จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หลักฐานที่น่าสนใจจากการขุดแต่งพระที่นั่งสุทธาสวรรค์

หลักฐานที่น่าสนใจจากการขุดแต่งพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี
โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ในปีงบประมาณ 2540 บริษัทมรดกโลก จำกัด ได้รับว่าจ้างจากสำนักโบราณคดีที่ 1 (พระนครศรีอยุธยา: ขณะนั้น) ให้ดำเนินการขุดแต่งเพื่อการออกแบบบูรณะพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ภายในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี การดำเนินการแล้วเสร็จลงด้วยดีตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาการจ้างเหมา ต่อมาในปีพ.ศ.2545 ผู้เขียนซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นนักโบราณคดีผู้ควบคุมการขุดแต่งพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ในฝ่ายของผู้รับจ้างก็ได้รับเชิญจากสถาบันราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี ให้ไปบรรยายเรื่องตามหัวข้อที่ระบุไว้ข้างต้น จึงเห็นควรที่จะถ่ายทอดเนื้อหาดังกล่าวแก่สาธารณะเพื่อประโยชน์ทางวิชาการต่อไป รายละเอียดการอ้างอิงศึกษาเพิ่มเติมและตรวจสอบได้จากรายงานการขุดแต่งพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ที่สำนักศิลปากร อ.เมือง จ.ลพบุรี
แผนผังเมืองละโว้( Plan du Palais de Louvo) เขียนโดย แบลแล็ง(Bellin) ค.ศ. 1764 (ขอขอบคุณแผนผังประกอบบทความจาก http://antiquemapsasia-meyerprints.blogspot.com/2009_02_01_archive.html เป็นอย่างยิ่ง- Merci beaucoup pour le Plan du Palais de Louvo)
ภาพร่างรูปด้าน(สันนิษฐาน)ของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์(ขอขอบคุณกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม)


แผนผังพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ภายหลังการขุดแต่ง
สภาพรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ภายหลังการขุดแต่ง
-เชิงรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์

การขุดลอกมูลดินและเศษอิฐหักออกจากพื้นที่นั่งสุทธาสวรรย์ทางด้านเหนือ ระยะห่างจากรากฐานพระที่นั่งประมาณ 5 เมตร พบพื้นลานพระราชฐานอยู่ลึกลงไปจากผิวดิน ประมาณ 30-40 เซนติเมตร พื้นที่ดังกล่าวถูกปูด้วยอิฐ ขนาด 28 x 14x 5 เซนติเมตร เหนืออิฐขึ้นไปจะมีพื้นปูนขาวเทราดทับอีกชั้นหนึ่งหรือไม่นั้น น่าสงสัยไม่น้อย อย่างไรก็ตาม การพบชิ้นส่วนของแผ่นกระเบื้องอิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 30 x 30 x 3 เซนติเมตร ปริมาณเล็กน้อยที่หลุม 9N 7W ทำให้นึกเปรียบเทียบถึงพื้นที่ระเบียงคตหรือพื้นลานประทักษิณที่วัดบางแห่งในเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งนิยมทำพื้นอิฐเหนือชั้นดินอัดก่อนจะปูด้วยแผ่นกระเบื้องอิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใกล้เคียงกันอีกครั้งหนึ่ง แผ่นกระเบื้องอิฐชนิดนี้มีความแข็งแกร่ง ทนทาน และสวยงามมาก หากเคยถูกนำมาปูเรียงเป็นพื้นลานพระราชฐานในพระราชวังแห่งนี้มาก่อนก็น่าจะหลงเหลือร่องรอยหลักฐานมากกว่านี้ หรือ มิฉะนั้นก็อาจถูกรื้อไปใช้ประโยชน์จนหมดสิ้นแล้วก็ได้

เชิงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ทางด้านตะวันออก ถูกออกแบบให้เป็นถนนพื้นอิฐ เทปูนขาวซึ่งมีส่วนผสมของหินอ่อนขนาดต่างๆกัน (ตั้งแต่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-2.5 เซนติเมตร) ถนนสายนี้เริ่มต้นจากแนวประตูกำแพงด้านเหนือ ผ่านหน้าพระที่นั่งไปสู่ประตูพระราชฐานทางได้ โดยมีจุดหักเลี้ยวไปทางตะวันออกที่กึ่งกลางรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นทางสามแพร่งมุ่งสู่ประตูพระราชฐานทางตะวันออก

