จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

(ร่าง)วิพากษ์ศิลาจารึกบ้านวังไผ่:

วิพากษ์ศิลาจารึกบ้านวังไผ่: สถานภาพการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพโบราณ
โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ภาพจารึกบ้านวังไผ่ (ข้อมูลจาก http://www2.sac.or.th/databases/jaruk/th ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

๑.ทบทวนวรรณกรรม(Literature Review)
ในพื้นที่บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ของประเทศไทย มีการค้นพบศิลาจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตอายุประมาณพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๓ จำนวนหนึ่งได้แก่ จารึกเยธรรมมาเมืองศรีเทพอักษรปัลลวะภาษาบาลี พบที่เมืองศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ จารึกเมืองศรีเทพอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตพบที่ อ.วิเชียรบุรี (ปัจจุบันคือ อ.ศรีเทพ) จ.เพชรบูรณ์ ข้อความที่จารึกเป็นคำกล่าวสรรเสริญชนชั้นสูงผู้ประพฤติธรรม จารึกเขารัง(หลักที่๑๑๙) อักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตและเขมร พบที่เขารัง ต.อรัญ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จารึกหลักนี้มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเปรียบเทียบกำหนดอายุศิลาจารึกหลักอื่น ซึ่งใช้รูปอักษรและเส้นสัณฐานแบบปัลลวะในการจารข้อความ เนื่องจากเคยเป็นจารึกหลักเดียวในประเทศไทยที่ปรากฏศักราชชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๑๑๘๒(มหาศักราช๖๒๑) เนื้อหาของจารึกกล่าวถึงการอุทิศถวายทาสให้เป็นผู้บำรุงรักษาวิหาร ทรัพย์สินและสวนของวิหาร โดยผู้มีอำนาจตำแหน่ง “สินาหว”

อย่างไรก็ดี ในบรรดาศิลาจารึกซึ่งจารด้วยอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต และถูกกำหนดอายุสมัยประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๓นั้น ศิลาจารึกบ้านวังไผ่เป็นศิลาจารึกสำคัญอีกหลักหนึ่งที่น่าจะถูกกล่าวถึง ในประเด็นของความเป็นมา คุณค่า ความน่าเชื่อถือและการนำมาใช้เป้นหลักฐานทางวิชาการ

การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับจารึกบ้านวังไผ่และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยเนื้อหา ๒ ลักษณะ คือ การลำดับเรื่องราวของการศึกษาหลักฐานศิลาจารึกบ้านวังไผ่ และการศึกษาเรื่องราวของเมืองศรีเทพโบราณ ดังนี้

๑.๑การลำดับเรื่องราวของการศึกษาหลักฐานศิลาจารึกบ้านวังไผ่
๑.๑.๑ บทความของศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ชื่อNouvelles Inscriptions de Si T’ep, K.978, 979 ในหนังสือ Inscription du Cambodge Volume VII เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ อาจนับได้ว่าเป็นบทความชิ้นแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอ่าน แปลและตีความศิลาจารึกK.๙๗๘ (จารึกบ้านวังไผ่)และจารึกK.๙๗๙ เพื่อพยายามเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของอาณาจักรกัมพูชาอย่างค่อนข้างลึกซึ้ง และค่อนข้างได้รับการยอมรับมาโดยตลอดจนกระทั่งถูกท้าทายจากข้อเสนอของClaude Jacques เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๑ในการประชุมทางวิชาการฝรั่งเศส-ไทยครั้งที่๑ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
Claude Jacques ระบุว่า ในปีพ॥ศ।๒๕๐๑ เซเดส์ ได้เสนอข้อมูลการค้นพบศิลาจารึกที่พบใหม่ ๓ หลักในประเทศไทยในบทความชื่อ “Nouvelles données epigraphigues sur l’histoire de l’indochine centrale” ในวารสาร Journal Asiatique ไปแล้ว แต่เนื่องจากผู้วิพากษ์ไม่มีบทความดังกล่าวของเซเดส์อยู่ในมือจึงขอเว้นที่จะกล่าวถึงในที่นี้

๑.๑.๒ ผลงานแปลบทความเรื่องจารึกพบใหม่ที่เมืองศรีเทพของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล จากบทความภาษาฝรั่งเศส เรื่อง “Nouvelles Inscriptions de Si T’ep, K.978, 979” ในหนังสือ Inscription du Cambodge Volume VII ของศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ตีพิมพ์ในวารสารแถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ปีที่๑๒ เล่ม๒ เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม ๒๕๒๑ ผู้แปลทรงมีพระปรีชาทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีและภาษาต่างประเทศเป็นเลิศ จึงทรงถ่ายทอดเนื้อหาจากบทความของเซเดส์ได้อย่างสมบูรณ์ เพียงแต่ว่าในข้อความบางประโยคนั้น ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุลทรงแปลสรรพนาม “Je - ข้าพเจ้า”ในบทความของเซเดส์ ว่า ”ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ “ อันเป็นการนำเสนองานแบบกึ่งแปลกึ่งเรียบเรียง และมิได้ทรงถอดความคำแปลจารึกบ้านวังไผ่จากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทยตรงตามต้นฉบับของเซเดส์

๑.๑.๓ บทความของชะเอม คล้ายแก้ว เรื่อง “ศิลาจารึกศรีเทพ พช.๒ อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตพุทธศตวรรษที่๑๒“ ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากรปีที่ ๒๗เล่ม๓ กรกฎาคม ๒๕๒๖ ทบทวนการอ่าน แปลและวิจารณ์รูปลายเส้นอักษรในศิลาจารึกศรีเทพ (พช.๒ )หรือศิลาจารึกบ้านวังไผ่ หลังจากที่ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ เคยอ่าน แปล ตีความและตีพิมพ์เผยแพร่ใน Inscription du Cambodge Volume VII เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ โดยคำอ่าน แปลและวิเคราะห์ของชะเอม คล้ายแก้วในบันทัดที่ ๓, ๔, ๗, ๘, ๙, และ ๑๐ มีเนื้อความบางส่วนแตกต่างออกไปจากคำอ่านของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์
๑.๑.๔ เนื้อหาบางส่วนของบทความเรื่อง “ศิลาจารึกศรีเทพ พช.๒ อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตพุทธศตวรรษที่๑๒“ ของชะเอม คล้ายแก้ว จากนิตยสารศิลปากรปีที่ ๒๗ เล่ม๓ ถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งที่๒ในหนังสือชื่อจารึกในประเทศไทยเล่ม๑ อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่๑๒-๑๔ โดยกองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรในปีพ.ศ.๒๕๒๙ การตีพิมพ์ครั้งนี้ระบุว่า “พระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน” ในหลักฐานลำดับพระนามกษัตริย์ของอาณาจักรกัมพูชา ระบุว่า พระองค์ทรงมีพระราชโอรสทรงพระนามว่า “พระเจ้าชยวรรธนะ หรือพระเจ้าชัยวรมัน”

ผู้วิพากษ์เชื่อว่า ผู้เขียนบทความอาจประสงค์จะชี้ให้เห็นว่า “พระเจ้าภววรมันที่๑” แห่งอาณาจักรกัมพูชา ผู้ทรงมีพระราชบิดาพระนามว่า”วีรวรมัน” น่าจะมิใช่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงโปรดฯให้สร้างศิลาจารึกบ้านวังไผ่ “ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน” และ “ทรงเป็นใหญ่เสมอกับพระเจ้าภววรมัน”
๑.๑.๕ เนื้อหาบางส่วนในบทความเรื่อง บทความชะเอม คล้ายแก้ว “ศิลาจารึกศรีเทพ พช.๒ อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตพุทธศตวรรษที่๑๒“ ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๒๗ เล่ม๓ ถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งที่๓ ในหนังสือชื่อ เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข ๑๘/ ๒๕๓๔ “จารึกที่เมืองศรีเทพ” พ.ศ.๒๕๓๔ โดยอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ภาพรวมของหนังสือกล่าวถึงความเป็นมาของเมืองศรีเทพ จารึกกับงานโบราณคดี และจารึกที่เมืองศรีเทพ ซึ่งประกอบด้วยคำจารึก คำแปล การวิจารณ์รูปอักษร และคำแปลเฉพาะศัพท์ จารึกทั้งสิ้นจำนวน ๑๐ ชิ้น ส่วนหนึ่งของเนื้อหาอ้างอิงจากหนังสือจารึกในประเทศไทยเล่ม๑ ส่วนหนึ่งเป็นชิ้นส่วนของจารึกที่พบใหม่จากการขุดแต่งโบราณสถานในเมืองศรีเทพ

