จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คำแปลบทความเรื่อง "จารึกพบใหม่ที่ศรีเทพ" ของศาสตราจารย์ยอร์ เซเดส์

พิทยะ ศรีวัฒนสาร แปล/เรียบเรียงใหม่
Dr. Natali Martin ตรวจแก้


เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ศาตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (G. Coedès) ผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์ของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ(L’École Française d’Éxtrême – Orient) เขียนบทความชื่อ “Nouvelles Inscriptions de Si Tep, K.๙๗๘, ๙๗๙“ ตีพิมพ์ในหนังสือรวมตำราและเอกสารเกี่ยวกับอินโดจีน เล่ม๓ ชุด “Inscriptions du Cambodge Volume III” และในปี พ.ศ.๒๕๒๑ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรทรงพิจารณาแปลบทความข้างต้นในชื่อว่า“จารึกพบใหม่ที่เมืองศรีเทพ” เนื่องจากยังไม่เคยมีผู้ใดแปลเป็นภาษาไทย บทแปลดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารแถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี ปีที่๑๒ เล่มที่๖ กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๒๑ ซึ่งทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อหาบทความของศาสตราจารย์ เซเดส์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในปีพ.ศ.๒๕๒๖ นายชะเอม คล้ายแก้ว นักอ่านภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้อ่านศิลาจารึกหลักK.๙๗๘.ใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยวิจารณ์ว่าคำอ่านจากอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตของศาสตราจารย์ เซเดส์ น่าจะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้างสักเล็กน้อย การเสนอแก้ไขคำอ่านของนายชะเอม คล้ายแก้ว ทำให้คำแปลศิลาจารึกบ้านวังไผ่มีใจความแตกต่างออกไปอีกลักษณะหนึ่งเช่นเดียวกัน

เมื่อผู้เรียบเรียงตรวจสอบคำแปลภาษาฝรั่งเศสของจารึกหลักK.๙๗๘ จากต้นฉบับในบทความของศาสตราจารย์ เซเดส์ แล้วได้พบว่า คำแปลจารึกหลักK.๙๗๘ ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล มีเนื้อหาคลาดเคลื่อนไปบ้างจากต้นฉบับของศาสตราจารย์เซเดส์ ดังนั้นจึงได้แปลและเรียบเรียงบทความของศาสตราจารย์เซเดส์ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เห็นมุมมองและพัฒนาการทางวิชาการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ

บทแปลนี้ได้รับความกรุณาตรวจแก้จาก ดร. นาตาลี มาแต็ง(Dr. Nathalie Martin) อดีตอาจารย์ประจำกลุ่มวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยหวังว่าการแปลครั้งนี้อาจจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีบ้าง และจะขอยกคำแปลของผู้รู้แต่ละท่านมาเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนในคราวเดียวกัน เนื้อหาในบทความของศาสตราจารย์เซเดส์มีดังนี้
“เป็นที่ทราบมานานแล้วว่า ศิลาจารึกจากศรีเทพซึ่งพบในเขตอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร จารึกหลักนี้รู้จักกันในนามจารึกหลักที่๔๙๙ และถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ.๑๙๓๕ โดย B.C. Chhabra . ณ สถานที่แห่งเดียวกันนี้ยังเคยมีการค้นพบประติมากรรมสำคัญจำนวนมาก H. G. Quaritch Wales ก็เคยเข้ามาเปิดหลุมขุดตรวจทางโบราณคดี ๒-๓ หลุม และจากการตรวจสอบเมื่อเร็วๆนี้ของกองโบราณคดี กรมศิลปากรไทย ได้มีการค้นพบศิลาจารึกใหม่สองหลักซึ่งมีความสำคัญไม่เท่ากัน แต่ก็มีความน่าสนใจต่อประวัติศาสตร์ของพื้นที่ซึ่งพบหลักฐาน จารึกดังกล่าวถูกนำเข้ามาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานพระนครแล้ว

ศิลาจารึก K.๙๗๘ ซึ่งพบในป่าใกล้ๆกับบ้านวังไผ่ ห่างจากศรีเทพไปทางเหนือประมาณ ๑๐ กิโลเมตร และถูกจารึกไว้บนแท่งหินที่มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอจากรอยแตกด้านข้าง แต่โชคดีที่ข้อความภาษาสันสกฤตไม่ถูกทำลายไปเสียทั้งหมด จารึกนี้มีข้อความจำนวน ๑๒ บรรทัด ภาษาที่ใช้เป็นภาษาสมัยก่อนเมืองพระนคร คือ ราวคริสต์ศตวรรษที่๖-๗ ข้อความเริ่มต้นด้วยการระบุวันช่วงแรกจากระยะ ๑ ใน ๔ ช่วงของเดือน จากนั้นจึงกล่าวถึงการสร้างรูปพระศิวะในโอกาสที่กษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จเสวยราชสมบัติ