ถนนดังกล่าว กว้างประมาณ 4 เมตร ด้านตะวันออกถูกขุดเป็นรางระบายน้ำ แล้วทำแนวอิฐเตี้ยๆยกขึ้นเป็นขอบถนน ส่วนด้านตะวันตกมีแต่ขอบถนนเพียงอย่างเดียว

มีข้อถกเถียงพิจารณากันพอสมควรว่า พื้นถนนสายนี้เป็นของเดิมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรือจะถูกบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากมีมูลดินทับถมเพียงบางๆ และใช้อิฐไม่สมบูรณ์มาปูเรียงแลแนวถนนลักษณะดังกล่าวมีร่องรอยอยู่ทั่วไปภายในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ข้อเสนอที่เห็นว่าแนวดังกล่าวน่าจะเป็นถนนของเดิมในสมัยอยุธยาพิจารณาจากส่วนผสมของปูนนั้นมีลักษณะใกล้เคียงกับพื้นปูนบนระเบียงพระที่นั่งและปูนสอกันซึมที่อ่างเก็บน้ำในพระราชฐานชั้นนอก

ที่หลุม 4N 1W (ด้านในของมุขที่ยื่นออกมาทางตะวันออก) พบแผ่นหินชนวนขนาดประมาณ 30x50x5 เซนติเมตร วางเป็นแนวจากตะวันตกไปตะวันออกอยู่ใต้พื้นถนน ปิดบนท่อน้ำดินเผาอีกครั้งหนึ่ง เข้าใจว่าด้านเหนือของมุขก็น่าจะมีแนวดังกล่าวเช่นกัน

บริเวณเชิงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ด้านใต้พบว่า พื้นพระราชฐานด้านนี้มีลักษณะเป็นลาน เทด้วยปูนผสมทรายหยาบและหินอ่อนก้อนเล็กๆ พื้นบางส่วนมีอิฐทรงปริมาตรปูทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้ว่าจะสัมพันธ์กับรากฐานอาคารอย่างไร เนื่องจากมีสภาพไม่ค่อยชัดเจนเท่าใดนัก
เมื่อทดลองขุดลอกมูลดินต่อเนื่องไปทางใต้ กว้าง 50 เซนติเมตร ห่างออกมาจากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ประมาณ 10 เมตร (ตรงกับพื้นที่หลุมทดสอบชั้นดินทางโบราณคดี 1S 3W) พบว่ายังคงมีพื้นที่ปูนเทกว้างต่อออกไปประมาณ 10 เมตร แล้วจึงสิ้นสุดลงที่แนวชั้นอิฐกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร

หากพิจารณาจากหลักฐาน Plan du Palais de Louvo แล้ว แนวอิฐชุดนี้น่าจะเป็นรากฐานของกำแพงล้อมพระราชอุทยานขนาดเล็กด้านเหนือและใต้ของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระราชอุทยานดังกล่าวคงจะมีลักษณะเป็นสวนย่อมๆมีพื้นลาดพระบาทเทปูน สำหรับเสด็จฯลงสำราญพระราชหฤทัยเมื่อทรงปลูกพรรณไม้หอมพันธุ์หายากด้วยพระองค์เอง จากบันทึกของแชร์แวสประตูทางเข้าพระราชอุทยานทั้งสองฟากนั้น ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเยื้องกับประตูและบันไดของปีกพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ทางเหนือและใต้เล็กน้อย

ในพื้นที่หลุม 3N 4W พบอ่างน้ำรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 1x1 เมตร ขอบกรุอิฐ พื้นปูนอิฐฉาบปูนกันซึมแน่นหนา พบท่อดินเผาเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร ที่ขอบอ่างด้านใต้ท่อดังกล่าวนี้อาจเป็นท่อส่งน้ำจากพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ต่อเข้าไปยังพระราชอุทยานเล็กด้านใต้ ด้านตะวันตกของอ่างมีหลุมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยอิฐตั้ง ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร แต่อาจจะลึกมากกว่านี้ก็ได้ (มีดินทับถมอยู่ข้างในช่องเล็กยากต่อการขุดติดตามร่องรอย)

