดวงฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม1.
วิชาการ. กรม . 2531. 470 ปีสัมพันธไมตรีระหว่างไทยและโปรตุเกส.
ศิลปากร. กรม. 2536. การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังด์ มังเดซ ปินโต ค.ศ.1537-1558.
สันต์ ท. โกมลบุตร(แปล). 2510.จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1.
สุเนตร ชุตินทรานนท์. 2538. บุเรงนองกะยอดินนรธา.
Campos, Joaquim de. 1959. “Early Portuguese accounts of Thailand” Journal of The Siam
Society Volume VII.
Cogan, Henry. trans. 1653. The Voyages and Adventures of Fernand Mendez Pinto.
Collins, The. 1987. English Portuguese Portuguese English Dictionary.
Hutchinson, E.W. 1940. Adventurers in Siam in the Seventeen Century.
Wood, W.A.R. 1959 . “Fernão Mendez Pinto’s Account of Events in Siam” Journal of The
Siam Society Volume VII.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น