๑.๑.๖ บทความของ Claude Jacques นำเสนอในที่ประชุมนานาชาติฝรั่งเศส-ไทยครั้งที่๑ เรื่อง “ La Thailande des Débuts de son histoire Au Xvème Siécle-เขมรในประเทศไทยข้อมูลที่ปรากฏในศิลาจารึก” แปลโดย ศาสตราจารย์ อุไรศรี วรศริน กล่าวถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรกัมพูชาสมัยก่อนเมืองพระนครและสมัยเมืองพระนครจากหลักฐานศิลาจารึกที่พบในประเทศไทย โดย Claude Jacques ระบุว่า เขาไม่เห็นด้วยที่ เซเดส์เรียกจารึกซึ่งพบในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยส่วนหนึ่งว่า “ศิลาจารึกพระเจ้าภววรมันและพระเจ้ามเหนทรวรมัน” เนื่องจากมิได้เป็นจารึกที่พระเจ้าภววรมันทรงโปรดฯให้สร้างขึ้น หากแต่เป็นจารึกที่พระเจ้ามเหนทรวรมันทรงให้สร้างขึ้น ดังนั้นจึงควรเรียกว่า “จารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน”

สำหรับในกรณีที่เกี่ยวข้องกับศิลาจารึกบ้านวังไผ่นั้น Claude Jacques กล่าวว่า เขาก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเซเดส์เช่นกันที่ระบุว่าอาณาเขตของกัมพูชาสมัยพระเจ้าภววรมันที่๑ แผ่ไปถึงเมืองศรีเทพ เนื่องจากไม่เคยมีการค้นพบศิลาจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมันในพื้นที่เมืองศรีเทพโบราณ นอกจากนี้สภาพที่ไม่สมบูรณ์ของจารึกยังทำให้นักอ่านจารึกอักษรโบราณในสมัยหลัง อ่านและแปลเนื้อหาของศิลาจารึกออกมาในลักษณะที่มีแนวโน้มกล่าวถึงกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ผู้ทรงได้รับการยกย่องว่ามีพระเกียรติยศเทียบเท่าพระเจ้าภววรมันเท่านั้น มิได้กล่าวถึงพระเจ้าภววรมันโดยตรงแต่อย่างใด

๑.๑.๗ บทความเรื่อง “การเผยแพร่อารยธรรมโบราณและหลักฐานโบราณคดีสมัยลพบุรี” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ มยุรี วีระประเสริฐ ตีพิมพ์ในหนังสือโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทย (สว่าง เลิศฤทธิ์ บรรณาธิการ) เนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงศิลาจารึกบ้านวังไผ่และจารึกอื่นๆที่ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของอาณาจักรกัมพูชาในดินแดนประเทศไทย โดยยอมรับข้อเสนอของเซเดส์ที่ว่า พระเจ้าภววรมันในจารึกบ้านวังไผ่เป็นกษัตริย์องค์เดียวกับพระเจ้าภววรมันที่๑ แห่งอาณาจักรกัมพูชาซึ่งครองราชย์ในช่วงพุทธศตวรรษที่๑๒

๑.๒.การศึกษาเรื่องราวของเมืองศรีเทพโบราณ

๑.๒.๑ จดหมายของบี.ซี. ชหพรา(B.C. Chhabra)เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๘ กล่าวถึงการขยายตัวเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอารยธรรมอินเดียสมัยราชวงศ์ปัลลวะจากหลักฐานศิลาจารึกเมืองศรีเทพ ในปีเดียวกันนี้ ศาสตราจารย์ เอช. จี.ควอริทช์ เวลส์(H.G. Quaritch Wales) ได้ดำเนินการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองศรีเทพร่วมกับกรมศิลปากร และต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเมืองศรีเทพเป็นโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเษกษาเล่ม๕๒ ตอนที่๗-๙ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘
๑.๒.๒ หนังสือนิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าด้วยความไข้เมืองเพชรบูรณ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ.๒๔๘๗ กล่าวถึงการสำรวจและค้นพบเมืองศรีเทพโบราณในปีพ.ศ.๒๔๔๗ ตามร่องรอยของชื่อเมืองโบราณในหนังสือแจ้งเรื่องการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยเมืองโบราณแห่งนี้เป็นเมืองเดียวกับที่เมืองพระธุดงค์เรียกว่า “เมืองอภัยสาลี”

๑.๒.๓ หนังสือเรื่อง “History of Thailand & Cambodia” ของหม่อมหลวง มานิจ ชุมสาย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่๖ (ปลายพุทธศตวรรษที่๑๑) พระเจ้าภววรมันแห่งเจนละทรงสถาปนาราชธานีของพระองค์ขึ้นทางเหนือของทะเลสาบเขมร และทรงผนวกดินแดนฟูนันกับเจนละเข้าด้วยกันและขยายอาณาเขตขึ้นไปถึงทางเหนือของเทือกเขาพนมดงรักและภูมิภาคทางใต้ของฟูนัน ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าครอบคลุมถึงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์จากหลักฐานการพบจารึกจำนวนหนึ่งที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

๑.๒.๔ รองศาสตราจารย์ ดร. ธิดา สาระยา (๒๕๒๘) ในงานเขียนชื่อ “(ศรี)ทวารวดีประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ “ เสนอว่า เมืองศรีเทพโบราณเป็นศูนย์กลางของกลุ่มชนวัฒนธรรมทวารวดีซึ่งใช้ภาษาเขมรในเขตลุ่มน้ำป่าสัก และอาจมีฐานะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีจนาศะหรือจานาศปุระ ขณะที่เมืองเสมาซึ่งเป็นสถานที่พบจารึกกลับถูกมองว่าเป็นเพียงรัฐชายขอบของเมืองศรีเทพ

บทความของอาจารย์ ธิดา สาระยา อีกชิ้นหนึ่งตีพิมพ์รวมอยู่เล่มเดียวกันยังอ้างถึงจารึกหลักต่างๆที่แสดงให้เห็นถึงขอบเขตอำนาจทางการเมืองของพระเจ้ามเหนทรวรมัน(เจ้าชายจิตรเสน ผู้ทรงมีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระเจ้าภววรมันที่๑)ในแถบจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธรและเมืองจำปาสัก(แถวๆวัดภู)ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวด้วย

๑.๒.๕ ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์เสนอว่า โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานเขาคลังในที่เมืองศรีเทพ(อายุราวพุทธศตวรรษที่๑๔) มีลักษณะคล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลข๑๘หรือเจดีย์วัดโขลงสุวรรณคีรีที่เมืองคูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี ส่วนลวดลายปูนปั้นตกแต่งอาคารก็รูปแบบที่สัมพันธ์กับลวดลายตกแต่งโบราณสถานที่มีอายุร่วมสมัยกับศิลปะทวารวดีอื่นๆ ในเมืองนครปฐม เมืองอู่ทอง เมืองโคกไม้เดน(นครสวรรค์) และวัดนครโกษา(ลพบุรี) รูปแบบลวดลายที่พบอาจเทียบได้กับลวดลายดั้งเดิมในศิลปะอินเดีย

๑.๒.๖ หนังสือศิลปะในประเทศไทยพระนิพนธ์ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุลตีพิมพ์ในปีพ.ศ.๒๕๓๔ ระบุว่าอาณาจักรเจนละทางตะวันออกในรัชสมัยพระเจ้าภววรมันที่๑(เริ่มต้นประมาณพ.ศ.๑๑๔๑-?) อาจขยายอิทธิพลเข้ามายังเมืองศรีเทพสอดคล้องกับข้อเสนอของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ศาสตราจรย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ทรงชี้เพิ่มเติมว่าอาณาจักรทวารวดีทางตะวันตกพยายามผลัดกันเข้ามามีอำนาจในศรีเทพดังปรากฏร่องรอยหลักฐานโบราณวัตถุและสถาปัตยกรรม