ส่วนด้านเหนือบริเวณฐานระเบียงมีหลักฐานของการเซาะอิฐเป็นร่องกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร มุ่งตรงไปยังแผ่นหินชนวนกรุขอบลำราง แผ่นหินชนวนนี้เซาะด้านบนเป็นร่องรูปครึ่งวงกลม ขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลาง (ครึ่งวงกลม) ประมาณ 2.5 เซนติเมตร เช่นเดียวกับเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อน้ำดินเผาด้านล่าง หลักฐานนี้อาจเป็นร่องรอยแนวของท่อโลหะสำริดที่ใช้ส่งน้ำจากลำรางไปยังอ่างน้ำและพระราชอุทยานใต้

ด้านตะวันตกของอ่างดังกล่าว เป็นบันไดอิฐขนาดประมาณ 60x100 เซนติเมตร รับกับบันไดด้านเหนือของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ซึ่งมีแผ่นหินแอนดีไซต์ปูอยู่บนขั้นบันได (8N 4W) บันไดด้านใต้นี้แต่เดิมก็น่าจะมีแผ่นหินแอนดีไซต์ปูทับอยู่ข้างบนเช่นกัน

-เขามอและหลักฐานระบบการทดน้ำ-จ่ายน้ำ
เมื่อการขุดแต่งพื้นที่รอบๆเชิงเขามอ ทางเหนือของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ซึ่งบันทึกของนิโคลาส แชร์แวส ระบุว่าเป็นสระน้ำลักษณะคล้ายถ้ำเล็กๆเสร็จสิ้นลง ได้พบแนวท่อน้ำดินเผาที่เชิงเขามอด้านเหนือ 2 แนว ทำมุมเฉียงกัน ท่อน้ำดังกล่าวมีต้นทางมาจากด้านเหนือ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทดน้ำเข้ามาใช้ภายในพระที่นั่ง สุทธาสวรรย์ ท่อน้ำทั้งสองแนวถูกฝังอยู่ใต้ดินมีอิฐตะแคง แท่งศิลาแลงและพื้นปูนลานพระราชฐานปูทับตามลำดับอย่างแน่นหนามั่นคง

ฐานโดยรอบรูปครึ่งวงกลมทางด้านเหนือเชิงเขามอ มีร่องรอยของการฝังท่อน้ำดินเผาปิดทับด้วยแผ่นอิฐปูนอน ท่อดินเผาดังกล่าว อาจเป็นเพียงท่อระบายน้ำออกจากจุดใดจุดหนึ่งของระเบียงหรือสระน้ำด้านใต้ของเขามอ ขณะที่ฝั่งทางใต้ของเชิงเขามอซึ่งอยู่บนระเบียงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ขุดพบลานอิฐขนาด 1.60x2.90 เมตร มีลำรางขนาดประมาณ 30 เซนติเมตรล้อมทั้งสี่ด้าน ที่มุมลำรางมีหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40-50 เซนติเมตร รวม 4 หลุม หลักฐานที่พบนี้เป็นร่องรอยของสระน้ำหรืออ่างน้ำที่มีลักษณะคล้ายถ้ำเล็กๆ ในบันทึกของนิโคลาส แชร์แวส

หลุมทั้งสี่มุมของสระแห่งนี้ ก็น่าจะเป็นร่องรอยของหลุมเสากระโจมตามระบุในเอกสารเช่นกัน ใต้ช่องโค้งมุมแหลมด้านเหนือของสระน้ำหรืออ่างน้ำนี้ มีบ่อรูปรีหรือรูปกระเพาะหรือกะเปาะ มุมทางใต้ของบ่อทำเป็นรูปเหลี่ยมหรือมุขยื่นออกมา บ่อนี้ลึกประมาณ 70-80 เซนติเมตร ความกว้างใกล้เคียงกัน ด้านบนซ้ายและขวาเป็นท่อส่งน้ำให้เกิดการไหลเวียนขนาดต่างกัน บ่อและท่อดินเผานี้ยาปูนแน่นหนา