พระมหากษัตริย์ซึ่งถูกกล่าวถึงพระองค์นี้คือ ภววรมัน และข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีข้อสงสัยหากพระองค์จะทรงเป็นบุคคลเดียวกับภววรมันที่๑ ผู้ทรงปรากฏพระนามอยู่ในจารึกของมเหนทรวรมัน ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระราชาแห่งจักรวาล- du monarque universel ( ศวรโภมะ-sãrvabhauma) ภววรมันผู้ถูกกล่าวถึงพระนามในศิลาจารึกจากศรีเทพก็ทรงระบุว่า พระองค์ทรงเป็นพระราชนัดดาของจักรวาทิน(Cakravartin)เช่นเดียวกับภววรมันที่๑ จารึกหลักนี้สร้างปัญหาพอสมควรในการลำดับพระญาติวงศ์ของพระองค์

โดยทั่วไปเชื่อกันว่า ภววรมันที่๑ ทรงมีพระราชบิดาพระนามว่า วีรวรมัน ซึ่งเราทราบกันว่าเป็นผู้ที่ไม่เคยครองราชสมบัติ ส่วนภววรมันในจารึกที่ศรีเทพนั้น ทรงเป็นพระราชโอรสของประถิวีนทรวรมัน หลักฐานทั้งสองดูจะขัดแย้งกันเอง แต่ก็สามารถหาข้อยุติได้ด้วยการแยกภววรมันทั้งสองออกจากกัน แม้ว่าภววรมันทั้งสองพระองค์จะทรงมีบรรพบุรุษร่วมกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีข้อความใดในจารึกระบุชัดเจนว่าภววรมันที่๑ ก็ทรงเป็นโอรสของวีรวรมัน เราเพียงแต่ลงความเห็นถึงความเกี่ยวพันกันในฐานะพ่อลูกจากการตีความจารึกซึ่งมเหนทรวรมัน พระอนุชาของพระองค์สร้างขึ้นและระบุว่า พระองค์ทรงเป็นโอรสของวีรวรมัน(และทรงเป็นพระราชนัดดาของพระราชาแห่งจักรวาล) ข้อความอีกส่วนหนึ่งของจารึกยังได้กล่าวถึงพระขนิษฐาหรือพระสุนิสาของพระองค์(ภววรมันที่๑)ว่า ทรงเป็นภรรยาของพราหมณ์ชื่อโสมสารมัน (brahmane Somçarman) พระญาติฝ่ายหญิงพระองค์นี้ทรงเป็นพระธิดาของวีรวรมันเช่นกัน พระญาติวงศ์ทั้งสามพระองค์แม้จะทรงเป็นพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกันแต่ก็ต่างพระบิดา หากมเหนทรวรมันและภรรยาของโสมสารมันพราหมณ์เป็นโอรสและธิดาของวีรวรมันทั้งสองพระองค์ ก็มิได้หมายความว่า พระเชษฐา/อนุชาของภววรมันในจารึกศรีเทพจะเป็นโอรสของวีรวรมันด้วย อย่างน้อยก็ปรากฏตัวอย่างของการใช้คำเรียกลูกพี่ลูกน้องว่า “พี่ชาย (frère aîné)”มาแล้ว โดยราเชนทรวรมันในจารึกปักษีจำกรงทรงเรียกหรรษวรมันที่๒ ผู้ทรงครองราชย์ก่อนพระองค์ว่า “พระเชษฐา (frère aîné) พระเจ้าหรรษวรมันพระองค์นี้ทรงมีพระราชมารดาพระนามว่า ชยเทวี ผู้ทรงเป็นพระมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่๔ พระนางทรงเป็นพระสุนิสาของพระนางมเหนทรเทวี พระราชมารดาของราเชนทรวรมัน

ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าไม่คิดว่า ศิลาจารึกพบใหม่ที่ศรีเทพ ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลำดับพระญาติวงศ์ของพระเจ้าภววรมัน จะบังคับให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นคนละบุคคลกับพระเจ้าภววรมันที่๑ ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระราชาแห่งจักรวาลเช่นเดียวกัน ซึ่งก็เห็นจะเป็นอย่างที่ข้าพเจ้าตั้งข้อเสนอว่า พระราชาแห่งจักรวาลพระองค์นี้ทรงเป็นจักรพรรดิแห่งฟูนัน(L’empereur de Founan) และเส้นอักษรที่ปรากฏในศิลาจารึกของภววรมันแห่งศรีเทพก็มีลักษณะเหมือนกับจารึกของพระเจ้าภววรมันที่๑ ด้วย

แต่เดิมนั้นเราไม่ทราบมากนักว่า ร่องรอยโบราณสถานที่เมืองศรีเทพจะเกี่ยวข้องกับพระราชาองค์ใด จารึกพบใหม่ของศรีเทพเป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่า ปลายคริสต์ศตวรรษที่๖–ต้นคริสต์ศตวรรษที่๗ พระเจ้าภววรมันที่๑ ทรงกลายเป็นผู้ยึดครองดินแดนบรรพบุรุษของพระองค์อีกครั้ง พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจปกครองเมืองในลุ่มแม่น้ำป่าสักจนทำให้เกิดการก่อสร้างเทวสถานมากมาย อำนาจหยั่งลึกของเจินละ(Tchen-la)ราชอาณาจักรดั้งเดิมของชาวเขมรอย่างน้อยก็น่าจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยนั้น ซึ่งเราสามารถยืนยันได้จากหลักฐานชิ้นส่วนศิลาจารึกภาษาเขมรหมายเลขK.๙๗๙ และร่องรอยของโบราณสถานจำนวนมากที่ควอริตช์ เวลส์ได้เคยสำรวจไว้