๑.๒.๗ ในปีพ.ศ.๒๕๓๔ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพตีพิมพ์เอกสารโบราณคดีหมายเลข ๑๙/๒๕๓๔ อีกหนึ่งเล่ม ชื่อ “ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพ” เพื่อรายงานผลการขุดค้นทางโบราณคดีในเขตเมืองศรีเทพและปริมณฑลระหว่างพ.ศ.๒๕๓๑–๒๕๓๔ ชี้ให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในเขตเมืองศรีเทพตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยทวารวดีและสมัยลพบุรี ก่อนที่ศูนย์กลางทางการเมืองในย่านนี้จะย้ายไปที่เมืองเพชรบูรณ์ในพุทธศตวรรที่๑๘ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรสุโขทัย

๑.๒.๘ พ.ศ.๒๕๓๘ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพตีพิมพ์หนังสือชื่อ “เมืองศรีเทพ” มีเนื้อหากล่าวถึงแนวคิดทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองศรีเทพ ลักษณะกายภาพของเมืองกับการติดต่อชุมชนภายนอก ชีวิตชุมชนกับสภาพแวดล้อม พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม รูปแบบศาสนา สถาปัตยกรรมและศิลปะเกี่ยวเนื่องกับศาสนา รวมถึงการเสื่อมสลายของเมืองศรีเทพ
แหล่งข้อมูลเอกสารดังกล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของนักวิชาการในการใช้หลักฐานต่างๆ อาทิ ศิลาจารึก โบราณวัตถุ โบราณสถานและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและโบราณคดี เพื่อการอธิบาย เชื่อมโยงและตีความพัฒนาการเกี่ยวกับกับเมืองศรีเทพโบราณในช่วงเวลาที่ผ่านมา

๒.การวิพากษ์ภายนอก(External Critique)
๒.๑ลักษณะทางกายภาพของศิลาจารึกบ้านวังไผ่

ศิลาจารึกบ้านวังไผ่มีลักษณะเป็นจารึกที่จารตัวอักษรลงไปบนเสาเหลี่ยม ทำจากหินภูเขาไฟ(Basalt Stone) ขนาดของเสากว้าง ๒๘ ซม. สูง๑๓๒ ซม. หนา ๑๗ ซม. ศิลาจารึกมีสภาพชำรุดแตกหัก เนื้อศิลาบางส่วนสึกกร่อนหลุดร่อนหายไป ศิลาจารึกหลักนี้เคยถูกซ่อมมาแล้วครั้งหนึ่ง สภาพข้างต้นจึงทำให้นักอ่านจารึกอักษรโบราณไม่สามารถอ่านและแปลข้อความจารึกได้อย่างสมบูรณ์

๒.๒ อักขระ ภาษาและอายุสมัยของศิลาจารึกบ้านวังไผ่
นายชะเอม คล้ายแก้วนักอ่านจารึกอักษรโบราณ อธิบายว่า ศิลาจารึกบ้านวังไผ่มีข้อความเพียง ๑ ด้าน จำนวน ๑๒ บรรทัด จารเป็นอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต ไม่ปรากฏศักราชระบุในข้อความที่จารึก แต่จากการเปรียบเทียบลักษณะเส้นอักษรอาจกำหนดอายุได้ว่าประมาณพุทธศตวรรษที่๑๒

อักษรปัลลวะเป็นอักษรที่แพร่หลายในอินเดียใต้สมัยราชวงศ์ปัลลวะ ระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๐–๑๑ อักษรชนิดนี้มีบทบาทในฐานะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่๑๑–๑๖ ตามลำดับ ศิลาจารึกร่วมสมัยที่จารด้วยรูปอักษรแบบปัลลวะในดินแดนประเทศไทย ได้แก่ จารึกวัดมเหยงคณ์ (นครศรีธรรมราช) จารึกเขารัง(สระแก้ว) จารึกศรีเทพ(เพชรบูรณ์)และจารึกปากแม่น้ำมูล(อุบลราชธานี) เป็นต้น

๒.๓ประวัติการค้นพบศิลาจารึก
ศิลาจารึกบ้านวังไผ่ถูกค้นพบเมื่อใดและใครเป็นผู้พบคนแรกไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ข้อมูลที่พบในทะเบียนศิลาจารึกของกรมศิลปากรระบุแต่เพียงว่า สถานที่พบเป็นป่าใกล้บ้านวังไผ่ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือพบห่างออกไปทางเหนือจากเมืองศรีเทพประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ระบุว่า ศิลาจารึกบ้านวังไผ่มีชื่อเรียกว่า ศิลาจารึกหลัก K.๙๗๘ ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ชะเอม คล้ายแก้ว เรียกศิลาจารึกหลักเดียวกันนี้ว่า “จารึกศรีเทพ พช./ ๒“ และในปี พ.ศ.๒๕๒๙ เรียกศิลาจารึกหลักนี้ว่า “ศิลาจารึกบ้านวังไผ่” มาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันศิลาจารึกบ้านวังไผ่ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวิชรญาณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กรุงเทพมหานคร

๒.๔ ประวัติการอ่านและเนื้อความในจารึกบ้านวังไผ่
จากการศึกษาพบว่า เคยมีนักวิชาการอ่านและแปลข้อความในศิลาจารึกบ้านวังไผ่มาแล้วอย่างน้อย ๓ ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่๑ เป็นคำอ่านของนักอ่านอักษรโบราณของหอสมุดแห่งชาติ จำนวน ๑๑ บรรทัด แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า นักวิชาการท่านใดเป็นผู้อ่านและอ่านเมื่อใด รวมทั้งไม่มีการเผยแพร่คำแปลด้วย
คำอ่านครั้งที่๑นี้ ปรากฏอ้างอิงอยู่ในบทความของชะเอม คล้ายแก้ว เรื่อง “ศิลาจารึกศรีเทพ พช.๒ อักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตพุทธศตวรรษที่๑๒“, ในนิตยสารศิลปากร ปีที่๒๗ เล่ม๓ กรกฎาคม ๒๕๒๖ โดยชะเอมระบุว่า บรรทัดที่๔ของคำอ่านจารึกนี้หายไป แต่จากการตรวจสอบของผู้วิพากษ์พบว่า บรรทัดที่หายไปน่าจะเป็นบรรทัดที่๕มากกว่า

การอ่านจารึกบ้านวังไผ่ของหอสมุดแห่งชาติครั้งที่๑นี้ พอจะอนุมานได้ว่า เป็นการอ่านก่อนที่เซเดส์จะเข้ามาอ่านจารึกชิ้นนี้ เนื่องจากข้อความที่อ่านนั้นแตกต่างออกไปจากคำอ่านของเซเดส์และชะเอม คล้ายแก้ว (ดูผนวก ก.)

ครั้งที่๒ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ อ่านเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ ตีพิมพ์ในบทความเรื่อง “Nouvelles Inscriptions de Si Tep, K.978, 979“ Inscriptions du Cambodge Volume III, L’École Française d’Éxtrême – Orient, 1964 (ดูผนวก ข.)

ครั้งที่๓ นายชะเอม คล้ายแก้วนักอ่านอักษรโบราณ กรมศิลปากร อ่านจารึกนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ ตีพิมพ์ในบทความเรื่อง “ศิลาจารึกศรีเทพ พช.๒ อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตพุทธศตวรรษที่๑๒“, ศิลปากร ปีที่๒๗ เล่ม๓ กรกฎาคม ๒๕๒๖ (ดูผนวก ค.)
คำอ่านของเซเดส์กับชะเอม คล้ายแก้ว แตกต่างกันบ้างเล็กน้อยในบันทัดที่ ๓, ๔, ๗, ๘, ๙, และ ๑๐ แต่ก็ส่งผลทำให้การแปลศิลาจารึกของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านสื่อความหมายบางส่วนแตกต่างออกไปด้วย

เมื่อศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลบทความคำอ่านและคำแปลศิลาจารึกบ้านวังไผ่จากบทความต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ยิ่งทำให้แลเห็นปัญหาทางวิชาการมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ แม้ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล จะทรงแปลคำอ่านและคำแปลจารึกของเซเดส์ออกมาตรงตามต้นฉบับ แต่กลับถ่ายทอดคำแปลจารึกบ้านวังไผ่จากภาษาฝรั่งเศสของเซเดส์เป็นภาษาไทยคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย

๒.๕ คุณค่าของจารึก
จารึกบ้านวังไผ่เป็นหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบในเขตเมืองศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (เดิมขึ้นอยู่กับเขตปกครองของอ.วิเชียรบุรี) ศิลาจารึกชิ้นนี้มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพโบราณและเครือข่ายบ้านเมืองในดินแดนประเทศไทยซึ่งมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๓ ต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่๑๗–๑๙ แต่ถึงกระนั้นการนำเนื้อหาที่ปรากฏในศิลาจารึกมาใช้อ้างอิง ควรวางอยู่บนพื้นฐานของความรอบคอบและรอบรู้อย่างรอบด้าน ไม่ควรนำคำแปลจารึกมาอ้างอิงแต่เฉพาะส่วนที่สอดคล้องกับแนวคิดทางวิชาการของผู้ใช้หลักฐานเพียงด้านเดียว

๓.การวิพากษ์ภายใน(Internal Critique)
ขอบเขตการวิพากษ์ภายในศิลาจารึกบ้านวังไผ่ ประกอบด้วย ๓ แนวทาง คือ
๓.๑ อายุสมัยการสร้าง ผู้สร้างจารึก และวัตถุประสงค์การสร้าง
แม้จารึกบ้านวังไผ่จะไม่ปรากฏหลักฐานการระบุศักราชระบุปีที่สร้างจารึก แต่จากการเปรียบรูปแบบตัวอักษรของนักอ่านจารึกอักษรโบราณทำให้สามารถกำหนดอายุของศิลาจารึกหลักนี้ได้ว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่๑๒

บทความของเซเดส์เรื่อง Nouvelles Inscriptions de Si T’ep, K.978, 979 ในหนังสือ Inscription du Cambodge Volume VII ระบุว่า พระเจ้าภววรมันผู้ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศรีประถิวีนทรวรมัน พระองค์โปรดฯให้สร้างรูปพระอิศวรขึ้นเนื่องในโอกาสเสด็จฯราชสมบัติของพระองค์ เป็นการประกาศพระเกียรติยศของพระองค์ จารึกบ้านวังไผ่จึงมีลักษณะเป็นข้อความประกาศสรรเสริญยกย่องพระมหากษัตริย์ และแม้จารึกจะไม่ได้ระบุว่า พระเจ้าภววรมันโปรดฯสร้างจารึกหลักนี้ขึ้นมาก็ตาม แต่การที่คำแปลในจารึก(โดยเซเดส์)ระบุว่า พระเจ้าภววรมันโปรดฯให้สร้างรูปพระอิศวรขึ้นก็เท่ากับว่าเป็นการให้สร้างศิลาจารึกหลักนี้ไปในตัวด้วยเช่นกัน

เมื่อชะเอม คล้ายแก้วอ่านและแปลจารึกหลักนี้ในปีพ.ศ.๒๕๒๖ ก็ปรากฏว่า ไม่มีข้อความตอนใดในจารึกกล่าวถึงพระนามของผู้สร้างจารึกหลักนี้ หลักฐานระบุถึงแต่เพียงว่า

“พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน และผู้ทรงเป็นใหญ่เสมอพระเจ้าศรีวรมัน พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงโปรดให้สร้างจารึกนี้ไว้ในโอกาสที่ขึ้นครองราชย์ของพระองค์”
ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านในประเด็นที่ว่าใครเป็นผู้สร้างจารึกนั้น คำตอบที่ได้จึงไม่สอดคล้องกัน ดังนั้น เมื่อจะต้องนำหลักฐานดังกล่าวมาใช้ในทางวิชาการ จึงจำเป็นต้องกล่าวถึงคำอ่าน-แปลของทั้งสองท่านมาพิจารณาอย่างเท่าเทียมกันด้วย

๓.๒ ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน
ปัญหาทางวิชาการที่ทำให้ศิลาจารึกบ้านวังไผ่ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นของความน่าเชื่อถือของหลักฐานในครั้งนี้ประกอบด้วยปัจจัย ๓ ประการ ดังนี้

๑) สถานที่พบศิลาจารึกและการจดบันทึก
๒) ศิลาจารึกมีสภาพสึกกร่อนชำรุดและมีการซ่อมจากสภาพแตกหัก
๓)ศิลาจารึกไม่ปรากฏหลักฐานศักราชที่ระบุปีการสร้างและการอ่าน-แปลศิลาจารึก
บ้านวังไผ่แต่ละครั้งมีความแตกต่างกัน

๑) สถานที่พบศิลาจารึกและการจดบันทึก
จากกรณีที่ไม่ปรากฏหลักฐานการจดบันทึกวัน/ เวลา/ สถานที่/ ผู้พบ/ และผู้อ่านศิลาจารึกบ้านวังไผ่อย่างเป็นระบบก่อนหน้านี้ในทะเบียนประวัติศิลาจารึก ดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้นจึงส่งผลทำให้คุณค่าด้านความน่าเชื่อถือของศิลาจารึกลดลงไปในระดับหนึ่ง การนำหลักฐานชิ้นนี้มาศึกษา จึงต้องใช้กระบวนการสันนิษฐานและตีความเพิ่มเติมเข้าไป ซึ่งจะต่างจากการพบศิลาจารึกในหลุมขุดค้นทางโบราณคดี
เมื่อจำเป็นจะต้องใช้ศิลาจารึกบ้านวังไผ่เป็นหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการ จึงสามารถระบุได้แต่เพียงกว้างๆว่า ศิลาจารึกหลักนี้ถูกพบห่างจากเมืองศรีเทพออกไปทางเหนือประมาณ ๑๐ กิโลเมตร และอาจจำเป็นต้องใช้คำกล่าวที่ว่า “สันนิษฐานว่าจารึกเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับเมืองศรีเทพโบราณ” แต่ในความเป็นจริงแล้วก็อาจมีผู้โต้แย้งว่า ศิลาจารึกหลักนี้อาจถูกนำมาจากพื้นที่อื่นก็เป็นได้

๒)ศิลาจารึกมีสภาพสึกกร่อนชำรุดและมีการซ่อมจากสภาพแตกหัก
ลักษณะทางกายภาพของจารึกบ้านวังไผ่มีสภาพสึกกร่อนชำรุด ทำให้การอ่านจารึกทั้ง ๓ ครั้ง คือ นักอ่านจารึกอักษรโบราณของหอสมุดแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์และชะเอม คล้ายแก้ว ไม่สอดคล้องต้องกันทั้งหมดทุกคำ เนื่องจากร่องรอยบางอย่างที่ปรากฏในจารึก เช่น สัญลักษณ์นิคหิต และจุดเน้นตัวสะกดใต้พยัญชนะของคำในภาษาสันสกฤตมีสภาพเลอะเลือน นอกจากการชำรุดของพื้นผิวหินอันเกิดจากการกระทำของธรรมชาติยังอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นร่องรอยจากการจารอักษรและสัญลักษณ์ทางภาษาของช่างจารในอดีตอีกด้วย ดังปรากฏในบทวิเคราะห์คำอ่านของชะเอม คล้ายแก้วข้างหน้า (ดูหัวข้อ๓.๓ กระบวนการประเมินความน่าเชื่อถือของจารึกบ้านวังไผ่)

ร่องรอยการซ่อมอันเกิดจากสภาพแตกหักของจารึกบริเวณส่วนปลายก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านศิลาจารึกบ้านวังไผ่อ่านศิลาจารึกหลักนี้แตกต่างกัน ดังเช่นการอ่านจารึกบรรทัดที่ ๘ ของชะเอม คล้ายแก้ว ข้างหน้าเช่นกัน(ดูหัวข้อ๓.๓ กระบวนการประเมินความน่าเชื่อถือของจารึกบ้านวังไผ่)

๓) ปัญหาเรื่องศิลาจารึกไม่ปรากฏหลักฐานศักราชที่ระบุปีการสร้าง และการอ่าน-แปลศิลาจารึกบ้านวังไผ่แต่ละครั้งมีความแตกต่างกัน

ปัญหาทางวิชาการที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ศิลาจารึกบ้านวังไผ่ไม่ปรากฏศักราชระบุไว้ เนื่องจากความสึกกร่อนของแท่งศิลาจารึก ส่งผลทำให้การอ่านและแปลจารึกบรรทัดที่๑ คลาดเคลื่อนและมีใจความหลักไม่สอดรับกันทั้ง ๓ ครั้ง ดังนั้นจึงยังไม่อาจจะกล่าวได้ว่า การนำข้อความในจารึกไปอ้างอิงกันนั้น จะมีความน่าเชื่อถือและถูกต้องมากน้อยเพียงใด