-การค้นพบสระน้ำ(อ่างน้ำใหญ่)
การขุดแต่งที่บริเวณหลุม 2N 5W, 2N 6W, 3N 5W, 3N 6W อันเป็นที่ตั้งขององค์ประกอบสถาปัตยกรรม ซึ่งจะเรียกในชั้นต้นตรงนี้ว่า “ฐานน้ำพุ” ทางด้านของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ นักโบราณคดีได้พบร่องรอยของสระน้ำหรือแอ่งน้ำ ขนาดประมาณ 2.90 x 2.90 เมตร มีลำรางล้อมทั้ง 4 ด้าน และที่มุมลำรางก็มีหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 เซนติเมตร อยู่ทั้งสี่มุมด้วย ตรงจุดกึ่งกลางของสระหรือแอ่งน้ำ มีท่อโลหะสำริด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร วางแนวทะลุถึงระดับพื้นพระราชอุทยาน ซึ่งแต่เดิมเข้าใจว่า สระน้ำนี้เป็นร่องรอยของฐานน้ำพุ แต่เมื่อตรวจสอบจากหลักฐานของแชร์แวสโดยยึดจากการอ้างถึงสระน้ำด้านเหนือที่มีลักษณะคล้ายถ้ำ และการยึดหลักความลงตัวขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแล้ว สิ่งที่เรียกว่าฐานน้ำพุทางด้านใต้ของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์นั้น น่าจะเป็นสระน้ำหรืออ่างน้ำอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีหลุมเสากระโจมเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งด้วย

ส่วนท่อสำริดซึ่งวางเป็นแนวฉากกับพื้นสระน้ำนั้น ถูกตั้งข้อสงสัยว่า จะถูกวางใต้พื้นดินมาจากท่อน้ำดินเผาเชิงเขามอด้านเหนือขณะสร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยอีกอีกประการหนึ่งว่า ร่องรอยของสระน้ำทั้งด้านเหนือและด้านใต้ของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ที่ขุดพบ เป็นเพียงสระที่มีขนาดเล็กๆเท่านั้น (สระเหนือ 1.60 x 2.90 เมตร สระใต้ 2.90 x 2.90 เมตร) ซึ่งขัดแย้งกับคำกล่าวของแชร์แวสที่ระบุว่า

“ที่มุมทั้งสี่มีสระน้ำใหญ่สี่สระบรรจุน้ำบริสุทธิ์ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน ภายใต้กระโจมซึ่งคลุมกั้น”

ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า สิ่งที่แชร์แวสระบุถึง คือ Les Bassins ซึ่งแม้จะแปลได้ทั้ง “สระน้ำ” หรือ “อ่างน้ำ” แต่โดยเจตนารมณ์แท้จริงแล้ว เขาต้องการจะกล่าวถึงอ่างน้ำขนาดใหญ่มากกว่า และหลักฐานที่ขุดพบก็สนับสนุนความคิดนี้ยิ่งกว่าอื่นใด
ด้วยเหตุนี้เพื่อให้การเรียกองค์ประกอบทางสภาปัตยกรรมดังกล่าว มีความเหมาะสมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักฐานและสภาพความเป็นจริง ในชั้นนี้นักโบราณคดีจะเรียก “สระน้ำ” ทั้งสี่แห่งว่า “อ่างน้ำ” ต่อไป

การขุดค้นพื้นที่บริเวณหลุม 5N 2W ได้พบร่องรอยของลานอิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ประมาณ 2.90 หรือ 3.00 x 2.90 หรือ 3.00 เมตร มีลำรางล้อมและมีหลุมเสากระโจมทั้งสี่มุมเช่นกัน ตรงกลางมีรูเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร ลักษณะเป็นท่อสำริด ซึ่งทดสอบความลึกได้ใกล้เคียงกับท่อสำริดในอ่างน้ำด้านใต้ สิ่งที่พบนี้คงจะเป็นอย่างอื่นไปเสียไม่ได้ นอกจากอ่างน้ำของมุขด้านตะวันออกตามหลักฐานในบันทึกที่นิโคลาส แชร์แวสระบุไว้ ด้วยเหตุผลจากลักษณะและความคล้ายคลึงกันของหลักฐาน