เนื้อความในจารึกK.๙๗๘ คำอ่านของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์
๑…….ศกปติสํว (ตสเร)……
๒…….ศุภราษฏโม……
๓…….(ทิ)กษุรวย อทวยาน ปร…..
๔…….เลร อภยสตภูริ…….
๕……………..นนท…….
๖…….วิทิโต ทิกษุ วิขยาต…..
๗…….กต ไว….ภูตไยษ…….
๘…….ศิวํส สถาปเยต โส ปิ รา(ชา)……
๙…….ศรีจกรวรตตินปตา ศรี…..
๑๐….ปรถิวีนทรวรมมตนโย ย(ะ)…….
๑๑…..ศรีภววรมเมนทรสมส ตสย……
๑๒…..จ ราชโยทภเว กาเล…….

คำแปลของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์
En l’année du roi des Çaka……le huitième jour de la lune croissante….dans les orients la terre non divisée en deux…..célèbre dans les orients…..(des images de) Çiva furent érigées par ce roi, petit-fils de Çri Cakravartin, fils de Çri Prathivîndravarman, (nomé) Çri Bhavavarman, semblable à Indra, au moment où il accédait à la royauté.

เปรียบเทียบคำแปลศิลาจารึกK.๙๗๘(จารึกบ้านวังไผ่)
ศ. มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล นายชะเอม คล้ายแก้ว ศ. ยอร์ช เซเดส์
(นายพิทยะ ศรีวัฒนสารแปลแทรกจากต้นฉบับบทความภาษาฝรั่งเศส, ดร.นาตาลี มาร์แตง ตรวจแก้ สำนวนแปลภาษาไทย)

ในศักราช…ขึ้น ๘ ค่ำ…ในทิศซึ่งดินแดนไม่ได้ถูกแบ่งออกเป็น ๒ ภาค…โด่งดังในทุกทิศ…(รูป)พระอิศวรได้สร้างขึ้นโดยพระราชาพระองค์นี้ ผู้ทรงเป็นราชนัดดาแห่งพระศรีจักรพรรดิ เป็นราชโอรสแห่งศรีประถิวีนทรวรมัน(ทรงพระนามว่า) ศรีภววรมัน คล้ายกับพระอินทร์ เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ในปีรัชสมัยแห่งศักราช…อันเป็นวันขึ้น ๘ ค่ำ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถิวนทรวรมัน ผู้เป็นใหญ่เสมอกับพระเจ้าศรีภววรมัน พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นเป็นผู้มีคุณธรรมแผ่ไปในทุกทิศ ผู้มีปัญญาอันฝึกอบรมมาดีแล้ว ผู้มีความยินดี….ผู้มีเกียรติยศแผ่ไปในทุกทิศ ผู้มีอำนาจอันเป็นที่เกรงกลัวของศัตรูเมืองใกล้เคียงทั้งหลายได้สร้างศิลาจารึกไว้ ในโอกาสที่ขึ้นครองราชย์ของพระองค์ …..ในปีแห่งกษัตริย์ศก….วันขึ้น ๘ ค่ำ….ในบูรพทิศของดินแดนซึ่งมิได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นสอง….ทรงได้รับการยกย่องในบูรพทิศ……(บรรดารูป)ของพระศิวะถูกสร้างขึ้นโดยพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดาแห่งพระเจ้าศรีจักรวาทิน, ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสแห่งพระเจ้าศรีประถิวีนทรวรมัน, (ผู้ทรงมีพระนามว่า)ศรีภววรมัน, ผู้ทรงเทียบได้ประหนึ่งองค์อินทร์, ในวโรกาสที่พระองค์เสด็จเสวยราชสมบัติ

.............................................................................

ศิลาจารึกK.๙๗๙ มาจากบ้านหนองไม้สอ ห่างจากบ้านวังไผ่ไปทางตะวันออกเพียงไม่กี่กิโลเมตร และเป็นสถานที่ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากแหล่งที่พบจารึกหมายเลข K.๙๗๘

จารึกหลักนี้มีข้อความเป็นภาษาเขมรสั้นๆเพียง ๓ บรรทัด และบรรทัดที่๓ มีสภาพเหมือนจงใจจะทำลายข้อความจนทำให้ไม่สามารถอ่านได้ จารึกนี้ใช้ภาษาสมัยเมืองพระนคร อายุประมาณคริสต์ศตวรรษที่๑๐ อันเป็นสมัยที่อักษรตัว ร.ซึ่งมีทั้งสองขีดและขีดเดียวมีการใช้ในเวลาเดียวกัน ดังหลักฐานในจารึกหลักK.๙๗๙ ข้อความในจารึกนี้มีเพียงชื่อของ(ขุนนางตำแหน่ง) “เสตญ” คนหนึ่งและกล่าวถึงทาส ๓ คนเท่านั้น"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น