๓.๓ การประเมินความน่าเชื่อถือของจารึก
๓.๓.๑เซเดส์กับข้อเสนอเกี่ยวกับจารึกบ้านวังไผ่
บทวิเคราะห์ของเซเดส์จากการอ่านจารึกบ้านวังไผ่เสนอว่า “พระมหากษัตริย์ซึ่งถูกกล่าวถึงพระองค์นี้คือ ภววรมัน และข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีข้อสงสัยหากพระองค์จะเป็นบุคคลเดียวกับภววรมันที่๑ ผู้ทรงปรากฏพระนามอยู่ในจารึกของมเหนทรวรมัน ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระราชาแห่งจักรวาล- du monarque universel ( สารโภมะ-sãrvabhauma) ภววรมันผู้ถูกกล่าวถึงพระนามในศิลาจารึกจากศรีเทพก็ทรงระบุว่า พระองค์ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าจักรพรรดิ(Cakravartin)เช่นเดียวกับพระเจ้าภววรมันที่๑ แต่จารึกหลักนี้ก็สร้างปัญหาพอสมควรในการลำดับพระญาติวงศ์ของพระองค์..”

ย่อหน้าข้างต้นในบทความของเซเดส์ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุลทรงแปลว่า “พระราชาองค์ทรงพระนามว่าภววรมัน และศาสตราจารย์เซเดส์เข้าใจว่าคงเป็นองค์เดียวกันกับพระเจ้าภววรมันที่๑แห่งอาณาจักรเจนละ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าในจารึกของพระอนุชาของพระองค์คือพระเจ้ามเหนทรวรมัน พระเจ้าภววรมันทรงเป็นพระราชนัดดาของพระจักรพรรดิ(สารวเภาม) พระเจ้าภววรมันในจารึกศรีเทพหลักนี้ก็ทรงเป็นราชนัดดาของพระจักรพรรดิเช่นเดียวกัน แต่จารึกจากศรีเทพหลักนี้ทำให้เกิดมีปัญหาเล็กน้อยเกี่ยวกับการลำดับเชื้อวงศ์”

ดังนั้นเซเดส์จึงพยายามอธิบายให้เห็นถึงการลำดับวงศ์ญาติของพระเจ้าภววรมันกับพระเจ้ามเหนทรวรมัน พระสุนิสา พระสวามีของพระสุนิสา พระมารดา และพระบิดาของพระเจ้าภววรมัน โดยพยายามตีความเปรียบเทียบเชื่อมโยงกับจารึกหลักอื่นๆเกี่ยวกับวัฒนธรรมการลำดับญาติในราชสำนักกัมพูชา ดังนี้

“โดยทั่วไปเชื่อกันว่า ภววรมันที่๑ ทรงมีพระราชบิดาพระนามว่า วีรวรมัน ซึ่งเราทราบกันว่าเป็นผู้ที่ไม่เคยครองราชสมบัติ ส่วนภววรมันในจารึกที่ศรีเทพนั้น ทรงเป็นพระราชโอรสของประถิวีนทรวรมัน หลักฐานทั้งสองดูจะขัดแย้งกันเอง แต่ก็สามารถหาข้อยุติได้ด้วยการแยกภววรมันทั้งสองออกจากกัน แม้ว่าภววรมันทั้งสองพระองค์จะทรงมีบรรพบุรุษร่วมกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีข้อความใดในจารึกระบุชัดเจนว่าภววรมันที่๑ ก็ทรงเป็นโอรสของวีรวรมัน เราเพียงแต่ลงความเห็นถึงความเกี่ยวพันกันในฐานะพ่อลูกจากการตีความจารึกซึ่งมเหนทรวรมัน พระอนุชาของพระองค์สร้างขึ้นและระบุว่า พระองค์ทรงเป็นโอรสของวีรวรมัน(และทรงเป็นพระราชนัดดาของพระราชาแห่งจักรวาล) ข้อความอีกส่วนหนึ่งของจารึกยังได้กล่าวถึงพระขนิษฐาหรือพระสุนิสาของพระองค์(ภววรมันที่๑)ว่า ทรงเป็นภรรยาของพราหมณ์ชื่อโสมสารมัน (brahmane Somçarman) พระญาติฝ่ายหญิงพระองค์นี้ทรงเป็นพระธิดาของวีรวรมันเช่นกัน พระญาติวงศ์ทั้งสามพระองค์แม้จะทรงเป็นพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกันแต่ก็ต่างพระบิดา หากมเหนทรวรมันและภรรยาของโสมสารมันพราหมณ์เป็นโอรสและธิดาของวีรวรมันทั้งสองพระองค์ ก็มิได้หมายความว่า พระเชษฐา/อนุชาของภววรมันในจารึกศรีเทพจะเป็นโอรสของวีรวรมันไปด้วย อย่างน้อยก็ปรากฏตัวอย่างของการใช้คำเรียกลูกพี่ลูกน้องว่า “พี่ชาย (frère aîné)”มาแล้ว โดยราเชนทรวรมันในจารึกปักษีจำกรงทรงเรียกหรรษวรมันที่๒ ผู้ทรงครองราชย์ก่อนพระองค์ว่า “พระเชษฐา (frère aîné) พระเจ้าหรรษวรมันพระองค์นี้ทรงมีพระราชมารดาพระนามว่า ชยเทวี ผู้ทรงเป็นพระมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่๔ พระนางทรงเป็นพระสุนิสาของพระนางมเหนทรเทวี พระราชมารดาของราเชนทรวรมัน”

ข้อความข้างต้นชี้ให้เห็นว่า เซเดส์เองก็ลำบากใจในการลำดับพระญาติวงศ์เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า พระเจ้าภววรมันในจารึกบ้านวังไผ่เป็นทรงเป็นกษัตริย์องค์เดียวกับพระเจ้าภววรมันที่๑แห่งกัมพูชา

๓.๓.๒ บทวิเคราะห์และข้อโต้แย้งของชะเอม คล้ายแก้วในการอ่านและแปลจารึกบ้านวังไผ่
คำอ่านจารึกบ้านวังไผ่ของชะเอม คล้ายแก้ว เหมือนคำอ่านศิลาจารึกK.๙๗๘ ของศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ในบรรทัดที่ ๑, ๒, ๕, ๖, ๑๑ และ ๑๒ ส่วนคำอ่านที่แตกต่างกันนั้นอยู่ในบรรทัดที่ ๓, ๔, ๗, ๘ , ๙ และ ๑๐ ดังปรากฏในตารางข้างต้น ชะเอม คล้ายแก้วอธิบายด้วยบทวิเคราะห์ ๖ ประการ ดังนี้

๑.อักษรเกือบทุกตัวของจารึกบ้านวังไผ่มีลักษณะเหมือนกับศิลาจารึกจากจังกอล ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge ของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ (L’École Française d’Éxtrême – Orient)

๒.ชะเอม คล้ายแก้ว อ่านข้อความในบรรทัดที่๑ ว่า “…….ศกปติสํว (ตฺสเร)……” และแปลว่า “ในปีรัชสมัยแห่งศักราช ---- “ เป็นการแปลข้อความแบบกลางๆเพราะเนื้อความในจารึกไม่ชัดเจน และอาจแปลว่าในปีแห่งพระเจ้าศกราชก็ได้ ในจารึกหลักอื่นๆหน้า “ศก”จะเป็นตัวเลขบอกจำนวนศักราช สำหรับจารึกหลักนี้ไม่อาจทราบได้ว่า “ศก” เป็นศักราชหรือพนะนามของพระมหากษัตริย์

๓.ชะเอม คล้ายแก้วอ้างหลักไวยากรณ์ภาษาสันสกฤตว่า บรรทัดที่ ๓ คำว่า “อทฺวยานฺ” ถ้าอ่านเป็น “อทฺวยาน”จะไม่สามารถแปลรับหรือขยายกับบทใดได้ เพราะวิภัติต่างกัน แต่ในคำอ่านจารึกบ้านวังไผ่พ.ศ.๒๕๒๖ ของชะเอม คล้ายแก้ว กลับเขียนเป็น “ทฺวยานฺ”