การขุดพบอ่างน้ำจำนวน 3 สระ ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ในจุดที่รับกันขององค์ประกอบสถาปัตยกรรม คือ อ่างน้ำด้านเหนือคู่กับอ่างน้ำอ่างด้านใต้ และอ่างน้ำด้านตะวันออก เพราะฉะนั้นหากอาศัยหลักการเดียวกันอ่างน้ำแห่งที่ 4 ก็ควรจะอยู่ที่ชานระเบียงทางมุมทิศตะวันตกของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์(คือบริเวณของหลุม 5N 8W) แต่จากการสำรวจเบื้องต้นกลับไม่พบร่องรอยของอ่างน้ำ เมื่อตรวจสอบแผนผังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี ก็ได้พบจุดที่อยู่ห่างจากกำแพงคั่นพระราชฐานชั้นที่ 3 กับพระราชฐานฝ่ายใน ประมาณ 25 – 30 เมตร มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นอ่างน้ำแห่งที่ 4 แต่ก็ยังไม่ขอยืนยันมั่นใจเท่าใดนัก
มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ขณะที่อ่างน้ำทิศตะวันออกและทิศใต้มีท่อน้ำสำริดเป็นองค์ประกอบสำคัญในการส่งผ่านน้ำมายังอ่างน้ำ ส่วนอ่างน้ำด้านตะวันออกเชิงเขามอมีท่อดินเผาขนาดใกล้เคียงกันเป็นตัวปล่อยน้ำออกมา การลดขนาดของท่อจ่ายน้ำให้เล็กลง ย่อมจะทำให้น้ำมีแรงดันเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะดันออกมาในแนวระนาบหรือดันขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ในขณะที่น้ำในอ่างด้านตะวันออกอาจถูกปล่อยออกมาในแนวระนาบเป็นสายธารไหลวนอยู่ภายในถ้ำเล็กใต้เขามอ น้ำบางส่วนอาจจะถึงถูกขึ้นไปบนเขามอด้วยอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วปล่อยให้ไหลลงมาเป็นน้ำตก ส่วนอ่างน้ำด้านตะวันออก ด้านใต้ และ อ่างน้ำด้านตะวันตกนั้น แรงดันของน้ำจะทำให้เกิดน้ำพุพุ่งกระจายขึ้นเป็นสาย หากมีวัตถุบังคับทิศทางอย่างถูกต้องถูกต้องเหมาะสมก็อาจจะทำให้กระแสน้ำที่พุงขึ้นกลายเป็นน้ำพุที่พร่างพรายสายน้ำออกไปรอบทิศอย่างงดงาม

คำให้การขุนหลวงหาวัด นอกจากจะกล่าวถึงการสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (คือดุสิตสวรรย์ธัญมหาปราสาท) และพระที่นั่งสุธาสวรรย์ (สุทธาสวรรย์) แล้ว ยังกล่าวถึงน้ำพุอ่างแก้ว ซึ่งมี "น้ำดั้นน้ำกระดาษ" เป็นองค์ประกอบ

น้ำพุและอ่างแก้วนั้นมีความหมายชัดเจนอยู่ในตัว แต่คำว่า “น้ำดั้น” กับ “น้ำกระดาษ” ดูเหมือนว่าอาจจะเลือนหายจากสำนึกรับรู้ทางวัฒนธรรมและพจนานุกรมฉบับปัจจุบันไปแล้ว
การอธิบายเพื่อทำความเข้าใจกับคำทั้งสองมิใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องอาศัยหลักการสังเกตและเชื่อมโยงหลักฐานทางโบราณคดีเข้าด้วยกันเหมาะสม

คำว่า “น้ำดั้น” หากมิได้หมายถึง ระบบการทดน้ำจ่ายน้ำ (ดั้น = มุดดั้นไป, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525, หน้า 298) ไปตามท่อน้ำดินเผา ก็น่าจะหมายถึงน้ำพุที่ “ดั้น” ขึ้นจากอ่างน้ำหรือสระน้ำ