๔.บรรทัดที่๘ คำว่า “ศิลาสฺ” มีความสำคัญมาก หากอ่านผิดจะทำให้ข้อความเปลี่ยนไปด้วย
เซเดส์ อ่านคำนี้ว่า “ศิวำมส” อันมาจากคำว่า “ศิว (พระศิวะ)” สนธิกับคำว่า “อํส (รูป)” เมื่อสนธิแล้วจะได้คำว่า “ศิวํส” จึงจะถูก ไม่ใช่คำว่า “ศิวำมส”

การที่ชะเอมอ่านคำดังกล่าวในบรรทัดที่๘ ว่า “ศิลาสฺ” เพราะในจารึกปรากฏอักษ “ล” ชัดเจน การที่ปรากฏรอยหินแตกพาดจากหัวไปถึงหางอักษร “ล” จึงทำให้เซเดส์ อ่านคำว่า “ศิลาสฺ”เป็น “ศิวำส”ไป ชะเอม คล้ายแก้วจึงแปลข้อความนี้ว่า “ได้สร้างแล้วซึ่งศิลาทั้งหลาย” อันหมายถึงศิลาจารึกหลักนี้

๕.บรรทัดที่ ๗ ชะเอม คล้ายแก้ว อ่านว่า “.กานำ” เนื่องจากแลเห็น สัญลักษณ์ “นิคหิต”ส่วนเซเดส์ อ่านว่า “กาฏา” อันทำให้ความหมายเปลี่ยนไป

๖.ชะเอม คล้ายแก้ว เสนอว่าจารึกหลักนี้ไม่เกี่ยวข้องกับพระศิวะ เนื่องจากในจารึกมีคำว่า “วิภูตฺไยษ…….”(วิภูตย + เอษ) อันสื่อให้เห็นถึงการสรรเสริญพระเกียรติของพระมหากษัตริย์

๓.๓.๓ ศิลาจารึกบ้านวังไผ่ในฐานะหลักฐานเชื่อมโยงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพโบราณและอาณาจักรกัมพูชา
ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงระบุในตารางลำดับรัชสมัยพระมหากษัตริย์สมัยก่อนเมืองพระนครของอาณาจักรกัมพูชา (ระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่๑๑–ปลายพุทธศตวรรษที่๑๒)ว่า พระเจ้าภววรมันที่๑ พระนัดดาของพระเจ้ารุทรวรมัน ทรงครองราชย์ในปีพ.ศ.๑๑๔๑ (ไม่ทราบปีสิ้นสุดรัชสมัย) บทความเรื่อง “Nouvelles Inscriptions de Si T’ep (K.978, 979)” ของเซเดส์ อธิบายและเสนอความคิดเห็นว่า พระเจ้าภววรมันที่๑ แห่งราชอาณาจักรเจนละ ทรงมีพระราชบิดาทรงพระนามว่า “วีรวรมัน” ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าทรงเคยครองราชย์หรือไม่ และพระเจ้าภววรมันที่๑ แห่งอาณาจักรกัมพูชาน่าจะทรงเป็น “ภววรมัน” องค์เดียวกับในศิลาจารึกบ้านวังไผ่ ทั้งๆที่จารึกบ้านวังไผ่ระบุชัดเจนว่า พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าประถิวีนทรวรมันและทรงเป็นพระนัดดาของพระเจ้าจักรพรรดิ ข้อเสนอในบทความของเซเดส์ประเด็นนี้จึงยังค่อนข้างจะไม่ชัดเจนเท่าใดนัก

Claude Jacques ไม่เห็นด้วยกับเซเดส์ในกรณีที่เขาเสนอความเห็นว่าอิทธิพลของภววรมันที่๑ ขยายไปถึงศรีเทพ เนื่องจากเห็นว่า คำแปลในศิลาจารึกจากการอ่านใหม่ของนักอ่านจารึกอักษรโบราณชี้ให้เห็นว่า ข้อความในจารึกเป็นการเปรียบเทียบพระเกียรติยศของกษัตริยืพระองค์หนึ่งว่ามีความยิ่งใหญ่เทียบเท่าพระเจ้าภววรมันที่๑ เท่านั้น

ผู้วิพากษ์เห็นว่าการเปรียบเทียบว่า โอรสของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมันมีความยิ่งใหญ่เสมอกับพระเจ้าภววรมันในคำแปลจารึกบ้านวังไผ่ของชะเอม คล้ายแก้ว อาจเป็นข้อมูลสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า รัชสมัยของพระเจ้าภววรมันนั้นมีขึ้นก่อน รัชสมัยของ“พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด” ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมันก็ได้

ข้อมูลการลำดับรัชกาลกษัตริย์กัมพูชาสมัยเมืองพระนคร ในบทความชิ้นหนึ่งของผู้ช่วยศาสตราจารย์ มยุรี วีระประเสริฐอธิบายว่า พระเจ้าอินทรวรมันที่๑(๑๔๒๐–๑๔๓๒) ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน ผู้วิพากษ์เห็นว่าพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมันก็อาจจะมีได้มากกว่า ๑ องค์ อย่างน้อยการลำดับพระนามของกษัตริย์กัมพูชาตามที่อ้างในบทความของชะเอม คล้ายแก้วก็ยังปรากฏว่า “พระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน” ทรงมีพระราชโอรสทรงพระนามว่า “พระเจ้าชยวรรธนะ หรือพระเจ้าชัยวรมัน” อีกพระองค์หนึ่งด้วย

ผู้วิพากษ์เห็นว่า เมื่อจารึกบ้านวังไผ่นี้มีช่องว่างของการไม่ปรากฏศักราช จึงน่าจะลองตั้งสมมติฐานว่า พระเจ้าปฤถิวีนทรวรมันพระองค์นี้ อาจทรงเป็นกษัตริย์องค์เดียวกับพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน ผู้ทรงเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอินทรวรมันแห่งกัมพูชา และหากเป็นเช่นนั้นจริง จารึกบ้านวังไผ่ก็ควรจะถูกสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่๑๕ก็ได้ ซึ่งก็จะสอดรับกับรูปแบบทางศิลปกรรมของโบราณวัตถุ โบราณสถานและประติมากรรมสำคัญจำนวนมากที่พบในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ยิ่งกว่านั้น ผู้วิพากษ์มีความคิดว่า พระเจ้าปฤถิวีนทรวรมันพระองค์นี้ น่าจะทรงเกี่ยวข้องกับพระเจ้าภววรมันในจารึกบ้านวังไผ่ไม่มากก็น้อย หากสัณนิษฐานจากคำแปลจารึกของเซเดส์บรรทัดที่๑๑ ซึ่งระบุว่าพระเจ้าภววรมันในจารึกบ้านวังไผ่ทรง“คล้ายพระอินทร์เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ “ กล่าวคือ “พระอินทร์” ในที่นี้ นอกจากจะหมายถึง “พระอินทร์ในฐานะเทพเจ้า” แล้ว อีกด้านหนึ่งยังอาจจะหมายถึง “พระเจ้าอินทรวรมันที่๑ ” ได้ด้วย

“ ….พระราชาพระองค์นี้ ผู้ทรงเป็นราชนัดดาแห่งพระศรีจักรพรรดิ เป็นราชโอรสแห่งศรีประถิวีนทรวรมัน(ทรงพระนามว่า) ศรีภววรมัน คล้ายกับพระอินทร์ เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ”
ส่วนคำแปลจารึกบรรทัดเดียวกันของชะเอม คล้ายแก้ว แม้จะอ่านเหมือนกับเซเดส์ แต่เมื่อแปลแล้วกลับได้ใจความว่า กษัตริย์ผู้ทรงโปรดให้สร้างจารึกบ้านวังไผ่ ทรงมีพระเกียรติยศยิ่งใหญ่เสมอกับพระเจ้าศรีภววรมัน ตามความในจารึกดังนี้

“….ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน ผู้เป็นใหญ่เสมอกับพระเจ้าศรี ภววรมัน…”