คำว่า “น้ำกระดาษ” นี้ ความจริงแล้วหลักฐานน่าจะบันทึกไว้ว่า “น้ำกระดาด” หรือ “น้ำดาด” มากกว่า เพราะอาจทำให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น หากเป็นเช่นนั้นแล้ว “น้ำกระดาษ” หรือ “น้ำกระดาด” หรือ “น้ำดาด” จะหมายถึงน้ำซึ่งไหลลงมาจากที่สูงได้หรือไม่ และที่สูงในความหมายที่เชื่อมโยงกับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์มากที่สุดก็คือ เขามอ
น่าเสียดายที่คำว่า “ดาด” นั้น พจนานุกรมอธิบายว่าเป็นคำกริยา เช่น เอาวัตถุเช่นผ้าปิด ขึงให้ทั่วตอนเบื้องบน เช่น ดาดเพดาน ดาดหลังคา เมื่อเป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ไม่ชัน เช่น หลังคาดาด เป็นต้น และหากยึดตามตำราแล้วการอธิบายว่า “น้ำดาด” หมายถึง น้ำซึ่งตกลงมาจากที่สูง เช่น เขามอ คงจะไม่ได้รับการยอมรับอย่างแน่นอน

-หลักฐานในปีกอาคารเหนือ-ใต้
เมื่อการขุดแต่งปีกอาคารด้านเหนือ(พระปรัศว์ขวา)และปีกอาคารด้านใต้(พระปรัศว์ซ้าย)แล้วเสร็จ ได้ค้นพบอ่างน้ำขนาดประมาณ 1.00X1.50 เมตร กรุด้วยหินอ่อนหนาประมาณ 4-5 เซนติเมตรทั้งสองด้าน

อ่างหินอ่อนนี้มีลำรางส่งน้ำจ่ายน้ำ ซึ่งอาจโยงใยมาจากอ่างน้ำเชิงเขามอด้านเหนือก็ได้ เนื่องจากได้พบทั้งแนวท่อน้ำดินเผาและแนวลำรางเลาะมาตามกำแพงแก้วโดยตลอด (จะได้กล่าวถึงข้างหน้า)

หลักฐานเอกสารหลายเล่ม อาทิ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ระบุถึงเทคนิคการเก็บกักน้ำในอ่างว่า ต้อง “กรุศิลายาปูนอันดี” (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 82, พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม,2537 หน้า 247 ) หรือ “ตรุศิลายาปูนเป็นอันดี” (พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับพระพนรัตน์, 2535,หน้า 214) การกรุศิลายาปูนนั้น อาจเป็นเทคนิคที่รู้จักกันดีของช่างไทย แต่การใช้หินอ่อนมาสร้างอ่างอาบน้ำ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก

เอกสารสำคัญร่วมสมัย คือ จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2 ของบางหลวงกีย์ ตาชารต์ ระบุว่า โรงสวด Notre- Dame de Laurtte ในบ้านของคอนสแตนติน ฟอลคอน มีการนำหินอ่อน “มาใช้อย่างไม่อั้น” แต่หินอ่อนนั้นเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีค่าและมีราคาแพงมากในชมพูทวีป จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกัน การสร้างอ่างน้ำกรุหินอ่อนยาปูนกันซึมอย่างดีในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา

เหตุใดนักโบราณคดีจึงมิได้ระบุว่าอ่างน้ำภายในพระปรัศว์ทั้งสองด้านเป็นอ่างน้ำจำนวน 2 ใน 4 อ่างที่แชร์แวสระบุ ในที่นี้ยังไม่สามารถหาคำตอบที่เหมาะสมมาอธิบายได้ ทั้งๆที่เป็นจุดที่ไม่ควรจะมองข้าม
ทางด้านใต้ของพระปรัศว์ซ้ายมีบันไดปูด้วยแผ่นหินแอนดีไซต์รับกับบันไดด้านเหนือของพระปรัศว์ขวา ซึ่งดูเหมือนว่าแผ่นหินแอนดีไซต์บางชิ้นจะถูกเคลื่อนย้ายออกไปจำนวนหนึ่งโดยรู้เท่าไม่ถึงการแล้วก่อนการขุดแต่ง

นอกจากแผ่นหินแอนดีไซต์จะถูกนำมาปูที่ขั้นบันไดแล้ว ยังพบว่ามีร่องรอยการนำหินชนิดดังกล่าว มาปูบนพื้นด้านตะวันตกและด้านใต้ของพระปรัศว์ขวา รวม 4 จุด และปูบนพื้นด้านเหนือและตะวันตกของพระปรัศว์ซ้าย รวม 4จุดเช่นกัน แต่ร่องรอยของการปูหินบางจุดถูกรื้อไปจนหมดสิ้นแล้ว จุดดังกล่าว คือ ด้านเหนือพระปรัศว์ซ้าย(หลุม 3N 7W) ซึ่งได้พบร่องรอยของการถมทรายยึดและเศษกระเบื้องเคลือบมุงหลังคาแบบเหลืองจักรพรรดิถูกฝังไว้ด้านล่าง และในบริเวณดังกล่าวยังพบการทำฐานเขียงและลวดบัวคว่ำอย่างชัดเจนด้วย

-สภาพระเบียงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
การขุดแต่งระเบียงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ทำให้ได้พบหลักฐานลำรางกว้างประมาณ 30-40 เซนติเมตร วางแนวเลาะกำแพงแก้วของพระที่นั่งทั้งสามด้าน (เหนือ, ตะวันออก, ใต้) ด้านนอกของลำรางจะมีท่อน้ำดินเผาถูกฝังโผล่ปลายท่อขึ้นมาให้เห็น และตลอดแนวลำรางจะมีหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-40 เซนติเมตร เรียงรายอยู่เป็นระยะๆ

ในชั้นต้นนี้สันนิษฐานว่า ลำรางอาจเป็นช่องปล่อยให้น้ำไหลผ่านไปหล่อเลี้ยงอ่างน้ำในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ แต่หลุมเสาที่อยู่ตามแนวลำรางนั้น หากเป็นหลุมเสากระโจมก็อาจจะทำให้การไหลเวียนของน้ำไม่สะดวกเท่าที่ควรและมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ เมื่อขุดแต่งบริเวณหลุม 3N 8W และ8N 8W เสร็จสิ้นลง ได้พบหลักฐานแผ่นอิฐปิดเหนือปากลำราง ซึ่งทำเป็นแนวต่อเนื่องมาจากด้านตะวันออก ลำรางที่ขุดพบนี้น่าจะสัมพันธ์กับท่อน้ำดินเผาทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ของรากฐานท้องพระโรง (หรือด้านใต้ของขวาและด้านเหนือของพระปรัศว์ซ้าย)

ท่อน้ำดินเผาที่พบก็มีทั้งท่อน้ำทิ้งและท่อน้ำดี ท่อน้ำทิ้งทำหน้าที่ระบายน้ำฝนออกจากระเบียงพระที่นั่งลงสู่ลานด้านล่าง โดยโคนท่อและปลายท่อจะเป็นอิสระ ไม่เชื่อมกับท่ออื่น ส่วนท่อน้ำดีซึ่งพบด้านใต้ของพระปรัศว์ขวาและด้านเหนือของพระปรัศว์ซ้ายถูกฝังไว้อย่างมั่นคงใต้พื้นอิฐ มีข้องอและข้อต่อเป็นตัวบังคับทิศทางของท่อ สภาพของท่อทั้งสองด้านถูกฝังในช่องลักษณะคล้ายลำราง (ดูแผนผังหลังการขุดแต่ง) จึงอาจเป็นไปได้ว่าเดิมนั้น แนวลำรางทุกด้านของระเบียงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์จะมีท่อน้ำดินเผาฝังอยู่โดยตลอด เพื่อเป็นตัวจ่ายน้ำหล่อเลี้ยงอ่างน้ำทั้ง 4 แห่งของท้องพระโรง รวมไปถึงอ่างน้ำในพระปรัศว์ซ้าย-ขวาด้วย ท่อน้ำดินเผาเหล่านี้ได้รับน้ำมาจากแหล่งจ่ายน้ำเชิงเขามอ ซึ่งรับมาจากอ่างแก้วด้านตะวันออกของพระราชฐานชั้นนอก ส่วนท่อน้ำดินเผาทางด้านตะวันออกของรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ อาจเป็นท่อส่งน้ำออกไปหล่อเลี้ยงพระราชอุทยานในพระราชฐานชั้นใน

พื้นระเบียงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ด้านเหนือบริเวณหลุม 7N 4W และใกล้เคียง มีหลักฐานการปูอิฐเฉียงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นอิฐด้านอื่นนั้นกลับปูขนานกับแนวรากฐานอาคารตามปกติ