๓.๔สรุปและข้อคิดเห็น
เป็นเวลานานมาแล้วที่นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีและนักอ่านจารึกอักษรโบราณต่างก็พยายามอธิบายประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพโบราณด้วยหลักฐานต่างๆทั้งจากจารึก โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถาน ถึงกระนั้นก็ตาม แม้แต่ชื่อของเมืองศรีเทพก็ยังเป็นเพียงชื่อที่นักวิชาการเรียกตามนามสมมติที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยรัชกาลที่๕ ในขณะที่นักวิชาการบางท่านเสนอว่า ศรีเทพเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีจนาศะ มิใช่เมืองเสมาในเขตจังหวัดนครราชสีมาแต่อย่างใด

การที่ชี้ว่าศิลาจารึกบ้านวังไผ่มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบในเมืองศรีเทพโบราณ ก็เป็นแต่เพียงข้อเสนอทางวิชาการระดับหนึ่งเท่านั้น เรื่องราวที่แท้จริงของเมืองศรีเทพจะกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้นเมื่อมีการค้นพบศิลาจารึกที่ระบุชื่อเมือง ศักราช และเรื่องราวโดยละเอียดของเมืองโบราณแห่งนี้ในพื้นที่ขุดค้นหรือขุดแต่งทางโบราณคดีในเขตอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ซึ่งก็เป็นข้อเสนอที่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นง่ายๆ หากไม่ได้มีการสำรวจขุดค้นและขุดแต่งเมืองศรีเทพอย่างจริงจริงและต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องอาศัยงบประมาณในการดำเนินการทางวิชาการจำนวนมาก

ข้อเสนอของเซเดส์ที่เชื่อว่า พระเจ้าภววรมันในจารึกบ้านวังไผ่เป็นกษัตริย์องค์เดียวกับพระเจ้าภววรมันที่๑ แห่งกัมพูชา โดยอ้างอิงการลำดับเครือญาติได้รับการเชื่อถือมานาน จนกระทั่งเมื่อมีการตีพิมพ์คำอ่านศิลาจารึกบ้านวังไผ่ใหม่อีกครั้งในปีพ.ศ.๒๕๒๖ ข้อเสนอของเซเดส์จึงเริ่มกลายเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการที่ค่อนข้างเข้มข้นจากการตีความคำอ่านและแปลจารึกบ้านวังไผ่บนพื้นฐานการทำงานของชะเอม คล้ายแก้ว โดย Claude Jacques เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๑ (ผู้วิพากษ์ไม่เห็นคำอ่านและแปลของ Claude Jacques ในงานแปลบทความของศาสตราจารย์อุไรศรี วรศริน จึงอนุมานในที่นี้ว่าเขาใช้คำอ่านและแปลของชะเอม คล้ายแก้ว)

อย่างไรก็ดี ในที่นี้ผู้วิพากษ์ขอเสนอว่า จารึกบ้านวังไผ่อาจมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่๑๕ (ตรวจสอบอายุตัวอักษรอีกครั้ง)จากร่องรอยการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าภววรมัน พระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน และพระเจ้าอินทรวรมัน โดยอาศัยกระบวนการอธิบายและเชื่อมโยงพื้นฐานจากการอ่านข้อความ การแปลและตีความศิลาจารึกบ้านวังไผ่และหลักฐานอื่นๆของผู้รู้ในตอนต้น เพื่อให้การค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพจากหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะจากการวิเคราะห์ศิลาจารึกบ้านวังไผ่มีการเคลื่อนไหวเชิงพัฒนาการทางวิชาการ

บรรณานุกรม
กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, จารึกในประเทศไทย เล่ม๑ อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่๑๒-๑๔ กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, ๒๕๒๙
ชะเอม คล้ายแก้ว ก., ศิลาจารึกศรีเทพ พช.๒ อักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตพุทธศตวรรษที่๑๒, ศิลปากร ปีที่๒๗ เล่ม๓ กรกฎาคม ๒๕๒๖.
ชะเอม คล้ายแก้ว ข., ” จารึกบ้านวังไผ่”, อ้างในกองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, จารึกในประเทศไทย เล่ม๑ อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่๑๒-๑๔, กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, ๒๕๒๙.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, นิทานโบราณคดี, กรุงเทพฯ: บุรินทร์การพิมพ์, ๒๕๑๗.

ธิดา สาระยา, (ศรี)ทวารวดี ประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ, กรุงเทพฯ: ด่านสุธาการพิมพ์, ๒๕๒๘.
มยุรี วีระประเสริฐ “การเผยแพร่อารยธรรมโบราณและหลักฐานโบราณคดีสมัยลพบุรี” โบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทย , กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง , ๒๕๔๕.

……………….“ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรกัมพูชาโบราณโดยสังเขป” โบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทย, กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้ง พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๕.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า, ก.), “จารึกใหม่ที่ศรีเทพ” แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี ปีที่๑๒ เล่ม๒ เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม ๒๕๒๑

…………………. (ข.), ศิลปะในประเทศไทย, กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, ๒๕๓๔.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ศาสตราจารย์ ดร. หม่อมราชวงศ์, “เขาคลังใน” เมืองโบราณ, ปีที่๑๕ ฉบับที่๑ มกราคม-มีนาคม ๒๕๓๒.

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ(ก.), เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข๑๘/๓๔ จารึกที่เมืองศรีเทพ, กรุงเทพฯ: ฟิวเจอร์ เพรส, ๒๕๓๔.
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ(ข.), เมืองศรีเทพ, กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๓๘.
อุไรศรี วรศริน, “เขมรในประเทศไทย ข้อมูลที่ปรากฏในจารึก” แปลจาก Claude Jacques , “La Thailande des Débuts de son histoire Au Xvème Siécle” Premier Symposium Franco-Thai (18-20 Juillet, 1988), Université de Silpakorn.
Coedès, George, “Nouvelles Inscriptions de Si T’ep (K.978, 979)” Inscription du Cambodge Volume VII, École Française D’Extrême-orient, Paris, 1964.
Jumsai, M.L. Manich, History of Thailand & Cambodia, Bangkok: Chalermnit, 1970

ภาคผนวก
ผนวก ก. คำอ่านจารึกบ้านวังไผ่โดยหอสมุดแห่งชาติเปรียบเทียบกับคำอ่านของ
เซเดส์


คำอ่านจารึกบ้านวังไผ่
ครั้งที่๑โดย หอสมุดแห่งชาติ เปรียบเทียบคำอ่านจารึก ครั้งที่๒ โดย ศ.ยอร์ช เซเดส์(สุภัทรดิศ ทรงแปล, ๒๕๒๑)
๑...ศกปติส... ๑…….ศกปติสํว (ตสฺเร)……
๒...ยปฺปโมก... ๒…….ศุภราษฺฏโม……
๓...กยุรวทฺจยาปฺร... ๓…….(ทิ)กฺษุรฺวฺยฺ อทฺวยา น ปฺร…..
๔...สาญฺจ...สฺป... ๔…….เลรฺ อภฺยสฺตภูริ…….
๕(คำอ่านขาดหายไป) ๕……………..นนฺท…….
๖...วิหิตา วิกปิ วธฺยาต... ๖…….วิทิโต ทิกฺษุ วิขฺยาต…..
๗...กานาโวตถ ปิปง.. ๗…….กาฏา ไว….ภูตฺไยษ…….
๘...ติหสฺสตปญฺญา ปิรา... ๘…….ศิวำมฺส สฺถาปเยตฺ โส ปิ รา(ชา)……
๙...ศฺรีจกฺรวรตฺตินปฺตา (กฺร)... ๙…….ศฺรีจกฺรวรฺตฺตินปฺตา ศฺรี…..
๑๐...ปฺรถิวินฺทฺรวรฺมฺมต ฉายาย... ๑๐….ปฺรถิวีนฺทฺรวรฺมมตนโย ย(ะ)…….
๑๑...ศฺรีภววรฺมมินฺทฺรสมสฺตสฺส... ๑๑…..ศฺรีภววรฺมฺเมนฺทฺรสมสฺ ตสฺย……
๑๒...จรานิยา ๔๐๙ กาล ๐๐๐๐๐๐๐๐ ๑๒…..จ ราชฺโยทฺภเว กาเล…….

ผนวก ข.
คำอ่านจารึกบ้านวังไผ่ถ่ายทอดจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทยของเซเดส์(โดย ศ. มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล)
คำอ่าน ครั้งที่๒ ของเซเดส์(๒๕๐๗) คำอ่านครั้งที่๒ ของเซเดส์(มจ.สุภัทรดิศ ทรงแปล, ๒๕๒๑)
...çakapatisamva[tsare] ๑…….ศกปติสํว (ตสฺเร)……
…çubhrãstamo… ๒…….ศุภราษฺฏโม……
…[di]ksùrvy advayã na pra… ๓…….(ทิ)กฺษุรฺวฺยฺ อทฺวยา น ปฺร…..
…ler abhyastabhùri… ๔…….เลรฺ อภฺยสฺตภูริ…….
........................nanda… ๕……………..นนฺท…….
vidito diksu vikhyãta.. ๖…….วิทิโต ทิกฺษุ วิขฺยาต…..
kãtã vai … bhùtyaisa. ๗…….กาฏา ไว….ภูตฺไยษ…….
çivãms sthãpayet so pi rã[jã] ๘…….ศิวำมฺส สฺถาปเยตฺ โส ปิ รา(ชา)……
çrıcakravarttinaptã çri ๙…….ศฺรีจกฺรวรฺตฺตินปฺตา ศฺรี…..
prathivindravarmmatanayo ya[h] ๑๐….ปฺรถิวีนฺทฺรวรฺมมตนโย ย(ะ)…….
çribhavavarmmendrasamas tasya ๑๑…..ศฺรีภววรฺมฺเมนฺทฺรสมสฺ ตสฺย……
ca rãjyodhave kãle . ๑๒…..จ ราชฺโยทฺภเว กาเล…….

ผนวก ค. คำแปลจารึกบ้านวังไผ่ของเซเดส์
คำแปลจารึกK.๙๗๘ (จารึกบ้านวังไผ่) ของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์
En l’année du roi des Çaka……le huitième jour de la lune croissante….dans les orients la terre non divisée en deux…..célèbre dans les orients…..(des images de) Çiva furent érigées par ce roi, petit-fils de Çri Cakravartin, fils de Çri Prathivîndravarman, (nomé) Çri Bhavavarman, semblable à Indra, au moment où il accédait à la royauté.
ผนวก ง. เปรียบเทียบคำอ่านจารึกบ้านวังไผ่ของ ชะเอม คล้ายแก้วกับเซเดส์
เปรียบเทียบคำอ่านจารึก

ครั้งที่๒
ซ้าย อ่านโดย ศ.ยอร์ช เซเดส์(สุภัทรดิศ, ๒๕๒๑)
ครั้งที่๓ ขวา อ่านโดย ชะเอม คล้ายแก้ว (๒๕๒๖)
๑…….ศกปติสํว (ตสฺเร)…… ๑…….ศกปติสํว (ตฺสเร)……
๒…….ศุภราษฺฏโม…… ๒…….ศุภฺราษฺฏโม
๓…….(ทิ)กฺษุรฺวฺยฺ อทฺวยา น ปฺร….. ๓…….(ทิ)กฺษุรฺวฺยทฺวยานฺ ปฺร…..
๔…….เลรฺ อภฺยสฺตภูริ……. ๔…….ลรภฺยสฺตภูริ…….
๕……………..นนฺท……. ๕……………..นนฺท…….
๖…….วิทิโต ทิกฺษุ วิขฺยาต….. ๖…….วิทิโต ทิกฺษุ วิขฺยาต…..
๗…….กาฏา ไว….ภูตฺไยษ……. ๗…….กานำ ไวรฺวิภูตฺไยษ…….
๘…….ศิวำมฺส สฺถาปเยตฺ โส ปิ รา(ชา)…… ๘…….ศิลาสฺสฺถาปเยตฺโสปิ รา(ชา)……
๙…….ศฺรีจกฺรวรฺตฺตินปฺตา ศฺรี….. ๙…….ศฺรีจกฺรวรฺตฺตินปฺตา ศฺรี…..
๑๐….ปฺรถิวีนฺทฺรวรฺมมตนโย ย(ะ)……. ๑๐….ปฺฤถิวีนฺทฺรวรฺมฺมตนโย ยะ…….
๑๑…..ศฺรีภววรฺมฺเมนฺทฺรสมสฺ ตสฺย…… ๑๑…..ศฺรีภววรฺมฺเมนฺทฺรสมสฺ ตสฺย……
๑๒…..จ ราชฺโยทฺภเว กาเล……. ๑๒…..จ ราชฺโยทฺภเว กาเล ๐๐๐๐๐๐๐๐

ผนวก จ. เปรียบเทียบคำแปลศิลาจารึกบ้านวังไผ่
ศ. มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล (ทรงแปลจากบทความของเซเดส์)
ในศักราช…ขึ้น ๘ ค่ำ…ในทิศซึ่งดินแดนไม่ได้ถูกแบ่งออกเป็น ๒ ภาค…โด่งดังในทุกทิศ…(รูป)พระอิศวรได้สร้างขึ้นโดยพระราชาพระองค์นี้ ผู้ทรงเป็นราชนัดดาแห่งพระศรีจักรพรรดิ เป็นราชโอรสแห่งศรีประถิวีนทรวรมัน(ทรงพระนามว่า) ศรีภววรมัน คล้ายกับพระอินทร์ เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ
นายชะเอม คล้ายแก้ว (แปล)
ในปีรัชสมัยแห่งศักราช…อันเป็นวันขึ้น ๘ ค่ำ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน ผู้เป็นใหญ่เสมอกับพระเจ้าศรีภววรมัน พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นเป็นผู้มีคุณธรรมแผ่ไปในทุกทิศ ผู้มีปัญญาอันฝึกอบรมมาดีแล้ว ผู้มีความยินดี….ผู้มีเกียรติยศแผ่ไปในทุกทิศ ผู้มีอำนาจอันเป็นที่เกรงกลัวของศัตรูเมืองใกล้เคียงทั้งหลายได้สร้างศิลาจารึกไว้ในโอกาสที่ขึ้นครองราชย์ของพระองค์
ศ. ยอร์ช เซเดส์ (พิทยะ แปล)
…..ในปีแห่งกษัตริย์ศก….วันขึ้น ๘ ค่ำ….ในบูรพทิศของดินแดนซึ่งมิได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นสอง….ทรงได้รับการยกย่องในบูรพทิศ……(บรรดารูป)ของพระศิวะถูกสร้างขึ้นโดยพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดาแห่งพระเจ้าศรีจักรพรรดิ, ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสแห่งพระเจ้าศรีประถิวีนทรวรมัน, (ผู้ทรงมีพระนามว่า)ศรีภววรมัน, ผู้ทรงเทียบได้ประหนึ่งพระอินทร์, ในวโรกาสที่พระองค์เสด็จเสวยราชสมบัติ

ผนวก ฉ. ตารางลำดับรัชสมัยของพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรกัมพูชา
พุทธศตวรรษที่๑๒–๑๓

พระนาม ความสัมพันธ์กับกษัตริย์องค์ก่อน/ ระยะรัชกาล/พ.ศ. อาณาจักร/ ราชธานี แบบศิลปะ
๑.โกณฑินยะชัยวรมัน - ?-๑๐๕๗ ฟูนัน/พศว।๖–๑๑๐๐ พนมดา/๑๑๐๐–๑๑๕๐
๒।รุทรวรมัน โอรส๑/เกิดแต่สนม ๑๐๕๗–ราว๑๑๐๐ การต่อสู้ของอาณาจักรฟูนันและเจนละ(พ.ศ.๑๑๐๐–๑๑๗๐) -
๓।ภววรมันที่๑ นัดดา๒ ๑๑๔๑ - -
๔।มเหนทรวรมัน พระญาติ(ลูกพี่ลูกน้อง)ของ๓ ราว๑๑๕๑–๑๑๕๙ - -
๕।อีสานวรมันที่๑ โอรส๔ ๑๑๕๙–ราว๑๑๘๑ อีสานปุระ สมโบร์ไพรกุก
๖।ภววรมันที่๒ โอรส๕ ๑๑๘๒ เจนละ(พ.ศ.๑๑๗๐–ราวพ.ศ. ๑๒๕๐) ไพรกเมง(พ.ศ.๑๑๘๐– ราวพ.ศ.๑๒๕๐)

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอแสดง ความชื่นขม ผลงานที่ ละเอียด เป็นระบบ ชัดเจน สระอี ศรี ในคำ ศรีตักรวรรติน หางยาว ไม่น่าจะเก่า ถึง พศว๑๒ ครับ

    ตอบลบ