เมื่อขุดลอกลึกลงไปในพื้นและร่องเอ็นไปเพียงเล็กน้อย ก็พบทรายหยาบอันเป็นทรายอัดรับน้ำหนักและกันการทรุดพังของโครงสร้าง ในชั้นแรกนักโบราณคดีตั้งสมมติฐานว่า อาจเป็นแนวร่องวางท่อน้ำดินเผา
ทางด้านใต้ของอ่างน้ำด้านเหนือ และด้านเหนือของอ่างน้ำด้านใต้ตรงกับช่องประตูกลางท้องพระโรง (ด้านใต้เขามอ) พบแนวพื้นปูนขาวหนา 2 แนวคั่นด้วยร่องตื้นๆ แต่เดิมเข้าใจว่าเป็นทางน้ำที่สัมพันธ์กับอ่างน้ำทั้งสอง แต่เมื่อการขุดแต่งเสร็จสิ้นลงก็เห็นว่า แนวคิดดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานหรือเหตุผลที่เหมาะสมรองรับ

-ท้องพระโรงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์
การขุดแต่งพื้นท้องพระโรง พบหลักฐานการปูพื้นอิฐขนาดเดียวกับอิฐที่ใช้ก่อองค์ประกอบส่วนอื่น และเมื่อได้ขุดตรวจชั้นดินในหลุม5N 4W อันเป็นแอ่งใหญ่ที่ถูกขุดเจาะเอาทรายอัดออกไป ได้พบว่าลึกลงไปพอสมควร ยังคงเป็นชั้นทรายอัดอยู่เช่นเดิม

-สรุป
การพบหลักฐานร่องรอยขององค์ประกอบโบราณสถานภายหลังการขุดแต่ง นับว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อนโยบายและการวางแผนอนุรักษ์และพัฒนารากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ให้ดำรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ สถาปัตยกรรมและโบราณคดีต่อไปในอนาคต แม้การขุดแต่งนี้จะตอบคำถามของนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอาจมีหลักฐานบางอย่างหลุดรอดสายตาไปบ้าง และหลักฐานบางอย่างอาจยังคงถูกฝังไว้อยู่ใต้ฐานรากของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์และพื้นที่ใกล้เคียง (อาทิแนวท่อน้ำสำริดและแนวท่อน้ำดินเผา เป็นต้น) เนื่องจากการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2540 กำหนดเป้าหมายพื้นที่ขุดแต่งไว้เพียง 800 ตารางเมตรเศษ ขณะที่หลักฐานเอกสารในอดีตบันทึกขนาดดั้งเดิมของรากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์และหมู่ตำหนักบริวารขยายออกไปมากกว่า 1 เท่าตัว ดังนั้น เชื่อว่าในโอกาสที่เหมาะสมแล้วคงจะได้มีการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนารากฐานพระที่นั่งสุทธาสวรรย์อย่างเต็มรูปแบบต่อไป


โบราณวัตถุสำคัญบางส่วนที่พบจากการขุดแต่ง

ลายเส้นชิ้นส่วนกระเบื้องเชิงชายเคลือบสีเหลืองลายเทพนม

ลายเส้นกระเบื้องเชิงชายลายกระจัง

แผ่นป้ายหินระบุข้อหาลักทรัพย์สิ่งของเมื่อพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ถูกแปลงเป็นเรือนจำสมัยรัชกาลที่4-5



อ่างอาบน้ำสาธารณะแบบโรมัน (ขอขอบคุณข้อมูลจากwww.google.com) กรุขอบด้วยหินอ่อน

ลักษณะหินที่กรุขอบบ่อและรางน้ำคล้ายที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์(ขอขอบคุณข้อมูลจากwww.google.com)

นอกจากนี้ยังปูพื้นด้วยแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นกัน(ขอขอบคุณข้อมูลจากwww.google.com)

6 ความคิดเห็น:

  1. หนูชื่อ fu xiaojing http://fxj0515.blogspot.com/นี้คือweb blogของหนูค่ะ

    ตอบลบ
  2. หนูชื่อ Li menglin http://lmlsweetly.blogspot.com

    ตอบลบ
  3. หนูชื่อ He baojing http://sym9010.blogspot.com

    ตอบลบ
  4. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  5. -คุณหลีเมิ่งหลินยังไม่เขียนบทความส่งเลย ถ้าจะทำก็ต้องสร้างบล็อกเป็นภาษาไทยนะคุณหลีเมิ่งหลินนะ
    -ท่านอื่นครูเข้าไปตรวจงานหมดแล้วนะ

    ตอบลบ